พฤษภาคม 2555

 
 
5
8
12
18
22
23
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog
บึนทึกหนังเขย่าขวัญ :::: มาดูกับมาดาม: บันทึกลับโรงเรียนสยอง 1

อย่าพลอดรักในที่ลับตา
อย่าร่าเริงหรือรั่วเกินเหตุ
อย่าพูดว่า “เดี๋ยวฉันจะกลับมา”
อย่าแยกออกจากกลุ่ม
อย่าอยากรู้อยากเห็นไปซะทุกเรื่อง
อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า แม้ว่าเขาหรือเธอจะหล่อ สวย หรือ แก่ แค่ไหนก็ตาม
...เพราะสิ่งที่คุณเห็นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด!

ทราบหรือไม่คะว่าข้อห้ามเหล่านี้คืออะไร? ใช่แล้วค่ะ เรากำลังพูดถึง “กฎของการอยู่รอด” ของเหล่าตัวละครในภาพยนตร์แนวสยองขวัญ และวันนี้มาดามจะมาเล่าที่มาที่ไปของ ภาพยนตร์แนวเลือดสาด ผีอาฆาต อสุรกายอาละวาดให้อ่านกันค่ะ ว่าไอ้แนวที่ว่าเนี่ย มีความเป็นมายังไง?

“Whatever you do, don’t fall asleep.”
“ไม่ว่าคุณจะทำอะไร อย่าเผลอหลับ”
A Nightmare on Elm Street (1984)


ภาพยนตร์แนวสยองขวัญหรือที่เรียกเป็นภาษาสากลว่า Horror Film เป็นแนวที่สร้างขึ้นเพื่อ “เขย่าขวัญ” และ “กระตุกประสาท” สร้าง “ความกลัว” ให้กับผู้ชม โดยมากมักจะเป็นเรื่องราวที่ล้อเล่นกับด้านมืดและความกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ ภายในจิตใจของเรา ทั้งสิ่งลึกลับ วิญญาณ ความมืด สิ่งที่มองไม่เห็น ซาตาน มนุษย์ต่างดาว ผีร้ายในตำนาน ฆาตกรโรคจิต นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง เพื่อนมนุษย์ หรือแม้กระทั่งจิตใจของเราเอง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะกลัวอะไรมากเป็นพิเศษ...ว่าแต่ว่าคุณผู้อ่านล่ะคะ กลัวอะไรกัน?

“Hi, I’m Chucky, wanna play?”
“หวัดดี ฉันชื่อชัคกี้ อยากจะเล่นกับฉันไหม?”
Child’s Play (1988)


ภาพยนตร์แนวนี้ไม่ได้เป็นแนวแปลกแหวกแนวแต่อย่างใดเลยค่ะ ในทางตรงกันข้ามแนวนี้ถือเป็นภาพยนตร์แนวแรกๆ ที่ถูกนำมาผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1920s ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ควันหลงของสงครามทำให้ผู้คนหวาดกลัวและเหนื่อยหน่าย ศิลปะแบบเอ็กเพรสชั่นนิส (Expressionism) หรือศิลปะแนวแสดงพลังอารมณ์ จึงก่อกำเนิดขึ้น และศิลปะแบบนี้เองที่ถูกนำมาปรับใช้ในภาพยนตร์โดยเฉพาะแนวสยองขวัญ ซึ่งจุดเด่นของหนังสไตล์นี้ก็อยู่ที่การเล่าเรื่องด้านมืดของมนุษย์ การสร้างฉากและภาพผิดธรรมชาติเพื่อแสดงถึงความวิปริต ทั้งแสง เงา และมุมกล้อง ก็ถูกออกแบบให้ขัดแย้งกันเพื่อแสดงถึงความไม่มั่นคงของจิตใจมนุษย์



