กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
space
space
16 กุมภาพันธ์ 2565
space
space
space

รู้ทันสมมุติ ก็จะวิมุตติ (จบ)


ต่อ (๕.รู้ทันสมมุติ ก็จะวิมุตติ) จบแค่นี้ 


ปริพาชกชอบถกปัญหา   แต่น้อยคนนักหนาจะมาบ่อยกว่าวัจฉโคตต์
 
   ท่านเจ้าของข้อเขียนใน  เนชั่นสุดสัปดาห์  นั้น   กล่าวได้ความว่า  พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติยืนยันหลักลัทธิเกี่ยวกับอัตตา  โดยยกตัวอย่างเรื่องที่วัจฉโคตตปริพาชกมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “อัตตา มีหรือ”   ก็ทรงนิ่งเสีย   ทูลถามว่า   “อัตตา ไม่มีหรือ”  ก็ทรงนิ่งเสีย  ปริพาชกนั้นก็ลุกหนีไป
 
   ในเรื่องนี้  มีข้อสังเกตที่ขอตั้งไว้เพื่อช่วยกันพิจารณาว่า
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น  พึงดูด้วยว่าทรงแสดงโดยปรารภหลักโดยตรง  หรือปรารภบุคคล ในกรณีนี้  ชัดเจนว่าตรัสโดยปรารภบุคคล    ดังที่ตรัสแก่พระอานนท์ว่า  ถ้าทรงตอบแก่ปริพาชกนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง  ก็จะไม่เกิดผลดีอะไรแก่เขา   จึงทรงนิ่งเสีย  คือ เมื่อตรัสปรารภบุคคล  ก็ตรัสให้เหมาะกับผู้ฟัง  โดยทรงมีพระมหากรุณาที่จะให้เป็นประโยชน์แก่เขา    เช่น   ทรงรอหรือทรงเตรียมพื้นของเขาให้พร้อมเสียก่อน  (พระพุทธเจ้ายังจะทรงพบสนทนากับวัจฉโคตต์อีกหลายโอกาสในหลายพระสูตร)  คำถามของปริพาชกนี้ว่า  “อัตตา   มีหรือ?”   “อัตตา ไม่มีหรือ”   ไม่ใช่อย่างเดียวกับคำถามว่า “นิพพาน เป็นอัตตาหรือ?  “นิพพาน ไม่เป็นอัตตาหรือ?  แต่เป็นคำถามที่คลุมหมด  คือคลุมทั้งสังขตธรรม  และอสังขตธรรม  แสดงว่าในกรณีนี้  ไม่ทรงตอบทั้งนั้น  มิใช่ไม่ตอบเพราะเขาถามเกี่ยวกับนิพพาน  หรือเฉพาะเมื่อเขาถามเกี่ยวกับนิพพาน
 
หลังจากปริพาชกนั้นลุกออกไปแล้ว   พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายแก่พระอานนท์ถึงเหตุผล ๒  ชุด  ที่ไม่ตอบ  แต่ทรงนิ่งเสีย   เหตุผลชุดหลังคือ  ถ้าทรงตอบว่า  “อัตตามี”  ก็จะไม่เป็นการอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า  “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา / ธรรมทั้งปวงไม่เป็นอัตตา (เป็นอนัตตา)”
 
   สำหรับผู้ศึกษาจำนวนไม่น้อย   เมื่ออ่านความนี้แล้ว  ก็ถือว่านี้เป็นการแสดงชัดอยู่แล้วว่า   ที่ตรัสไปนั้น  ไม่กระทบธรรมนิยามข้ออนัตตา  ที่เป็นหลักยืนและมีความหมายชัดอยู่แล้ว
 
   ส่วนที่ตรัสต่อไปว่า  ถ้าทรงตอบว่า “อัตตาไม่มี”  ก็จะทำให้ปริพาชกนั้น  ซึ่งหลงงมอยู่แล้ว   ยิ่งงวยงงหนักขึ้นไปอีกว่า  เมื่อก่อนนั้น   อัตตาของเราคงได้มีอยู่เป็นแน่   แต่แล้วบัดนี้   อัตตานั้นไม่มี   เหตุผลนี้ก็ชัดว่า  ที่ทรงนิ่ง  ก็เพราะทรงเกื้อกูลแก่ตัวปริพาชกนั้นเอง
 
