ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
25 มีนาคม 2555

This Must Be the Place (2011)

สารบัญภาพยนตร์

This Must Be the Place (2011)


การค้นหาตัวตนของคนเซอร์




คำกล่าวแรกที่ต้องเอ่ยอ้างแก่ภาพยนตร์ This Must Be the Place นั่นคือ มันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่จะหาชมได้อย่างง่ายดายในโรงภาพยนตร์ที่เสียค่าบัตรเข้าชม ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ This Must Be the Place มีมิติที่เสาะหาในระดับภาพยนตร์ประจำเทศกาลเสียมากกว่าภาพยนตร์ในระดับการค้าเชิงพาณิชย์ และโดยเฉพาะยิ่งประเทศไทยแล้ว รสนิยมมวลชนส่วนมากมิได้เสพย์ภาพยนตร์ศิลปะเพื่อการหล่อเลี้ยงชีพจรชีวิต นั่นจึงทำให้ภาพยนตร์บันเทิงเชิงพาณิชย์อื่นๆมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากกว่า จึงทำให้ไม่หลงเหลือที่ว่างให้แก่ภาพยนตร์ที่เดินทางในเส้นสายนี้

แต่ก็เป็นความน่าปลื้มปิติต่อภาพยนตร์ This Must Be the Place เป็นอย่างมากที่สามารถหลุดรอดระบบการค้าและออกมาเป็นภาพยนตร์การค้าที่มีมิติทางศิลปะได้อย่างดียิ่ง สิ่งแรกก็ต้องชมก็คือทางค่ายจัดจำหน่าย M Picture ที่ได้หยิบภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายที่โรง ลิโด้ (ไม่แน่ชัดว่าถ้าโรงลิโด้โดนทุบอย่างที่เป็นข่าว ภาพยนตร์แบบนี้จะสามารถยืนหยัดฉายได้ที่โรงมัลติเพล็กซ์หรือไม่ หรือมิเช่นนั้นข่าวการทุบ ลิโด้ ก็อาจเป็นนิมิตหมายอันชั่วร้ายที่บ่งบอกว่า ภาพยนตร์ในแนวทางนี้กำลังถูกปิดตายจากระบบการค้าของไทย เพราะมันไม่สามารถทำเงินในระบบธุรกิจได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน)

อาจเปรียบเปรยได้ว่าโรงภาพยนตร์ลิโด้และสกาล่าเป็นสื่อสัญลักษณ์อันหนึ่งที่ผู้ใฝ่หาภาพยนตร์ทางเลือกรู้ดีว่า หากเมื่อใดที่ถึงขั้นกาลอวสานของโรงฯลิโด้และสกาล่า เมื่อนั้น ถือเป็นหนทางปิดตายของภาพยนตร์ที่มิได้เดินทางของสายกระแสหลักอีกต่อไป (แม้จะมีโรงฯเฮ้าส์อยู่แต่ก็อาจน้อยและอยู่ห่างไกลจนเกินไป)



เข้าสู่ตัวภาพยนตร์ This Must Be the Place ของผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยนนาม เปาโล ซอร์เรนติโน (Paolo Sorrentino) หากค้นประวัติและภาพยนตร์ของเขาจะพบว่า เส้นทางประนีประนอมแห่งการดำรงอยู่ด้วยการค้านั้นไม่ค่อยคุ้นเคยกับเขา เพราะภาพยนตร์ของเขานั้นมักเข้าไปเฉิดฉายอยู่ในเทศกาลทั่วโลกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเทศกาลเมืองคานส์ เช่นภาพยนตร์เรื่อง Il divo (2008), The Consequences of Love (2004) และหากจะกล่าวอย่างรวบรัด อาจพูดได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างคอหนังชาวไทยกับผู้กำกับ เปาโล ซอร์เรนติโน แล้วนั่น อาจถึงขึ้นเป็นบุคคลที่ไม่รู้จักกันเลยทีเดียว

หากจะทำให้ This Must Be the Place มีหน้ามีตาอยู่บ้าง ก็อาจเพราะการมารับบท เชเยนน์ อดีตร็อคสตาร์วัย 50 ปี ของนักแสดงมากความสามารถ ฌอน เพนน์ (Sean Penn) โดย เชเยนน์ นั้นคือบุคคลผู้สิ้นหวังจากทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เพราะบทเพลงของเขาได้นำพาให้แฟนเพลงของเขาต้องกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยกันถึงสองราย รวมทั้งการทำให้มารดาของแมรี่ (Olwen Fouere) เศร้าสร้อยและเสียใจจาการหนีออกจากบ้านไปของ “โทนี่” ลูกชายและเป็นพี่ของแมรี่ โดยอาจมีหมายเหตุตัวการมาจากบทเพลงของ เชเยนน์ และนั้นเป็นผลกระทบชิ่งให้ แมรี่ (Eve Hewson) เสียใจต่อการสูญเสียความเป็นไปในตัวแม่ของเธอ จนกระทั่งหลงลืมแมรี่ไป และนั้นทำให้เธอทั้งสองเฝ้ารอคอย “โทนี่” พี่ชายของแมรี่และลูกชายสุดที่รักของแม่ ให้กลับมาในสักวัน

