bloggang.com mainmenu search

ด้วยโลกาภิวัฒน์ของการเงินที่เกิดจากการจากการกู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง การค้าระหว่างประเทศไม่สมดุล เเละฟองสบู่เเตกในภาวะการปล่อยสินเชื่อที่ง่ายทั่วทวีปยุโรป ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะต่อ "ประเทศ" ซึ่งภายหลังได้เริ่มใช้เงินสกุลยูโรในเดือนมกราคม ปี 2544 ทำให้กรีซสามารถกู้ยืมเงินได้จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำจนเกินไปเเละการทุ่มนโยบายรัฐสวัสดิการ ทำให้เกิดภาวะขาดดุลทางภาครัฐเเละมีหนี้สินสาธารณะเกินที่จะสามารถควบคุมได้

วิกฤติหนี้กรีซ...มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

2552 /2009

สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจกรีซ สาเหตุแรกมาจาก การขาดดุลภาครัฐของโดยในปี 2552 การขาดดุลการคลังของกรีซอยู่ที่ 12.7% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับที่เหมาะสมที่ทางกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ถึงประมาณ 4 เท่าตัว จากการขาดดุลภาครัฐของรัฐบาลนั้นส่งผลให้หนี้ของภาครัฐของกรีซเพิ่มสูงขึ้นถึง 112.6% ของ GDPในปี 2552 ซึ่งสูงกว่าระดับที่เหมาะสมที่ทางกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ถึงประมาณเกือบ 2 เท่าตัว


ปี 2553/2010

ในเดือน มีนาคม 2553 รัฐสภากรีซผ่านร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดรายจ่ายภาครัฐลงถึง 48,000 ล้านยูโร โดยการดำเนินมาตรการหลายอย่าง รวมทั้งการลดค่าจ้างภาคเอกชน เป็นเหตุให้ประชาชนนัดหยุดงานทั่วประเทศ ณ กรุงเอเธนส์เพื่อประท้วงต่อการลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มภาษี

ในเดือนพฤษภาคม 2553 ได้มีการบรรลุข้อตกลงกู้ยืมระหว่างกรีซ กับกลุ่มทรอยกา ซึ่งได้แก่ สหภาพยุโรป, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวประกอบด้วยเงินกู้ทันที 45,000 ล้านยูโรที่จะได้รับในปี2553 และเงินกู้อื่น ๆ จะได้รับในภายหลัง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 110,000 ล้านยูโร โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 5%

ในเดือนตุลาคม 2553 สำนักงานสถิติแห่งเฮเลนนิค (The Hellenic Statistical Authority-ELSTAT) ได้รายงานผลสำรวจว่า อัตราการว่างงานของกรีซ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 13.5 นับว่าสูงสุดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ในเดือนธันวาคม 2553 กรีซมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.2% และมีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 65.6% ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 67.3% โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดน้อยลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของกรีซที่ยังย่ำแย่และสภาพการเงินฝืดเคืองสะท้อนภาพอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนกำลังลงได้ชัดเจน



ปี2554/2011

กลางปี2554กรีซยังประสบปัญหาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถึงจะมีมาตรการรัดเข็มขัดและพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจลดจำนวนข้าราชการเพิ่มภาษีแต่ก็ยังไม่สามารถระดมเงินได้ทันและคาดว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันกำหนดส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งถือพันธบัตรหรือตราสารหนี้ของกรีซเป็นมูลค่าสูงได้รับผลกระทบตามไปด้วย


ปี2555/2012

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จากผลกระทบต่อประเทศในยูโรโซนดังกล่าว รัฐบาลกรีซจึงได้รับการอนุมัติเงินช่วยเหลือระยะสองมูลค่า 130,000 ล้านยูโร จากมติของที่ประชุมของยูโรกรุ๊ป ซึ่งจำนวนเงินส่วนหนึ่งจะเข้าสู่สถาบันการเงินกรีซไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านยูโร และการปรับลดหนี้ของภาคเอกชนลงร้อยละ 53.5 ด้วยการลดอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้และออกตราสารใหม่เพิ่มเติม ที่จะมีผลให้หนี้สินภาคเอกชนลดลงประมาณ 110 ล้านยูโร จากเดิม 206 ล้านยูโร โดยครั้งนี้รัฐบาลของประเทศสมาชิกอียู พยายามดึงธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนเข้ามาร่วมรับภาระด้วยและกำหนดให้รัฐบาลกรีซต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดด้านการเงินและการคลังอย่างจริงจัง

