Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
19 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
10 ยุคทองของ F1

เมื่อคิมี่ ไรค์โคเน่น หวนกลับมา หลายคนกล่าวกันว่าฟอร์มูล่าวันปี 2012 ประกอบด้วยกลุ่มนักขับที่มีคุณภาพมากที่สุดยุคหนึ่งเพราะมีนักขับดีกรีแชมป์โลกลงขับเคี่ยวชิงชัยกันถึง 6 คนหรือหนึ่งในสี่ของกริด และได้รับการบันทึกเป็นสถิติที่มีจำนวนแชมป์โลกต่อสู้กันในสนามมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟอร์มูล่าวัน อย่างไรก็ตาม ในอดีตก็มียุคทองของการรวมตัวของนักขับมากฝีมืออยู่หลายช่วง espnf1.com จึงได้รวบรวมช่วงเวลาที่น่าประทับใจทั้งหมด 10 ช่วงมาให้แฟนๆ ได้ย้อนรำลึกด้วยกัน


1953

ในปีนั้นฟอร์มูล่าวันยังดำเนินการแข่งขันโดยใช้กฎของฟอร์มูล่าทู แต่กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยนักขับระดับแถวหน้า ทั้งอัลแบร์โต้ อัสคารี่ ซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้นและได้ครองแชมป์โลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยต่อสู้กับคู่แข่งตัวเอ้อย่าง ฮวน มานูเอล ฟานจิโอ ที่เพิ่งฟื้นจากอาการกระดูกคอหักในปีก่อนและนีโน่ ฟารีน่า แชมป์โลกปี 1950 นอกจากนั้นยังมีนักขับพรสวรรค์สูงอีกมากมาย อย่างเช่น ไมค์ ฮอว์ธอร์น ซึ่งได้ชัยชนะสนามแรกในปีนั้น รวมไปถึงสเตอร์ลิ่ง มอสส์ และปีเตอร์ คอลลินส์ ที่เริ่มฉายแววแม้จะอยู่ในรถที่ด้อยกว่า

จำนวนแชมป์: 3
แชมป์ในอนาคต: 1





ฮวน มานูเอล ฟานจิโอ ในรถมาเซราติถูกประกบด้วยนักขับเฟอร์รารี่ทั้งสอง อัลแบร์โต้ อัสคารี่ และนีโน่ ฟารีน่า




1960

สิบปีผ่านไปฟอร์มูล่าวันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหน้าเป็นตรงกลาง ส่วนในสนามก็เป็นการรวมนักขับสองรุ่นที่สุดยอดพอกัน แจ๊ก บราบัม คว้าแชมป์โลกครั้งที่ 2 ของตนได้โดยการเฉือนบรูซ แม็คลาเรน ไป 9 แต้ม และงานอาจยากกว่านี้หากสเตอร์ลิ่ง มอสส์ ไม่ประสบอุบัติเหตุหนักกลางฤดูกาลไปเสียก่อน ฟิล ฮิลล์ นักขับเฟอร์รารี่ซึ่งยังวางเครื่องหน้าชนะเพียงครั้งเดียวในปีนั้น แต่ปีต่อมาเขาเป็นแชมป์โลกได้จากการที่เฟอร์รารี่เปลี่ยนตำแหน่งเครื่องไปไว้หลังนักขับ จิม คลาร์ก ลงสนามครั้งแรกในรายการดัตช์ กรังด์ปรีซ์ ของปีนั้น จอห์น เซอร์ทีส์ ก็สลับมาขับฟอร์มูล่าวันบ้างหลังประสบความสำเร็จในโลกสองล้อแล้ว และยังมีเกรแฮม ฮิลล์ ที่น่าจับตามองในรถบีอาร์เอ็ม

จำนวนแชมป์: 1
แชมป์ในอนาคต: 4


1965

จิม คลาร์ก ในรถโลตัสยุครุ่งโรจน์คว้าแชมป์โลกครั้งที่สองของตนเองท่ามกลางคู่แข่งระดับหัวกะทิ เกรแฮม ฮิลล์ และแจ๊กกี้ สจ๊วร์ต โดยคนหลังประเดิมฟอร์มูล่าวันฤดูกาลแรกอย่างสวยงามด้วยการเป็นนักขับอันดับที่ 3 ในคะแนนสะสมประจำปี นอกจากนั้นยังมีดาวดวงใหม่ฉายแสงเป็นปีแรกอย่าง เดนนี่ ฮัล์ม ขณะที่โยเคิน รินดท์ ลงแข่งขันเต็มฤดูกาลเป็นครั้งแรกเช่นกัน ส่วนชื่ออื่นที่คุ้นหูยังอยู่ครบ ทั้งจอห์น เซอร์ทีส์ บรูซ แม็คลาเรน แจ๊ก บราบัม และเปโดร โรดริเกซ

