กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
13 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

ต่อ

ต่อ 


     เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่ควรทราบแล้ว    ก็พอจะกล่าวถึงความหมายของนิพพานธาตุ ๒ อย่างนี้ได้  ดังนี้
 
         ๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ   แปลว่า   ภาวะของนิพพานที่เป็นไปกับด้วยอุปาทิเหลืออยู่ หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  ได้แก่   นิพพานของพระอรหันต์ ในเวลาที่เสวยอารมณ์ต่างๆ รับรู้สุขทุกข์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ หรือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ในกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์   พูดอีกอย่างหนึ่งว่า นิพพานท่ามกลางกระบวนการรับรู้ทางประสาททั้ง ๕ ซึ่งเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ โดยฐานเป็นอารมณ์ หรือสิ่งที่ถูกรับรู้ *
 
     นิพพานในข้อนี้   เป็นด้านที่เพ่งถึงผลซึ่งปรากฏออกมาในการรับรู้ หรือการเกี่ยวข้องกับโลกคือสิ่งแวดล้อม   ในการดำเนินชีวิตตามปกติของพระอรหันต์   ดังนั้น  จึงเล็งไปที่ความหมายในแง่ของความสิ้นราคะ โทสะ  และโมหะ*  ซึ่งทำให้การรับรู้ หรือ เสวยอารมณ์ต่างๆ เป็นไปด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ
 
     ขยายความออกไปว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่  ภาวะจิตของพระอรหันต์ซึ่งปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่ถูกปรุงแต่งบังคับด้วยราคะ โทสะ และโมหะ ทำให้พระอรหันต์นั้น  ผู้ยังมีอินทรีย์สำหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ บริบูรณ์ดีอยู่ตามปกติ  เสวยอารมณ์ทั้งหลายด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน การเสวยอารมณ์หรือเวทนานั้น ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง จึงไม่ทำให้เกิดตัณหาทั้งในทางบวกและทางลบ (ยินดี-ยินร้าย ชอบ-ชัง ติดใจ-ขัดใจ) พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มีตัณหาที่จะปรุงแต่งภพ หรือชักนำไปสู่ภพ (ภวเนตติ)
 
     ภาวะนี้มีลักษณะที่มองได้ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งคือ การเสวยอารมณ์นั้นเป็นเวทนาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ในตัว เพราะไม่มีสิ่งกังวลติดข้องค้างใจหรือเงื่อนปมใดๆ ภายใน ที่จะมารบกวน และอีกด้านหนึ่ง เป็นการเสวยอารมณ์อย่างไม่สยบ ไม่อภินันท์ ไม่ถูกครอบงำหรือผูกมัดตัว ไม่ทำให้เกิดการยึดติดหรือมัวเมาเป็นเงื่อนงำต่อไปอีก
 
     ภาวะเช่นนี้  ย่อมเป็นไปอยู่ตลอดเวลาในการดำเนินชีวิตตามปกติของพระอรหันต์ เป็นเรื่องปัจจุบันเฉพาะหน้า แต่ละเวลาแต่ละขณะที่รับรู้อารมณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรียกว่า ทิฏฐธรรม (แปลว่า อย่างที่เห็นๆ กัน หรือทันตาเห็นในเวลานั้นๆ)
 
     ตามความหมายดังที่กล่าวมานี้ นิพพานธาตุอย่างที่หนึ่ง จึงต้องเป็นภาวะของพระอรหันต์ที่ยังทรงชีพและดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกอยู่ตามปกติ อย่างที่เห็นๆ กัน และทันตาเห็น เป็นปัจจุบัน
 
         ๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  แปลว่า   ภาวะของนิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ หรือนิพพานของพระอรหันต์ที่นอกเหนือจากความเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ในกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์
 
     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะของนิพพานเองล้วนๆ แท้ๆ ซึ่งประจักษ์แก่พระอรหันต์ในเมื่อประสบการณ์ในกระบวนการรับรู้ทางประสาททั้ง ๕ สิ้นสุดลง หรือในเมื่อไม่มีการรับรู้ หรือในเมื่อไม่เกี่ยวข้องกับการรับรู้อารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ เหล่านั้น (รวมทั้งอารมณ์ผ่านทางประสาททั้ง ๕ นั้น ที่ยังค้างอยู่ในใจ)
 
