Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
11 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
วิทยุสื่อสารนั้นสำคัญไฉน? ตอนที่ 1

ผู้ชมฟอร์มูล่าวันทางโทรทัศน์ยุคหลังๆ นี้สนุกกับการแข่งขันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งเนื่องจากได้รับฟังข้อมูลติดต่อสื่อสารระหว่างนักขับกับทีมงานผ่านทางวิทยุนั่นเองค่ะ บางข้อความก็ฟังเข้าใจไม่มีอะไรซับซ้อน แต่บางอย่างก็ใช้โค้ดเพื่อไม่ให้คู่แข่งรู้แผนการได้ หรือกระทั่งบอกเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคซึ่งคนทั่วไปไม่เข้าใจแน่นอน

ว่าแต่การติดต่อผ่านวิทยุสื่อสารระหว่างวิศวกรการแข่งขัน (race engineer) กับนักขับในช่วงการแข่งขันมีความสำคัญขนาดไหน เว็บไซต์ autosport.com ได้ชวนวิศวกรการแข่งขันชื่อดัง 2 คนมาพูดคุยและไขความลับให้แฟนๆ ได้ทราบ ซึ่งข้อมูลมีค่อนข้างมาก คนเขียนขออนุญาตแบ่งเป็น 2 ตอนนะคะ โดยวันนี้เราจะได้อ่านคำสัมภาษณ์ของแอนดรูว์ โชฟลิน อดีตวิศวกรการแข่งขันของเจนสัน บัตตัน ในปี 2009 หรือปีที่เขาเป็นแชมป์โลกกับบรอว์น จีพี และปัจจุบันเป็นหัวหน้าวิศวกรการแข่งขันของเมอร์เซเดสกันก่อนค่ะ

คุณมีวิธีป้อนข้อมูลให้นักขับอย่างไรโดยไม่เป็นการรบกวนพวกเขา?

ตรงนี้ขึ้นอยู่กับนักขับเป็นหลัก ปัญหาของการแข่งขันยุคปัจจุบันคือเราไม่สามารถให้พวกเขาขับไปเงียบๆ โดยไม่รบกวนกันเพราะมีสิ่งสำคัญหลายอย่างที่พวกเขาต้องเข้าใจ นักขับไม่ได้ว่าอะไรถ้าติดต่อไปตอนเขาอยู่บนทางตรง ผมไม่เคยเห็นว่านักขับมีปัญหากรณีนี้ แต่ถ้าเราเริ่มคุยกับเขาตอนเข้าโค้ง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ) ในระหว่างกำลังเข้าสู่ระยะเบรกและกำลังจะแตะเบรกที่จุดเบรก การทำแบบนั้นจะทำให้เขาพลาดจุดเบรกที่เหมาะสมได้

นักขับบางคนอยากรู้ความเป็นไปของการแข่งขันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะภาพที่เขาเห็น อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยเห็นนักขับคนไหนจะชอบหากไปป้อนข้อมูลให้เขาตอนกำลังวิ่งทำเวลาในรอบควอลิฟาย เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อน และเมื่อเขามาถึงเซกเตอร์สุดท้ายก่อนเริ่มจับเวลารอบต่อไป เราก็ต้องแน่ใจว่าเราได้ให้ข้อมูลที่เขาควรรู้ไปทั้งหมดแล้ว จากนั้นปล่อยให้เขาทำหน้าที่ของเขาไป




แอนดรูว์ โชฟลิน กับรอส บรอว์น ทีมบอสเมอร์เซเดส



ยากหรือไม่กับการหาจุดที่พอดีกันเมื่อเริ่มทำงานกับนักขับคนใหม่?

ยากที่จะเข้าใจเหมือนกัน เราอาจจะนั่งคุยกัน ใช้เวลาด้วยกันหลายวัน แต่จนกว่าจะได้เริ่มเข้าสู่สุดสัปดาห์การแข่งขันนั่นเองแล้วจึงจะพบว่ายากมากที่จะเข้าใจว่าอะไรที่เขาอยากรู้และอะไรที่เขาไม่อยากรู้

ตอนที่เราเริ่มทำงานกับมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ปรากฏว่าเขาอยากรู้ทุกอย่างจนเหมือนกับว่าให้ข้อมูลเท่าไหร่ก็ไม่พอ ส่วนลูอิส แฮมิลตัน กับนิโค รอสเบิร์ก ค่อนข้างธรรมดากว่านิดหนึ่งในแง่ของข้อมูลที่พวกเขาต้องการฟัง ซึ่งทางเราจะรู้ความเป็นไปของรถมากกว่าเช่นว่ายางเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ ก็เป็นข้อมูลประเภทนี้ที่ส่งไป ถ้าเราแปลข้อมูลเป็นการทำงานให้เขาได้ เขาก็อยากรู้ว่าคืออะไร

