****ทำความดีวันละนิดจิตแจ่มใส**** ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา สิ่งที่ตามเราไปมีเพียงแต่บุญและบาป
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
2 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

หิริและโอตตัปปะ ผู้มีเทวธรรมในโลก

หิริและโอตตัปปะ ผู้มีเทวธรรมในโลก


สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว
ท่านเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา แปลว่า ผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ บรรดาหิริและโอตตัปปะเหล่านั้น ที่ชื่อว่าหิริ เพราะละอายแต่กายทุจริต เป็นต้น คำว่า หิริ นี้เป็นชื่อของความละอาย ที่ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะกลัวแต่กายทุจริตเป็นต้นนั้นนั่นแหละ คำว่า โอตตัปปะนี้ เป็นชื่อของความกลัวแต่บาป.


บรรดาหิริและโอตตัปปะนั้น
หิริมีสมุฏฐานที่ตั้งขึ้นภายใน โอตตัปปะมีสมุฏฐานที่ตั้งขึ้นภายนอก.

หิริมีตนเป็นใหญ่ โอตตัปปะมีโลกเป็นใหญ่

หิริดำรงอยู่ในสภาวะอันน่าละอาย โอตตัปปะดำรงอยู่ในสภาวะอันน่ากลัว

หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะโทษและเห็นภัย


บรรดาหิริและโอตตัปปะนั้น
บุคคลย่อมยังหิริอันมีสมุฏฐานเป็นภายใน ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ

เพราะพิจารณาถึงชาติกำเนิด ๑
พิจารณาถึงวัย ๑
พิจารณาถึงความกล้าหาญ ๑
พิจารณาถึงความเป็นพหูสูต ๑.

อย่างไร?


บุคคลพิจารณาถึงชาติกำเนิดก่อน อย่างนี้ว่า

ชื่อว่าการกระทำบาปนี้ ไม่เป็นกรรมของคนผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ เป็นกรรมของตนผู้มีชาติตํ่า มีพรานเบ็ดเป็นต้น จะพึงกระทำ. บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นท่าน ไม่ควรกระทำกรรมนี้ แล้วไม่ทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น.


อนึ่ง บุคคลพิจารณาถึงวัย อย่างนี้ว่า

ชื่อว่าการกระทำบาปนี้ เป็นกรรมที่คนหนุ่มๆ พึงกระทำ กรรมนี้อันคนผู้ตั้งอยู่ในวัย เช่นท่านไม่ควรกระทำ แล้วไม่กระทำบาป มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น.


แม้อนึ่ง บุคคลพิจารณาถึงความเป็นผู้กล้าหาญ อย่างนี้ว่า

ชื่อว่าการกระทำบาปนี้ เป็นกรรมของคนผู้มีชาติอ่อนแอ กรรมนี้บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยความกล้าหาญเช่นท่าน ไม่ควรกระทำ แล้วไม่กระทำบาป มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น.


อนึ่ง บุคคลพิจารณาความเป็นพหูสูต อย่างนี้ว่า

ชื่อว่าการกระทำบาปนี้เป็นกรรมของคนอันธพาล กรรมนี้อันคนผู้เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิตเช่นท่าน ไม่ควรกระทำ แล้วไม่กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น.


บุคคลชื่อว่ายังหิริ อันมีสมุฏฐานภายในให้ตั้งขึ้น ด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างนี้. ก็แหละครั้นให้ตั้งขึ้นแล้ว ยังหิริให้เข้าไปในจิต ไม่กระทำบาปด้วยตน หิริย่อมชื่อว่ามีสมุฏฐานภายใน อย่างนี้.


โอตตัปปะชื่อว่า มีสมุฏฐานภายนอกอย่างไร?

บุคคลพิจารณาว่า ถ้าท่านจักทำบาปไซร้ ท่านจักเป็นผู้ถูกติเตียนในบริษัท ๔ และว่า วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนท่านเหมือนชาวเมืองติเตียนของไม่สะอาด. ดูก่อนภิกษุ ท่านอันผู้มีศีลทั้งหลายเว้นห่างแล้ว จักกระทำอย่างไร ดังนี้. ย่อมไม่กระทำบาปกรรม เพราะโอตตัปปะอันตั้งขึ้นภายนอก.