     ขยายความออกไปว่า  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  ภาวะนิพพานที่พระอรหันต์ประสบ อันเป็นส่วนที่ลึกซึ้งลงไป หรือล้ำเลยออกไปกว่าที่มองเห็นกันได้ พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์หรือรับรู้ประสบการณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ แล้ว กล่าวคือ หลังจากรับรู้ประสบการณ์ หรือเสวยอารมณ์ โดยไม่อภินันท์ด้วยตัณหา ไม่เสริมแต่งคลอเคลียหรือกริ่มกรุ่นด้วยกิเลส คือราคะ โทสะ  และ โมหะ  (อภินันทิตะ) แล้ว อารมณ์ หรือประสบการณ์เหล่านั้น  ก็ไม่ค้างคาที่จะมีอำนาจครอบงำชักจูงหรือรบกวนต่อไปอีก  จึงกลายเป็นของเย็น (สีติภวิสฺสนฺติ) คือสงบราบคาบหมดพิษสงไป ไม่อาจก่อชาติก่อภพขึ้นได้อีก พูดเป็นสำนวนว่า พระอรหันต์มีความสามารถพิเศษที่จะทำให้อารมณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา  มีสภาพเป็นกลาง  ปราศจากอำนาจครอบงำหน่วงเหนี่ยว กลายเป็นของสงบเย็นอยู่ใต้อำนาจของท่าน พระอรหันต์จึงได้ชื่อที่เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งว่า สีติภูตะหรือสีตะ  แปลว่า เป็นผู้เย็นแล้ว*
 
     ภาวะที่ประจักษ์ โดยปราศจากประสบการณ์เสริมแต่งค้างคาอยู่ หรือภาวะที่ประสบในเมื่อไม่มีอารมณ์ภายนอกคั่งค้างครองใจหรือคอยรบกวนอยู่เช่นนี้ นับว่าเป็นภาวะชั้นใน ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ล้ำเลยไปกว่าระดับการรับรู้ทางอินทรีย์  ๕ พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ที่พัวพันอยู่กับขันธ์  ๕  เรียกได้ว่า เป็นการเข้าถึงภาวะที่ปราศจากภพ หรือไม่มีภพใหม่
 
     ในภาวะเช่นนี้ คือ เมื่อไม่มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์  ท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว ก็จึงมีนิพพานเป็นอารมณ์   คือประจักษ์ หรือ ประสบนิพพานในฐานะที่เป็นธัมมายตนะ*
 
     นิพพานในข้อที่สองนี้  เป็นด้านที่เพ่งถึงภาวะของนิพพานเองแท้ๆ ที่ประจักษ์แก่พระอรหันต์พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ภายนอก นอกเหนือจากการดำเนินชีวิตตามปกติ เป็นภาวะที่พูดถึงหรือบรรยายได้เพียงแค่ลักษณะของการเกี่ยวข้องกับนิพพานนั้น ถึงจุดที่ประสบการณ์อย่างที่รู้ที่เข้าใจกัน ซึ่งไม่ใช่นิพพาน ได้สิ้นสุดลง ส่วนภาวะของนิพพานเองแท้ๆ ซึ่งลึกเลยไปกว่านั้น เป็นเรื่องของผู้ประสบและประจักษ์เองจะรู้และเข้าใจ คือเป็นสันทิฏฐิกะ ดังได้กล่าวมาแล้ว
 
     ถ้าจะอุปมา เปรียบมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย เหมือนคนที่ว่ายน้ำฝ่ากระแสคลื่นลมอยู่ในทะเลใหญ่ ผู้บรรลุนิพพาน ก็เหมือนคนที่ขึ้นฝั่งได้แล้ว
 
     ภาวะที่ขึ้นอยู่บนฝั่งแล้ว ซึ่งเป็นภาวะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในตัวของมันเอง มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย ซึ่งบุคคลผู้นั้นประสบอยู่ภายใน ประจักษ์แก่ตนเองโดยเฉพาะ เปรียบได้กับ อนุปาทิเสสนิพพาน  ส่วนภาวะที่ไม่ถูกบีบคั้นคุกคาม ไม่ติดขัดจำกัดตัวอยู่ในเกลียวคลื่น ไม่ถูกซัดไปซัดมา ไม่เป็นผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของคลื่นลม สามารถเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัวอย่างเป็นอิสระและได้ผลดี ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ตามปรารถนา เปรียบได้กับสอุปาทิเสสนิพพาน
 
