หนัง เพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน และการเมืองด้วยครับ
Group Blog
 
All Blogs
 

Gandhi my father - พ่อข้าชื่อว่า คานธี

ที่เวียดนามผมได้หนังมาเรื่องหนึ่ง เพิ่งดูจบจึงอยากเล่าให้เพื่อนๆฟังกัน เรียกว่าหนังเรื่องแรกของปีนี้ก็ว่าได้ที่ผมดูและรู้สึกชอบมากๆ - เป็นหนังอินเดียนะครับ

ผมเชื่อว่าทุกๆคนคงรู้จักท่านมหาตมะคานธี



ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงในเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพแห่งชาวอินเดีย ผู้นำแนวทางอหิงสามาใช้เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐป่าเถื่อน และผู้ที่เป็นแบบอย่างใช้วิธีอารยะขัดขืนในการท้วงกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ตลอดจนเป็นผู้นำจิตวิญญาณของคนในศาสนาฮินดู

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องส่วนตัวของท่านบางเรื่อง เป็นเรื่องที่ถูกเลี่ยงจะพูดถึงมากตลอด

ใบปิดของหนังเรื่องนี้ จัดแสงสวยมาก แสดงให้เห็นความครุมเครือของสัมพันธภาพระหว่างพ่อกับลูก

น้อยคนนักที่รู้ว่าลูกชายคนโตของท่านคานธี เป็นคนติดคุกในคดีฉ้อโกง / เป็นโรคติดสุราเรื้อรัง / เคยเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม / ชีวิตครอบครัวล้มเหลว / และเสียชีวิตในสภาพขอทาน

Gandhi my father - เป็นภาพยนตร์ที่ฮือฮาตั้งแต่มีข่าวจะสร้าง หนังถูกต่อต้านอย่างหนักจากบรรดาผู้นับถือท่านคานธี มีการข่มขู่ และใช้หลายวิธีเพื่อให้การสร้างมีปัญหา แต่หนังได้รับทุนจากต่างประเทศจึงผ่านไปได้ และเมื่อทำเสร็จก็ได้รับคำชมเชยอย่างเยี่ยมในทุกๆด้าน และที่สำคัญบรรดารุ่นหลานๆของท่านคานธีก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในด้านข้อมูลจนได้หนังอินเดียชั้นดีอีกเรื่องออกมาสู่สายตาผู้ชม

หนังตั้งคำถามว่า ถ้าในเรื่องของครอบครัวท่านคานธีใช้การอหิงสาที่ถูกต้องหรือไม่กับลูกชายของเขา

ที่ประเทศอาฟริกาใต้ คานธีกับภรรยาเริ่มต้นการต่อต้านจักรวรรดิ์อังกฤษที่นั้น แค่เปิดตัวก็เริ่มเห็นความขัดแย้ง เมื่อคานธีไม่เห็นด้วยที่ลูกชายของเขา Harilal Gandhi ฮาริอัล คานธี ต้องการจะแต่งงานกับหญิงที่รัก คานธีไม่เห็นด้วยแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ยอม แต่ก็ขอร้องแกมบังคับให้ฮาริมาร่วมต่อสู้ที่อาฟริกาใต้



ฮาริอัลแสดงโดยนาย อัสยี กานนา ซึ่งเล่นได้ดีมาก เขาแสดงให้เห็นพัฒนการด้านลบของตัวฮาริอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฮาริรักและกลัวพ่อของเขาในระดับสูงจนไม่กล้าเอ่ยปากอะไร ไม่กล้าพาภรรยามา ไม่กล้าคัดค้านคำสั่ง ถึงเวลาที่มีกองทุนส่งคนไปเรียนที่อังกฤษเขาก็ไม่ได้ไป คานธีส่งลูกผู้น้องเขาไปแทนเพราะเกรงคำครหาและพอเด็กเรียนไม่ไหวก็ส่งลุกของเจ้าหน้าที่อีกคนไปแทนโดยข้ามฮาริไปตลอด

สุดท้ายฮาริเป็นฝ่ายที่ขอหนีจากพ่อเขาไปเอง เขาตัดสินใจกลับไปอินเดีย และก็ชื่อคานธีทำให้เขาเข้าประเทศอินเดียไม่ได้ โดนส่งกลับเพราะพ่อคือนักเคลื่อนไหวการเมืองที่ทางการอังกฤษกำลังจับตา จนต้องทำให้ทางการเชื่อว่าเขาจะกลับมาเรียนหนังสือและทำงาน

ในขณะที่ผู้เป็นพ่อยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ คนอินเดียยึดเอาท่านเป็นแกนหลักในทุกๆเรื่อง ฮาริกลับเข้าไม่ถึงพ่อ เขาเหมือนถูกมัดไว้ด้วยอะไรบางอย่าง เขาไม่อาจเอาเงินของตระกูลมาลงทุนใดใด (เพราะคานธีเกรงจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงเอาเงินเข้ากองทุนอาศรมหมด) เรียนหนังสือก็ลุ่มๆดอนๆ จนต้องออกมาหางานทำเลี้ยงครอบครัว

ลูกชายของพ่อที่ยิ่งใหญ่มักจะถูกจับตาจากประชาชนเสมอ

มีอยู่คืนหนึ่งที่ฮาริอัลเสียใจที่มีคนนินทาเขาเรื่องความไม่เอาไหน เขากดดันจนเดินออกไปตะโกนบนถนนว่า"ทุกวันนี้ผมเหมือนมีชื่อคานธีติดอยู่บนหัวผม พวกคุณคิดว่าเขาคือพ่อของพวกคุณ แต่สำหรับผม เขาคือพ่อที่ผมไม่เคยหวังว่าจะมี" - นับจากจุดนั้น ฮาริก็เดินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับพ่อเขาไปเรื่อยๆ

