bloggang.com mainmenu search
นักวิเคราะห์ชี้หุ้นรอบนี้พุ่งร้อนแรง ลุ้นดัชนีไปต่อถึง 1,400 จุดได้ เพราะมองว่ารอบนี้ เป็นรอบขาขึ้นลักษณะขึ้นพร้อมกันทั้งตลาด “บัวหลวง” มองตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวไตรมาส 2 เผยปัจจัยขับเคลื่อน ศก. เหลือไม่มาก การใช้เครื่องมือทางการเงินเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถที่จะกระตุ้น ศก.ได้ โดยภาคการเงินยังคงมีการดูแล ศก.อย่างใกล้ชิด

       นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (13 มี.ค.) ปรับขึ้นได้ค่อนข้างแรง ขานรับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาลจาก 2.25% อยู่ที่ 2.00% อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลรักษาการจะไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะหมดอายุในวันที่ 22 มี.ค. นี้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์จะส่งผลให้ภาพบรรยากาศทางการเมืองสดใสขึ้นอีกระดับ

       ทั้งนี้ ดัชนีฯ ปรับขึ้นเกือบทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มธนาคาร ที่แม้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะให้ผลเชิงลบมากกว่า ก็ยังสามารถปรับตัวในแดนบวก แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

       ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และเล็ก ที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อ จะตอบรับเชิงบวกมากกว่า จึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า ทางด้านกลุ่มรับรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ แต่ก็ยังแนะซื้อ เนื่องจากยังมี backlog อีกมาก

       นอกจากนี้ ยังมองว่ารอบนี้เป็นรอบขาขึ้นลักษณะขึ้นพร้อมกันทั้งตลาด (stock rotation) จากปัญหาทางการเมืองคาดการณ์ว่าจะลดความร้อนแรงลง

       สำหรับกลยุทธ์ คาดพรุ่งนี้ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ แนะซื้อหุ้นรับผลเชิงบวกผลประชุม กนง.-การเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการเมืองที่คลี่คลาย เช่น AOT-AAV-NOK- CENTEL-MINT โดยประเมินแนวรับ 1,360 จุด แนวต้าน 1,380-1,400 จุด

       ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเชื่อว่าจะปรับตัวฟื้นขึ้นหลังไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง จนทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางการคลัง และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหยุดชะงัก

       ซึ่งในขณะนี้เหลือเพียงภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ โดยภาคการเงินยังคงมีการดูแลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

       พร้อมกันนี้ ยังมองว่าการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% ต่อปีนั้น เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่านี้ เพราะเพียงเครื่องมือทางการเงินเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้

       อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองหากยังคงมีความยืดเยื้อต่อไปจนถึงสิ้นปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจะไม่สามารถประเมินได้
Create Date :13 มีนาคม 2557 Last Update :13 มีนาคม 2557 22:11:21 น. Counter : 690 Pageviews. Comments :0