สำหรับหนังแนวเอ็กเพรสชั่นนิสนี้ เรื่องแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักของคอหนังหลายๆ คนก็คือ The Cabinet of Dr. Caligari (1919) โดย Robert Wiene และ Nosferatu (1922) โดย F.W. Murmau โดยทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นหนังเงียบ (ภาพยนตร์ไร้เสียงประกอบและบทพูด) กำกับโดยผู้กำกับระดับตำนานสัญชาติเยอรมัน ต้นฉบับหนังสไตล์ German Expresionism ซึ่งเรื่องแรกเป็นเรื่องประสบการณ์อันน่ากลัวของ Dr. Caligari ส่วนเรื่องที่สองถือเป็นต้นแบบของแวมไพร์...สาวกทไวไลท์ (Twilight) ลองไปหาดูนะคะ แวมไพร์ยุคเก่าน่ะไม่ได้หล่อและรวยเหมือนเอ็ดเวิร์ดแห่งตระกูลคัลเลน (ตระกูลของพระเอกในเรื่อง Twilight) หรอกนะคะ ออกจะน่ากลัวมากกว่าน่าอยู่ใกล้ๆ

Trailer 1: Nosferatu

ตัวอย่างภาพยนตร์ Nosferatu (1922)

ยุคถัดมาช่วงปี 1930s เริ่มมีการนำเสียงมาประกอบภาพยนตร์ เสียงเพลงประกอบและบทพูดทำให้หลอนมากขึ้น หนังแนวสยองขวัญ ระทึกขวัญจึงเกิดขึ้นมากมายในยุคนี้ โดยเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนก็เช่น Dracular (1931), Frankenstien (1931), M (1931), The Mummy (1932), King Kong (1933) และ The Werewolf of London (1935) เป็นต้น



หลังยุค 1940s มีภาพยนตร์แนวสยองขวัญถูกสร้างขึ้นพร้อมด้วยกลวิธีในการสร้างความหลอนที่ดี และทันสมัยมากขึ้นมาอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น The Thing (1951), House of Wax (1953), Godzilla (1954), The Fly (1958) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคนี้ เรื่องราวของหนังสยองขวัญมักจะเกี่ยวกับปิศาจแวมไพร์ มนุษย์หมาป่า ซอมบี้ มัมมี่ แฟรงเกนสไตน์ สัตว์ประหลาด และอสุรกายต่างๆ ซึ่งเป็นเหล่าร้ายที่คอหนังแนวสยองขวัญคุ้นหน้าคุ้นตากันดี หายนะจากบรรดาตัวร้ายเหล่านี้นี่แหละที่สร้างความกลัวให้กับคนดู การเผชิญหน้ากันของพระเอกนางเอกและตัวร้าย โดยเฉพาะในฉากสุดท้ายถือเป็นฉากสำคัญ สร้างความระทึกขวัญเขย่าประสาทให้คนดูลุ้นจนตัวโก่งว่าตัวเอกของเราจะกำจัด เหล่าร้ายนั้นๆ ได้หรือไม่?



แล้วก็มาถึงยุค 1960s จุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการหนังสยองขวัญ เรื่องเด่นๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็อย่างเช่น Psycho (1960), The Birds (1963), Rosemary’s Baby (1968) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าตัวร้ายในยุคนี้ก็ยังคงเป็นความร้ายกาจของสัตว์ประหลาด และอสุรกายรูปแบบต่างๆ อยู่ แต่จุดที่เปลี่ยนไปก็คือ มีการใช้ฆาตกรโรคจิต ฆาตกรต่อเนื่อง และความผิดปกติทางจิต มาสร้างกลวิธีใหม่ๆ ในการเขย่าประสาทมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลมาถึงภาพยนตร์แนวกระตุกขวัญในยุคต่อๆ มา

“I ate his liver with some fava beans and a nice Chianti.”
“ผมกินตับของเขากับถั่วปากอ้าและไวน์แดงชานเต้ดีๆ”
The Silence of the Lambs (1991)


โดยในช่วงหลังปี 1970s มีการสร้างตัวร้ายที่มีความวิปริตและผิดปกติทางจิตมากขึ้น อย่างที่รู้จักกันดีก็เช่น Leather Face จากเรื่อง The Texas Chainsaw Massacre (1974), ไมเคิล ไมเยอร์ (Michael Myers) จากเรื่อง Halloween (1978), เจสัน (Jason) จากเรื่อง Friday the 13th (1980), เฟร็ดดี้ ครูเกอร์ (Freddy Kreuger) จากเรื่อง A Nightmare on Elm Street (1984) และ ด็อกเตอร์ฮันนิบาล เลคเตอร์ (Dr. Hannibal Lector) จากเรื่อง The Silence of the Lambs (1991) ความเจริญทางวิทยาการต่างๆ ยังทำให้เทคนิคในการสร้างภาพยนตร์แนวสยองขวัญมีความน่ากลัวกระตุกขวัญ และหลอนประสาทมากขึ้นเรื่อยๆ