     ถ้าจะอุปมาให้ใกล้ตัวมากกว่านั้น เปรียบมนุษย์ปุถุชนทั้งหลายเหมือนคนเจ็บไข้ ผู้บรรลุนิพพานก็เหมือนคนที่หายป่วยแล้ว หรือคนที่สุขภาพดี ไม่มีโรค
 
     ความไม่มีโรค หรือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดีนั้น    เป็นภาวะที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะประสบประจักษ์อยู่ภายในตนเองโดยเฉพาะ  ภาวะนี้จะอิ่มเอิบชื่นบาน  ปลอดโปร่ง  โล่งสบาย   คล่องเบาอย่างไร    เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของผู้นั้น   คนอื่นอาจคาดหมายตามอาการและเหตุผล   แต่ก็ไม่สามารถประสบเสวยได้   ภาวะนี้เปรียบได้กับอนุปาทิเสสนิพพาน  ส่วนภาวะอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเนื่องอยู่ด้วยกันนั่นเอง  และอาจแสดงออกได้  หรือมีผลต่อการแสดงออกในการดำเนินชีวิต หรือติดต่อเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ คือ ความไม่ถูกโรคบีบคั้น ไม่อึดอัด ไม่อ่อนแอ ไม่ถูกขัดขวาง ถ่วง หรือชะงักงันด้วยความเจ็บปวดและอ่อนเปลี้ยเป็นต้น สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำอะไรต่างๆ ได้ตามต้องการ ภาวะนี้เทียบได้กับสอุปาทิเสสนิพพาน
 

     สรุปความว่า นิพพพานมีอย่างเดียว  แต่แบ่งมองเป็น ๒ ด้าน  ด้านที่หนึ่ง  คือ นิพพานในแง่ของความสิ้นกิเลส  ซึ่งมีผลต่อการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก หรือต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้านที่สอง คือนิพพานในแง่ที่เป็นภาวะจำเพาะล้วนๆ แท้ๆ  ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้บรรลุ   ไม่อาจหยั่งถึงด้วยประสบการณ์ทางอินทรีย์ ๕   เป็นเรื่องนอกเหนือจากประสบการณ์ที่เนื่องด้วยขันธ์  ๕ ทั้งหมด;
 
     อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานตามความหมายของนิพพานเองแท้ๆ ล้วนๆ (ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕)  สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานตามความหมายในทางปฏิบัติเมื่อสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวัน
 
     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานในความหมายที่พระอรหันต์มีนิพพานเป็นอารมณ์ สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานในความหมายที่พระอรหันต์มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์
 
     ที่กล่าวว่า อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงภาวะของนิพพานเองแท้ๆ ล้วนๆ นั้น ต้องกับมติของพระอรรถกถาจารย์ ในคัมภีร์ปรมัตถปีปนี ซึ่งอธิบายว่า อมตมหานิพพานธาตุ เรียกว่า “อนุปาทิเสสา” ตรงกับภาวะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย   อายตนะที่ไม่มีปฐวี ไม่มีอาโป ไม่มีเตโช ไม่มีวาโย ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ...”
 
     นอกจากนั้น อรรถกถาฎีกาบางแห่ง อธิบายความหมายบ้าง ใช้ถ้อยคำบ้าง อันแสดงให้เห็นว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ตรงกับ อนุปาทาปรินิพพาน  ซึ่งหมายถึงภาวะของนิพพานที่เป็นจุดหมายในการปฏิบัติธรรม หรือเป็นที่บรรลุสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นอันสนับสนุนคำอธิบายที่ได้แสดงมาแล้ว


     อนึ่ง ตามปกติ กระบวนการรับรู้ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ ก็ดี การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก และการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ดี ย่อมสิ้นสุดลงอย่างแน่นอนและเด่นชัด เมื่อบุคคลสิ้นชีวิต ดังนั้น เมื่อพระอรหันต์สิ้นชีวิต เมื่อการรับรู้ทางอินทรีย์ ๕ ระงับสิ้นเชิงแล้ว นิพพานธาตุที่ท่านประสบย่อมมีแต่เพียงอย่างเดียว คือ อนุปาทิเสสนิพพาน  ในภาษาสามัญหรือถ้อยคำที่ใช้ทั่วไป อนุปาทิเสสนิพพาน จึงกลายมาเป็นคำเฉพาะสำหรับกล่าวถึงการสิ้นชีวิตของพระอรหันต์
 
