ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
 
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
4 กันยายน 2554

The Tree of Life(2011)

วิจารณ์ภาพยนตร์ The Tree of Life (2011)


ผู้กำกับ เทอร์เรนซ์ มาลิก

The Tree of Life คือภาพยนตร์เรื่องที่ 5 ของ เทอร์เรนซ์ มาลิกตลอดระยะเวลา 40 ปีของการเป็นผู้กำกับ มาลิกคือผู้กำกับที่รักสันโดษ มักเก็บตัวอยู่ในโลกส่วนตัว น้อยครั้งที่จะออกสื่อและสัมภาษณ์ใดๆ มาลิกจบการศึกษาทางด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดด้วยเกียรตินิยม อันดับ 1 นั่นจึงไม่แปลกที่หนังของเขาจะสอดแทรกสาระทางปรัชญาเอาไว้ด้วยเสมอ หลังจากหนังเรื่องที่ 2 ของเขา Day of Heaven(1978) ประสบความสำเร็จจากการได้รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1979 ซึ่งทำให้มาลิกถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เขาก็ไม่รีรอช้าที่จะรักษาความเป็นตัวตนของตนเองโดยการย้ายไปเก็บตัวเงียบๆ ที่ปารีสเป็นเวลา 20 ปีเต็ม หลัง 20 ปีแห่งความโดดเดี่ยวของมาลิกผ่านพ้นไป เขากลับมาแผ่นดินเกิดอีกครั้งด้วยหนังเรื่อง The Thin red line(1998) หนังที่ว่าด้วยสงครามที่ต่อต้านสงคราม แม้เรื่องนี้จะเข้าชิงออสการ์ถึง 7 สาขาแต่ไม่ดีพอที่จะชนะหนังของสตีเว่น สปีลเบิร์กเรื่อง Saving Private Ryan หนังสงครามขนานแท้ลงไปได้ โดยกวาดรางวัลไปถึง 5 สาขาด้วยกัน จนกระทั่งปี 2011 The Tree of life คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา ในวัย 68 ปี แม้หนังเรื่องนี้นักวิจารณ์จะค่อนขอดว่าเป็นหนังส่วนตัวของมาลิกเอง ในการฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลเมืองคานส์ แต่สุดท้ายหนังเรื่องนี้ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลปาล์มทองคำประจำปี 2011 ไปครอบครอง แม้เขาจะไม่มารับรางวัลตามสไตล์ของตัวเขาเองก็ตาม

ภาพยนตร์เรื่อง The Tree of Life ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในยุค 1950 แถบชนบทของอเมริกา ที่มี Mr. O’Brien (Brad Pitt) เป็นหัวหน้าครอบครัว และ Mrs.O’Brien (Jessica Chastain) เป็นศรีภรรยา พร้อมลูกชายอีก 3 คน  หากดูจากหน้าหนังและพล็อตเรื่องบวกกับโปสเตอร์ของหนังที่ใช้ฝ่ามือ Brad Pitt ประกบเท้าลูกน้อย อาจทำให้ใครหลายคนหลงคิดไปได้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังครอบครัวที่เหมาะกับบุคคลทุกเพศทุกวัย และนั่นอาจทำให้ใครหลายคนผิดหวัง เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังชีวิตตีแผ่ครอบครัวชนบทธรรมดา แต่หนังกล่าวอ้างจากสิ่งที่ยิ่งใหญ่คือเรื่องของโลกและพระเจ้า ก่อนจะค่อยไล่ลงรายละเอียดที่เล็กอย่างครอบครัว O’Brien ลงมา

ผู้เขียนเองค่อนข้างสับสนวุ่นวายในการจับประเด็นเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่นานพอสมควร เพราะสิ่งที่มาลิกถ่ายทอดออกมาเป็น The Tree of life นั่นมันแตกต่างภาพยนตร์เรื่องอื่นโดยทั่วไป

