กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
14 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

บันทึกพิเศษท้ายบท


บันทึกพิเศษท้ายบท

เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง


บันทึกที่ ๑:  เรื่อง  สอุปาทิเสส และอนุปาทิเสส

     บางท่าน  ถือเอาความหมายตามพุทธพจน์ในอังคุตตรนิกาย (องฺ.สตฺตก. ๒๓/๕๓/๗๕ ฯลฯ) ซึ่งจำแนกประเภทบุคคลผู้บรรลุนิพพานเป็น ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสบุคคล  (บุคคลผู้ยังมีอุปาทานเหลือ หรือยังมีกิเลสเหลืออยู่ บ้าง กล่าวคือ พระเสขะ   ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี) กับ อนุปาทิเสสบุคคล  (บุคคลผู้ไม่มีอุปาทานเหลือ หรือไม่มีเชื้อกิเลสเหลืออยู่เลย ได้แก่ พระอเสขะ คือ พระอรหันต์) จึงแปลคำว่า “อุปาทิ” เป็น อุปาทาน คือตัวความยึดมั่น แล้วจำกัดความหมายของนิพพาน ๒ อย่างนั้นว่า
 
         ๑) สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ    นิพพานที่ยังมีอุปาทานเหลืออยู่ หรือนิพพานของผู้ยังมีกิเลสเหลืออยู่บ้าง ได้แก่นิพพานของพระเสขะ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
 
         ๒) อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ    นิพพานที่ไม่มีอุปาทานเหลืออยู่เลย หรือนิพพานของผู้ไม่มีกิเลสเหลืออยู่เลย ได้แก่ นิพพานของพระอเสขะ คือพระอรหันต์
 
     การแปลความหมายอย่างนี้    เกิดจากความสับสนระหว่าง ภาวะ (สอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน) กับ บุคคล (สอุปาทเสสบุคคล และอนุปาทิเสสบุคคล) กล่าวคือนิพพาน  ๒ นั้น เป็นการแสดงภาวะของนิพพานเท่าที่บุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนบุคคล ๒ เป็นการแสดงถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับนิพพาน
 
     ดังนั้น   เพื่อป้องกันความสับสน   พึงแยก   สอุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน ไว้พวกหนึ่ง สอุปาทิเสสบุคคล และ อนุปาทิเสสบุคคล  (ซึ่งได้กล่าวต่อไปในตอนว่าด้วยบุคคลผู้บรรลุนิพพาน) ไว้อีกพวกหนึ่ง   ไม่ให้ปะปนกัน และศัพท์สำคัญที่จะช่วยแยกความหมายในกรณีนี้ ก็คือ   “อุปาทิ”   ในสอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน ซึ่งแตกต่างจาก “อุปาทิ” ใน สอุปาทิเสสบุคคล และอนุปาทิเสสบุคคล   (พึงสังเกตว่า ในอรรถกถาที่อธิบายเรื่องนิพพาน ๒ นั้นเอง ก็ยังมีคำอธิบายบางตอนชวนให้สับสนว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานของสอุปาทิเสสบุคคล-ดู อิติ.อ.๒๑๗)



บันทึกที่ ๒:  เรื่องความหมายของ ทิฏฐธัมมิกะ และ สัมปรายิกะ


     ทิฏฐธัมมิกะ และสัมปรายิกะ   มีรูปศัพท์ที่เป็นคำนามว่า ทิฏฐธรรม และ สัมปรายะ ตามลำดับ   คำทั้งสี่นี้   มีใช้มากมาย    ทั้งในบาลีและในคัมภีร์ชั้นหลัง   (และมักพบในความหมายว่า ปัจจุบัน หรือชีวิตนี้ กับเบื้องหน้า เลยจากชีวิตนี้ไป หรือโลกหน้า เช่น ม.มู. ๑๒/๑๙๘/172ฯลฯ)  โดยเฉพาะที่คุ้นหูคุ้นตานักศึกษาธรรมมาก   ได้แก่ที่มากับคำว่าอัตถะ   เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ   แปลกันว่า   ประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า   บางคราวมี ปรมัตถะ (ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือประโยชน์สูงสุด)  ตามมาด้วย   รวมเป็นอัตถะ หรือประโยชน์ ๓ ขั้น

     อย่างไรก็ดี   ในคัมภีร์ขั้นต้นทีเดียว   มีแต่อัตถะ ๒ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และ สัมปรายิกัตถะ เท่านั้น มาคู่กัน (ดู วินย.๕/๒/๔; ฯลฯ) และในกรณีเช่นนั้น  สัมปรายิกัตถะ  หมายถึงประโยชน์ที่สูงกว่า หรือเลยจากทิฏฐธัมมิกัตถะขึ้นไปทั้งหมด   รวมทั้งประโยชน์ขั้นปรมัตถ์ด้วย

