ธันวาคม 2554

 
 
 
 
3
8
10
11
14
17
19
24
25
26
31
 
All Blog
5+1 ภาพยนตร์เนื้อหาเยี่ยม แห่งปี 54
อีกไม่กี่วันจะถึงสิ้นปี ผมขออนุญาตใช้โอกาสนี้ พูดถึงหนังกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้าฉายในปีที่ผ่านมา ผมไม่อาจเรียกมันว่าหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุด ดีที่สุด หรืออะไรที่ลงท้ายด้วย “ที่สุด” แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องที่สุด ก็คงต้องบอกว่ามันเป็นหนังที่ผมรู้สึกดีกับมันมากที่สุด โดยใช้เกณฑ์ทางด้านเนื้อหาสาระหรือประเด็นเป็นตัวตั้ง

แน่นอนครับว่า สาระหรือประเด็นที่ผมได้จากหนังแต่ละเรื่อง ก็อาจแตกต่างจากที่คนอื่นได้รับ เพราะเราต่างก็จับต้องหนัง ด้วยพื้นฐานทางโลกทัศน์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็นี่แหละครับ คุณูปการของหนังดีๆ มันเปิดพื้นที่ให้เรารู้สึก-นึก-คิด ได้กว้างขวางไร้ขอบเขตเสมอ

1.In a Better World : สุขทุกข์ 'ส่วนบุคคล'
ไม่แน่ใจว่า เพราะคนเรามักจะยึดเอาตัวเองเป็นใหญ่และคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นน้อยลงกันไปทุกวันหรือเปล่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงมีหนังแนวหนึ่งถูกผลิตออกมาอย่างไม่เคยขาดสาย นั่นคือหนังที่ทำให้เราตระหนักถึง “การมีอยู่” ของความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งมีชีวิต ไม่ใช่พระอิฐพระปูน เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็น “คุณค่าของชีวิต” ที่แต่ละชีวิตย่อมมีสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

อย่างปีที่ผ่านมา ก็มีหนังอย่างเช่น Rise of the Planet of the Apes และ The Help ซึ่งดูจะส่งเสียงดังๆ บอกถึงประเด็นดังกล่าวนี้ได้อย่างคมชัด สิ่งมีชีวิตในโลก ไม่ว่าจะสูงต่ำ ดำ ขาว หรือแม้กระทั่งเป็น “สัตว์” (เหมือนกับลิงในหนัง Rise of the Planet of the Apes) ต่างก็มีความรู้สึกรู้สา เจ็บปวด สุข ทุกข์ ไม่ต่างไปจากกัน จิตสำนึกแบบเท่าเทียม ทำให้เราเคารพผู้อื่น ไม่รุกรานเพราะเห็นคนอื่นต่ำต้อยตัวเล็ก และเราก็คงจะไม่ต้องมีคนแบบ “มนุษย์จิ๋ว” ในเรื่อง Arriety ที่ต้องถอยร่นให้กับคนตัวใหญ่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ขณะที่หนังทุกเรื่องที่พูดมา ทำให้เราตระหนักในคุณค่าแห่งความเท่าเทียม ผมรู้สึกว่า หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์เมื่อครั้งที่ผ่านมา อย่าง In a Better World กลับมีความคมคายในเนื้อหาที่แยบยลขึ้นไปอีก เพราะมันเล่าถึงความทุกข์ความสุขส่วนบุคคล ที่บางที ผู้อื่นก็ยากจะเข้าถึง

เรื่องบางเรื่อง สำหรับคนหนึ่ง อาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กับอีกคน มันอาจจะหมายถึงความอึดอัดคับข้องที่แบกไว้จนหนักบ่า คนเรามีวุฒิภาวะและความสามารถในการ “อธิบาย” หรือ “ตอบโต้” ต่อทุกสิ่งทุกอย่างแตกต่างกัน เหมือนกับตัวละครทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในหนังเรื่องนี้ที่ต่างก็มีปัญหากักเก็บไว้ในใจ ดังนั้น ในมุมมองของหนัง จึงไม่ควรจะมีใครไปปรามาสว่าปัญหาของใครยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยไปกว่ากัน

โดยส่วนตัว ผมมักจะรู้สึกดีทุกครั้งที่มีใครเล่าให้ฟังว่า มีคนโน้นคนนี้มาปรึกษาปัญหาส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที (แฟนทิ้ง, มือถือพัง, บ้านผุ, ติดหนี้ ฯลฯ) ที่ว่ารู้สึกดี เพราะอย่างน้อยๆ ก็เห็นว่าโลกนี้ยังมีคนที่พร้อมจะรับฟังปัญหาคนอื่นอยู่ แม้จะช่วยอะไรไม่ได้นักก็ตามที