ดังนั้น ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มรอบ พวกเขาจะอยากรู้ว่าความดันยางอยู่ในช่วงที่เหมาะสมหรือไม่ โดยอยากได้ข้อมูลเมื่อตอนวิ่งไปได้ครึ่งรอบหลังออกจากพิตว่ายางหน้ายังเย็นอยู่หรือเปล่าเพื่อที่พวกเขาจะได้จัดการให้เรียบร้อย

แน่นอนว่านักขับไม่ได้อยากได้ข้อมูลเอาตอนจะเบรกเข้าโค้ง 1 เพราะพวกเขาทำอะไรไม่ได้แล้วในตอนนั้น นอกจากนั้นยังมีข้อมูลอื่นๆ อีกที่เขาอยากรู้ เช่น ใครทำเวลาเร็วอีกบ้าง เขาจะทำให้เร็วขึ้นได้อย่างไร เพื่อนร่วมทีมกำลังทำอะไรอยู่ เป็นต้น หลายปีก่อนเราทำงานพวกนี้ในโรงจอดรถ แต่ตอนนี้เราเปรียบเทียบให้พวกเขาฟังสดๆ ได้เลย

นักขับทั้งสองคนจะพยายามใช้เกียร์หรือวิธีเข้าโค้งในแบบที่ต่างกันเพื่อให้การเข้าโค้งต่อเนื่องได้ผลที่ดีที่สุด หากเราเห็นว่านักขับคนใดคนหนึ่งพยายามทำสิ่งใหม่ๆ เราก็จะนำมาวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนดีกว่าและนำข้อมูลส่งไปให้นักขับอีกคนเพื่อที่จะได้ลองดูหากจะช่วยให้เวลาดีขึ้นได้

สำหรับผู้ชม ข้อมูลบางอย่างก็ดูเข้าใจง่าย อย่างเช่นคำสั่งเมื่อสิ้นสุดรอบวอร์มอัพ...

มีวิธีจัดการมากมายเพราะบางอย่างในบางจุดอาจผิดพลาดได้ เราแค่เตือนเขา ซึ่งไม่ได้เสียอะไร ไม่มีการลงโทษสำหรับการเตือน เพราะฉะนั้นเราก็ทำ

ปัจจุบันนี้ยุ่งยากมาก เพราะรถมีความซับซ้อนมากและมีอะไรมากมายกว่าแค่การขับ ทั้งการที่พวกเขาต้องติดตามระดับของ KERS อย่างใกล้ชิด หรือการปรับความเอียงของเบรกจากโค้งหนึ่งไปยังอีกโค้งหนึ่ง ดังนั้นการที่พูดเตือนออกไปเป็นส่วนช่วยนักขับได้ พวกเขาแค่ตอบสนองคำสั่งเท่านั้นเพราะมันง่ายกว่าที่ต้องมาคิดว่า 'แล้วฉันต้องทำอย่างไรต่อ?'

นอกจากเรื่องของการส่งข้อมูลแล้ว วิศวกรยังต้องมีส่วนในการช่วยให้นักขับมีสมาธิหรือคอยกระตุ้นหรือไม่?

คุณจะเห็นบ่อยครั้งเลยที่ทีมงานบอกให้นักขับลุยเต็มที่ จริงอยู่ที่พวกเขาอยู่ในสนามแข่ง เขารู้ว่าเขาต้องขับให้เร็ว บางคนจึงตอบสนองดี แต่บางคนก็อารมณ์เสียแถมไม่ได้ช่วยให้เร็วขึ้นด้วย นักขับแต่ละคนจะมีการตอบสนองแตกต่างกันในเรื่องนี้ เราจึงไม่ต้องบอกอะไรให้มากนัก อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันจะมีบางจุดที่เราอาจหาเวลาเร็วขึ้นได้อีก 0.2 วินาทีใน 3 รอบ หมายความว่าเราจะไปอยู่ข้างหน้าอีกคนหนึ่งได้ คือจบการแข่งขันเลื่อนขึ้นไปอีก 1 ตำแหน่ง