หนังให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย คานธีไม่ใช่ไม่รักลูก ท่านมีความเมตตาปราณีให้แก่ฮาริอัลเยี่ยงบิดาคนหนึ่งพึงจะมีต่อบุตร อย่างไรก็ตามท่านจัดการระบบครอบครัวโดยมุ่งเป้าหมายไปที่การต่อสู้เพื่อชาติ สิ่งที่ท่านหยิบยื่นให้ฮาริได้ก็คือชักชวนให้เขามาร่วมต่อสู้กับท่าน เข้ามาอยู่ด้วยกันในอาศรม ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ฮาริไม่ใช่คนไม่ดี เขาก็แค่อยากจะก่อร่างสร้างตัวเหมือนคนทั่วไปและอยากได้การสนับสนุนจากบิดาบ้าง แต่นั้นก็เป็นเรื่องที่ถูกปฎิเสธ

ความล้มเหลวของฮาริอัลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เขากู้เงินมาค้าขายก็เจ๊งจนลูกเมียต้องหนีจาก กลายเป็นคนติดเหล้า ชุมชนมุสลิมทนดูไม่ได้จึงล้างหนี้ให้และขอให้เข้าอิสลาม จนแล้วจนรอดฮาริยังไม่เลิกดื่มจนภรรยาต้องตรอมใจตาย แม่ของเขาเข้ามาช่วยดูแลลูกๆของเขาและพาเขาเข้าอาศรม ฮาริอัลอยู่ช่วยบิดาไม่นานก็ถุกพวกนักธุรกิจโสมมหลอกให้นำชื่อของเขาไปอ้างโกงระดมเงินชาวบ้าน จนต้องถุกฟ้องร้อง ในขณะที่คานธีก็ออกแถลงการณ์ให้จัดการกับฮาริอัลตามกฎหมาย

เขาต้องติดคุกระยะเวลาหนึ่งและเลิกพูดกับบิดานับแต่วันนั้นเป็นต้นมา

หนังกำกับโดย Feroz Abbas Khan ซึ่งก็เก่งมาก ภาพสวย ดนตรีประกอบยอด ไม่มีฉากวิ่ง /ร้องเพลงอะไรทั้งนั้น ตลอดเรื่องมีการแทรกภาพแบบข่าวยุคเก่ามาเป็นระยะๆให้สมจริง แต่ข้อเสียถ้าจะมีคือ ผมรู้สึกว่าเขาข้ามหรือละเรื่องวีรกรรมของท่านคานธีไว้ในเงื่อนไขที่ว่า"ใครๆก็คงรู้"มากไปนิด ชนิดที่ถ้าใครไม่รู้หรือรู้ประวัติท่านคานธีแต่น้อยก้อแทบจะไม่เข้าใจบางบริบทของภาพยนตร์ (แต่ขนาดนี้หนังก็ปาเข้าไป 2 ชม.กว่าๆ) จะให้ดีควรหาหนังเรื่อง Gandhi ของเซอร์ ริชาร์ด แอนเตอร์โบเรอะห์ มาดูอีกรอบประกอบกันไป

แต่ภาคการแสดงยอดเยี่ยม นอกจากนาย อัสยี กานนา ที่เล่นเป็นฮาริอัลแล้ว นาย Darshan Jariwala ก็เล่นเป็นท่านคานธีได้อย่างสมจริง (ดีกว่า เบน คิงส์ลี่ย์ เสียอีก) แต่ที่ผมชอบที่สุดคือนาง Shefali Shah เล่นเป็นนางคานธีได้อย่างน่าเห็นใจที่สุด ในบทภรรยาที่ทนเพื่ออุดมการณ์ของสามีจนต้องละเลยความต้องการของลูก แม้เธอจะพยายามขอร้องคานธีเพียงใดแต่ก็ได้แค่อนุญาติให้เอาเข้ามาเลี้ยงในอาศรมเท่านั้น




ทั้งแววตาและการแสดงของเธอประทับใจผมมาก "as a mother I cannot disown you nor can I call you my own" เธอพูดอย่างเสียใจปนน้อยใจในชะตากรรมของลูกชาย ที่เธอก็ทำอะไรแทบไม่ได้เลย



ภาพสุดท้ายของครอบครัว ฮาริอัลเอาผลไม้วิ่งมาให้แม่ของเขาท่านกลางฝูงชนตะโกนแซ่ซ้องผู้พ่อ"ผมเอามาให้แม่เท่านั้น" เขาพูดโดยไม่มองไปที่ท่านคานธีเลยแม้แต่นิดเดียว

บทหนังแสดงความสะเทือนใจกึ่งๆเสียดสี 2 ครั้งในตัวฮาริอัลเอง หนังเปิดเรื่องด้วยฮาริอัลในสภาพขอทานและติดเหล้ารุนแรงถูกนำเข้าโรงพยาบาล เจ้าหน้าถามว่าพ่อคุณชื่ออะไร เขาตอบว่า"คานธี" คำพูดที่กลับมาคือ "ผมรู้ว่าคานธีคือพ่อที่ยิ่งใหญ่ เขาคือบิดาแห่งประชาชาติ (Father of the nation) แต่พ่อจริงๆของคุณน่ะ ชื่ออะไร"

