ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2563
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
5 ตุลาคม 2563
 
All Blogs
 
เปรตวัดสุทัศน์

เปรตวัดสุทัศน์ “กัญจิกาสูรเปรต -นางเวมานิกเปรต” ภาพจิตรกรรมในวิหารหลวงวัดสุทัศน์ ฯ
จารึก 15 ที่เชิงเสาด้านขวาของพระศรีศากมุนี พระประธานในวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ฝั่งทิศใต้ (ด้านติดหน้าต่าง) มีข้อความบรรยายภาพจิตรกรรมว่า “...เรื่องโลกย์สันถานเหลี่ยมนี้ มีมหาสมุทพานิชแบ่น (แล่น) สำเภาหลงทางไป จะเข้าหาฝั่งมิได้ มาพบนางเวมานิกเปรตในวิมานทองอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่ง จึ่งถามนาง ๆ ชี้บอกทางให้พานิชทั้งหลาย จึ่งใช้ใบมาสู่ประเทษมานุษได้ ....อนึ่ง มีกัญจิกาสูรเปรตกายยาวได้ ๑๒ โยชน์ นอนอยู่กับปัถพีแทบฝั่งสมุทร ดุจศิลา อดเข้าอดน้ำมาถึงพุทธันดรหนึ่ง วันหนึ่งภิกขุอรั(ญ)ญิกธุดงค์ ๕๐๐ รูป  เที่ยวจาริกมาในที่นั้น เหนเปรตทนเวทนาอยู่ ผู้เปนเจ้าทั้งหลายจึ่งเอาบาตทัง ๕๐๐ ลงตักน้ำเทลงในปากแห่งเปรต น้ำมิอาจไหลลงในมุขทวารแห่งเปรตได้แต่สักหยาดหนึ่ง ด้วยอกุศลกรรม์แต่ปางก่อนให้ผล ปลายเสายอดเขาจักรวาฬ...”
ภาพวาดจิตรกรรมบนเสา 8 ต้น ภายในวิหารหลวง วาดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 3 ได้มีการซ่อมแซมต่อเนื่องมาหลายครั้ง แต่ละด้านของเสาจะมีจารึกบรรยายกำกับภาพวาดที่โคนเสาทั้ง 32 ด้าน โดยภาพที่วาดนั้นเป็นเรื่องราว “โลกสัณฐาน” ในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา (ไตรภูมิฉบับหลวง) อรรถกถานิบาตชาดก พระสูตรและอรรถกถา ปัญญาสชาดก รามเกียรติ์ สมุดภาพไตรภูมิ ธรรมนิทาน นิทานปกรณัมและมหาวงศ์ โดยที่ผนังด้านในของพระวิหารทั้ง 4 ด้าน ยังวาดภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ครับ  
ภาพวาดของเปรตขนาดใหญ่ที่นอนทอดกายยาวที่เสาด้านบน  มีกลุ่มพระธุดงค์กำลังพยายามป้อนน้ำในบาตรให้ดื่ม แต่เปรตดื่มไม่ได้ ด้วยบาปกรรมที่ทำเอาไว้ จึงหมายถึง “กัญจิกาสูรเปรต” ดังความบรรยายในจารึก
เล่ากันว่า แต่เดิมนั้นกัญจิกาสูรเปรตเป็นนักบวชชีเปลือยชื่อ “โกรักขัตติยะ” แต่ได้เสียชีวิตลงเพราะโรคอลสกะ หรือโรคอาหารไม่ย่อย ด้วยเพราะรับประทานอาหารมากจนเกินไป จึงไปเกิดเป็นเปรตที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ มีตาโตใหญ่แต่มีปากเล็กเท่ากับรูเข็ม เวลาจะกินอาหารต้องดูดกิน กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มสักที เพราะปากเล็กเท่ารูเข็ม ตัวก็ลีบผอมแห้งเหมือนกับใบไม้แห้ง ตัวสูงแต่หิวโซ จะร้องโอดครวญด้วยความทุกข์ทรมานจากความหิวกระหายอยู่ตลอดเวลาครับ 
สำหรับ “นางเวมานิกเปรต” ในวิมานทอง ที่ปรากฏความในจารึก ที่ 15 และ 16 ยังปรากฏความในจารึกของเสาต้นเดียวกันฝั่งด้านทิศตะวันตก “...เรื่องโลกย์สันถานเหลี่ยมนี้ เมืองพาราณศี พระราชบุตรบรมกระษัตรทรงม้า พระธินั่งยกพลออกประภาษเนื้อในป่า หลงทางมาแต่พระองค์กับม้ามาถึงวิมานนางเวมานิกเปรต ก็ได้กระทำสังวาสกิจด้วยนางนั้น วันหนึ่งเพลาราตรีเที่ยงคืน พระราชบุตรบันทมหลับสนิจ นางเวมานิกเปรตลงจากวิมานมาเสวยกาม์ให้สุนักข์ เต่า ช้างสาร อดมางษะบริโภค ครั้นพระราชบุตรตื่นขึ้นก็ติดตามนางมาเหนเปนรูปเปรตสุนักข์กัดอยู่ เธอก็ฟันสุนักข์ด้วยพระขรรค์กายสุนักข์ขาดออกขี่ท่อนก็เปนรูปสุนักข์ขึ้นขบกัดเนื้อนางนั้นจนถึงหมื่นถึงพัน นางจึ่งทูลอุบายให้เธอถ่มเขละลงแล้วขยี้ด้วยพระบาท ฝูงสุนักข์ก็อันตรธารหาย ....กลางเสาเรื่องพระสุมณะสามเณร สำแดงฤทธ์ล้วงเอาจังโกฎอันใส่พระบรมธาตุแต่อุธรพญาสุละทัตนาคราช ปลายเสายอดเขาจักรวาฬ...”
