ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
22 มีนาคม 2556

วิจารณ์ Stoker(2013)









Stoker(2013)
จดหมายถึง ....ปาร์คชานวุก
www.a-bellamy.com
*คำเตือน ถ้าจดหมายหลุดไปอยู่ที่ใคร ที่ไม่ใช่ปาร์คชานวุก ถ้ายังไม่ได้ดู Stoker อย่าเปิดอ่านนะครับ*


สวัสดีครับคุณปาร์คชานวุค ผมขออนุญาตส่งจดหมายโดยตรงถึงคุณ และหวังว่ามันจะถึงมือของคุณโดยสวัสดิภาพ ผมชื่อ A-Bellamy นะครับ (ไม่ต้องตกใจมันเป็นเพียงนามแฝง) – ก่อนอื่นเลยผมขอแสดงความยินดีกับคุณด้วยที่ได้ก้าวไปไกลถึงขั้นสามารถข้ามซีกโลกไปกำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดได้ ในฐานะคนเอเชียด้วยกันรู้สึกปลาบปลื้มตันใจเป็นอย่างมากครับ ที่คนตะวันออกเช่นคุณได้ไปเบ่งบานอยู่ในโรงงานแห่งความฝัน

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาผมขอเข้าสู่ประเด็นเลยแล้วกันครับ การที่ผมส่งจดหมายฉบับนี้มาเพื่อต้องการพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Stoker ของคุณนั่นแหละครับ ผมเองชื่นชมในตัวคุณมากที่สามารถกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ด้วยลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ของคุณอย่างเต็มภาคภูมิ จนทำให้รู้สึกว่าผมดูหนังเรื่องนี้ด้วยความแปลกพิสดาร เพราะแม้เครื่องทรงองค์ฉายจะเป็นฝรั่งแทบทั้งหมดแต่ผมกลับรู้สึกถึงจิตวิญญาณในแบบของคุณ ที่สอดประสานความเป็นตะวันออก(เกาหลี)เข้าไปจนผมสัมผัสได้ถึงแดนกลางที่หล่อรวมหลอมไหลการปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

นี่คุณทำเช่นนี้ได้อย่างไรกัน กับการที่คุณกำกับหนังที่คุณไม่ได้เขียนบทเอง แต่ทำเหมือนว่ามันคือบทหนังของคุณ อีกทั้งบทฯ เรื่อง Stoker นี้ยังเป็นบทที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลายแหล่งทั้งหนังแวมไพรส์ Dracula ผสมกับ Shadow of a Doubt ของอัลเฟรด ฮิทช์คอกค์ ดังนั้นการที่ได้คนอย่างคุณมากำกับมันจึงไปได้ไกลกว่าหนังในแบบฉบับฮอลลีวู้ดทั่วไป

เพราะโดยส่วนมากหนังผีหรือแนวสยองขวัญในแบบฮอลลีวู้ดหรือตะวันตกนั้นมักจะผูกตัวละครด้วยแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ตลอด ซึ่งผมว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่เข้าใจมั้ยว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เมื่อหลักวิชาถูกอ้างอิงบ่อยครั้งเข้าหรือบางทีใช้กันจนเกร่อมากหลักวิชาเหล่านั้นก็ดูเก่าหรือน่ารำคาญจนเกินไป เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคนที่รู้ซึ้งในแนวคิดจิตวิเคราะห์เช่นนี้ ก็สามารถเดาเรื่อง เดาความคิดของตัวละครจนหมดสิ้น แล้วเช่นนี้หนังสมัยใหม่มันจะไปสนุกด้วยอะไรกัน

แต่หนังเรื่องนี้มันทำให้ผมไปไกลกว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่ผมได้รู้ได้ศึกษามาแบบงูๆปลาๆ ด้วยความที่ตำหรับตำราภาษาไทยเรื่องพวกนี้มีให้อ่านน้อยเหลือเกิน แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าการดูหนังเรื่องนี้มันยังไม่พ้นหลักจิตวิเคราะห์หรอกนะ มันยังทำให้ผมรู้สึกสะดุ้งเตือนถึงทฤษฎีนี้ทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าร้อยทั้งร้อยบทฯของชาวตะวันตกถูกครอบคลุมด้วยหลักคิดนี้โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ที่ผมจะบอกคือมันทำให้ทฤษฎีนี้เมื่อผสมกับจิตวิญญาณความเป็นคุณมันไปได้ไกลกว่าในสิ่งที่ผมควรจะได้รับแบบทั่วๆไป