2.Source Code : สิทธิที่พึงมี
จุดเด่นในงานชิ้นนี้ของผู้กำกับดันแคน โจนส์ (จากเรื่อง Moon) ก็คือ แม้หนังจะต้องเล่นกับสถานการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ ในขบวนรถไฟสายหนึ่ง แต่การ “ย้อนกลับ” ไปสู่สถานการณ์เดิมนั้นในแต่ละครั้ง กลับไม่ทำให้รู้สึกซ้ำซากหรือน่าเบื่อหน่ายเลยแม้แต่น้อย ส่วนหนึ่งนั้น เป็นเพราะการพลิกแพลงแปลงเปลี่ยนของรายละเอียดปลีกย่อย เป็นเทคนิคการเล่นกับเรื่องราวที่มีประสิทธิภาพ

นอกเหนือไปจากผู้ร้ายในเรื่องซึ่งเป็นผู้ร้ายในแบบที่เกลียดลงได้ยากเพราะสิ่งที่เขากำลังกระทำนั้น ถือเป็นการตอบโต้ที่สมเหตุสมผลและเรียกใจของคนดีๆ ให้เห็นคล้อยด้วยอย่างน่าประหลาด ท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นหนังแอ็กชั่นทำลายล้าง Source Code ยังหาจุดจบให้กับตัวเองได้อย่างโรแมนติกและเต็มไปด้วยความรู้สึกดีๆ

ขณะที่เนื้อหาอันว่าด้วยความสำคัญของปัจเจก ก็แหลมคมไม่แพ้กัน เพราะหนังพูดไว้ชัดเจนว่า ไม่ว่าคนๆ หนึ่งจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นใด จะขาดเหลืออวัยวะกี่ชิ้นในร่างกาย แต่สิทธิในการเลือกสิ่งที่หัวใจตัวเองเรียกร้องของเขา ก็ควรได้รับการเคารพ

3.Win Win : คนดีใส่หน้ากาก
อันที่จริง มีหนังที่เกี่ยวกับทนายความ อย่าง The Lincoln Layer ซึ่งถือเป็นหนังดีๆ ที่เกี่ยวกับทนายความผู้หนึ่งซึ่งอยากจะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่จะสามารถทำให้ตัวเองสบตาตัวเองในกระจกได้อย่างปลอดโปร่ง แต่จะว่าไป หนังเนื้อหาทำนองนี้ก็พอมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้วในตลาดหนังฮอลลีวูด

ดังนั้น ผมจึงนึกมาถึงเรื่อง Win Win หนังที่ว่าด้วยทนายความวัยกลางคนซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบากด้านการเงิน ก่อนจะพาตัวเองก้าวถลำไปทำเรื่องราวบางเรื่องอันนำมาซึ่งความร้าวฉานที่เหนือการคาดหมาย

พอล จิอาแม็ตติ แสดงเป็นทนายความคนดังกล่าว แม้หนังจะมีบางมุมที่ชวนให้นึกถึง The Blind Side ในแง่ความใจดีที่ยังหลงเหลืออยู่ในสังคมอเมริกันชน แต่แก่นแกนเชิงลึกของเนื้อหา Win Win ไปไกลกว่าเพียงแค่การเทิดทูนจิตวิญญาณดีงามของผู้คน

ด้วยบรรยากาศการดำเนินเรื่องที่ดูเรื่อยๆ ไม่หวือหวา แต่ทว่าไม่น่าเบื่อ ความจริงอย่างหนึ่งซึ่ง Win Win เปลือยปลิ้นให้เราดูก็คือ สิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายนั้น ล้วนจะต้องถูกมองเห็นไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราอาจจะโกหกคนทั้งโลกได้บ้าง “บางเวลา” แต่ไม่มีวันที่เราจะหลอกลวงคนอื่นได้ “ตลอดเวลา”

และที่เย้ยหยันมากยิ่งไปกว่า ซึ่งหนังนำเสนอออกมาอย่างแสบสันก็คือ คนเรา ถ้าต้องการอยากได้อะไร แล้วพูดมันออกมาชัดๆ โดยไม่แคร์ว่าโลกจะรู้สึกแย่อย่างไรกับตัวเอง บางที ยังน่าจะดีซะกว่าคนบางคนที่อ้างการทำความดี แต่เบื้องหลังนั้นคือความกระหายใคร่อยากในประโยชน์โภชผล ซ้ำมิหนำยังทำให้ผู้คนหลงเชื่อว่าตนเป็นคนดี
คนแบบหลังนี้ เราสามารถพบเห็นอยู่บ่อยๆ ใช่ไหม ในสังคม?