The Tree of life นั่นมีความลุ่มลึกในการถ่ายทอดมีความพิถีพิถันในทุกเรื่องราว ความหมายนัยยะที่แฝงอยู่ในตัวภาพยนตร์มีมากซะจนไม่สามารถตีความได้อย่างหมดจด แต่มันคงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ชม ต่อประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของแต่ละคนที่จะให้ความหมายต่อตัวภาพยนตร์เอง และผู้ชมแต่ละคนก็อาจจะตีความไปได้ต่างๆนานาเช่นกัน ซึ่งหากค้นประวัติส่วนตัวของ มาลิก เองด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่า มาลิก เองเคยเป็นอาจารย์สอนปรัชญาอยู่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้ชมภาพยนตร์ของ มาลิก เองเหมือนถูกสั่งสอนอย่างแนบเนียนด้วยสาระทางปรัชญาโดยผู้ชมไม่ทันรับรู้และระวังตัว

ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถรับรู้สาระที มาลิก ต้องการจะถ่ายทอดได้อย่างหมดจด เป็นเพียงสื่อกลางที่พอจะช่วยให้จับแนวทางสาระของภาพยนตร์ The Tree of life ได้เท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าภาพยนตร์ The Tree of life นั้นเปรียบเปรยไปคงไม่ต่างอะไรจากหนังสือของมาลิกเล่มหนึ่ง จึงอยากลองเขียนบทความชิ้นขึ้นมาในแบบฉบับของการจำลองหนังสือย่อๆสัก 1 เล่ม




The Tree of Life

บทที่ 1 ปฐมบทของโลก

ปฐมบทของโลกหรือสิ่งแรกสุดที่โลกได้กำเนิดขึ้นในจักรวาล ทางปรัชญาอาจจะมีการถกเถียงมาอย่างยาวนานว่าโลกเกิดขึ้นมามาได้อย่างไร แต่ผู้เขียนเน้นสาระทางปรัชญาของ มาลิกเท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญซึ่งปรากฏออกมาในภาพยนตร์ The Tree of Life  ซึ่งมาลิกถ่ายทอดออกมาเป็นฉากวิวัฒนาการของโลกประมาณ 20 นาที ในช่วงตอนต้นของภาพยนตร์ ภาพนามธรรมที่ไม่อาจอธิบายได้ถูกถ่ายทอดใส่ผู้ชม อย่างเนิบช้าตลอดดระยะเวลา 20 นาที  ภาพดิน น้ำ ลม ไฟ ต่างเปล่งประสานและรวมพลังก่อเกิดเป็นโลกได้อย่างสวยงาย สิ่งมีชีวิตค่อยๆวิวัฒนาการขึ้นจนเกิดเป็นไดโนเสาร์ (ภาพชุดวิวัฒนาการของโลก เป็นฟุตเทจที่มาลิก เก็บสะสมมาเรื่อยมาตั้งแต่สมัยทำงานแรกๆ )  ไดโนเสาร์ถือกำเนิดบนโลก เมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการได้ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น และถือเป็นสัตว์ที่ครองโลกก็ว่าได้ ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ที่ครองโลกในปัจจุบัน ไดโนเสาร์มีทั้งกินพืช และกินเนื้อ