แต่เอาเถอะก่อนที่จะไปพูดอะไรที่เหมือนจะลึกซึ้งสำหรับบางคนหรือเบาโหวงสำหรับอีกกลุ่มคน ผมขอแสร้งทำเป็นครูผู้ใจดีแต่ถือไม้เรียวมาฟาดก้นเด็กสักทีเหอะ เพราะคุณช่างเหมือนกลัวคนจะไม่รู้จักสไตล์ของคุณหรืออย่างไร ถึงได้เล่นระดมวิธีการที่คุณมีเปิดเผยออกมาตั้งแต่วินาทีแรกเช่นนั้น หรือคุณคิดว่าบทมันยังไม่ดีพอ คุณถึงต้องใช้รูปแบบภาพยนตร์นำเสนอมันออกมาซะจน “มากล้น” ขนาดนั้น

พูดก็พูดเถอะการที่คุณละเลงรูปแบบภาพยนตร์ตั้งแต่แรกแบบนี้ มันเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ชมรำคาญและไม่อยากติดตามมากเลยนะ เพราะอะไร ? เพราะเวลาผู้ชมดูหนังในตอนแรก พวกเขายังไม่รู้หรอกว่าเนื้อเรื่องมันเกี่ยวกับอะไร แล้วมีอะไรที่ทำให้เขาต้องติดตาม แต่นี่คุณเล่นใช้สไตล์ภาพฉวัดเฉวียน เสียงดนตรีประกอบกระตุ้นเร้า การเคลื่อนกล้องและมุมภาพชี้นำ เหมือนคุณดีใจที่ได้ทำอะไรพิเศษมากกว่าการทำในประเทศคุณ หรือกระทั่งการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งเหล่านี้คือจุดเด่นของคุณทั้งหมดนะ แต่การที่คุณรีบใช้รีบแสดงตั้งแต่แรก มันเหมือนคุณตัดสินตัวละครตั้งแต่ต้นเลย นี่ถือว่าคุณขัดแย้งในธีมเรื่องของคุณเองเลย เพราะคุณกำลังบอกว่า เราไม่สามารถตัดสินคนด้วยความดี-ความชั่ว แต่คุณดันได้พิพากษาตัวละครด้วยรูปแบบทางภาพยนตร์ทั้งที่ผู้ชมยังไม่ได้รับรู้อะไรด้วยซ้ำไป

ขอโทษทีครับที่ย่อหน้าข้างบนผมใช้อารมณ์มากจนเกินไป ... แต่ถ้าผมยอมถอยออกจากธีมเรื่องซะก่อน ก็คงต้องยอมรับเลยว่าคุณ(แม่ง)โครตเก่ง คุณเป็นนักทำหนังรูปแบบนิยม[b](Formalist)[/b] ที่ฉกาจมาก คุณสามารถเล่าเรื่องให้เกิดอารมณ์ตามที่คุณบังคับโดยที่เรายังไม่เห็นเนื้อเรื่องอะไรด้วยซ้ำไป ซึ่งถือว่ากล้าหาญชาญชัยมากๆ แล้วไหนจะเรื่องสัญลักษณ์[b](Symbolic) [/b]ต่างๆที่คุณจัดวางเข้ามาอีก ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นทั้งประโยชน์ใช้สอยที่ไม่ต้องคิดมากให้ปวดหมอง หรือถ้ามองในระดับการตีความก็ย่อมทำได้ เช่นเข็มขัดเอย รองเท้าเอย กุญแจเอย โอ้ย!!! เยอะแยะไปหมดนับไม่ถ้วน ขนาดซีนเล่นเปียโน คุณยังสามารถทำให้การเล่นเปียโน ถูกครุ่นคิดไปถึงเรื่องของการร่วมเพศได้เลย ซึ่งมันเจ๋งมากเลยนะ ในการใช้ประโยชน์ต่างๆที่มี แล้วแสดงฤทธิ์เดชออกมาด้วยมุมมองของคนทำหนังเช่นคุณ

