กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
16 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

๒.พระอรหันต์ สิ้นชีวิตแล้วเป็นอย่างไร

ต่อ จบ

๒. พระอรหันต์ สิ้นชีวิตแล้วเป็นอย่างไร ?


     ปัญหาสำคัญที่มักหนีไม่พ้น  เมื่อพูดเรื่องนิพพาน คือ พระอรหันต์ สิ้นชีพแล้ว เป็นอย่างไร หรือว่า ผู้บรรลุนิพพานตายแล้วเป็นอย่างไร ยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

     ความจริง ปัญหาอย่างนี้ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องอัตตานั่นเอง กล่าวคือ ผู้ถามปัญหาอย่างนี้ มีความรู้สึกติดอัตตาแฝงลึกอยู่ในใจ เป็นแรงผลักดันและเป็นแกนสำหรับก่อรูปเป็นคำถามขึ้น ความยึดติดในอัตตา หรือเรียกให้เต็มว่า ความถือมั่นวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา (อัตตวาทุปาทาน) พูดสั้นๆ ว่า ทิฏฐิถืออัตตานี้ ฝังลึกและแน่นแฟ้นในใจของปุถุชน โดยมีภวตัณหาคอยหนุน และอวิชชาเป็นฐานให้

     ในทางปฏิบัติ เมื่อยังไม่ดำเนินตามวิธีแก้ไขที่ตัวเหตุ คือทำลายอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เสียโดยตรง ท่านจะไม่สนับสนุนให้มาถกเถียงเรื่องเช่นนี้ คือ ต้องการให้รู้ด้วยทำ ไม่ใช่เอามาพูดเดากันไป การถกเถียงเรื่องนี้ มีข้อเสียที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะพูดกันอย่างไร ความถือมั่นในอัตตวาทะที่แฝงลึกซึ้ง ซึ่งยังถอนทิ้งไม่ได้นั้น จะทำให้มองคำตอบหรือคำชี้แจงเอียงไป ณ ที่สุดข้างใดข้างหนึ่งเสมอ คือ ถ้าไม่มองเห็นนิพพานเป็นความเที่ยงแท้ยั่งยืนของอัตตา (สัสสตทิฏฐิ) ก็ต้องมองเป็นความขาดสูญของอัตตา (อุจเฉททิฏฐิ) ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งสองอย่าง

     พวกที่ถือความเห็นขาดสูญ  ก็มองนิพพานเป็นความขาดสูญ  เข้ากับความเห็นของพวกตน ซึ่งมองได้ค่อนข้างง่าย เพราะพุทธศาสนาเน้นการแก้ไขด้านที่คนติดพันหลงใหลกันมาก คือด้านการยึดถือที่จะให้ถาวรมั่นคง พวกที่ถือความเห็นเที่ยงแท้ยั่งยืนนั้น เมื่อถูกปฏิเสธเรื่องอัตตา ก็เที่ยวมองหาภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะเข้ามาทดแทน ช่วยเติมหรือสนองความขาดแคลนอัตตา หรือหล่อเลี้ยงอัตตาไว้ให้คืนคง เมื่อได้รับคำสอนให้ถอนความยึดอัตตาไปแล้ว ก็เหมือนสูญเสียอัตตาไป พอพูดถึงนิพพาน ก็จึงได้โอกาสเหนี่ยวเอานิพพานเป็นที่พึ่งที่ฝากอัตตาเอาไว้ บ้างก็ขยายนิพพานเป็นชีวิตนิรันดร ตลอดจนเป็นมหานครเมืองแก้ว