   เรื่องวัจฉโคตตปริพาชกนี้   ถ้าจะพิจารณาให้เห็นชัดขึ้น  ควรทราบภูมิหลังของเขา  และตามดูเรื่องของเขาไปให้ตลอดด้วย
 
   วัจฉโคตตปริพาชกนี้  เกิดในตระกูลพราหมณ์  คือเดิมเป็นพราหมณ์นั่นเอง  เขาศึกษาพราหมณวิชาจบแล้ว  ไม่เห็นเป็นเป็นสาระ  จึงออกบวชเป็นปริพาชก และเที่ยวแสวงหาคำตอบ  จนกระทั่งได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า  และทูลถามปัญหาที่จะแก้ความสงสัย
 
   เขาเป็นนักศึกษา และแสวงหาอย่างแท้จริง   จึงมาทูลถามบ่อยมาก   ทั้งที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี  ที่ป่ามหาวัน  เมืองเวสาลี และที่เขาคิชฌกูฏ  เมืองราชคฤห์   และมิใช่เฉพาะพระพุทธองค์เท่านั้น   บางทีก็เข้าไปถามพระสาวกผู้ใหญ่  เท่าที่มีบันทึกไว้  คือ  พระมหาโคคัลลานะ  และพระสภิยกัจจนะ
 
   รวมเรื่องของปริพาชกผู้นี้   มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเป็นพระสูตรประมาณ ๖๐  สูตร   มีทั้งในมัชฌิมนิกาย ในสังยุตตนิกาย  ทั้งขันธวารวรรค  และสฬายนตนวรรค  และในอังคุตตรนิกาย  เขามาซักถามจนในที่สุดเมื่อเลื่อมใสจนมั่นใจแล้ว  ก็ประกาศตนเป็นอุบาสกแล้วต่อมาก็ยังมาถามปัญหาเพิ่มอีก
 
   ครั้งสุดท้ายที่มีบันทึกเป็นพระสูตรไว้  วัจฉโคตต์มีศรัทธาแรงกล้า  ได้ทูลขออุปสมบทโดยยอมประพฤติติตถิยปริวาส  ๔  เดือน  ในฐานะที่เป็นเดียรถีย์มาก่อน  หลังจากบวชแล้วไม่นานนัก ก็ได้บรรลุอรหัตตผล   เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
 
  ข้อที่ควรทราบและสังเกตไว้ก็คือ  ปัญหาที่วัจฉโคตตปริพาชกถามบ่อยมาก  ถามแล้วถามอีก  ก็คือ  ปัญหาที่ลัทธิทั้งหลายสมัยนั้นชอบถกเถียงกัน  ไม่รู้จักจบจักพอ   คือคำถามจำพวกที่เป็นทิฏฐินิสสัย    (ติดทิฏฐิ,  ถือทฤษฎี;   เขียนอย่างไทยเป็น  “ทิฐินิสัย” ก็ได้)   อย่างที่สมัยใกล้ๆ นี้  นิยมเรียกว่าพวกปัญหาอภิปรัชญา
 
  
  ในพระไตรปิฎก  ในพระสูตรจำนวนมาก   กล่าวถึงนักบวชโดยเฉพาะพวกปริพาชก  ซึ่งเป็นนักแสวงปัญญา  มาทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับปัญหาจำพวกนี้  และเป็นปกติทีเดียวว่าพระองค์จะไม่ทรงตอบ   ท่านจัดเป็นอัพยากตปัญหา   คือคำถามที่ไม่ทรงตอบ  ไม่ทรงตัดสิน  เพราะไม่ก่อประโยชน์  บางทีก็ทรงนำผู้ถามออกไปสนทนาในเรื่องที่จะมองเห็นสาระอันพึงนำไปปฏิบัติหรือทำให้เป็นประโยชน์ได้
 
 
   วัจฉโคตตปริพาชกก็อยู่ในวงของนักถามปัญหาแบบนี้  และดูจะครุ่นคิดเอาจริงเอาจังมากเป็นพิเศษเลยทีเดียว
 
