กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคแรก บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ

อธิบายความเบื้องต้น


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยา พระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อันเกิดด้วยพระสุริโยทัยเป็นพระชนนี เพราะฉะนั้นโดยพระชาติเป็นเชื้อกษัตริย์ทั้งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัยและราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา พระองค์มีพระพี่นางองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี พระน้องยาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ ซึ่งได้รับรัชทายาท แต่หามีพระราชโอรสธิดาไม่

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสมภพ ยศเจ้าฟ้ายังไม่มีในประเพณีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระชนกก็ยังทรงพระยศเพียงเป็นเจ้าขัณฑสีมา แต่พระชนนีเป็นสมเด็จพระราชธิดา พระองค์เป็นราชนัดดา คงทรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า ฝรั่งจึงเรียกในจดหมายเหตุแต่งในสมัยนั้นว่า The Black Prince ตรงกับว่า "พระองค์ดำ" และเรียกพระอนุชาเอกาทศรถว่า The White Prince ตรงกับ "พระองค์ขาว" เป็นคู่กัน "พระองค์ขาว" เป็นคู่กัน คงแปลไปจากพระนามที่คนทั้งหลายเรียกสมเด็จพระนเรศวรเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า "พระองค์ดำ" อาจจะมีพระนามขนานอีกต่างหากแต่ไม่ปรากฏ

พระนามว่า "พระนเรศวร" นั้นต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสวยราชย์แล้ว จึงพระราชทานเมื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เวลาพระชันษาได้ ๑๕ ปี เป็นพระนามสำหรับลูกหลวงเอกเช่นเดียวกับพระนามว่า พระราเมศวร ซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน แต่พระองค์อื่นเมื่อขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินมักเปลี่ยนไปใช้พระนามอื่นดังเช่น พระราเมศวร ราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(สามพระยา) เมื่อเสวยราชย์เปลี่ยนพระนามเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ถึงสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสวยราชย์ก็อาจมีพระนามอื่นถวายเมื่อราชาภิเษก แต่ยังใช้พระนามว่า "พระนเรศวร" หรือ "พระนเรศ" ต่อมาในเวลาเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ดังปรากฏในบานแพนกกฏหมายลักษณะกบฏศึกตอน ๑ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๒๑๓๖) ออกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า "สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์ อัครบุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี" ดังนี้ (เหตุที่ใช้คำเจ้าฟ้าจะมีอธิบายในเรื่องต่อไปข้างหน้า) ถึงในพงศาวดารพม่ามอญก็เรียกพระนามแต่ว่า "พระนเรศ" อย่างเดียวเหมือนเช่นไทยเราเรียกกันมา

คิดหาเหตุที่ไม่เปลี่ยนพระนามก็พอเห็นได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรทรงบำเพ็ญพระอภินิหารปรากฏพระเกียรติว่าเป็น "วีรบุรุษ" มาตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระนเรศวร พระนามนั้นเลื่องลือระบือไปทั่วทุกประเทศ แล้วก็ไม่มีใครสามารถจะให้คนเรียกเป็นอย่างอื่นได้

ประเทศต่างๆ ย่อมมีวีรบุรุษเป็นพระเจ้าแผ่นดินในบางสมัย และย่อมจดจำอภินิหารของพระเจ้าแผ่นดินเช่นนั้นเชิดชูพระเกียรติไว้ในเรื่องพงศาวดารของประเทศ บางทีก็แต่งเป็นเรื่องราชประวัติเพิ่มขึ้นต่างหาก มีอ่านกันอยู่มาก สังเกตในเรื่องประวัติของวีรมหาราชทั้งหลายดูมีเค้าคล้ายกันหมด คือบ้านเมืองต้องมียุคเข็ญจึงมีวีรมหาราชอย่าง ๑ วีรมหาราชย่อมเป็นบุรุษพิเศษมีสติปัญญาและความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวผิดกับผู้อื่นมาในอุปนิสัยอย่าง ๑ และสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อถือไว้วางใจในพระปรีชาสามารถมั่นคงอย่าง ๑ จึงสามารถบำเพ็ญอภินิหารกู้บ้านเมืองและแผ่ราชอาณาเขตจนเป็นพระราชาธิราชได้ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระคุณสมบัติดังกล่าวมาบริบูรณ์ทุกอย่าง ดังจะพึงเห็นได้ในเรื่องพระประวัติต่อไปข้างหน้า อันจะเขียนเป็น ๓ ภาค คือ เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญภาค ๑ เรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงกู้บ้านเมืองเมื่อยังเป็นสมเด็จพระราชโอรสภาค ๑ และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงแผ่พระราชอาณาเขตเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินภาค ๑

....................................................................................................................................................


ภาคแรก
บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ


(๑)

เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาสวรรคต มีพระราชบุตรพระองค์เดียว แต่พระแก้วฟ้าอันท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกเป็นพระเจ้าจอมมารดา พระแก้วฟ้าได้รับรัชทายาท แต่พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์พระชันษาได้เพียง ๑๑ ปี ว่าราชการบ้านเมืองเองยังไม่ได้ พระเฑียรราชา(สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าน้องยาเธอต่างพระชนนีกับสมเด็จพระชัยราชาธิราช)เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่การภายในพระราชวังตกอยู่ในอำนาจท้าวศรีสุดาจันทร์อันได้เป็นสมเด็จพระชนนีพระพันปีหลวง ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงและมีราคะจริตกล้า ปรารถนาเอาพระเทียรราชาไว้ในมือ แต่ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็พยายามขัดขวางด้วยอำนาจที่มีในราชสำนัก มิให้พระเฑียรราชาว่าราชการได้สะดวก พระเฑียรราชามิรู้ที่จะทำอย่างไรก็ต้องทูลลาออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุเสียให้พ้นภัย แต่นั้นอำนาจในราชการบ้านเมืองก็ตกไปอยู่ในมือท้าวศรีสุดาจันทร์

พอมีอำนาจเต็มที่แล้ว ในไม่ช้าท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ ซึ่งนับเป็นญาติกันมาแต่ก่อน ให้เลื่อนขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช ด้วยอ้างเหตุที่เป็นพระญาติกับพระแก้วฟ้า และให้ช่วยว่าราชการบ้านเมืองมีอำนาจขึ้นโดยลำดับ เป็นชู้กันมาจนท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น ขุนวรวงศาธิราชเห็นว่าจะปกปิดความชั่วต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ลอบปลงพระชนม์พระแก้วฟ้าเสีย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ต้องจัดการเชิญขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติไปตามเลย

จึงมีข้าราชการพวก ๑ ซึ่งมีขุ้นพิเรนเทพเป็นตัวหัวหน้า พร้อมใจกันจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์และเด็กหญิงที่เป็นลูกฆ่าเสีย แล้วเชิญพระเฑียรราชาขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพูนบำเหน็จข้าราชการที่ช่วยกันกำจัดพวกทรยศครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริว่า ขุนพิเรนเทพผู้เป็นตัวหัวหน้ามีความชอบยิ่งกว่าผู้น และเป็นเชื้อเจ้าในราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย จึงโปรดให้สถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นเจ้า ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาเป็นมเหสี แล้วให้ขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือทั้ง ๖ อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก

พระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ยังไม่ทันถึงปีก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีกรุงศรีอยุธยา คือเมื่อครั้งเสียพระสุริโยทัยนั้น เวลากองทัพพม่ามอญเข้ามาตั้งประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีโอบหลังข้าศึก พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้เกรงจะถูกตีกระหนาบก็รีบเลิกทัพหนีไป

ฝ่ายไทยได้ทีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้พระราเมศวรราชโอรสกับพระมหาธรรมราชาติดตามตีข้าศึก แต่ไปเสียกลถูกข้าศึกล้อมจับได้ทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอมเลิกรบ ไถ่พระราเมศวรกับพระมหาธรรมราชากลับมา แต่นั้นมาก็ว่างศึกหงสาวดีมา ๑๔ ปี ตั้งแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๐๙๒ จนปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖

พระโอรสธิดาของพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีสมภพในระหว่างเวลาที่ว่างสงครามนั้นทั้ง ๓ พระองค์ พระสุพรรณกัลยาณีพี่นางเห็นจะแก่กว่าสมเด็จพระนเรศวร ๓ ปี จึงทรงเจริญเป็นสาว ได้เป็นพระชายาพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๕ ปี พระน้องยาเอกาทศรถก็เห็นจะอ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวรไม่เกิน ๓ ปี จึงทรงเจริญวัยได้ช่วยพระเชษฐาธิรบพุ่งตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อรบพระยาจีนจันตุ ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า


(๒)

พอสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๘ ขวบ ก็เกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ คือ คราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอช้างเผือก อันเป็นต้นเรื่องตอนสำคัญของประวัติสมเด็จพระนเรศวร ในพงศาวดารพม่าว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ล่าทัพไปจากเมืองไทย พอกิตติศัพท์เลื่องลือว่าแพ้ไทยไป พวกมอญเห็นได้ช่องก็ชวนกันคิดร้าย เพราะพระเจ้าหงสาวดีเป็นพม่าเมืองตองอู มิใช่มอญ เป็นแต่มีอานุภาพปราบเมืองมอญไว้ได้ในอำนาจ แล้วมาตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองหงสาวดี พวกมอญที่เป็นขุนนางคบคิดกันล่อลวงพระเจ้าหงสาวดีให้ออกไปตามช้างเผือกที่ในป่า แล้วจับปลงพระชนม์เสีย

พอพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ถูกปลงพระชนม์ เจ้าเมืองต่างๆก็พากันตั้งตัวเป็นอิสระ มิได้รวมกันเป็นประเทศใหญ่เหมือนอย่างแต่ก่อน พระเจ้าตะเบงชะเวตี้มีพระญาติองค์ ๑ ซึ่งเป็นคู่คิดช่วยทำศึกสงครามมาแต่แรก จึงสถาปนาให้ทรงศักดิ์เป็น "บุเรงนอง" ตรงกับว่า "พระเชษฐาธิราช" เป็นแม่ทัพคนสำคัญของเมืองหงสาวดี ต่อมาเมื่อเกิดกบฏที่เมืองหงสาวดี บุเรงนองหนีไป ได้ไปอาศัยอยู่ถิ่นเดิม ณ เมืองตองอู คอยสังเกตเหตุการณ์ เห็นพวกหัวเมืองมอญที่ตั้งเป็นเป็นอิสระเกิดชิงกันเป็นใหญ่จนถึงรบพุ่งกันเอง บุเรงนองจึงคิดอ่านตั้งตัวก็สามารถรวบรวมรี้พลได้โดยสะดวก เพราะไพร่บ้านพลเมืองมอญกำลังเดือดร้อนที่เกิดรบพุ่งกันเอง และเคยนับถือว่าบุเรงนองเป็นแม่ทัพสำคัญมาแต่ก่อน

บุเรงนองก็สามารถตีเมืองมอญได้ทั้งหมด แล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๙๖ ก่อนสมเด็จพระเนศวรเสด็จสมถพ ๒ ปี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจัดการปกครองเมืองมอญเรียบร้อยแล้ว ขึ้นไปตีเมืองพม่าเมืองไทยใหญ่ได้ทั้งหมด แล้วมาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเมกุติเห็นจะสู้ไม่ไหวก็ยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองพยายามสะสมกำลังอยู่กว่า ๑๐ ปี เพราะฉะนั้นเมืองไทยจึงได้ว่างศึกหงสาวดีอยู่ ๑๔ ปี ดังกล่าวแล้ว

แต่ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ระแวงว่าจะมีศึกหงสาวดีมาอีก ทรงตระเตรียมป้องกันบ้านเมืองทั้งที่ในกรุงฯ ปละทางหัวเมืองเหนือมิได้ประมาท แต่เมืองไทยมีกำลังไม่พอจะไปบุกรุกตีเมืองหงสาวดีก่อน จึงได้แต่เตรียมตัวคอยต่อสู้

พอพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแผ่อำนาจได้ดังว่ามาแล้ว ก็เริ่มคิดจะเอาเมืองไทย จึงใช้อุบายมีราชสาส์นมาขอช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ๒ ช้าง การที่ขอช้างเผือกเป็นแต่จะหาเหตุ เพราะทุกประเทศทางตะวันออกนี้ถือกันว่า ช้างเผือกเป็นคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยมีเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสระจะยอมสละช้างเผือกให้แก่กัน ถ้าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมให้ช้างเผือกก็เหมือนยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดี ถ้าไม่ยอมให้ช้างเผือกก็เหมือนกับท้าให้พระเจ้าหงสาวดีมาตีเมืองไทย

ข้างฝ่ายไทยก็รู้เท่าว่าพระเจ้าหงสาวดีจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น และรู้ว่าเมืองหงสาวดีมีกำลังมากกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริเห็นว่าถึงให้ช้างเผือกก็ไม่คุ้มภัยได้ เป็นแต่จะเสียเกียรติยศเพิ่มขึ้น จึงไม่ยอมให้ช้างเผือก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ยกทัพมาตีเมืองไทย

ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ ซึ่งยกมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ พม่าได้เปรียบไทยกว่าครั้งก่อน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้อาณาเขตกว้างขวางมีกำลังรี้พลมากกว่าไทยมาก อีกอย่าง ๑ พม่ายกมาเมื่อครั้งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ มีความลำบากด้วยต้องมาเที่ยวหาเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ ครั้งนี้ได้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นส่งเสบียงลงมาทางเรือจนเพียงพอไม่ขัดสน อีกอย่าง ๑ ซึ่งเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งนั้น คือที่พระเจ้าบุเรงนองเคยเข้ามาในกองทัพพมใม่อก่อน ได้รู้เห็นทั้งภูมิลำเนาและกำลังของคนไทยที่รบพุ่ง เห็นตระหนักว่าจะยกตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เหมือนอย่างครั้งก่อนจะเอาชัยชนะไม่ได้ ครั้งนี้จึงเปลี่ยนกระบวนศึกยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าด่านแม่สอด) หมายเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังที่จะช่วยราชธานีเสียก่อน แล้วจึงลงมาตีพระนครศรีอยุธยาจากทางเหนือ

แต่ฝ่ายทางข้างไทยไม่รู้ความคิดของพระเจ้าบุเรงนอง คาดว่ากองทัพหงสาวดีจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เหมือนครั้งก่อน ก็ตระเตรียมป้องกันพระนครเป็นสามารถ แต่ทางหัวเมืองเหนือตระเตรียมกำลังยังไม่พร้อมพรัก พระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ตีได้โดยง่าย

กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้นจัดเป็นทัพกษัตริย์ ๕ ทัพ ซึ่งอาจจะแยกไปรบ ณ ที่ต่างๆกันได้โดยลำพัง พระเจ้าหงสาวดีตั้งกองทัพหลวงอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร ให้กองทัพพระเจ้าอังวะกับกองทัพพระเจ้าตองอูไปตีเมืองพิษณุโลกทาง ๑ ให้กองทัพพระมหาอุปราชากับกองทัพพระเจ้าแปรยกไปตีเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิชัยทาง ๑

เมืองสุโขทัยต่อสู้จนเสียเมือง เมืองสวรรคโลกเมืองพิชัยยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึกโดยดี แต่พระมหาธรรมราชาตั้งทัพต่อสู้ ณ เมืองพิษณุโลกอย่างเข้มแข็ง ข้าศึกจะตีหักเอาเมืองไม่ได้ ก็ตั้งล้อมไว้จนในเมืองสิ้นเสบียงอาหาร และเผอิญเกิดโรคทรพิษขึ้นด้วย พระมหาธรรมราชาก็ต้องรับแพ้ยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึก เมืองพิษณุโลกต่อสู้ข้าศึกครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่สมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงเห็นการสงคราม เมื่อพระชันษาได้ ๘ ขวบ


(๓)

ประเพณีทำสงครามแต่โบราณ ถ้าตีบ้านเมืองได้ด้วยรบพุ่ง ฝ่ายชนะย่อมจับชาวเมืองทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงเป็นเชลยไม่เลือกหน้า และปล่อยให้พวกทหารเก็บเอาทรัพย์สมบัติของชาวเมืองได้ตามชอบใจ บางทีก็เลยเผาบ้านเมืองเสียด้วย ถ้าหากว่ายอมแพ้แต่โดยดี ก็ไม่ริบทรัพย์จับชาวเมืองเป็นเชลย เป็นแต่เก็บเครื่องศัสตราวุธและเกณฑ์เอาของบางสิ่งซึ่งต้องการ แล้วใช้ชาวเมืองทำการต่างๆให้กองทัพ เช่น เป็นกรรมกรหาบขนและปลูกสร้างเป็นต้น ให้มูลนายควบคุมอยู่อย่างเดิม

