ไปกด Link ได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/skymantaf หรือ Follow ได้ที่ Twitter https://twitter.com/skymantaf หรือที่ http://www.thaiarmedforce.com นะครับ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
เรื่องราวของกระสุนหัวยูเรเนียม (ภาคแรก)

หมายเหตุ: บทความนี้ผมนำมาจากเว็บของร.ร.วิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งเป็นบทความที่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ทหารบกเล่มปีที่ 18 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2541 เห็นว่าน่าสนใจดี เลยขออนุญาตินามาให้ได้อ่านกันครับ อาจจยาวซักนิดนึง แต่เชื่อว่าคุ้มค่าครับ


อันตรายจากกระสุนหัวยูเรเนียมด้อยไอโซโทป

พ.อ.หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล



ยูเรเนียมด้อยไอโซโทปคืออะไร

ธาตุยูเรเนียมทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบแบ่งแยกตัว (nuclear fission) ซึ่งอาจใช้เป็นปฏิกิริยาสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์(การใช้ทางสันติ) หรือใช้ทำให้เกิดการระเบิดนิวเคลียร์ ในกรณีแรกต้องควบคุมปฏิกิริยาแบ่งแยกตัวซึ่งเกิดติดต่อกันไปเป็นลูกโซ่ (chain reaction) ให้อยู่ในขอบเขต ในกรณีหลังต้องทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างรวดเร็วโดยไม่มีการควบคุม ยูเรเนียมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (nuclear reactor fuel) จะต้องมียูเรเนียม-235 เป็นองค์ประกอบระหว่าง 3.2% - 3.6% และถ้าจะใช้ทำหัวรบของอาวุธ นิวเคลียร์จะต้องมียูเรเนียม-235 เป็นองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 90% (weapon grade) จึงจะสามารถดำรงการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ของการแบ่งแยกตัวได้
ยูเรเนียมด้อยไอโซโทป (depleted uranium หรือ DU) เป็นผลิตผลพลอยได้ของกระบวนการทำให้ยูเรเนียมในแร่ยูเรเนียมธรรมชาติมีความเข้มข้นสูง (enriching) เพื่อจะใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือใช้สำหรับทำอาวุธนิวเคลียร์ จึงมีบางคนเรียกว่ากากยูเรเนียม DU มียูเรเนียม-235 เป็นองค์ประกอบไม่ถึง 0.3% หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าDU มียูเรเนียม-235 น้อยกว่ายูเรเนียมธรรมชาติ 28% และมีกัมมันตภาพรังสีอันเนื่องมาจาก ? น้อยกว่ายูเรเนียมธรรมชาติ 43% (แร่ยูเรเนียมธรรมชาติแผ่รังสีน้อยอยู่แล้ว) DU ในสภาวะที่เป็นของแข็งจึงแทบไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย

ยูเรเนียมด้อยไอโซโทปใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

DU เป็นโลหะหนักราคาไม่แพงนัก มีความหนาแน่น (หนัก) กว่าตะกั่ว 1.7 เท่า (19.05 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบกับตะกั่ว 11.35 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร) จึงนิยมใช้ทำหัวกระสุนเจาะเกราะสำหรับทำลายยานเกราะ และทำเกราะของรถถัง นอกจากนี้ยังใช้กันอย่างกว้างขวางในทางพลเรือน อาทิ ใช้ถ่วงเครื่องบินและเรือไม่ให้โคลงมาก และทำวัสดุกั้นรังสี

