Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
27 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 

ทฤษฎีการวัดทัศนคติ (Theory of Attitude Measurement)


โดย สุบิน ยุระรัช


ทัศนคติ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และได้รับความสนใจจากนักวิชาการในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ นักการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตวิทยาสังคม เพราะการรู้ถึงทัศนคติของคนหรือกลุ่มคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าเป็นไปในทิศทางใด ย่อมจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนและดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

การศึกษาทัศนคติมีมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของจิตวิทยาสังคม และเป็นมโนทัศน์หนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักจิตวิทยาสังคมเป็นจำนวนมากในทุกยุคทุกสมัย เพราะทัศนคติมีความสำคัญต่อชีวิตของคนในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การเมืองการปกครอง การแต่งงาน ศาสนา นิสัยการรับประทานอาหาร การศึกษา แฟชั่น การอบรมเลี้ยงดู การแข่งขัน การสื่อสาร เป็นต้น ด้วยเหตุที่ทัศนคติมีความสำคัญดังกล่าวนี้ นักจิตวิทยาจึงพยายามคิดค้นและพัฒนาวิธีการต่าง ๆ เพื่อวัดทัศนคติของคน (Oppenheim, 1966:106)

การวัดทัศนคติ ส่วนใหญ่นักจิตวิทยาจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ความสนใจในรูปแบบของการวัดชนิดต่าง ๆ ซึ่งถูกสร้างขึ้นทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎีการวัดทางจิตวิทยา(Psychometric Theory) ได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการวัดทัศนคติ (Scott, 1975:265)

ก่อนที่จะได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิควิธีวัดทัศนคติรูปแบบต่าง ๆ ในการศึกษาทัศนคติ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความหมายของทัศนคติ ความแตกต่างระหว่างทัศนคติกับความเชื่อ ค่านิยมและความคิดเห็น ลักษณะสำคัญของทัศนคติ ธรรมชาติของการวัด ประโยชน์ของการวัดทัศนคติ ตลอดจนการแบ่งประเภทของการวัด ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป




ความหมายของทัศนคติ (The Definition of Attitude)

มโนทัศน์เกี่ยวกับทัศนคตินี้ ได้รับความสนใจมานานจากนักจิตวิทยาสังคม เฮนเนอสัน, มอร์ริส และฟิทซกิ๊บบอน (Henerson, Morris and Fitz-Gibbon, 1978) ได้กล่าวไว้ว่า มโนทัศน์เกี่ยวกับทัศนคติมีลักษณะเช่นเดียวกับมโนทัศน์เชิงนามธรรมทั่วไปที่เกิดจากการสร้างขึ้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่มนุษย์คิด พูด หรือกระทำ หรืออาจเป็นการทำนายพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ความหมายที่แน่ชัดของคำว่า “ทัศนคติ” ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในกลุ่มนักจิตวิทยา หรือกลุ่มผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องทัศนคติ ดังนั้น แต่ละกลุ่มที่ทำการศึกษาค้นคว้าต่างก็ให้คำจำกัดความตามความเข้าใจของตนเอง ซึ่งได้ประมวลมากล่าวไว้เป็นตัวอย่าง ดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2525:393) ได้ให้ความหมายของทัศนคติไว้ว่า ทัศนคติ หมายถึง แนวความคิดเห็น

ประภาเพ็ญ สุวรรณ (2520:3) ได้กล่าวว่า ทัศนคติเป็นความคิดเห็นซึ่งมีอารมณ์เป็นส่วนประกออบ เป็นส่วนที่พร้อมจะมีปฏิกิริยาเฉพาะอย่างต่อสถานการณ์ภายนอก

นวลศิริ เปาโรหิตย์ (2527:131) กล่าวว่า ทัศนคติเป็นผลรวมของความเข้าใจ ความรู้สึก และแนวโน้มในการตอบโต้ของเราต่อบุคคล วัตถุ หรือเรื่องราวทั้งปวง

ลัดดา กิติวิภาต (2532:2) ได้กล่าวไว้ว่า ทัศนคติเป็นความคิดที่มีอารมณ์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทำให้เกิดความพร้อมที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบในทางบวกหรือในทางลบต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

อ๊อพเพนไฮม์ (Oppenheim, 1966) ได้ให้คำจำกัดความของทัศนคติไว้ว่า ทัศนคติ คือ สภาวะของความพร้อม ความพอใจที่จะแสดงปฏิกิริยาในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งเร้า

แอลพอร์ท (Allport, 1967) ได้ให้ความหมายของทัศนคติไว้ว่า ทัศนคติ คือ สภาวะความพร้อมทางจิต ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ และมีอิทธิพลโดยตรงต่อการตอบสนองของบุคคลที่มีต่อวัตถุและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง

ดู๊บ (Doob, 1967) ได้ให้คำจำกัดความว่า ทัศนคติ คือ การตอบสนองที่มีความหมายทางสังคมของบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากแรงขับภายในของแต่ละบุคคลที่มีต่อสิ่งเร้ารูปแบบต่าง ๆ อันเป็นผลทำให้บุคคลนั้นแสดงพฤติกรรมออกมาในภายหลัง

เธอร์สโตน (Thurstone, 1974) ได้กล่าวไว้ว่า ทัศนคติเป็นผลรวมของมนุษย์เกี่ยวกับความรู้สึก อคติ ความกลัว ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ไอเซ่น (Ajzen, 1988) ได้ให้ความหมายของทัศนคติไว้ว่า ทัศนคติ คือ อารมณ์ ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบที่ตอบสนองต่อวัตถุ บุคคล สถาบัน หรือเหตุการณ์

จากความหมายของทัศนคติที่กล่าวมาแล้วนั้น แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการมองทัศนคติของนักการศึกษาและนักจิตวิทยา โดยมีทั้งการให้ความหมายของทัศนคติในด้านจิตใจ ในเชิงสติปัญญา และในเชิงการกระทำ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทัศนคติ

เมื่อทัศนคติเป็นมโนทัศน์ที่มีนิยามต่างกันออกไป การจะเลือกยึดถือนิยามหนึ่งนิยามใด โดยทั่วไปแล้วจึงต้องพิจารณาว่านิยามใดเป็นประโยชน์มากที่สุด และนิยามใดได้รับการยอมรับมากที่สุด (ธีระพร อุวรรณโณ, 2529:413)

ความแตกต่างระหว่างทัศนคติกับความเชื่อ ค่านิยม และความคิดเห็น

คำว่าทัศนคตินี้มีคำอื่น ๆ ที่มักใช้ปะปนกันอยู่เสมอ เช่น คำว่า ความเชื่อ (Belief) ค่านิยม (Value) และความคิดเห็น (Opinion) เป็นต้น ดังนั้น ในการศึกษาหรือการวัดทัศนคติ ถ้าผู้วัดมีความเข้าใจในนิยามและขอบเขตของทัศนคติอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะทำให้การศึกษาหรือการวัดนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และบรรลุผลตามจุดมุ่งหมาย

ทัศนคติกับความเชื่อ
ในการศึกษาทัศนคติ บางครั้งเรามักจะพบว่ามีการใช้คำว่า ทัศนคติกับความเชื่อ ปะปนกันอยู่เสมอ แต่โดยแท้จริงแล้ว ทัศนคติและความเชื่อมีความหมายที่แตกต่างกัน

เพ็ตตี้ และ แคคซีออพโป (Petty and Cacioppo, 1984) ได้ให้คำจำกัดความของความเชื่อไว้ว่า ความเชื่อ หมายถึง ข้อมูลที่บุคคลมีต่อวัตถุ คน หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถประเมินก็ได้

นอกจากนี้ เพ็ตตี้และแคคซีออพโป ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ความเชื่อนี้สัมพันธ์กับทัศนคติในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของทัศนคติเท่านั้น ความเชื่อมิได้ประกอบด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์ และความพร้อม ที่จะแสดงออกเป็นพฤติกรรมเช่นเดียวกับทัศนคติ ยกตัวอย่างเช่น ในการโฆษณาขายรถยี่ห้อหนึ่ง นักโฆษณาก็มักจะพยายามสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้ามีความมั่นใจหรือเชื่อว่า รถยี่ห้อนี้มีสมรรถนะในการประหยัดน้ำมันดีมาก (การเกิดความเชื่อ) เพื่อที่จะทำให้ลูกค้าชอบรถยี่ห้อนี้มากขึ้น (ความเชื่อเปลี่ยนเป็นทัศนคติ) และเพื่อที่ว่าลูกค้าจะซื้อรถยี่ห้อนี้ในเวลาต่อมา (นำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรม)

จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าบุคคลมีความเชื่อเช่นใด ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติเช่นนั้นด้วย และอาจจะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมในเวลาต่อมา เพราะในทางจิตวิทยาถือว่าทัศนคติมีผลโดยตรงต่อการทำนายพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การชักจูงให้คนเปลี่ยนทัศนคติจึงมีหลักการเดียวกับการชักจูงให้คนเปลี่ยนความเชื่อหรือพฤติกรรมนั่นเอง

ทัศนคติกับค่านิยม
กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2527) ได้ให้ความหมายของค่านิยมไว้ว่า ค่านิยม คือ ความรู้สึก ความคิดของบุคคลที่ใช้กฎเกณฑ์ของสังคม จริยธรรม หรือความเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นเกณฑ์ จึงมีการตัดสินว่าสิ่งใดดี หรือสิ่งใดไม่ดีในสังคม โดยมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ดีคือสิ่งที่คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าดี ดังนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ก็จะกลายเป็นสิ่งไม่ดี หรือคนไม่ดีของสังคม