ในฉากวิวัฒนาการนี้ มาลิก ได้นำเสนอฉากหนึ่งที่สอดแทรกสาระได้อย่างแยบยลและกินใจที่สุดคือขณะที่ ไดโนเสาร์กินเนื้อออกล่าเหยื่อ ไดโนเสาร์กินพืชทั้งหลายต้องหนีออกห่างจากไดโนเสาร์พวกนี้  แต่มีไดโนเสาร์กินพืชตัวหนึ่งได้ล้มเจ็บลงอยู่ใกล้ริมแม่น้ำ และมันคงถึงคราวชะตาขาดที่ไดโนเสาร์กินเนื้อได้มาพบ แววตาความดุร้ายที่เปล่งประกายออกมาจากแววตาจากไดโนเสาร์กินเนื้อนั้นทำให้ ไดโนเสาร์กินพืชตัวสั่นสะท้านด้วยความกลัว เท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อได้เหยียบลงตรงหน้าของไดโนเสาร์กินพืชอย่างไม่ใยดี นั่นแสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจต่อผู้อ่อนแอกว่าที่มีเนิ่นนานมา หลายล้านปีแล้ว แต่พลันที่ไดโนเสาร์กินเนื้อเห็นบาดแผลจากศัตรูของมัน ทำให้เกิดการครุ่นคิด และแทนที่มันจะฆ่าและกินเนื้ออย่างสมใจ แต่มันกลับไม่ทำและเดินจากไปหาเหยื่อรายใหม่ที่พร้อมต่อกรกับมันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อแทน

ฉากไดโนเสาร์อาจดูน่าขบขันสำหรับใครหลายๆคนแต่หาก มองอย่างลึกซึ้งแล้ว มาลิก กำลังสอดแทรกความรัก ความเมตตาที่ไดโนเสาร์พึงกระทำด้วยกันลงไปฉากนี้ และนี่คือสิ่งที่มาลิกกำลังพร่ำบอกตลอดระยะเวลา 139 นาที นั่นคือความรักความเมตตา กำเนิดเกิดขึ้นก่อนที่โลกจะมีมนุษย์เสียอีก


บทที่ 2

2.1 ทางของแม่

แม่หรือ Mrs.O’Brien (Jessica Chastain) ผู้เปิดตัวในฉากแรกของภาพยนตร์ ซึ่งบอกเล่าถึง 2 แนวทางในการดำเนินชีวิตของตัวเอง นั่น คือ 1. ทางของพระเจ้า หรือทางแห่งความรักความเมตตา ทางที่ทำเพื่อคนอื่นโดยไม่คิดถึงตัวเอง และ 2. ทางของธรรมชาติ(หรือทางของมนุษย์ทั่วไป) ทางที่ทำทุกอย่างให้ทุกคนทั้งหลายยกย่องสรรเสริญตัวเอง ฯลฯ และ Mrs.O’Brien เลือกทางเดินตามพระเจ้า แม้ต่อมา ลูกชายคนที่ 2 ได้จากครอบครัวนี้ไปในวัย 19 ปี (ซึ่งหนังได้นำฉากนี้ขึ้นต้นในช่วงแรก เพื่อให้เห็นปฎิกิริยาของครอบครัว ก่อนที่จะเข้าสู่วิวัฒนาการของโลก) นั่นทำให้ Mrs.O’Brien รู้สึกไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าถึงได้พรากลูกของเขาไป ทั้งๆที่ เขาเคารพและภักดี ต่อพระเจ้าเป็นอย่างดีและเสมอมา ในช่วงหลังฉาก วิวัฒนาการของโลกที่เข้าสู่เรื่องราวของครอบครัวตั้งแต่เกิดลูกทั้ง 3 คน ผู้ชมก็พอจะเห็นวิธีการเลี้ยงลูก Mrs.O’Brien ได้อย่างดี และนั่นคือสิ่งที่ มาลิก คงจะถ่ายทอดออกมาว่า Mrs.O’Brien คือบุคคลที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าในคราบของแม่นั้นเอง