DU เป็นวัสดุผลิตกระสุนพลังงานจลน์ต่อสู้ยานเกราะ (kinetic energy anti-armour munitions) ที่มีประสิทธิผลในการเจาะเกราะดีที่สุดและใช้กันแพร่หลายในขณะนี้ เพราะนอกจากจะเป็นวัสดุที่หนาแน่นมากแล้ว ยัง “เหลาหัวให้แหลมเอง” (“self sharpens”) ได้ขณะเจาะเกราะ คุณลักษณะประการหลังทำให้มันดีกว่าทังสเตน (โลหะอีกชนิดที่นิยมใช้ทำลูกกระสุนเจาะเกราะ) ซึ่งมีจุดหลอมเหลว (3410°C) สูงกว่า DU (1132°C) จึงทำให้มีประสิทธิผลในการเจาะเกราะด้อยกว่า DU ถึงร้อยละ 20 เพราะทังสเตนจะทู่เมื่อกระทบกับยานเกราะและบานเป็นรูปดอกเห็ด นอกจากนี้ DU ยังมีคุณสมบัติจุดตัวเองให้ลุกไหม้ได้ (pyrophoric) เศษเล็กเศษน้อยที่กระเด็นออกมาจากการเหลาหัวให้แหลมเองจะจุดตัวเองเป็นประกายไฟ และไปทำให้เชื้อเพลิงและกระสุนภายในยานเกราะที่ตกเป็นเป้าลุกไหม้จนเป็นผลให้เกิดการระเบิด DU จึงมีความสามารถทำให้เกิดการระเบิดได้โดยที่ตัวมันเองไม่ได้เป็นวัตถุระเบิด

DU เป็นวัสดุทำแผ่นเกราะที่ให้การป้องกันรถถังได้ดีที่สุดในขณะนี้ โดยอาศัยประโยชน์จากความหนาแน่นของมัน แผ่นเกราะ DU มีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กหุ้มแผ่น DU ที่ซ้อนกันหลายแผ่นอยู่ภายใน ใช้เป็นเกราะของรถถังหลักแบบ เอ็ม 1 เอ 1 และ เอ 2 “เอบรามส์” รุ่นเกราะหนา และป้องกันอันตรายจากกระสุนต่อสู้ยานเกราะที่ไม่ใช้ DU เป็นหัวกระสุนที่มีประจำการในขณะนี้เกือบทุกประเภท ได้ดีกว่าเกราะทำด้วยเหล็กกล้า โลหะผสม หรือแผ่นโลหะอัด (laminates) จนถึงปัจจุบัน ทบ.สหรัฐฯ นำรถถังในอนุกรม เอ็ม 1 ที่ติดตั้งแผ่นเกราะ DU เข้าประจำการแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 คัน

ชิ้นส่วนที่ใช้ควบคุมการบินของอากาศยานลำตัวกว้างจำเป็นต้องมีน้ำหนักถ่วง แต่จำกัดด้วยขนาดเนื้อที่ผิวพื้นของชิ้นส่วน จึงไม่สามารถใช้วัสดุที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าทังสเตนหรือ DU ทำน้ำหนักถ่วง เครื่องบินโบอิ้ง 747 “จัมโบเจ็ท” ใช้ DU เป็นน้ำหนักถ่วงประมาณ 1,500 กิโลกรัม

บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ผลิตวัสดุกั้นรังสีชนิดใหม่เรียกชื่อทางการค้าจดทะเบียนว่า DUCRETE (น่าจะมาจากคำว่า DU ผสม concrete) ใช้ทำถังบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีแกมมา ถังที่ทำด้วย DUCRETE มีผนังบางและมีน้ำหนักเบากว่าถังชนิดอื่นที่เคยใช้กัน

กระสุนหัวยูเรเนียมด้อยไอโซโทปและการทำงาน

กองทัพสหรัฐฯ ใช้กระสุนหัว DU หลายชนิดและจำนวนมาก เพราะนอกจากมีคุณสมบัติดีดังกล่าวมาแล้วข้างต้น บริษัทผลิตกระสุนยังได้รับ DU ฟรีจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นผลิตผลพลอยได้ของโรงผลิตยูเรเนียมเข้มข้นซึ่งเป็นของรัฐบาล (ยูเรเนียมเข้มข้นนำไปใช้ทำเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และทำอาวุธ) และอีกประการหนึ่ง ถ้าใช้โลหะทังสเตนทำกระสุนเจาะเกราะ สหรัฐฯ จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่จากจีน) ถึงร้อยละ 50 ของปริมาณความต้องการทั้งสิ้น

