รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ศรัทธาแห่งชาวสยาม

ธรรมจักร พรหมพ้วย

ชนในดินแดนสุวรรณภูมิแต่ดั้งเดิมในสมัย Primitive นั้น ก็คงจะหวาดกลัวในภัยจากธรรมชาติ เฉกเช่นเดียวกับสังคมและอารยธรรมในดินแดนอื่น สุดแท้แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อความหวาดกลัวนั้นจะแสดงออกในรูปของศรัทธาเช่นใด หลายพื้นที่ของดินแดนแห่งนี้นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เป็นเทวดายึดเหนี่ยวทางใจ เช่น การนับถือ “ผีฟ้า” และ “แถน” ซึ่งยังปรากฏอิทธิพลของความเชื่อเช่นนี้ในประเพณีไทย เช่น การจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนในเทศกาลบุญบั้งไฟของชาวไทอิสาน หรือการถือผี เลี้ยงผีและฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวไทล้านนา เป็นต้น

เมื่ออาณาจักรในดินแดนแห่งนี้มีความเข้มแข็งและก่อรูปชัดเจนขึ้น ประกอบกับการติดต่อสมาคมกับชาวต่างชาติผ่ายการคมนาคมทางเรือ ทำให้นำเอาวัฒนธรรมหลักจากอารยธรรมแหล่งใหญ่กว่ามาเผยแพร่ในดินแดนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากดินแดนชมพูทวีปที่มีความหลากหลายทางศาสนา ลัทธิและความเชื่อมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมสถานภาพของผู้ปกครอง เช่น การนำศาสนาพราหมณ์เข้ามาของอาณาจักรจามปา-ขอม เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองตามลัทธิเทวราชาในศาสนาพราหมณ์ จึงทำใประชาชนมีความเลื่อมใสในผู้ปกครองและยอมรับศาสนาดังกล่าวไปในตัว

นอกจากนั้น อีกศาสนาหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับดินแดนในสุวรรณภูมิอย่างยิ่ง ก็คือ พุทธศาสนาซึ่งแม้ว่าจะเข้ามาภายหลังศาสนาพราหมณ์ก็ตาม หากแต่ได้ส่งอิทธิพลอย่างแพร่หลาย โดยในชั้นต้นนั้นพุทธศาสนาในลัทธิมหายานได้เข้ามาเผยแร่ก่อนลัทธิเถรวาท และต่อมาก็ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับศาสนาพราหมณ์และความเชื่อเรื่องผีตามคติท้องถิ่นอย่างแนบแน่นและกลมกลืนกันไปได้ด้วยดี

จนเมื่อสยามได้สถาปนาความเป็นรัฐของตนอย่างชัดเจนโดยแบ่งแยกตนเองออกจากจักรวรรดิของขอมที่ปกครองอยู่ โดยสถาปนารัฐสุโขทัยขึ้นเป็นรัฐแรก โดยในชั้นต้นก็ยังได้รับความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์จากอารยธรรมขอมอยู่ โดยที่ต้องใช้พราหมณ์ทำพิธีสถาปนากษัตริย์จึงทำให้ลัทธิพราหมณ์ก็ยังคงอยู่ในมโนสำนึกของชนสยามในสมัยนั้น แม้ว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้มีการพยายามลดบทบาทของความเป็นเทวราชาลง โดยการทำให้ประชาชนเข้าถึงพระองค์ได้โดยตรงในการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” หากแต่ในชั้นหลังลัทธิความเชื่อแบบสมมติเทวราชก็ยังดำเนินต่ออย่างเข้มแข็งและมีรูปแบบที่มั่นคงอย่างสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา

อนึ่ง ในสมัยสุโขทัยนั้น ปรากฏหลักฐานการเข้ามาของพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิประเทศตามหนังสือ “มหาวงศ์” ซึ่งกล่างไว้ว่า เมื่อทำตติยสังคายนาแล้ว พระโมคัลลีบุตรดิสเถระให้จัดพระเถรานุเถระไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามนานาประเทศ แสดงนามไว้ในหนังสือมหาวงศ์ ๙ แห่ง ๑ ในนั้นคือ สุวรรณภูมิประเทศ โดยมีพระโสณะ องค์ ๑ กับพระอุตระ องค์ ๑ เป็นสมณทูต ซึ่งอาจเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความแพร่หลายในดินแดนแถบนี้

ความยิ่งใหญ่และแพร่หลายของพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิปรากฏหลักฐานว่า เมื่อพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีปทั้งอินเดียและลังกาเกิดความเสื่อมลง ด้วยมูลเหตุที่ลัทธิฮินดูและอิสลามได้กลับเข้ามามีบทบาทในดินแดนนั้น จึงทำให้พุทธศาสนาในลัทธิ “สยามวงศ์” ได้ทำหน้าที่นำเอาหลักธรรมของพระสมณโคดมกลับไปยังดินแดนสิงหลทวีปอีกครั้ง ดังมีหลักฐานบันึกไว้ว่า ในปีมะเมีย โทศก (จุลศักราช ๑๑๑๒) พุทธศักราช ๒๒๙๓ พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ มีรับสั่งให้สามเณรสรณังกรแต่งพระราชสาส์นเป็นภาษามคธถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฉบับ ๑ ถวายสมเด็จพระสังฆราชกรุงศรีอยุธยาฉบับ ๑ แล้งแต่งข้าราชการชาวสิงหลเป็นทูตานุทูต ๕ นาย ให้เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุธยา มีความตามพระราชสาส์นให้กรุงศรีอยุธยาจัดคณะสงฆ์ไปประดิษฐานสมณวงศ์ตามความประสงค์ของชาวสิงหล จึงจะเห็นได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น แม้ว่าการปกครองบ้านเมืองจะยึดถือตามขนบสมมติเทวราชยกย่องพระมหากษัตริย์เป็นดั่งมหาเทพในศาสนาฮินดูอวตารลงมาปกครองมนุษย์ หากแต่ความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็ทำให้ชาวสยามน้อมรับเอาหลักธรรมและยกย่องศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาที่สำคัญสูงสุด ดังปรากฏหลักฐานการสร้างวัดวาอารามและศาสนวัตถุจำนวนมากทั่วทั้งดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