อีกครั้งคือคราวที่ท่านคานธีถูกยิงเสียชีวิต ในบาร์ที่ทุกคนต่างร่ำให้เสียใจ ฮาริอัลเดินโซเซน้ำตาคอลไปจ่ายเงิน เจ้าของร้านกลับบอก"ผมไม่เอาเงินคุณหรอก กลับไปเถอะ คุณรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อของผม(คานธี) เพิ่งจะสิ้นไป ตอนนี้ผมเป็นลูกกำพร้าแล้ว" เขาพูดต่อหน้าฮาริอัล อย่างไม่รู้ว่านี่คือลูกชายแท้ๆของผู้ที่เพิ่งจากไป

แหงล่ะ - ใครจะเชื่อว่าขอทานขี้เมาข้างถนนจะเป็นลุกของผุ้นำระดับตำนานอย่างท่านคานธี และหนังสรุปค่อนข้างชัดเจน การเสียสละตนเองของท่านคานธีเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่จนกระทั่งยอมแม้เกิดปัญหาในครอบครัว

ผมเองมีความเห็นว่าเรื่องนี้จะดูไว้เป็นคติก็ได้ และมันจะด้วยเหตุผลคล้ายๆกันหรือไม่ แต่ลูกของผู้ที่ยิ่งใหญ่ใครๆก็นับถือ ไม่น้อยที่มีปัญหาอย่างนี้ การละเลยดูแล / การตั้งความหวังไว้สูงของผู้ที่จับจ้องมอง / พ่อยิ่งใหญ่เกินไปจนลูกกดดัน / คนรอบข้างที่คอยหาผลประโยชน์ / เขาไม่รักดีเอง ฯลฯ ที่เราอาจจะไม่รู้และยากจะตัดสิน แต่สิ่งหนึ่งคือ ความยิ่งใหญ่และความรักนับถือของประชาชน มันไม่มีทางผ่านมาได้ทางกรรมพันธ์ ตัวอย่างคือฮาริอัลที่คนจะบูชาท่านคานธีอย่างไร ก็ไม่มีใครนับถือในตัวเขาแม้แต่น้อย ทุกวันนี้พูดถึงก็ยังไม่ยอมให้พูด แม้หนังจะทำให้เราเห็นใจเขาไม่น้อยก็ตาม



อยากได้การยอมรับและนับถือจากชาวบ้านมันไม่มีทางลัด ยิ่งตัวทำแย่ทุกอย่างยิ่งเลวร้าย ฮาริอัลพยายามหาทางนั้นแต่ก็หลงทางไปเรื่อยๆ

ฮาริอัล คานธี เสียชีวิตหลังจากท่าน มหาตมะคานธี สิ้นบุญเพียง 5 เดือน ในโรงพยาบาลของคนอนาถา พบอยู่ในสภาพขอทานและเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง.......




 

Create Date : 18 มกราคม 2551    
Last Update : 18 มกราคม 2551 11:22:46 น.
Counter : 2205 Pageviews.  

ใครจะได้ขี่ลา มาทำเนียบขาว

นัดเพื่อนๆสองสามคนไว้จะคุยเรื่องเลือกตั้งอเมริกากันเลย วันนี้ผมก็ขอบันทึกเรื่องนี้ก็แล้วกัน

ความทรงจำผมที่มีต่อการเลือกตั้งที่อเมริกาครั้งแรกสุดคือ คราวเมื่อเกือบ 16 ปีก่อนในปี 1992 ที่ นาย บิล คลินตัน เฆี่ยน เจ้าของตำแหน่งอย่าง จอร์จ บุช ผู้พ่อเสียยับเยิน ได้เป็น ปธน. ตอนอายุแค่ 46 ปีเท่านั้น

ก่อนอื่นจะต้องบอกว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆที่อเมริกา เรารู้ว่ามีอยู่สองพรรค ปัจจุบันพรรคที่ครองทำเนียบขาวอยู่คือพรรค รีพับรีกัล ที่นาย บุช สังกัดอยู่ ซึ่งทำนโยบายได้น่าสังเวชจนหลายๆคนคิดว่าควรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้แล้ว



ความสนใจจึงมุ่งมายังพรรคเดโมแครต ที่จะหาใครเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่ง เพราะตัวเก็งทั้งสองคือ นาย บารัก โอบาม่า กับ นาง ฮิลลารี่ คลินตัน มีจุดที่น่าสนใจทั้งคู่ เพราะคนหนึ่งคือคนผิวสี อีกคนเป็นสุภาพสตรี

ในการเลือกตั้งของอเมริกา พรรคของเขาถือว่าเป็นของประชาชนจริงๆ ดังนั้น การที่ใครสักคนจะเสนอตัวเป็น ปธน. ประเทศในนามของพรรค จะต้องผ่านการคัดเลือกครับ ไม่ใช่เอามติพรรคคัดกันเอง แล้วบอกว่า นายสมัคร นี่แหละ หัวหน้าพรรคและจะได้เป็นนายกฯ

อย่างนาย บุช หรือ นาย บิล คลินตัน นี่ไม่ใช่หัวหน้าพรรค รีพับรีกัล หรือ เดโมแครต นะครับ เป็นแค่ ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น

การเลือกครั้งนี้เขาเรียกว่า ไพมารี่ โหวต ซึ่งไม่ใช่แค่ตำแหน่ง ปธน. เขาใช้สำหรับคัดตัวแทน วุฒิสมาชิก / สส. / ผู้ว่าการรัฐ ด้วย คือ จะมีคนมากมายเสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งต่างๆ