ด้วยความสามารถของยางแล้ว นักขับก็จะวิ่งหนักๆ ได้ใน 1-2 รอบ แต่ไม่ใช่วิธีที่เร็วที่สุดสำหรับการวิ่งระยะยาว พวกเขาไม่สามารถวิ่งแบบควอลิฟายได้หลายรอบติดต่อกัน เพราะฉะนั้นจึงสำคัญที่เราต้องให้ข้อมูลเหล่านั้นกับเขาถูกเวลา




แอนดรูว์ โชฟลิน ในพิตวอลล์ของเมอร์เซเดส



สิ่งที่นักขับหัวเสียมากที่สุดคือการที่เขาวิ่งมาสุดทางตรงแล้วทันใดนั้นมีคันอื่นออกมาจากพิตเลนเฉือนไปเพียง 5 เมตร ซึ่งเขาจะคิดว่าเขาควรอยู่ข้างหน้ามากกว่า ฉะนั้นเมื่อมีรถคันหนึ่งเข้าพิตและคาดว่าจะออกมาใกล้เคียงกับนักขับของเรา เราจะบอกเขาให้ใช้ KERS ทั้งหมดบนทางตรง ซึ่งถ้าหากไม่บอกข้อมูลกับเขาล่วงหน้า เขาก็จะโมโหที่ความจริงน่าจะเลื่อนขึ้นไปได้อีกหนึ่งอันดับ

มันเป็นเรื่องที่เราต้องแน่ใจว่าได้ให้ข้อมูลสำคัญกับนักขับ ถ้าเราเกิดแพ้จะได้ไม่ใช่เพราะเราไม่ได้ทำอะไรที่จะหยุดยั้งสิ่งนั้น

หน้าที่ของวิศวกรคือการรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาและผ่านกระบวนการส่งต่อไป แต่นักขับทำหน้าที่แตกต่างกัน เคยมีการปะทะทางหน้าที่หรือไม่ โดยที่เราก็ต้องคิดเสมอว่านักขับไม่ใช่วิศวกรและวิศวกรก็ไม่ใช่นักขับ?

นักขับก็แตกต่างกันไป นิโคเข้าใจความคิดของวิศวกรเป็นอย่างดี ดังนั้นเขาค่อนข้างจะมีส่วนร่วมอย่างมาก

มีหลายครั้งที่วิศวกรบอกนักขับให้ขับอย่างไรและไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยก็ได้ ในทางกลับกันก็เช่นกัน พอผ่านไปทั้งปีความสัมพันธ์ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมความสัมพันธ์ของนักขับกับวิศวกรบางคู่จึงคลิกกันดี ทั้งยังเข้ากันได้ดีระหว่างวิศวกร 2 คน หรือตอนนี้อาจ 3 หรือ 4 คนต่อรถหนึ่งคัน ทุกอย่างดูครอบคลุมดี

คุณเคยมีจุดที่ต้องปลอบให้นักขับอารมณ์เย็นลงบ้างไหม?

นักขับค่อนข้างจะตื่นเต้นเล็กน้อยเพราะเวลาอยู่ในรถจะเครียดมากกว่า เนื่องจากพวกเขาคือคนที่ต้องลงไปวิ่งรอบควอลิฟายหรือแข่งขันก็ตาม ถ้ารถเร็วไม่พอหรือเซ็ตไม่ถูกต้องเพราะหาจุดที่เหมาะสมไม่ได้ นักขับก็จะเริ่มวิตกเล็กน้อย งานของวิศวกรจะต้องทำให้พวกเขาสงบลง ไม่ให้ตื่นเต้นตกใจไป

ที่จริงสิ่งนี้เป็นงานที่ยากที่สุดงานหนึ่งของการเป็นวิศวกรเลยทีเดียว ถ้าหากเราทำรถได้เร็วซึ่งมีบาลานซ์ดีและได้ตำแหน่งโพลเรื่อยๆ ก็เป็นไปตามนั้น แต่ถ้ารถของขับยากก็จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่ามาก และยิ่งยากหากจะทดสอบใดๆ เพราะรถไม่ได้ตอบสนองสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคืออย่างพยายามก้าวไปถึง 3 ขั้นในครั้งเดียว

สำหรับสิ่งที่เกิดในสนาม เมื่อนักขับลงพร้อมกันและเกิดอะไรขึ้นในการแข่งขันจนต้องหล่นไปข้างท้ายก็เป็นหน้าที่ของวิศวกรที่จะต้องช่วยให้นักขับกลับมามีสมาธิ หรือบางครั้งดูเหมือนจะได้ขึ้นโพเดียมแล้วแต่ทันใดนั้นต้องหลุดลงไปอันดับที่ 10 วิศวกรก็ต้องทำให้นักขับมีสมาธิเหมือนเดิมเช่นกัน