ส่วนนางเวมานิกเปรตนั้น เคยเป็นหญิงโสเภณีที่มีความงดงามกว่าหญิงโสเภณีคนอื่น ๆ ในกรุงพาราณสี นางประพฤติผิดศีลแทบทุกข้อ ภายหลังจากที่นางโดนกลั่นแกล้งโดยทำให้ผมหลุดร่วง ศีรษะเกลี้ยงเกลาเหมือนกะโหลกจนหมดความงาม นางได้เปิดร้านขายสุราและน้ำมันงา อีกทั้งยังมีนิสัยชอบขโมยเสื้อผ้าและของมีค่าของคนขี้เมานำไปขายเป็นประจำครับ
ครั้งหนึ่งนางได้ถวายแป้งผสมกับน้ำมันงาแก่พระอรหันตเถระรูปหนึ่งที่บิณฑบาตผ่านมา ด้วยความเลื่อมใส จนเมื่อนางถึงแก่กรรม บุญกุศลที่นางได้เคยทำทานไว้กับพระอรหันต์ ส่งผลให้นางไปเกิดเป็นเวมานิกเปรตผู้โดดเดี่ยวอยู่ในวิมานทองกลางมหาสมุทร มีเส้นผมสวยงามสมปรารถนาดั่งที่เคยเป็น แต่ด้วยบาปกรรมที่ลักขโมยเสื้อผ้าและของมีค่าของคนอื่น ทำให้นางเธอต้องเป็นเปรตชีเปลือย ไม่มีภูษาอาภรณ์สวมใส่ เธอต้องตายแล้วเกิด ๆ อยู่อย่างนั้นหลายครั้งในวิมานทอง ตลอดถึง 1 พุทธันดร
จนถึงในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถี 700 คนล่องเรือไปค้าขาย แล้วได้ถูกพายุพัดพาไปถึงเกาะกลางทะเล ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิมานทอง ที่อยู่ของนางเวมานิกเปรตผู้โดดเดี่ยว นางเปรตชีเปลือยได้ปรากฏตัวขึ้น เหล่าพ่อค้าวาณิชทราบเรื่องราวก็สงสาร จึงได้ร่วมกันกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นเสื้อผ้าและเครื่องหอมให้ นางจึงมีเสื้อผ้าที่งดงามสวมใส่  ซึ่งเหล่าพ่อค้าก็ได้แนะนำให้นางเวมานิกเปรต ได้กระทำบุญกุศลถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางจึงได้เนรมิตอาหาร มอบผ้าทิพย์และรัตนชาติให้แก่พวกพ่อค้า ทั้งยังฝากผ้าทิพย์อีกคู่หนึ่งให้นำไปถวายพระบรมศาสดา จากนั้นนางก็ใช้ฤทธาอำนาจ ส่งพวกพ่อค้ากลับบ้านได้โดยสวัสดิภาพครับ
เหล่าพ่อค้าทั้งหลายจึงได้นำผ้าทิพย์ของนางไปถวายแด่พระพุทธองค์ที่วัดพระเชตวัน พร้อมกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต่างร่วมกันถวายมหาทาน 7 วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลเจาะจงให้กับนางเวมานิกเปรตผู้เป็นเจ้าของทรัพย์  ผลบุญกุศลครั้งใหญ่นี้จึงได้ส่งผลให้นางหลุดพ้นจากความเป็นเปรต ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 
---------------------------------------
เรื่องราวของ “กัญจิกาสูรเปรต -นางเวมานิกเปรต” จากจารึกและภาพวาดจิตรกรรมบนเสาวิหารหลวง วัดสุทัศน์ ฯ จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์" อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคห่าหรืออหิวาตกโรคในเมืองพระนคร ที่ทำให้มีผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมากในช่วงรัชกาลที่ 3 – 4  ส่วนคำว่า “เปรตวัดสุทัศน์” นั้นถูกใช้เป็นคำประชดประชัน สำหรับพวกมิจฉาชีพที่ชอบออกมาหลอกลวงชาวบ้าน ให้หลงงมงายหรือพวกที่คอยมาซ้ำเติม รีดนาทาเร้น กลั่นแกล้งญาติพี่น้องคนตายที่กำลังขนศพมาหยุดรออยู่ที่หน้าวัดสุทัศน์ ฯ วัดสุดท้ายตามเส้นทางขนศพคนตายออกนอกพระนครนั่นเองครับ
เครดิต  :
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 05 ตุลาคม 2563
Last Update : 5 ตุลาคม 2563 14:28:07 น. 0 comments
Counter : 944 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.