     ส่วนคำว่า ปรมัตถะ ท่านใช้ลำพังต่างหาก เป็นคำโดดๆ ไม่รวมอยู่ในชุด โดยถือเป็นไวพจน์อย่างหนึ่งของนิพพาน (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๒๙๖/๓๓๘; ฯลฯ) ต่อมา ในคัมภีร์ชั้นรอง จึงจัดเข้าชุดเป็นอัตถะ หรือประโยชน์ ๓ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ (๓๕/๒๔๐/๑๖๕ ฯลฯ) ในกรณีเช่นนี้ สัมปรายิกัตถะ ย่อมถูกจำกัดความหมายให้แคบเข้า เป็นประโยชน์เบื้องหน้า หรือเกี่ยวกับโลกหน้า ชั้นสวรรค์ ที่ต่ำกว่าปรมัตถ์ คือยังไม่ถึงนิพพาน

     ที่ว่า “สัมปรายิกัตถะ” เดิมหมายถึงประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไปทั้งหมด   รวมทั้งปรมัตถะด้วยนั้น เช่น เมื่อคราวที่ท่านพรหมายุพราหมณ์ผู้เฒ่า  ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า   พระพุทธองค์ประทานโอกาสให้ท่านถามปัญหาได้  ทั้งที่เกี่ยวกับทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ   พรหมายุพราหมณ์ดำริว่า สำหรับทิฏฐธัมมิกัตถะ   ตัวท่านเองชำนาญอยู่แล้ว    มีแต่คนอื่นมาถามท่าน  ดังนั้น ท่านจึงจะถามปัญหาเกี่ยวกับสัมปรายิกัตถะ คำถามเกี่ยวกับสัมปรายิกัตถะของพรหมายุพราหมณ์มีว่า  “ทำอย่างไร บุคคลจึงจะเป็นพราหมณ์ เป็นผู้จบพระเวท (เวทคู) เป็นผู้ทรงไตรเพทหรือไตรวิชชา (เตวิชชะ) เป็นผู้เจนศรุติ คือตัวบทแห่งพระเวท (โสตถิยะ) เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ลุไกวัลย์ (เกวลี) เป็นมุนี และเป็นพระพุทธเจ้า” (ม.ม. ๑๓/๕๙๖/๕๔๓)

     แม้คำว่า “สัมปรายิกะ” ล้วนๆ   ก็มีความหมายกว้างถึงชั้นปรมัตถ์ด้วยเช่นกัน ดังในกัณณกัตถลสูตร  (ม.ม. ๑๓/๕๗๕-๕๗๙/๕๒๐-๕๒๓)   พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระพุทธเจ้าถึงความแตกต่างระหว่างวรรณะทั้ง ๔  พระพุทธเจ้าตรัสตอบแสดงความแตกต่างในแง่ทิฏฐธัมมิกะว่า เมื่อถือตามอาการแสดงความเคารพกัน   กษัตริย์ และพราหมณ์ก็เป็นวรรณะสูง   แต่ในแง่สัมปรายิกะ   ความแตกต่างกันไม่เกี่ยวกับวรรณะ   ความแตกต่างขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของแต่ละคน เมื่อถึงวิมุตติแล้ว ไม่มีอะไรต่างกัน และมีข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์มหานิทเทส (ขุ.ม. ๒๙/๙๓/๘๖) ว่า “บุคคลมองเห็นอานิสงส์ ๒ ประการแห่งทิฏฐิ (ทฤษฎี) ของตน คือ อานิสงส์ที่เป็นทิฏฐธัมมิกะ และอานิสงส์ที่เป็นสัมปรายิกะ;  อานิสงส์ที่เป็นทิฏฐธัมมิกะของทิฏฐิเป็นไฉน ? กล่าวคือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด    สาวกทั้งหลายก็พลอยมีทิฏฐิอย่างนั้น, พวกสาวกย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงศาสดาผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น และย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช อันสืบเนื่องมาแต่การนั้น;  อานิสงส์ที่เป็นสัมปรายิกะของทิฏฐิ เป็นไฉน ?  กล่าวคือ บุคคลนั้นหวังผลต่อไปข้างหน้าว่า ทิฏฐินี้พอจะทำให้เป็นนาค เป็นครุฑ...เป็นอินทร์ เป็นพรหม หรือเป็นเทพได้ ทิฏฐินี้ พอเพียงแก่สุทธิ วิสุทธิ บริสุทธิ์ มุตติ วิมุตติ บริมุตติ เราจักบริสุทธิ์...หลุดพ้นได้ด้วยทิฏฐินี้”

     ในชั้นอรรถกถา   ท่านมักแสดงความหมายจำกัดลงไปทีเดียวว่า ทิฏฐธัมมิกะ   หมายถึง มีในอัตภาพนี้ เกิดขึ้นในชาตินี้ สัมปรายิกะ หมายถึง มีในปรโลก เกิดขึ้นในโลกหน้า หรือชีวิตหน้า (เช่น องฺ.อ.๒/๑; อิติ.อ.๑๐๓) แม้อรรถกถาที่อธิบายเรื่องนิพพานธาตุ ๒ อย่าง ก็อธิบายทำนองนี้เช่นกัน คือกล่าวว่า ทิฏฐธัมมิกะ หมายถึง มีอยู่ เป็นไปในอัตภาพนี้, สัมปรายิกะ หมายถึง มีในเบื้องหน้า คือภายหลังจากทำลายขันธ์ (อิติ.อ.๒๑๘)