4.One Day : 'ถ้าหากรักนี้ ไม่บอกไม่พูดไม่กล่าว...'
ตลอดทั้งปี มีหนังรักที่ทำได้ดีหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Blue Valentine, Norwegian Wood ที่มีอัตราส่วนของความโศกเป็นองค์ประกอบค่อนข้างสูง ไปจนถึง Love & Other Drugs ที่มีสายตาโรแมนติกต่อความรักในแง่ที่สามารถเยียวยาความปวดร้าวบางประการ

แต่กระนั้น ถ้าจะต้องเลือกหนังรักสักเรื่องที่เป็น “หนังรั๊กก...หนังรัก” ผมอยากจะเลือก One Day ที่แม้จะมีเนื้อหาวาระคาบเกี่ยวกับ When Harry Met Sally หนังโรแมนติกคอเมดี้ในตำนาน ในบางแง่บางมุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สองชีวิตต้องก้าวผ่านวันเวลาอันเนิ่นนาน เหมือนเส้นทางสองสายที่ทอดผ่านกันไปมา แต่ทว่าไม่สามารถบรรจบเป็นหนึ่งเดียว

ตลอด 20 ปีแห่งการคบหา ระหว่างเอ็มม่ากับเด็กซ์เตอร์ มันเต็มไปด้วยเรื่องราวมากหลาย แม้จะห่างไกล แต่ยังห่วงใยผูกพัน ยังกลับมาดูแลกันและทะเลาะกันในบางวาระ 20 ปีที่ผ่าน พวกเขาทำอะไรไปมากมายหลายอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งมีครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งซึ่งพวกเขาไม่ได้ทำ และก็ถือเป็นความจริงอีกสิ่งหนึ่งสำหรับคนหลายๆ คนในโลกนี้ก็คือ การบอกคำว่ารักกับคนที่ตัวเองอยากจะบอก

5.Drive : พลังงานที่ปฏิเสธไม่ได้
มีหนังแอ็กชั่นหลายเรื่องมากที่ผมชอบในขวบปีที่พ้นผ่าน ทั้ง Fast Five, MI4 หรือหนังฮีโร่อย่าง X-Men นั่นก็ใช่ แต่สำหรับ Drive ที่ขับแซงเรื่องอื่นมาได้ เป็นทั้งแง่ของสไตล์และเนื้อหาที่นุ่มลึก

สไตล์การขับเคลื่อนของ Drive แตกต่างอย่างแน่นอนกับพลขับแห่ง Fast Five ที่ “มัน” ได้อกได้ใจ แต่ Drive จะขับไปแบบเรื่อยๆ ไม่โฉ่งฉ่าง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเหยียบคันเร่ง ก็แรงใช่ย่อย อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่หนังแอ็กชั่นขับรถอย่างที่ใครส่วนใหญ่คาดหวัง และยิ่งถ้าคุณไม่ชอบหนัง “ช้าๆ” ด้วยแล้ว อาจมีหลับ

กระนั้นก็ดี ผมคิดว่า เนื้อหาที่เจ๋งๆ ของหนังนั้นอยู่ที่บทบาทของตัวแสดงอย่างไรอัน กอสลิ่ง (ขวัญใจสาวๆ หลายคน) ที่เล่นเป็น “ผู้ชายสองโลก” กลางวันรับจ้างเป็นสตันต์แมนให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ แต่กลางคืน รับจ้างขับแท็กซี่ให้กับพวกนักเลงมาเฟีย

ดูไรอัน กอสลิ่ง ในหนังเรื่องนี้แล้ว ผมไพล่นึกไปถึง “ชาร์ลี” (ฮาร์วี่ ไคเทล) ในเรื่อง Mean Street ที่พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวบางเรื่องทั้งที่จะไม่สนอกสนใจเลยก็สามารถกระทำได้ แต่เป็นเพราะมนุษยธรรมในใจ จึงทำให้วางเฉยไม่ได้เมื่อคนอื่นถึงคราวเดือดร้อน