ที่นี่คนที่ลงทะเบียนไว้ว่าเป็นเดโมแครตก็จะเลือกเอาคนเหล่านั้น และทำกันทุกรัฐนะครับ ใครได้คะแนนเสียงเท่าไรก็ตุนกันเอาไว้เขาเรียกว่า Delegate พวกรีพับรีกัลก็เช่นกัน ก็เก็บคะแนนกันไป

มวยคู่เอกตอนนี้ก็เป็นคู่ที่ว่า เพราะถึงตอนนี้ นางฮิลลารี่ คลินตัน วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์กและอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐชนะที่รัฐนิวแฮมเชียร์ ถือว่าฮือฮา เพราะฉีกโพลล์กระจุยและนิวแฮมเชียร์เป็นรัฐใหญ่คะแนนแยะ แต่ นาย โอบาม่าที่เคยชนะในรัฐเล็กอย่างไอโอว่าก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ขณะนี้ก็ไปหาเสียงในรัฐนิวเจอร์ซีย์และยังได้รับการต้อนรับอย่างดี



เดือนกุมพาพันธ์ยังมี 20 กว่ารัฐให้เลือกกัน ก็คงเห็นหน้าเห็นหลังกันคราวนั้น แต่อย่างไรก็ตามการที่สื่อและคนอเมริกันจ้องการแข่งไพมารี่โหวตของแดโมแครตกันขนาดหนักอย่างนี้ คงทำให้ฝั่งรีพับรีกัลวิตกไม่น้อย เพราะแสดงว่าคนไม่พอใจการบริหารงานของ นาย บุช อย่างมากจนอยากจะเปลี่ยนอะไรๆเสียที

วันนี้ก็คุยกันแต่พรรค เดโมแครต ก่อน พรรคนี้มีตราพรรคเป็นลาครับ ผมจึงเขียนหัวเรื่องว่า ใครจะได้ขี่ลา พรรคนี้ถ้าแปลเป็นไทยก็ได้ชื่อว่า พรรคประชาธิปปัตย์ ซึ่งผมออกจะชอบมากกว่า รีพับรีกัล เพราะนโยบายจะออกไปทางซ้ายหรือเสรีนิยม (ลองเปรียบเทียบสมัย คลินตัน กับ บุช ดูก็ได้) นโยบายต่างประเทศจะออกไปทางประณีประนอม ไม่ก้าวร้าวเหมือนรีพับรีกัล

พรรคนี้ชนชั้นแรงาน คนผิวสีจะชอบครับ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์จะเป็นคนถือศาสนาคาทอลิก เน้นการให้สิทธิ์เสรีภาพและสวัสดิการต่างๆ และเข้าไปควบคุมทุนใหญ่กับงบประมาณทางการทหารมากกว่ารีพับรีกัล

คงต้องรออีก 2-3 เดือนจึงจะชัดเจน แต่ผมว่า นาง คลินตัน น่าจะชนะ แต่การแข่งขันรุนแรงทำให้ผมเป็นห่วงนิดๆ

จริงๆ มันมีบทเรียนมาแล้ว เมื่อคราวปีที่ นาย ไมเคิล ดูกากิส ชนะ ไพรมารี่โหวต สาธุคุณ แจสซี่ย์ แจ๊คสัน ซึ่งเป็นนักเทศน์ผิวดำนั้น นาย แจ๊คสัน ผู้แพ้ไม่พอใจหลายๆอย่าง จึงไม่ยอมเทคะแนนให้คราวเลือกตั้งใหญ่ ผลก็คือ นาย ดูกากิส ต้องแพ้นาย จอร์จ บุช ผู้พ่อไปแบบขาดลอย

คราวนาย คลินตัน เขาแข่งไพมารี่โหวตกับนาย อัล กอร์ มาก่อนและพอแข่งไปได้ระยะหนึ่งจึงเจรจากันได้ และ นาย กอร์ มาเป็นคู่สมัครในตำแหน่งรอง ปธน.

ถ้านางคลินตัน เจรจากับ โอบาม่าเอามาคู่กันได้ คนที่เซ็งที่สุดก็เห็นจะเป็นผู้ชนะไพมารี่โหวตของรีพับรีกัลล่ะครับ เพราะแทบปิดประตูชนะกันเลยทีเดียว




 

Create Date : 12 มกราคม 2551    
Last Update : 12 มกราคม 2551 12:34:00 น.
Counter : 797 Pageviews.  

เรื่องของคนเขียนบทหนัง

บล๊อคนี้พักท่องเที่ยวก่อนเพราะมีเพื่อนบล๊อค(ตั้ง) 2 คนขอให้ผมบันทึกเรื่องเกี่ยวกับคนเขียนบทหนังในฮอลีวู๊ด อันนี้จากความทรงจำเลยนะครับ

คนเขียนบทในทั่วๆไปแล้วจะแบ่งเป็น 2 ประเภท

แบบแรกเขาเรียก Writing, Screenplay Written Directly for the Screen แปลว่าเป็นคนเขียนบทที่ครีเอทคิดบทออกมาด้วยตนเอง ทั้งพล๊อคเรื่องและตัวละครต่างๆเป็นความคิดริเริ่มของเขาแต่เพียงผู้เดียว(หรือทีมเดียว)