   ปัญหาแบบนี้  ที่เด่นมาก  มาเป็นชุด  คือ  คำถามของพวกลัทธิถือทฤษฎีสุดโต่ง   ที่เรียกว่าอันตาหิกทิฏฐิ ๑๐  ว่าโลกเที่ยง  โลกไม่เที่ยง  โลกมีที่สุด   โลกไม่มีที่สุด  ชีวะอันนั้น  สรีระก็อันนั้น  ชีวะอย่างหนึ่ง  สรีระก็อย่างหนึ่ง   ตถาคต   (สัตว์ หรืออัตตา,  อาตมัน)  เบื้องหน้าแต่ตาย  เป็นอยู่,  ตถาคต  เบื้องหน้าแต่ตาย  ไม่เป็นอยู่,   ตถาคต  เบื้องหน้าแต่ตาย  เป็นอยู่  ก็ใช่  ไม่เป็นอยู่  ก็ใช่,  ตถาคต  เบื้องหน้าแต่ตาย เป็นอยู่  ก็ไม่ใช่   ไม่เป็นอยู่  ก็ไม่ใช่
 
   ทิฏฐินิสสัยที่กล่าวถึงมากในพระไตรปิฎกอีกเรื่องหนึ่ง  คือ  คำถามหรือข้อถกเถียงเกี่ยวกับ  “อัตตา และโลก”   (อตฺตา จ โลโก  จ)  ซึ่งปรากฏในพระสูตรหลายแห่ง  มีแง่ที่ถามต่างๆ หลากหลาย  แต่ก็เป็นเรื่องของความสุดข้างทั้งนั้น    เช่นว่า  อัตตาและโลก  เที่ยง  ...    อัตตาและโลก  ไม่เที่ยง  ...    อัตตาและโลก  ทั้งเที่ยง  และไม่เที่ยง ...    อัตตาและโลก  เที่ยงก็ไม่ใช่  ไม่เที่ยงก็ไม่ใช่  ...  อัตตาและโลก มีที่สุด ... อัตตาและโลก  ไม่มีที่สุด ... อัตตาและโลก  ทั้งมีที่สุด และไม่มีที่สุด ... อัตตาและโลก  มีที่สุดก็ไม่ใช่  ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ... อัตตาและโลก มีสัญญาแบบเดียว ...  อัตตาและโลก มีสัญญาต่างแบบ ...อัตตาและโลก มีสัญญาแคบจำกัด ... อัตตาและโลก มีสัญญาหาประมาณมิได้  ... อัตตาและโลก มีสุขโดยส่วนเดียว ... อัตตาและโลก  มีทุกข์โดยส่วนเดียว ... อัตตาและโลก  มีทั้งสุขและทุกข์ ... อัตตาและโลก  มีทุกข์ก็ไม่ใช่  มีสุขก็ไม่ใช่
 
             
  วัจฉโคตตปริพาชกทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับปัญหาจำพวกนี้มากมาย   มิใช่เฉพาะเรื่อง “อัตตา มีหรือ”  (อตฺถตฺตา)   “อัตตา  ไม่มีหรือ”  (นตฺถตฺตา)   ที่พูดถึงข้างต้นเท่านั้น   และคำถามอื่นๆ จำพวกสุดโต่ง  เป็นทิฏฐินิสสัยอย่างนี้  ก็ไม่ทรงตอบทั้งนั้น   มีแต่ว่า  ถ้าเขาเปลี่ยนคำถามเป็นว่า  ทิฏฐิเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร  อย่างนี้  พระองค์จึงทรงอธิบาย  หรือมิฉะนั้น   พระองค์ทรงอธิบายธรรมให้เขาเข้าใจที่จะมองและวางท่าทีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อทิฏฐิเหล่านี้   ด้วยตัวเขาเอง   โดยไม่ต้องทรงตอบคำถามเหล่านั้น
 
   เมื่อได้อ่านพระสูตรเกี่ยวกับทิฏฐินิสสัยสุดข้างเป็นอันมากเหล่านี้แล้ว   ก็จะไม่แปลกใจ  ในเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบกัจจานะ (หมายถึงพระกัจจานโคตต์)   ว่าชาวโลกยึดอิงอยู่กับภาวะ (สุดข้าง) ๒  อย่าง  คือ  อัตถิตา  (ความมี)    และนัตถิตา  (ความไม่มี)  แต่ผู้ที่รู้เข้าใจตามเป็นจริงแล้ว  ก็ไม่เข้าไปเกาะติดยึดถือตัณหาอุปาทานตั้งเป็นอนุสัยแห่งทิฏฐิว่า “อัตตาของเรา”
 