โอตตัปปะย่อมชื่อว่ามีสมุฏฐานภายนอกอย่างนี้.


หิริชื่อว่ามีตนเป็นใหญ่อย่างไร

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำตนให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้า ไม่กระทำบาปด้วยคิดว่า บุคคลผู้บวชด้วยศรัทธา เป็นพหูสูต มีวาทะ [คือสอน] ในการกำจัดกิเลสเช่นท่าน ไม่ควรกระทำบาปกรรม หิริย่อมชื่อว่ามีตนเป็นใหญ่อย่างนี้.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
บุคคลนั้นกระทำตนนั่นแหละให้เป็นใหญ่ ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดอยู่.


โอตตัปปะชื่อว่ามีโลกเป็นใหญ่อย่างไร?

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำโลกให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้า แล้วไม่กระทำบาปกรรม

สมดังที่ตรัสไว้ว่า
ก็โลกสันนิวาสนี้ใหญ่แล อนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่น อยู่ในโลกสันนิวาสอันใหญ่แล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเห็นในที่ไกลบ้าง เห็นในที่ใกล้บ้าง รู้จิตด้วยจิตบ้าง สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ย่อมรู้เราอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้ เขามีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่.

เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่นมีอยู่ แม้เทวดาเหล่านั้น ย่อมเห็นแต่ที่ไกลบ้าง ย่อมเห็นในที่ใกล้บ้าง ย่อมรู้ใจด้วยใจบ้าง แม้เทวดาเหล่านั้นก็จักรู้เราว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้ เขามีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตไม่มีเรือน เกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่

เขากระทำโลกนั่นแลให้เป็นใหญ่ ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมอันมีโทษ เจริญธรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดอยู่.

โอตตัปปะย่อมชื่อว่ามีโลกเป็นใหญ่อย่างนี้.



อาการละอาย ชื่อว่า ความละอาย หิริตั้งอยู่โดยสภาวะอันนั้น.

ความกลัวแต่อบาย ชื่อว่า ภัย โอตตัปปะตั้งอยู่โดยสภาวะอันนั้น.
หิริและโอตตัปปะแม้ทั้งสองนั้น ย่อมปรากฏในการงดเว้นจากบาป.


แม้บททั้งสองนี้ที่ว่า หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะกลัว โทษและเห็นภัย ดังนี้ ย่อมปรากฏเฉพาะในการงดเว้นจากบาปเท่านั้น.

จริงอยู่ คนบางคนยังหิริอันมีลักษณะยำเกรง ให้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

พิจารณาถึงความเป็นใหญ่โดยชาติ ๑
พิจารณาถึงความเป็นใหญ่แห่งพระศาสดา ๑
พิจารณาถึงความเป็นใหญ่โดยทรัพย์มรดก ๑ และ
พิจารณาถึงความเป็นใหญ่แห่งเพื่อนพรหมจารี ๑

แล้วไม่ทำบาป.


คนบางคนยังโอตตัปปะอันมีลักษณะกลัวโทษ และมักเห็นภัย ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

ภัยในการติเตียนตน ๑
ภัยในการที่คนอื่นติเตียน ๑
ภัยคืออาชญา ๑
และภัยในทุคติ ๑

แล้วไม่ทำบาป.


ธรรมของเทพเหล่านี้ ชื่อว่า เทวธรรม.

บทว่า วุจฺจเร แปลว่า ย่อมกล่าว. จริงอยู่ กุศลธรรมทั้งหลายมีหิริโอตตัปปะเป็นมูล ชื่อว่า เป็นธรรมของเทพทั้ง ๓ ประเภทเหล่านี้
เพราะอรรถว่า เป็นเหตุแห่งกุศลสัมปทา แห่งการเกิดในเทวโลก และแห่งความหมดจด เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเทวธรรม

แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยเทวธรรมเหล่านั้น ก็เป็นผู้มีเทวธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมเหล่านั้น ด้วยเทศนาอันเป็นบุคคลาธิษฐาน จึงตรัสว่า

สัปบุรุษผู้สงบระงับ เรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก.



อรรถกถา เทวธรรมชาดก จบ.
//84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270006
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
//84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=35&Z=39




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2551
0 comments
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 10:32:50 น.
Counter : 712 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


you4lucky
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะคะ
Friends' blogs
[Add you4lucky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.