บันทึกที่ ๓: เรื่องจริมจิต 
 
 
     จริมจิต จริมกจิต จริมวิญญาณ จริมกวิญญาณ  มีความหมายอย่างเดียวกัน คือแปลว่า จิตสุดท้าย หรือวิญญาณสุดท้าย   (บางทีแปลแถมเข้าให้ชัดขึ้นว่า จิตดวงสุดท้ายในภพ) หมายถึงจุติจิต หรือจุติวิญญาณของพระอรหันต์ หรือเรียกนัยหนึ่งว่า ปรินิพพานจิต คือจิตสุดท้ายที่สิ้นชีวิตของพระอรหันต์ หรือจิตขณะที่ปรินิพพาน   (ดู วินย.ฏีกา ๒/๔; และฎีกาแห่งทีฆนิกาย ฉบับอักษรพม่า ๑/๓๖๔; ๒/๑๖๑, ๔๑๙ ฉบับอักษรไทยขณะเขียนนี้ ยังไม่ได้พิมพ์)
 
       คำว่า   “จริมวิญญาณ”    มีใช้ครั้งแรกในจูฬนิทเทส   ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นรองในพระไตรปิฎก ดังความว่า “เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสปรินิพพานธาตุนั้น  เพราะความดับไปแห่งจริมวิญญาณ ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญาและสติ นามและรูป ย่อมดับ คือสงบ ถึงความไม่ตั้งอยู่ ระงับไป ณ ที่นี้”   (ขุ.จู. ๓๐/๘๙/๒๓ ฯลฯ)
 
       ในสมัยอรรถกถา   คำว่าจริมวิญญาณ  และจริมจิต   มีใช้มากขึ้น   บางแห่งกำหนดเอาการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน ด้วยการดับจริมจิต   พร้อมกันนั้นก็กำหนดเอาการบรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน หรือเริ่มดำรงอยู่ในสอุปาทิเสสนิพพาน ด้วยการบรรลุอรหัตตผล  (ดู ธ.อ.๔/๔๗;ฯลฯ (ฉบับอักษรไทยไม่มี แต่มีในฉบับอื่น เช่น พม่า และโรมัน)
 
       อนึ่ง พึงสังเกตว่า ในคัมภีร์ฉบับอักษรไทย จริมจิต  และจริมวิญญาณ  เป็นปุริมจิต และปุริมวิญญาณ (จิตหรือวิญญาณที่มีมาก่อน)  หลายแห่ง (เช่น ขุ.จู. ๓๐/๘๙/๒๓;ฯลฯ) แต่หลักฐานยันกันเอง  ว่าที่ถูกเป็น  “จริม”  (เช่นในบาลีเป็น ปุริม แต่อรรถกถาที่อธิบายความตรงนั้นเป็น จริม, ข้อความเดียวกัน   อยู่ในคัมภีร์คนละเล่ม เล่มหนึ่งเป็น ปุริม แต่อีกเล่มหนึ่งเป็น จริม เป็นต้น)



บันทึกที่ ๔:  เรื่อง สีลัพพตปรามาส  
 
     สีลัพพตปรามาส  เป็นสังโยชน์ที่มักเข้าใจกันพร่ามากที่สุดข้อหนึ่ง จึงเห็นควรนำหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม เพื่อเสริมความเข้าใจ
 
     ในสุตตนิบาต  มีพุทธพจน์มากแห่งตรัสถึงสมณพราหมณ์ และบุคคลบางพวก มีความเห็นผิด ถือว่าความบริสุทธ์จะมีได้ด้วยศีล และพรต  เป็นต้น   (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๑/๔๘๙; ฯลฯ)  ส่วนอริยสาวก หรือท่านผู้หลุดพ้น หรือมุนีที่แท้  ไม่ยึดติดทิฏฐิทั้งหลาย  ละได้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมด (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๔๒๐/๕๑๐)
 
     คำว่าบริสุทธิ์ หรือ  “สุทธิ”  นี้   หมายถึงจุดหมายสูงสุดของลัทธิศาสนา ตรงกับความหลุดพ้น หรือวิมุตตินั่นเอง (เช่น ขุ.ม. ๒๙/๑๒๐/๑๐๕;) ความเห็นผิดนั้น   อาจแสดงออกในรูปของการบำเพ็ญศีลพรตเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้า  ดังปรากฏบ่อยๆ ในพระสูตรต่างๆ โดยข้อความว่า “มีปณิธาน (หรือมีทิฏฐิ) ว่า: ด้วยศีล หรือพรต หรือตบะ หรือพรหมจรรย์นี้  เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง” (ม.มู. ๑๒/๒๓๒/๒๐๙ ฯลฯ)
 