     อนุปาทิเสสนิพพานเปลี่ยนจุดเน้นจากการเป็นคำแสดงภาวะ กลายมาเป็นคำแสดงกิริยาอาการหรือบรรยายเหตุการณ์ ดังจะเห็นได้ว่า คำว่าอนุปาทิเสสนิพพานที่ใช้ ณ ที่อื่นจากนี้ ล้วนเป็นคำกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์สิ้นชีวิตเป็นพื้น
 
     ส่วนคำว่า  สอุปาทิเสสนิพพาน  ไม่อาจใช้เป็นคำบรรยายเหตุการณ์ได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ (เพราะมีคำอื่นใช้มากพออยู่แล้ว) จึงไม่ถูกกล่าวถึง ณ ที่อื่นใดในพระไตรปิฎกอีกเลย
 
     ในพระไตรปิฎก    มีข้อความหลายแห่งกล่าวถึงเฉพาะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างเดียว เช่นพุทธพจน์ แสดงพระธรรมวินัยว่า มีความอัศจรรย์เหมือนดังมหาสมุทร ๘ ประการ ข้อที่ ๕ ว่า แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้ เปรียบได้กับสายฝนที่หลั่งลงจากฟากฟ้าสู่ท้องมหาสมุทร จะทำให้มหาสมุทรปรากฏเป็นพร่องหรือเต็มไปเพราะเหตุนั้นก็หามิได้  ในคัมภีร์มหานิทเทส เรียกภาวะเช่นนี้ว่า อนภินิพพัตติสามัคคี (ความพร้อมเพรียงกันไม่แสดงตนในภพ หรือแปลง่ายๆ ว่า ความพร้อมใจกันไม่เกิด)
 
     บาลีแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติก็กล่าวถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุหลายแห่ง แต่ละแห่งส่อแสดงว่าหมายถึงการปรินิพพานเมื่อสิ้นพระชนมชีพทั้งนั้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระฉวีวรรณของพระองค์ผุดผ่องเป็นพิเศษในสองคราว คือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และในราตรีที่ทรงปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  บิณฑบาตที่ถวายแด่พระองค์ มีอยู่ ๒ คราวที่มีผลมากมีอานิสงส์มาก ยิ่งกว่าบิณฑบาตครั้งอื่นๆ คือ บิณฑบาตที่พระองค์เสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และที่เสวยแล้วทรงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
 
     ตัวอย่างอื่นอีก เช่น สถานที่พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นสังเวชนียสถานหนึ่งในสี่แห่ง  การที่พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งแห่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่  และอีกแห่งหนึ่งตรัสแสดงเหตุที่พระองค์ได้พระนาม “ตถาคต” ว่า เพราะพระดำรัสทั้งปวง ที่ตรัสในเวลาระหว่างตั้งแต่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนถึงราตรีที่ทรงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ล้วนคงตัวอย่างนั้น ไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่น
 
     ความจริง พุทธพจน์ทำนองเดียวกับที่ตรัสแสดงนิพพาน ๒ อย่างนี้ ยังมีอีกหลายแห่ง ข้อความคล้ายกันมาก และลำดับความก็อย่างเดียวกัน มีเนื้อความมากกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งกล่าวพาดพิงถึงการสิ้นชีวิตของพระอรหันต์ด้วย ต่างแต่พุทธพจน์เหล่านั้น กล่าวความต่อเนื่องกันไปตลอด ไม่แบ่งแยกประเภท และไม่ระบุชื่อนิพพานอย่างใดๆ ทั้งสิ้น ขอยกมาเพื่อช่วยกันพิจารณาเป็นตัวอย่าง บางทีจะเป็นเครื่องเทียบให้ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้าง ดังนี้
 
         ๑. ก. “ภิกษุทั้งหลาย    เมื่อใดภิกษุละอวิชชาได้    วิชชาเกิดขึ้นแล้ว, เพราะสำรอกอวิชชาได้ เพราะวิชชาเกิดขึ้น เธอย่อมไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ไม่ปรุงแต่งอปุญญาภิสังขาร ไม่ปรุงแต่งอเนญชาภิสังขาร , เมื่อไม่คิดปรุง ไม่คิดเสริมแต่ง ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งใดในโลก, เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่กระวนกระวาย  , เมื่อไม่กระวนกระวาย ย่อมปรินิพพานประจักษ์เองทีเดียว, เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ได้อยู่แล้ว กรณียะได้ทำแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก”
 