ผมขอว่าต่อในตัวเนื้อเรื่องนะครับ อยากที่ผมบอกไป คุณเล่นประโคมวิธีการตั้งแต่ต้นอย่างนั้น ทั้งๆที่มันยังไม่มีแรงจูงใจอะไรเลย มันเลยทำให้หนังกลายเป็นจงใจแสดงสไตล์ภาพและอารมณ์ให้ดูโรคจิตมีปัญหาตั้งแต่ต้น ซึ่งขอบอกว่าแม้มันจะสวยแต่น่ารำคาญมาก แต่พอเนื้อเรื่องเริ่มเข้าล็อกมีจุดขัดแย้งให้ผู้ชมได้เฝ้าตาม อะไรต่างๆที่คุณพยายามทำมันก็เลยเข้าที่เข้าทาง คุณใช้การตัดต่อแบบ [b]Parallel cutting[/b] ได้ถึงใจผมมาก โดยเฉพาะในซีนการอาบน้ำของอินเดีย [b](มีอา วาสิคอฟสกี้)[/b] ซึ่งคุณเล่นกลับไปเล่าซีนก่อนหน้าด้วยวิธีการ [b]Flash Back[/b] แล้วกลับมาเล่าซีนห้องน้ำ ด้วยการตัดภาพสลับไปมา โดยที่ค่อยเฉลยๆว่าซีนก่อนหน้า อินเดีย ไปทำอะไรมา แล้วคุณยังให้ผู้ชมคาดเดาไม่ถูกด้วยว่า อินเดีย รู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างไร ทำให้ซีนเดียวนี้ไม่ต่างจากการที่คุณพาผู้ชมเล่นรถไฟเหาะตีลังกา ที่เรากลัวมันนักหนา แต่เมื่อเสร็จสิ้นแล้วมันก็กลายเป็นเรื่องตลกดีๆนี่เอง เช่นกันคุณสามารถเปิดเปลือยจิตวิญญาณของอินเดียได้อย่างหมดสิ้น แล้วมองว่าการทำชั่วไม่ต่างจาก สมฤดีกับการสำเร็จความใคร่ตัวเองเลย

แต่ทำไมคุณช่างโรคจิตอะไรแบบนี้  เดี๋ยวก่อน!!! อย่าเพิ่งโกรธเคืองผมเลย อ่านให้จบก่อน ... นี่คือคำชมของผมที่ออกมาจากใจเลยนะ เพราะคุณใช้ความโรคจิตที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของคุณปลดปล่อยออกมาในรูปแบบศิลปะ ซึ่งงดงามและน่าติดตามเป็นอย่างมาก และคุณยังบอกเองด้วยว่าคุณไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ในความเป็นจริงได้นอกจากในโลกของภาพยนตร์เท่านั้น ดังนั้นโลกของภาพยนตร์จึงเป็นโลกสมมติ ที่คุณสร้างมันขึ้นมาด้วยแนวคิดบางอย่างที่ไม่สามารถนำไปใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้เลย     
ผมไม่แน่ใจว่าคุณจะยังอ่านต่อจนจบหรือจะฉีกกระดาษผมทิ้งแล้วโยนมันลงถังขยะ แต่หน้าที่ของผมตอนนี้คือเขียนและเขียนมันลงไป มนุษย์เราที่รับรู้กันมักจะชอบทำร้ายประหัตรประหารฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ใยดี โดยเฉพาะมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างกัน ทั้งทางเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งเป็นประเด็นสากลทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้กลับเลือกเล่นประเด็นที่เจ็บแสบ-แสบสันต์อย่างมาก เพราะเล่นประเด็นความเกลียดเครียดแค้นมนุษย์ในระดับสายเลือดหรือครอบครัวกันเลยทีเดียว

คุณตีแผ่มันออกมาชนิดที่ว่าไม่ออมมือด้วยซ้ำ แถมยังเล่าออกมาด้วยความปรกติสุข จนทำให้อดมองไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วความชั่วในตัวของเราไม่ได้เกิดจากสังคมอื่นใดที่เราดำรงอยู่ แต่มันเกิดออกมาจากสายเลือดบริสุทธิ์และความอิจฉาริษยาภายใต้ครอบครัวเดียวกันแทบทั้งนั้น 

อีกทั้งคุณยังหมิ่นเหม่ความรักร่วมสายเลือดครอบครัวในทุกคู่ ทั้งพ่อ-ลูก อา-หลาน ถึงกระทั่งพี่-น้อง ทั้งที่จริงแล้วซิกมันด์ ฟรอยด์ ว่าไว้หมดแล้วในเรื่องพวกนี้ ไม่ว่าจะปมโอดิปุส หรือการทดแทนของความปรารถนา ที่ใช้เด็กสาวอินเดีย เป็นผลผลิตของการกระทำทั้งมวล ซึ่งผมว่าประเด็นของจิตวิเคราะห์น่าจะมีอยู่ในบทดั้งเดิมแล้วหละ แต่ส่วนที่คุณกำกับและตีความมันได้ทำให้เรื่องพวกนี้มีความลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งผมว่าปรัชญาตะวันออกที่อยู่ในตัวคุณมันได้ทำให้คุณแตกฉานในเรื่องเหล่านี้พอสมควร 

