****ทำความดีวันละนิดจิตแจ่มใส**** ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา สิ่งที่ตามเราไปมีเพียงแต่บุญและบาป
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
23 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
เบญจศีล เบญจธรรม : เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม

เบญจศีล เบญจธรรม : เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม

เบญจศีล เบญจธรรม : เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม


        หากมนุษย์สามารถอยู่คนเดียวตามลำพังในโลกได้  ศีลก็ไม่มีความจำเป็น  แต่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่มีใครอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือคบหาผู้อื่น  มนุษย์ทุกคนต้องมีญาติและมิตรสหาย  ศีลจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์  โดยเฉพาะศีลห้า  หรือที่เรียกว่า  เบญจศีล นั้น  ทุกคนต้องมีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

         พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลคำศัพท์  พระราชวรมุนี (ประยุทธ์  ปยุตโต 2527 : 292) ได้ให้ความหมายของศีลไว้หลายนัย  ดังนี้
         -  ความประพฤติทางกายและวาจา
         -  การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย
         -  ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดี
         -  การรักษาปกติตามระเบียบวินัย
         -  ปกติมารยาทที่สะอาดและปราศจากโรค
         -  ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว
         -  ข้อปฏิบัติในการฝึกกาย  วาจาให้ดีบิ่งขึ้น
         -  ความสุจริตทางกาย  วาจา  และอาชีพ

         จากความหมายข้างต้นนี้จะเห็นว่า  ศีล  คือความมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและในการอยู่ร่วมสังคม  พูดให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น  ความมีวินัยและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาในการอยู่ร่วมกันเพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม  ชีวิตและสังคมจะได้เรียบร้อยและราบรื่น  มไสบสนวุ่นวาย  ไม่ระส่ำระสาย  เอื้อโอกาสที่จะทำกิจกรรมงานต่างๆทั้งในทางโลกและทางธรรมให้สะดวก  ได้ผลดี  และมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

         คำว่า  เบญจศีลมาจาก  เบญจ  แปลว่า  ห้า  สมาสกับ  ศีล  เป็นเบญจศีล  แปลว่า  ศีลห้า  ศีลมีหลายระดับหรือจัดไว้หลายประเภทให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตและสังคมหรือชุมชนนั้นๆ  ในการที่จะปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายแห่งตน  ศีลห้าเป็นศีลพื้นฐานปฏิบัติ  ศีลแปดสำหรับอุบาสก  อุบาสิกาที่มุ่งการพัฒนาทางจิตใจ  ศีลสิบสำหรับสามเณร  และศีล  227  สำหรับพระภิกษุ

         ในที่นี้จะได้กล่าวถึงเฉพาะศีลห้า  หรือเบญจศีลสำหรับทุกคน  โดยไม่จำกัดว่าเป็นเด็ก  ผู้ใหญ่  ชายหรือหญิง

         เมื่อพูดถึงศีลห้า  ส่วนใหญ่ย่อมรู้จักกันดีเพราะไปวัดรับศีลจากพระก็ท่องกันขึ้นใจ  ตั้งแต่  ปาณาติปาตา  อทินนาทานา  กาเมสุมิจฉาจารา  มุสาวาทา  จนถึง  สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา  ทุกข้อต่อท้ายด้วย  เวรมณี  สิกขาปทัง  สมาทิยามิ  ซึ่งศีลห้าข้อนี้ชาวพุทธเกือบทุกคน  หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธพากันท่องได้อย่างคล่องปาก  ทว่าน้อยคนนักที่นำมาประพฤติปฏิบัติจึงทำให้สังคมสับสนวุ่นวาย  เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินกันจนตกเป็นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน

         ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์ให้ทุกคนรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด  โดยผู้ใหญ่ตั้งแต่พ่อแม่  ครูอาจารย์  ผู้บังคับบัญชาตามลำดับขึ้นไปจนถึงผู้ทำหน้าที่ปกครองประเทศจะประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุตรธิดา  ลูกศิษย์  ผู้ใต้บังคับบัญชาจนถึงประชาชน เพื้อความสวบสุขทั้งในส่วนบุคคลและสังคม


        ศีลห้า  มีความสำคัญและเป็นศีลสำหรับทุกคน  จึงจำเป็นที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับศีบห้า  แทนที่จะท่องได้คล่องปากเท่านั้น  หากต้องท่องให้คล่องใจ  พร้อมที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติไดเตลอดเวลา  สาระของศีลห้า  มีดังนี้

