ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2563
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
3 ตุลาคม 2563
 
All Blogs
 
พญานาค

พญานาค
ลาย “ดอกจัน” สัญลักษณ์แห่งอำนาจที่หลังพังพานพญานาค
เมื่อช่างโบราณได้เริ่มนำคติความเชื่อในเรื่องนาค - พญานาค มาสร้างเป็นภาพลักษณ์ในงานศิลปะครั้งแรก คงได้เลือกใช้รูปร่างของ “งูใหญ่” ตามธรรมชาติ ทั้งงูจงอางและงูเห่า งูขนาดใหญ่มีหงอน มีพิษร้ายน่าสะพรึงกลัว 
รวมทั้งได้นำ “แม่เบี้ย” และ “การแผ่พังพาน" ของงูใหญ่ที่ขยายเป็นปีกบางออกข้างส่วนหัวในช่วงอารมณ์ดุร้าย มาใช้เพื่อสื่อถึงอำนาจของงูใหญ่ที่มีพิษร้าย (ในธรรมชาติ) ในความหมายแห่งอำนาจฤทธาของพญานาค (ในคติความเชื่อ)
นาค –พญานาค-งูใหญ่ที่มีพิษ ผูกพันกับผู้คนมาอย่างยาวนาน ซึ่งในเริ่มแรกนั้น นาคอาจเริ่มต้นมาจากลัทธิการบูชางู ด้วยเพราะงูเป็นสัตว์ที่เป็นอันตราย มีขนาดใหญ่โตจนน่าสะพรึงกลัวเมื่อต้องพบเจอ แต่ในวิถีธรรมชาติ งูเป็นสัญญาณการเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูก ด้วยเพราะเมื่อน้ำฝนเริ่มเอ่อล้นในโพรงที่อยู่อาศัย งูใหญ่น้อยจะออกจากรูขึ้นมาบนพื้นดินเพื่อตามล่าหาอาหารประเภทกบ เขียด ที่กำลังส่งเสียงร้องระงมต้อนรับสายฝนแรก แสดงว่าผืนดินพร้อมที่จะเริ่มทำการเพาะปลูกได้แล้ว มนุษย์จึงยกให้งูเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมาครับ
จนเมื่อคติความเชื่อเรื่องพญานาค-งูใหญ่ที่หลากหลายจากวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ทั้งคติเรื่องพญานาคราชาผู้รักษาทรัพย์ใต้ดินในอินเดียเหนือ พญางูผู้เป็นใหญ่แห่งโลกของอินเดียใต้ พญาอนันตนาคราชที่ประทับแห่งพระวิษณุ พญานาควาสุกรีสายสังวาลของพระศิวะ สายเชือกมัดเขามัทรคีรีในครั้งกวนเกษียรสมุทร นาคที่เป็นลูกของกัศยปะเทพบิดรและนางกัทรุผู้เป็นอริกับพญาครุฑ ศรนาคราชแห่งพระอินทร์ที่เป็นสะพานนาคหรือสะพานสายรุ้ง เส้นทางขึ้นสู่สวรรค์ของมวลมนุษย์ พญานาคนันทะและอุปนันทะพญานาคนันทะ – อุปนันทะ ผู้ค้ำชูพระพุทธศาสนามหายาน นาคเทวะธราเนนทราและนาคินีเทวีปัทมาวตี ผู้ช่วยพระตีรถังกรต่อสู้กับฝ่ายมารในศาสนาเชน นาคมุจลินทร์ในพุทธประวัติตินเสวยวิมุตติสุข พญานาคกาลภุชคินทร์ผู้รับถาดทองในแม่น้ำเนรัญชรา พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนาคนามว่าภูริทัต และมนุษย์นาคถือหม้อปูรณะฆฏะ ทวารบาลและผู้มอบความอุดมสมบูรณ์จากลังกา ได้เข้ามายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คติเรื่องพญานาค – งูใหญ่ ได้กลายมาเป็นเรื่องราวใหม่ ทั้งเรื่อง พญานาคศรีสุทโธ พญานาคสุวรรณนาคา พญาพินทโยนกวติ ธนะมูลนาค นาคพญาศรีสัตตนาคราช พญาปัพพารนาค พญาพุทโธปาปานาค พญาสุตตนาค ในตำนานอุรังคธาตุ  ตำนานสุวรรณโคมคำและนิทานพื้นบ้านอีสาน พญานาคหัสภิงคาร-ภังคีย ในตำนานผาแดงนางไอ่  พญาธนะมูลนาค ในตำหนานหนองหารหลวง พระพุทธเจ้ากำราบนันโทปนันทนาคราชา และงูซวง ในชาดกนอกนิบาตเรื่องสังข์ศิลป์ชัย   