เพราะคุณทำให้ประเด็นของความเป็นมนุษย์มันกลายเป็นเรื่องสามัญแบกะดิน คุณตีแผ่ออกมาได้อย่างเปิดเปลือย  คุณมองว่าคุณสมบัติของความรักคือการแย่งชิงกันในระดับพื้นฐานเพื่อกดใครก็ตามให้จมลงดิน และความอิจฉาริษยา ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความแค้นในทุกผู้ทุกนามของมนุษย์ซึ่งไม่สามารถขจัดลงไปได้ นอกจากจะยอมให้มันร่วงลงไปในระดับจิตใต้สำนึกก่อนที่เราจะถูกสอนในเรื่องของศีลธรรมขึ้นมาแทน อินเดียคือตัวแทนของความเก็บกดแบบนั้น เก็บกดจากพ่อตาย เก็บกดจากการที่ถูกแม่เกลียดเพราะแย่งความรักจากพ่อ เก็บกดที่ต้องปิดกั้นความรักอาของตัวเองเพราะเป็นตัวแทนของพ่อ ฯลฯ

แต่แทนที่อินเดียจะยอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันกลายเป็นสิ่งเก็บกด อินเดียกลับลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งเหล่านั้นแล้วก้าวขึ้นสู่ความปรารถนาของตนเอง ในแบบที่เธอต้องการ ไม่ยอมให้สิ่งทั้งหลายที่ผ่านมาทำลายชีวิตของเธอ แล้วฝังอยู่ในจิตไร้สำนึก เธอไม่ยอมเป็นโอดิปุส ที่ทำลายดวงตาของตัวเอง หลังจากได้แม่เป็นเมีย แต่กลับยืดอกแล้วบอกว่า นี่คือชีวิตของฉัน 
นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจและผมค่อนข้างติดตรึงใจมาก เพราะเท่ากับเราไม่ยอมรับชะตากรรมทุกสิ่งที่เราถูกสร้างขึ้นมา เพราะสุดท้ายเราเป็นคนเลือกชีวิตในแบบตนเอง เมื่อเราถูกสั่งสมมาในแบบริษยาและความโกรธแค้น เราก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้เป็นบันไดในการใช้ชีวิต ไม่ใช่ปกปิดเก็บมันไว้ นี่คือคุณสมบัติของมนุษย์อย่างแท้จริง เป็นความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณ เป็นความดั้งเดิมของชีวิต หากเราถูกสอนจากแม่ที่เป็นเสือ เราก็ต้องได้เป็นเสือ ไม่ใช่เก็บความเป็นเสือหลบไป แล้วกลายเป็นเพียงลูกแมว มันไม่ยุติธรรมกับความเป็นมนุษย์เอาเสียเลย


ดังนั้นถ้าเรามองในสิ่งที่ภาพยนตร์สื่อสารออกมาเท่ากับว่าทุกคนถูกอบรบสั่งสอนอะไรบางอย่างมาแต่ปกปิดไว้เพื่อเรียนรู้ความเป็นจริยธรรมและศีลธรรมของสังคม ซึ่งถูกสอนในขณะที่เราเติบโตเต็มที่แล้ว แต่ขณะที่เรายังเด็ก เราเรียนรู้โดยสัญชาตญาณที่เราถูกหล่อหลอมจากอะไรบางอย่างที่มีทั้งความรักความชัง ความเผื่อแผ่และริษยา แต่สิ่งเหล่านั้นเรากลับไม่สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตได้เลยเพราะเป็นสิ่งต้องห้ามในหลายๆรูปแบบ 

นี่ทำให้เห็นว่าชีวิตคือการสมยอมต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้รับแล้วปิดเอาไว้ในจิตใต้สำนึก ก่อนที่จะเรียนรู้การเป็นคนดีในสังคม ทั้งๆจะว่าไปเราก็มีเผ่าพันธุ์มนุษย์มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ซึ่งถ้าคาดเดาบรรพบุรุษเราไม่ใช่คนดีสักเท่าไหร่ เพราะได้สร้างส่วนประกอบความอิจฉาริษยาเกลียดชังในหลายรูปแบบจนกลายเป็นมรดกให้มนุษย์ในปัจจุบัน เหมือนที่อินเดียได้รับมาจากครอบครัว แต่อินเดียกลับต่อต้านและไม่สมยอมที่จะปิดกั้นสิ่งที่ได้รับเหล่านั้นในระดับจิตใต้สำนึก แต่กลับพร้อมเปิดเผยความปรารถนา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง 