     คัมภีร์มหานิทเทส และจูฬนิทเทส   ได้อธิบายเรื่องการยึดถือความบริสุทธิ์ด้วยศีลและพรตเช่นนี้ไว้หลายแห่ง   เช่นแห่งหนึ่งว่า   “มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความบริสุทธิ์ด้วยศีล  พวกเขาเชื่อถือสุทธิ   วิสุทธิ   ความบริสุทธิ์  ความหลุดพ้น  วิมุตติ  บริมุตติ  เพียงด้วยศีล  เพียงด้วยการบังคับควบคุมตน (สัญญมะ) เพียงด้วยความสำรวมระวัง  (สังวร)  เพียงด้วยการไม่ล่วงละเมิด...ฯลฯ...;  มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความบริสุทธิ์ด้วยพรต   พวกเขาถือหัตถิพรต (ประพฤติอย่างช้าง) บ้าง  ถืออัสสพรต  (ประพฤติอย่างม้า) บ้าง ถือโคพรต (ประพฤติอย่างวัว) บ้าง ฯลฯ ถือพรหมพรตบ้าง ถือเทวพรตบ้าง  ถือทิศพรต (ไหว้ทิศ) บ้าง...(ขุ.ม. ๒๙/๑๒๐/๑๐๕ ฯลฯ)
 
     คำอธิบายเช่นนี้ลงตัวเป็นแบบในคำจำกัดความคำว่า “สีลัพพตปรามาส” ของคัมภีร์อภิธรรมว่า “ทิฏฐิ...การยึดถือ...ของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย  ภายนอก  (จากธรรมวินัย) นี้ ทำนองนี้ว่า: ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล  ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยพรต  ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรต นี้เรียกว่าสีลัพพตปรามาส”  (อภิ.สํ. ๓๔/๖๗๓/๒๖๓ ฯลฯ)  คำว่า  “ของสมณพราหมณ์ภายนอก”  นั้น บางทีทำให้บางท่านเข้าใจผิดว่า การประพฤติศีลพรตของพวกนักบวชนอกศาสนาเท่านั้น เป็นสีลัพพตปรามาส ความจริง คำที่ว่านี้ ควรถือเป็นคำเน้นเพื่อชี้ตัวอย่างรูปแบบหรือแนวปฏิบัติเท่านั้น อาจเลี่ยงแปลเป็นว่า  “การยึดถืออย่างพวกสมณพราหมณ์ภายนอก”   ก็จะชัดขึ้น หรือไม่ต้องเติมคำนั้นเข้ามาเลยก็ได้ (เหมือนอย่างพุทธพจน์ทั้งหลายในสุตตนิบาต และคำอธิบายใน ขุ.ม. ๒๙/๓๓๖/๒๒๗ หรือในอรรถกถา เช่น สงฺคณี อ.๕๐๑ เป็นต้น ก็ไม่มีคำว่า “ของสมณพราหมณ์ภายนอก”  เพราะเมื่อถือผิดอย่างนี้   ถึงอยู่ในพุทธศาสนา   ก็เป็นการถืออย่างคนนอกพระศาสนา)
 
     สรุปความหมายตอนนี้ว่า สีลัพพตปรามาส   หมายถึง   การประพฤติศีลพรตด้วยโมหะคือความหลงงมงายว่า จะบริสุทธิ์หลุดพ้น บรรลุจุดหมายของศาสนา เพียงด้วยการบำเพ็ญศีลพรตนั้น และในความหลงผิดนี้   ลักษณะหนึ่งที่แสดงออกมา คือ การกระทำด้วยตัณหาและทิฏฐิ เช่น ประพฤติอย่างนั้นเพราะอยากไปเกิดเป็นเทวดา และมีความเห็นผิดแฝงอยู่ด้วยพร้อมกันว่าการบำเพ็ญศีลพรตนั้นจะทำให้ไปเกิดเป็นเทวดาได้
 
     ว่าโดยความหมายตามรูปศัพท์ สีลัพพตปรามาส ประกอบด้วย สีล (ศีล) + วต (พรต) + ปรามาส (การถือเลยเถิด)  คำว่าศีลและพรต  มีอธิบายในมหานิทเทสดังยกมาอ้างข้างต้นแล้ว (ขุ.ม. ๒๙/๑๒๐/๑๐๕) และยังมีอธิบายน่าสนใจเพิ่มอีกใจความว่า  ข้อที่เป็นทั้งศีลและพรต ก็มี เป็นแต่พรต ไม่เป็นศีล ก็มี เช่น วินัยของพระภิกษุ มีทั้งศีลและพรต กล่าวคือ ส่วนที่เป็นการบังคับควบคุมตนหรือการงดเว้น (สังยมะ หรือ สัญญมะ) ความสำรวมระวัง (สังวร) การไม่ล่วงละเมิด เป็นศีล ส่วนการสมาทานหรือข้อที่ถือปฏิบัติ เป็นพรต ข้อที่เป็นแต่พรต ไม่เป็นศีล ได้แก่ธุดงค์ทั้งหลาย เช่น ถืออยู่ป่า ถือบิณฑบาตเป็นประจำ ถือทรงผ้าบังสุกุล เป็นต้น (ดู ขุ.ม. ๒๙/๘๑/๗๗)
 