  อย่าว่าแต่จะถามว่า  “อัตตามีหรือ”   “อัตตาไม่มีหรือ”  เลย   แม้แต่ถามในเรื่องที่คนทั่วไปนึกแน่ใจว่าตนรู้คำตอบชัดเจน   ดังเช่นรู้หลักคำสอนที่ว่า  ขันธ์  ๕  ทั้งรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ไม่เป็นอัตตา  แต่ถ้าเป็นคนลัทธิภายนอกที่ติดในทิฏฐินิสสัยอย่างที่ว่านั้น   มาทูลถามคำถามแบบสุดโต่ง  ๒   ข้าง   อย่างข้างต้น  พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบ
 
 ขอให้ดูตัวอย่างเรื่องต่อไปนี้  (ที.สี.๙/๒๙๒/๒๓๒)
 
   โปฏฐปาทปริพาชกกราบทูลถามว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์อาจทรงความข้อนี้ได้ไหมว่า  สัญญาเป็นอัตตา  ของบุรุษ หรือว่า สัญญาก็อย่างหนึ่ง  อัตตาก็อย่างหนึ่ง”
 
  พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูกรโปฏฐปาทะ  ท่านถือทิฏฐิเป็นอย่างอื่น  มีข้อที่เข้ากับความเข้าใจเป็นอย่างหนึ่ง  มีข้อถูกใจใฝ่นิยมเป็นอย่างหนึ่ง   มีการประกอบสะสมมาในการปฏิบัติอย่างหนึ่ง   มีหลักของอาจารย์ในลัทธิอย่างอื่น  ยากที่จะรู้ความข้อนี้ได้ว่า  สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาก็อย่างหนึ่ง  อัตตาก็อย่างหนึ่ง” 
 
 
  อธิบายอย่างง่ายๆ ว่า  ปริพาชกนั้นมีแนวความคิดความเห็นความเข้าใจที่เป็นพื้นมาตามแบบของเขา   ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ใช่”  หรือ  “ไม่ใช่”   เขาก็จะเข้าใจคำตอบของพระองค์  หรือแปลความหมาย  ตีความไปตามทิฏฐิที่เป็นพื้นเพของเขานั่นเอง  ซึ่งก็คือไม่ตรงตามความหมายที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่เขา
 
   เพราะฉะนั้น   เมื่อคนถือลัทธิภายนอก  หรือใครก็ตาม  ซึ่งมีพื้นความคิดความเข้าใจสะสมมาตามลัทธิของตน  หรือตามทิฏฐิที่ถือกันมา  ถ้าเขาทูลถามปัญหาแบบใช่  หรือไม่ใช่  อย่างนั้นหรืออย่างนี้  พระองค์ก็จะไม่ตอบ
 
ลัทธิถือสุดโต่ง  กับ   สันทิฏฐิกธรรม
 
   พูดง่ายๆว่า  นักบวชนั้น  หรือคนผู้นั้น  ถามคำถามที่เป็นไปตามทิฏฐิ  เป็นเรื่องของสมมุติบัญญัติ   นอกจากแต่ละฝ่ายเข้าใจไปตามแนวความคิดของลัทธิหรือตามพื้นเพของตนแล้ว  ก็เป็นเรื่องของการคิดไปตามสมมุติบัญญัติ  ตกไปสู่สุดข้าง  เป็นสัสสตทิฏฐิ  กับ  อุจเฉททิฏฐิ   อย่างใดอย่างหนึ่ง    แล้วก็วกวนอยู่ในการถกเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้น  พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงตอบ
 
 
  เมื่อไม่ทรงตอบคำถามแบบใช่  หรือไม่ใช่  อย่างนั้นหรืออย่างนี้   ของเขาแล้ว  ถ้าเป็นโอกาส  พอยั้งหยุดตัดบทจากเรื่องสมมุติบัญญัติแล้ว  ก็จะตรัสอธิบายนำเขาเข้าสู่การพิจารณาสภาวะ
 
  จากเรื่องโลก  อัตตา  สัตว์  บุคคล  เทพ  พรหม  ฯลฯ  ที่ล้วนเป็นสมมุติบัญญัติ  พระพุทธเจ้าทรงนำผู้ถามหรือผู้สนทนา  ตรงไปดูสภาวะที่เป็นของจริง  เหมือนอยู่เบื้องหลังสมมุติบัญญัตินั้น
 