เมื่อเสียเมืองเหนือครั้งนั้นเห็นจะยับเยินป่นปี้แต่เมืองกำแพงเพชรกับเมืองสุโขทัยซึ่งข้าศึกตีได้ แต่เมืองอื่นยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาธรรมราชากับเจ้าเมืองกรมการกระทำสัตย์แล้ว ให้บังคับบัญชาผู้คนพลเมืองอยู่ตามเดิม ให้ไทยชาวเมืองเหนือเป็นพนักงานทำการโยธาให้กองทัพ และให้เกณฑ์เรือในเมืองเหนือมารวมกันจัดเป็นกองทัพเรือขึ้นอีกทัพ ๑ ให้พระเจ้าแปรยกลงมาทางลำแม่น้ำ ส่วนกองทัพบกให้พระมหาอุปราชาเป็นปีกขวา พระเจ้าอังวะเป็นปีกซ้าย พระเจ้าตองอูเป็นกองกลาง และกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีหนุนตามลงมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเอาพระมหาธรรมราชากับพระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัยมาด้วยในกองทัพหลวง

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ว่าข้าศึกเปลี่ยนกระบวนไปตีเมืองเหนือ มิได้ยกตรงมากรุงศรีอยุธยาดังคาด ก็รีบจัดกองทัพให้พระราเมศวรราชโอรสขึ้นไปช่วยเมืองเหนือ ได้รบกับข้าศึกที่เมืองชัยนาท ทานข้าศึกไว้ได้พักหนึ่ง แต่เมื่อกองทัพเรือของข้าศึกยกมาช่วยรบสู้ไม่ไหวก็ต้องล่าถอยกลับลงมา

พระเจ้าหงสาวดียกลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา ให้ตีป้อมที่ตั้งรายรอบนอกพระนครได้ทั้งหมด แล้วเข้าตั้งล้อมถึงชานพระนคร มีราชสาส์นถามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าจะสู้รบต่อไปหรือจะยอมเป็นไมตรีโดยดี ถ้ายอมเป็นไมตรีก็จะให้คงเป็นบ้านเมืองต่อไป ถ้าขืนต่อสู้ ตีพระนครได้จะเอาเป็นเมืองเชลย

ครั้งนั้นไทยเพิ่งแพ้ศึกใหญ่เป็นครั้งแรกคงเป็นเวลากำลังท้อใจ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสปรึกษาข้าราชการเห็นว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะข้าศึกได้แล้ว ควรยอมเป็นไมตรีเสียโดยดี ถึงจะต้องเสียสินไหมอย่างไรบ้าง ก็ยังมีปริมาณ ดีกว่าให้ข้าศึกล้างผลาญบ้านเมืองฉิบหายหมด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงรับเป็นไมตรี คือยอมแพ้แต่โดยดี ให้ปลูกพลับพลาขึ้นข้างนอกพระนครที่ริมวัดช้าง ระหว่างที่ตั้งกองทัพหลวงของข้าศึกกับคูเมืองทางด้านเหนือ แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าบุเรงนอง เสด็จไปพบกันที่พลับพลานั้น พระเจ้าหงสาวดีเรียกค่าไถ่เมืองตามปรารถนา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอม

ข้อความที่ตกลงกันเมื่อทำสัญญาเลิกสงครามครั้งนั้น ในพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าว่าผิดกันเป็นข้อสำคัญบางข้อ ในพงศาวดารไทยว่า เดิมพระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกแต่ ๒ ช้างเพิ่มขึ้นเป็น ๔ ช้าง กับขอตัวพระราเมศวรกับพระยาจักรีและพระสุนทรสงคราม ซึ่งเป็นตัวหัวหน้าในการต่อสู้ ๓ คนเอาไปเมืองหงสาวดี ได้แล้วก็เลิกทัพกลับไป

ในพงศาวดารพม่าว่าขอช้างเผือก ๔ ช้างกับตัวหัวหน้า ๓ คนนั้นเช่นเดียวกับพงศาวดารไทย แต่ยังทีอย่างอื่นต่อออกไปอีก คือว่าให้ไทยส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ เชือก เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง กับทั้งเงินอากรค่าปากเรือบรรดาที่เก็บได้ ณ เมืองมะริด ถวายพระเจ้าหงสาวดีเสมอไป และยังมีข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก ว่าครั้งนั้นเมื่อพระเจ้าหงสาวดีจะเลิกทัพกลับไป เชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงสาวดีด้วย เพราะฉะนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องมอบสมบัติให้พระมหินทรฯราชโอรสครองกรุงศรีอยุธยา ในพงศาวดารพม่ายังพรรณนาต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีให้ทำวังสร้างตำหนักอยางราชมนเทียรประทานเป็นที่ประทับ และว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีได้สัก ๒ ปี สมัครออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงปล่อยให้เสด็จกลับเมืองไทย

ความตอนนี้ในพงศาวดารไทยว่า เมื่อเสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมอบเวนราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราชครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระองค์เสด็จออกไปประทับอยู่ ณ วังหลัง และต่อมาเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

ความที่แตกต่างกันนี้พิจารณาประกอบกับเหตุการณ์ที่มีต่อมา เห็นว่าความจริงน่าจะเป็นอย่างพม่าว่า คือพระเจ้าหงสาวดีเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกไปอยู่เมืองหงสาวดีอย่างเป็นตัวจำนำอยู่สักสองสามปี

ใช่แต่เท่านั้น เมื่อพระเจ้าหงสาวดีจะเลิกทัพกลับไป ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรต่อพระมหาธรรมราชา ว่าจะเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย แต่ที่จริงก็เอาไปเป็นตัวจำนำสำหรับพระมหาธรรมราชานั่นเอง พระมหาธรรมราชก็จำต้องถวาย สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีเมื่อชันษาได้ ๙ ขวบ แต่คงมีผู้หลักผู้ใหญ่และข้าไทยตามไปอยู่ด้วย ถึงเวลาเมื่ออยู่ที่เมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็๕งทรงอุปการะเลี้ยงดูให้อยู่กับเจ้านายรุ่นเดียวกัน อันน่าจะมีมากทั้งที่เป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าหงสาวดี และที่ไปจากต่างประเทศเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวร ได้โอกาสศึกษาและได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีด้วยกันทั้งนั้น


(๔)

ตั้งแต่เสร็จศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ พอสมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ก็เริ่มรังเกียจกันกับพระมหาธรรมราชา ว่าเมื่อยอมแพ้ข้าศึกแล้วประจบประแจงพระเจ้าหงสาวดีเกินกว่าเหตุ ฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็ไม่นับถือสมเด็จพระมหินทรฯ มาแต่ก่อนและบางทีจะเคยดูหมิ่นว่าไม่ทรงพระปรีชาสามารถด้วย

ซ้ำมามีสาเหตุเกิดขึ้นด้วยพระยารามรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรเอาใจออกห่างจากพระมหาธรรมราชา ขอลงมารับราชการในกรุงฯ สมเด็จพระมหินทรฯ ยกย่องความชอบพระยารามฯ เมื่อครั้งต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีให้ว่าที่สมุหนายก อันเป็นผู้บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในกรุงฯสั่งราชการบ้านเมืองไปอย่างไร เมืองเหนือก็มักโต้แย้งไม่ฟังบังคับบัญชาโดยเคารพเหมือนอย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็เลยเกิดระแวงสงสัยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรฯ สงสัยว่าพระมหาธรรมราชาจะไปเข้ากับพระเจ้าหงสาวดี ข้างฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็สงสัยว่าสมเด็จพระมหินทรฯคอยหาเหตุจะกำจัดเสียจากเมืองเหนือ