          ข. “หากเธอเสวยเวทนาที่เป็นสุข ก็รู้ชัด (รู้เท่าทัน) ว่าสุขเวทนา นั้น ไม่เที่ยง รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นตนมิได้สยบ รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นตนมิได้ติดใจพัวพัน   (อนภินันทิต);   หากเธอเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์...หากเธอเสวยเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข   ก็รู้ชัดว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง...ตนมิได้สยบ..ตนมิได้ติดใจพัวพัน, หากเธอเสวยสุขเวทนา   ก็เสวยสุขเวทนานั้นอย่างไม่ถูกมัดตัว, หากเธอเสวยทุกขเวทนา...หากเธอเสวยอทุกขมเวทนา    ก็เสวยเวทนานั้นอย่างไม่ถูกมัดตัว,   เธอนั้น เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย (เวทนาทางทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต (เวทนาทางใจ) ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต; เธอรู้ชัดว่า ต่อจากจบชีวิตเพราะกายแตกทำลาย อารมณ์ที่ได้เสวย (เวทยิตานิ) ทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจพัวพัน (อนภินันทิต) จักเป็นของเย็นอยู่ที่นี้เอง เหลือไว้แค่เรือนร่าง”

 
         ค. “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนว่า บุรุษยกหม้อร้อนออกจากเตาเผาหม้อ วางไว้ที่พื้นดินเรียบ ส่วนที่เป็นไอร้อนพึงสงบหายที่หม้อนั้นเอง ดินเผา (ตัวหม้อ) คงเหลืออยู่ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย, เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต, เธอย่อมรู้ชัดว่า ต่อจากจบชีวิตเพราะกายแตกทำลาย อารมณ์ที่ได้เสวยทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจพัวพัน จักเป็นของเย็นอยู่ที่นี้เอง เหลือไว้แค่เรือนร่าง”
 
         ง. “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนว่า ประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้, เพราะสิ้นน้ำมันสิ้นไส้นั้น (และไม่เติมน้ำมัน ไม่ใส่ไส้อื่น) หมดเชื้อ ย่อมดับไป ฉันใด, ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย, เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต, เธอรู้ชัดว่า ต่อจากจบชีวิตเพราะกายแตกทำลาย อารมณ์ที่ได้เสวยแล้วทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจพัวพัน จักเป็นของเย็นอยู่ที่นี้เอง”
 
     แต่ในบาลีอีกแห่งหนึ่ง มีความต่างมากกว่าแห่งอื่นคือ มีคำบรรยายและอุปมาแปลกออกไปดังนี้
 
         ๒. ก.    “ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว    ย่อมบรรลุธรรมเครื่องอยู่ประจำ ๖ ประการ คือ  เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา  มีสติ มีสัมปชัญญะ ฟังเสียงด้วยหู...ดมกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ, เธอนั้น เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต, เธอรู้ชัดว่า ต่อจากจบชีวิตเพราะกายแตกทำลาย อารมณ์ที่ได้เสวยแล้วทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจพัวพัน จักเป็นของเย็นอยู่ที่นี้เอง”
 
            ข. “เปรียบเหมือนว่า มีเงาปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ คราวนั้น บุรุษถือจอบและตะกร้ามา เขาตัดต้นไม้นั้นที่โคน ครั้นแล้ว ขุดคุ้ยเอารากขึ้น โดยที่สุดแม้เท่าต้นแฝกก็ไม่ให้เหลือ เขาตัดผ่าต้นไม้นั้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้เป็นซีกๆ ผึ่งลมและแดดให้แห้ง แล้วเผาไฟ ทำให้เป็นขี้เถ้า โปรยไปในลมแรง หรือในแม่น้ำกระแสเชี่ยว เมื่อทำอย่างนี้ เงาที่ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้นั้น ย่อมเป็นอันถูกถอนราก เป็นดุจตาลยอดด้วน ถูกทำให้ไม่มี หมดทางเกิดขึ้นได้อีกต่อไป แม้ฉันใด, ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ก็ฉันนั้น ย่อมบรรลุธรรมเครื่องอยู่ประจำ ๖ ประการ...อารมณ์ที่ได้เสวยแล้วทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจพัวพัน จักเป็นของเย็นอยู่ที่นี้เอง”
 