แบบที่สองคือ Writing, Screenplay Based on Material Previously Produced or Published แปลว่าเป็นผู้ที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์มาจากนวนิยายหรือละครเวทีต่างๆ มาเป็นหนังเรื่องหนึ่ง

แต่เดิมรางวัลใหญ่ๆอย่างออสก้าร์หรือลูกโลกทองคำมีเพียงรางวัลเดียวคือบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเพิ่งมาเปลี่ยนเอาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้

ผู้เขียนบทมีอิทธพลมากแค่ไหนในวงการภาพยนตร์เป็นเรื่องพูดยาก เพราะในการขายบทให้ผู้สร้างในฮอลีวู๊ดนั้นมีหลายรูปแบบ บรรดาผู้อำนวยการสร้างต่างๆจะมีทีมงานที่เรียกว่า book editer คือผู้ที่ย่อเอาหนังสือต่างๆที่มีอยู่ในตลาดและมีแววว่าจะเป็นหนังที่นิยมส่งมาให้ผู้อำนวยการสร้างทั้งหลาย หรือทีมการตลาดในสตูดิโอนั้นๆได้วางแผนแล้วว่าหนังรูปใดใด หรือดาราคนไหนเป็นที่นิยม ก็จะว่าจ้างให้นักเขียนบทมาเขียนบทภาพยนตร์ให้ต่อไป

ว่ากันว่า book editer นั้น สามารถย่อหนังสือหนาถึงหลายพันหน้าอย่างพระคัมภีร์ไบเบิ้ลได้เหลือเพียง 2 หน้าเท่านั้น

ถ้าในสองกรณีที่ว่ามานี้ผู้เขียนบทจะไม่ค่อยมีอิทธิพลเท่าไรเพราะถ้าไม่ทำ สตูดิโอสามารถจ้างคนอื่นๆที่ต้องการทำงานซึ่งมีมากมายได้ไม่ยาก อีกอย่างผู้กำกับบางคนก็มีความเชื่อมั่นในทางกำกับของตัวเองสูง และไม่สนใจในฝีมือคนอื่นๆก็มีไม่น้อย



วู๊ดดี้ อัลเลน ไม่เคยให้ใครเขียนบทให้เลย

ผู้กำกับบางคนจึงไม่ยอมให้คนอื่นเขียนบทให้เลย จะกำกับภาพยนตร์จากบทของตนเองเขียนเท่านั้น ยุคเก่าก่อนก็เช่น นาย ชาร์ลี แชปปลิ้น / ปีเตอร์ ฟอนดา หรือ ยุคกลางๆเก่าก็เช่น จอร์จ ลูคัส หรือ วู๊ดดี้ อัลเลน ท่านมุ้ย ส่วนยุคใหม่ๆก็เช่น เอ๊ดเวิทร์ เบรินท์ / เควนติน ทราแรนติโน แต่ในอีกทางผู้กำกับที่เก่งๆหลายๆคนก็ไม่เคยเขียนบทเองเลย ใช้แต่มือเขียนบทที่จ้างเอาเท่านั้น เช่น Alfred Hitchcock / สตีเว่น สปริลเบริกท์ / มาร์ติน สกอร์เซอร์เซ่ / ไมเคิล เบย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้กำกับเหล่านี้(ยกเว้นสปริลเบริก) ก็จะมีมือเขียนบทที่รู้ใจประจำตัวเอาไว้ คอยเขียนบทให้กำกับเรื่อยๆ

แต่ก็มีนักเขียนบทบางคนที่สามารถสร้างบทดีๆได้ด้วยตนเองจนมีชื่อเสียงและสตูดิโอเกรงใจ เช่น ซิลเวอร์เตอร์ สตาโลน ที่เขียนบทหนังอย่าง ร๊อคกี้ จนทำให้ตนเองเป็นดาราค้างฟ้าติดต่อมาจนเกือบ 20 ปี จะว่าไปบรรดาคนเขียนบททั้งหลายต่างก็มุ่งหมายที่จะได้เป็นผู้กำกับกันทั้งนั้น แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็อีกเรื่อง เช่น นาย Kevin Williamson ผู้เขียนบทเรื่อง scream ที่พอกำกับหนังเองก็แทบจะหมดอนาคตในวงการเลยทีเดียว หรือนักเขียนบางคนอย่าง สไปท์ จอนห์ ( being john malcovic / adaptation ) ก็ไม่ยอมกำกับเลย เขียนแต่บทเพียงอย่างเดียวก็โด่งดัง

ปรกตินักเขียนบทจะมีรายได้จากค่าบท บางคนที่มีชื่อเสียงสตูดิโอก็จะจ่ายค่าจ้างไปก่อนเลย โดยที่ไม่ต้องดูบท ที่ฮือฮามากๆก็เช่น ราว 15 ปีก่อนที่นาย เชน เบล๊ค ที่เพิ่งประสบความสำเร็จจาก Lethal Weapon (ริกส์ คนมหากาฬ) ทั้ง 3 ภาคสตูดิโอจึงยอมจ่ายเงินถึง 3.75 ล้านเหรียญ สำหรับบทหนังอย่าง the long kiss goodnight (ซึ่งล้มกระจุย) ที่ตอนจ่ายเขายังไม่ได้เขียนเลยซักตัว