ทุกครั้งที่ลงแข่งขัน เราอยากทำคะแนนให้มากที่สุด แต่อาจมีสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีทำให้ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เราอาจจะเจอยางแตก ต้องเปลี่ยนแผน และกลับมาให้ได้ตำแหน่งดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

การทำให้นักขับกลับมาตั้งสมาธิกับการแข่งขันดูเหมือนว่าเป็นการสื่อสารธรรมดาๆ สำหรับคนทั่วไป...

ใช่ แต่สำหรับนักขับนั้นการแข่งขันมีความซับซ้อน มีรถอีกหลายคันที่มีสมรรถนะพอกับรถของเรา

ยกตัวอย่างเรื่องที่เกิดกับลูอิสที่ซิลเวอร์สโตน เขากำลังนำการแข่งขันแล้วทันใดนั้นเขาต้องตกไปอยู่ข้างหลังโดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะจบได้ที่เท่าไหร่ นักขับในสถานการณ์เช่นนี้ไม่รู้เลยว่าตนเองจะจบอันดับที่ 17 หรือสามารถขึ้นไปถึงอันดับที่ 5 ดังนั้นเขาจึงอยากรู้ว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร หากพวกเขาไม่รู้ก็จะทำให้ไม่สามารถขับเต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์ได้ ซึ่งถ้าเราบอกเขาว่าสิ่งที่เขาทำได้มากที่สุดคืออันดับที่ 17 ก็คงมีนักขับน้อยคนนักที่จะทุ่มเทขับต่อไปเท่ากับที่เราจะบอกเขาว่าเขาสามารถกลับมาได้ถึงอันดับที่ 4 หรือ 5

สำหรับผู้ชมทางบ้าน ข้อความเล็กๆ น้อยๆ มักจะมาให้ฟังล่าช้ากว่าภาพที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งนี้ช่วยให้เข้าใจข้อความในวิทยุได้ยากขึ้นหรือไม่?

เป็นไปได้ อีกปัญหาหนึ่งก็คือการที่ทีมมักใช้รหัส เพราะเรามีหลายอย่างที่ต้องพูดกันแต่ไม่อยากให้ออกอากาศไป ยิ่งข้อความน่าสนใจและมีประโยชน์กับทีมอื่นมากเท่าใดก็เหมือนจะถูกถ่ายทอดออกไปมากเท่านั้น ทีมต่างๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่ส่งออกไป

ขณะที่เราชมการแข่งขันทางโทรทัศน์ จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่านักขับและทีมกำลังทำอะไร พวกเขาคิดอะไรกันอยู่ และการแข่งขันกำลังดำเนินไปอย่างไร แต่ทีมเองก็จับตามองสิ่งที่ถูกส่งออกไปยังนักขับคนอื่น

ถ้าหากเราได้ยินว่านักขับที่นำหน้าเราอยู่ 15 วินาทีมีปัญหากับเกียร์บ็อกซ์หรือเบรก นักขับของเราก็จะต้องเร่งไปกดดันคนข้างหน้านั้น ทีมงานจึงต้องคอยฟังซึ่งถือว่าค่อนข้างมีประโยชน์กับทีมเช่นเดียวกับแฟนๆ ทางบ้าน


ยังมีคำสัมภาษณ์เบื้องหลังการสื่อสารทางวิทยุระหว่างการแข่งขันจากวิศวกรคนดังอีกคนจากทีมโลตัส ติดตามต่อได้ในวันพรุ่งนี้นะคะ














*ข้อมูลและภาพจาก autosport.com/f1



Create Date : 11 สิงหาคม 2556
Last Update : 12 สิงหาคม 2556 1:00:29 น. 3 comments
Counter : 2165 Pageviews.

 
สุดยอดของข้อมูล ขอบคุณมากเลยครับ ^^


โดย: Puakpiak IP: 171.7.127.225 วันที่: 12 สิงหาคม 2556 เวลา:1:05:22 น.  

 
ขอบคุณมากๆครับ รออ่านต่อ


โดย: Dentist IP: 101.51.199.128 วันที่: 12 สิงหาคม 2556 เวลา:11:24:27 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: ตั้ว IP: 58.8.245.8 วันที่: 12 สิงหาคม 2556 เวลา:15:58:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.