หายากนะครับ คนแบบชาร์ลี ก็อย่างที่เขาพูดไว้นั่นแหละ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด กลัวตัวเองลำบากยุ่งยากหรือเพราะใจแคบ แต่...“เดี๋ยวนี้ คนเราไม่พยายามกันอีกต่อไปแล้ว” ในความหมายของการใส่ใจในสุขทุกข์ของผู้อื่นและพยายามหยิบยื่นเท่าที่จะทำได้

ในฟากของไรอัน กอสลิ่ง ในหนังเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่หนังปรับมุมเปลี่ยนโหมดให้ดูโรแมนติกขึ้นมาหน่อย เมื่อพูดถึงว่า ความรักนั้น สามารถเป็นพลังงานขับเคลื่อนผลักดันคนเราได้เป็นอย่างดี

6.127 Hours : อย่าสูญเสีย...
เมื่อเกิดสถานการณ์เลวร้ายในชีวิต เราจะทำอย่างไร?

นี่เป็นโจทย์ที่ถูกถามมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในหนังนับไม่ถ้วน จะมองโลกอย่างมีความหวังเหมือนอย่างชายหนุ่มในหนังเรื่อง 50/50 ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังแห่งกำลังใจที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่งของปีนี้ หรือจะแตกตื่นตกใจกลัวตั้งแต่เหตุยังไม่เกิดเหมือนตัวละครใน Take Shelter

อย่างไรก็ดี ถ้าจะต้องเลือก ผมอยากจะเลือกงานของผู้กำกับแดนนี่ บอยล์ เรื่องนี้ 124 Hours
หนังสร้างมาจากชีวิตจริงๆ ของนักเดินทางผจญภัยชื่ออารอน รอลสตัน ในเรื่อง ซึ่งเขาโชคร้ายตกลงไปในช่องผาแคบๆ โดยมีก้อนหินก้อนใหญ่ทับแขนข้างหนึ่ง ไร้ผู้คนช่วยเหลือ และต้องติดอยู่ในนั้นนานถึง 127 ชั่วโมงเหมือนชื่อเรื่อง

ภาพชีวิตของอารอน รอลสตัน ในช่วงที่ติดอยู่กับซอกผานั้น ก็คือภาพสะท้อนของเราๆ ท่านๆ ที่แม้จะไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับหนุ่มนักผจญภัย แต่พอมีเรื่องร้ายๆ เราก็มักจะเป็นเช่นเดียวกับเขา โศกเศร้า ครวญคร่ำ และอีกสารพัดที่สะท้อนถึงความอ่อนแอและเปราะบางของหัวใจ

นอกไปจากการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวในซอกผา ผมนึกถึงเรื่องราวหลังจากนั้นของอารอน รอลสตัน ที่ต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนในร่างกายไป คนๆ หนึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรท่ามกลางอะไรๆ ที่ไม่เหมือนเดิม

เรื่องราวของรอนสตัน เหมือนจะยืนยันชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่สูญเสียไป ไม่ได้ทำให้พลังที่จะสังสรรค์กับโลกกับชีวิตของเขาด้อยลงกี่มากน้อย อย่างน้อยที่สุด ประสบการณ์กลางซอกผาในวันเวลายากๆ เหล่านั้น ก็กลายเป็นที่มาของหนังสือสารคดีผจญภัยที่เขาเขียนจนสำเร็จก่อนจะถูกถ่ายเทมาถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ที่เราได้ดู

เช่นเดียวกันครับ เราอาจสูญเสียอะไรหลายอย่างในขวบปีที่ผ่านมา ก็ไม่เป็นไร แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่พึงรักษาไว้ไม่ให้เสีย...

แม้ถ้อยคำประโยคหนึ่งของรอลสตันที่หลุดออกมาภายหลังการคร่ำครวญโวยวายจนเพียงพอ จะไม่ได้บอกชัดเจนว่า คำว่า “อย่า...อย่าสูญเสียมันเป็นเด็ดขาด” จะหมายถึงการสูญเสียอะไร แต่ถ้าใครดูหนังไปจนจบ ก็คงอยากจะคิดเช่นเดียวกันครับว่า ขณะชีวิตเผชิญวิกฤติ สิ่งที่อารอน รอลสตัน พยายามเรียกคืนกลับมา ก็ไม่ใช่อะไรที่สูงเกินเอื้อม เพราะมันคือเรื่องง่ายๆ อย่าง “สติสัมปชัญญะ” และ “กำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่”...


ที่มา Manager.co.th



Create Date : 29 ธันวาคม 2554
Last Update : 29 ธันวาคม 2554 14:14:42 น.
Counter : 1047 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

replay
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





free website hit counter
New Comments
  •  Bloggang.com