นาย เชน แบล๊ค เคยครองตำแหน่งนักเขียนบทค่าตัวสูงสุดคือ 3.75 ล้าน / เรื่อง

แต่บางคนที่ยังไม่มีชื่อเสียงก็ต้องดิ้นรนเอามาก กว่าผลงานที่ตัวเองเขียนจะมีโอกาสได้สร้างเป็นภาพยนตร์ ผลประโยชน์พวกเขานอกจากค่าบท บางคนอาจขอถือลิขสิทธิ์ไว้ในกรณีทำภาคต่อ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการซื้อขาดจากสตูดิโอ จะได้สตางค์เพิ่มก็เมื่อหนังทำรายได้ไปถึงระดับหนึ่งเท่านั้น (เช่นถ้าได้ 100 ล้านเหรียญ เจ้าของบทได้อีก 1 เปอร์เซ็นต์)

การประท้วงในครั้งหมายถึงอะไร

เท่าที่ทราบ พวกเขาขอลิขสิทธิ์ในการนำภาพยนตร์ไปหารายได้ทางอื่นๆ เช่น ดีวีดี หรือ ขายทางเคเบิลทีวี อินเตอร์เนต เป็นต้น จาก 4 เซนต์เป็น 8 เซนต์ ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่และเราต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะทุกวันนี้ค่ารายได้จากการขายและให้เช่าแผ่นดีวีดีสูงมาก จนเกือบจะได้ครึ่งส่วนหรือมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะค่าแผ่นหนังบางเรื่องถูกกว่าตั๋วหนังเสียอีก พอตลาดพวกนี้โตมากขึ้น พวกเขาก็ย่อมจะเรียกร้องผลตอบแทนในอีกทาง นอกจากที่กล่าวไปแล้วเรื่องรายได้อื่นๆ
จริงๆเรื่องนี้มันก็มีช่องทางไว้ คราวที่ จอร์จ ลูคัส เขียนบทเรื่อง สตาร์วอร์เสร็จ ข้อเสนอหนึ่งของเขาต่อสตูดิโอ คือเขาขอลดค่าบทภาพยนตร์และค่ากำกับลดลงไปอีกเท่าตัว แต่ขอเอาลิขสิทธิ์ภาคต่อและตัวละครทั้งหมดไว้

ก็เรียกว่าแทงหวยถูก เพราะจนทุกวันนี้สตาร์วอร์กลายเป็นขุมทรัพย์ที่ลูคัสและลูกหลานน่ะ อย่าว่ากินกันแต่ชาตินี้เลย กินไปอีกกี่สิบชาติก็ไม่หมด

สำหรับผมคนเขียนบทจะว่าไปก็เหมือนคนออกแบบบ้าน บางคนออกแบบตามใจคนจ้าง บางคนออกแบบตามใจตัวเองแล้วเอาไปขาย บางคนที่อารมณ์ศิลปินมากหน่อย ใครไปแก้แบบก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยทีเดียว แต่เอาเข้าจริงๆสิทธิ์ขาดมักจะอยู่ที่ผู้อำนวยการสร้าง รองมาก็ผู้กำกับ รองมาอีกก็ดารานำ(ที่มักจะแก้บทโดยพละการบ่อยๆ เพราะมักคิดไปเองว่าจะทำให้ตัวเองดูดีกว่า) นักเขียนบทพอขายเรื่องไปแล้ว ก็หมดสิทธิ์จะทำอะไรไปเลยทีเดียว

เท่าที่ผมดูนะเพื่อนทั้งสอง - ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร - เพราะสมาคมนักเขียนบทภาพยนตร์ของสหรัฐหรือไรต์เตอร์สกิลด์ ออฟ อเมริกา ที่ประท้วงย่อมทำได้ตามเสรีภาพ และนักเขียนส่วนใหญ่ก็อยู่ในสมาคม คงจะร่วมมือร่วมใจเรียกร้องเอารายได้ที่พวกเขาสมควรได้รับเอามาได้

ในอดีตเคยมีมาแล้วในปี ในปี 2531 ซึ่งนานถึง 22 สัปดาห์ มีผลเสียหายแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 17,000 ล้านบาท คิดว่าคราวนี้บรรดาสตูดิโอคงไม่ปล่อยให้เสียหายมากมายขนาดนั้น น่าจะสรุปได้เร็วๆนี้เองครับ




 

Create Date : 09 มกราคม 2551    
Last Update : 9 มกราคม 2551 12:12:07 น.
Counter : 1173 Pageviews.  

เดินถนน......และรอยยิ้มของคนเวียดนาม

ผมชอบเดินเล่นตามถนนสายต่างๆในเวลาไปเยือนต่างถิ่น

ผมรู้สึกว่าชีวิตบนท้องถนน ริมถนน ข้างทางเดิน สามรถบอกอะไรเราได้หลายๆอย่าง ริมถนนของแต่ละเมือง แต่ละประเทศ ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็น แต่ละคนที่เดินผ่าน แต่ละงานที่เลี้ยงชีพโดยอาศัยถนนเป็นแหล่งที่มั่น ผมคิดว่าถ้าเรามองไปที่พวกเขาให้ละเอียด จะเห็นว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นในอนาคตมากน้อยเพียงใด พวกเขาเข้มแข็งหรือไม่ กระทั่งชีวิตพวกเขาตอนนี้มีความสุขมากน้อยเพียงใด

ริมถนนของคนเวียดนาม ท่ามกลางนครหลวงฮานอย เมืองที่ถนนสายเล็กๆ สามารถเดินเล่นไปได้ไกลๆ - ผมเห็นความรีบเร่งของชีวิต พวกเขาเดินเร็ว ตักอาหารเร็ว กินอาหารเร็ว พูดจากันเร็ว ขับรถเร่งร้อนอยู่ในที แต่มีชีวิตชีวากันอย่างเต็มที่ ความอ้อยอิ่งข้างทางตามแผงขายอาหารต่างๆยามเย็น แต่ถ้าเป็นจังหวะการทำงานละก้อรีบมาก...