2.2 ทางของพ่อ

พ่อหรือ Mr. O’Brien (Brad Pitt) ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวทำงานเกี่ยวกับเครื่องบินรบ พ่อมักมีนิสัย เคร่งครัด เข้มงวด ใช้อำนาจ ต่อลูกๆทั้ง 3 คน โดยเฉพาะบนโต๊ะอาหาร ซึ่งสั่งให้ลูกทุกคนหยุดพูดขณะกินข้าว แต่ตัวเองกลับพูดมากเสียเอง แม้นิสัยส่วนตัวของพ่อมักชอบเล่นเปียโน(ซึ่งสื่อแทนได้ถึงความอ่อนโยน) แต่ผู้ชมสามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า Mr. O’Brien ไม่มีความอ่อนโยนใดๆหลงเหลืออยู่ในจิตใจเลย แถมยังได้มืดตามัวหลงใหลในวัตถุนิยม มีคำพูดหนึ่งที่คุยกับภรรยา ในเชิงยกย่องนายทุนที่ใช้เงินกว้านซื้อที่แถบนั้นจนหมด และยกย่องให้นายทุนคนนั้นเป็นดังพระเจ้าคนใหม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่า มาลิก ถ่ายทอดตัวละครตัวนี้ออกมาอย่างชัดเจน ในด้านที่ตรงข้ามกับพระเจ้า ทั้งการเข้มงวด รุนแรง หลงใหลในค่าของเงิน จนสุดท้ายยกย่องบุคคลร่ำรวยเป็นดังพระเจ้าคนใหม่ ซึ่งจะปรากฏบุคคล ประเภทนี้มากมายในสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน และมาลิกเอง ก็คงเกรงกลัวว่ายิ่งบุคคลประเภทนี้มีมากเท่าไหร่ การเสื่อมศรัทธาต่อพระเจ้าหรือสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจก็ยิ่งน้อยลงตามไปมากเท่านั้น


วิจารณ์ภาพยนตร์ The Tree of Life










บทที่ 3

3.1 แจ๊ค (ลูกชายคนโต ตอนเป็นเด็ก)

แจ๊คคือลูกชายคนโตของครอบครัว แจ๊คมีส่วนผสมระหว่างพ่อและแม่อยู่ในตัวเขาเอง ซึ่งก็คือ แนวทางของพระเจ้า กับ แนวทางของธรรมชาติ ผสมอยู่ในจิตใจ โดยมีส่วนผสมทางด้านพ่อที่มากกว่า แจ๊คถูกแม่เลี้ยงด้วยความอ่อนโยน และถูกพ่อเลี้ยงด้วยความเข้มงวด เจ้าระเบียบ ทำให้ส่วนผสมที่แตกต่างคนละขั้วในจิตใจมันต่อต้านกันจนเกิดเป็นปมภายในจิตใจในช่วงวัยผู้ใหญ่ ขณะที่อยู่กับพ่อแจ๊คมักจะต้องเชื่อฟังอย่างเกรงกลัว แต่พออยู่กับแม่แจ๊คกลับแสดงความมีอำนาจออกมา อาจเพราะว่ามีส่วนผสมของการเลี้ยงดูจากวิถีทางของพ่อมากกว่านั่นเอง

มาลิก กำลัง ใช้ภาพของแจ๊คเป็นการบอกในสังคมวงกว้างว่า เด็กแบบแจ๊คมีมากมายล้นเหลือในสังคม แจ๊คมักใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ทำลายข้าวของ แม้ในใจของแจ๊คจะไม่ได้ต้องการจะทำอย่างนั้นก็ตาม แต่แจ๊คไม่สามารถหยุดการกระทำลงเหล่านั้นลงได้ เหมือนเป็นสิ่งที่ระบายความไม่เข้าใจในจิตใจ และนี่คือเด็กที่กำลังมีปัญหาในอนาคตภายภาคหน้า

วิจารณ์ภาพยนตร์ The Tree of Life

3.2 น้องของแจ็ค (ลูกชายคนที่2 ของครอบครัว)

น้องของแจ๊คคนนี้ได้ส่วนผสมทางแม่มากกว่าทางพ่อทำให้มีความอ่อนโยนทางจิตใจมากกว่า จะเห็นได้จากการที่ชอบเล่นดนตรีโดยปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกๆอย่างได้แต่เป็นลิ่วล้อของพี่ชายของตัวเอง

