เด็กนอนยาก เด็กไม่หิว
เด็กนอนยาก เด็กไม่หิว
น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
การเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่วัยทารกจนเติบใหญ่ไม่ใช่ของง่าย แม้ว่าพ่อแม่จะมีความรัก มีความปรารถนาดีแต่เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ในระหว่างการเลี้ยงดู บ่อยครั้งต้องพึ่งพาสอบถามผู้ใหญ่ ปู่-ย่า-ตา-ยาย ของเด็ก แต่ในสมัยนี้ปู่-ย่า-ตา-ยายก็อาจจะไม่ได้อยู่ร่วมบ้าน คลินิกเด็กดีในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ แพทย์และพยาบาลที่ดูแลเด็กโดยเฉพาะน่าจะให้คำปรึกษาท่านได้ 2 ปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ ทารกนอนยากและในบางช่วงของชีวิตเด็กไม่ยอมหิวเอาเสียเลย ทำให้พ่อแม่ต้องกังวลใจมากไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา
ปัญหาเด็กนอนยาก เด็กทารกอายุ 0-4 เดือน การทำงานของระบบสรีรวิทยายังไม่คงที่ ดังนั้นเด็กจึงนอนหลับไม่เป็นเวลา อาจตื่นบ่อย ๆ ช่วงกลางดึก แต่หลังจากอายุ 4 เดือนไปแล้วเด็กสามารถนอนหลับได้ตลอดคืนประมาณ 6-8 ชั่วโมง เด็กที่ตื่นมาดึก ๆ และร้องกวนอาจมีสาเหตุหลายประการดังนี้ สาเหตุ ได้แก่
1. มดหรือแมลงกัดต่อย เด็กเล็กที่ยังต้องดูดขวดนมอาจมีมดหรือแมลงบนที่นอน ทำให้กัดเด็กเวลานอนได้
2. เจ็บเหงือกเวลาฟันงอก เด็กอายุประมาณ 4 เดือนจะเริ่มมีตุ่มฟันงอกออกมา ทำให้รู้สึกเจ็บและรำคราญ เด็กอาจร้องกวนและตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน
3. นอนกลางวันนานเกินไป จะทำให้ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน
4. หิวนม อาจเป็นเพราะเด็กเคยชินกับการดูดนมทีละน้อยแต่บ่อย ๆ บางคนอาจดูดทุก 1-2 ชั่วโมง หรือพ่อแม่ฝึกให้เด็กดูดนมจนหลับคาขวดนม จนทำให้เด็กชินและกลายมาเป็นเงื่อนไข
5. เคยชินกับการที่พ่อแม่พูดคุย พ่อแม่บางคนมีความจำเป็นต้องกลับบ้านดึกหรือต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ จึงไม่ค่อยมีเวลาได้เล่นกับลูกจะชอบอุ้มลูกขึ้นมาเล่นด้วยทุกครั้งที่กลับมาถึงบ้านหรือจะอุ้มเด็กทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมากลางดึกหรืออุ้มกล่อมและกกกอดจนเด็กหลับ เด็กจึงเคยชินไม่สามารถหลับได้เองเมื่อตื่นขึ้นมา
6. กังวลจากการพลัดพราก เด็กวัย 1-4 ขวบ จะกังวลกับการพลัดพราก ดังนั้นจึงไม่ค่อยอยากเข้านอนคนเดียว และเมื่อตื่นขึ้นมากลางดึกเด็กหันไปมองรอบ ๆ ไม่เห็นพ่อแม่จะรู้สึกกลัวได้