     ท่านผู้ประเสริฐ   มีปัญญาเลิศทั้งหลาย   แม้ว่าจะผ่านพ้นความยึดติดถือมั่นอะไรๆ มามากมาย จวนจะหมดอยู่แล้ว ก็มาติดเยื่อใยสุดท้ายกันอยู่ที่นี้ หากพ้นใยข่ายนี้ไปได้ ก็จะเป็นอิสระได้โดยสมบูรณ์ แต่ทางธรรมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ท่านจึงเรียกความยึดติดอย่างละเอียดนี้ว่าเป็น  “พรหมชาละ”  แปลว่า  ข่ายดักพรหม หรือที่ติดข้องของบุคคลชั้นเลิศ คือผู้มีคุณธรรมและปัญญายวดยิ่งแล้ว ยังไม่อาจรอดพ้นไปได้

     ด้วยเหตุนี้ เพื่อผ่อนเบาความหมกมุ่นครุ่นคิดในการหาความจริงเกี่ยวกับนิพพาน โดยเชิงเหตุผลและการถกเถียงแบบปรัชญา ท่านจึงมักกล่าวถึงนิพพานแต่ในเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับชีวิตจริง หรือประโยชน์ที่จะได้รับในชีวิตประจำวัน ดังคำสอนเกี่ยวกับนิพพานที่ปรากฏโดยมากในพระไตรปิฎก

     นอกจากนั้น   มีข้อที่ต้องย้ำไว้เสมอ   เพื่อป้องกันความคิดเลยเถิดไป คือย้ำว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา หรือทำลายอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย* สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย   คือความยึดมั่นในอัตตา หรือภาพอัตตาที่สร้างขึ้นมายึดถือไว้

     ดังที่เคยอธิบาย และยกตัวอย่างหลายครั้ง ที่ท่านเรียกพระอรหันต์ว่า “ผู้ละอัตตา” (อัตตัญชหะ) เป็นต้นนั้น เป็นการใช้คำที่สะดวกในการเรียกขาน อย่างเช่นในคำประพันธ์ โดยรู้กันว่าละความยึดมั่นในเรื่องอัตตา

     แม้ที่กล่าวในที่หลายแห่งว่า เสริมขยายอัตตาบ้าง ความมั่นคงของอัตตาบ้าง ว่าอัตตาอย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆ ก็พึงเข้าใจว่าเป็นสำนวนพูดอย่างรู้กันเพื่อความสะดวก โดยที่ว่าอัตตา หมายถึงภาพอัตตาที่สร้างขึ้น หรือความยึดมั่นในอัตตาที่สร้างขึ้นนั่นเอง พูดให้เข้าเชิงวิชาการมากขึ้นว่า ดับความถือมั่นในวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา หรือดับทิฏฐิว่ามีว่าเป็นอัตตา ตลอดจนถอนสัญญาว่ามีว่าเป็นอัตตาเสีย นิพพานคือดับความยึดมั่น ดับความเข้าใจผิดนี้ และดับทุกข์ดับปัญหาที่เนื่องมาจากความยึดติดถือมั่นเช่นนี้

     ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ตัดความเยื่อใยอยากมีอัตตาทิ้งเสีย ทฤษฎีเกี่ยวกับอัตตาทั้งหลายก็หมดความหมายไปเอง ดับอุปาทาน คือถอนความยึดมั่นในอัตตาเสียเท่านั้น ก็จะเห็นโลกและชีวิตหรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่มันเป็น ไม่ต้องมาเสียเวลาคิดคาดคะเนสร้างทฤษฎีอัตตาใดๆ ให้วุ่นวาย พอดับความยึดมั่นที่ทำให้เกิดมีอัตตาแล้ว อัตตาก็หายไปเอง นิพพานคือดับทุกข์ หรือพูดขยายออกไปว่า ดับความยึดถืออัตตา คือดับอุปาทานที่ยึดถือว่ามีว่าเป็นอัตตา ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นเสีย ไม่ต้องดับอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะให้ดับ ขอให้นึกถึงพุทธพจน์ว่า เราสอนแต่ทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น

     ในการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับภาวะหลังสิ้นชีพของพระอรหันต์นี้ จะไม่แสดงความเห็นในส่วนเนื้อหาให้เยิ่นเย้อ แต่จะนำเอาพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาให้พิจารณาดูเอง

