กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
space
space
17 กุมภาพันธ์ 2565
space
space
space

รู้จักอรรถกถาว่าคืออะไร (จบ)
ต่อ


เว้นที่สุดสองข้าง   สู่ทางสายกลางในการศึกษาพระไตรปิฎก
 
   การศึกษาพระไตรปิฎกโดยเข้าถึงพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกนั้น  เป็นความดี  เป็นความดีงามประเสริฐ  อันพึงนิยมบูชา   แต่กระนั้นก็ตาม เวลาเราศึกษา  เราก็สรุปความตีความว่าอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย  และตรงนี้ก็คือมติของเราเข้าไปคลุม  หรือไม่ก็เข้าไปแทรก  มากบ้าง น้อยบ้าง  ไม่ใช่พุทธพจน์ล้วนๆ   ไม่ใช่ปลอดบริสุทธิ์  ยิ่งไปบอกไปสอนคนอื่นด้วย  มติส่วนตัวก็ยิ่งออกมา
 
  ในเรื่องนี้  อรรถกถา  เป็นต้น  นอกจากอย่างน้อยให้ประโยชน์ในทำนองพจนานุกรมอย่างที่ว่าแล้ว   เราควรมองด้วยว่า  ท่านก็อ่านพระไตรปิฎกมาอย่างน้อยก็แบบเดียวกับเรา  แล้วท่านก็ตีความสรุปความเขียนไว้   ถึงแม้ถ้าตัวเรานี้ไม่นับถือท่านเลย   แต่ในฐานะเป็นแหล่งอ้างอิงซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือกันอยู่  อย่างน้อยเพื่อความเป็นธรรม   เราก็ควรให้โอกาสที่มติของท่านจะออกมาแสดงตัวแข่งกับมติของเรา
 
  นอกจากนั้น  สำหรับผู้เรียนผู้ศึกษาหรือผู้ฟัง  เขาควรมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่พึงรู้พึงทราบในเรื่องนั้นๆ   เขาน่าจะมีสิทธิเข้าถึงหลักฐานข้อมูลที่ควรจะรู้ควรจะพิจารณาให้เต็มที่  เอาละ  ข้อมูลนี่  ตัวฉันเองไม่เชื่อ   ไม่นับถือ  แต่มันเป็นแหล่งใหญ่สำคัญที่เขายอมรับกัน   ข้อมูลนั้นว่าอย่างนี้นะ  คนอื่นคนฟังรู้ชัดเจนเห็นจะแจ้งแล้ว  ก็จะโล่งไป  บางคนอาจจะเห็นว่าข้อมูลแหล่งนั้นนั่นแหละ  ถูกต้อง  ดีกว่าของเรามากมาย  ก็ให้เป็นอิสระของเขา
 
   ดังนั้น  วิธีศึกษาพระไตรปิฎก  นอกจากเข้าถึงโดยตรงแล้ว  ก็เปิดให้ผู้ศึกษาใช้ปัญญาอย่างเพียงพอ  โดยเป็นอิสระด้วย   เพราะอย่างที่เคยพูดแล้วว่า   หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา  รวมทั้งคัมภีร์ทั้งหลาย  ท่านถือเป็น  ข้อมูลเพื่อให้รู้  ไม่ใช่ข้อมูลเพื่อให้เชื่อ
 
  เมื่อฟังอ่านดูพระไตรปิฎกกัน   ฉันเองมีความเห็นความเข้าใจว่าอย่างนี้   พร้อมกันนั้น  ฉันไม่ปิดกั้น  ไม่ปิดบัง  มีเรื่องราวที่ควรรู้ควรพิจารณา   แหล่งโน้นแห่งนี้ที่ควรรู้ควรฟัง  ก็เอามาบอก มาวาง มาตั้งให้ศึกษา  ให้พิจารณา  สากัจฉากัน  ว่ากันไปให้จะแจ้งชัดเจน
 
  เราดูพระไตรปิฎกเป็นหลักอยู่แล้ว   มีอะไรจะมาประกอบหรือมาปะทะ  ให้คมชัดขึ้นมาได้  ก็ยิ่งดี  ต้อนรับทั้งนั้น
 