จะเห็นได้ว่า ค่านิยมเป็นคำที่มีความหมายกว้าง และมักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่บุคคลยึดถือ เช่น ความดี ความซื่อสัตย์ หรือมารยาททางสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นค่านิยมทั้งสิ้น

เมื่อเปรียบเทียบค่านิยมกับทัศนคติ นวลศิริ เปาโรหิตย์ (2527) ได้กล่าวถึงค่านิยมไว้ว่า ค่านิยมมักจะใช้สำหรับเป็นเครื่องตัดสิน หรือเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจที่จะทำให้บุคคลพัฒนาทัศนคติหรือความเชื่อขึ้นมา ซึ่งตรงกันกับที่ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับค่านิยมว่า ค่านิยมนี้จะมีการตัดสินว่าการตอบสนองนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในสังคม

ทัศนคติกับความคิดเห็น
บางครั้ง เราอาจพบว่า มีผู้ใช้คำว่าทัศนคติกับความคิดเห็นในความหมายเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการใช้ที่ไม่ถูกต้อง

คำว่า “ความคิดเห็น” เธอร์สโตน (Thurstone, 1974) ได้ให้ความหมายในแง่ของการวัดทัศนคติไว้ว่า เป็นการแสดงทัศนคติออกมาปรากฏให้ผู้อื่นทราบโดยใช้ภาษาเป็นสื่อ ในขณะที่ทัศนคติเป็นผลรวมทั้งหมดของมนุษย์เกี่ยวกับความรู้สึก อคติ และความกลัวที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ จากการศึกษาเกี่ยวกับการวัดทัศนคติของสก็อตต์ (Scott,1975) พบว่า ทัศนคติกับความคิดเห็นมีความแตกต่างกัน ความคิดเห็นเป็นเพียงการแสดงออกทางภาษาหรือคำพูด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า เธอร์สโตนและสก็อตต์ ต่างก็กล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันว่า ความคิดเห็นมีความหมายที่แตกต่างไปจากทัศนคติ กล่าวคือ ความคิดเห็นเป็นแต่เพียงการแสดงออกทางภาษาพร้อมเหตุผลที่บุคคลคิดขึ้นมา ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงความรู้สึก อารมณ์ หรือแม้กระทั่งการแสดงพฤติกรรมที่จะตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ดังนั้น ในการวัดทัศนคติของบุคคลอาจทำได้โดยพิจารณาจากภาษาที่บุคคลแสดงออกหรือพิจารณาจากความคิดเห็นนั่นเอง

ลักษณะสำคัญของทัศนคติ

เนื่องจากทัศนคติมีความสำคัญต่อการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ จึงมีนักจิตวิทยาหรือนักทฤษฎีทางทัศนคติจำนวนไม่น้อยที่พยายามศึกษาและทำความเข้าใจในลักษณะที่สำคัญต่าง ๆ ของทัศนคติ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษาเท่านั้น

ดู๊บ, เชน, ฮอฟแลนด์ และคณะ, เชอร์รีฟ และเชอร์รีฟ, ชอว์ และไรท์, เเคร็ช และคณะ, แมคเดวิด และฮารารี (Doob, 1947; Chein, 1948; Hovland et al., 1953; Sherif and Sherif, 1956; Shaw and Wright, 1956; Krech et al., 1962; McDavid and Harari, 1969 อ้างถึงใน จิระวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์, 2538) ได้รวบรวมลักษณะที่สำคัญของทัศนคติไว้ดังนี้

1.ทัศนคติเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ หรือเกิดจากการสะสมประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด

2.ทัศนคติมีคุณลักษณะของการประเมิน (evaluative nature) ทัศนคติเกิดจากการประเมินความคิดหรือความเชื่อที่บุคคลมีอยู่เกี่ยวกับสิ่งของ บุคคลอื่น หรือเหตุการณ์ ซึ่งจะเป็นสื่อกลางทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง

คุณลักษณะของทัศนคติในด้านการประเมินนี้ ฟีชบายน์ และไอเซ่น (Fishbein and Ajzen, 1975) เน้นว่าเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ทัศนคติแตกต่างกันอย่างแท้จริงจากแรงผลักดันภายในอื่น ๆ เช่น นิสัย แรงขับ หรือแรงจูงใจ

3.ทัศนคติมีคุณภาพและความเข้ม (quality and intensity) คุณภาพและความเข้มของทัศนคติ จะเป็นสิ่งที่บอกถึงความแตกต่างของทัศนคติที่แต่ละคนมีต่อสิ่งต่าง ๆ

คุณภาพของทัศนคติเป็นสิ่งที่ได้จากการประเมิน เมื่อบุคคลประเมินทัศนคติที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็อาจมีทัศนคติทางบวก(ความรู้สึกชอบ) หรือทัศนคติทางลบ(ความรู้สึกไม่ชอบ) ต่อสิ่งนั้น

4.ทัศนคติมีความคงทนไม่เปลี่ยนง่าย(permanence) เนื่องจากทัศนคติเกิดจากการสะสมประสบการณ์ และผ่านกระบวนการเรียนรู้มามาก

อย่างไรก็ตาม แม้ทัศนคติจะมีความคงทนก็จริง แต่ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีทัศนคติเช่นนั้นตลอดชีวิต นวลศิริ เปาโรหิตย์ (2527) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ทัศนคติของมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น คนที่เคยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อแขก แต่พอได้พบปะสังสรรค์แล้ว ก็อาจเปลี่ยนทัศนคติมาเป็นชอบก็ได้

5.ทัศนคติต้องมีที่หมาย(Attitude Object) ที่หมายเหล่านี้ เช่น คน วัตถุ สิ่งของ สถานที่ หรือเหตุการณ์ เป็นต้น

6.ทัศนคติมีลักษณะความสัมพันธ์ ทัศนคติแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับวัตถุ สิ่งของ บุคคลอื่น หรือสถานการณ์

การวัดทัศนคติ

ในทางจิตวิทยา การวัดทัศนคติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของคน เพราะการรู้ถึงทัศนคติของบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าเป็นไปในทิศทางใด และมีความเข้มมากน้อยแค่ไหน ย่อมจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถทำนายพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นของบุคคลนั้นได้ และสามารถวางแผนดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

การวัดทัศนคติ เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมานานในกลุ่มนักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน การศึกษาวิจัย การพัฒนาวิธีการทางสถิติ และวิธีการวัดทางจิตวิทยา เป็นผลทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการศึกษาเรื่องทัศนคติ รวมทั้งความสำเร็จในการวัดทัศนคติ (Allport, 1967)

ความคิดเกี่ยวกับการวัดทัศนคตินี้ เฮนเนอสัน, มอร์ริส และฟิทซกิ๊บบอน(Henerson, Morris and Fitz-Gibbon, 1978) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ทัศนคติไม่ได้เป็นสิ่งที่จะสามารถตรวจสอบหรือวัดได้เช่นเดียวกับการตรวจสอบเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ หรือการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ทัศนคติของบุคคลหนึ่งอาจแสดงออกมาได้ด้วยการใช้คำพูดหรือการกระทำ

จะเห็นได้ว่า ความคิดข้างต้นนี้จะเน้นที่การแสดงออกทางพฤติกรรมเป็นหลักในการวัดทัศนคติ ซึ่งสอดคล้องกับที่ ไอเซ่น(Ajzen, 1988) ได้กล่าวเอาไว้ว่า โดยธรรมชาติแล้ว คุณสมบัติของทัศนคติเป็นสิ่งที่วัดได้ แม้ว่าทัศนคติจะเป็นเพียงภาวะของจิตใจ ไม่สามารถสังเกตหรือวัดได้โดยตรง แต่ทัศนคติก็อาจวัดได้โดยอาศัยจากผลของการตอบสนอง ซึ่งจะประเมินได้เป็นทางบวกหรือทางลบ และมีระดับความมากน้อย

การวัดทัศนคติโดยดูจากพฤติกรรมที่แสดงออกหรือผลจากการตอบสนองเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็อาจไม่เสมอไป บางครั้งในการแสดงพฤติกรรม เช่น คำพูดและการกระทำอาจไม่สอดคล้องกัน ดังที่ เฮนเนอสัน, มอร์ริส และฟิทซกิ๊บบอน ได้ยกกรณีตัวอย่างมาอธิบายไว้ดังนี้

“มีเด็กชายคนหนึ่งชื่อวิลเลี่ยม(William) เมื่อถามวิลเลี่ยมเกี่ยวกับโรงเรียน วิลเลี่ยมตอบว่า เขาไม่เคยสนใจโรงเรียน โรงเรียนเป็นสถานที่ที่น่าเบื่อ เขาอยากอยู่บ้านมากกว่าไปโรงเรียน แต่เมื่อสังเกตและติดตามพฤติกรรมของวิลเลี่ยมขณะอยู่ที่โรงเรียน กลับพบว่า วิลเลี่ยมเป็นเด็กที่เรียนเก่ง มีผลการเรียนก้าวหน้า ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จทุกครั้ง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครูอาจารย์ ในกรณีนี้เราจะอธิบายหรือวัด ทัศนคติของวิลเลี่ยมอย่างไร จากคำพูดหรือการกระทำ?”