7. เป็นหวัด เด็กที่เป็นหวัด คัดจมูกและหายใจไม่โล่งจะทำให้นอนได้ยากแต่เด็กยังบอกไม่ได้ พ่อแม่อาจไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร
8. ยาหรือเครื่องดื่มบางชนิด ยาและเครื่องดื่มบางชนิด ได้แก่ ยาแก้หืดหอบ ยาหวัดบางชนิด ยาไทรอยด์ และเครื่องดื่มบางประเภทเช่น โค้ก เปŠปซี่ จะทำให้เด็กกวนและไม่ยอมนอนได้
9. กลัวและฝันร้าย บ่อยครั้งที่เด็กเล่นอย่างตื่นเต้นและหวาดกลัวในตอนกลางวัน จะทำให้นอนไม่หลับและฝันร้ายได้
วิธีแก้ไข
กรณีที่เด็กตื่นขึ้นมากลางดึก พ่อแม่ควรรอประมาณ 5-10 นาที ก่อนเพื่อให้เด็กหลับต่อได้เอง ถ้าเด็กยังร้องต่อก็เข้าไปดูว่ามีอะไรทำให้เด็กตื่นและหาทางแก้ไขตามสาเหตุ ดังนี้
1. สำรวจบริเวณเตียงนอนว่ามีมด แมลงหรือไม่ ควรทำความสะอาดเตียงนอนอย่างสม่ำเสมอ ๆ
2. ในเด็ก 4-8 เดือน อาจปวดเหงือกตอนฟันจะงอก อาจใช้วิธีปลอบ โดยไม่ให้ดูดนม
3. ไม่ควรปล่อยให้เด็กนอนกลางวันนานเกินไป
4.โดยปกติเด็กอายุมากกว่า 4 เดือนจะสามารถ นอนติดต่อตอนกลางคืนได้นาน 6-8 ชั่วโมง ดังนั้นไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมาดูดนม หรือเมื่อเด็กตื่นขึ้นมากลางดึกก็ไม่ควรเอาขวดนมให้เด็กดูดทันที ควรรอสัก 5-10 นาที และปลอบเด็กด้วยวิธีอื่นก่อน กรณีที่เด็กยังดูดนมกลางคืนควรให้ดูดนมมากขึ้นในแต่ละมื้อตอนกลางวันและยืดระยะเวลาระหว่างมื้อนมออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งให้เด็กดูดนมเพียงมื้อเดียวในช่วงดึกและสามารถงดนมมื้อดึกได้ในที่สุด ไม่ควรให้เลิกดูดนมทันที เพราะเด็กจะหิวนม ร้องกวนมากและไม่ยอมนอนต่ออีก การงดนมควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยลดปริมาณนมลง 1-2 ออนซ์ทุก 2 คืน ควรใช้เวลาให้นมให้สั้นที่สุดไม่ควรเกิน 20 นาที และไม่กระตุ้นเด็กด้วยการหยอกล้อชวนเด็กเล่น ต่อมาเด็กก็จะหลับได้ตลอดคืน
5. โดยมากเด็กอายุ 1-3 ขวบจะกังวลจากการพลัดพรากจากพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่อาจพาเด็กเข้านอนและอยู่เป็นเพื่อนจนเด็กหลับหรืออาจอุ้มโยกโดยไม่ให้เด็กตื่นจากนั้นจึงลงมาทำธุระของพ่อแม่ต่อ
6. กรณีที่เป็นหวัดคัดจมูก จำเป็นต้องให้ยาแก้หวัดชนิดที่ทำให้เด็กหลับได้
7. ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับยา จำเป็นต้องปรึกษาหมอเด็ก เพื่อเปลี่ยนตัวยาหรือลดปริมาณยาลง จะทำให้เด็กหลับได้ และควรงดน้ำอัดลมเนื่องจากในน้ำอัดลมบางชนิดมีสารจำพวกกาเฟอีนปริมาณหนึ่งซึ่งอาจทำให้เด็กนอนไม่หลับได้