  แทนที่จะถกเถียงกันในเรื่องอัตตา  เรื่องโลก  เป็นต้น  ที่ไม่มีสภาวะของมันเอง  อันไม่เป็นจริง  แล้วก็สรุปไปตามภาพที่ยึดถือเป็นข้างโน้น  เป็นข้างนี้    และจะให้คนอื่นยุติไปตามข้อสรุปของตัว  ซึ่งเป็นไปไม่ได้   ก็ให้มองเสียใหม่
 
172ให้มอง  ให้รู้ว่า  ที่แท้นั้น  เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่มองเห็นเป็นภาพความคิดตามสมมุติบัญญัตินั้น    มีแต่รูปธรรมและนามธรรม  ซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ  แยกได้เป็นขันธ์ๆ คือเป็นกลุ่มๆ   เป็นพวกๆ  เรียกให้หมายรู้กันว่า  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  สภาวะที่เป็นจริงมีแค่นี้
 
  พร้อมกันนั้น  ธรรมคือสภาวะเหล่านี้   ก็เป็นไปโดยสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน  มีอาการปรากฏเป็นต่างๆ   และคืบเคลื่อนดำเนินไป   เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม  ตามกระบวนที่เรียกให้มีชื่อที่สื่อ หรือ หมายรู้กันได้ว่าปฏิจจสมุปบาท
 
 175แล้วจากความไม่รู้เท่าทันถึงความจริงตามสภาวะนั้น  ก็เกิดสภาวะแห่งความติดใคร่ได้อยากไปต่างๆ   และความยึดจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  จากความยึดถือ ก็ตั้งก็ตราก็บัญญัติขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่   แล้วโลกของสมมติบัญญัติก็เกิดขึ้น
 
  เมื่อเป็นอยู่โดยไม่รู้เท่าทัน  เชื่อมสมมติบัญญัติไปถึงกันกับสภาวะไม่ได้  มองสมมติบัญญัติไม่ทะลุตลอดถึงสภาวะ  ก็อยู่กับความหลงผิด  เห็นผิด  ถือผิด  และหลงติด  มีตัณหา   มานะ  และทิฏฐิขึ้นมานำ  มาครอบงำ   มาปั่นจิต   ปั่นความคิด ปั่นกรรม แล้วประดาทุกข์ภัยของชีวิต  และการเบียดเบียนวุ่นวายในสังคมก็ประดังดำเนินไป  เป็นสมุทัยแห่งทุกข์ของชีวิตและสังคม
 
 
173เพียงรู้เข้าใจความจริงตามสภาวะของธรรมทั้งหลาย  ทั้งรูปธรรมนามธรรม อันเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งขันธ์  ๕    ที่เป็นไปในอาการแห่งความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน  เป็นดังกระแสไหลวนต่อเนื่องเรื่อยไป แห่งธรรมทั้งหลายอันเป็นสังขตะ   คือเกิดขึ้นปรากฏเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ล้วนไม่เที่ยง  ไม่คงที่  เกิดขึ้นแล้วก็ดับสลาย   คงทนอยู่มิได้ ไม่มีตัวตนที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้   เป็นนั่น  เป็นนี่  เป็นเรา  เป็นเขา  เป็นของของใครได้จริงจังยั่งยืน  เรียกให้รู้กันง่ายว่า เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา
 
  เมื่อรู้เข้าใจเห็นความจริงของประดาสิ่งทั้งหลายที่ได้ชื่อได้นามตามสมมติบัญญัติเป็นต่างๆ นานาหลากหลาย  ว่าแท้จริงก็คือรูปธรรมนามธรรมแห่งขันธ์ทั้ง  ๕ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยในกระบวนของมัน    พอรู้ทันความจริงอย่างนี้  คือเห็นแต่รูปนามแห่งขันธ์  ๕  ที่ไหลไปเป็นกระแสปฏิจจสมุปบาทแห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา ก็เกิดปัญญาสว่างใจ  มองเห็นโล่งผ่านตลอดทะลุสมมุติบัญญัติ  ถึงสภาวะ
 