เธอร์สโตน(Thurstone, 1970) ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า พฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์จะเป็นเครื่องชี้ทัศนคติได้ดีกว่าการแสดงออกทางคำพูด แต่พฤติกรรมนี้ก็อาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริงก็ได้

การที่ทัศนคติและการแสดงออกทางพฤติกรรมไม่มีความสัมพันธ์กัน อาจเนื่องมาจากการวัดที่ไม่ตรงจุด ฟีชบายน์และไอเซ่น(Fishbein and Ajzen, 1975) ได้อธิบายไว้ว่า ทัศนคติสามารถทำนายถึงพฤติกรรมได้ โดยในการวัดทัศนคติ ควรวัดทัศนคติต่อพฤติกรรมที่จะแสดงต่อสิ่งนั้น ไม่ใช่วัดทัศนคติต่อสิ่งนั้นโดยตรง เมื่อมีการวัดที่ตรงจุดยิ่งขึ้น ทัศนคติก็จะสามารถทำนายพฤติกรรมหรือการกระทำได้

แม้ว่าทัศนคติจะทำให้มนุษย์มีแนวโน้มที่จะตอบสนองทางพฤติกรรมตามที่ ทัศนคติตั้งไว้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งตายตัว พฤติกรรมอาจไม่เป็นไปตามทัศนคติก็ได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม และการยึดถือทัศนคติของบุคคลนั้นเอง

สำหรับเทคนิควิธีที่ใช้วัดทัศนคติ นักจิตวิทยาได้พยายามศึกษาและพัฒนามาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นที่มีความสนใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีหนึ่งที่เป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ มาตรวัดทัศนคติ (Oppenheim, 1966) แต่ความจริงแล้ว การวัดทัศนคติอาจทำได้หลายวิธี ซึ่งจะขอยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้

1.การสังเกต (Observation) เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ศึกษาทัศนคติโดยใช้ประสาทหูและตาเป็นสำคัญ การสังเกตเป็นวิธีการศึกษาพฤติกรรมที่แสดงออกของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วนำข้อมูลที่สังเกตนั้นไปอนุมานว่าบุคคลนั้นมีทัศนคติต่อสิ่งนั้นอย่างไร (ศักดิ์ สุนทรเสณี, 2531 อ้างถึงใน จรรยา สิทธิปาลวัฒน์, 2539)

2.การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการที่ผู้ศึกษาจะต้องออกไปสอบถามบุคคลนั้น ๆ ด้วยตนเอง โดยอาศัยการพูดคุย ผู้สัมภาษณ์จะต้องเตรียมวางแผนล่วงหน้าว่าจะสัมภาษณ์ในเรื่องใด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด

ในการสัมภาษณ์นี้ สก็อตต์(Scott, 1975) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นการวัด ทัศนคติโดยอาศัยการตอบสนองทางคำพูด(Verbal responses) และเป็นวิธีวัดที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้ง เพราะมีความสะดวกและง่ายต่อการวัด เช่น การใช้คำถามปลายเปิด(Open-ended Question) ผู้สัมภาษณ์อาจตั้งคำถามว่า “คุณรู้สึกว่างานที่ท่านประธานาธิบดีกำลังดำเนินการอยู่เป็นอย่างไร” หรือ “คุณคิดว่าการเสียภาษีเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เพราะอะไร”

จะเห็นได้ว่า การใช้คำถามปลายเปิดนี้ ผู้สัมภาษณ์จะได้ข้อมูลมากมาย แต่มีข้อเสียก็คือว่า ผู้ตอบอาจไม่ตอบตามความเป็นจริง เพราะไม่กล้าเปิดเผย หรือตอบตามความคาดหวังของสังคม ดังนั้น การวัดทัศนคติโดยอาศัยการสัมภาษณ์จึงควรใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย

3.แบบรายงานตนเอง (Self-Report) เป็นวิธีการศึกษาทัศนคติของบุคคลโดยให้บุคคลนั้นเเล่าความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นออกมาว่า รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี ซึ่งผู้เล่าจะบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมาตามประสบการณ์และความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล

วิธีการศึกษาทัศนคติโดยใช้แบบรายงานตัวเองนี้ มักจะถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของเครื่องมือวัดที่เรียกว่า มาตรวัด(Scale) เช่น มาตรวัดทัศนคติของเธอร์สโตน(Thurstone) มาตรวัดทัศนคติของลิเคอร์ท(Likert) มาตรวัดทัศนคติของออสกูด(Osgood) มาตรวัดความห่างทางสังคมของโบกาดัส(Bogardus) มาตรวัดความคงที่ของทัศนคติตามวิธีของกัตท์แมน (Guttman) และมาตรหน้ายิ้มสำหรับเด็ก(The Smiling Faces Scales) เป็นต้น

อำนาจ ไพนุชิต(2539) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรวัดทัศนคติไว้ว่า มาตรวัดทัศนคตินี้ ถือเป็นเครื่องมือในการวิจัยทางการศึกษาอย่างหนึ่ง ที่ใช้วัดคุณลักษณะภายในทางจิตของบุคคลที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง ให้ผลการวัดเป็นข้อมูลเชิงปริมาณหรือตัวเลข ลักษณะของมาตรวัดทัศนคติประกอบด้วยชุดของสถานการณ์หรือข้อความที่เป็นสิ่งเร้าให้ผู้ตอบได้แสดงพฤติกรรมตอบสนองในลักษณะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพื่อจำแนกผู้ตอบออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามระดับทัศนคติ และแสดงผลเป็นปริมาณบนช่วงสเกลในเชิงเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น

หลักการสร้างมาตรวัดทัศนคติที่ดีนั้น ออพเพนไฮม์ (Oppenheim, 1966) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในการสร้างและประเมินเครื่องมือวัด จะต้องคำนึงถึงหลักที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1)ความเป็นเอกมิติ (Unidimensionability) มาตรวัดทัศนคติที่ดีจะต้องวัดในเรื่องเดียวกัน และข้อความหรือข้อคำถามที่นำมาใช้จะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว โดยสามารถตรวจสอบได้จากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของคะแนนที่ได้จากมาตรวัด ซึ่งในเรื่องนี้ ลิเคอร์ท (Likert, 1932 อ้างถึงใน อำนาจ ไพนุชิต, 2539) ได้เสนอไว้ว่า คะแนนที่ได้จากข้อคำถาม 1 ข้อ ควรมีความสัมพันธ์กับคะแนนรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

2)ความเป็นเส้นตรง (Linearity) และการมีช่วงเท่ากัน (Equal Intervals) มาตรวัดจะต้องอยู่ในรูปของความต่อเนื่องเป็นเส้นตรงที่สามารถจัดเรียงลำดับทัศนคติของผู้ตอบ และเป็นมาตรที่บอกความแตกต่างเป็นช่วง ๆ ได้ โดยแต่ละช่วงต้องมีความห่างเท่ากัน เพื่อกำหนดระดับทัศนคติของผู้ตอบ และสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

3)ความเที่ยง (Reliability) เป็นความคงที่หรือความคงเส้นคงวาของการวัด ในการสร้างมาตรวัดทัศนคติ ยิ่งข้อคำถามมีจำนวนมากเท่าใด ความเที่ยงก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

4)ความตรง (Validity) มาตรวัดจะต้องวัดในสิ่งที่ต้องการวัดได้จริง โดยข้อคำถามที่นำมาใช้จะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว และมีความสัมพันธ์กันสูง

5)ความสามารถในการสร้างใหม่ (Reproducibility) เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาสาระของข้อคำถามว่าสามารถจะสร้างสเกลใหม่ได้หรือไม่

4.เทคนิคการฉายออก (Projective Techniques) เป็นการวัดทัศนคติโดยการให้สร้างจินตนาการจากภาพ โดยใช้ภาพเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลนั้นแสดงความคิดเห็นออกมา เพื่อสังเกตและวัดได้ว่าบุคคลนั้นมีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งบุคคลนั้นจะแสดงออกตามประสบการณ์ของตนเอง และแต่ละคนจะมีลักษณะของการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน

จรรยา สิทธิปาลวัฒน์ (2539) ได้ยกตัวอย่างวิธีสร้างจินตนาการจากภาพเพื่อใช้วัดทัศนคติ ดังนี้

1)วิธีหยดหมึก (Ink Plot) คือ ให้บุคคลนั้นดูภาพหยดหมึก แล้วให้อธิบายว่าภาพนั้นเป็นอย่างไร เป็นการกระตุ้นให้บุคคลนั้นตอบสนองออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดทัศนคติของบุคคลนั้น

2)การเล่าเรื่อง (Story Telling) คือ มีการเล่าเรื่องราวบางอย่างให้บุคคลที่ต้องการจะวัดทัศนคติฟัง แต่เล่าไม่จบ แล้วให้บุคคลนั้นเล่าต่อตามความคิดเห็นและความรู้สึกของตนเอง แต่ปัญหาที่สำคัญของการวัดทัศนคติโดยวิธีนี้ ก็คือ ผู้วัดจะต้องมีประสบการณ์ และมีความสามารถเพียงพอในการแปลความหมายของข้อมูล

