มกราคม 2551

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
18 มกราคม 2551
Higashino Keigo---Detective Galileo
หลังจากที่อ่านนิยายสืบสวนด้วยภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นเพราะสถานการณ์บังคับมาหลายปี (เข้าปีที่ ๕ แล้ว สำหรับภาษาอังกฤษ และเข้าปีที่ ๓ เกือบ ๔ สำหรับภาษาญี่ปุ่น) ก็เลยคิดว่า ควรจะรีวิวนักเขียนที่อ่าน (มีไม่แยะหรอกค่ะ) ทั้งไทย-ฝรั่ง-ญี่ปุ่น ไว้ กันลืม เลยเปิดเป็นหัวข้อนี้ขึ้นมาค่ะ

นักเขียนบางคนอาจไม่คุ้นหูคนไทย โดยเฉพาะนักเขียนญี่ปุ่น เอาเป็นว่า แนะนำกันไป ถ้าทำให้น้องๆคนไทยที่เรียนภาษาอยู่เข้ามาอ่านแล้วสนใจไปหาต้นฉบับมาอ่านได้ จขบ.ก็จะดีใจมากค่ะ

-----------------------

ถึงอย่างนั้น คงเริ่มประเดิม หัวข้อใหม่ด้วยนักเขียนญี่ปุ่นคนนี้ก่อน คงต้องเริ่มที่คนที่เป็นที่รู้จักของคนไทย และคนไทยที่อยู่ญี่ปุ่นคนนี้หาหนังสือเขาได้

ฮิงาชิโนะ เคโงะและชุดนักสืบกาลิเลโอค่ะ

อันที่จริง จะเรียกฮิงาชิโนะ เคโงะ ว่า นักเขียนแนวสืบสวนก็คงถูกต้องกว่า เรียกเขาว่า เป็นนักเขียนแนวอื่น เพียงแต่งานของเขานั้น ลึกเข้าไปในใจของคนร้ายมากในบางเรื่อง บางเรื่องก็ต้องพูดว่า ไม่ใช่งานแนวสืบสวนเลยก็ว่าได้ อย่างกรณีของ "Tegami" หรือจดหมาย ที่เป็นเรื่องของพี่น้องที่ คนพี่เข้าคุกข้อหาฆ่าคนตาย (งานนี้เป็นหนังด้วย น่าจะหาดูได้ที่เมืองไทย แสดงโดย Sawajiri Erika, Yamada Takayuki, Tamayama Tetsuji)

สำหรับชุดที่มีนักสืบกาลิเลโอเป็นตัวนำ คงต้องจัดรวมเรื่องสั้น 2 เล่มเป็นหนังสือแนวสืบสวนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เรื่องยาวที่ได้รางวัลนาโอคิ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย สนพ.บลิส ยังเป็นที่ถกเถียงที่นี่ว่า ควรเรียกว่า เป็นงานสืบสวนหรือไม่ เพราะเข้าไปลึกในใจฝ่ายฆาตกร (หรือพูดง่ายๆว่า แจกบทให้กับฝ่ายตรงข้ามนักสืบแยะเหลือเกิน จนน้ำหนักของการสืบสวนมันจางลงในสายตานักอ่านบางคน)

คงจะไม่รีวิวหนังสือเล่มนั้น เพราะยังไม่ได้อ่านค่ะ เล่มมันหนา ระยะหลังๆ มักแพ้งานอะไรหนาๆ ยกเว้นสำหรับนักเขียนที่อ่านง่ายสักหน่อยหรือเปิดอ่านไปสิบหน้าแล้วจับ จขบ.ให้ติดจนกระทั่งอยากอ่านต่อ

สำหรับเรื่องสั้นที่เป็นจุดกำเนิดของนักสืบกาลิเลโอ หรือ ยุคาว่า มานาบุ รศ.ทางฟิสิกส์ กับคุซานางิ เพื่อนร่วมรุ่นที่กลายเป็นตำรวจเป็นงานเรื่องสั้นๆ ที่ทริกเกี่ยวข้องกับการอธิบายปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์

ดังนั้นไม่แปลกเลยที่นักเขียนจะเรียกนักสืบคนนี้ว่า "กาลิเลโอ" ตามกาลิเลโอผู้พิสูจน์ว่า ความเชื่อดังเดิมตามศาสนาไม่ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์

ไม่ใช่เพราะว่า นักสืบผู้นี้เก่งเว่อร์หรือว่า เท่อะไรตรงไหน

นักเขียนเคยให้สัมภาษณ์ว่า งานแนวนี้ยังไม่มีใครเขียน แล้วแกเองมีความสันทัดเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น (เป็นเด็กสายวิทย์มาก่อนค่ะ แกจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าค่ะ)