     เพื่อความเข้าใจรอบด้านในเรื่องนิพพาน ๒ นี้ ขอย้อนไปกล่าวถึงความคลี่คลายของความหมายในรุ่นอรรถกถา และมติของพระอรรถกถาจารย์อีกเล็กน้อย
 
     ดังได้กล่าวแล้วว่า ในบาลี  (คือพระไตรปิฎก)   คำว่าอนุปาทิเสสนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น ถูกใช้ในการบรรยายเหตุการณ์ หมายถึงการสิ้นชีวิตของพระอรหันต์ เฉพาะอย่างยิ่งของพระพุทธเจ้า แต่ต่อมา ในสมัยอรรถกถา  สอุปาทิเสสนิพพาน ก็ถูกนำมาใช้ในการบรรยายเหตุการณ์เช่นนั้นด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อความที่บรรยายเหตุการณ์เดียวกัน ในบาลี กับในอรรถกถา เปรียบเทียบกัน ดังนี้
 
      ในบาลี:    “บิณฑบาต ๒ คราว มีผลเท่าๆ กัน มีวิบากเท่าๆ กัน มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตคราวอื่นๆ ยิ่งนัก กล่าวคือ บิณฑบาตที่ตถาคตบริโภคแล้ว ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และบิณฑบาตที่ตถาคตบริโภคแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
 
      ในอรรถกถา:    “ พระผู้มีพระภาคเจ้า   เสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้ว ทรงปรินิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เสวยบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิ-เสสนิพพานธาตุ”
 
     โดยความคลี่คลายของความหมาย หรือวิวัฒนาการของการใช้คำทำนองนี้ จึงทำให้ความหมายของนิพพานทั้งสองนี้ ในอรรถกถาหลายๆ แห่งเน้นไปที่จุดแห่งเหตุการณ์ ในชีวิตของพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ คือเน้นการกระทำอันได้แก่การบรรลุภาวะ มากกว่าจะเน้นตัวภาวะนั้นเอง
 
     ด้วยเหตุนี้ ความหมายของนิพพาน ๒ เมื่อว่าตามนัยของอรรถกถาทั่วๆ ไป จึงมีลักษณะที่ค่อนข้างจำกัด หรือรัดตัวมาก กล่าวคือ  สอุปาทิเสสนิพพาน  หมายถึงดับกิเลส ยังมีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิต มุ่งเอาการบรรลุอรหัตตผล  อนิปาทิเสสนิพพาน  หมายถึง  ดับกิเสสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ   หรือนิพพานของพระอรหันต์เมื่อทำลายขันธ์ บางทีเรียกว่าดับขันธ์ มุ่งเอาการสิ้นชีวิตของพระอรหันต์
 
     โดยเฉพาะอนุปาทิเลสนิพพานนั้น บางทีท่านเอาคติเรื่องจริมจิต หรือจริมวิญญาณมาช่วยอธิบายด้วย  ทำให้ความหมายของอนุปาทิเสสนิพพานจำเพาะเจาะจงลงไปที่การสิ้นชีวิตของพระอรหันต์อย่างชนิดจำกัดตายตัว ดิ้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ทีเดียว
 
     อย่างไรก็ดี ในบาลีบางแห่งที่บรรยายภาวะและความเป็นไปของพระอรหันต์ อรรถกถาได้อธิบายแยกว่าตอนนั้นเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ตอนนี้เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน บาลีและคำอธิบายเช่นนั้น บางแห่งก็อาจช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพาน ๒ อย่างนี้กระจ่างมากขึ้น เช่น บาลีแห่งหนึ่งว่า
 
 
         “เพราะตัณหาสิ้นไปโดยประการทั้งปวง จึงนิโรธด้วยคลายออกได้ไม่มีเหลือ (นั่นแหละ) คือนิพพาน; สำหรับภิกษุผู้นิพพานแล้วนั้น เพราะไม่ถือมั่น ภพใหม่จึงไม่มี”
 
    อรรถกถาอธิบายว่า ข้อความท่อนแรก หมายถึงสอุปาทิเสสนิพพาน ท่อนหลัง หมายถึงอนุปาทิเสสนิพพาน  ข้อความนี้รับกันดีกับบาลีแสดงนิพพาน  ๒  ในตอนเริ่มต้นของบทนี้
 