DU ที่ใช้ทำลูกกระสุนต้องทำให้มีความแข็งขึ้นด้วยการลดปริมาณคาร์บอนและผสมกับโลหะไทเทเนียมร้อยละ 0.75 โดยน้ำหนัก (ร้อยละ 3.7 โดยปริมาณสัมพันธ์) ก่อนนำไปขึ้นรูปทำแกนลูกกระสุน (projectile) รูปลูกดอก เพื่อใช้กับกระสุนพลังงานจลน์ต่อสู้ยานเกราะ หรือแผ่บุด้านในของหัวรบที่บรรจุดินระเบิดโพรง กระสุน DU ที่ใช้ในกองทัพสหรัฐฯ มีหลายขนาดและหลายชนิด สำหรับใช้กับระบบอาวุธทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีกระสุน DU อย่างน้อยมีอีก 17 ประเทศที่มีกระสุน DU อาทิ สหราชอาณาจักรฯ ฝรั่งเศส รัสเซีย กรีซ ตุรกี อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน อียิปต์ คูเวต ปากีสถาน ไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ส่งออกรายใหญ่

สหราชอาณาจักรฯ ใช้กระสุน APFSDS ขนาด 120 มม. กับรถถัง Challenger-2
ฝรั่งเศส ใช้กระสุน APFSDS ขนาด 105 มม. กับรถถัง เอเอ็มเอ็กซ์ 20 บี 2 และกระสุน APFSDS ขนาด 120 มม. กับรถถัง Leclerc
รัสเซีย ใช้กระสุน APFSDS ขนาด 115 มม. กับรถถัง ที-62 กระสุน APFSDS ขนาด 125 มม. กับรถถัง ที-72 และกระสุน HEAT-FS (High Explosive Anti-Tank-Fin Stabilized กระสุนระเบิดต่อสู้รถถังทรงตัวด้วยหาง) ขนาด 105 มม. กับรถถัง ที-72
DU ไม่ได้เป็นหัวรบ ลูกระเบิด หรือวัตถุระเบิด เป็นเพียงตัวเจาะเกราะของกระสุนสมัยใหม่ที่ใช้ต่อสู้ยานเกราะ นอกจากนี้ยังใส่ไว้ที่ปลายอาวุธปล่อยบิน (จรวดร่อน - ศัพท์ ทร.) โจมตีภาคพื้นดินแบบโทมาฮอว์ก

กระสุนเจาะเกราะยิงจากปืนใหญ่รถถังมีแกนลูกกระสุนรูปลูกดอกทำด้วย DU มีเปลือกหุ้ม (sabot) ทำด้วยพลาสติก อะลูมิเนียม หรือโลหะผสม ที่มีขนาดเท่ากับลำกล้องปืน เมื่อกระสุนเคลื่อนพ้นปากลำกล้องปืนไม่เกิน 100 เมตร เปลือกหุ้มจะสลัดตัวเองออกด้วยแรงเฉื่อยมาข้างหลัง แรงดันของแก๊สที่เกิดจากดินส่งกระสุน และแรงเหวี่ยง ประกอบกัน ทำให้แกนลูกกระสุน เป็นอิสระและเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วสูงถึง 1.5 กิโลเมตร/วินาที ทันทีที่พุ่งชนเกราะของยานเกราะ (โดยเฉพาะที่ทำด้วยเหล็กกล้า) ผิวของ DU จะลุกเป็นไฟ เกราะบริเวณที่แกนลูกกระสุนพุ่งชนและ DU ส่วนหนึ่งจะหลอมละลายเป็นของเหลว เนื่องจากอุณหภูมิสูงที่เป็นผลของการกระแทกอย่างแรง ขณะเจาะเกราะแกนลูกกระสุนจะละลายและเหลาตัวเองให้แหลมไปด้วย เมื่อทะลุถึงด้านในของรถเกราะ แกนลูกกระสุน DU ส่วนที่ยังไม่หลอมละลาย พร้อมด้วยโลหะเหลวจากเกราะรถ และชิ้นส่วนของเกราะรถที่กะเทาะจากด้านใน จะแฉลบไปทั่วภายในรถ ทำอันตรายทหารที่อยู่ภายใน นอกจากนี้เศษเล็กเศษน้อยที่กระเด็นออกมาจากการเหลาหัวให้แหลมเองของแกนลูกกระสุน DU จะจุดตัวเองเป็นประกายไฟ และทำให้เชื้อเพลิงและกระสุนภายในยานเกราะที่ตกเป็นเป้าลุกไหม้จนเป็นผลให้เกิดการระเบิด