     ในการบำเพ็ญศีลพรต โดยหวังจะไปเกิดเป็นเทพ   ถ้าเป็นนักบวชนอกศาสนา เช่น พวกถือกุกกุรพรต อรรถกถาก็อธิบายว่า   ศีลก็หมายถึงประพฤติอย่างสุนัข พรตก็หมายถึงข้อปฏิบัติอย่างสุนัข (ดู ม.อ.๓/๙๖)  ถ้าเป็นชาวพุทธ ศีลก็ได้แก่ เบญจศีล  เป็นต้น  พรตก็ได้แก่การถือธุดงค์  (นิทฺ.อ.๒/๑๓๒)   บางทีอรรถกถาก็พูดจำเพาะภิกษุว่า ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล  ๔  พรตหมายถึงธุดงค์  (ธ.อ.๗/๕๓;)
 
     “ปรามาส”   มักแปลกันว่า   ลูบคลำ    แต่ความจริง    ความหมายในบาลีทั่วไป  ได้แก่ หยิบฉวย จับต้อง จับไว้แน่น (เช่น พระจับยึดตัวอุบาสกไว้ – วินย. ๒/๗๐/๕๖; ฯลฯ  ทีฆาวุกุมารจับเศียรพระเจ้ากาสีเพื่อจะปลงพระชนม์ – วินย. ๕/๒๔๔/๓๓๒;  พระพุทธเจ้าไม่ทรงยึดมั่นความรู้ – ที.ปา. ๑๑/๑๓/๒๙; ไม่ควรหยิบฉวยเอาของที่เขามิได้ให้ – องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๙/๒๓๘; การจับฉวยท่อนไม้และศัสตราเพื่อทำร้ายกัน – ขุ.ม. ๒๙/๓๘๔/๒๕๘; ที่แปลกันว่าลูบคลำ คงจะมาจากชาดก ว่าด้วยกำเนิดของสุวรรณสาม กุสราช และมัณฑัพยกุมาร (ชา.อ.๗/๖; ๘/๑๓๕; ๙/๑๒๔) ว่าฤาษีปรามาสนาภีของภรรยา เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นการเอานิ้วแตะ จี้หรือจดลงที่สะดือมากกว่า (ดู สงฺคณี อ.๓๖๙ ฯลฯ)  หรือเทียบเคียงจาก วินย. ๑/๓๗๘/๒๕๔ ซึ่งอธิบาย “ปรามสนา” โดยไขความว่า อิโต จิโต จ สญฺโจปนา แปลได้ว่า  ลูบ หรือสีไปมา
 
     อย่างไรก็ตาม  ความหมายของ “ปรามาส”  ในด้านหลักธรรม  มีคำอธิบายเฉพาะชัดเจนอยู่แล้วว่า “สภาวํ    อติกฺกมิตฺวา    ปรโต   อามสตีติ   ปรามาโส”    แปลว่า    จับฉวยเอาเกินเลยสภาวะเป็นอย่างอื่นไป จึงแปลว่า ถือเลยเถิด คือเกินเลย หรือคลาดจากความเป็นจริง กลายเป็นอย่างอื่นไปเสีย (นิทฺ.อ.๑/๓๓๙;)   เช่น  ตามสภาวะที่จริงไม่เที่ยง   จับฉวยหรือยึดถือพลาดไปเป็นว่าเที่ยง  ศีลพรตมีไว้ฝึกหัดขัดเกลา   เป็นบาทฐานของภาวนา   กลับถือเลยเถิดไปเป็นอย่างอื่น คือ เห็นไปว่าบำเพ็ญแต่ศีลพรต   ก็จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
 
     สีลัพพตปรามาสนี้ ก็เป็น ทิฏฐิ คือความเห็น  หรือการยึดถือย่างหนึ่ง (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๒/๔๙๐; ฯลฯ)   จึงมีปัญหาว่า   เหตุใดต้องแยกต่างหากจากสังโยชน์ข้อที่ ๑ คือ สักกายทิฏฐิ  ซึ่งเป็นทิฏฐิเหมือนกัน   อรรถกถาอธิบายว่า   สักกายทิฏฐิ    ความเห็นยึดถือตัวตนนั้น เป็นทิฏฐิพื้นฐานอยู่กับตนเองตามปกติ โดยไม่ต้องอาศัยตรรกะและการอ้างอิงถือต่อจากผู้อื่น ส่วนสีลัพพตปรามาส เป็นทิฏฐิชั้นนอก   เกี่ยวกับปฏิปทา   คือทางแห่งการปฏิบัติว่าถูกหรือผิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก    คนละขั้นตอนกันทีเดียว (ดู นิทฺ.อ.๑/๓๓๙) จึงต้องแยกเป็นคนละข้อ และเพราะสีลัพพตปรามาสเป็นเรื่องของปฏิปทานี่แหละ   ท่านจึงอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นว่า สีลัพพตปรามาส เป็นอัตตกิลมถานโยคอันเป็นอย่างหนึ่งในที่สุดสองด้าน ซึ่งชาวพุทธพึงหลีกเว้นเสีย เพื่อดำเนินในมรรคาที่ถูกต้อง คือมัชฌิมาปฏิปทา (ดู อุ.อ.๔๔๖)
 