เดือนธันวาคม2555กรีซเสนอร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีเพิ่มอีก2,500ล้านยูโร(ราว100,000ล้านบาท)ระหว่างปี2556-2557ภายใต้เงื่อนไขรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตัดลดค่าใช้จ่าย มูลค่า 13,500 ล้านยูโร (ราว 540,000 ล้านบาท) เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้สามารถรับความช่วยเหลืองวดใหม่จากสหภาพยุโรป (อียู)และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โดยธนาคารกลางกรีซ ประเมินว่า การลดค่าใช้จ่ายและขึ้นภาษีจะทำให้เศรษฐกิจกรีซปีหน้าถดถอยเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เศรษฐกิจจะหดตัวรวมร้อยละ 24 โดยกรีซจะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ได้เงินกู้ก้อนใหม่ 14,700 ล้านยูโร (ราว 588,000 ล้านบาท) ภายในสิ้นเดือนมีนาคม (2556) เพื่อเลี่ยงการประสบภาวะล้มละลาย


ปี 2556/2013

เดือนกรกฎาคม 2556 เจ้าหนี้กลุ่มทรอยกาที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การกอบกู้เศรษฐกิจของกรีซดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเกินไป และไม่มีความแน่นอน

โดยในการประชุมของกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน ที่กรุงบรัสเซลล์ มีข้อตกลงการมอบเงินช่วยเหลือกรีซจำนวน 2,500ล้านยูโร จากกองทุนช่วยเหลือยูโรโซน กับอีก 1,500 ล้านยูโรจากธนาคารกลางยุโรป จากนั้นภายในเดือนตุลาคม(ปีเดียวกัน)จะมีการโอนเงินเพิ่มเติมอีก 500 ล้านยูโรจากกองทุนช่วยเหลือและอีก 500 ล้านยูโรเท่ากันจากธนาคารกลางยุโรป ส่วนไอเอ็มเอฟ จะมอบเงินกู้งวดแรก 1,800 ล้านยูโร จากทั้งหมด 6,800 ล้านยูโร

โดยในขณะนั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐหลายพันคนรวมตัวชุมนุมประท้วงแผนการปรับลดเจ้าหน้าที่รัฐ ตามเงื่อนไขเงินกู้ของทรอยกา เนื่องจากเห็นว่ากรีซมีอัตราว่างงานมากเกือบร้อยละ 30 และมาตรการรัดเข็มขัดโดยการปลดเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาและทำให้คนยากจนลงไปกว่าเดิม

ต่อมากรีซได้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์"เฮเลนิคบรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น"หรือERTเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการตัดลดงบประมาณอย่างการปิดรัฐวิสาหกิจโดยการปิดสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวกรีซซึ่งสถานีโทรทัศน์7 แห่ง สถานีวิทยุ 29 แห่ง รวมไปถึงหน้าเว็บไซต์อีกหลายเว็บถูกปิดตัวลง รวมไปถึงลูกจ้างอีก 2,650 คนถูกไล่ออกจากงาน ซึ่งนายแอนโตนิส ซามาราส นายกฯของกรีซ(ในขณะนั้น) กล่าวว่า การปิดสถานีโทรทัศน์ ERT ของรัฐนั้นเป็นแค่การปิดชั่วคราว เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของส่วนรวม


ปี 2557 /2014

ภายใต้เงื่อนไขของการรับความช่วยเหลือทางการเงินจากนานาชาติ กรีซต้องจัดทำงบประมาณเกินดุลให้ได้ถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีในปี 2559 ซึ่งรัฐบาลกรีซในขณะนั้นบอกว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าวโดยไม่ต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่ไม่ได้รับความนิยมมากไปกว่านี้แต่หวังว่าจะหันมาอาศัยความช่วยเหลือจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและระบบการจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น

