ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
พระคันธารราฐ

พระคันธารราฐ
พระคันธารราฐ ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานอยู่ในพระวิหารน้อย หรือ พระวิหารเขียนวัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดพระเมรุราชิการามวรวิหารหมู่ที่ ๕ ( ริมคลองสระบัว ) ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
   พระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว ศิลปะทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ ( เข่า ) เบื้องพระปฤษฎางค์ ( เบื้องหลัง ) มีพนักพิง และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑล หรือ รัศมี มีสลักลายที่ขอบ คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แต่จากการบูรณะเมื่อขุดพบและนำมาประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุ พระหัตถ์ทั้งสองด้านเปลี่ยนเป็นวางคว่ำอยู่บนพระชานุ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๗ เมตร สูง ๕.๒ เมตร ศิลาที่สร้างเป็นวัสดุหินปูนที่มีสีเขียวแก่
   แต่เดิมพระคันธารราฐน่าจะเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุในเกาะเมืองอยุธยามาก่อน เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยวิชิต ( เผือก ) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดพบพระคันธารราฐองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารน้อย ที่เพึ่งสร้างขึ้นใหม่ ณ วัดหน้าพระเมรุ จนถึงปัจจุบัน พระยาไชยวิชิตได้จารึกลงศิลาแล้วติดตั้งไว้ที่ฝาผนังเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ ว่า พระคันธารราฐนี้ พระอุบาลีมหาเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณทูตพร้อมด้วยพระสงฆ์นำพระพุทธศาสนากลับคืนไปประดิษฐานในประเทศลังกา ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นความเห็นของพระยาไชยวิชิตถึงที่มาของพระคันธารราฐหรือไม่ หรือได้ข้อมูลมาจากแหล่งใด
   นักโบราณคดีมีความเห็นว่า พระคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยทวารวดี สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๑๐๐๐ ถึง ๑๒๐๐ สันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยานั้น แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมมาก่อน เนื่องจากทางการขุดพบเรือนแก้วที่ชำรุด ซึ่งเป็นเรือนแก้วของพระพุทธรูปองค์นี้ 
   อีกทั้ง ในการขุดค้นครั้งปี พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๒ ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองด์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้ขุดพบท่อนพระเพลา พระกร และนิ้วพระหัตถ์อีกหลายนิ้ว ที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือ วัดพระเมรุ จ.นครปฐม ซึ่งขนาดเดียวกับพระคันธารราฐ วัดหน้าพระเมรุ จึงเชื่อกันว่า “ พระคันธารราฐ ” อัญเชิญมาจากวัดพระเมรุ จ.นครปฐม ดังนั้น ความเก่าแก่ของ พระคันธารราฐจึงเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี และน่าจะไล่เลี่ยกับพระพุทธรูปศิลาสมัยบุโรพุทโธที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
   พระคันธารราฐ กล่าวกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้กลายเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ แต่ถ้ามองดูในระยะใกล้ๆ แล้วจะเห็นเม็ดเล็กๆ สีเขียวเพราะทำจากหินทรายแกะสลัก เชื่อกันว่าหากบูชาสักการะแล้วจะอายุยืนมั่นคงดั่งศิลา



Create Date : 05 กันยายน 2563
Last Update : 5 กันยายน 2563 9:07:35 น. 0 comments
Counter : 365 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.