ความส่อต่อไปอีกอย่าง ๑ ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิคงต้องออกไปเป็นตัวจำนำอยู่เมืองหงสาวดีจริงดังกล่าวในพงศาวดารพม่า ถ้าหากเสด็จอยู่ในเมืองไทยก็เห็นจะสามารถสมัครสมานสมเด็จพระมหินทรฯกับพระมหาธรรมราชามิให้แตกร้าวกัน หรือมิฉะนั้นก็อาจกลลับขึ้นครองราชสมบัติแต่ในเวลานั้น คงไม่มีเหตุร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลา ๔ ปีต่อมา จนถึงเสียอิสรภาพของเมืองไทย

เริ่มเกิดเหตุตอนนี้ด้วยเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเลิกทัพกลับไปจากเมืองไทย ไปได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติคบคิดกับพระยานครลำปาง พระยาแพร่ (เรียกในพงศาวดารพม่าว่าพระยาเชรียง) พระยาน่าน และพระยาเชียงแสนจะตั้งแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๐๗ ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีเกณฑ์กองทัพไทยขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วย สมเด็จพระมหินทรฯจึงตรัสสั่งให้พระมหาธรรมราชาจัดกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพขึ้นไปเอง ไปถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว เพราะพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติยอมแพ้โดยดี แต่พระยา ๔ คน จับได้แต่พระยาเชียงแสน ที่เหลืออีก ๓ คนหนีไปอยู่กับพระเจ้าลานช้างไชยเชษฐาที่เมืองเวียงจันทน์

พระมหาธรรมราชาได้เฝ้าพระเจ้าหงสาวดีที่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าหงสาวดีคงไต่ถามทราบความว่าพระมหาธรรมราชากับพระมหินทรฯเกิดกินแหนงกัน เห็นเป็นช่องที่จะมีอำนาจยิ่งขึ้นในเมืองไทย ก็ยกย่องความชอบของพระมหาธรรมราชาที่ขึ้นไปช่วยครั้งนั้น รับจะอุดหนุนมิให้ต้องเดือดร้อนในภายหน้า พิเคราะห์ความตามเรื่องดูเหมือนพระมหาธรรมราชาจะฝักใฝ่หมายพึ่งพระเจ้าหงสาวดีแต่นั้นมา

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีพักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวมาจากเมืองหงสาวดีว่าเชลยไทยใหญ่เป็นกบฏขึ้น จึงตรัสสั่งให้พระมหาอุปราชายกกองทัพตามพระยาทั้ง ๓ ไปตีเมืองเวียงจันทน์ แล้วเลิกกองทัพหลวงไปเมืองหงสาวดี ส่วนกองทัพพระมหาธรรมราชาก็ให้เลิกกลับมายังเมใองพิษณุโลก กิตติศัพท์ที่พระเจ้าหงสาวดีผูกพันทางไมตรีกับพระมหาธรรมราชา ทราบมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ยิ่งเพิ่มความกินแหนงหนักขึ้น

เมื่อกองทัพหงสาวดียกไปถึงแดนลานช้าง พระเจ้าไชยเชษฐาต่อสู้ เห็นเหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเวียงจันทน์พากองทัพหลบไปตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาก็ได้เมืองเวียงจันทน์โดยง่าย แต่เวลานั้นพอเข้าฤดูฝน ฝนตกชุก พระมหาอุปราชาไม่สามารถจะยกกองทัพติดตามพระเจ้าไชยเชษฐาต่อไปได้ ก็ตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์

แต่พวกชาวลานช้างคุ้นเคยกับฤดูในถิ่นฐานของตน พอเห็นข้าศึกต้องหยุดอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาก็แต่งกองโจรให้แยกย้ายกันไปเที่ยวตีตักลำเลียงเสบียงอาหาร จนกองทัพหงสาวดีอดอยากผู้คนเจ็บป่วยล้มตายลงตามกัน เมื่อสิ้นฤดูฝนพระมหาอุปราชาไม่มีกำลังพอจะทำสงคราม ต้องล่าทัพกลับไป พระเจ้าไชยเชษฐาได้ทีก็ออกติดตามตีข้าศึก เสียรี้พลพาหนะอีกเป็นอันมาก เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่ากองทัพเมืองหงสาวดีครั้งพระเจ้าบุเรงนองต้องล่าหนีข้าศึก ก็เลื่องลือเกียรติพระเจ้าไชยเชษฐาว่าเป็นวีรบุรุษขึ้นในครั้งนั้น แต่เมื่อพระมหาอุปราชาล่าทัพกลับไปจากเมืองเวียงจันทน์ รวบรวมครอบครัวของพระเจ้าไชยเชษฐาทั้งมเหสีเทวีและอุปราชญาติวงศ์ซึ่งตกอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ พาเอาไปเมืองหงสาวดีหมด

พระเจ้าไชยเชษฐากลับมาครองเมืองจึงคิดจะหามเหสีใหม่ ให้สืบหาราชธิดาในประเทศที่ใกล้เคียง ได้ความว่าในกรุงศรีอยุธยามีราชธิดาพระองค์น้อยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อันเกิดด้วยพระสุริโยทัยอยู่องค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระเทพกษัตรี พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาก็แค้นเคืองเมืองหงสาวดีอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นสัมพันธไมตรีกันก็จะได้ช่วยกันต่อสู้ศึกหงสาวดีในวันหน้า จึงมีราชสาส์นมายังสมเด็จพระมหินทรฯ ทูลขอพระเทพกษัตรีไปอภิเษกเป็นพระมเหสี ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรฯก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน จึงอนุญาตด้วยความยินดีที่จะเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐา

กิตติศัพท์ทราบถึงพระมหาธรรมราชา ว่าสมเด็จพระมหินทรฯจะทำไมตรีเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐาก็เกิดวิตก ด้วยเกรงว่าพระเจ้าหงสาวดีจะสงสัยรู้ว่าเป็นใจด้วย ทั้งวิสุทธิกษัตรีก็เป็นห่วงพระเทพกษัตรีองค์พระกนิษฐา เกรงว่าถ้าไปอยู่เมืองเวียงจันทน์จะถูกกวาดเป็นเชลยเอาไปเมืองหงสาวดีเหมือนกับพระมเหสีองค์ก่อนของพระไชยเชษฐา พระมหาธรรมราชาจึงบอกเป็นความลับไปทูลพระเจ้าหงสาวดี และแนะให้แต่งกองทหารลอบเข้ามาคอยดักทางชิงพระเทพกษัตรีเอาไปเมืองหงสาวดี แต่พระมหาธรรมราชทำไม่รู้เรื่องที่กรุงศรีอยุธยาจะเป็นไมตรีกับเมืองลานช้าง เพราะสมเด็จพระมหินทรฯมิได้ตรัสบอกให้ทราบ

ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาเมื่อสมเด็จพระมหินทรฯยอมยกพระเทพกษัตรีรให้ตามความประสงค์ ก็แต่งให้ข้าหลวงลงมารับ แต่เผอิญข้าหลวงมาถึงพระนครฯเมื่อเวลาพระเทพกษัตรีประชวรอยู่ไม่สามารถจะไปได้ ชะรอยพระเจ้าไชยเชษฐาจะได้กำหนดฤกษ์การพิธีอภิเษกบอกมาด้วย สมเด็จพระมหินทรฯจะขอผัดเลื่อนเวลาไม่ได้ จึงส่งพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิองค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระแก้วฟ้า อันเกิดด้วยพระสนมไปแทนพระเทพกษัตรี

พระมหาธรรมราชรู้ว่ามิใช่พระเทพกษัตรีก็ปล่อยให้ไปโดยสะดวก แต่เมื่อพระแก้วฟ้าไปถึงเมืองเวียงจันทร์ พระเจ้าไชยเชษฐาทราบว่าเป็นแต่ลูกพระสนม มิใช่พระราชธิดาอันเกิดด้วยพระมเหสี ก็ไม่รับไว้ ให้ส่งคืนกลับมาโดยอ้างว่าจำนงจะอภิเษกแต่กับพระเทพกษัตรีที่เป็นพระธิดาของพระสุริโยทัยผู้ทรงเกียรติ