ด้วยการเปิดตัวละครเหล่านี้ในครึ่งชั่วโมงแรก ถือเป็นช่วงเวลาเกี่ยวพันกันอย่างโยงใยงอย่างเป็นมิติเครือข่ายที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ รวมทั้งเป็นการจูงใจผู้ชมด้วยมิติการเคลื่อนไหวของกล้องที่แทบเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยทีเดียว การเคลื่อนไหวกล้องเนิบช้าดั่งสายน้ำที่ลัดเลาะไปตามซอกหลีบแห่งสรวงสวรรค์ การจัดองค์ประกอบศิลป์อย่างเจิดจ้าแพรวพราวด้วยสีสันสวยบาดตา การถ่ายภาพวิวทิศทัศน์ด้วยความเพริศแพร้วรัญจวนใจ ดั่งงานศิลปะเคลื่อนไหวที่ใช้กล้องระบายสีแทนพู่กันจากจินตนาการ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฟอร์มรูปแบบที่สามารถทราบโดยทันทีว่า หนักเน้นไปทางด้านใด และที่ขาดไม่ได้ก็คือบทเพลงประกอบที่คลอเคลียเคลิบเคลิ้มให้รู้สึกร่วมไปกับความงดงามดั่งความสุนทรีย์ของศิลปิน



ก่อนที่จะเข้าสู่จุดดำเนินเรื่องสำคัญที่ ทำให้ เชเยนน์ ต้องกลับไปร่วมงานศพของพ่อพร้อมครอบครัวชาวยิวที่ดินแดนเสรีภาพแห่งนิวยอร์ค ที่ๆ ซึ่งเขาจากมาร่วม 30 ปี ก่อนที่เขาจะพบว่าพ่อของเขาต้องการกำจัดนาซีที่เคยจับเขาในค่ายกักกัน เพื่อล้างแค้นให้วงศ์ตระกูล และนั่นทำให้เขาต้องออกตามล่าหา นาซี รายนั้นที่หลงเหลืออยู่ เพื่อหวังว่าภารกิจนี้จะทำให้เขาค้นพบสิ่งที่เขาได้ละเลยทิ้งไว้ตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี ที่ไม่ได้พูดจาใดๆกับพ่อเลย

แม้ภาพยนตร์จะโฟกัสตัวละคร เชเยนน์ ในการกิจวัตรและปมต่างๆ ที่ค้างคาจิตใจ ที่ส่งผลให้ เชเยนน์ มีชีวิตไม่ต่างจากผีดิบผู้ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ รูปกายยังยึดติดกับ ความโด่งดังของความเป็นร็อคสตาร์โกธิคยุค 50 เหมือนเขากำลังหยุดช่วงเวลาไว้ตรงนั้น ไม่ใช้เพื่อเสพย์สมมัน แต่ค้นหาและไว้อาลัยให้กับบางสิ่งบางอย่างที่มันได้ส่งผลต่อมา

การแสดงของ ฌอน เพนน์ นั้นแม้จะทำให้เกิดการเข้าใจในความตกต่ำทางจิตวิญญาณบางอย่าง แต่ในบางครั้งผู้ชมอาจจะพบว่าการแสดงที่ดีมากจนเกินไปของ ฌอน เพนน์ มันทำให้ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขา เพราะหากเมื่อเวลาในภาพยนตร์ล่วงเลยไปนานเข้า วิธีการของ เพนน์ มันกลับทำให้ดูเกินเลยกับชีวิตจริงๆของมนุษย์ปุถุชน และกลายเป็นชีวิตที่เหนือจริงไป จนทำให้ ผู้ชมอาจรู้สึกถึงความระเกะระกะใจจนเกิดความรำคาญขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว



ในเรื่องของบทของภาพยนตร์นั้นแม้จะเริ่มต้นด้วยการค้นหาตัวตนของ เชเยนน์ ก่อนนำผู้ชมสู่ภาพยนตร์ Road Movie ในการออกตามล่านาซี แล้วค้นหาจิตวิญญาณของตนเอง ด้วยวิธีการต่างๆที่เนิบช้า นิ่งเงียบ การสนทนาที่พุ่งพล่านไปอย่าง งงงวย ด้วยภาษาที่ต้องตีความอีกที จึงทำให้ภาพยนตร์เดินหน้าไปไม่สุดจนบางครั้งมันอาจย่ำอยู่กับที่ด้วยซ้ำ อีกทั้งการเน้นใช้ภาษาภาพแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสื่อสารเรื่องราวได้ทั้งหมด จนอาจเกิดความสนเท่ห์ในความหมายที่ผู้กำกับต้องการสื่อความหมายที่แท้จริงออกมา และนั้นอาจเกิดความไม่เข้าใจ ในการดำเนินเรื่องไปสู่หนทางข้างหน้ามากนัก