“Oh yes, there will be blood.”
“ใช่แล้ว มันจะต้องมีการนองเลือด”
Saw II (2005)


ในช่วงหลัง 1990s จนถึงปัจจุบัน แวดวงหนังสยองขวัญก็ไม่ได้น้อยหน้ายังคงเดินหน้าสร้างความหลอนกันต่อไป เพราะผู้ชมต้องการบริโภคของแปลกใหม่อยู่เสมอ วิทยาการที่ทันสมัยเริ่มเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรุนแรงโหดร้ายให้สมจริงมากขึ้น จากความน่ากลัวที่เคยสร้างมาแล้วในอดีตถูกต่อเติมให้มีความสยองขวัญมากกว่า เดิมที่เคยทำให้โหดก็ทำให้ซาดิสม์มากขึ้น ทั้งวิธีการฆ่าและทรมานเหยื่อ รวมไปถึงแรงผลักดันให้ฆ่าก็วิปริตมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เคยสร้างให้หลอนก็ทำให้หลอนมากขึ้น จากที่เคยหลอนจากเรื่องผีๆ และสิ่งที่มองไม่เห็นก็เริ่มมาหลอนจากด้านมืดที่แฝงอยู่ในจิตใจของมนุษย์ เช่น The Cell (2000) หรือที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากก็ Black Swan (2010) นอกจากนี้บรรดาเหล่าผีและอสุรกายต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนารูปลักษณ์ให้น่าเกลียดน่ากลัวมากขึ้น เช่น Scream (1996), Deep Blue Sea (1999), Final Destination (2000), 28 Days Later (2002), The Ring (2002), Underworld (2003), Saw (2004), Dawn of the Dead (2004), The Grudge (2004), Paranormal Activity (2005), Fright Night (2011) เป็นต้น


“I had the craziest dream last night about a girl who has turned into a swan,
but her prince falls for the wrong girl and she kills herself.
“ฉันฝันเรื่องบ้าที่สุดเมื่อคืนเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่กลายเป็นหงส์
แต่เจ้าชายของเธอก็ไปรักคนอื่น เธอเลยฆ่าตัวตาย”
Black Swan (2010)



Trailer 2: Black Swan

ตัวอย่างภาพยนตร์ Black Swan (2010)

เป็นยังไงกันบ้างคะประวัติศาสตร์เรื่องหลอนๆ หวังว่าคงไม่ได้ทำให้ใครหลายคนหลอนจนนอนไม่หลับนะคะ คราวหน้าเราจะมาต่อกันค่ะว่า แล้วเทรนด์หนังแนวสยองขวัญในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคหลังปี 2000 ว่ามีพัฒนาการกันยังไงบ้างทั้งโครงเรื่อง เหล่าร้าย และกลวิธีสร้างความเขย่าขวัญ ขอบอกว่าสร้างสรรค์ไม่หยอกเลยทีเดียว สำหรับสัปดาห์นี้มาดามขอลาไปก่อนนะคะ เจอกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

ขอให้ดูหนังกันอย่างมีความสุขค่ะ (แต่อย่าหลอนนะคะ)

มาดามอองทัวร์

ข้อมูล และภาพประกอบ: www.thecabinet.com, www.filmcritic.com,www.filmsite.org, www.thecdr.org, www.imdb.com,//ziningmetal.exteen.com

ที่มา //www.thairath.co.th/ent




Create Date : 04 พฤษภาคม 2555
Last Update : 4 พฤษภาคม 2555 20:00:02 น.
Counter : 1761 Pageviews.

1 comments
  
โดย: replay วันที่: 9 พฤษภาคม 2555 เวลา:13:17:41 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

replay
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





free website hit counter
New Comments
  •  Bloggang.com