         1.  ปาณาติปาตา  เวรมณี  เว้นจากการปลงชีวิต  เว้นจากการฆ่า  การประทุษร้อยกัน  ธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์เหมือนกันตรงที่รักสุข  เกลียดทุกข์  เมื่อเรารักสุข  เกลียดทุกข์  คนอื่นก็เช่นกัน  ไม่มีใครต้องการให้ผู้อื่นมาฆ่า  หรือประทุษร้ายเขา  พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า  "  บุคคลค้นหาด้วยจิตตลอดทั่วทุกทิศ  ไม่ได้พบใครซึ่งเป็นที่รักกว่าตนในที่ไหนๆเลย  สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน  ฉะนั้นผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น "  (พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 , 2525 : 95)

         บุคคลผู้ไม่มีศีลข้อนี้จึงเป็นคนมีจิตใจโหดร้ายทารุณ  ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและสังคม  ก่อความเดือดร้อนแก่ตนเอง  เช่น  เมื่อไปฆ่าเขาตายก็ต้องคอยหลบหนีซ่อนเร้น  เพื่อให้พ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  คอยหวาดระแวงกลัวจะถูกกฎหมายบ้านเมืองลงโทษ  เดือดร้อนแก่สังคม  คือ  สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้อื่น  ผู้ที่กระทำปาณาติบาตเนืองๆนั้น  พระพุทธองค์ตรัวไว้ว่า  จะได้รับโทษคือทำให้อายุสั้น  หากเบียดเบียนสัตว์ให้ลำบากเดือดร้อน  จัดมีโทษ  คือ  ทำให้เป็นโรคภัยเบียดเบียน  นอกจากนี้ยังได้รับโทษ  คือ

              1.1  ทำให้เป็นที่หวาดกลัวของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น  ไม่มีใครอยากเข้าใกล้  เพราะเกรงจะถูกประทุษร้าย
              1.2  ทำให้ไม่ได้ไปเกิดในภาพภูมิที่ดี  หากตายจากโลกนี้ก็จะไปเกิดในอบายภูมิ  ซึ่งหมายถึงภูมิที่ปราศจากความสุขความเจริญ  ได้แก่  นรก  อสรุกาย  เปรต  เป็นต้น
              1.3  ทำให้กิเลส  เครื่องเศร้าหมองในตัวงอกงามขึ้น  เป็นการตัดทางแห่งคุณงามความดี  และยากแก่การพัฒนาจิตใจบรรลุคุณธรรมชั้นสูง

         2.  อทินนาทานา  วเรมณี  เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้  เว้นจากการลักขโมย  ละเมิดกรรมสิทธิ์  ทำลายทรัพย์สิน  คนทุกคนย่อมเสีดายทรัพย์สินที่ตนหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง  ด้วยความสุจริต  ไม่ต้องให้ผู้ใดมาลักขโมย  มาคดโกง  ปอกลอก  ไปเป็นของตนโดยมิชอบธรรม  ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาละเมิดกรรมสิทธิ์หรือทำลายทรัพย์สินของตน

         ผู้ที่ชอบลักขโมยคดโกงผู้อื่นเป็นคนเห็นแก่ได้  ขาดคุณธรรม  มีความละโมบโลภหลง  ถูกผู้คนตำหนิติเตียนว่าเป็นคนเกียจคร้านหาเลี้ยงชีพในทางทุจริต  คนพวกนี้เที่ยวแย่งชิงวิ่งราว  เที่ยวปล้นเขา  บางครั้งก็ฆ่าเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตายเป็นการละเมิดศีลข้อหนึ่ง  ด้วยผู้กระทพอทินนาทานาบ่อยๆจนเป็นนิสัยจะได้รับผลกรรม  คือตกนรก  เมื่อยังไม่ตายก็มักต้องสูญเสียทรัพย์อยู่เนืองๆ  ทรัพย์สินที่ได้มาก็มักมีอันเป็นไป  เช่น  ถูกภัยต่างๆคุกคาม  ได้แก่  อัคคีภัย  วาตภัย  อุทกภัย  หรือแม้แต่  โจรภัย  เพราะไปลักเขามา  คนอื่นก็มาลักของตนไป  เป็นต้น