  พอตระหนักรู้ความจริงตามสภาวะ  จิตใจเหมือนหลุดออกมาได้จากการผูกรัดของตัณหา  มานะ และทิฏฐิ   พ้นจากความหลงผิดในขันธ์  ๕   จากความยึดติดถือมั่นที่ผูกเป็นสมมติบัญญัติขึ้นมา  เรียกว่าถึงวิมุตติ   ประจักษ์แจ้งนิพพาน  อันเป็นอสังขตธรรม  แล้วก็เป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ตระหนักรู้ตามสภาวะ
 
  ยังมียังอยู่กับขันธ์  ๕  ก็อยู่กับมันโดยไม่มีความหลงผิดในขันธ์  ๕  นั้น สมมติบัญญัติที่ตั้งที่ตราไว้   ก็รู้จัก  ก็พูดจา   ก็ใช้ไปตามโวหารของชาวโลกที่ตกลงกัน อย่างเป็นอิสระ   ไม่ตกเป็นทาสของมัน  เรียกว่ารู้เท่าทันสมมติบัญญัตินั้น
 
175 ด้วยความรู้ขันธ์  ๕  ตามเป็นจริงนี่แหละ  ก็หลุดพ้น  เป็นวิมุตติขึ้นมา ไม่ต้องหลุดพ้นจากขันธ์  ๕  (บางทีเรียกขันธ์  ๕ ดับ หมดฤทธิ์ หมดพิษ แล้วพอถึงเวลา  ขันธ์  ๕  ก็หมดการปรุงตัวไปเอง)  แต่หลุดพ้นจากความเข้าใจผิดหลงผิดในสังขตธรรมทั้งหลาย  ที่ทำให้ยึดติดอยู่ในสมมติบัญญัติ  เกิดความรู้ทัน  และด้วยความหลุดพ้นนั้น  ก็ถึงนิพพาน  ที่เป็นอสังขตธรรม
 
  (พึงสังเกตด้วยว่า  วิมุตติมักใช้ในความหมายที่กว้าง ในหลายกรณี  หมายถึงมรรค  หรือผลเท่านั้น  มิใช่หมายถึงนิพพาน)
 
172เมื่อหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือผิดตามที่สมมติบัญญัติเป็นสัตว์  เป็นบุคคล  เป็นอัตตา  เป็นตัวตน  เป็นเรา  เป็นเขา  จบมาแล้วพระอรหันต์จะยึดอะไรตามสมมติบัญญัติขึ้นมาอีกได้อย่างไร  ก็จึงไม่มีการยึดติดถือตัวตน  ถืออัตตา  เป็นธรรมดา  พูดเป็นสำนวนว่า ยังยึดถืออัตตา  ก็ไม่รู้จักนิพพาน  พอถึงนิพพาน  ก็ละอัตตาเสียแล้ว 
 
  ขันธ์  ๕ หรือสังขตธรรม   ก็ไม่เป็นอัตตาอยู่แล้ว  มีแต่การยึดติดถือมั่นอัตตาที่เป็นสมมติบัญญัติ   คืออัตตาที่เป็นสมมติบัญญัติ เหมือนกับสัตว์  บุคคล  เรา  เขา  รถ  โลก  ที่เรียกเป็นชื่อกันขึ้นมาซ้อนอยู่บนสภาวธรรม  ไม่มีอยู่จริง   อสังขตธรรมคือนิพพาน  จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่เป็นอัตตา   หรือเป็นอะไรๆ ที่สมมติบัญญัติเรียกกันนั้น
 
172 แม้แต่คำที่เรียกว่า “นิพพาน”  ว่า  “อสังขตธรรม”  เอง  ก็เป็นบัญญัติ  เช่นเดียวกัน  หากแต่เป็นบัญญัติเพื่อสื่อถึงสภาวะที่มีอยู่เป็นจริง  ซึ่งก็ต้องรู้ทัน  ไม่พึงยึดติดเช่นกัน
 
   ท่านจึงว่า  พระอรหันต์  รวมทั้งอริยชนแม้ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นผู้ไม่อาจเป็นไปได้ที่จะยึดมั่นถืออัตตา  ดังพุทธดำรัสว่า
 