การเจาะเกราะของ DU ทำให้เกิดรูเข้าขนาดเล็กค่อนข้างกลม และถ้าเจาะทะลุเป้าหมายจะมีรูออกค่อนข้างกลมเช่นกันแต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย กระสุนปืนของเครื่องบิน เอ-10 สามารถเจาะเกราะทำด้วยเหล็กกล้าหนา 9 ซม. (3.5 นิ้ว)

อันตรายจากกระสุนยูเรเนียมด้อยไอโซโทป: ความเห็นของนักวิชาการพลเรือน

แม้รังสีจากอนุภาค α จากแกนลูกกระสุนทำด้วย DU จะถูกเปลือกหุ้ม (sabot) ทำด้วยอะลูมิเนียมกั้นไว้ได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยในการป้องกันอันตรายจากรังสี เพราะอนุภาค α จากแกนลูกกระสุน DU เปลือย (ปราศจากเปลือกหุ้ม) ไม่สามารถจะทะลุทะลวงผ่านผิวหนังแม้ชั้นหนังกำพร้า รังสีจากอนุภาค α และ β จากผลิตภัณฑ์ลูก (daughter products) ของธาตุยูเรเนียมในแกนลูกกระสุน DU เปลือยขณะสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงจะอยู่ในอัตราประมาณ 200 มิลลิเร็มต่อชั่วโมง มากกว่าอัตราสูงสุดที่ยอมให้สาธารณชนรับได้ (2 มิลลิเร็มต่อชั่วโมง) ถึง 100 เท่า

ปริมาณกำหนดสมมูลสะสม (accumulated DE) จะมีนัยสำคัญในกรณีที่เด็กเก็บไปเล่น หรือในกรณีผู้เก็บชิ้นส่วนของแกนลูกกระสุน DU ยิงแล้วเป็นของที่ระลึกจากสงคราม นำไปไว้กับร่างกายในลักษณะที่สัมผัสกับผิวหนังเปลือยเปล่าของตนตลอดเวลา อันเป็นการกระทำที่นิยมกันในหมู่ทหารฝรั่ง กรณีดังกล่าวจะทำให้ได้รับรังสีในอัตราประมาณ 1,800 เร็มต่อปี และภายในเวลาเพียง 10 วันจะได้รับในปริมาณกำหนดสูงสุดสำหรับการรับรังสีที่ผิวหนัง (50 เร็มต่อปี) ที่ยอมให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับรังสีรับได้ อย่างไรก็ตาม ทหารทั่วไปและเด็กไม่ใช่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับรังสี จึงต้องลดปริมาณกำหนดสมมูลสูงสุดที่ยอมให้รับได้ลง 50 เท่า เหลือเพียง 1 เร็มต่อปีสำหรับการรับรังสีที่ผิวหนัง ดังนั้น ทหารที่นำแกนลูกกระสุน DU แนบชิดกับผิวหนังอยู่ตลอดเวลาจะได้รับรังสีในปริมาณกำหนดสูงสุดที่ยอมให้สาธรณชนรับได้ภายในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง

ปริมาณกำหนดสมมูลสำหรับการรับรังสีทั่วร่างกายของพลประจำรถถังแบบ เอ็ม 1 เอ 1 และ เอ 2 ที่มีเกราะทำด้วย DU มีอัตราระหว่าง 0.04 มิลลิเร็มต่อชั่วโมงสำหรับผู้บังคับรถ และ
0.18 มิลลิเร็มต่อชั่วโมงสำหรับพลขับฯ ซึ่งจะทำให้พลขับฯ ได้รับรังสีสะสมจนถึงปริมาณกำหนดสูงสุดที่ยอมให้สาธารณชนรับได้ (100 มิลลิเร็มต่อปี) หลังจากปฏิบัติหน้าที่คราวละ 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 70 วัน