     ปรามาส ใช้มากอีกอย่างหนึ่งในรูปที่เป็นคุณนามว่า “ปรามฏฺฐ”   แปลว่า   “ซึ่งถูกจับต้องแล้ว หรือจับต้องบ่อยๆ”   หมายความว่า   แปดเปื้อน หรือเสียความบริสุทธิ์ไปแล้ว ท่านอธิบายว่า ถูกตัณหาและทิฏฐิจับต้อง คือ เปรอะเปื้อน หรือไม่บริสุทธิ์ เพราะถูกตัณหาและทิฏฐิเข้ามาเกลือกกลั้วพัวพัน คือ รักษาศีลบำเพ็ญพรต   เพราะอยากได้ผลตอบแทนเป็นลาภยศสรรเสริญสุขสวรรค์ หรือเพราะเข้าใจว่าจะได้เป็นนั่นเป็นนี่ ตามลัทธิหรือทฤษฎีที่ยึดถือเอาไว้ ศีลที่บริสุทธิ์จึงเรียกว่าเป็น “อปรามฏฺฐ” ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิแตะต้องให้เปรอะเปื้อน ประพฤติด้วยปัญญา  ถูกต้องตามหลักการและความมุ่งหมาย  เป็นไท  คือไม่เป็นทาสของตัณหา และทิฏฐินั้น  เป็นศีลระดับพระโสดาบัน (เช่น สํ.ม. ๑๙/๑๔๑๒/๔๒๙; ฯลฯ  แปลอีกอย่างหนึ่งว่า   ไม่ถูกปรามาส   คือใครๆ  ท้วง ตำหนิ ดูหมิ่น หรือหาเรื่องไม่ได้)
 
     ลักษณะสุดท้ายของการถือศีลพรตที่พลาดหลัก ก็คือ  การถือที่เป็นเหตุให้มาทะเลาะวิวาทเกี่ยงแย้งกันว่า ใครดี ใครเลว ท่านผิด ฉันถูก หรือเป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่นว่า เราทำได้เคร่งครัดถูกต้อง คนอื่นเลวกว่าเรา ทำไม่ได้อย่างเรา เป็นต้น (ดู ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๒/๔๙๑;)
 
     เท่าที่กล่าวมา พอจะสรุปลักษณะการถือศีลพรตที่เป็นสีลัพพตปรามาสได้ว่า เป็นการถือด้วยโมหะ หรือด้วยตัณหา และทิฏฐิ  ซึ่งแสดงออกในรูปของการถือโดยงมงาย ไม่เข้าใจความมุ่งหมาย สักว่าทำตามๆ  กันไปอย่างเถรส่องบาตรบ้าง  ถือโดยหลงผิดว่าศีลพรตเท่านั้นก็พอให้ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หรือถืออย่างเป็นพิธีรีตองศักดิ์สิทธิ์ ว่าทำไปตามนั้นแล้ว ก็จะบันดาลผลสำเร็จให้เกิดเองบ้าง ถือโดยรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับลอยๆ เป็นเครื่องบีบคั้นขืนใจ ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร เพราะไม่เห็นโทษของสิ่งที่พึงงดเว้น ไม่ซาบซึ้งในคุณของการละเว้นสิ่งที่ชั่วเลวและการที่จะทำตามข้อปฏิบัตินั้นๆ จำใจทำไป ไม่เห็นประโยชน์บ้าง ถือเพราะอยากได้เหยื่อล่อ เช่น โชคลาภ กามสุข เป็นต้นบ้าง ถือเพราะมีความเห็นผิดในจุดหมายว่า ศีลพรตจะทำให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ถือแล้วเกิดความหลงตัวเอง มีอาการยกตนข่มผู้อื่นบ้าง
 