ชีวิตข้างทางบอกผมได้หลายๆอย่าง

มีหลายๆเพลงที่ผมชอบ ได้ให้ท้องถนนเป็นฉากหลัง เพลง street of dreams ของริชชี่ แบล๊คมอร์ บอกถึงถนนในความฝันของเขาถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า - Will we ever meet again my friend - Do you know just what it meand to be - On the street of dreams ฮานอยก็เช่นกัน



ผมเองค้นหามิตรภาพเพียงจากรอยยิ้มของชาวเวียดนามริมถนนแห่งกรุงฮานอย ซึ่งผมก็ได้รับอย่างน่ายินดี ทั้งของเด็กชาย



เด็กหญิงทั้ง 3 ดูจะเป็นเพื่อนรักกัน คุยภาษามือกับผมนานพอดู



รอยยิ้มของสาวเวียดนามในชุดประจำชาติของพวกเขา ทั้งคู่เดินเล่นอยู่ริมทะเลสาป เมื่อผมขอถ่ายรูปเก็บไว้ก็ทั้งสองก็ยิ้มอย่างเต็มใจ (มีรูปถ่ายคู่กับเธอทั้งสองด้วยนะ อิอิ )

ผมหวังจะได้เจอรอยยิ้มแบบนี้อีก ถ้าผมกลับไปฮานอยอีกครั้ง...




บอง โจวี่ บอกว่าท้องถนนบางแห่งมันก็ป่าเถื่อนอย่างมีเสน่ห์ในเพลง wild in the streets ว่าSometimes this town ain't pretty But you know it ain't so bad ซึ่งเหมาะกับการจราจรของกรุงฮานอยมาก มันดูวุ่นวายก็จริง แต่ไม่แย่ขนาดนั้นหรอกครับ - พวกผมเองครั้งแรกที่จะข้ามก็ลังเลอยู่พอสมควร ยืนคิดอยู่ว่ามันจะคุ้มค่ากับการเสี่ยงชีวิตเพื่อข้ามไปดูอะไรฝั่งโน้นไหมนี่ แต่แล้วก็มีหนุ่มชาวเวียดนามคนหนึ่ง เดินมายืนข้างๆ ผมก็ดีใจมากหันไปมองด้วยแววตาขอความช่วยเหลือเต็มที่ พี่แกก็เข้าใจแฮะ พยักหน้าพูดออกมาสั้นๆ - follow me - (สงสัยเจอแบบนี้บ่อย) ยังไม่ทันได้เอ่ยขอบคุณ พี่แกก็เดินนำทันที

และผมก็ได้เรียนรู้ว่า คุณก็แค่เดินมันลงไปบนถนนเท่านั้นเอง รถมันจะหลบให้คุณคือเดินไปดื้อๆงั้นแหละอย่าได้กลัวล่ะครับ ตั้งแต่นั้นก็ข้ามถนนเล่นกันสนุก ต้องขอขอบคุณพี่คนนั้นไว้ในที่นี้ด้วย



ฮานอยหาปั้มน้ำมันได้ยากเท่าที่ผมสังเกตทั้งที่ มอร์ไซด์ก็แยะ จึงมีปั้มกระเป๋าหิ้วแบบนี้อยู่ริมข้างทางด้วย



ริมถนนของคนค้าขาย เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นเมืองจักรยานอยู่แล้ว พวกเขาใช้ประโยชน์จากรถจักรยานเป็นรถสินค้าได้อย่างดีขนาดไหน ก็ขอให้ดูรูปนี้เอง ผมดูแล้วก็รู้สึกทั้งนับถือและเห็นใจทั้งสองอย่างปนกันไป



ร้านอาหารข้างทางของชาวเวียดนามมีแบบนี้ทั่วไปหมด นั่งกินกันตรงฟุตบาทกันนั้นเอง ถึงขนาดเอาอ่างใส่ปูใส่กุ้งมาก็มาก กรุงฮานอยเทศกิจคงจะใจดี หรือไม่ก็ยังไม่มีกฎห้าม ผมเห็นแผงเหล่านี้ก็อดน้ำลายไหลไม่ได้ เบียร์ที่โน่น เหยือกใหญ่อย่างในภาพ ราคาราวๆ 3000 ดองเท่านั้น ( 7 บาท!!! ) เพื่อนๆผมเลยล่อกันคนละแก้ว ครึ่งแก้ว ชมเชยกันว่ารสชาตินุ่มนวลดีไม่น้อย

แผงเหล่านี้ไม่เห็นจะมีปลา คงจะเป็นเพราะว่าปลาน่ะวิธีการทำยาก ต้องควักท้อง ผ่าท้อง แต่ หอย ปู กุ้ง เหล่านี้แค่จับโยนๆลงน้ำเดือดก็เป็นอันเรียบร้อย จิ้มน้ำจิ้มกินกันได้เลยทีเดียว

พวกผมเดินไปเรื่อยๆ ดึกแล้ว แต่ก็ไม่อยากหยุด - แต่บล๊อคนี้ก็ดูจะยาวเกินไป เห็นควรจะพอเสียที คราวหน้าค่อยๆคิดใหม่ว่ามีอะไรอยากเล่าให้เพื่อนๆฟังอีก