  ทีนี้   ที่ท่านเจ้าของข้อเขียนใน เนชั่นสุดสัปดาห์  ยกเอาพุทธพจน์ในมูลปริยายสูตร  จากหนังสือ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ของท่านพุทธทาสมาอ้างนั้น  ว่ากันตามจริง  แม้จะขออภัย  ก็ควรพูดได้ว่า  ผู้อ่านได้เห็นพุทธพจน์นิดเดียว
 
  แต่สิ่งที่ปรากฏในหน้านิตยสารนั้นมาก   ก็คือถ้อยคำและข้อความที่เป็นความเห็น เป็นมติ  เป็นข้อสรุปตามความคิดและการตีความของท่านเจ้าของข้อเขียนนั้นเอง
 
  จุดสำคือ  ในเนชั่นสุดสัปดาห์ นั้น  ท่านว่า
 
   พระพุทธเจ้าดึงวิญญาณออกมาเดียวๆ เลยแล้วทำงานอยู่กับขันธ์ทั้งสี่   และขันธ์ทั้งสี่คืออะไร  คือ นานาภาวะ ... แต่เวลาจะจบ  ก็ต้องตบท้ายด้วยการพิจารณาตัวเองผู้รู้  คือเอกภาวะ  หรือตัววิญญาณว่า เป็นอนัตตาด้วย
 
   ถ้าผู้อ่านดูพจน์เองโดยตรง  ก็ไม่พบไม่เห็นตามที่ท่านว่านั้น  ที่ว่าทรงดึงวิญญาณออกมา (เป็นตัวผู้รู้) ก็กลับตรงข้าม กลายเป็นว่าตลอดทั้งพระสูตรนี้   ไม่ได้ตรัสถึงวิญญาณแม้แต่ครั้งเดียว   นอกจากที่แฝงอยู่กับคำว่า วิญญาณัญจายตนะ  และวิญญาตะ   ซึ่งรวมอยู่ในฝ่ายที่ถูกรู้
 
  เช่นเดียวกับเอกัตตะ (เอกภาวะ)  นานัตตะ  (นานาภาวะ)  ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญอะไรในการเป็นขันธ์  ๕  หรือเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  มากไปกว่าสภาวะอย่างอื่นที่ตรัสในพระสูตรนั้น  แล้วก็มิใช่ว่าขันธ์หนึ่งรู้  อีกสี่ขันธ์ถูกรู้  แต่ถูกรู้หมดทั้งห้าขันธ์นั่นแล
 
  ที่เคยบอกแล้วว่า ในกรณีนี้  วิญญาณก็ทำหน้าที่ของมันไปตลอดเวลาเป็นธรรมดาโดยไม่ต้องเอ่ยถึงเลย
 
   แต่ที่สำคัญ  ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นสาระของพระสูตรทั้งหมด   ก็คือ  การรู้ที่จัดเป็น ๓  ระดับใหญ่  คือ การรู้ของปุถุชน  การรู้ของพระอริยบุคคลขั้นเสขะ  และการรู้ของพระอรหันต์ ตลอดไปถึงการรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
  บางที คำว่า “รู้”  ในที่นี้  จะถูกเข้าใจว่าเป็น  “วิญญาณ”  เลยทำให้พลาดไป
 
  ที่จริง ในคำแปลพุทธพจน์นั้น  พอจะเป็นได้ว่า  ท่านพุทธทาสได้พยายามใช้คำที่จะให้อ่านทราบว่าเป็นการรู้คนละอย่าง ต่างขั้นต่างระดับ คือ
 
  ในขั้นที่ ๑  ของปุถุชน  ท่านพุทธทาสใช้คำว่า “รู้สึก”  ปุถุชนจึงมีสภาพอยู่แค่ที่ท่านใช้คำแปลว่า “มิได้รู้โดยรอบแล้ว”
 