     ลักษณะการรักษาศีลบำเพ็ญพรตที่ถูกต้อง ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส  ก็คืออาการที่พ้นจากความผิดพลาดที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งแสดงออกด้วยการปฏิบัติที่เกิดจากความรู้ตระหนักว่า กระทำเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตนเอง เพื่อเป็นบาทของสมาธิ เพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความดีงามของประชุมชน ปฏิบัติด้วยมองเห็นโทษของการเบียดเบียน ทราบซึ้งว่าความสงบเรียบร้อย ไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น เป็นสิ่งที่ดี เห็นคุณเห็นโทษแล้ว ละอายบาป มีฉันทะที่จะเว้นชั่วทำความดี โดยพร้อมใจตน ตลอดจนถึงขั้นสุดท้ายคือ ไม่กระทำชั่วและประพฤติดีอย่างเป็นไปเอง มีศีลและพรตเกิดขึ้นในตัวเป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องฝืน เพราะไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่ว เข้าลักษณะของฐานหนึ่งใน ๖ ที่พระอรหันต์น้อมใจไป คือ ข้อที่ว่า พระอรหันต์น้อมใจดิ่งไปในภาวะที่ไม่มีการเบียดเบียน   มิใช่เพราะถือสีลัพพตปรามาส   แต่เพราะหมดราคะ หมดโทสะ หมดโมหะ  (วินย. ๕/๓/๙;)
 
     เบื้องแรก ศีลเป็นความประพฤติปกติ เพราะฝึกปฏิบัติให้เคยชินเป็นนิสัย และเพราะแรงใจที่มุ่งมั่น ฝึกตนให้ก้าวหน้าในคุณความดี  ส่วนเบื้องปลาย ศีลเป็นความประพฤติปกติ เพราะหมดสิ้นเหตุปัจจัยภายในที่จะให้หาทางทำสิ่งที่ไม่ดี
 
     ผู้ปฏิบัติผิดก็อาจมีศีลพรต   แต่เป็นสีลัพพตปรามาส   ผู้ปฏิบัติถูกก็มีศีลพรต   ดังที่ท่านเรียกว่า “สีลวตูปปนฺน”   แปลว่า   ผู้เข้าถึงศีลพรต หรือประกอบด้วยศีลและพรต (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๖๓/๓๙๒; ) บ้าง “สีลพฺพตสมฺปนฺน”   แปลว่า  ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลพรต (องฺ.ติก. ๒๐/๔๙๙/๒๑๔) บ้าง
 
     จะว่าบริสุทธิ์ด้วยศีลพรต ก็ไม่ถูก  บริสุทธิ์ได้โดยไม่ต้องมีศีลพรต ก็ไม่ถูก  (ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๖/๔๙๘)   แต่อยู่ที่ศีลพรตที่ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส   พรตอาจไม่จำเป็น   เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคฤหัสถ์   แต่ศีลที่เป็นอปรามัฏฐ์ คือบริสุทธิ์   ไม่คลาดหลักความจริง  ไม่เปรอะด้วยตัณหาและทิฏฐิ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับความบริสุทธิ์หลุดพ้นในทุกกรณี  (ดูในตอนว่าด้วยพระโสดาบันข้างหน้า, เช่น สํ.ม.๑๙/๑๔๑๒/๔๒๘-๑๖๒๘/๕๑๔)
 
     สรุปลงให้สั้นที่สุด   หลักการของศีลพรต  ก็มีเพียงว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้วอกุศลธรรมเจริญ  กุศลธรรมเสื่อม   ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี (ดู องฺ.ติก. ๒๐/๕๑๘/๒๘๙;)
 
     ตราบใดยังเป็นปุถุชน    การถือมั่นถือพลาดในศีลพรต   ก็ยังมีอยู่  ไม่มากก็น้อย ตามสัดส่วนของตัณหา ทิฏฐิ หรือโมหะที่เบาบางลง    อย่างน้อยก็ยังมีอาการฝืนใจ หรือข่มไว้ จึงยังไม่พ้นขั้นที่รักษาศีลด้วยความยึดมั่นในศีล และถือเกินเลยคลาดสภาวะไปบ้าง  ต่อเมื่อใด เป็นพระโสดาบันกิเลสหยาบแรงหมดไป   จึงได้ชื่อว่า  เป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล   (เช่น องฺ.ติก. ๒๐/๕๒๖/๒๙๘ เป็นต้น)   การรักษาศีลจึงจะเป็นไปเอง  เพราะเป็นศีลอยู่ในตัว   เป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องฝืนอีกต่อไป และถือพอดีๆ ตรงตามหลัก ตามความมุ่งหมาย ไม่หย่อน ไม่เขว ไม่เลยเถิดไป
 


บันทึกที่ ๕:  ความหมายของ ฌาน 
 
     ผู้เริ่มศึกษาพึงทราบว่า คำว่า ฌาน  ๔ ตามปกติหมายถึง รูปฌาน ๔ ดังนั้น จะพูดว่าฌาน ๔ หรือ รูปฌาน ๔ ก็มีความหมายเท่ากัน;  อนึ่ง ไม่พึงสับสนฌาน ๔ กับฌาน ๕ เพราะฌาน ๕ ก็คือฌาน ๔ นั่นเอง   เป็นแต่ขยายละเอียดออกไปตามแนวอภิธรรม  และฌานที่ ๕ ตามแนวอภิธรรมนั้น ก็ตรงกับฌานที่ ๔ ในที่นี้นั่นเอง  (ฌานที่แยกเป็น ๔ เรียกว่าฌานจตุกกนัย  เป็นแบบหลักที่พบทั่วไปในพระสูตร  ส่วนฌานที่แยกขยายออกเป็น ๕ ตามแนวอภิธรรม เรียกว่า ฌานปัญจกนัย)
 