     ก. พุทธพจน์เกี่ยวกับความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องอัตตา ความยั่งยืนและความขาดสูญ ซึ่งไม่ถูกต้องจัดเป็นที่สุด ๒ ด้าน  (พุทธพจน์นี้จะช่วยให้เข้าใจความหมายของภวตัณหา และวิภวตัณหาได้อย่างชัดเจนด้วย)

        “ภิกษุทั้งหลาย   เทพและมนุษย์ทั้งหลาย  ถูกทิฏฐิ ๒ จำพวก เข้าครองใจแล้ว พวกหนึ่งติดล้าอยู่ พวกหนึ่งวิ่งเลยไป ส่วนพวกที่มีตาจึงมองเห็น

        “ภิกษุทั้งหลาย  พวกหนึ่งติดล้าอยู่  เป็นอย่างไร ? (กล่าวคือ) เทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้มีภพเป็นที่ยินดี  รื่นรมย์ในภพ  บันเทิงในภพ (ภวะ), เมื่อตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งภพ (ภวนิโรธ) จิตของเทพและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งแน่วลง ไม่น้อมดิ่งไป; พวกหนึ่งติดล้าอยู่อย่างนี้

        “ภิกษุทั้งหลาย  พวกหนึ่งวิ่งเลยไป  เป็นอย่างไร ? (กล่าวคือ)  คนพวกหนึ่ง อึดอัดระอา รังเกียจอยู่ด้วยภพนั่นแหละ จึงพร่ำชื่นชมวิภพ  (วิภวะ = ความปราศจากภพ, ความขาดสูญ) ว่า “นี่แน่ะท่านเอย นัยว่า หลังจากร่างกายแตกทำลายตายไปแล้ว อัตตานี้ก็จะขาดสูญ หายสิ้น (พินาศ) หลังจากตายจะไม่มีอยู่อีก นี่ละคือภาวะสุดประเสริฐ  (สันตะ)  นี่ละคือภาวะดีเยี่ยม (ปณีตะ) นี่ละคือภาวะที่เป็นของแท้ (ยาถาวะ); พวกหนึ่งวิ่งเลยไปอย่างนี้

       “ภิกษุทั้งหลาย  พวกที่มีตาจึงเห็น  เป็นอย่างไร ?  (กล่าวคือ)  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมมองเห็นสภาพภพโดยความเป็นสภาพภพ  (คือเห็นตามสภาวะเป็นจริง), ครั้นเห็นสภาพภพโดยความเป็นสภาพภพแล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อหายติด (นิพพิทา) เพื่อหมดใคร่ (วิราคะ) เพื่อนิโรธแห่งสภาพภพนั้น; ส่วนพวกที่มีตาจึงมองเห็น อย่างนี้”


และมีคาถาสรุปว่า

        “ผู้ใดเห็นสภาพภพ โดยความเป็นสภาพภพ และเห็นภาวะที่ล่วงพ้นสภาพภพ ผู้นั้นย่อมน้อมใจดิ่งไปในภาวะที่เป็นจริง เพราะหมดสิ้นภวตัณหา;  ถ้าเขารู้เท่าทันสภาพภพ  เขาจะเป็นผู้ปราศตัณหา ทั้งในภพและอภพ, เพราะความหมดภพแห่งสภาพภพ ภิกษุทั้งหลายจะไม่มาสู่ภพอีก” *

     ข. พุทธพจน์ปฏิเสธความเข้าใจผิดว่า   วิญญาณออกจากร่างไปเกิด  เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้ชอบศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการเกิดใหม่โดยทั่วไป   แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องนิพพานโดยตรง แต่เป็นความรู้พื้นฐานอย่างหนึ่ง  ที่อาจเอามาประกอบการพิจารณาได้บางแง่