จำนวนแชมป์: 4
แชมป์ในอนาคต: 3


1970

กลายเป็นปีที่น่าเศร้าเมื่อโยเคิน รินดท์ ได้เป็นแชมป์โลกหลังตนเสียชีวิตในสนามที่ 10 รายการอิตาเลียน กรังด์ปรีซ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นช่วงต้นปีโลกก็ได้สูญเสีย เพียร์ส เคอเรจ และบรูซ แม็คลาเรน ไปด้วย ถึงอย่างไรฟอร์มูล่าวันยังคงเป็นสนามประลองความเร็วที่นักขับมากพรสวรค์ไม่หวาดกลัว ในปีนั้นยังมีนักขับแชมป์โลกอยู่รวมกันอีกถึง 5 คน ได้แก่ แจ๊กกี้ สจ๊วร์ต เดนนี่ ฮัล์ม แจ๊ก บราบัม เกรแฮม ฮิลล์ และจอห์น เซอร์ทีส์ บวกกับนักขับรุ่นใหม่ที่มีแววดีไม่แพ้รุ่นพี่ ทั้งเอเมอร์สัน ฟิตติพัลดี้ มาริโอ อันเดรตติ และฟรองซัวส์ เซแวร์

จำนวนแชมป์: 5
แชมป์ในอนาคต: 3





ปี 1970 มีอดีตแชมป์โลกขับเคี่ยวกัน 5 คน




1973

ในปีดังกล่าวมีนักขับระดับท็อปเหลือในกริดอยู่ 2 คน ได้แก่ แจ๊กกี้ สจ๊วร์ต และเอเมอร์สัน ฟิตติพัลดี้ ซึ่งฝ่ายแรกเป็นผู้คว้าแชมป์ประจำปีไปครองโดยขับเคี่ยวกับรอนนี่ เพเตอร์สัน เพื่อนร่วมทีมของฟิตติพัลดี้ในโลตัส รวมถึงคู่ของแม็คลาเรน เดนนี่ ฮัล์ม และปีเตอร์ เรฟสัน ขณะที่เฟอร์รารี่ยังมี แจ๊กกี้ อิ๊กซ์ อย่างไรก็ตาม ชื่อเล็กๆ ที่รอวันยิ่งใหญ่ได้เริ่มผ่านเข้าหูของผู้คนแล้ว เจมส์ ฮันท์ นิกี้ เลาด้า และโจดี้ เช็กเตอร์ ต่างเริ่มไต่เต้าจากทีมระดับล่าง แต่ปีนั้นก็เป็นอีกปีที่น่าหดหู่เมื่อฟรองซัวส์ เซแวร์ คนที่สจ๊วร์ตคาดว่าจะเป็นแชมป์โลกหลายสมัยในอนาคตต้องจบชีวิตลงในสนามสุดท้ายของปี ตามหลังโรเจอร์ วิลเลียมสัน นักขับหน้าใหม่ฝีมือไม่ธรรมดาที่จากไปก่อนเมื่อต้นฤดูกาล และด้วยเหตุผลความอันตรายของกีฬาชนิดนี้ ทำให้สจ๊วร์ตตัดสินใจแขวนพวงมาลัยขณะยังอยู่ในช่วงที่รุ่งโรจน์

จำนวนแชมป์: 4
แชมป์ในอนาคต: 3


1981

เนลสัน ปิเกต์ ได้แชมป์โลกครั้งแรกในปีนั้นหลังจากต่อสู้กับคาร์ลอส รูทแมนน์ อย่างสนุก สำหรับดาวดังจากยุค 1970 ต่างเลิกขับไปหลายคน ทั้งเอเมอร์สัน ฟิตติพัลดี้ เจมส์ ฮันท์ และโจดี้ เช็กเตอร์ ขณะที่มาริโอ้ อันเดรตติ ยังแข่งรถบ้างประปราย แต่กริดยังมีสีสันจากฝีมือการขับของฌิล วิลเนิฟ ในรถเฟอร์รารี่ นอกจากนี้ดาวดวงใหม่อย่าง อแลง พรอสต์ และไนเจล แมนเซลล์ เริ่มมาให้เห็นแวว ส่วนเกเก้ รอสเบิร์ก นักขับวิลเลียมส์ ถ้าเขาเห็นอนาคตได้ เขาจะรู้ว่าตนกำลังจะได้เป็นแชมป์โลกในอีก 1 ปีต่อมา