DU ก่ออันตรายสูงสุดต่อสุขภาพมนุษย์เมื่อถูกสูดหายใจหรือกลืนกินเข้าไป วิธีที่ DU เข้าร่างกายอาจเกิดจาก

การสูดหายใจเอาควันที่มีอนุภาค DU
การเข้าทางปากผ่านมือที่จับต้องรถเปื้อนอนุภาค DU มาก่อน
การสูดหายใจหรือกลืนอนุภาค DU ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศจากการถูกทำให้ฟุ้งใหม่
การดื่มกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน DU
ฝุ่น DU เข้าบาดแผล
บาดแผลที่เกิดจากสะเก็ด DU

อันตรายจากกระสุนยูเรเนียมด้อยไอโซโทป: ความเห็นของ ทบ.สหรัฐฯ

ทบ.สหรัฐฯ ชี้แจงว่าทหารมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้รับ DU เข้าสู่ร่างกายในกรณีต่อไปนี้

เข้าไปภายในหรือใกล้กับยานเกราะซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกทำลายด้วยกระสุน DU
เข้าไปภายในหรือใกล้กับรถถังชนิดมีเกราะ DU และรถคันนั้นถูกยิงทะลุด้วยกระสุนชนิดใดก็ได้
เข้าไปใกล้ไฟซึ่งลุกไหม้กระสุน DU
เข้าไปภายในรถซึ่งถูกยิงด้วยกระสุน DU หรือมีเกราะ DU ซึ่งถูกยิงทะลุหลายครั้ง
แต่รับว่าทหารที่ไปจับต้องแกนลูกกระสุน DU พบในสนามรบมีโอกาสได้รับรังสีในปริมาณที่มีนัยสำคัญ (แต่เตือนว่าทหารไม่ควรจับต้องเศษชิ้นส่วนหรือซากยุทโธปกรณ์ใดในสนามรบ เว้นแต่จะได้รับคำสั่ง) ส่วนทหารบาดเจ็บที่มี DU ฝังอยู่ในบาดแผล แพทย์ทหารปฏิบัติต่อการบาดเจ็บเช่นเดียวกับการบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดทำด้วยโลหะอื่น และการศึกษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจาก DU ยังไม่พบว่ามีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่มีสาเหตุจากสมบัติทางกัมมันตรังสีหรือทางเคมีของ DU

ทบ.สหรัฐฯ กล่าวว่ากระสุน DU ที่อยู่ในหีบห่อหรือยังไม่ยิงมีอันตรายจาก DU น้อยมาก ทหารอาจอุ้มกระสุนต่อสู้รถถังขนาด 120 มม.ที่มีตัวเจาะเกราะทำด้วย DU ได้นานถึง 940 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับรังสีเกินกว่าปริมาณกำหนดสมมูลสูงสุดที่ยอมให้รับได้ 5 เร็มต่อปีสำหรับการรับรังสีทั่วร่างกาย และแม้ว่าแกนลูกกระสุน DU ที่ถูกยิงไปแล้วจะมีอันตรายสูงกว่ากระสุนที่ยังไม่ได้ยิงก็ตาม ทหารจะต้องถือแกนลูกกระสุน DU ด้วยมือเปล่าเป็นเวลานานกว่า 250 ชั่วโมง จึงจะได้รับรังสีเกินปริมาณกำหนดสมมูลสูงสุดที่ยอมให้รับได้ 50 เร็มต่อปีสำหรับผิวหนังหรืออวัยวะที่ห่างลำตัวที่สุด (มือและเท้า)

ทบ.สหรัฐฯ ยอมรับว่าพิษทางเคมีของ DU เป็นอันตรายสำคัญ แต่ทหารไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อยานเกราะของตนถูกยิงด้วยกระสุนหัว DU หรือเมื่อเกราะ DU ของรถถูกยิงทะลุ