ก่อนที่จดหมายผมจะถูกโยนลงถังขยะ ผมอยากจะกล่าวกับคุณว่า การเปิดตัวหนังเรื่องแรกในฮอลลีวู้ดของคุณมันทำให้รู้สึกแปลกประหลาดเป็นอย่างมากที่ได้พบสไตล์หนังแบบคุณ และประเด็นที่สื่อสารในแบบคุณ ที่ทำให้พบรู้สึกไม่จำเจกับความเป็นตะวันตก เพราะคุณได้พาผมเข้ามาในดินแดนเกาะกลางที่เหมาะเจาะให้ผมรู้สึกพอใจ แม้หนังเรื่องนี้มันไม่ได้ถึงกับจะทำให้ผมรักหนังของคุณ แต่มันก็ทำให้ผมรู้ซาบซ่านไปกับมันทั้งวิธีการที่คุณใช้ รวมถึงข้อคิดต่างที่สอดแทรกเข้ามา จะว่าไปแล้วนั้น ประเด็นที่คุณส่งมา คงอารมณ์ประมาณว่า “มนุษย์เราดำรงอยู่ด้วยความทั้งรักทั้งเกลียดต่อชีวิตตนเอง ที่ไม่เป็นแบบใจต้องการ แต่ก็พยายามใช้ชีวิตต่อไปในแบบที่ตัวเองปรารถนา”

เช่นกันหนังเรื่องนี้มันก็ทำให้ผมรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียด ที่ผมตอบไม่ได้ว่าสรุปแล้วผมหลงรักหรือเกลียดชังหนังเรื่องนี้ของคุณดี 

แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมรับรู้ว่า “ภาพยนตร์อาจเป็นพื้นที่หรือสนามทดลองแห่งการปลดปล่อยความปรารถนาที่ระดมไว้อยู่เต็มหัวใจ”
และหากอินเดียค้นหาตัวเองในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วยแรงปรารถนา 

คุณ ปาร์คชานวุก คุณก็คงค้นพบแหล่งปรารถนาในตัวคุณแล้วเช่นกัน

ช่วยผมฉีกทฤษฎีจิตวิเคราะห์ลงออกเป็นเสี่ยงๆด้วยนะครับ

ด้วยความเคารพ
A-Bellamy
22 มี.ค. 2556   


คะแนน 7.75/10

ขอบคุณอย่างจริงใจที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ครับ ^^

ติดตามบล็อกของผมที่ : //a-bellamy.bloggang.com
ติดตามทางเฟสบุค: //www.facebook.com/A.Surrealism




Create Date : 22 มีนาคม 2556
Last Update : 5 พฤษภาคม 2559 1:41:43 น. 5 comments
Counter : 6515 Pageviews.  

 
สุดยอดมากค่ะ.


โดย: พลอย IP: 183.89.119.68 วันที่: 22 มีนาคม 2556 เวลา:22:31:03 น.  

 
ลึกซึ้งแท้


โดย: Tarn IP: 115.67.200.230 วันที่: 22 มีนาคม 2556 เวลา:23:08:06 น.  

 
ชอบมากอ่ะเรื่องนี้ คุณวิเคราะห์ได้ลึกซึ้งดีจัง ขอสารภาพว่าำม่รู้อะไรเลย ตามมาดูเรื่องนี้เพราะชอบ old boy งานเก่าของ ผกก .เค้า และ trailer เรื่องนี้มันดูจิตๆ โดนใจดี


โดย: kati IP: 183.89.153.236 วันที่: 24 มีนาคม 2556 เวลา:13:38:55 น.  

 
นับถือในความคิด สี่หน้าเอสี่นี่มากค่ะ ยาวได้ใจมาก ขอบคุณที่รีวิวให้อ่านค่ะ ยอดเยี่ยม


โดย: ฺbangkhana IP: 124.120.115.100 วันที่: 22 มิถุนายน 2556 เวลา:22:39:34 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำวิจารณ์ดีๆ ครับ


โดย: PathYosh IP: 180.183.183.160 วันที่: 7 กรกฎาคม 2556 เวลา:1:01:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]