     
     ครั้งหนึ่ง ภิกษุชื่อสาติ เป็นบุตรชาวประมง มีความเห็นผิดว่า   พระพุทธเจ้าสอนว่า วิญญาณดวงเดียวกันนี้ ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ ภิกษุทั้งหลายพยายามเปลื้องความเห็นผิดของเธอ แต่ไม่สำเร็จ จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสเรียกพระสาติมา และทรงสอบถาม ดังความว่า

     พระพุทธเจ้า:   เป็นความจริงหรือ  สาติ  มีข่าวว่า  เธอเกิดความเห็นชั่วร้ายอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า   วิญญาณนี้นั่นเอง   ย่อมวิ่งแล่น  ย่อมท่องเที่ยวไป มิใช่อื่น” ?

     พระสาติ:  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอย่างนั้น ฯลฯ

     พระพุทธเจ้า: นี่แน่ะสาติ วิญญาณนั้น เป็นอย่างไร?

     พระสาติ: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (วิญญาณนั้น) คือ ตัวอันนี้ ที่เป็นผู้พูด เป็นผู้รู้ เสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งดีและชั่ว ในที่นั้นๆ

     พระพุทธเจ้า:   ดูก่อนโมฆบุรุษ   เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ แก่ใครหนอ; เรากล่าวไว้โดยอเนกปริยายมิใช่หรือว่า วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบัน), เว้นจากปัจจัยเสีย การเกิดแห่งวิญญาณย่อมไม่มี; ก็แล ด้วยความเห็นที่ตนเองถือเอาไว้ผิด เธอย่อมกล่าวตู่เรา ย่อมขุดตนเอง และประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก, ความเห็นนั้นแหละ จักเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เธอ ตลอดกาลนาน”

จากนั้น ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

        “ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับไปตามปัจจัยนั้นๆ นั่นแหละ, (กล่าวคือ) วิญญาณอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าจักขุวิญญาณ, วิญญาณอาศัยโสตและเสียงเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ, วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าฆานวิญญาณ, วิญญาณอาศัยชิวหาและรสเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ, วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่ากายวิญญาณ, วิญญาณอาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่ามโนวิญญาณ;

        เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับไปตามเชื้อนั้นๆ...ว่าไฟไม้...ว่าไฟเศษของ...ว่าไฟหญ้า...ว่าไฟโคมัย...ว่าไฟแกลบ...ว่าไฟหยากเยื่อ...ฯลฯ”


     ค. แก้ความเห็นผิดว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ  ดังมีเรื่องราวว่า   ครั้งหนึ่ง พระภิกษุชื่อยมก มีความเห็นผิดว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า พระอรหันต์ตายแล้วขาดสูญ ภิกษุทั้งหลายพยายามเปลื้องเธอจากความเห็นผิด แต่ไม่สำเร็จ จึงพากันไปขอร้องพระสารีบุตรให้ช่วยแก้ไข พระสารีบุตรได้ไปหาพระยมก และได้สนทนา ดังความต่อไปนี้

     พระสารีบุตร:    เป็นความจริงหรือ   ท่านยมก ข่าวว่า ท่านเกิดความเห็นชั่วร้ายอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ ถัดจากกายแตกทำลายก็จะขาดสูญ หายสิ้น (พินาศ) หลังจากตาย จะไม่มีอยู่อีก”

     พระยมก:  อย่างนั้นแล ท่านผู้มีอายุ ฯลฯ

     พระสารีบุตร:  ท่านยมก ท่านสำคัญว่าอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?

     พระยมก:  ไม่เที่ยง ครับท่าน

     พระสารีบุตร:   เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง?

     พระยมก:  ไม่เที่ยง ครับท่าน

     พระสารีบุตร:  เพราะฉะนั้นแล รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งหมด พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นเป็นตัวตนของเรา”, เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ

     ท่านสำคัญอย่างไร  ท่านยมก  ท่านมองเห็นรูปว่าเป็นตถาคต หรือ ?