การเกิดพิษจากยูเรเนียมด้อยไอโซโทป: ความเห็นที่ไม่ตรงกันด้านความรุนแรง

มีการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดพิษของยูเรเนียมมานานกว่า 50 ปี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เห็นพ้องกันว่า ในฐานะที่เป็นธาตุกัมมันตรังสี DU เปล่ง α เป็นปฐม นอกจากนี้ยังเปล่ง β, γ และรังสีเอกซ์ อีกอย่างละเล็กน้อย ในฐานะที่เป็นโลหะหนัก DU ทำให้เกิดพิษทางเคมีได้เช่นเดียวกับโลหะหนักชนิดอื่น เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม

ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์แตกแยกกันในเรื่องความรุนแรงของอันตรายจาก DU นักวิทยาศาสตร์พวกหนึ่งมีความเห็นว่า ในระยะยาว (หลายปี) รังสีจาก DU ก่อโรคมะเร็งและลูคีเมียในผู้ที่รับรังสี แต่ในระยะสั้น (หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน) DU เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพจากพิษทางเคมีของมันซึ่งทำอันตรายไต สารประกอบอนินทรีย์ของ DU (ยูเรเนียมออกไซด์จากการเผาไหม้แกนลูกกระสุน DU ที่อุณหภูมิสูงขณะเจาะเกราะ) สามารถทำอันตรายไตได้เช่นสารประกอบอนินทรีย์ของธาตุโลหะหนักชนิดอื่น อันตรายที่เกิดกับไตเป็นผลจากการตกค้างของ DU ปริมาณสูงในหลอดไต (tubules) และกระจุกเส้นโลหิตฝอย (glomeruli) ของไต การศึกษาเกี่ยวกับผลของยูเรเนียมที่มีในน้ำดื่ม (ทั้งน้ำประปาและน้ำบาดาล) ต่อการทำงานของไตสรุปผลว่า การกลืนกินยูเรเนียมในระยะยาวอาจมีผลรบกวนการทำงานของไต แม้จะไม่ทำให้เกิดภาวะไตวายหรืออาการป่วยที่สังเกตได้ แต่อาจเป็นขั้นแรกที่นำไปสู่การบาดเจ็บของไตมากขึ้นหรืออย่างถาวร และมีความเห็นว่าทางเข้าสู่ร่างกายหลักซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายคือทางระบบทางเดินลมหายใจ เพราะการดูดซึมผ่านทางระบบทางเดินอาหารมีปริมาณน้อยมาก

เมื่อสารประกอบยูเรเนียมที่ละลายน้ำได้เข้าไปอยู่ในกระแสโลหิต ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วผ่านทางไตออกมากับน้ำปัสสาวะ บางส่วนที่ยังไม่ถูกขับออกจะตกสะสม (deposit) ที่กระดูก ที่เหลือกระจายไปตามอวัยวะและเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ในที่สุดยูเรเนียมทั้งหมดจะถูกขับออกจากร่างกาย การศึกษาทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซียพบ DU ในน้ำอสุจิของทหารชายบางนาย

สารประกอบ DU ที่ถูกสูดหายใจเข้าปอด จะเคลื่อนที่ช้า ๆ เข้าสู่ระบบไหลเวียนของกระแสโลหิต ยูเรเนียมจะเคลื่อนที่ไปทั่วร่างกายในรูปของยูเรนิลไอออน (uranyl ion) ซึ่งจะตกสะสมที่ผิวกระดูกและค้างอยู่ในเนื้อกระดูกนานหลายเดือน ในที่สุดจะถูกขับออกสู่กระแสโลหิตและถูกกำจัดออกจากร่างกายผ่านไต การศึกษาเกี่ยวกับผลของยูเรนิลไอออนที่มีต่อเซลล์สร้างกระดูกมนุษย์พบว่า แม้เพียง 1 ใน 70,000 นิวเคลียสของเซลล์จะได้รับรังสีจากอนุภาค α แต่เซลล์ที่ได้รับรังสีเหล่านี้ได้กลายเป็นเซลล์เนื้องอก (neoplastic cells) ซึ่งหมายความว่า การเกิดโรคมะเร็งจาก DU ภายในร่างกายเป็นความเสี่ยงเทียบเท่าโลหะหนักชนิดอื่นที่สามารถทำให้เกิดผลสูญเสียทางชีวภาพหรือก่อมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ที่เห็นว่า DU ไม่มีอันตรายมากอย่างที่เชื่อกัน ให้คำอธิบายว่า ถ้าสมมุติว่าอนุภาค DU อนุภาคหนึ่ง มีรูปทรงกลมและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ไมครอน (ประมาณ 3 ไมครอน เชิงอากาศพลศาสตร์) ถูกสูดหายใจเข้าไปตกค้างอยู่ในถุงลมปอด ประมาณว่าอนุภาคนั้นจะเปล่งอนุภาค α ออกมา 1 อนุภาคในทุก 100 วัน แต่ในห้วงเวลานั้นเนื้อเยื่อของปอดจะได้รับรังสีจากอนุภาค α ที่มีพลังงานมากกว่าจากเรดอนธรรมชาติและจากผลิตภัณฑ์จากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอากาศและพื้นผิวโลก