5.การทำงานบางอย่างที่กำหนดให้

การวัดทัศนคติด้วยวิธีนี้ นักจิตวิทยาสังคมเชื่อว่า พฤติกรรมที่บุคคลแสดงการทำงานบางอย่างที่กำหนดให้นั้น เป็นผลมาจากความรู้สึกนึกคิดหรือทัศนคติของบุคคลนั้นเอง โดยการวัดวิธีนี้สอดคล้องกับงานวิจัยต่าง ๆ ที่ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2527) ได้รวบรวมไว้ งานวิจัยดังกล่าวได้แก่

1)งานวิจัยของ ลีไวน์ และเมอร์ฟี่ (Levine and Murphy) ในปี ค.ศ.1943 ศึกษาพบว่า บุคคลจะเรียนรู้หรือจำสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้จากทัศนคติที่เขามีต่อสิ่งนั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ โจนส์ และโคฮ์เลอร์ (Jones and Kohler) ในปี ค.ศ.1958

2)งานวิจัยของ แฮมมอนด์ (Hammond) ในปี ค.ศ.1948 ได้ศึกษาพบว่า บุคคลจะตอบตามความจริงต่อคำถามต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ เวสช์เลอร์ (Weschler) ในปี ค.ศ.1950 และผลการวิจัยของ แรนคิน และแคมป์เบลล์ (Rankin and Campbell) ในปี ค.ศ.1955

จากผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่า การทำงานหรือการแสดงพฤติกรรม เป็นผลมาจากทัศนคติของบุคคล เริ่มตั้งแต่ความรู้ ความคิด ความรู้สึก และการนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรม

การวัดทัศนคติด้วยวิธีนี้คล้ายคลึงกันเทคนิควิธีการฉายออก คือ ผู้ถูกวัดอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกวัดทัศนคติ แต่คิดว่ากำลังถูกทดสอบประสิทธิภาพในการทำงาน

6.ปฏิกิริยาการตอบสนองทางร่างกาย

นักจิตวิทยาสังคมส่วนใหญ่มักจะรายงานผลการศึกษาทางด้านทัศนคติ หรือการวัดทัศนคติ โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้น (Intensity) หรือความรุนแรง (Extremity) ของทัศนคติกับปฏิกิริยาการตอบสนองทางร่างกาย เช่น การตอบสนองต่อการช็อคไฟฟ้า อัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที การขยายของม่านตา เป็นต้น มากกว่าที่จะกล่าวถึงทิศทางของทัศนคติ เช่น ทัศนคติทางบวกหรือทางลบ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานการค้นพบจากการวิจัยของนักจิตวิทยาสังคมต่าง ๆ ที่ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2527) ได้รวบรวมไว้ ดังนี้

1)งานวิจัยของ แคทซ์, คาโดเรท, ฮิวช์ และแอ็บบี้ (Katz, Cadoret, Hughes and Abbey) ในปี ค.ศ.1965 ศึกษาพบว่า การตอบสนองต่อการช็อคไฟฟ้าและการเต้นของหัวใจจะแสดงปฏิกิริยาเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับปกติ ถ้าบุคคลได้รับการยอมรับหรือการไม่ยอมรับ มากกว่าเมื่อบุคคลอยู่ก้ำกึ่งระหว่างการยอมรับหรือไม่ยอมรับ

2)งานวิจัยของ คอลลินส์, เอลล์สเวิร์ท และเฮล์มรีช (Collins, Ellsworth and Helmreich) ในปี ค.ศ.1967 ศึกษาพบว่า การขยายของม่านตามีความสัมพันธ์กับ ทัศนคติด้านพลังของบุคคลที่มีต่อสิ่งเร้า (เช่น ความแข็งแรง-ความอ่อนแอ) มากกว่ามีความสัมพันธ์กับทัศนคติด้านการประเมิน (เช่น ดี-เลว)

จากผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาการตอบสนองทางร่างกายมีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นของทัศนคติ กล่าวคือ บุคคลจะแสดงปฏิกิริยาการตอบสนองทางร่างกายอย่างรุนแรง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีทัศนคติในด้านดีมากหรือเลวมากก็ตาม

วิธีวัดทัศนคติทั้งหมดที่เสนอไปแล้วนี้ ในปัจจุบันยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะแต่ละวิธีต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ การที่จะสรุปว่าเทคนิควิธีวัดใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดนั้น จึงขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการวัดแต่ละอย่าง

จากความคิดดังกล่าว ออพเพนไฮม์ (Oppenheim, 1966) ได้เสนอแนะไว้ว่า ในการวัดทัศนคติโดยใช้มาตรวัด หากต้องการที่จะศึกษารูปแบบทัศนคติ (attitude pattern) หรือการสำรวจทฤษฎีทัศนคติ (theories of attitudes) มาตรวัดของลิเคอร์ท (Likert) จะเป็นเทคนิควิธีที่เหมาะสมที่สุด หรือ หากต้องการที่จะศึกษาการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (attitude change) วิธีของกัตท์แมน (Guttman) จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด หรือหากต้องการที่จะศึกษาความแตกต่างของกลุ่ม (group differences) การใช้วิธีของเธอร์สโตน (Thurstone) จะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้น

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า การนำเทคนิควิธีวัดแบบต่าง ๆ มาใช้ จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการวัดเฉพาะอย่างด้วย

ธรรมชาติของการวัด

ในการศึกษาเรื่องการวัดทัศนคติ ผู้ศึกษาหรือผู้วัดจะต้องเข้าใจในธรรมชาติของการวัด หรือหลักเบื้องต้นของการวัดก่อนที่จะได้ศึกษาในรายละเอียดของเทคนิควิธีวัดทัศนคติแบบต่าง ๆ ต่อไป ในที่นี้ จะกล่าวถึงธรรมชาติของการวัดเพียงสังเขปต่อการเข้าใจ ดังนี้

1.ความหมายของการวัด

อุทุมพร จามรมาน (2537) ได้ให้ความหมายของการวัดไว้ว่า การวัด (Measurement) หมายถึง ชุดของกระบวนการ หรือวิธีการที่กำหนดตัวเลขให้กับลักษณะของคน สัตว์ สิ่งของ ปรากฏการณ์ เหตุการณ์ ตามความมากน้อย และชนิดของสิ่งเหล่านั้นอย่างมีกฎเกณฑ์ การให้ตัวเลขตามกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน ทำให้ได้มาตรและประเภทของการวัดที่ต่างกัน

เนื่องจากทัศนคติมีความสัมพันธ์กับการแสดงออกทางพฤติกรรม ดังนั้น ผู้ศึกษาควรจะเข้าใจความหมายของการวัดพฤติกรรมด้วย โดย ชัยพร วิชชาวุธ (2523) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า การวัดพฤติกรรม ก็คือ การกำหนดตัวเลขให้กับพฤติกรรมต่าง ๆ ตามเกณฑ์ การกำหนดตัวเลขนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแบ่งประเภทของพฤติกรรม การจัดอันดับของพฤติกรรมตามความมากน้อย การหาระยะแตกต่างระหว่างพฤติกรรมตามความมากน้อย และการเทียบอัตราส่วนพฤติกรรมตามความมากน้อย

2.มาตรวัด (Scale)

มาตรที่ใช้ในการวัดมีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรจัดประเภท จัดอันดับอันตรภาค และอัตราส่วน สำหรับการวัดทัศนคติส่วนใหญ่ เป็นการวัดพฤติกรรมประเภท “มาตรจัดอันดับ (Ordinal Scales)” ซึ่งเป็นการกำหนดตัวเลขให้กับสิ่งของหรือพฤติกรรม เพื่อแสดงอันดับความมากน้อย เช่น จัดอันดับเพื่อนตามความชอบ (ลัดดา กิติวิภาต, 2525)

สาเหตุที่กล่าวถึงมาตรวัด เนื่องมาจาก มาตรวัดเป็นเครื่องมือวัดที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการศึกษาหรือการวัดทัศนคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์

3.ความเที่ยง (Reliability) และความตรง (Validity)

อุทุมพร จามรมาน (2537) ได้ให้ความหมายของความเที่ยงและความตรงไว้ดังนี้

ความเที่ยง หมายถึง (ก)ความคงเส้นคงวาของการวัด 2 ครั้ง (ข)ความสอดคล้องภายของการวัด 1 ครั้ง และ (ค)ความคงที่ของการวัด 2 ครั้งที่เป็นอิสระต่อกัน

ความตรง หมายถึง ความสอดคล้องกับสิ่งที่เห็น ที่วัด และที่นัย โดยมีการให้คำนิยามไว้ก่อน

ในการวัดทัศนคตินี้ เราต้องการรู้ว่าการวัดนั้นมีความเที่ยงหรือไม่ วัดกี่ครั้งก็ได้ผลคล้ายคลึงกันหรือไม่ และต้องการรู้ว่า การวัดนั้นมีความแม่นตรงหรือไม่ วัดในสิ่งที่ต้องการวัดหรือไม่

ประโยชน์ของการวัดทัศนคติ

ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2530) (อ้างถึงใน จรรยา สิทธิปาลวัฒน์, 2539) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการวัดทัศนคติ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

1.วัดเพื่อทำนายพฤติกรรม ทัศนคติของบุคคลที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นมีทัศนคติต่อสิ่งนั้นไปในทางที่ดีหรือไม่ดี มากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งทัศนคติของบุคคลนี้เองจะเป็นเครื่องทำนายว่าบุคคลนั้นจะมีการกระทำต่อสิ่งนั้นไปในทำนองใด นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อบุคคลนั้นได้อย่างถูกต้อง และอาจเป็นแนวทางให้ผู้อื่นสามารถควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้นได้ด้วย