           3.  กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม  เว้นจากการล่วงละเมิด  สิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน  คือ  การไม่ประพฤติล่วงละเมิดในภรรยาหรือสามีของผู้อื่น  หรือประพฤตินอกใจสามีหรือนอกใจภรรยาตน  นอกจากนี้การล่วงละเมิดต่อบุตรธิดาที่ยังอยู่ในความปกครองของบิดามารดา  การข่มขืนกระทำชำเราต่อผู้ที่มิได้ยินยอมก็ถือเป็นกาเมสุมิจฉาจารา

         สิ่งใดที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหนนั้นอาจเป็นวัตถุก็ได้  ตัวอย่างเช่น  เด็กหญิงคนหนึ่งมีตุ๊กตาสวยๆ ราคาแพง  เจ้าของรักและหวงแหน  เพื่ออีกคนหนึ่งอยากได้  แต่มิได้ขโมยเพราะกลัวจะถูกจับได้และถูกครูลงโทษ  เมื่อเพื่อนคนนั้นเผลอ  จึงแกล้งด้วยการแอบไปฉีกแขนขาตุ๊กตาให้เสียหาย  ความประพฤติเช่นนี้ก็เป็นกาเมสุมิจฉาจาร  เพราะล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน

         ผู้ประกอบกาเมสุมิจฉาจารอยู่เนืองๆย่อมได้รับโทษคือ  ไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น  เข้าสังคมก็เป็นที่รังเกียจ  และเป็นผู้ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม  บางครั้งก็ทำให้อายุสั้น  เพราะถูกผู้ที่ตนไปประพฤติผิดในสามีหรือภรรยาเขาทำร้ายถึงความตาย  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังเป็นการสะสมอกุศลกรรมให้กับตัวเอง  เมื่อตายก็จะไปสู้ทุกคติที่มีนรก  เปรต  อสรุกาย  เดรัจฉาน  เป็นต้น  ตัวอย่างนี้เห็นอยู่บ่อยๆตามหน้าหนังสือพิมพ์  เช่น  สามียิงชายชู้ของภรรยายตายบ้าง  หรือภรรยาตัดอวัยวะเพศของสามีจอมเจ้าชู้  ทำให้เกิดคดีฆาตกรรมขึ้นเนืองๆเป็นที่เศร้าสลดใจยิ่ง  ในปัจจุบันบุคคลผู้ละเมิดศีลข้อนี้ยังต้องเสี่ยงกับการติดโรคเอดส์อีกด้วย

         4.  มุสาวาทา  เวรมณี  เว้นจากการพูดเท็จ  โกหก  หลอกลวง นอกจากนี้ยังรวมถึงการกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทั้งๆที่รู้ความจริงนั้นอยู่  เพื่อให้ผู้อื่นเสียประโยชน์  เรียกว่าทำลายประโยชน์ผู้อื่น  หากคำกล่าวเท็จทำลายประโยชน์ผู้อื่นมาก  ผู้กล่าวเท็จก็มีโทษมาก  ทำลายประโยชน์เขาน้อยก็มีโทษน้อย

         โทษที่เห็นชัดคือ  ทำให้ขาดความเชื่อถือเป็นที่ดูหมิ่นของผู้อื่น  บางครั้งแม้จะพูดความจริงก็ไม่มีคนเชื่อถือถ้อยคำ  นอกจากนี้การเป็นพยานเท็จในศาลอาจถูกจำคุกหากถูกจับได้  หากการกล่าวเท็จให้ร้ายป้ายสีผู้มีคุณธรรม  ต้องตกนรก  การกล่าวเท็จหลอกลวงเพื่อนฝูงอาจถูกทำร้ายหรือถูกฆ่า  เขามีภรรยากล่าวเท็จต่อกันอาจทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นหย่าร้าง  เป็นต้น

         5.  สุราเมรมัชชปมาทัฎฐานา  เวรมณี  เว้นจากน้ำเมาหรือสุราเมรัยอันเป็นที่ต้งแห่งความประมาท  เว้นจากสิ่งเสพย์ติดให้โทษ  ศีลข้อนี้มีความสำคัญมากกว่าข้ออื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น  เพระถ้าทุกคนละเมิดศีลข้อนี้เพียงข้อเดียวอาจทำให้ละเมิดข้ออื่นๆได้ทั้งหมด  ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า  สุราและเมรัยนั้นเป็นที่ตั้งของความประมาท  กล่าวคือเมื่อบุคคลเสพเข้าไปแล้วย่อมทำให้ขาดสติ