มีฉากหนึ่งที่แจ๊คให้น้องเอามือมาป้องที่ปืนกระสุนยางโดยท้าทายน้องว่ากล้าเอามือมาป้องหรือเปล่า และน้องก็กล้าเพราะน้องของแจ๊คมีด้านความอ่อนโยนที่ได้จากแม่มากกว่าจึงคิดว่าแจ๊คจะไม่กล้าทำ แต่สุดท้ายแจ๊คก็ยิงใส่ มือของน้อง

มาลิกนำเสนอตัวละครน้องของแจ๊คออกมาในส่วนผสมของแม่(ทางของพระเจ้า)มากกว่า ของพ่อ ทำให้ผู้ชมจะเห็นได้ว่าน้องของแจ๊คจะมีความอ่อนโยนมากกว่าพี่ ซึ่งค่อนข้างขัดกับคำสอนของครอบครัวปัจจุบันในการเลี้ยงดูที่ต้องการให้ ลูกเข้มแข็งสมชายชาตรี ที่ให้เอาตัวรอดกับสังคมในยุคปัจจุบัน แม้สุดท้ายมาลิกจะไม่ได้ชี้ทางให้ว่าทางไหนหรือวิธีไหนคือแบบถูกและผิด ดังนั้นคงเป็นหน้าที่ของผู้ชมเองมากกว่าที่จะพินิจตรึกตรอกในการเลือกใช้แนว ทางใดในการดำรงชีวิตให้ถูกทาง

วิจารณ์ภาพยนตร์ The Tree of Life

บทที่ 4 แจ๊ควัยผู้ใหญ่

แจ๊ควัยผู้ใหญ่ (Sean penn) นั้นถูกนำเสนอเข้ามาเป็นระยะๆ สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจะสามารถสัมผัสรับรู้อารมณ์ของแจ๊คได้นั้นก็คือ อารมณ์หม่นหมองภายในจิตใจ จากสีหน้าแววตาที่เศร้าหมอง การกระทำที่ดูเหม่อลอย(จุดเทียนแล้วนั่งมองเปลวไฟ) การเดินที่ดูเหมือนไร้ชีวิตจิตใจ ทั้งหมดเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าแจ๊คกำลังมีปมปัญหาภายในจิตใจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและมันกำลังเพิ่มพูนจนเป็นเรื่องใหญ่

มาลิกถ่ายทอดแจ๊ควัยผู้ใหญ่ออกมาได้อย่างมีนัยยะซ่อนเร้น ภาพของแจ๊ควัยผู้ใหญ่ถูกนำเสนออย่างวับๆแวมๆตลอดทั้งเรื่อง แจ๊คแม้จะโตขึ้นเป็นสถาปิกหนุ่ม มีภรรยาอยู่ข้างกายในฉากแรกที่ถูกนำเสนอ แต่ผู้ชมจะเห็นหน้าตาของผู้เป็นภรรยาของแจ๊คได้อย่างดีว่าหม่นเศร้าไม่ต่างไปจากแจ๊คเท่าไหร่นัก อาจเพราะไม่เข้าใจสิ่งที่ค้างคาใจในตัวสามีของเขาเอง

ฉากหนึ่งในช่วงท้ายของหนังที่แจ๊คกำลังขึ้นลิฟท์ไปสู่ชั้นที่สูง แต่เสียงลิฟท์กลับเป็นเสียงดั่งชีพจรเหมือนคนกำลังใกล้ตาย และภาพก็ตัดไปสู่ที่ใดสักที่หนึ่ง ที่แจ๊คกำลังเดินไปโดยมีใครสักคนนำทางนั้นคือแม่ของเขานั่นเอง ที่ๆเขาเดินไปเป็นดั่งทะเลทราย แม่ของเขานำพาเขาลอดไม้ที่เป็นโครง(คล้ายประตู) แต่แจ๊คกลับลังเลที่จะลอดเข้าไป ทั้งๆที่ความจริงที่มันตั้งอยู่ก็คือที่ๆว่างเปล่า ที่มีไม้เป็นโครงกั้นเท่านั้น หรือมาลิกกำลังสื่อเป็นนัยๆว่า แจ๊คถูกหล่อหลอมในทางที่ไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้านำทาง ทั้งๆที่ 2 ทางนี้มันช่างใกล้กันเหลือเกิน