2.วัดเพื่อหาทางป้องกัน การที่บุคคลจะมีทัศนคติต่อสิ่งใดนั้น เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข บุคคลในสังคมนั้นควรจะมีทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน และไม่เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม

3.วัดเพื่อหาทางแก้ไข การวัดทัศนคติจะทำให้เราทราบว่า บุคคลมีทัศนคติต่อสิ่งหนึ่งไปในทิศทางใด ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ดังนั้น การรู้ถึงทัศนคติของบุคคลหนึ่งจะช่วยให้เราสามารถวางแผนและดำเนินการแก้ไขลักษณะที่ไม่เหมาะสมของบุคคลนั้นได้

4.วัดเพื่อให้เข้าใจสาเหตุและผล ทัศนคติของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นสาเหตุภายในที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมไปได้ต่าง ๆ กัน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมหรือสาเหตุภายนอกด้วยส่วนหนึ่ง

ประเภทของการวัด

การแบ่งประเภทของการวัด จะช่วยให้ผู้ศึกษาและผู้วัดสามารถเข้าใจลักษณะของเทคนิควิธีวัดแบบต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ตลอดจนสามารถเลือกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักจิตวิทยาได้แบ่งประเภทของการวดตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

ลัดดา กิติวิภาต (2525) ได้แบ่งประเภทของการวัดทัศนคติตามลักษณะการคำนวณ โดยแบ่งประเภทของเทคนิควิธีวัดเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.มาตรสำหรับการทำนายภายนอก (Scales for External Prediction)

เป็นมาตรที่ใช้คำถามเพื่อทำนายพฤติกรรมภายนอก เช่น พฤติกรรมการเลือกตั้ง พฤติกรรมผู้บริโภค พฤติกรรมการใช้ยา เป็นต้น ตัวอย่างของการวัดในประเภทนี้ ได้แก่

- มาตรวัดทัศนคติของเธอร์สโตน (Thurstone Scale, 1929) หรือ มาตรอันตรภาคเท่ากันตามปรากฏ (Equal-Appearing Interval Scale)

- มาตรวัดทัศนคติของลิเคอร์ท (Likert Scale, 1932) หรือ วิธีการประเมินแบบรวมค่า (Method of Summated Rating)

- มาตรวัดทัศนคติของออสกูด (Osgood Scale, 1957) หรือ มาตรวัดโดยอาศัยการจำแนกความหมายของคำ (Semantic Differential Scale)

- มาตรวัดทัศนคติสำหรับเด็กของบัตซินและแอนเดอร์สัน (Butzin and Anderson, 1973) หรือ มาตรหน้ายิ้ม (The Smiling Faces Scales)

2.มาตรตัวแทน

เป็นการนำกระบวนการทางคณิตศาสตร์มาใช้ เพื่ออนุมานทัศนคติของบุคคล ตัวอย่างของการวัดในประเภทนี้ ได้แก่

- มาตรการตัดสินเปรียบเทียบของเธอร์สโตน (Thurstone’s Comparative Judgment Scale, 1920)

- มาตรวัดความห่างทางสังคมของโบกาดัส (The Bogardus Social Distance Scale, 1925)

- มาตรวัดความคงที่ของทัศนคติตามวิธีของกัตท์แมน (Guttman Scale หรือ Cumulative Scale, 1944)

นอกจากการแบ่งประเภทของการวัดตามลักษณะการคำนวณที่ ลัดดา กิติวิภาต ได้กล่าวไปแล้วนี้ เเพ็ตตี้และแคคซีออพโป (Petty and Cacioppo, 1984) ยังได้แบ่งประเภทของการวัดทัศนคติโดยอาศัยหลักความรู้ตัวของผู้ถูกวัดเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง เทคนิควิธีวัดตามหลักเกณฑ์นี้ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.วิธีการวัดทางตรง (Direct Procedures)

เป็นการวัดทัศนคติโดยให้ผู้ถูกวัดรายงานความคิด ความรู้สึก ของตัวเองออกมาโดยตรง ตัวอย่างของวิธีการวัดในประเภทนี้ ได้แก่

- มาตรวัดทัศนคติของเธอร์สโตน (Thurstone Scale)

- มาตรวัดทัศนคติของลิเคอร์ท (Likert Scale)

- มาตรวัดทัศนคติของออสกูด (Osgood Scale)

- มาตรวัดข้อความเดียว (The One-item Rating Scale)

2.วิธีการวัดทางอ้อม (Indirect Procedures)

เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัดทัศนคติของบุคคลโดยปราศจากการรู้ตัว ตัวอย่างของวิธีการวัดในประเภทนี้ ได้แก่ การใช้เทคนิคการฉายออก (Projective Technique)

จากตัวอย่างการแบ่งประเภทของการวัดทัศนคติข้างต้นนี้ เป็นแต่เพียงตัวอย่างที่ผู้ศึกษาหรือผู้วัดจะยึดเป็นแนวทางในการนำไปใช้เท่านั้น ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการวัดเฉพาะอย่าง และเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย

ออพเพนไฮม์ (Oppenheim, 1966) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำมาตรวัด ทัศนคติไปใช้ว่า เนื่องจากประสิทธิภาพของการใช้มาตรวัดทัศนคตินี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและการเปิดเผยของผู้ตอบ ถ้าผู้ตอบพยายามที่จะแกล้งตอบหรือตอบในข้อเลือกที่ “ไม่แน่ใจ” มากที่สุด เพราะความกลัว ความเข้าใจผิด ความคาดหวังของสังคม หรือแม้แต่ความไม่ชอบผู้เป็นเจ้าของแบบสอบถาม สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบิดเบือนในการตอบตามความเป็นจริงก็ได้ ดังนั้น ผู้นำมาตรวัดทัศนคติไปใช้จะต้องแน่ใจว่า ผู้ตอบเต็มใจให้ข้อมูลตามความเป็นจริง หรือบางครั้งการใช้วิธีการทางอ้อม (Indirect Methods) ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลระดับลึกของผู้ตอบได้ดีกว่าการใช้มาตรวัดทัศนคติเพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวความคิดนี้ น่าจะเป็นที่มาหรือสาเหตุของการแบ่งประเภทของการวัดทัศนคติเป็น 2 ประเภท คือ วิธีการวัดทางตรง และวิธีการวัดทางอ้อม ตามที่ เพ็ตตี้ ได้กล่าวเอาไว้

สำหรับสาเหตุของการแบ่งประเภทการวัดทัศนคติตามลักษณะการคำนวณนี้ ลัดดา กิติวิภาต (2525) ได้กล่าวเอาไว้ว่า เป็นการแยกประเภทวิธีวัดทัศนคติว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ทันสมัยและเหมาะสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่นำมาใช้

ตัวอย่างเทคนิควิธีวัดแบบต่าง ๆ

เนื่องจากเทคนิควิธีที่นำมาใช้ในการศึกษาหรือวัดทัศนคตินั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่น การสัมภาษณ์ การสำรวจ การทำโพล การใช้แบบสอบถาม การใช้มาตรวัดทัศนคติ การสังเกต การใช้วิธีสังคมมิติ (Sociometric Procedures) การศึกษาทัศนคติจากบันทึกประจำวันหรือจากแฟ้มประวัติ เป็นต้น (Henerson, Morris and Fitz-Gibbon, 1978) ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงเทคนิควิธีวัดที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเทคนิควิธีที่ถูกนำมาใช้มากในการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์

ลัดดา กิติวิภาต (2525) ได้รวบรวมตัวอย่างเทคนิควิธีวัดแบบต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย 4 แบบ ดังนี้


1.มาตรวัดทัศนคติของเธอร์สโตน (Thurstone, 1929)

มาตรวัดทัศนคติของเธอร์สโตน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มาตรอันตรภาคเท่ากันตามปรากฏ (Equal-Appearing Interval Scale)”

วิธีสร้าง
รวบรวมข้อความที่แสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการวัดทัศนคติมามากที่สุด สิ่งที่จะต้องพิจารณาในการเลือกข้อความก็คือ
เป็นข้อความที่แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
เป็นข้อความกะทัดรัด ใช้ภาษาเข้าใจง่าย
เป็นข้อความที่ชัดเจน มีความคิดเดียวและตรงเป้าหมายกับเรื่องที่ต้องการจะวัด ไม่เป็น 2 นัย
เป็นข้อความที่เป็นประโยคธรรมดาหรือกรรตุวาจา (active voice) ไม่ใช่กรรมวาจา (passive voice)
ข้อความที่รวบรวมมาจะต้องครอบคลุมเรื่องราวที่ต้องการจะวัด
ขัดเกลาข้อความให้มีจำนวนมากกว่า 100 ขึ้นไป
พิมพ์ข้อคำถามลงในบัตรข้อละ 1 บัตร หรือพิมพ์ลงในกระดาษแผ่นเดียวกันก็ได้
ให้ผู้ตัดสินประมาณ 200-300 คน (ผู้ตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นพิเศษ) ลงความเห็นตัดสินเลือกข้อความแต่ละบัตร หรือเลือกขีดตอบในกระดาษ โดยให้คะแนนข้อความตั้งแต่ 1-11 คะแนน หรือให้ระดับความเห็นที่มีต่อข้อความเหล่านั้น 11 ระดับ จากชอบมากที่สุดถึงชอบน้อยที่สุด ถ้าชอบมากที่สุดให้ 11 คะแนน ถ้าไม่ชอบเลยให้ 1 คะแนน
ไม่ชอบมากที่สุด ชอบมากที่สุด