   อิธานนฺท   ภิกฺขุ   “อฏฺฐานเมตํ   อนวกาโส  ยํ   ทิฏฺฐิสมฺปนฺโน  ปุคฺคโล  กิญฺจิ  สงฺขารํ  นิจฺจโต  อุปคจฺเฉยฺย  เนตํ  ฐานํ  วิชฺชตีติ   ปชานาติ ฯ  ... “อฏฺฐานเมตํ   อนวกาโส  ยํ   ทิฏฺฐิสมฺปนฺโน  ปุคฺคโล  กิญฺจิ  สงฺขารํ  สุขโต  อุปคจฺเฉยฺย  เนตํ  ฐานํ  วิชฺชตีติ   ปชานาติ ฯ    “อฏฺฐานเมตํ   อนวกาโส  ยํ   ทิฏฺฐิสมฺปนฺโน  ปุคฺคโล  กิญฺจิ  ธมฺมํ  อตฺตโต อุปคจฺเฉยฺย  เนตํ  ฐานํ  วิชฺชตีติ   ปชานาติ ฯ
 
   ดูก่อนอานนท์   ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ย่อมรู้ชัดว่า   “มิใช่ฐานะ  มิใช่โอกาส  ที่บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์  (คือ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป)   จะพึงยึดถือสังขารใดๆ ว่าเที่ยง ... จะพึงยึดถือสังขารใดๆ  ว่าเป็นสุข  ... จะพึงยึดถือสังขารใดๆ  ว่าเป็นอัตตา  นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้”
 
 
  ในขั้นสุดท้าย  มีพุทธพจน์ตรัสถึงพระอรหันต์ว่า  “อตฺตํ ปหาย”   (ขุ.สุ.๒๕/๔๒๑/๔๙๑)  ว่าละอัตตาแล้ว   คือเลิกยึดติดถือมั่นอัตตา และเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น “อตฺตญฺชโห”   (ขุ.สุ.๒๕/๔๑๑/๔๘๙)   ว่าผู้ละอัตตาได้  คือหมดหรือพ้นไปแล้วจากความยึดติดถือมั่นอัตตา
 
 
  นิพพาน และวิมุตติ  เป็นต้น   เป็นคำที่สื่อสภาวะสำคัญที่เราเรียกว่าเป็นจุดหมายที่จะไปให้ถึง  และต้องถึงด้วยปัญญาที่ทำให้จิตหลุดพ้นประจักษ์แจ้ง
 
   แม้ว่าคนทั่วไปที่เป็นปุถุชนจะยังไม่รู้เข้าใจสภาวะนั้น  ก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายอยู่เสมอ  อย่างน้อยก็ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นไปจากปัญหาทั้งหลาย  และจากโทษทุกข์ภัยนานา  โดยทรงใช้คำเทียบเคียงต่างๆ  มาสื่อบ้าง   ทรงสื่อด้วยอุปมาบ้าง  ตลอดจนตรัสวิธีปฏิบัติที่จะให้ลุถึงหรือประจักษ์แจ้ง
 
  วิมุตติ  นิพพาน   เป็นสันทิฏฐิกธรรม  ซึ่งรู้เห็นได้ทันทีประจักษ์กับตัว  ตรงข้ามกับเรื่องสมมติบัญญัติที่อยู่กันแค่ความคิด และการถกเถียงไปตามความยึดถือ   ที่จับตัวฝังเป็นทิฏฐินิสสัยในเรื่องต่างๆมากมาย  เห็นว่าเป็นอย่างนั้น  อย่างนี้   ถกเถียงกันไป  แล้วก็วกเวียนกันอยู่ในวังวนของความคิดที่ยึดติด กับ สมมติบัญญัตินั้น  ไม่รู้จบ
 
  ดังนั้น   ถ้าใครมาทูลถามเรื่องสมมติบัญญัติลัทธิทิฏฐินิสสัย   ก็จะไม่ทรงตอบ  ทรงนิ่งเสีย   แต่ในเรื่องวิมุตติ  หรือนิพพาน  อันเป็นสันทิฏฐิกธรรมนั้น   ทรงอธิบายอย่างจริงจัง
 