8. ถ้าเด็กฝันร้าย หรือกลัว พ่อแม่ควรเข้าไปกอดปลอบโยนเด็กที่เตียงของเขา และอยู่เป็นเพื่อนจนกระทั่งเด็กหายกลัวและรู้สึกดีขึ้น พ่อแม่ควรถามเด็กว่าจะให้ปิดไฟที่หัวเตียงหรือไม่ และเอาตุ๊กตาหรือหมอนข้างให้เด็กกอด
เด็กไม่หิวอาหาร เมื่อลูกเข้าขวบปีที่สองพ่อแม่มักหนักใจที่ลูกไม่ยอมกินอาหาร ลูกจะสนใจเล่นมากกว่ากินอาหาร แม้ว่าพ่อแม่จะหลอกล่ออย่างไรก็ตาม อาจใช้วิธีหลอกล่อด้วยของเล่น อุ้มเดินไปรอบ ๆ สนามหน้าบ้านแล้วตามป้อน หรือจะต้องขับรถตระเวนป้อนข้าวรอบหมู่บ้านก็ตาม บางครั้งอาจจะต้องคะยั้นคะยอ อ้อนวอนติดสินบนให้เด็กกินอาหาร หรือใช้วิธีขู่ ว่าจะไม่โต ไม่สบาย จนถึงขั้นบังคับยัดเยียดอาหารใส่ปากแล้วก็ยังไม่เป็นผล เด็กที่ปฏิเสธไม่ยอมกินอาหารอาจออกมาในรูปแบบของการกินอาหารช้า อมอาหารในปากจนหลับคาจาน เด็กบางคนอาจจะอาละวาดไม่ยอมกิน บ้วนอาหารทิ้ง ถ้าพ่อแม่บังคับให้กินมาก ๆ เด็กจะอาเจียนออกมา
สาเหตุที่เด็กปฏิเสธไม่ยอมกินอาหารมีดังนี้
1. พัฒนาการของเด็ก เด็กอายุ 1-2 ขวบที่เริ่มเดินได้ พูดได้ จะต้องการเล่น ต้องการสำรวจสิ่งแปลกใหม่มากกว่า อีกอย่างหนึ่งคือเด็กวัยนี้ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้อง การจับช้อนและหยิบอาหารเข้าปากเอง ถ้าพ่อแม่ห้ามปรามและดุว่าลงโทษเด็ก ๆ ก็จะอาละวาดไม่ยอมกินอาหารได้
2. ความต้องการอาหาร ปริมาณความต้องการอาหารและความอยากอาหารในแต่ละมื้อของแต่ละคนไม่เท่ากัน บ่อยครั้งที่ในตอนเช้าเด็กยังไม่อยากอาหาร แต่จะถูกพ่อแม่บังคับให้กินอาหาร
3. ความชอบและไม่ชอบอาหาร แม่มักจะเตรียมอาหารให้เด็กเล็กในแต่ละมื้อซ้ำ ๆ กัน เด็กจึงเบื่ออาหารในบางมื้อได้
4. ความเจ็บป่วย เมื่อเด็กเจ็บป่วยเด็กจะงอแงและเบื่ออาหารได้
5. ปัจจัยด้านพ่อแม่
ความกังวลของพ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเด็กอาจกังวลอย่างมากว่าเด็กจะได้อาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายและสมองไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร จึงบังคับให้เด็กกินอาหารเยอะ ๆ ทั้ง ๆ ที่เด็กได้อาหารเพียงพอแล้ว
พ่อแม่เอาใจใส่เรื่องน้ำหนักของเด็กมากเกินไป โดยปกติในขวบปีแรกเด็กจะเจริญเติบโตค่อนข้างมาก น้ำหนักเพิ่มเป็น 3 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด ส่วนสูงเพิ่มขึ้นถึง 25 ซม. แต่ในปีที่ 2 น้ำหนักเด็กจะเพิ่มขึ้นเพียง 3 กิโลกรัมใน 1 ปี และส่วนสูงเพิ่มเพียง 10-15 ซม. เท่านั้นจึงทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่สบายใจคิดว่าลูกมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