0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11


นำคะแนนจากผู้ตัดสินมาหาค่าประจำข้อ (scale value) ของแต่ละข้อความ โดยหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
คัดเลือกข้อความขั้นสุดท้าย โดยมีเกณฑ์ในการเลือกดังนี้
ให้มีค่าประจำข้อครบทั้ง 11 ระดับ คือ มีตั้งแต่ 1 ถึง 11
แต่ละข้อควรให้มีค่าความเบี่ยงเบนเป็นควอไตล์น้อย ๆ กล่าวคือ ค่า Q ไม่ควรเกิน 1.67
อาจตรวจสอบค่าประจำข้อโดยวิธีให้กลุ่มอื่นพิจารณาตัดสินเหมือนกลุ่มแรก แล้วดูว่าค่าประจำข้อเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนไปมากก็แสดงว่าใช้ได้
ถ้าหากมีข้อความที่มีค่าประจำข้อเท่ากัน ก็คัดเลือกเอาข้อที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำกว่า
ข้อความที่คัดเลือกมานี้จะมากกว่า 11 ข้อก็ได้ เพียงแต่ให้ข้อความต่าง ๆ มีค่าประจำข้อที่ห่างกันเป็นช่วง ๆ ช่วงละเท่า ๆ กัน จากต่ำที่สุดถึงสูงที่สุด (เช่น เลือกมากประมาณ 20-30 ข้อความ โดยเลือกข้อความที่มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ ๆ)
การนำไปใช้ นำข้อความที่เลือกแล้วมาเรียงอย่างสุ่ม ให้กลุ่มตัวอย่างตอบเพียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความใดเท่านั้น ไม่ต้องระบุระดับความเห็น
นำเอาค่าประจำข้อที่กลุ่มตัวอย่างเลือกมารวมกันทั้งหมด แล้วหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างนั้น ๆ
ตัวอย่างมาตรวัดทัศนคติตามวิธีของเธอร์สโตน พร้อมด้วยค่าประจำข้อ
(ข้อมูลจาก ทิพย์รัตน์ ชุมรุม, 2509:วัดความห่างทางสังคม อ้างถึงใน ชัยพร วิชชาวุธ, 2523 หน้า 84)



ค่าประจำข้อ ข้อความ
1.00
1.80

2.80

3.50

4.20

4.70
ฉันจะแต่งงานกับบุคคลคนนี้
ฉันจะยอมรับบุคคลคนนี้เป็นเพื่อสนิท

ฉันจะไว้ใจบุคคลคนนี้

ฉันจะร่วมมือทางธุรกิจกับบุคคลคนนี้

ฉันจะพยายามรู้จักกับบุคคลคนนี้

ฉันจะยอมรับบุคคลคนนี้เป็นเพื่อนคุย


ฯลฯ


2.มาตรวัดทัศนคติของลิเคอร์ท (Likert Scale, 1932)

มาตรวัดทัศนคติของลิเคอร์ท มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิธีการประเมินแบบรวมค่า (Method of Summated Rating)” เป็นมาตรวัดทัศนคติอีกชนิดหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้มาก เพราะมีวิธีการสร้างง่ายกว่าของเธอร์สโตน เนื่องจาก

1) ไม่ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาตัดสินเพื่อหาค่าประจำข้อ

2) ไม่ต้องคำนวณหาค่าประจำข้อ

3) มีความเชื่อถือได้สูงมาก ใช้เพียงไม่กี่ข้อก็จะหาค่าความเชื่อถือได้สูงพอ ๆ กับเทคนิคอื่น ๆ ที่ใช้จำนวนข้อมาก

4) ผลที่ได้จากการใช้วิธีนี้ทัดเทียมกับผลที่ได้จากวิธีของเธอร์สโตน

กล่าวได้ว่าวิธีการของลิเคอร์ทเป็นวิธีการรวดเร็วกว่า เชื่อถือได้มากกว่า (หรือเท่ากัน) และมีความเที่ยงตรงกว่า (หรือเท่ากัน) สามารถใช้เป็นแบบทดสอบมาตรฐานได้กับคนหลายกลุ่ม

ในเรื่องประสิทธิภาพของมาตรการวัดแบบลิเคอร์ทนี้ โรเบิร์ต (Roberts, 1999) ได้แสดงความเห็นไว้ว่า ในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างวิธีของลิเคอร์ทและวิธีของเธอร์สโตนโดยส่วนใหญ่นักวิจัยมักจะใช้มาตรฐานหรือเกณฑ์เกี่ยวกับการวัดเป็นเครื่องตัดสิน เช่น ความเที่ยง (Reliability) และประสิทธิภาพของการสร้างมาตรวัด (Efficiency of Scale Construction) จากการศึกษาพบว่า คะแนนที่ได้จากมาตรวัด ทัศนคติแบบลิเคอร์ทจะมีความเที่ยงสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการของเธอร์สโตน นอกจากนี้ วิธีวัดของลิเคอร์ทยังง่ายต่อการสร้างมากกว่าวิธีของเธอร์สโตนอีกด้วย เพราะวิธีของลิเคอร์ทไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการให้ค่าคะแนนประจำข้อ (Scale Values)

วิธีสร้าง

นิยามตัวแปรให้ชัดเจนว่าจะวัดทัศนคติเกี่ยวกับอะไร
รวบรวมข้อความ หลักในการพิจารณาข้อความต่าง ๆ เหมือนของเธอร์สโตน
ลำดับข้อความที่รวบรวมมาไปให้คนกลุ่มหนึ่งประเมินค่าว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มากน้อยแค่ไหน และมีการให้คะแนนหรือกำหนดน้ำหนักความเห็น ดังนี้





 

Create Date : 27 มิถุนายน 2550
26 comments
Last Update : 27 มิถุนายน 2550 10:37:21 น.
Counter : 80267 Pageviews.

 

ระดับความเห็น คำถามที่แสดง
ทัศนคติทางบวก

คะแนน
คำถามที่แสดง
ทัศนคติทางลบ

คะแนน

เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เห็นด้วย

เฉย ๆ หรือไม่แน่ใจ

ไม่เห็นด้วย

ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
5
4

3

2

1
1
2

3

4

5




สำหรับคำถามที่แสดงทัศนคติทางบวก ถ้ารวมคะแนนทั้งหมดของผู้ตอบ ถ้าได้คะแนนมากแสดงว่าผู้ตอบมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้นมาก ในทางตรงข้าม ถ้าได้คะแนนน้อยแสดงว่าผู้ตอบมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งนั้นมาก

ส่วนคำถามที่แสดงทัศนคติทางลบ ถ้ารวมคะแนนทั้งหมดของผู้ตอบได้คะแนนมาก แสดงว่าผู้ตอบมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งนั้นมาก ในทางตรงข้าม ถ้าได้คะแนนน้อยแสดงว่าผู้ตอบมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้นมาก

การเลือกข้อคำถาม : เนื่องจากมาตราของลิเคอร์ทมีข้อตกลงเบื้องต้นที่สำคัญ คือ ข้อความต่าง ๆ ต่างก็ใช้วัดทัศนคติที่มีต่อเป้าหมายของทัศนคติ (attitude object) อย่างเดียวกัน ดังนั้น การเลือกข้อความหรือข้อคำถามที่ใช้วัดทัศนคติในสิ่งเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
วิธีเลือกข้อคำถาม : นำข้อความที่ได้ทดลองใช้กับผู้ตอบ (ในข้อ 3) มาวิเคราะห์รายข้อเพื่อประเมินคุณภาพของแต่ละข้อซึ่งอาจทำได้ 2 วิธี คือ

หาค่า t-test ระหว่างค่าเฉลี่ยของกลุ่มได้คะแนนรวมสูงกับกลุ่มได้คะแนนรวมต่ำ โดยทดสอบทีละข้อไปจนหมด ข้อใดที่ให้ค่า t เท่ากับหรือมากกว่า 1.75 ถือว่าข้อนั้นอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ คือ ลักษณะที่สามารถจำแนกกลุ่มความเห็นได้พอสมควร
หาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนแต่ละข้อกับคะแนนเฉลี่ยรวมทุกข้อ เป็นการวิเคราะห์โดยถือเกณฑ์คงที่ภายในแบบสอบถาม (Criterion of Internal Consistency) ถ้าได้ค่าสหสัมพันธ์สูง แสดงว่าใช้ได้
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์หาค่า t และสหสัมพันธ์นี้ ได้มีการตรวจสอบดูแล้วพบว่า มีความสอดคล้องกันสูงมาก ในทางปฏิบัติจึงอาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้

ตัวอย่างมาตราวัดทัศนคติตามวิธีของลิเคอร์ท
“การเลี้ยงเด็กเป็นการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ชีวิต”
ไม่เห็นด้วย
อย่างยิ่ง

(1)

ไม่เห็นด้วย
(2)

ไม่แน่ใจ
(3)

เห็นด้วย
(4)
เห็นด้วย
อย่างยิ่ง

(5)




3.มาตรวัดทัศนคติของออสกูด (Osgood Scale, 1957)

มาตรวัดทัศนคติของออสกูดมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มาตรวัดโดยอาศัยการจำแนกความหมายของคำ (Semantic Differential Scale)”