ด้านทรอยกายืนยันว่ากรีซจะต้องตัดลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มอีกเนื่องจากพวกเขากังขาว่าความแข็งแกร่งของระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปราบปรามบรรดาผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีอย่างเอาจริงเอาจังคงไม่สามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินของกรีซได้มากเพียงพอ

นอกจากนี้กรีซและบรรดาเจ้าหนี้นานาชาติยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญๆอีกหลายเรื่องซึ่งรวมถึงการจัดทำงบประมาณของปี2557ยุทธศาสตร์ทางการคลังระยะกลางระหว่างปี2557-2560และกฎการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซต้องชำระหนี้พันธบัตรมูลค่า 1,850 ล้านยูโร (ราว 79,000 ล้านบาท) ภายในต้นเดือนมกราคมปี2558


ปี 2558/2015

เดือนมกราคม 2558 นายอเล็กซิส ซิปราส ผู้นำพรรคไซรีซา ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซ โดยนายซิปราสได้เป็นผู้นำพรรครัฐบาลผสมหลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของกรีซ

โดยก่อนหน้านี้ พรรคไซริซา ได้ชูนโยบายหาเสียงว่าจะต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ชาวกรีกต้องแบกรับ แลกกับแพ็กเกจเงินกู้ช่วยเหลือจากนานาชาติ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้ จนนำไปสู่การแยกตัวจากยูโรโซนได้

ทั้งนี้ ในอดีตระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2555 นายซีปราสเคยโจมตีพรรครัฐบาลขณะนั้นอย่างรุนแรงที่ยอมดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดตามใบสั่งจากเจ้าหนี้ และการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดทำให้เขาเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก ว่าเป็นนายกฯกรีซที่กล้างัดข้อกับกับไอเอ็มเอฟ และสหภาพยุโรป


สำหรับความกังวลเรื่องกรีซจะออกจากยูโรโซน ที่เริ่มซาลงหลังจากรัฐบาลกรีซชุดใหม่สัญญาว่าจะไม่ยกเลิกหนี้ครึ่งหนึ่งตามที่เคยลั่นวาจาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในยุโรปอีกครั้งหลังจากนายอลันกรีนสแปนอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ออกมาทำนายว่ากรีซจะต้องออกจากยูโรโซนอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตหนี้ได้ ทำให้ทั่วโลกหันกลับมาหวั่นวิตกกับวิกฤตยูโรโซน และเริ่มการประเมินความเสี่ยงอย่างจริงจังอีกครั้งว่าหากกรีซต้องหลุดจากกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรจริงๆจะเกิดอะไรขึ้นกับกรีซและยุโรป

ทั้งนี้โดยเมื่อปีที่เเล้วนายอันโตนิสซามาราส อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นฝ่ายโปรยุโรป เคยกล่าวไว้ว่าหากกรีซออกจากยูโรโซน คุณภาพชีวิตของชาวกรีกจะตกต่ำลงถึงร้อยละ 80 ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ กิจการต่างๆจะล้มละลาย และธนาคารจะต้องอายัดบัญชีเงินฝากของประชาชนเพื่อไม่ให้แบงก์ล้ม ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าจากยุโรปจะแพงขึ้น 2-4 เท่า เนื่องจากสกุลเงินของกรีซจะอ่อนค่าจนไม่ต่างจากกระดาษ แม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ค่าเงินกรีซอ่อน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจับจ่ายใช้สอยได้คล่องมือขึ้น ก็อาจได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส


                                                                                               นายอเล็กซิส ซิปราส นายกฯกรีซ

เดือนกุมภาพันธ์2558 มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลังของกรีซกับประเทศยูโรโซน เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติ หนี้ของกรีซ ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้ปิดฉากลงในเวลาอันรวดเร็วโดยไร้ความคืบหน้า ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวของทั้งสองฝ่าย