     พระยมก: มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร: ท่านมองเห็นเวทนา สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นตถาคต หรือ?

     พระยมก:  มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร: ท่านสำคัญว่าอย่างไร ท่านยมก ท่านเห็นว่า ตถาคตมีในรูปหรือ?

     พระยมก:  มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร: ท่านมองเห็นว่า ตถาคตมีต่างหากจากรูปหรือ?

     พระยมก: มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร: ท่านมองเห็นว่า ตถาคตมีในเวทนา...มีต่างหากจากเวทนา...มีในสัญญา...มีต่างหากจากสัญญา...มีในสังขาร...มีต่างหากจากสังขาร...มีในวิญญาณ...มีต่างหากจากวิญญาณ หรือ?

     พระยมก:  มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร:  ท่านสำคัญว่าอย่างไร  ท่านยมก  ท่านมองเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นตถาคต หรือ?

     พระยมก:  มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร: ท่านสำคัญว่าอย่างไร ท่านยมก ท่านมองเห็นว่า ตถาคตนี้นั้น เป็นสภาวะไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?

     พระยมก: มิใช่เช่นนั้น ท่านผู้มีอายุ

     พระสารีบุตร:  นี่แน่ะท่านยมก  ในปัจจุบันนี้เอง  ที่ตรงนี้  ท่านยังหาตถาคตโดยจริงโดยแท้ (ให้เห็นจริงมั่นเหมาะลงไป)  ไม่ได้, ควรหรือที่ท่านจะกล่าวแถลงว่า “ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วว่า ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ ต่อจากกายแตกทำลาย ก็จะขาดสูญ หายสิ้น หลังจากตาย จะไม่มีอยู่อีก

     พระยมก:  ข้าแต่ท่านสารีบุตร  แต่ก่อน   เมื่อยังไม่รู้  ผมจึงได้มีความเห็นชั่วร้ายนั้น, แต่เพราะได้สดับธรรมเทศนาของท่านสารีบุตรนี้ ผมจึงละความเห็นชั่วร้ายนั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้ว

     พระสารีบุตร: แน่ะท่านยมก ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า “ท่านยมก ภิกษุผู้เป็น อรหันตขีณาสพ หลังจากร่างกายแตกทำลาย ตายไปแล้ว จะเป็นอย่างไร?” ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะกล่าวชี้แจงว่าอย่างไร?

     พระยมก: ...ผมพึงกล่าวชี้แจงอย่างนี้ว่า “รูปแล เป็นสิ่งไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับแล้ว สิ่งนั้นถึงความไม่ตั้งอยู่แล้ว; เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นสิ่งไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับแล้ว สิ่งนั้นถึงความไม่ตั้งอยู่แล้ว; ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้ พึงกล่าวชี้แจงอย่างนี้

     พระสารีบุตร:   ดีแล้ว   ดีแล้ว   ท่านยมก ฯลฯ”


     ง. พุทธพจน์เปรียบพระอรหันต์สิ้นชีพ   เหมือนไฟดับ   ดังความตอนหนึ่ง ในคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับ  วัจฉโคตตปริพาชก ต่อไปนี้

      วัจฉโคตต์:  ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ จะเกิด ณ ที่ไหน?

      พระพุทธเจ้า:  ดูก่อนวัจฉะ คำว่าจะเกิด ก็ใช้ไม่ได้

     วัจฉโคตต์:   ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่เกิด

     พระพุทธเจ้า: คำว่า ไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้

     วัจฉโคตต์:  ถ้าอย่างนั้น ก็ทั้งเกิดและไม่เกิด

     พระพุทธเจ้า:  คำว่าทั้งเกิดและไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้