กระนั้นแจ๊คเดินต่อไป ที่ๆเป็นชายหาด มีคนมากมายรออยู่ที่นั่น มีแม่ พ่อ ของเขา รวมทั้งน้องชายของที่ตายไปแล้วด้วย มีทุกๆคน ที่ตายไปแล้วรวมอยู่ที่ชายหาด ทุกคนมีหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เปรียบดังที่ๆเขากำลังรอคอยเพื่อไปอยู่กับพระเจ้าของพวกเขา ซึ่งที่ตรงนี้มีความบริสุทธิ์ที่สุด ประเมินค่าจากการที่ใช้ระยะภาพที่สบายตา บรรยากาศดี แถมยังใช้สัญญะหน้ากากที่ดูเหมือนหน้ากากที่ใช้แสดงละครได้หลุดลอยสู่ท้องทะเล เปรียบที่ๆตรงนี้เป็นที่ๆทุกคนถอดเปลือกนอกและสิ่งจอมปลอมออกจากร่างกายเพื่อพร้อมรับใช้พระเจ้า หลังจากนั้นแจ๊คลงลิฟท์มาสู่พื้นด้านล่าง อย่างโซซัดโซเซ แต่สีหน้าและแววตาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เพราะเขาดูมีความสุขขึ้นมาโดยทันที นั่นอาจบ่งบอกได้ว่าเขาพบกับบางสิ่งที่คั่งค้างอยู่ใจได้แก้ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วิจารณ์ภาพยนตร์ The Tree of Life

บทที่ 5 สรุป

สุดท้ายสาระที่มาลิกให้กับผู้ชมอาจจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ ในด้านการให้ความรัก ความเมตตา และการเคารพในพระเจ้า จริงๆแล้วมาลิก ใช้โยบ ซึ่งเป็นทาสรับใช้ของพระเจ้าเชื่อมโยงเข้ามาในหนัง แต่ผู้เขียนขอข้ามไปเพราะไม่อาจเข้าใจในบริบทของศาสนาคริสต์อย่างเด่นชัดจึงไม่กล้ายกมาใช้ แต่พอจะจับใจความได้ว่า โยบโดนพระเจ้าฆ่าลูกของโยบ เพื่อเป็นการทดสอบความเคารพต่อพระเจ้า เหมือนดั่งแม่ที่มาลิกนำมาใช้เป็นตัวแทนโยบ โดยการที่มาลิกใช้ทดสอบในการพรากลูกชายคนที่ 2 ของเธอไป

แม้ The Tree of life จะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดูได้อย่างสบายตาและสบายใจ มีภาพสัญญะ ต่างๆมากมายเกิดขึ้นอยู่ตลอด มีภาพนามธรรมมากมายที่ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผล แต่ถ้าหากผู้ชมก้าวข้ามคำว่าเหตุผลไปแล้วลองสัมผัสด้วยใจ บางที อาจจะได้แง่มุมบางสิ่งบางอย่างที่ลึกซึ้ง เพื่อใช้ดำเนินก้าวไปในชีวิตอันยาวไกลก็เป็นได้

คะแนน 9.5/10
เกรด A+++




Create Date : 04 กันยายน 2554
Last Update : 4 เมษายน 2558 14:22:16 น. 10 comments
Counter : 2532 Pageviews.  

 
ละเอียดอ่อน


โดย: ....... IP: 202.28.25.165 วันที่: 30 ตุลาคม 2554 เวลา:22:06:35 น.  