เดือนมีนาคม 2558 ทางการสหภาพยุโรปได้เปิดการหารือกับนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ เกี่ยวกับการจัดการปัญหาหนี้ของกรีซ โดยสมาชิกอียูหลายประเทศ รวมทั้งเยอรมนียืนกรานหนักแน่นว่ากรีซจะต้องทำตามเงื่อนไขของอียูอย่างเคร่งครัด โดยอียูได้ตัดสินใจขยายเวลาเงินกู้มูลค่า 240,000 ล้านยูโรให้กับกรีซ ซึ่งยอมยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ของกรีซออกไปอีก 4 เดือน ด้านรัฐบาลกรีซอ้างว่า เป็นเงื่อนไขของฝ่ายอียูในการเข้ามาตรวจสอบการบริหารเงินกู้ของกรีซนั้นอยู่เหนือบทบาทของการเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงและเหล่าเจ้าหนี้พยายามเข้าแทรกแซงการเมืองกรีซ

เดือนพฤษภาคม2558 กรีซกับเจ้าหนี้ทั้ง3ฝ่าย ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางยุโรปและIMFยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องเงินกู้มูลค่า7,200 ล้านยูโรกันได้ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของแพ็กเกจเงินช่วยเหลือ 240,000 ล้านยูโร โดยเจ้าหนี้ปฏิเสธที่จะอนุมัติเงินก้อนดังกล่าว

ด้านผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวกรีก พบว่า 3 ใน 4 ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซนต่อไป และเกินครึ่งต้องการให้รัฐบาลบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ แม้ว่าจะหมายถึงการต้องแบกรับการรัดเข็มขัดที่หนักขึ้น ดังนั้นหากนายซีปราส นายกฯไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียง

27 มิถุนายน 2558 นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ประกาศใช้มาตรการลงประชามติซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 ก.ค นี้ เพื่อพิจารณาว่า กรีซควรรับข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อกู้วิกฤตหนี้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรป ระบุในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูในเบลเยี่ยมว่าจะยืดเวลาช่วยเหลือไปอีก 5 เดือนเเละหากว่ากรีซทำตามเเผนปฎิรูปการเงิน กลุ่มเจ้าหนี้ก็พร้อมที่จะอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือราว 68,000 ล้านบาทให้ในทันทีรวมถึงจะพิจารณาอนุมัติเงินกู้งวดสุดท้ายอีก 270,000 ล้านบาท จากงบประมาณช่วยเหลือทั้งสิ้น 9 ล้านล้านบาท

ด้านนายซีปราส ยืนกรานว่า ข้อเสนอดังกล่าวสร้างความอับอายให้กรีซเเละได้ประณามข้อเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ว่ามากเกินกว่าจะรับได้ เเละนายกฯกรีซยังยืนยันไม่ทำตามข้อเสนอ เเม้จะต้องชำระหนี้กว่า 56,000 ล้านบาทภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ก็ตาม


ภาพจาก AFP

28 มิถุนายน 2558 ชาวกรีกทั่วประเทศ แห่พากันไปถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคาร ด้วยความตื่นตระหนกและกังวล เนื่องจากนายกฯกรีซประกาศชัดเจนว่า รัฐสภามีมติเห็นชอบให้มีการลงประชามติ เกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กรีซยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับบรรดาเจ้าหนี้ได้ โดยนายสตาฟรอส โคคอส ประธานสหภาพพนักงานธนาคาร เผยว่า ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา(27 มิ.ย.) มีเงินสดถูกถอนออกไปราว 1,300 ล้านยูโร หรือประมาณ 48,954 ล้านบาท ซึ่งมีเพียง 40% เท่านั้นที่ยังมีเงินสดเหลืออยู่ในตู้เอทีเอ็ม

และนี่คือ ลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาของวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ และกำลังเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่จะกระทบวงกว้างต่อประชาคมเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในเวลานี้...



//money.sanook.com/291069/

Create Date :30 มิถุนายน 2558 Last Update :30 มิถุนายน 2558 22:10:58 น. Counter : 1192 Pageviews. Comments :0