     วัจฉโคตต์: ถ้าอย่างนั้น จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่

     พระพุทธเจ้า: คำว่า จะเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้

     วัจฉโคตต์:  ท่านพระโคดมผู้เจริญ ฯลฯ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าถึงความงุนงงเสียแล้ว ข้าพเจ้าถึงความหลงไปหมดเสียแล้ว, แม้เพียงความเลื่อมใสที่ได้มีแก่ข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำสนทนาเบื้องต้นของท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น ถึงบัดนี้ ก็ได้หายไปหมดแล้ว

     พระพุทธเจ้า: ดูก่อนวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะงุนงง ควรแล้วที่ท่านจะหลงไป เพราะว่าธรรมนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต หยั่งไม่ได้ด้วยตรรก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ได้, ธรรมนั้น อันท่านผู้มีทิฏฐิอย่างอื่น มีแนวความเห็นอย่างอื่น มีหลักที่พอใจอย่างอื่น มีความเพียรที่ประกอบแบบอื่น ถืออาจารย์สำนักอื่น ยากจะรู้ได้,

     ถ้าอย่างนั้น    เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้,   ท่านเห็นควรอย่างไร พึงกล่าวชี้แจงอย่างนั้น, ดูก่อนวัจฉะ ท่านสำคัญว่าอย่างไร ถ้าไฟลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าท่าน, ท่านจะรู้ไหมว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าเรา?

     วัจฉโคตต์: ...ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ ฯลฯ

     พระพุทธเจ้า: ก็ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าของท่านนี้ อาศัยอะไร จึงลุกโพลง, ท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงกล่าวชี้แจงอย่างไร?

     วัจฉโคตต์: ...ข้าพเจ้าพึงกล่าวชี้แจงว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ จึงลุกโพลงได้

     พระพุทธเจ้า: ดูก่อนวัจฉะ ถ้าไฟเบื้องหน้าท่านนั้นพึงดับไป ท่านจะรู้ไหมว่า ไฟเบื้องหน้าเรานี้ดับแล้ว

    วัจฉโคตต์: ...ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ว่า ไฟเบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ดับแล้ว

     พระพุทธเจ้า: ก็ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟเบื้องหน้าท่านนี้ ที่ดับแล้วนั้น ไปจากนี่สู่ทิศไหน ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือว่าทิศใต้, ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงกล่าวชี้แจงว่ากระไร?

     วัจฉโคตต์:   (ข้อความถามตอบอย่างนั้น)   ใช้ไม่ได้ดอก   ท่านพระโคดมผู้เจริญ, เพราะว่า ไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ใด จึงลุกโพลงอยู่ได้, เพราะเชื้อนั้นหมดสิ้นไป และเพราะไม่ได้เชื้ออื่นเติม ไฟนั้นก็ถึงความนับว่าหมดเชื้อดับไปเท่านั้นเอง

     พระพุทธเจ้า:   ฉันนั้นเหมือนกันแล วัจฉะ   บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณใด รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นั้น ตถาคตละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา,

     ตถาคต  พ้นจากการนับว่ารูป...พ้นจากการนับว่าเวทนา...พ้นจากการนับว่าสัญญา...พ้นจากการนับว่าสังขาร...พ้นจากการนับว่าวิญญาณ ลึกซึ้ง ประมาณไม่ได้ หยั่งได้ยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร, คำว่าเกิด ก็ใช้ไม่ได้ คำว่าไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้ คำว่าทั้งเกิดทั้งไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้ คำว่าจะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้

     เมื่อจบคำสนทนาตอนนี้   วัจฉโคตตปริพาชกเกิดความเลื่อมใส   ประกาศตนเป็นอุบาสก


     ในรตนสูตร ก็มีความกล่าวถึงพระอรหันต์ว่า

        “สมภพเก่า ก็สิ้นแล้ว สมภพใหม่ ก็ไม่มี ปราชญ์เหล่านั้น มีจิตคลายติดแล้วในภพที่จะมีต่อไป หมดพืช ไม่มีฉันทะในการงอกขึ้นอีก ย่อมดับ เหมือนดังดวงประทีปนี้”