ผู้คนตระกูลไทเชื่อว่า นาคมีเกล็ดตัวเป็นสีรุ้ง 7 สี  นาคคือตัวแทนของ “รุ้งกินน้ำ” เป็นสะพานนาคที่ทอดยาวเชื่อมต่อฟ้าและดิน นาคสามารถขึ้นไปสวรรค์แห่งพญาแถนได้ มนุษย์ไม่สามารถหาปลายสายรุ้งบนพื้นดินได้ เพราะปลายของรุ้งกินน้ำนั้นจะหายลงไปใต้บาดาลซึ่งเป็นโลกของพญานาคที่เป็นเมืองคู่แฝดของเมืองสวรรค์ นาคมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ สามารถเปลี่ยนร่างและมีชีวิตแบบเดียวกับมนุษย์ครับ 
------------------------------
*** คติความเชื่อจากพุทธประวัติตอนเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก (มุจลินทร์) ขณะที่เกิดพายุฝน พญานาคที่ห่วงใยและอยากได้บุญบารมีได้เลื้อยขึ้นมาและปกป้องการบำเพ็ญสมาธิของพระองค์โดยการขนดตัวและแผ่พังพานปรกป้องกันพระองค์ไว้ และตำนานเรื่อง “นางนาคโสมะ” ผู้เป็นมารดาแห่งอาณาจักรกัมโพช (เขมรต่ำหรือแคว้นกัมพุชเทศะ) อาจเป็นอิทธิพลสำคัญที่ก่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานพุทธศิลป์ของพระพุทธเจ้าปางนาคปรกขึ้นในภูมิภาคใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
พญานาคที่ปรกพระพุทธรูป คือพญานาคที่มีเพียงลำตัวเดียวที่ช่างโบราณได้จัดรูปลักษณ์ทางศิลปะแบบเคลื่อนไหว (Motion) ส่ายหัวไปมาจนเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า จนเห็นเป็นเหมือนมีหลายเศียรครับ 
ในงานช่างโบราณก็ไม่ได้ลืมลักษณะเด่นของพญางูใหญ่ตามธรรมชาติ ที่มีเกล็ดทั่วตัว มีลวดลายของดอกดวงสีขาวหรือสีเหลืองนวลเรียกว่า "ดอกจัน” ที่บริเวณหลังแม่เบี้ยหรือพังพาน ซึ่งในงานศิลปะรูปนาค-พญานาคหลายรูปก็ได้แสดงให้เห็นว่า ได้มีการขยายดอกจันตรงกลางออกมาเป็นวงกลมรัศมี (เส้นแฉก) หลายชั้น บางรูปมีการสลักลายดอกจันกลมจำนวนมากกว่าปกติ รูปของดอกจันที่ขยายลอดลายออกนี้จึงอาจแทนความหมายถึงการแสดงพลังอำนาจ-อานุภาพบารมีของพญานาคผู้ปกป้อง (รวมทั้งของพระพุทธเจ้า) หรืออำนาจในความหมายทางโลกของรูปประติกรรมที่สร้างขึ้น เช่น ลวดลายดอกจันที่ด้านหลังของพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในภาคของพระสุคต ของพระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 1 ที่พบจากปราสาทเขาปลายบัด มีรูปดอกจันบนหลังพังพานเป็นจำนวนมาก ที่อาจหมายถึงอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรของพระองค์ในช่วงเวลานั้นครับ
เครดิต :
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy   
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 03 ตุลาคม 2563
Last Update : 3 ตุลาคม 2563 16:23:22 น. 0 comments
Counter : 560 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.