      ฌาน  ๔ นี้ควรจะกล่าวถึงในบทว่าด้วยมรรค   ตอนสัมมาสมาธิ   ในภาคปฏิบัติข้างหน้า แต่เมื่อเอ่ยถึงในที่นี้แล้ว   ก็ควรทำความเข้าใจเล็กน้อย
 
     “ฌาน”  แปลว่า   เพ่ง  หมายถึง  ภาวะจิตที่เพ่งอารมณ์จนแน่วแน่  ได้แก่   ภาวะจิตที่มีสมาธินั่นเอง   แต่สมาธินั้นมีความประณีตสนิทชัดเจนผ่องใส   และมีกำลังมากน้อยต่างๆ กัน แยกได้เป็นหลายระดับ   ความต่างของระดับนั้น   กำหนดด้วยคุณสมบัติของจิตที่เป็นองค์ประกอบร่วมของสมาธิในขณะนั้นๆ องค์ประกอบเหล่านี้  ได้แก่  วิตก  (การจรดจิตลงในอารมณ์)   วิจาร (การที่จิตเคล้าอยู่กับอารมณ์) ปีติ   (ความอิ่มใจ)   สุข  อุเบกขา  (ความมีใจเป็นกลาง) และ เอกัคคตา (ภาวะที่จิตมีอารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว คือตัวสมาธินั่นเอง)
 
     ฌานที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ (รูปฌาน) ท่านนิยมแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ มีองค์ประกอบที่ใช้กำหนดระดับ ดังนี้
 
         ๑. ปฐมฌาน  (ฌานที่ ๑)  มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
 
         ๒. ทุติยฌาน  (ฌานที่ ๒)  มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
 
         ๓. ตติยฌาน  (ฌานที่ ๓)  มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
 
         ๔. จตุตถฌาน  (ฌานที่ ๔)  มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
 
     ฌานที่สูงขึ้นไปกว่านี้ คือ อรูปฌาน ก็มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา  และเอกัคคตา  เหมือนจตุตถฌาน  แต่กำหนดอรูปธรรมเป็นอารมณ์ และมีความประณีตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ตามอารมณ์ที่กำหนด อรูปฌาน ๔ แต่ละข้อ มีคำบรรยายอยู่ข้างบนแล้ว  (ตรงกับวิโมกข์ข้อ ๔ ถึง ๗) จึงไม่ต้องพูดถึงอีก.
 
     ฌาน อาจใช้ในความหมายอย่างหลวมๆ  โดยแปลว่า เพ่ง พินิจ ครุ่นคิด เอาใจจดจ่อ ก็ได้ และอาจใช้ในแง่ที่ไม่ดี   เป็นฌานที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ เช่น เก็บเอากามราคะ  พยาบาท  ความหดหู่ ความกลัดกลุ้มวุ่นวายใจ ความลังเลสงสัย  (นิวรณ์ ๕) ไว้ในใจ  ถูกอกุศลธรรมเหล่านั้นกลุ้มรุมใจ   เฝ้าแต่ครุ่นคิดอยู่   ก็เรียกว่าฌานเหมือนกัน  (ม.อุ. ๑๔/๑๑๗/๙๘) หรือกิริยาของสัตว์ เช่น  นกเค้าแมวจ้องจับหนู   สุนัขจิ้งจอกจ้องหาปลา เป็นต้น ก็เรียกว่าฌาน   (ใช้ในรูปกริยาศัพท์ เช่น ม.มู. ๑๒/๕๖๐/๖๐๔)
 
     บางทีก็นำมาใช้แสดงความหมายด้านวิปัสสนาด้วย    โดยแปลว่า   เพ่งพินิจ   หรือคิดพิจารณา   ในอรรถกถาบางแห่งจึงแบ่งฌานออกเป็น ๒ จำพวก  คือ  การเพ่งอารมณ์ตามแบบของสมถะ   เรียกว่า  อารัมมณูปนิชฌาน   (ได้แก่   ฌานสมาบัตินั่นเอง)     การเพ่งพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์  ตามแบบวิปัสสนา หรือวิปัสสนานั่นเอง  เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน  (ในกรณีนี้ แม้แต่มรรคผล  ก็เรียกว่าฌานได้  เพราะแปลว่าเผากิเลสบ้าง  เพ่งลักษณะที่เป็นสุญญตาของนิพพานบ้าง) ดู องฺ.อ.๑/๕๓๖; ฯลฯ )
 
 


Create Date : 14 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 23 ธันวาคม 2566 10:06:48 น. 0 comments
Counter : 76 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space