วิธีสร้าง

การสร้างคำถามในมาตรานี้ อาศัยคำต่าง ๆ เป็นตัวเร้า (stimulus words) ประกอบกับมโนทัศน์ (concepts) ต่าง ๆ โดยในแต่ละข้อคำถามจะมีคำคุณศัพท์ที่มีความหมายตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ (bipolar) กำกับอยู่ที่ปลายทั้งสองข้างของมาตรา ซึ่งกำหนดไว้ 7 ระดับ เช่น

“การเรียนวิชาเอกสาขาจิตวิทยาสังคม”

ยาก : : : : : : : : ง่าย
มีประโยชน์ : : : : : : : : ไร้ประโยชน์



มาตรการวัดนี้วัดได้ทั้งด้าน คุณภาพ และ ปริมาณ รวมทั้ง ทิศทาง และ ความเข้ม ของปฏิกิริยา

ทางด้านทิศทาง คือ ไปทางดีหรือเลว

ความเข้ม คือ มีลักษณะนั้น มาก-น้อยเพียงใด

ลักษณะของการใช้คำคุณศัพท์อาจจำแนกได้เป็น 3 มิติ คือ

1.มิติด้านการประเมินค่า (Evaluation) เช่น ดี-เลว

2.มิติด้านศักยภาพ (Potency) เช่น แข็งแรง-อ่อนแอ

3.มิติด้านกิจกรรม (Activity) เช่น ว่องไว-เชื่องช้า

การใช้มาตรวัดโดยอาศัยการจำแนกความหมายของคำ
การนำมาตรชนิดนี้ไปใช้เพื่อวัดทัศนคติของกลุ่มที่ต้องการศึกษา อาจทำได้ 3 แบบ คือ

แบบที่ 1 ใช้คำคุณศัพท์หลาย ๆ คู่ต่อหนึ่งมโนทัศน์

แบบที่ 2 ใช้คำคุณศัพท์เพียงหนึ่งคู่ต่อหนึ่งมโนทัศน์

แบบที่ 3 ใช้คำคุณศัพท์เพียงหนึ่งคู่ต่อหลายมโนทัศน์

(หมายเหตุ คำว่า “มโนทัศน์ (concept)” ในที่นี้อาจเขียนเป็นคำหรือวลี หรืออาจเขียนเป็นประโยคยาว ๆ ก็ได้ แต่ควรให้มีความชัดเจนพอที่ผู้ตอบจะประเมินคำตอบได้

แบบที่ 1 : ใช้คำคุณศัพท์หลาย ๆ คู่ต่อหนึ่งมโนทัศน์

ตัวอย่าง
ท่านมีความคิดอย่างไรต่อ “ชาวนา”



ยากจน : : : : : : : : ร่ำรวย
ฉลาด : : : : : : : : โง่
แข็งแรง : : : : : : : : อ่อนแอ
ใจดี : : : : : : : : ใจร้าย

(หมายเหตุ อาจใช้คำคุณศัพท์ทั้งหมดในชุดนี้กับมโนทัศน์อื่น ๆ ได้)

แบบที่ 2 : ใช้คำคุณศัพท์เพียงหนึ่งคู่ต่อหนึ่งมโนทัศน์

ตัวอย่าง
ท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่อ “การคุมกำเนิด”
ปลอดภัย : : : : : : : : อันตราย



ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อ “ร้านอาหารในมหาวิทยาลัย”
สะอาด : : : : : : : : สกปรก



ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อ “เด็กวัยรุ่นในปัจจุบัน”
ฉลาด : : : : : : : : โง่



แบบที่ 3 : ใช้คำคุณศัพท์เพียงหนึ่งคู่ต่อหลายมโนทัศน์

ตัวอย่าง





ท่านมีความคิดเห็นอย่างต่อบุคคลต่อไปนี้ ยากจนหรือร่ำรวยเพียงใด

1.ครู ยากจน : : : : : : : : ร่ำรวย
2.นิสิตนักศึกษา : : : : : : : :
3.ทหาร : : : : : : : :
4.พ่อค้า : : : : : : : :
5.ชาวนา : : : : : : : :

จากแบบวัดทั้ง 3 แบบนี้ แบบที่ 1 เป็นแบบที่ดีที่สุด เนื่องจากในแต่ละมโนทัศสามารถวัดทัศนคติได้ในหลาย ๆ ด้าน เมื่อสรุปรวมเป็นค่าเฉลี่ยออกมาย่อมมีความหมายกว่าการวัดเพียงด้านเดียว


4.มาตรวัดทัศนคติตามวิธีของกัตท์แมน (Guttman Scale, 1944)

วิธีการวัดทัศนคติของกัตท์แมนใช้วิธีที่เรียกว่า “Scalogram Analysis” โดยมาตรวัดแบบนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Cumulative Scale”

วิธีสร้าง

คำถามในแบบวัดชนิดนี้จะเป็นคำถามเดียวไม่ซับซ้อน โดยมีคำตอบให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ (Yes or No) ถ้าตอบรับข้อความใดข้อความหนึ่ง ก็จะต้องปฏิเสธข้อความอีกข้อความหนึ่ง นั่นคือคำตอบของผู้ตอบข้อใดข้อหนึ่ง จะใช้เป็นเครื่องทำนายคำตอบข้ออื่นของผู้ตอบด้วย เนื่องจากคำตอบแต่ละข้อมีความเกี่ยวโยงกัน

ตัวอย่าง


ข้อคำถาม คำตอบของ
นาย ก. นาย ข.
1.ฉันสูงกว่า 4 ฟุต 6 นิ้ว
2.ฉันสูงกว่า 5 ฟุต

3.ฉันสูงกว่า 5 ฟุต 6 นิ้ว

4.ฉันสูงกว่า 6 ฟุต

5.ฉันสูงกว่า 6 ฟุต 6 นิ้ว
ใช่
ใช่

ไม่ใช่

ไม่ใช่

ไม่ใช่
ใช่
ใช่

ใช่

ใช่

ไม่ใช่

จำนวนคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน
คะแนน
2
2.0
4
4.0




การใช้วิธีการของกัตท์แมน ถึงแม้จะใช้เวลามากในการสร้างแบบวัดชนิดนี้ แต่ผลที่ได้จะเป็นผลที่น่าเชื่อถือมาก

สรุป
การวัดทัศนคติเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมานานในกลุ่มนักการศึกษาและนักจิตวิทยาสังคม เพราะทัศนคติมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การรู้ถึงทัศนคติของบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นไปในทิศทางใด มีระดับความเข้มมากน้อยแค่ไหน ย่อมจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนและดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

ในการศึกษาทัศนคติ ผู้ศึกษาหรือผู้วัดจะต้องเข้าใจว่า ทัศนคติมีความหมายอย่างไร แตกต่างจากคำว่า ความเชื่อ ค่านิยม และความคิดเห็นอย่างไร ตลอดจนจะต้องเข้าใจในลักษณะที่สำคัญของทัศนคติ ธรรมชาติของการวัด ประโยชน์ของการวัดทัศนคติ การแบ่งประเภทของการวัด รวมทั้งเทคนิควิธีวัดแบบต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการวัดทัศนคติ

เทคนิควิธีที่นำมาใช้ในการศึกษาหรือวัดทัศนคตินั้น ในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การสำรวจ การทำโพล การใช้แบบสอบถาม การใช้มาตรวัดทัศนคติ การใช้เทคนิคการฉายออก การใช้วิธีสังคมมิติ การศึกษาทัศนคติจากบันทึกประจำวันหรือจากแฟ้มประวัติ เป็นต้น แต่เทคนิควิธีที่เป็นที่ รู้จักและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์มีเพียงไม่กี่วิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้มาตรวัด (Scale) เช่น มาตรวัดทัศนคติของเธอร์สโตน (Equal-Appearing Interval Scale) มาตรวัดทัศนคติของลิเคอร์ท (Likert Scale หรือ Method of Summated Rating) มาตรวัดทัศนคติของออสกูด (Semantic Differential Scale) และมาตรวัดทัศนคติของกัตท์แมน (Cumulative Scale หรือ Scalogram Analysis)

เนื่องจากเทคนิควิธีวัดทัศนคติได้ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย การที่จะกล่าวว่าเทคนิควิธีวัดใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดนั้น ในปัจจุบันยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ เพราะแต่ละวิธีต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ ดังนั้น การนำเทคนิควิธีวัดแบบต่าง ๆ มาใช้ ผู้ศึกษาหรือผู้วัดจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการวัดเฉพาะอย่างและสถานการณ์ของการวัดในขณะนั้นด้วย








เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ .จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาการแนะแนวและจิต

วิทยาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร,2527.


จรรยา สิทธิปาลวัฒน์. การพัฒนามาตรวัดทัศนคติต่อวิชาสุขศึกษา สำหรับนัก

เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชา

สุขศึกษา ภาควิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.


จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์. ทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรม : การวัด การ

พยากรณ์ และการเปลี่ยนแปลง. พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพมหานคร :

สามดีการพิมพ์ , 2538.


ชัยพร วิชชาวุธ. การวิจัยเชิงจิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนา

พานิช, 2523.


ธีรพร อุวรรณโณ. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพมหานคร : โครงการตำราและเอกสารทาง

วิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.


นวลศิริ เปาโรหิตย์. จิตวิทยาสังคมเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร : แผนกจิตวิทยา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2527.


ประภาเพ็ญ สุวรรณ.ทัศนคติ : การวัด การเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมอนามัย.

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2520.


ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. พิมพ์ครั้งที่ 6 .

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2539.

ลัดดา กิติวิภาต. ทัศนคติทางสังคมเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ ชวนพิมพ์ ,

2532.


อุทุมพร จามรมาน. ทฤษฎีการวัดทางจิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ฟันนี่พับบลิชชิ่ง,

2537.


อำนาจ ไพนุชิต. การเปรียบเทียบคุณสมบัติของคระแนนที่ได้จากมาตรวัด

ทัศนคติแบบลิเคอร์ท ด้วยวิธีการให้คะแนนแบบดั้งเดิม แบบอาร์เอส

เอ็ม และแบบดีเอสเอ็ม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาวิจัยการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

ภาษาอังกฤษ
A.N. Oppenheim. Questionnaire Design and Attitudes Measurement. 2nd ed.

New York :Basic Books,1966.


Fishbein, M. and Ajzen,I. Belief ,Attitude, Intention and Behavior : An

Introduction toTheory and Research. London : Addison- Wesley, 1975.


Gorden W, Allport. Historical Foundations. In Martin Fishbein (ed.), Readings

in Attitude Theory and Measurement, pp. . New York : John Wiley &

Sons, 1967.


Icek Ajzen. Attitudes, Personality and Behavior. Chicago : The Dorsey Press,

1988.


James S. Roberts. Validity Issues in the Likert and Thurstone Approaches to

Attitude Measurement. Educational and Psychological Measurement 59

( April 1999 ) : pp. 211-233.

Leonard W. Doob. The Behavior of Attitudes. In Martin Fishbein (ed.) ,

Readings in Attitude Theory and Measurement ,PP. .New York :

John Wiiey & Sons, 1967.


L.L. Thurstone. The Measurement of Values. Chicago : Midway Reprint, 1974,


L.L. Thurstone. The Measurement of Attitudes. Chicago : The University of

Chicago Press, 1970.


Marlene E. Henerson, Lynn Lyons Morris and Carol Taylor Fitsz-Gibbon. How

to Measure Attitudes. 7th ed. California : Sage Publications, 1978.


Richard E. Petty and John T. Cacioppo. Attitudes and Persuasion : Classic

and Contemporary Approaches. 4th ed. Iowa : Wm.C. Brown, 1984.


William A. Scott. Attitude Measurement .In Gardner Lindzey and Elliot Aronson

( eds.) , The Handbook of Social Psychology, PP. 204-273. New Delhi :

Amerind Publishing,1975.

ที่มา //www.student.chula.ac.th

 

โดย: Darksingha 27 มิถุนายน 2550 10:38:34 น.  

 

thank for information

 

โดย: น.ส อรสา พระผล IP: 58.137.132.110 28 สิงหาคม 2551 15:04:12 น.  

 

กินรัยทามไมถึวเก่งจังคร่า

สอบชิงทุนดั้ยด้วย

 

โดย: ฉัตรสุดา IP: 115.67.81.78 29 เมษายน 2552 16:56:51 น.  

 

เป็นประโยชน์มากมายเลย

ขอบคุณนะค่ะ

 

โดย: way IP: 112.142.121.154 31 สิงหาคม 2552 20:43:12 น.  

 


ซูโก้ยจริง ๆ

 

โดย: อิอิ IP: 125.24.186.97 9 กันยายน 2552 15:58:58 น.  

 

มีประโยชน์มากเลยคะ

 

โดย: ฝน IP: 161.246.242.2, 161.246.254.164 5 พฤศจิกายน 2552 12:02:14 น.  

 

ขอบคุนมากค่ะสำหรับข้อมูลและรายการเอกสารอ้างอิง

 

โดย: ทิพย์ IP: 124.122.254.58 6 พฤศจิกายน 2552 19:00:16 น.  

 

ใช้เป็นข้อมูลทบทวนวรรณกรรมได้มัยค่ะ แล้วจะอ่างผู้ให้ข้อมูลยังไง

 

โดย: พัด IP: 203.146.213.83 4 ธันวาคม 2552 13:46:56 น.  

 

สุดยอดครับ ข้อใช้เป็นข้อมูลทบทวนวรรณกรรมนะครับ

 

โดย: ลบ IP: 124.121.228.66 18 ธันวาคม 2552 16:52:32 น.  

 

ขอบคุณมากนะค้า ข้อมูลมีประโยชน์มากค่ะ

 

โดย: cool IP: 119.31.126.141 10 กุมภาพันธ์ 2553 11:27:07 น.  

 

ขอบคุณนะคะ

มีประโยชน์มากถึงมากที่สุดเลยคะ

 

โดย: รักจัง IP: 192.168.34.183, 122.154.129.116 15 กุมภาพันธ์ 2553 17:27:17 น.  

 

เป็นประโยชน์จริงๆค่ะ
ขอบคุณค่ะ ^^

 

โดย: ปริณดา IP: 124.121.112.128 14 เมษายน 2553 23:37:27 น.  

 

กำลังสับสนระหว่าง ทัศนคติกับความคิดเห็นพอดีเลย ขอบคุณคะ

 

โดย: tay IP: 124.121.163.5 20 ตุลาคม 2553 15:40:56 น.  

 

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันความรู้ดีๆ

 

โดย: orn IP: 180.180.63.66 4 มีนาคม 2554 12:16:39 น.  

 

ขอบคุณค่ะเป็นประโยชน์มากๆ ที่สำคัญมีบรรณานุกรม ไว้ให้ค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย น่ารักจริงๆค่ะ

 

โดย: พรพรรณ IP: 124.120.20.13 25 มิถุนายน 2554 23:49:52 น.  

 

ขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ให้ความรู้อย่างมาก และขอเสนองานแบบนี้ต่อไปอีกนะค่ะ

 

โดย: อรชร หะรังษี IP: 10.251.41.227, 203.172.199.250 28 กันยายน 2554 6:26:51 น.  

 

ขอบคุณมาก ๆ ครับ

 

โดย: หนุ่ม เมืองพรหม IP: 10.0.1.81, 180.183.49.145 3 ตุลาคม 2554 23:10:14 น.  

 

ขอเสริมให้นิดนึงนะครับ..สำหรับข้อมูลที่วัดมาได้แล้วไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติ ความคิดเห็น ค่านำยม ความเชื่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเชิงนามธรรมแบบนี้ การนำข้อมุลไปวิเคราะห์ต้องพิจารณาให้ดีว่าสามารถวิเคราะห์ด้วยสถิติตัวใดบ้าง..ส่วนมากที่พบมาจะนำไปทำการวิเคราะห์หาค่า mean, SD. หรือทดสอบ t-test, F-test หาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) แต่ความเป็นจริงแล้วตามหลักวิชาการทางสถิติแล้วถือว่าผิดนะครับ ไม่สามารถทำได้ เพราะข้อมูลกลุ่มนี้อยู่ในระดับการวัดแค่นามบัญญัติ (Norminal scale) เท่านั้น ซึ่งข้อมูลระดับนี้จะทำการหาได้แค่ ความถี่ ร้อยละ หรือทำการทดสอบด้วยไค-สแควร์ ได้เท่านั้น ส่วนรายละเอียดการวัดข้อมูลแต่ละระดับ รวมทั้งการนำไปใช้สามารถอ่านได้ตามหนังสือ สถิติ เกือบทั่วไป ครับ

 

โดย: ttt IP: 119.46.182.3 22 ธันวาคม 2554 10:59:16 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: 1733 IP: 192.168.1.173, 124.120.250.178 30 มกราคม 2555 9:35:22 น.  

 

ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

แต่ก็ยังมีข้อสงสัยค่ะ คือว่า เราจะวัดทัศนคติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ไม่ทราบว่าจะกำหนดหัวเรื่องที่จะวัดยังไง ตอนแรกเรายึดตามหัวข้อการมีส่วนร่วม (เช่น ความพึงพอใจในขั้นตอนการรับรู้ข้อมูล) แต่อาจารย์บอกว่า เราควรยึดตามทัศนคติ เราอ่านมาตั้งนานแล้ว ยังมืดแปดด้านอยู่เลย

...

ใครพอทราบ รบกวนช่วยหน่อยค่ะ

 

โดย: คนเริ่มทำวิจัย IP: 1.46.152.237 7 มีนาคม 2555 20:31:20 น.  

 

ขอบคุณมากครับกำลังหาอ่านอยู่พอดีเลยครับ ได้ความรู้ดีมากครับ เป็นกำลังใจให้ครับ ^^

 

โดย: joke IP: 115.67.224.34, 202.28.5.12 11 มิถุนายน 2555 9:50:15 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ ที่ทำให้เข้าใจเเละมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น จากหนังสือที่เรียน

 

โดย: komkwan IP: 122.154.246.2 26 กันยายน 2555 16:12:14 น.  

 

ได้ความรู้ดีค่ะ

 

โดย: ครูเพ็ญ IP: 110.78.147.119 20 มิถุนายน 2556 13:36:32 น.  

 

ได้ความรู้เพิ่มจริงๆ ขอบพระคุณมากๆค่ะ

 

โดย: ณัฐณิชา IP: 101.51.38.196 29 สิงหาคม 2556 0:10:31 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ

 

โดย: อังสุมาลิน IP: 49.230.53.134 5 มิถุนายน 2558 20:00:02 น.  

 

ขอบคุณมากนะคะ

 

โดย: มุทิตา IP: 157.7.52.183 7 มกราคม 2560 11:24:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.