คำนึงถึงหลักโภชนาการมากเกินไป พ่อแม่บางคนพยายามให้เด็กได้รับอาหารครบทุกหมู่ในแต่ละมื้อตามหลักโภชนาการ จึงบังคับเคี่ยวเข็ญเด็กในเรื่องกินอย่างมาก
ขาดความเข้าใจพัฒนาการเด็ก เด็กอายุ 2-3 ขวบจะมีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง ถ้าพ่อแม่บังคับเด็กก็จะต่อต้าน
ขาดทักษะในการเลี้ยงดู พ่อแม่บางรายไม่รู้จักวิธีเล่นหรือมีกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับเด็กที่จะทำให้เด็กมีความสุข พ่อแม่จะคอยดูแลเอาใจใส่และสนใจเฉพาะเรื่องอาหารการกินเท่านั้น
อิทธิพลจากญาติพี่น้อง บางครั้งญาติผู้ใหญ่ผลักดันทั้งทางตรงและทางอ้อมให้พ่อแม่เคี่ยวเข็ญเรื่องอาหารกับเด็ก ทำให้เด็กเบื่อและต่อต้านผู้ใหญ่

วิธีแก้ไข
- ถ้าหากว่าเด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ พ่อแม่ไม่ควรกังวลเรื่องนี้มากนัก
- ควรเตรียมอาหารให้เด็กเป็นเวลาและครบทุกมื้อ จัดอาหารให้เด็กที่โต๊ะอาหาร ไม่เคี่ยวเข็ญ บังคับหรือเสียงดังกับเด็กมากเกินไป และไม่ควรดึงดูดความสนใจเด็กจากการกินอาหาร เช่น ไม่เอาของเล่นมาล่อ ไม่เปิดการ์ตูนให้เด็กดูในเวลาอาหาร กำหนดเวลากินไม่ควรเกิน 30 นาที
- ตักอาหารให้เด็กในปริมาณน้อย ถ้าหมดแล้วค่อยเติมใหม่
- ให้เด็กลองใช้ช้อนตักอาหารกินเอง ถึงแม้จะเลอะเทอะบ้างก็ตาม
- ไม่ควรบังคับหรือเคี่ยวเข็ญถ้าเด็กไม่ยอมกินหรือกินน้อย ให้เก็บอาหารเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดแล้ว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า "ความหิว" เป็นอย่างไร พ่อแม่ส่วนมากมักจะให้อาหารอย่างอื่นทดแทนเมื่อเด็กไม่ยอมกินข้าวจึงทำให้เด็กไม่หิว ดังนั้นไม่ควรให้ขนม นม น้ำหวานหรือผลไม้ทดแทน นอกจากน้ำเปล่าจนถึงมื้อถัดไป
- ควรเปลี่ยนแปลงเมนูอาหารลูกรักบ้าง เพิ่มสีสันให้ดูน่ารับประทาน
- ถ้าเด็กเลือกกินและไม่ยอมกินผัก ควรจะผ่อนปรน ไม่ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบอาหารทำเป็นผักชุบแป้งทอดให้เด็กลองชิมดู ถ้าเด็กชอบจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้น เด็กบางคนอาจไม่ยอมเคี้ยวหมู จึงบ้วนคายทิ้ง อาจจะหั่นชิ้นเล็ก ๆ แบบลูกเต๋าให้ลองชิม
- พูดชมเชยถ้าเด็กกินได้ดีหรือลองชิมอาหารรสชาติใหม่ ๆ บางครั้งอาจต้องมีเทคนิคเล็กน้อยให้เด็กยอมกินยอมเคี้ยว เมื่อเด็กกินได้ดีควรชมเชย.


ขอขอบคุณบทความ จาก นสพ..เดลินิวส์ คอลัมน์ชีวิตและสุขภาพ





Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 13:55:31 น.
Counter : 1896 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]