เวลานั้นพระเทพกษัตรีหายประชวรแล้ว สมเด็จพระมหินทรฯก็ให้ส่งไป ไปถึงกลางทางพวกทหารเมืองหงสาวดีก็ชิงพระเทพกษัตรีพาไปถวายพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหินทรฯกับพระเจ้าไชยเชษฐารู้ชัดว่า พระมหาธรรมราชาเป็นผู้คิดอ่านให้เกิดเหตุ แต่สมเด็จพระมหินทรฯจะว่ากล่าวอย่างไรก็ยาก ด้วยได้ปิดบังเรื่องเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐามิให้พระมหาธรรมราชารู้ ทั้งเมื่อส่งพระเทพกษัตรีไปเมืองเวียงจันทน์จะไปทางด่านสมอสอในลุ่มน้ำสัก ผ่านหลังเมืองพิษณุโลกไปก็มิได้สั่งให้พระมหาธรรมราชาดูแลพิทักษ์รักษา จะเอาผิดอย่างไรมิได้

จึงลอบคิดกลอุบายแก้แค้นด้วยกันกับพระเจ้าไชยเชษฐา ยกกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยาทางเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหินทรฯก็จะขึ้นไปเหมือนอย่างว่าจะไปช่วยรักษาเมือง แล้วจะร่วมมือกันกำจัดพระมหาธรรมราชาเสีย

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาเมื่อทราบข่าวว่าเมืองลานช้างเกณฑ์กองทัพจะมาตีเมืองไทย ก็บอกลงมายังกรุงศรีอยุธยา แต่ระแวงว่าจะเป็นกลอุบายสมเด็จพระมหินทรฯจึงรีบให้ไปทูลพระเจ้าบุเรงนองขอกองทัพเมืองหงสาวดีมาช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง

เมื่อสมเด็จพระมหินทรฯได้ทราบข่าวศึกจากพระมหาธรรมราชาก็โปรดให้พระยาสีหราชเดโชชัยกับพระยาท้ายน้ำคุมพลอาสากอง ๑ ล่วยหน้าขึ้นไปช่วยรักษาเมืองพิษณุโลก แต่ตรัสสั่งเป็นความลับไปว่า เมื่อเมืองพิษณุโลกลูกล้อมแล้วให้เป็นไส้ศึกข้างภายใน แต่พระยาทั้ง ๒ กลับเอาความลับไปขยายแก่พระมหาธรรมราชา พระมหาธรรมราชาก็ให้เตรียมการป้องกันเมืองพิษณุโลกทั้ง ๒ ทาง

กองทัพเมืองลานช้างยกลงมาถึงก่อน ก็ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกทางด้านเหนือกับด้านตะวันออก ครั้งกองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึง พระยารามฯคุมกองทัพหน้าไปตั้งอยู่ที่วัดจุฬามณีข้างใต้เมืองพิษณุโลก กองทัพหลวงของสมเด็จพระมหินทรฯ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำพิงค์ต่อลงมาข้างใต้ พระมหาธรรมราชาแกล้งทำแพไฟไหม้ปล่อยลอยลงมาเผาเรือกองทัพพระยารามฯ ทนอยู่ไม่ไหวก็ต้องถอยลงมาหากองทัพหลวง ฝ่ายกองทัพเมืองลานช้างรู้ว่ากองทัพในกรุงฯขึ้นไปถึง ก็เตรียมจะเข้าตีเมืองพิษณุโลกตามที่นัดกันไว้ แต่ได้ยินว่ากองทัพของพระยารามฯ ถอยลงไปเสียแล้วก็ยั้งอยู่ พอรู้ว่ากองทัพเมืองหงสาวดีเข้ามาถึง พระเจ้าไชยเชษฐาก็ล่าทัพถอยไปจากเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหินทรฯไม่สมคะเนก็อ้างเหตุที่กองทัพเมืองลานช้างล่าไปแล้ว ถอยกองทัพกลับคืนมายังพระนครฯ

แต่พระยาพุกามกับพระยาเสือหาญนายทัพหงสาวดีมาถึงช้าไปไม่ทันรบข้าศึก เกรงความผิดก็ยกติดตามกองทัพลานช้างต่อไป ไปเสียกลถูกล้อมต้องพ่ายแพ้หนีกลับมา กลัวพระเจ้าหงสาวดีจะลงอาญา อ้อนวอนพระมหาธรรมราชาให้ช่วยทูลขอโทษ พระมหาธรรมราชเห็นเหมาะเพราะยังมิได้เป็นข้าศึกกับกรุงศรีอยุธยาโดยเปิดเผย ก็อ้างเหตุที่จะขอโทษพระยาทั้ง ๒ นั้นรีบออกไปยังเมืองหงสาวดี ไปทูลร้องทุกข์ที่ถูกสมเด็จพระมหินทรฯปองร้าย

พระเจ้าหงสาวดีได้ทีที่จะตัดกำลังไทยก็ตั้งพระมหาธรรมราชาให้เป็น เจ้าฟ้าศรีสรรเพ็ชญ์ เจ้าประเทศราชครองเมืองเหนือทั้งปวงขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา มิต้องอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระมหินทรฯอีกต่อไป ยศเจ้าฟ้าแรกมีขึ้นในประเพณีไทยเราในครั้งนั้น แรกใช้นำพระนามแต่พระเจ้าแผ่นดิน ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เลื่อนลงมาใช้นำพระนามพระราชกุมาร ที่พระมารดาเป็นเจ้าสืบมาจนบัดนี้

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้ทราบว่าพระมหาธรรมราชาออกไปเมืองหงสาวดี สมเด็จพระมหินทรฯก็คาดว่าคงไปยุยงให้เกิดเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเผอิญประจวบเวลาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งทรงผนวชเสด็จกลับเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระมหินทรฯก็เชิญเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลกด้วยกัน ชะรอยจะอ้างว่าสงสารพระวิสุทธกษัตรีกับพระโอรสธิดาต้องอยู่เปล่าเปลี่ยว จะรับลงมาอยู่ในพระนครจนกว่าพระมหาธรรมราชาจะกลับ จึงจะส่งคืนขึ้นไป

แต่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทราบว่าครอบครัวของพระมหาธรรมราชาถูกจับเป็นตัวจำนำ ก็ถือว่าสมเด็จพระมหินทรฯดูหมิ่น จึงสั่งให้พระมหาธรรมราชากลับเข้ามาเกณฑ์รี้พลพาหนะทางเมืองเหนือเตรียมไว้ พอฤดูแล้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓


(๕)

พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพจากเมืองหงสาวดี เมื่อเดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๑๑ เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดีได้ ๖ ปี พระชันษาเข้า ๑๕ ปี เป็นหนุ่มแล้ว พระเจ้าหงสาวดีก็ให้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย กองทัพหงสาวดีตั้งประชุมกันที่เมืองกำแพงเพชร จัดกระบวนที่จะลงมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นกองทัพกษัตริย์ ๗ ทัพ นับกองทัพไทยเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชาด้วยเป็นทัพ ๑ แต่ให้ไปสมทบกับทัพพระมหาอุปราชาเป็นทำนองกองหาหนะจึงไม่ปรากฏว่าไทยต้องรบกันเอง จะเป็นเพราะพระเจ้าหงสาวดีไม่ไว้พระทัย หรือพระมหาธรรมราชาร้องขออย่าให้ต้องรบกันเองก็เป็นได้

ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยอีก สมเด็จพระมหินทรฯเห็นเป็นการคับขันเหลือพระกำลัง ก็ไปกราบทูลวิงวอนขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชเสด็จกลับขึ้นครองแผ่นดินอีก ด้วยผู้คนเคยสามิภักดิ์ทั้งชาวเมืองเหนือและเมืองใต้ แม้พระมหาธรรมราชาเองก็จะค่อยยำเกรง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสงสารก็ลาผนวชขึ้นเสวยราชย์อีกครั้ง ๑ เมื่อเสด็จออกอยู่นอกราชสมบัติได้ ๔ ปี เห็นจะทรงผนวชได้สักสองพรรษา

แต่การต่อสู้ข้าศึกในครั้งนี้ไม่มีท่าทางที่จะรบรับที่อื่นได้ เพราะหัวเมืองเหนือเป็นกบฏไปเข้ากับข้าศึกเสียหมดแล้ว แม้ผู้คนตามหัวเมืองข้างตอนใต้ใกล้ราชธานี ก็ตื่นแตกหลบหนีเสียมากรวบรวมกำลังรี้พลไม่ได้บริบูรณ์ตามสมควร ก็ต้องคิดต่อสู้ด้วยเอาพระนครเป็นที่มั่น และนัดให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพเมืองลานช้าง ลงมาตีกระหนาบข้าศึก เหมือนอย่างครั้งต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้