         บุคคลผู้ขาดสติย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาท  ดังชายผู้หนึ่งดื่มสุราจนเมามายขาดสติ  เมื่อกลับถึงบ้านก็ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับภรรยาขั้นทุบตี  บิดาของเขาได้มาห้าม  จึงถูกบุตรชายทำร้ายจนถึงแก่ความตาย  เท่ากับชายผู้นี้ทำปิตุฆาต  คือการฆ่าบิดา  ซึ่งถือเป็นบาปหนัก  ตัดทางสวรรค์และนิพพานอย่างเด็ดขาด

         พระพุทธองค์แสดงโทษของผู้ติดสุราและของมึนเมาไว้ 6 สถานคือ (พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 . 2525  ; 140)
         1.  ความเสื่อมเสียอันผู้ดื่มพึงเห็นเอง
         2.  ก่อการทะเลาะวิวาท
         3.  เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
         4.  เป็น้หตุเสียชื่อเสียง
         5.  เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย
         6.  เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา

         ศีลห้าข้อที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคมเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี  ไม่เบียดเบียนกัน  สังคมจึงจะได้ไม่เดือดร้อนระส่ำระสาย  เป็นรกฐานรองรับสันติสุขของสังคม  เป็นมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับจัดระเบียบชีวิตและสังคมมนุษย์ให้อยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามหรือพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไป






Free TextEditor


Create Date : 23 ตุลาคม 2551
Last Update : 23 ตุลาคม 2551 19:46:49 น. 1 comments
Counter : 3514 Pageviews.

 

              ศีลห้าหรือเบญจศีลนี้มีธรรมที่คู่กันเรียกว่า  เบญจธรรม  หรือเรียกว่า  เบญจกัลยาณธรรม  หมายถึง  คุณธรรมห้าประการ  เป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีลที่ผู้รักษาเบญจศีลมีไว้ประจำใจ (พระราชมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2527 :  140-141)  คุณธรรม 5 ประการ  มีดังนี้

       
1.  เมตตา  กรุณา  ความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญและความสงสารช่วยให้พ้นทุกข์คู่กับศีลข้อที่หนึ่ง ผู้ที่มีความเมตตาย่อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย  นอนหลับก็เป็นสุข  ตื่นนอนก็เป็นสุข  ผิวพรรณผ่องใส  จิตใจชื่นบาน  ปลอดโปร่ง  เพราะไม่คิดพยาบาทปองร้อยผู้ใดให้จิตใจเศร้าหมอง

        2.  สัมมนาอาชีวะ  การเลี้ยงชีพในทางสุจริตคู่กับศีลข้อที่สอง  คือการละมิจฉาอาชีวะ  ซึ่งหมายถึงการเลี้ยงชีพในทางทุจริต  อาชีพที่จัดเป็นมิจฉาชีพคือการประกอบการค้า  5  ชนิด  ได้แก่  (สุจิตรา  รณรื่น 2538 : 145)
                   1.  ค้าขายเครื่องประหารหรืออาวุธ
                   2.  ค้าขายมนุษย์  เช่น  ค้ากาม  ค้าประเวณี
                   3.  ค้าขายสัตว์ที่มีชีวิตสำหรับฆ่าเป็นอาหาร
                   4.  ค้าขายน้ำเมา  
                   5.  ค้าขายยาพิษ
 
        3.  กามสังวร  ความสำรวม  ระวัง  รู้จักยับยั้งควบคุมในทางกามรมณ์มิให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส  มีความยินดีพอใจในคู่ครองของตนคู่กับศีลข้อที่สาม ผู้มีธรรมข้อนี้  ย่อมมีความสุขในชีวิต  ไม่ก่อปัญหาให้ครอบครัวหรือสังคม  ตรงกันข้ามกับผู้ที่ขาดกามสังวร  เช่นครอบครัวที่บิดาเจ้าชู้มีภรรยาหลายคน  หรือเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น  ย่อมทำให้เกิดปัญหาทั้งในครอบครัวของตนเองและผู้อื่น  ลูกขาดความอบอุ่นและอาจหันไปพึ่งยาเสพย์ติด  ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่  ปัญหาเยาวชนติดยาเสพย์ติดที่แพร่หลายในปัจจุบันนี้มีสาเหตุมาจากครอบครัวแตกแยก  บิดามารดาหย่าร้างกัน  และสาเหตุใหญ่ของการหย่าร้างก็เนื่องมาจากบิดามารดาขาดกามสังวร  บางครอบครัวบิดาเจ้าชู้  และหลายครอบครัวโชคร้ายหนักไปกว่านั้น  คือ  ทั้งบิดามารดาเจ้าชู้พอๆกัน  ผู้ที่รับเคราะห์กรรม  คือ  ลูกผู้รู้จักเป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคต  เมื่อครอบครัวขาดความอบอุ่นเยาวขนมักหันไปพึ่งพายาเสพย์ติด  อนาคตของชาติก็จะมืดมน  ผู้เป็นบิดามารดาพึงตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก
 