จำนวนแชมป์: 2
แชมป์ในอนาคต: 5


1986

เป็นปีที่นักขับผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่ อแลง พรอสต์ ไนเจล แมนเซลล์ เนลสัน ปิเกต์ และไอร์ตัน เซนน่า สู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง เมื่อถึงสนามสุดท้ายของปี เซนน่าหลุดไปก่อน แต่ 3 คนที่เหลือต่างมีโอกาสคว้าแชมป์โลกได้ทุกคน สองนักขับของวิลเลียมส์ แมนเซลล์และปิเกต์โชคร้ายรถยางแตกทั้งคู่ แชมป์จึงตกเป็นของพรอสต์ในที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังจากปีนั้นคู่แข่งของเขาได้ตำแหน่งแชมป์โลกเป็นของตนเองทุกคนในปีต่อๆ มา

จำนวนแชมป์: 4
แชมป์ในอนาคต: 2





หลังการถ่ายภาพนี้ที่โปรตุเกสปี 1986 ทุกคนได้เป็นแชมป์โลกในเวลาต่อมา




1991

ไอร์ตัน เซนน่า ครองแชมป์โลกสมัยที่สามกับแม็คลาเรนอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมีคู่ต่อสู้อย่างไนเจล แมนเซลล์ โชคดีที่รถวิลเลียมส์ยังไม่แข็งแรงพอ ขณะที่อแลง พรอสต์ ซึ่งย้ายไปขับให้กับเฟอร์รารี่ยังไม่เข้าที่นัก อย่างไรก็ตาม เป็นปีที่ดาวดวงใหม่ฉายแววเจิดจรัส มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ลงแข่งครั้งแรกในสนามสปา ฟรองโคชองป์ และควอลิฟายได้อันดับที่ 7 ในรถจอร์แดน ส่วนมิก้า ฮัคคิเน่น เก็บแต้มได้จากซานมารีโน่ กรังด์ปรีซ์ ทั้งที่รถโลตัสของเขาไม่ดีเหมือนชื่อเสียงเก่าๆ แล้ว

จำนวนแชมป์: 2
แชมป์ในอนาคต: 3


2001

แม้เป็นยุคของมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ครองบัลลังก์ แต่ในปีนั้นเป็นปีที่นักขับหน้าใหม่อนาคตไกลได้ถือกำเนิดในวงการอีกหลายคนและกลายเป็นคู่แข่งของเขาในเวลาต่อมา ทั้งเฟอร์นันโด อลอนโซ่ คิมี่ ไรค์โคเน่น และฮวน พาโบล มอนโตย่า รวมถึงเจนสัน บัตตัน ที่กำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์เป็นปีที่สอง ในขณะที่คู่แข่งขาเก่าของเขาจากทศวรรษก่อน เดม่อน ฮิลล์ เลิกขับในปี 1999 ฌาคส์ วิลเนิฟ อยู่ในช่วงขาลง และมิก้า ฮัคคิเน่น ลงแข่งขันเป็นปีสุดท้าย

จำนวนแชมป์: 3
แชมป์ในอนาคต: 3


2011

การกลับมาของมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ในปี 2010 ถูกกลบความสนใจด้วยความแรงของเซบาสเตียน เวทเทล นักขับรุ่นน้องร่วมชาติ และเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2011 ฟอร์มูล่าวันจึงมีนักขับระดับแชมป์โลกอยู่ด้วยกัน 5 คนเมื่อรวมกับเฟอร์นันโด อลอนโซ่ ลูอิส แฮมิลตัน และเจนสัน บัตตัน ถือเป็นการเปิดศักราชแห่งยุคทองของนักขับระดับเทพในฟอร์มูล่าวันอีกครั้ง

จำนวนแชมป์: 5
แชมป์ในอนาคต: ?






*ข้อมูลและภาพจาก espnf1.com


Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2555 22:04:35 น. 5 comments
Counter : 1892 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ


โดย: ลุ่มน้ำตาปี IP: 101.109.68.57 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:18:23:53 น.  

 
ครั้งหลังๆ ลงท้ายด้วย 1 สมกับเป็น F1


โดย: tt IP: 125.24.121.122 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:18:41:43 น.  

 
ขอบคุณครับท่าน ^^


โดย: runtaro IP: 172.30.50.45, 202.183.217.251 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:17:01:23 น.  

 
ผมมีความสงสัยมานานแล้วครับว่าสมัยอดีตเมื่อพระองค์เจ้าพีระ แข่งรถเป็นประเภทอะไรครับ ไม่ใช่ฟอร์มูล่าวันหรอครับ ใครพอจะมีข้อมูลถ่ายทอดความรู้ให้บ้างครับ


โดย: kazamakung IP: 110.171.148.209 วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:9:42:15 น.  

 
ท่านแข่งรถหลายประเภทรวมทั้งฟอร์มูล่าวันด้วยค่ะ ลองอ่นในนี้นะคะ

//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A


//topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/03/K6455651/K6455651.html


โดย: finishline วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:16:26:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.