แต่การที่เตรียมต่อสู้ที่ในกรุงฯครั้งนี้ เอาความคุ้นเคยแก้ไขวิธีป้องกันพระนครได้เปรียบข้าศึกอยู่หลายอย่าง เพราะพระนครมีลำแม่น้ำล้อม ยากที่ข้าศึกจะข้ามเข้ามาได้ถึงกำแพงเมืองอย่าง ๑ ข้าศึกยกมาทางบกเอาปืนใหญ่มาได้แต่ขนาดย่อม ที่ในกรุงฯมีปืนใหญ่ทุกขนาด อาจจะยิงข้าศึกอย่าง ๑ และอาจจะหาเครื่องยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมมาได้โดยทางทะเลไม่ขาดแคลนอย่าง ๑ การที่ได้เปรียบนี้ปรากฏแต่แรกกองทัพเมืองหงสาวดียกเข้ามาถึง กองทัพของพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาตั้งอยู่ที่ทุ่งลุมพลี ก็ถูกปืนใหญ่ยิงผู้คนและช้างม้าพาหนะล้มตายจนทนไม่ไหว ต้องถอยออกไปตั้งที่ตำบลมหาพราหมณ์ กองทัพอื่นๆก็ต้องตั้งห่างพระนครออกไปตามกัน

พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าจะตีหักเอาพระนครไม่ได้ง่ายดังคาด ก็ให้กองทัพทั้ง ๗ ตั้งรายล้อมรอบพระนคร ให้เข้าตีแต่ทางด้านตะวันออก (ที่ทำทางรถไฟเดี๋ยวนี้) แต่ด้านเดียว ด้วยในสมัยนั้นคูเมืองยังเป็นคลองแคบกว่าด้านอื่น ถึงกระนั้นเข้าตีทีไรก็ถูกชาวพระนครยิงล้มตาย ต้องถอยกลับไปทุกที รบกันมาได้ไม่ช้า เผอิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต พวกชาวพระนครเสียใจก็เริ่มย่อท้อ แต่เมื่อสมเด็จพระหินทรฯกลับขึ้นครองราชสมบัติ ให้พระยารามฯเป็นผู้บัญชาการต่อสู้เข้มแข็ง ข้าศึกก็ยังตีพระนครไม่ได้

พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมเมืองอยู่ ๔ เดือนยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา ก็เกิดวิตกด้วยใกล้จะถึงฤดูฝน จึงปรึกษาพระมหาธรรมราชาว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะเสร็จศึกได้โดยเร็ว พระมหาธรรมราชาอาสาจะไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมชาวพระนครให้ยอมแพ้เสียโดยดี แล้วทรงพระราชยานกั้นพระกลดเข้าไปยังคูเมือง ยังไม่ทันจะเจรจาว่ากล่าวอย่างไร พอพวกชาวพระนครแลเห็นก็โกรธแค้นระดมยิงพระมหาธรรมราชา จนต้องหลบหนีกลับไปไม่สามารถเกลี้ยกล่อมได้

จึงไปเขียนหนังสือลับให้ข้าหลวงลอบถือเข้าไปถวายพระวิสุทธิกษัตรีมเหสีที่ในพระนคร ว่าศึกหงสาวดีเข้ามาล้อมประชิดพระนครได้ถึงเพียงนั้นแล้ว ไม่พอที่สมเด็จพระมหินทรฯจะดื้อดึงต่อสู้ไปให้ผู้คนล้มตายเสียเปล่าๆ ควรจะขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดีเสียแต่โดยดี พระเจ้าหงสาวดีก็ตรัสอยู่ว่า เหตุการณ์ทั้งปวงที่ได้มีมาเป็นเพราะพระยารามฯคนเดียว ยุยงให้พี่น้องเกิดวิวาทกัน ถ้าไม่มีพระยารามฯกีดขวาง ก็เห็นจะกลับดีกันได้ เพราะฉะนั้นถ้าสมเด็จพระมหินทรฯส่งตัวพระยารามฯถวายพระเจ้าหงสาวดีเสียแล้วขอเป็นไมตรี พระเจ้าหงสาวดีก็เห็นจะยอมเลิกรบเหมือนอย่างครั้งก่อน พระวิสุทธิกษัตรีถวายหนังสือนั้นแก่สมเด็จพระมหินทรฯ ก็โปรดให้แม่ทัพนายกองประชุมปรึกษากัน

เวลานั้น พวกแม่ทัพนายกองท้อใจมาตั้งแต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว ปรึกษากันเห็นว่าการต่อสู้เสียเปรียบข้าศึกมากนัก ถึงจะรบพุ่งกันไปก็พ้นวิสัยที่จะหมายเอาชัยชนะได้ แม้ตัวพระยารามฯเองก็สิ้นความคิดมิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงเห็นร่วมกันโดยมากว่า ควรจะขอเป็นไมตรีตามที่พระมหาธรรมราชาแนะนำ ในเวลานั้นพระองค์สมเด็จพระมหินทรฯเองก็ทนทุกข์มาจนจวนจะประชวรอยู่แล้ว จึงตรัสอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช ให้ออกไปเจรจาขอเป็นไมตรียอมแพ้ด้วยผ่อนผันกันโดยดี และให้คุมตัวพระยารามฯ ไปถวายพระเจ้าหงสาวดีด้วย

พระเจ้าหงสาวดีรับตัวพระยารามฯไว้แล้วตรัสสั่งให้แม่ทัพนายกองปรึกษากันว่าจะควรรับเป็นไมตรีหรืออย่างไร พวกแม่ทัพนายกองปรึกษากันแล้วทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า กรุงศรีอยุธยาต่อสู้จนผู้คนในกองทัพเมืองหงสาวดีต้องล้มตายเป็นอันมาก มาขอเป็นไมตรีต่อเมื่อจวนจะเสียเมือง เปรียบเหมือนลูกไก่อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ที่จะยอมผ่อนผันรับเป็นไมตรีหาควรไม่ พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสสั่งสมเด็จพระสังฆราชให้มาทูลสมเด็จพระมหินทรฯว่าต้องยอมเป็นเมืองเชลยจึงจะรับเป็นไมตรี

ข้างฝ่ายไทยเมื่อตระหนักใจว่าพระเจ้าหงสาวดีหมายจะริบทรัพย์จับเอาชาวพระนครไปเป็นเชลย ก็พากันโกรธแค้นทูลขอรบพุ่งต่อไป ด้วยยังมีความหวังว่ากองทัพเมืองลานช้างจะมาช่วย หรือมิฉะนั้นถ้ารักษาพระนครไว้ได้จนถึงฤดูน้ำท่วมทุ่ง กองทัพเมืองหงสาวดีก็น่าที่จะต้องเลิกทัพกลับไปเอง ขณะนั้นพอได้ข่าวว่า พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพลงมาทางเมืองเพชรบูรณ์ ชาวพระนครก็ยิ่งมีใจต่อสู้ข้าศึก

ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีทราบว่ากองทัพเมืองลานช้างยกลงมา ในเวลากำลังตีพระนครติดพันอยู่ก็ทรงพระวิตก จึงคิดกลอุบายให้พระยารามฯซึ่งเคยเป็นที่สมุหนายก ปลอมตราพระราชสีห์มีศุภอักษรไปยังพระเจ้าไชยเชษฐาว่า กองทัพพระเจ้าหงสาวดีตีพระนครไม่ได้กำลังรวนเรอยู่แล้ว ให้รีบยกลงมาตีกระหนาบหลัง กองทัพในกรุงฯก็จะออกตีทางด้านหน้าให้พร้อมกัน พระเจ้าไชยเชษฐาไม่รู้เท่าก็สั่งให้กองทัพหน้ารีบยกลงมาโดยประมาท พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชาไปซุ่มสกัดอยู่ที่เมืองสระบุรี ตีทัพหน้าเมืองลานช้างแตกยับเยิน พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นจะเอาชัยชนะข้าศึกไม่ได้ ก็ถอยกลับไปเมืองเวียงจันทน์ ข่าวทราบมาถึงในกรุงฯพวกแม่ทัพนายกองก็พากันเสียใจ สมเด็จพระมหินทรฯทรงทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหวก็เกิดอาการประชวร เสด็จออกว่าราชการได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แต่เวลานั้นได้พระเจ้าน้องยาเธอองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระศรีเสาวราช ช่วยบัญชาการศึกแทนพระองค์ และพวกแม่ทัพนายกองต่างก็มีมานะต่อสู้ข้าศึก กองทัพหงสาวดียังตีเอาพระนครไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมพระนครมาเกือบถึง ๘ เดือน เสียไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก เกณฑ์กองทัพพระมหาธรรมราชาให้ออกไปเที่ยวหักต้นตาลมาถมคูพระนคร จนพวกทหารข้ามไปถึงกำแพงเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถตีเอาพระนครได้