     เมื่อคราวที่พระทัพพมัลลบุตรปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า

        “กายก็แตกทำลายแล้ว  สัญญาก็ดับแล้ว  เวทนาก็เย็นหมดแล้ว สังขารก็สงบแล้ว วิญญาณก็ถึงอัสดง”

     ทรงเล่าเหตุการณ์นี้   แก่ภิกษุทั้งหลาย   และทรงเปล่งอุทานอีกครั้งหนึ่งว่า

        “เมื่อช่างตีโลหะด้วยค้อนเหล็ก ไฟติดโพลง  ก็ดับหายๆ  ไม่มีใครรู้ที่ไป  ฉันใด  พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีกามเป็นเครื่องผูกพันไปได้ บรรลุถึงอจลสุข ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น”  (ขุ.อุ.25/178/227)



- ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับนิพพาน  จบ




* ดูพุทธพจน์ที่ว่า  ความเห็นแบบวิภวทิฏฐิ หรือขาดสูญนี้  แม้จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ก็ใกล้พุทธศาสนามากกว่าทิฏฐิอย่างอื่น (องฺ.ทสก. ๒๔/๒๙/๖๗).


* ชาวตะวันตกที่ศึกษาเรื่องนิพพานไม่ตลอด มักสรุปว่านิพพานเป็นการดับอัตตา หรือสูญสิ้นอัตตา (self- extinction) ซึ่งเป็นความคิดแนวอุจเฉททิฏฐิ.

* ขุ.อิติ. ๒๕/๒๒๗/๒๖๓ ส่วนที่เป็นคาถา คือตอนท้าย ได้แปลไปตามข้อความและรูปศัพท์เท่าที่มีในบาลี และเห็นว่ารับกับความตอนต้นในบาลีนั้นเป็นอย่างดี แต่ในอรรถกถา ท่านไขความให้แปลคาถานั้นต่างออกไปดังนี้ “อริยสาวกใด มองเห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง และเห็นมรรคอันเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ผู้นั้นย่อมน้อมใจดิ่งไปในนิพพาน ที่เป็นสภาวะจริงแท้ เพราะหมดสิ้นภวตัณหา; ถ้าภิกษุรู้เท่าทันขันธ์ ๕ เป็นผู้ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ เพราะขันธ์ ๕ ปราศไป เธอย่อมไม่มาสู่ภพอีก” (อิติ.อ.๒๓๕); อนึ่ง พึงเทียบกับพุทธพจน์ว่าด้วยที่สุดสองอย่าง อีกแห่งหนึ่ง ที่ ขุ.อุ. ๒๕/๑๔๔/๑๙๔ ด้วย


* สํ.ข. ๑๗/๑๙๘/๑๓๓ (จากนี้มีความอุปมาต่อไปอีก แต่ไม่นำมาลงไว้ เพราะจะยืดยาวมาก); คำว่า ตถาคต ในสูตรนี้ อรรถกถาไขความว่าหมายถึงสัตว์ หรืออย่างที่มักเรียกกันว่า สัตว์บุคคล

*  อัคคิวัจฉโคตตสูตร, เฉพาะตอนท้ายสูตร ม.ม. ๑๓/๒๔๘-๒๕๒/๒๔๕-๒๔๙; วัจฉโคตตปริพาชกผู้นี้ ต่อมาได้ขออุปสมบทในพุทธศาสนา และได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง (ม.ม. ๑๓/๒๖๗/๒๖๑); มีคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับวัจฉโคตตปริพาชก ที่น่าสนใจอีกหน่อยหนึ่ง กล่าวถึงว่า ผู้มีอุปาทานจึงเกิด ผู้ไม่มีอุปาทานย่อมไม่เกิด เหมือนไฟมีเชื้อจึงลุก ไม่มีเชื้อก็ไม่ลุก และว่าเชื้อคือตัณหา

 


Create Date : 16 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2566 19:38:26 น. 0 comments
Counter : 61 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space