 
  ในด้านทิฏฐินิสสัยเรื่องสมมติบัญญัติ  เมื่อไม่ทรงตอบแล้ว  ถ้าเป็นโอกาส  ก็ทรงสนทนาหรืออธิบายแก่เขา   โดยผันกลับให้มามองดูความเป็นจริงตามสภาวะ  ที่เป็นเรื่องอยู่กับตัว  อยู่กับชีวิต  อยู่กับสภาพแวดล้อม   ที่รู้เข้าใจแล้ว  จะเป็นประโยชน์จริง  ตั้งแต่สภาวะของเบญจขันธ์  ทางปฏิบัติที่จะรู้เข้าใจความจริงของมัน   จนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในอาการของสมมติบัญญัติต่อเบญจขันธ์นั้น  จนถึงวิมุตติ  ถึงนิพพาน  อย่างนี้จึงจะตรัสอยู่สม่ำเสมอเป็นประจำ
 
  มิฉะนั้น  ถ้าเขายังไม่พร้อม  หรือพร้อมกันนั้นเอง  ในด้านที่เขายังอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ  มีครอบครัว   มีลูกหลาน  ทำการงานเลี้ยงชีวิตอยู่ในสังคม  ก็ทรงสอนทรงอธิบายมากมาย   ถึงวิธีปฏิบัติ  และวิถีแห่งการดำเนินชีวิตอันถูกต้องชอบธรรม  ที่จะไม่ถูกความยึดติดถือมั่นในสมมติบัญญัตินั้นครอบงำมากเกินไป  หรือรู้จักพิจารณาที่จะผ่อนเบาความยึดติดถือมั่นนั้นลงได้บ้าง  เพื่อที่จะให้มีชีวิตที่ดีงาม  มีความสุข  อยู่ร่วมด้วยดีในสังคม  ไม่เบียดเบียนกัน  แต่เป็นกำลังในทางสร้างสรรค์   ให้สังคมมีสันติสุข  ในโลกที่แวดล้อมอันเกื้อกูล   โดยเฉพาะธรรมชาติที่สดชื่นรื่นรมย์
 
  นี่ก็คือวิถีชีวิตแห่งอริยมรรคา  ของผู้ที่รู้จักพัฒนาตัวเอง  ด้วยมีการศึกษาตามหลักแห่งศีลอันให้มีความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูลกันกับผู้คน และสิ่งแวดล้อม   สมาธิที่จะพัฒนาจิตใจให้ดีงามมีคุณภาพพร้อมที่จะทำงานใช้การอย่างมีความสุข  และปัญญาที่จะชี้นำส่องทางให้ก้าวไปในอริยมรรคานั้น  จนกระทั่งรู้ถึงสภาวะของประดาธรรม  และรู้ทันสมมติบัญญัติ   หลุดพ้นเป็นอิสระ มีชีวิตแห่งปัญญา   และมีความสุขไร้ทุกข์อย่างแท้จริง
 
 
แตกต่างได้ในเรื่องสมมติบัญญัติ   ไม่ขัดในสภาวธรรม
 
  ในเรื่องปลีกย่อยต่างๆ  ซึ่งก็มีอีกไม่มาก  คงจะข้ามไป  แต่เห็นควรตั้งข้อสังเกตไว้เล็กน้อยเกี่ยวกับข้อความที่ว่าพระอรหันต์ก็ยังขัดแย้งกัน
 
  ในเรื่องนี้  บางทีจะเป็นความแตกต่าง  แต่ไม่ใช่ความขัดแย้งละกระมัง
 
  ความแตกต่างนั้น  ก็เป็นเรื่องธรรมดา  คือ  พระอรหันต์ก็มีองค์อ้วน   ท้วม  ผอม  สูง  เตี้ย  ดำ  คล้ำ   ขาว  ฯลฯ  แตกต่างกัน   มีบุคลิกถูกตาถูกใจชาวบ้านบ้าง   ไม่ถูกตาถูกใจบ้าง ต่างๆ  กันไป  แต่ทุกท่านมีจิตหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกัน
 
  พระอรหันต์เองก็มีความถนัดอัธยาศัยแตกต่างกัน  บางท่านมีป่าเป็นที่สัปปายะ  ปลีกตัวไปอยู่ป่าเป็นประจำ  บางท่านใส่ใจที่จะแนะนำสั่งสอนอยู่ใกล้หมู่ชน  เป็นต้น  มีการปฏิบัติต่อสภาพสมมุติแตกต่างกัน  แต่ทุกท่านมีความรู้เข้าใจต่อสภาวธรรมตรงกัน
 


Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2565 7:46:44 น. 0 comments
Counter : 560 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space