อีกทั้งความสัมพันธ์ของตัวละครต่างๆ หรือมูลเหตุและการจูงใจ ในการดำรงอยู่นั้น ค่อนข้างเปะปะเลอะเลือนแตกต่างกันไป จนทำให้ไม่สามารถขมวดความคิดเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเพื่อให้ความคิดหลักเด่นชัดสว่างไสวขึ้นมาได้นัก มิหนำซ้ำยังทำให้การโยงใยของตัวละครน่าปวดหัว และไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ที่กล่าวมานั้นอาจเป็นข้อเสียหากผู้กำกับมิได้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่น่าคิดอีกว่าหากผู้กำกับมีความจงใจให้เป็นไปแบบนี้แล้วนั้น จะเรียกว่า จุดเด่นของภาพยนตร์ได้หรือไม่

และหากเหลารวม This Must Be the Place เข้าด้วยกัน สิ่งแรกเลยนั้นมันบ่งบอกถึงการค้นหาตัวตนอดีตของบุคคลทั้งหลาย โดยมีจุดแห่งศูนย์กลางอยู่ที่ เชเยนน์ โดยรายล้อมการอมทุกข์และหมองเศร้าต่อผู้คนรอบกาย ทั้งที่ตัวเขาเป็นต้นเหตุโดยตรงและโดยอ้อม มิหนำซ้ำเขาก็ยังต้องไปชำระอดีตของตนเอง เป็นอีกระลอกหนึ่ง จนน่าแปลกว่า บุคคลทั้งหลาย This Must Be the Place นั้นค่อนข้างยึดติดอดีต และความระทมทุกข์เป็นสรณะ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนมีบางคนเท่านั้น ที่มีความสุขในชีวิต เพื่อเป็นการถ่วงดุลให้ภาพยนตร์มีความสมดุล และไม่หลุดกรอบไปด้านหนึ่งด้านใดมากเกินไป



ความกลัวนั่น อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราไม่เดินไปข้างหน้า เพราะทันทีที่เรากลัว เราจะต้องยึดติดแต่สิ่งเหล่านั้นจนเราไม่กล้าออกเดิน แต่แก่นคิดหลักที่น่ายกย่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ การออกชำระล้างจิตใจ หรือเป็นการทำลายมูลเหตุของปัญหา หรือไปตามขจัดมันทิ้งซะ เพื่อทำให้เราไม่ยึดติดต่อความทุกข์ใดๆ และเดินก้าวไปเพื่อพร้อมโตเป็นผู้ใหญ่สักที อย่างที่ภาพยนตร์ใช้บุหรี่ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ใหญ่ และ เชเยนน์ ยังติดคราบของความเป็นเด็กไม่ยอมรู้จักโต แต่หนังก็ยังได้สอนอีกว่า ไม่มีคำว่าสาย แม้ว่าจะผ่านพ้นเลยวัย 50 แล้วก็ตาม

ทั้งหมดทั้งมวลแม้ภาพยนตร์จะจงหรือไม่ก็ตามที่ทำให้เกิดความไม่สมประกอบในหลายๆ จุดด้วยกัน เหมือนดังตัวละครหลายๆ ตัว โดยเฉพาะ เชเยนน์ เอง แต่ภาพยนตร์ก็ได้ให้ทางออกไว้หลายๆ ทางอย่างที่ เชเยนน์ ได้พบได้เจอ ในการออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิต แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตัวละคร หรือจะเป็นผู้ชมเองจะสัมผัสและมีอารมณ์ร่วมได้เหมือนๆกันนั่นคือ ความทุกข์ ความทุกข์ในฐานะมนุษย์ด้วยกันทั้งหมดนั่นเอง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร คนไหน จะเป็นร็อคสตาร์ชื่อดัง จะเป็นยิว หรือจะเป็นนาซี เราก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากจุดนี้ไปได้ทั้งหมด มิหนำซ้ำในการกระทำอะไรบางอย่างแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แต่เมื่อเราได้กระทำมันลงไปแล้ว มันไม่มีทางจะกลับมาแก้ไขอดีตอีกได้

ดังนั้น คำว่า อภัย จึงเหมาะสมที่สุดในการใช้ความรู้สึกสัมผัสจากภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆ

คะแนน 7/10
เกรด B



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์




Create Date : 25 มีนาคม 2555
Last Update : 4 พฤษภาคม 2555 14:22:56 น. 2 comments
Counter : 3106 Pageviews.  

 
ที่ลิโด้มีฉาย แต่ยังไม่ได้ดู :)


โดย: แฟนlinKinPark วันที่: 25 มีนาคม 2555 เวลา:7:02:04 น.  

 
ไปดูแล้วรอบแรกๆค่ะ
ยังแวะทานกล้วยปั่น ที่ร้าน กล้วยกล้วย ข้างลิโด้ 3
เป็นแฟนฌอน เพนน์ อยู่แล้วด้วย
เธอเล่นเป็นยิวติสแตกได้เริดมาก..
นึกถึง Boy George + Forest Gumps


เดี๋ยวว่าจะไปดู We bought a Zoo ที่ SF World ค่ะ
เหลือโรงนนี้โรงเดียวรอบเดียว 17.00 น


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 10 เมษายน 2555 เวลา:14:51:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]