ในระหว่างค้างอยู่ที่กระดูก DU จะเปล่งอนุภาค α ใส่ แต่ไม่สามารถทำอันตรายไขกระดูกได้ เพราะอนุภาค α มีพลังงานต่ำ เดินทางได้เป็นระยะทางประมาณ 30 ไมครอน โรคลูคีเมียจะเกิดได้ต่อเมื่อไขกระดูกได้รับรังสีในปริมาณกำหนดที่มีอัตราสูง การมี U-238 ปริมาณเล็กน้อยในกระดูกจึงไม่ทำให้เกิดโรคลูคิเมียและคาดว่าไม่น่าจะพบผู้ป่วยจากสาเหตุนี้ สิ่งอื่นที่อาจทำให้เกิดโรคลูคิเมียได้รวมถึงเชื้อไวรัส รังสีเอกซ์ อนุพันธ์สารประกอบเบนซีน (benzene, C6H6) จากน้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง เกราะทำด้วยกระเบื้อง และส่วนต่าง ๆ ของยานเกราะสมัยใหม่

DU เป็นโลหะหนัก เมื่อเปรียบเทียบกับตะกั่วแล้วพบว่าโลหะตะกั่วมีพิษมากกว่าโลหะยูเรเนียม และสารประกอบตะกั่วก็มีพิษมากกว่าสารประกอบยูเรเนียม เพราะสารประกอบยูเรเนียมส่วนใหญ่ละลายน้ำไม่ได้จึงไม่สามารถดูดกลืนเข้าในร่างกายได้โดยง่าย ส่วนตะกั่วเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำอันตรายต่อระบบประสาทและมีผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวเคมีต่าง ๆ ของร่างกาย ในขณะที่ยูเรเนียมไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการสำคัญในร่างกาย ยกเว้นตกสะสมที่ไต ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ต่อเมื่อตกสะสมในปริมาณสูง นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าลูกกระสุนตะกั่วน่าจะมีอันตรายมากกว่าลูกกระสุนยูเรเนียม




Create Date : 04 พฤษภาคม 2549
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2550 13:06:37 น. 3 comments
Counter : 10358 Pageviews.

 
เนื้อ แน่น


โดย: คนขายของ IP: 125.25.128.65 วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:16:34:56 น.  

 
ขอบคุณครับ กำลังอยากอ่านเลย


โดย: จับฉ่าย (jubchay ) วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:29:39 น.  

 
กำลังอยากอ่านอยู่จริง ๆ นะ เพราะว่า เมื่อวาน อ่าน เรื่อง สนธิสัญญาป้องกันการกระจายอาวุธนิวเคลียร์

ขอบคุณคะ


โดย: ผีกองกอย IP: 192.169.41.47 วันที่: 15 พฤษภาคม 2549 เวลา:7:15:28 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Analayo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]




หากโลกนี้มีความยุติธรรม เราคงไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจหรอก/Skyman
@ จ่อยน้องลิง @
@ จ่อยหัวหอม @
X
X



free counters


Friends' blogs
[Add Analayo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.