 
ขอบคุณมากครับ ละเอียดดีมาก
ชอบหนังเรื่องนี้ครับ ตอนดีเสร็จก็สงสัยหลายอย่าง
พอมาอ่านปุ๊บ ก็เข้าใจในเหลายอย่างมากขึ้น ^^


โดย: คนรักหนัง IP: 125.24.210.101 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2554 เวลา:9:12:54 น.  

 
อืม ผมยังมีข้อค่องใจอยู่อย่างนึงครับ
เกี่ยวกับฉากที่แจ๊คไปที่บ้านหลังนึง เขาดูชุดผู้หญิง
แล้วก็วิ่งเอาไปทิ้งอย่างวิตกกังวล มันคืออะไรเหรอครับ

เกี่ยวกับเรื่องเพศรึป่าว


โดย: คนรักหนัง IP: 125.24.210.101 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2554 เวลา:10:56:04 น.  

 
ยากจังครับ ผมคงไม่อินไปกับอารมณ์/ปรัชญาเลยดูไม่สนุกเลย ออกจะเครียดกับพ่อซะเยอะ


โดย: จุใจ IP: 58.10.12.82 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2554 เวลา:19:11:09 น.  

 
เยี่ยมมากครับ ชอบหนังเรื่องนี้มาก รีวิวก็เยี่ยม เข้าใจมากขึ้น แต่ผมว่าแบรด พิทท์ก็เป็นพ่อที่ดีออก สอนดี ไม่ได้เข้มงวดอะไรเลย พ่อที่ด่า ทุบตีลูก แรงกว่านี้เยอะแยะ


โดย: เชน IP: 110.168.5.59 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2554 เวลา:2:24:19 น.  

 
สวัสดีค่ะ
อ่าน blog เรื่องนี้แล้ว รู้สึกเข้าใจหนังที่ได้ดูมามากยิ่งขึ้นค่ะและเห็นด้วยกับคุณ จขบ.ที่ว่าการที่เราจะรับสารจากเรื่องนี้ไปได้ว่า"มันคงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ชม ต่อประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของแต่ละคนที่จะให้ความหมายต่อตัวภาพยนตร์เอง และผู้ชมแต่ละคนก็อาจจะตีความไปได้ต่างๆนานา "
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ
ขอบคุณที่เขียนรีวิวให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นนะคะ



โดย: nobuta wo produce วันที่: 23 มกราคม 2555 เวลา:8:50:54 น.  

 
จนป่านนี้ยังไม่ได้ชมหนังเรื่องนี้เลยครับ


โดย: คนขับช้า วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:18:40:32 น.  

 
ชมแล้วครับ หนังดูยากจริงๆ แต่ก็เป็นหนังดีนะครับ


โดย: คนขับช้า วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:17:17:30 น.  

 
หนังเรื่องนี้ตอนแรกดูแล้วค่อนข้างงงครับ ตั้งใจดูก็ยังงงครับว่าตัวหนังต้องการจะสื่ออะไรอย่างแท้จริง
แต่ได้พอมาอ่านรีวิวนี้ก็เข้าใจในหลายๆอย่างที่สงสัยเลยครับ
ขอบคุณครับ ...


โดย: Naphasin S. IP: 182.53.82.172 วันที่: 7 มีนาคม 2555 เวลา:13:16:24 น.  

 
ผมรักการตีความของภาพยนตร์มากครับ เรื่องนี้เป็นบททดสอบอันนดี ในการฝึกอ่านภาพยนตร์
ผมก็หวังว่าที่ผมวิเคราะห์ จะทำให้นักดูหนัง หลงรักภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนที่ผมหลงรัก
เพราะบางคนดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องแล้วก็ประเมินค่าว่าเป็นหนังไม่ดี


โดย: A-Bellamy วันที่: 7 มีนาคม 2555 เวลา:14:12:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]