เวลาก็ใกล้ฤดูน้ำท่วมเข้าทุกที พระเจ้าหงสาวดีจึงปรึกษากับพระมหาธรรมราช ให้เอาพระยาจักรีที่ถูกเอาไปเมืองหงสาวดีด้วยกันกับพระราเมศวรและพระสุนทรสงครามนั้น มาเกลี้ยกล่อมก็รับอาสาเป็นไส้ศึก จึงทำกลอุบายให้เอาตัวพระยาจักรีไปจำไว้ในค่ายแห่งหนึ่ง แล้วแกล้งให้หนีได้ ให้ผู้คนเที่ยวค้นคว้าติดตามและเอาผู้คุมตักศีรษะเสียบไว้ที่ริมแม่น้ำ ให้พวกพระนครเข้าใจว่านักโทษคนสำคัญหนี

พระยาจักรีหนีลอดมาได้ถึงชานเมือง พวกที่รักษาหน้าที่รับตัวเข้าไปในพระนคร สมเด็จพระมหินทรฯไม่ทราบว่าเป็นกลอุบายของข้าศึก เชื่อคำพระยาจักรีทูลว่าหนีมาได้ก็ทรงยินดี ด้วยพระยาจักรีเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และได้เคยเป็นตัวหัวหน้าต่อสู้ศึกหงสาวดีแข็งแรงมาแต่ก่อน จึงให้พระยาจักรีเป็นผู้บัญชาการพระนครแทนพระยารามฯ

พระยาจักรีสมคะเนก็ไปเที่ยวตรวจตราตามหน้าที่ต่างๆ สังเกตเห็นว่าใครมีฝีมือหรือความคิดต่อสู้ข้าศึกเข้มแข็ง ก็ย้ายให้ไปรักษาหน้าที่ทางด้านที่ไม่มีข้าศึกเข้ามาตี เอาคนอ่อนแอเข้าประจำการแทน และแก้ไขกระบวนการป้องกันพระนครให้หละหลวมลงกว่าแต่ก่อน การที่พระยาจักรีทำนั้นคงมีพวกแม่ทัพนายกองบางคนเช่นพระศรีเสาวราชเป็นต้น เห็นท่วงทีวิปริตผิดสังเกตพากันโต้แย้ง พระยาจักรีก็หาเหตุทูลกล่าวโทษว่าพวกนั้นคิดเป็นกบฏ จะเอาพระศรีเสาวราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระมหินทรฯหลงเชื่อฟังก็ให้ปลงพระชนม์พระศรีเสาวราชเสีย แต่นั้นอำนาจก็ตกอยู่แก่พระยาจักรีสิทธิ์ขาด

พระยาจักรีอุบายลดกำลังรักษาพระนครจนเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ไหวแล้ว ก็ลอบให้สัญญาออกไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีให้ระดมเข้าตีก็เสียพระนครศรีอยุธยาแก่ข้าศึก เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ นับเวลาที่ต่อสู้รักษาพระนครมาได้ถึง ๙ เดือน คิดดูจึงน่าเสียใจที่เสียพระนครเพราะไทยคิดทรยศกันเอง ไม่เช่นนั้นถ้าต่อสู้ไปได้สัก ๒ เดือน พอถึงเดือน ๑๑ น้ำจะท่วมทุ่งที่ข้าศึกอาศัย คงต้องถอยทัพกลับไปเอง

แต่พระยาจักรีที่เป็นไส้ศึกนั้น ในพงศาวดารพม่าว่า เดิมพระเจ้าหงสาวดีจะพูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก แต่ตัวขอรับราชการอยู่เมืองหงสาวดี ก็คงเป็นเพราะรู้ตัวว่าจะอยู่ดูหน้าไทยไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เป็นเจ้าเมืองขึ้นแห่ง ๑ ในแดนหงสาวดี แต่มีในหนังสือคำให้การช่วกรุงเก่าเล่าต่อมาว่า พระเจ้าหงสาวดีรังเกียจพระยาจักรีว่าเป็นคนทรยศจะไว้ใจไม่ได้ ชุบเลี้ยงตามสัญญาอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็พาลเอาผิดให้ประหารชีวิตเสีย


(๖)

พระเจ้าหงสาวดีประสงค์จะให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองไทยต่อไป เมื่อตีพระนครศรีอยุธยาได้แล้ว จึงห้ามมิเผาบ้านเมือง แต่อ้างว่าจะตีได้ต้องเสียผู้คนล้มตายมากลำบากนัก เพื่อจะชดใช้ความลำบากนั้น จึงให้ริบทรัพย์จับชาวพระนครทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่เป็นเชลยศึกเอาไปเมืองหงสาวดี แม้เจ้านายตะงแต่องค์สมเด็จพระมหินทรฯเป็นต้น กับทั้งขุนนางทั้งปวง พระเจ้าหงสาวดีว่าเกลียดชังพระมหาธรรมราชาอยู่โดยมาก ก็ให้เอาไปเมืองหงสาวดีเสียด้วย

แต่สมเด็จพระมหินทรฯประชวรอยู่แล้วไปได้เพียงกลางทางก็สวรรคต พระเจ้าหงสาวดียอมให้พระมหาธรรมราชา ขอข้าราชการกับพวกพลเมืองไว้ช่วยรักษาพระนครรวมกันเพียง ๑๐,๐๐๐ คนเท่านั้น พระเจ้าหงสาวดีตั้งพักอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาจนตลอดฤดูฝน ถึงเดือนอ้ายในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ นั้นให้ทำพิธีปราบดาภิเษก ยกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้กองทัพหงสาวดีมีจำนวน ๓,๐๐๐ คน อยู่ช่วยรักษาพระนคร แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็ยกกองทัพจากพระนครศรีอยุธยา ไปตีเมืองลานช้างแก้แค้นพระเจ้าไชยเชษฐาที่ยกกองทัพลงมาช่วยเมืองไทย



ที่นี่ สนุกกว่าครับ


Create Date : 16 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:39:41 น. 16 comments
Counter : 3073 Pageviews.  
 
 
 
 
ละเอียดดีค่ะ แต่ก้มีบางช่วง บางส่วนที่เห็นขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของเอกสารตามที่หาได้ เช่า เรื่องพ.ศ. ของการขึ้นครองราชย์ของ บุเรงนอง ของจุ รู้สึกจะเป็น ๒๐๙๔ แต่ในที่นี้ ๒๐๙๖

นอกเรื่องไปนิดนึง...เรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น ... จุยังเชื่อว่า พระไชย สิ้นระหว่างเดินทางกลับมากรุงศรี หลังจากไปทำสงครามที่เมืองเหนือ ไม่ใช่ถูกลอบวางยาพิษ

จริงๆ ก็มีเอกสารบ้างเหมือนกัน ที่ขัดแย้งกันในเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์ ฉบับไทย ฉบับปะกิต เคยอ่านเจอ แต่ก็จนใจค่ะ ช่วงนี้ ห่างจากงานประวัติศาสตร์ จุรู้ว่า ถ้าจะคุยกันในเรื่องประวัติศาสตร์จริงๆ ต้องคุยกันด้วยเอกสาร อันนี้ ก็ มาคุยในฐานะเพื่อนค่ะ เอาความทรงจำมาคุย
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:19:15:52 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ จุ
เป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับครับ และขออนุญาต Add Blog ด้วยนะครับ
ขอเมามายใต้จันทร์เสี้ยว ด้วยคน