เพราะรวมเรื่องสั้นชุดนี้ (มี ๒ เล่ม) ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ดังนั้นคงต้องรอให้ละครที่ทางสถานีฟูจิทีวีไปฉายที่เมืองไทย หรือใครที่สามารถหาทางดูได้ด้วยวิธีอื่นก็ลองไปหามาดูกันได้

อย่างไรก็ดี นักสืบกาลิเลโอในละครไม่เหมือนในหนังสือด้วยประการทั้งปวง เช่น

  • ยุคาว่า มานาบุ กลายเป็นหนุ่มหล่อเท่ สาวกรี๊ด ทั้งที่บทประพันธ์ดั้งเดิมเป็นคนแปลกๆ จะเรียกว่า เพี้ยนในสายตาชาวบ้านก็คงว่าได้ ไม่ได้มีรูปลักษณ์แบบว่า เท่ตรงไหน ทั้งไม่หล่อ แถมยังเกลียดเด็ก รำคาญผู้หญิง (คิดว่าแกไม่ได้เป็นเกย์นะคะ แค่รำคาญเวลาผู้หญิงมักทำตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล ทำนองนี้)

    • ตำรวจคู่หูผู้นำเรื่องมาปรึกษากาลิเลโอกลายเป็นหญิง อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ค่ะ เพราะบทประพันธ์ดั้งเดิม ไม่มีตัวละครหลักฝ่ายหญิงเลย ตามประสานิยายผู้ชายเขียน ซึ่งตรงนี้นักเขียนเองก็เพิ่มตัวละครชื่อเดียวกับในละครในเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นใหม่ในภายหลังด้วย ถือว่า ผู้เขียนเขายอมรับ

    เซ็ตติ้งบางอย่าง เหตุการณ์บางอย่างเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ตรงที่เปลี่ยนบางส่วน สู้บทประพันธ์ดั้งเดิมไม่ได้ในสายตาแฟนหนังสือค่ะ แต่ไม่บอกตรงนี้ เผื่อเกิดมีการแปลเป็นภาษาไทย จะกลายเป็นว่า บล็อกนี้สปอยล์เนื้อเรื่อง

    สำหรับเนื้อเรื่องหรือว่า ทริก จะไม่เขียนหรือว่า พูดถึงนะคะ เพราะว่า รู้สึกว่า จะเป็นการทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรับฟังหรือว่า อ่านไปได

    ข้างล่างเป็นโฆษณาที่คอร์ลาบอเรชั่นกับละครค่ะ เอาเป็นว่า ยุคาว่า มานาบุกลายเป็นฟุคุยามะ มาซาฮารุไปได้ เท่ซ้า...





    ้สำหรับระดับความยากในการอ่านสำหรับคนที่คิดจะอ่านในภาษาญี่ปุ่น ถือว่า ไม่ยากค่ะ คนที่พอทำข้อสอบระดับ ๒ ได้ อาจต้องเปิดดิกบางตัว แต่โดยรวมในกรณีของศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ หรือศัพท์ในชีวิตประจำวันบ้างค่ะ

    ด้านสำนวนภาษา เป็นนักเขียนอีกคนที่เขียนหนังสืออ่านได้ไม่ปวดหัวดีค่ะ นักเขียนบางคน เปิดมาหน้าแรก ต้องกดดิกไฟฟ้าเป็นมือระวิง อย่าว่าแต่คนไทย คนญี่ปุ่นยังบอกว่า ยาก ค่ะ

    ในแง่ความซับซ้อนของทริก หรือการเดาคนร้าย ขอบอกว่า ไม่ต้องเดาคนร้าย เพราะจะบอกโต้งๆมาตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือไม่ก็อ่านๆไปหรือดูๆละครไปก็รู้อยู่ดี ประเด็นอยู่ที่ว่า กาลิเลโอจะอธิบายปรากฏการณ์ในท้องเรื่องอย่างไรมากกว่าครับผม

    ไม่รู้เหมือนกันว่า บลิส ซึ่งแปลนิยายยาวแล้ว สนใจจะแปลรวมเรื่องสั้นในชุดนี้ออกมาด้วยหรือป่าว หรือว่าสนแค่จะแปลเล่มที่ได้รางวัลเท่านั้น

    ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่า นักอ่านแนวสืบสวนที่บ้านเรา ชอบแบบไหน ส่วนตัวแล้ว เริ่มอ่านนิยายแนวนี้ที่เมืองไทยก็จริง (อ่านโฮมส์มากกว่าปัวโรต์) แต่ว่ามาอ่านมากๆที่ญี่ปุ่น เพราะมันมีให้เลือกอ่านมากจนตาลาย