ตราบจนกระทั่งในแผ่นกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน ศรัทธาเนื่องในพุทธศาสนาก็มิได้เสื่อมคลายลงไปแม้แต่น้อย นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงตีได้หัวเมืองล้านช้างแล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาเป็นหลักของแผ่นดิน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้ปกแผ่อย่างลงรากฝังลึกลงไปในทั่วทั้งแคว้น

ในขณะเดียวกันความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดูก็ยังมิได้จางหายไปจากสังคมไทย ด้วยอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาจึงทำให้ต้องมีพราหมณ์ในราชสำนักทำหน้าที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของพราหมณ์เท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดธรรมเนียมพระราชพิธีต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือนและพระราชพิธีจรอื่นๆ ซึ่งได้แบบอย่างมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการผนวกพิธีสงฆ์เข้าปนไว้ในพิธีของพราหมณ์ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญต่อขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวไทยตราบจนปัจจุบัน ดั่งคำที่กล่าวกันเสมอว่า “พุทธกับไสยไปด้วยกัน”

ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการและการรับเอาแบบแผนวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก ทำให้กระบวนทัศน์และวิธีคิดของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แม้ความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อศาสนายังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็มีผลในแง่ของการสร้างประเพณีและค่านิยมใหม่ขึ้น ในส่วนของพุทธศาสนามีการจัดระเบียบการศึกษาในคณะสงฆ์ไทยอย่างเป็นระบบขึ้นในรูปของวิทยาลัยสงฆ์แทนที่การสอบบาลีที่สนามหลวง ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ยังคงได้เค้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แต่ก็มีบ้างที่ปรับปรนรูปแบบไป เช่น การสร้างโบสถ์ไทยด้วยศิลปะยุโรป ดังเช่นที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือประเพณีการทำบุญในรูปแบบต่างๆ ที่ต่อมาได้ถ่ายโอนรูปแบบจากวัฒนธรรมหลวงสู่วัฒนธรรมราษฎร์มากยิ่งขึ้น หากแต่ความห่างเหินในการเข้าใจและเข้าถึงหัวใจและหลักการของศาสนากลับอ่อนด้อยลงสวนทางกับรูปแบบในการปฏิบัติบุญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก ทำให้ทุกคนมีเสรีภาพในการที่เลือกนับถือศาสนา เลือกศรัทธาในความเชื่อแบบต่างๆ ที่แม้อาจไม่ใช่ศาสนาหรือลัทธิ สังคมให้การยอมรับความเชื่อและศรัทธาที่แตกต่างกัน สื่อสมัยใหม่เปิดทางให้เราเห็นโลกที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและความเชื่อมากยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้พฤติกรรมศรัทธาของไทยปรับตัวจนถึงขั้นเบี่ยงเบน

เราลงทุนเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งบุญ เราสวดมนต์แต่ไม่เข้าใจในความหมายของสิ่งเราสวด เราไหว้พระในฐานะที่พระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่มิได้รำลึกถึงการตรัสรู้ถึงธรรมของพระสมณโคดม ฯลฯ ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ายิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าใด เรายิ่งห่างเหินจากหลักการและคำสอนในศาสนาต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น หนำซ้ำในสังคมไทยบางส่วนก็เกิดความไม่เคารพซึ่งกันและกัน และไม่ยอมรับในรูปแบบความเชื่อที่แตกต่าง ทำให้เกิดสงครามการเมืองภายในจนถึงเกิดกรณีการขอแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ขาดสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

การเข้าใจหัวใจของศาสนาบางครั้งอาจเป็นการยากในการเข้าถึง ทำให้คนไทยละเลยที่จะเอาใจใส่ในตัว “ธรรม” มุ่งมั่นแต่เพียงจะสะสมบุญโดยวิธีการด้านประเพณีในรูปแบบต่างๆ จนบางครั้งเลยเถิดไปจนถึงการ “สะสมบุญด้วยเม็ดเงิน” หรือบางครั้งก็หันกลับไปเชื่อถือความเชื่อเหนือธรรมชาติ เช่น การทรงเจ้าเข้าผี ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมของมนุษยชาติด้วยหวังเพียงเพื่อจะให้ดลบันดาลและปัดเป่าความลำบากยากแค้นให้ได้สุขสบายด้วยวิธีลัด

การถอยหลังทางความเชื่อในพฤติกรรมของคนไทยยังคงเป็นประเด็นที่น่าศึกษาสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าผลสุดท้ายมนุษย์ในสังคมไทยจะมีความเชื่อความศรัทธาเป็นไปในทิศทางใด แม้ว่าคำตอบนั้นจะยังไม่ชัดเจน เราก็ควรหวนกลับมาคิดว่าเรากำลังตกอยู่ในความเชื่อและศรัทธาในรูปแบบใด เพราะในปลายทางแล้วปัจเจกมนุษย์นั้นเองที่จะเป็น “ผู้กำหนด” และ “ผู้เลือก”



Create Date : 23 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2554 13:37:45 น. 0 comments
Counter : 898 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.