        4.  สัจจะ  ความสัตย์  ความซื่อตรง  คือดำรงมั่นในสัจจะ  ซื่อตรง  ซื่อสัตย  จริงใจ  พูดจริง   ทำจริง  จะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือ  ไว้วางใจได้คู่กับศีลข้อที่สี่ บุคคลผู้มีธรรมข้อนี้ย่อมเป็นผู้ที่เจริญในหน้าที่การงาน  เช่น นักธุรกิจมีสัจจะ  ย่อมเป็นที่ไว้วางใจของผู้ร่วมงาน  พ่อค้ามีสัจจะย่อมเป็นที่เชื่อถือของลูกค้า  ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง  นักการเมืองมีสัจจะทำให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน  เป็นต้น

        5.  สติสัมปชัญญะ ความระลึกได้และความรู้จักทั่วพร้อม  คือฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด  รู้สึกตัวเสมอว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ  ระวังมิให้คนมัวเมาประมาทคู่กับศีลข้อที่ห้า  สติสัมปชัญญะ  เป็นธรรมที่สำคัญมาก  พระพุทธองค์ตรัสยกย่อง  สติสัมปะชัญญะ  ว่าเป็นธรรมะมีอุปการะมาก  ผู้ที่มีธรรมข้อนี้ย่อมเป็นผู้ไม่พลั้งเผลอในการกระทำใดๆ  ในทางตรงกันข้ามหากขาดสติสัมปชัญญะฆ่าผู้อื่นได้หรือฆ่าตัวเองได้ ลักทรัพย์  ประพฤติผิดในกาม  พูดเท็จ  หรือกระทำการใดที่คนมีสัมปชัญญะเขาไม่ทำกัน  เป็นต้น

        กล่าวโดยสรุปก็คือ    เบญจศีลและเบญจธรรมนั้นเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของคนในสังคมมนุษย์  เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง  มิได้ท่องได้คล่องปากเท่านั้น  และไม่ควรมองข้ามไป  เมื่อทุกคน  ทุกครอบครัว  ในชุมชน  สังคม  และโลกประพฤติปฏิบัติ  เบญจศีล  และเบญจธรรมอย่างเคร่งครัด  ด้วยคิดว่าเป็นเรื่องที่คสรปฏิบัติ  มากกว่าที่จะมองข้ามไปแล้ว  ทุกคน  ทุกครอบครัว  ในชุมชน  สังคม  และโลกย่อมประสบสันติสุขเช่นกัน

บรรณานุกรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525.2525.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์.
พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง 44 เล่ม. 2525 .พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพมหานคร : การศาสนา.
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต). 2536.จะพัฒนาคนได้อย่างไร.พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพมหาคร : บริษัทสหธรรมิก จำกัด.
--------------------ชีวิตที่สมบูรณ์.2537.พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหาคร : บริษัท สหธรรมิก จำกัด.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต).2528.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม.พิมพ์ครั้งที่4.กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
--------------------พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. 2527. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์การพิมพ์.
--------------------พุทธธรรม.2527.กรุงเทพมหานคร : บริษัท โอ เอ.พริ้นติ้งเฮาส์ จำกัด. วศิน อินทรสระ.2523.หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย
สุจิตรา รณรื่น.2538.ศาสนาเปรียบเทียบ.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : บริษัทสหธรรมิก จำกัด.

         

สิริพร  กุ่ยกระโทก
ขอได้รับความสวัสดีทุกท่าน


from : )

//skuikratoke.212cafe.com/archive/2006-08-23/2527-292-227-1-15-2525-95-1-1-1-2-1-3-2-3-4-5-6-11-2525-140-1-2-3-4-5-6-2527-140141-5-1-2-5-2538-145/






Free TextEditor


โดย: you4lucky วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:19:48:41 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

you4lucky
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะคะ
Friends' blogs
[Add you4lucky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.