รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
อิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อศิลปะและสถาปัตยกรรม


อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษแรก แห่งคริสตศักราช พระพุทธศาสนาได้เป็นพลังผลักดันอย่างแท้จริง พระพุทธองค์ทรงได้รับการเทิดทูนสักการะเยี่ยงพระผู้เป็นเจ้า ประชาชนถวายความเคารพแด่พระองค์ท่านในฐานะที่เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด พระพุทธศาสนานิกายมหายานได้เผยแพร่ลัทธิพระพุทธเจ้าอันอนันต์ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากลัทธิพระพรหมผู้สูงสุดแห่งคัมภีร์อุปนิษัท หลักคำสอนเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ผู้มีปณิธานแน่วแน่ในชีวิต ในอันที่จะบรรเทาความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมโลกและช่วยยกระดับจิตใจและศีลธรรมของพวกเขาให้สูงขึ้นได้มีอิทธิพลอย่างสูงเหนือจิตใจของสามัญชนทั่วๆ ไป พระโพธิสัตว์เหล่านี้มิใช่เป็นผู้ที่หันหลังให้แก่โลกซึ่งเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและไม่สู้จะสะอาดบริสุทธิ์นัก ตรงข้าม พระโพธิสัตว์กลับถือว่าเป็นภารกิจที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างเต็มไปด้วยความเพียรพยายาม ในอันที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมโลก และสร้างสภาวะอันดีงามให้แก่พวกเขา
ลัทธิพระโพธิสัตว์เป็นปฏิกิริยาอย่างแท้จริงต่อลัทธิทุคตินิยม (Pessimism) และความใฝ่ฝันถึงโลกอื่นอย่างรุนแรง ซึ่งนักเบื่อโลกได้เผยแพร่กันมาในยุคก่อนๆ ผลก็คือ พลังทางสร้างสรรค์ได้เกิดขึ้นอย่างท่วมท้นอันเป็นแหล่งกำเนิดของกาพย์กลอน บทละคร ปรัชญาและประมวลจริยธรรมอันสูงส่งอย่างไม่เห็นแก่ตัว กล่าวคือ แทนที่จะเสาะหาความหลุดพ้นให้แก่ตนเอง ประชาชนกลับเกิดความระหนักว่า การสงเคราะห์ผู้อื่นนั้นเป็นวิถีทางที่แน่กว่าและดีกว่าในทางก้าวไปสู่ชีวิตอันสูงส่ง ในประติมากรรมและสถาปัตยกรรมสำนักนี้ได้รับการดัดแปลงให้เป็นศิลปะของชาติ ซึ่งได้บรรลุถึงสัมฤทธิผลอันสูงสุดในสมัยคุปตะ ตลอดจนในจิตรกรรมแห่งถ้ำอชันตา เราจะได้พบว่าว่าศรัทธาปสาทะและความใฝ่ใจได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีกอย่างจริงจัง พุทธปฏิมาและสถูปเจดีย์อันงดงามต่างๆ ที่ได้รอดพ้นจากการทำลายล้างผลาญของกาลเวลาและความป่าเถื่อนของพวกอนารยะ เป็นสักขีพยานได้เป็นอย่างดี ถึงอิทธิพลอันดีงามของพุทธศาสนา
อาจจะเป็นเรื่องน่าประหลาดที่พระพุทธองค์ผู้ทรงไม่เห็นด้วยกับการบูชากราบไหว้ทวยเทพบุตรและเทพธิดา กับทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งการุณยธรรมเสียเอง อย่างไรก็ตามพลังเร่งเร้าทางสร้างสรรค์อันดีงามของชาวพุทธได้แผ่กระจายออกไปถึงพวกพราหมณ์และพวกไชนด้วย ในศาสนาพระเวทนั้น ไม่มีช่องโหว่แห่งการบูชากราบไหว้เทวรูปหรือปฏิมาใด และข้อกล่าวของชาวอารยสมาชที่ว่าการบูชาเทวรูปและปฏิมาเป็นพฤติการณ์ที่อุบัติขึ้นในยุคหลัง ก็ดูจะมีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย การณ์จะเป็นอย่างไรในยุคพระเวทก็ตาม ประเพณีสักการบูชาเทพเจ้า การสร้างเทวาลัยและโบสถ์วิหาร ก็ได้มีปฏิบัติกันมาอย่างแพร่หลายแล้วตั้งแต่ศตวรรษแรกแห่งคริสตศักราช ท่านผู้ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เนื่องมาจากอิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของชาวพุทธซึ่งอาจมีต้นกำเนิดจากชาวกรีกผู้หันมานับถือพุทธศาสนาก็ได้



Create Date : 23 เมษายน 2550
Last Update : 23 เมษายน 2550 0:01:53 น. 0 comments
Counter : 612 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.