     นำอรรถาธิบายทั้งหมดที่ได้กล่าวมา รวมทั้งมติของอรรถกถาประกอบเข้าด้วยกัน จึงสรุปความหมายของนิพพาน  ๒  อีกครั้งหนึ่งว่า
 
     ภาวะสิ้นกิเลส หรือหมดตัณหา หรือสิ้นราคะ โทสะ โมหะ   ที่ทำให้ดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไร้โทษ ไร้ทุกข์ มีแต่เกื้อกูลอำนวยประโยชน์ เป็นสุข ซึ่งมีการตรัสรู้หรือบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดกำหนด เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน
 
     ภาวะที่หมดความผูกพันกับขันธ์  ๕  พ้นจากการปรุงแต่ง ปราศจากภพ  หรือไม่มีภพใหม่สืบต่อไปอีก ซึ่งประจักษ์ภายในจำเพาะตัว มีความจบสิ้นแห่งชีวิตในโลกเป็นจุดกำหนด เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
 

     พูดให้สั้นกว่านั้นอีกว่า   ภาวะสิ้นกิเสสเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน   ภาวะสิ้นภพเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน หรือพูดอีกอย่างว่า    ภาวะนิพพานท่ามกลางกิจกรรมของอินทรีย์  ๕  เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ภาวะนิพพานพ้นจากหรือเป็นอิสระจากกิจกรรมของอินทรีย์ ๕ เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
 
     อย่างไรก็ตาม   พึงตระหนักในใจว่า    ตามที่จริงแล้ว หลักฐานในบาลีมิได้แสดงว่า ท่านสนใจอะไรนักที่จะกล่าวถึงภาวะของนิพพาน ๒ อย่างนี้  จุดสนใจที่ท่านเน้นและกล่าวถึงอย่างมากมายก็คือ เรื่องที่จะนำไปปฏิบัติได้   เพื่อให้รู้ประจักษ์นิพพานด้วยตนเอง   การนำเอาเรื่องนิพพาน  ๒  มากล่าวในแง่วิชาการเสียยืดยาว    อาจกลายเป็นการทำเรื่องที่ท่านไม่ยุ่ง   ให้กลายเป็นเรื่องที่ยาก และอาจจะทำให้ผู้ศึกษาคาดหมายเกี่ยวกับอัตราส่วนของเรื่องนี้ที่มีในพระไตรปิฎกมากมายเกินความจริงไปได้    เนื้อความเท่าที่กล่าวมานี้ก็พอจะให้เห็นเค้าเงื่อนบ้างแล้ว   จึงควรยุติไว้เพียงนี้





*  ขันธ์ ๕ โดยฐานเป็นอารมณ์ หรือ  สิ่งที่ถูกรู้ ดู บทที่ ๒ ว่าด้วยอายตนะ

* ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน (สํ.สฬ.18/497/310 ฯลฯ) ความบำราศราคะ ความบำราศโทสะ ความบำราศโมหะ นี้เป็นชื่อของนิพพานธาตุ (สํ.ม.19/31/10)


*เช่น ในข้อความว่า “ตถาคต...เป็นผู้ดับร้อนหมดแล้ว   เย็นซึ้งเหมือนห้วงน้ำลึก” (ขุ.สุ.25/359/415); และ  “(ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว)   เป็นผู้หายหิว ดับร้อน เย็นซึ้ง เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นพรหมอยู่แล้วตั้งแต่ในปัจจุบันทีเดียว” 


* ธัมมายตนะ  อายตนะภายนอกอย่างที่ ๖ ได้แก่  ธรรมารมณ์ ซึ่งแยกได้เป็นขันธ์ ๔ กับนิพพาน  (นิพพานเป็นธรรมนอกเหนือจากขันธ์ ๕ ดังในคัมภีร์ชั้นหลัง  มีคำแสดงลักษณะนิพพานอีกคำหนึ่งว่า “ขันธวินิมุต” แปลว่า พ้นจากขันธ์ คือจัดเข้าในขันธ์ ๕ ไม่ได้ ดู ปญฺจ.อ.๓๘๙ และพึงดู สงฺคห.๔๔; สงฺคห.ฎีกา ๒๓๐ แต่กระนั้นก็จัดเข้าในธัมมายตะด้วย; ดู วิภงฺค อ.๖๗ และดูบทที่ ๒ ว่าด้วยอายตนะ)
 


Create Date : 13 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2566 19:18:06 น. 0 comments
Counter : 111 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space