  ในขั้นที่ ๒  ของพระเสขะ ท่านพุทธทาสใช้คำว่า “รู้โดยยิ่งขึ้นไป”   ก็ดีขึ้นไปถึงระดับที่ท่านใช้คำแปลว่า  “จะพึงรู้โดยชอบ”  
 
  ในขั้นที่ ๓   ของพระอรหันต์   ท่านพุทธทาสใช้คำว่า “รู้ชัดแจ้ง”    ซึ่งถึงขั้นที่ท่านใช้คำแปลว่า “ได้รู้โดยรอบแล้ว”
 
  ทีนี้  พอได้เค้าจากคำแปลของท่านพุทธทาส หรือจากพระไตรปิฎกแปลแล้ว  เราเกิดสนใจอยากรู้ให้ชัดยิ่งขึ้น  ก็ไปดูให้ถึงตัวจริง คือ พระไตรปิฎกบาลี   ทีนี้  ก็จะเจอถ้อยคำที่ชี้ไปถึงองค์ธรรมต่างๆ   ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจชัดขึ้นมาอีกมากทีเดียว ดังนี้
 
  ในขั้นที่ ๑ ของปุถุชนนี้  พุทธพจน์บาลีเดิมใช้คำว่า “สัญชานาติ – สญฺญตฺวา”  คือรู้แบบสัญญา  เข้าใจไปตามสมมุติบัญญัติ  ไม่รู้ทันภาษาที่สื่อสาร  จึงอยู่แค่ “อปริญญาต์ – ไม่ได้ปริญญา”  
 
  ในขั้นที่ ๒  ของพระเสขะ   พุทธพจน์บาลีเดิมใช้คำว่า “อภิชานาติ –  อภิญฺญาย / อภิญฺญตฺวา”   รู้ตรงไปถึงสภาวะ  พอจะรู้ทันสมมุติบัญญัติ   ดีขึ้นไปเป็น “ปริญไญย –  จึงพึงได้ปริญญา”
 
  ในขั้นที่ ๓  ของพระอรหันต์  บาลีก็ใช้คำว่า  “อภิชานาติ –  อภิญฺญาย / อภิญฺญตฺวา”   รู้เข้าใจตามสภาวะทั้งหมด   ไม่ติดสมมุติบัญญัติ   อยู่ด้วยปัญญา  ถึงขึ้น  “ปริญญาต์ –  ได้ปริญญาจบแล้ว”
 
 
  ถ้าสนใจอยากรู้ว่า  ครูอาจารย์รุ่นเก่าก่อน ที่สอนครูอาจารย์ของเรา ท่านสั่งสอนอธิบายกันมาอย่างไร  มีอะไรน่ารู้ให้ชัดเจนขึ้นอีกไหม   ก็ลองไปค้นอรรถกถา เป็นต้น ดู ก็จะพบว่า  ท่านอธิบายพระสูตรนี้ไว้ยืดยาวเหลือเกิน  (อรรถกถาตอนนี้  ปปัญจสูทนี  ฉบับมหาจุฬา ฯ  หน้า  ๒๑-๖๕ ก็ยาวถึง  ๔๕ หน้า)
 
   หลังจากอารัมภบทยืดยาว  อรรถกถาก็อธิบายตั้งแต่ว่าปุถุชนรู้ด้วยการจำหมายตามสัญญา  และหลงไปตามสัญญา  ยึดติดสมมุติ  มองไม่ทะลุบัญญัติ   ไม่รู้ทันภาษาที่สื่อสาร  เกิดตัณหา มานะ ทิฏฐิ   แล้วก็ออกอาการกันไปต่างๆ   จบเรื่องของปุถุชน  ก็ต่อไปเรื่องพระเสขะ   พระอรหันต์ และพระพุทธเจ้า
 
  ใครสนใจก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมขึ้นไป  อะไรไม่เห็นด้วย  ท่านก็ไม่ว่าอะไร จะไม่อ่านให้นาน ก็ค้นเอาแต่แง่มุมที่ต้องการ   แล้วแต่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แค่ไหน.
 
 


Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2565 20:47:52 น. 0 comments
Counter : 166 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space