เรื่องราชาภิเษกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง มีในเรื่องแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแล้วครับ
//www.pantip.com/cafe/library/topic/K5172581/K5172581.html#27

" พงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประชวรปัจจุบันทิวงคต เมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๔๓ (ตรงศักราชกับในฉบับหลวงประเสริฐ) พงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าบุเรงนองสมภพเมื่อ ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน จุลศักราช ๘๗๗ พ.ศ. ๒๐๕๘ ได้ราชสมบัติเมืองตองอู เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ พระชันษา ๓๔ ปี ต่อมาอีก ๒ ปีได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีกุน จุลศักราช ๙๑๓ พ.ศ. ๒๐๙๔ ทิวงคตเมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๒๔ พระชันษาได้ ๖๖ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๓๒ ปี "

พระเจ้าบุเรงนองชิงเมืองตองอูจากน้องได้ พ.ศ.๒๐๙๒
และปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี พ.ศ.๒๐๙๔


ส่วนเรื่อง "สาเหตุที่พระไชยราชาธิราชสวรรคต"
เอาไว้สะสางของเก่าเสร็จแล้ว จะคัดเรื่องแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช เป็นเรื่องแรก
ตอบแทนคุณจุ ที่ให้กำลังใจอยู่เสมอๆ นะครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:9:04:41 น.  

 
 
 
สวัสดีอีกครั้งครับ คุณจุ
นึกขึ้นได้ว่าเคยคัดเรื่องนี้ไว้แล้ว

มีพระวินิจฉัยในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่อง "สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต" ในกระทู้เก่า

๑. วินิจฉัยเรื่องสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ในหนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับความยุติว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อวันสิ้นเดือน ๔ และ(ฉบับหลวงประเสริฐว่า) สวรรคตในเดือน ๖ พิเคราะห์ดูระยะเวลากว่าเดือนหนึ่ง เห็นว่าจะประชวรมากลางทาง แต่เสด็จมาถึงกรุงฯแล้วจึงสวรรคต และมีเค้าเงื่อนว่าจะได้ทรงสั่งมอบเวรราชสมบัติ ดังจะวินิจฉัยต่อไปในข้อหน้า

เหตุเกิดเมื่อศักราช ๙๐๗ พระเทียรราชาได้ราชสมบัติ
//topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/01/K4014738/K4014738.html
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:9:12:18 น.  

 
 
 
บุเรงนองก็สามารถตีเมืองมอญได้ทั้งหมด แล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๙๖ ก่อนสมเด็จพระเนศวรเสด็จสมถพ ๒ ปี ....


ข้างบนนี้ copy เอามาจากข้างบนของหน้าบล็อกคุณกัมม์นี่ละคะ ถึงบอกว่าขัดแย้งใน พ.ศ.ที่ จุคาดว่า น่าจะ ๒๐๙๔
ก็ตรงกับที่คุณกัมม์เอามาตอบ คือ ๒๐๙๔


ตกลง ใช้เอกสารไหนดี

ความจริง พ.ศ. นี่ไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดนะ สำหรับจุ นอกจากจะเอามาใช้เทียบเคียงอะไรบางอย่าง เพราะ การนับ พ.ศ. แต่ละประเทศก็มีความคลาดเคลื่อนกันอยู่ จะเอามาแป๊ะๆ คงจะยาก


เรื่องพระไชยฯ จุแน่ใจว่า เคยเข้าไปอ่านในพันทิพแล้ว เพราะเรื่องของคุณกัมม์ส่วนใหญ่ จุจะอ่าน แต่ไม่ค่อยตอบน่ะคะ อยากมากก็ ขอบคุณที่เอามาให้อ่าน เพราะคนในพันทิพ ส่วนใหญ่ ก็ นะ...เก่งๆ กันทั้งนั้น ตอบแล้วพลาดนี่ยำกันเละ


ส่วนในบล็อกแก๊งค์นี่ จุเล่นมาปีกว่า การแสดงความคิดเห็น จะนุ่มกว่ากันเยอะค่ะ


ขอบคุณนะคะ สำหรับบทความดีๆ ที่นำมาให้อ่าน
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:11:18:41 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ จุ
อย่างที่ว่านั้นแหละครับ
แม้แต่องค์สมเด็จผู้ทรงพระนิพนธ์ก็ไม่สรุปว่า อันไหนถูกจริง
เราก็คงไม่สรุปเช่นกันว่าอันไหนถูกอันไหนผิด นะครับ


วันนี้ฝนตกแต่เช้า เดินทางด้วยความระมัดระวังนะครับ
ฝนตกก็ดี เย็นชุ่มฉ่ำดี
พืชผลทางการเกษตรที่ทำขาดน้ำจะได้มีโอกาสฟื้น
น้ำเสียจากอยุธยาอ่างทองจะได้เจือจางลงบ้าง
ไฟป่าและควันไฟที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน จะได้จางหายไป
คนที่ออกมาฆ่าชาวบ้านที่ภาคใต้ คงจะขี้เกียจขึ้นบ้าง

วันนี้ดีจริง
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:8:25:49 น.  

 
 
 
Blog ของคุณดีมากมีคุณค่าและสาระ ผ่านมาเห็น แล้วจะแวะมาอ่านอีก
 
 

โดย: ผ่านมาเห็น IP: 206.191.1.215 วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:1:52:35 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ ผ่านมาเห็น

รู้สึกยินดีที่เวลาว่างของตัวเอง พอจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง
ขอบพระคุณที่แวะเข้ามา และหวังว่าจะได้ต้อนรับอีกเรื่อยๆครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:9:20:06 น.  

 
 
 
ชอบอ่าน สนุกและให้ความรู้ดีค่ะ
 
 

โดย: เอ๊กกี่ วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:19:08:27 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ เอ๊กกี่
ขออภัยที่ตอบช้านะครับ
คุณ เอ๊กกี่ ชอบอ่าน ผมก็มีกำลังใจที่จะคัดต่อไปเรื่อยๆ
ต้องขอบคุณคุณ เอ๊กกี่ เช่นกันครับ สำหรับกำลังใจ

โลกเราน่าอยู่ขึ้นก็ด้วยสิ่งนี้จริงๆ นะครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:05:02 น.  

 
 
 
ดีจังค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ
ตอนเรียนชอบประวัติศาสตร์มาก อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเลยค่ะ

 
 

โดย: January Friend วันที่: 14 สิงหาคม 2550 เวลา:15:28:30 น.  

 
 
 
ขอบพระคุณสำหรับน้ำใจครับ
ส่วนกุศลใดที่ได้เกิดขึ้นบ้าง
ถวายเป็นส่วนพระกุศลในองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์เถิดครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 สิงหาคม 2550 เวลา:7:56:44 น.  

 
 
 
สงสัยครับว่า ทำไมไม่หลักฐานในส่วนที่เป็นพระเจดีย์ หรือที่เก็บพระบรมอัฐิของพระนเรศวรมหาราชเลย ทั้งที่พระองค์ทรงเป็น พระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ สมควรจะมีพระสุสานของพระองค์ ประดิษฐาน ณ แห่งใด แห่งหนึ่งให้ประชาชนรุ่นหลังได้ กราบไหว้ และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมถึงเหตุแห่งการสวรรคต ก็คลุมเคลือ ถ้ายังงัยช่วยกรุณาเล่าให้ฟังหน่อยนะครับ
 
 

โดย: dejavu IP: 194.130.163.67 วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:19:06:27 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ dejavu
สำหรับพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ และแต่เชื่อกันว่า
พระบรมอัฐิของพระองค์บรรจุที่ พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล ครับ
ทั้งนี้เรายังไม่มีหลักฐานครับ ลองไปชมที่ การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ นะครับ

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:10:38:23 น.  

 
 
 
ได้คัดเรื่องพระอธิบายพระราชพงศาวดารกรุงเก่าไว้
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรียนเชิญทุกท่านที่บล็อกข้างล่างนี้ครับ

แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:10:52:35 น.  

 
 
 
สนุกคะ
 
 

โดย: กี้ IP: 117.47.19.71 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:29:14 น.  

 
 
 
ซูเลียน
 
 

โดย: ซูเลียน (mlmboy ) วันที่: 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา:21:22:27 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com