    ยังไงก็บอกๆมาในคอมเม้นท์ด้วยก็ดีค่ะว่า อยากให้รีวิวนักเขียนคนไหนที่มีแปลที่เมืองไทย (นักเขียนสมัยใหม่คงมีอาคากาว่า จิโร่ และ มิยาเบะ มิยูกิ นักเขียนเก่าคงสัก ผู้เขียนซีรี่ส์คินดะอิจิ มั้งคะ) บางคนอาจรีวิวให้ไม่ได้ เพราะไม่เคยอ่าน แต่จะพยายามหาคนที่รีวิวได้มาเขียนนะคะ

    ครั้งหน้า ... จะมาคุยถึงนักเขียนไทยบ้าง เคยรีวิวหนังสือของนักเขียนคนนี้ไว้ในบล็อกแล้ว แต่เอาละ เพื่อสนับสนุนนักเขียนไม่ให้ท้อ และเลิกเขียนไปเสียก่อน เราจะมาคุยกันถึง "อลินา" เจ้าของผลงานชุด "สาวน้อยเกวลิน" กันอีกรอบ ด้วยฟามคิดถึงเจ๊ขบูร (เอ๊ะ ยังไง) กันดีกว่า...

    -------------------------



Create Date : 18 มกราคม 2551
Last Update : 19 มกราคม 2551 11:52:13 น.
Counter : 1057 Pageviews.

2 comments
  
อยากให้บลิสหรือเนชั่นแปลเรื่องนี้จังค่ะ ชอบงานเกือบทุกชิ้นของนักเขียนคนนี้เลย (แต่ไม่ค่อยชอบเรื่องที่ได้รางวัลนาโอกิค่ะ ชอบเรื่องอื่นมากกว่า)
ส่วนเรื่อง tegami แบบคนแสดงนี่ยังไม่เคยเห็นเลย อยากดูเหมือนกัน คงหดหู่น่าดู

รีวิวนักเขียนคนไหนก็ได้ค่ะ ถ้าเป็นนิยายลึกลับสืบสวน ขอบคุณที่ทำบลอกดีๆให้อ่านกันค่ะ
โดย: PinGz (Kai-Au ) วันที่: 20 มกราคม 2551 เวลา:8:02:07 น.
  
คุณ PinGz --- วันนี้เพิ่งไปที่ร้านหนังสือ เห็นหนังสือเล่มใหม่ของฮิงาชิโนะ เคโงะ ปกสวยจนทำเอาหัวใจแทบวายด้วยความอยากได้ แต่ว่า คงรอให้พิมพ์เล่มเล็กก่อน เพื่อทำให้กระเป๋าตังค์ไม่ต้องรับภาระมากรวมทั้งเบามือเวลาอ่านด้วยค่ะ

เรื่อง tegami เคยดูทางทีวีตอนที่เขาเอามาฉายไปได้สักสิบกว่านาที หดหู่กับชะตากรรมของตัวละครจริงๆค่ะ เลยเปลี่ยนไปดูตลกเสียเลย (เกี่ยวกันมั้ยนี่)

มีอีกเรื่องที่เป็นฆาตกรรมหดหู่เหลือแสน เพิ่งเป็นละครไปเมื่อสองปีก่อนคือ 白夜行 (แปลง่ายๆว่า เดินอยู่ในคืนแรม)

เป็นความรักบริสุทธิ์ของเด็กชาย-หญิงคู่หนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเลวร้ายของสังคมตั้งแต่วัยเด็ก ต้องพบกับความพลัดพราก และการกลับมาพบกัน ที่นำไปสู่อาชญากรรม

ฉากหลังในเรื่องของฮิงาชิโนะ เคโงะมักเป็นทางคันไซ (แถบโอซาก้า) เพราะเจ้าตัวเป็นคนทางนั้น (ตอนนี้อาศัยอยู่ในโตเกียว) ดังนั้นจะมีอะไรแปลกๆไปจากญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยในงานเขียนของนักเขียนคนอื่น

(คิดว่า เทงามิก็ทางโอซาก้านะคะ)

สำหรับ จขบ.ตอนนี้กำลังอ่านงานของนักเขียนใหม่คนหนึ่งอย่างขมักเขม้น จบชุดของนักเขียนคนที่ว่าเมื่อไหร่จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
โดย: pinlada วันที่: 21 มกราคม 2551 เวลา:11:20:42 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

pinlada
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



知恵者一人馬鹿万人---คนมีความรู้คนเดียวเท่ากับคนโง่หมื่นคน ---สงสัยว่าต้องมีขงเบ้งเป็นเพื่อนสถานเดียวถึงได้เท่าสุภาษิตนี้