เรื่องสุดท้ายของบล๊อคนี้ที่ผมจะบันทึกไว้คือ ผมเดินไปเห็นอนุสาวรีย์ของใครสักคน เมื่อแรกเห็นผมก็ออกจะแปลกใจ เพราะเวียดนามเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และอนุสาวรีย์นี้จะต้องเป็นชนชั้นฮ่องเต้อย่างแน่นอน ซึ่งก็แปลกอยู่ ดูๆแล้วก็เพิ่งสร้างใหม่ ไม่ใช่ของเก่าแก่ จึงถามไกด์เมื่อกลับไปเจอกันในที่พักแล้ว

ลุงธงชัยบอกว่าเป็นอนุสาวรีย์ของพระเจ้าไล้ ไถ้ โต่ว แห่งราชวงศ์หลี่ เมื่อพันปีก่อนทรงประสาทเมืองฮานอยนี้ให้เป็นเมืองหลวง สร้างเมื่อ 3 ปีก่อนเพื่อแสดงความเคารพในฐานะผู้สร้างเมือง - ผมเองได้ยินเข้าก็อดนับถือในความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามเสียไม่ได้

อย่างไรก็ตาม - ทุกวันนี้ ลานหน้าอนุสารีย์ของพระองค์กลับกลายเป็นสนามของบรรดาเด็กวัยรุ่นทั้งหลาย เอาวิทยุเทปมาเปิดเพลงฮิปฮอปและเต้นแร๊ป ตีลังกากันต่างๆนานา ดูๆไปก็ไม่มีใครห้ามปราม บรรดาทหารที่เฝ้าตรวจตราก็มองๆแล้วก็ส่ายหัวอย่างปลงๆเพียงเท่านั้น



ผมกำลังยืนมองดูท่ามกลางเพลงดังลั่นทั่วลาน - ดูดูไปก็อดจะเห็นพระทัยพระองค์ไม่ได้ ที่ต้องทรงทอดพระเนตรเห็นเด็กเวียดนามรุ่นหลังๆมาแต่งกายแปลกๆ เต้นเป็นแร้งเป็นกา ต่อหน้าพระพักษร์อยู่แทบจะทุกวันอย่างนี้ ก็คงจะลำบากพระทัยอยู่มากทีเดียว จะทรงทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะกลายเป็นแค่รูปเคารพเสียแล้ว

เรื่องนี้จะมองเป็นสัจธรรมก็ได้อยู่ พระเจ้า ไล้ ไถ้ โต่ว เมื่อครั้งยังมีพระชมม์ชีพก็ย่อมจะเปี่ยมไปด้วยพระราชอำนาจ แค่เสด็จผ่านผู้คนคงรีบก้มกราบ แต่เมื่อสิ้นบุญไปแล้ว ถึงจะถูกจับมาตั้งเป็นอนุสาวรีย์ ความยำเกรงในพระราชอำนาจนั้นก็หมดสิ้นไป เด็กไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงบางคนจะมากระโดดโลดเต้นก็ไม่ได้เกรงพระราชหฤทัยอะไรเลย


ริมถนนของคนเวียดนาม

พวกเขามีเด็กๆรุ่นใหม่ที่มองไปแต่อนาคตและเห็นความยิ่งใหญ่อดีตเป็นแค่รุปปั้น
มีผู้คนที่ดิ้นรนต่อสู้กับชีวิตไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน มีชายชราที่น่าจะใช้ชีวิตได้สบายกว่านี้ มีผู้คนหนุ่มสาวที่ค่อนข้างเชื่อว่าพวกเขามีความมั่นคง - จะว่าต่างจากถนนในกรุงเทพก็มาก แต่ที่เหมือนกันก็ไม่น้อย

วันนั้นผมเดินไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง นั่งพักบ้าง แล้วก็เดินต่อ และตลอดทั้ง 4 วันที่เมืองนี้ ยังมีเรื่องอีกมากไว้บันทึกในครั้งต่อไป....(รวมทั้งโบสต์คริสต์ วัดพุทธ อีกด้วยคร้าบ)




 

Create Date : 25 ธันวาคม 2550    
Last Update : 27 ธันวาคม 2550 9:56:00 น.
Counter : 2470 Pageviews.  

เวียดนาม.....ตามใจผม

มีเพื่อนบล๊อคหลายคนทราบแล้วว่าผมไปเที่ยวเวียดนามมา และถามหารูปภาพกันใหญ่

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้เดินทางไปเวียดนาม ดินแดนที่ผมอยากไปเยือนมาตลอดชีวิต



ภาพแรกจากสายตาผมบนเครื่องครับ ประเทศที่ผมสนใจนับแต่ได้ดูหนังและฟังเพลงเกี่ยวกับสงครามของดินแดนนี้ เริ่มจาก Good morning Vietnam ไปจนถึง Havean and Erath เริ่มจากบทเพลงอย่าง have you vere seen the rain จนถึง Civil War

ผมเดินทางถึงกรุงฮานอยประเทศเวียดนามเวียดนามบ่ายแก่ๆ ยังไม่ทันจะได้ดูอะไรในเมืองหลวงนัก ก็ต้องเดินทางไปเมืองฮาลอง พวกเราจะค้างแรมที่นั้นหนึ่งคืน เพื่อยามเช้าจะได้ล่องเรือดูอ่าวที่ชื่อแปลว่ามังกร และปัจจุบันถูกนับถือว่าเป็นมรดกโลกนี้ให้ทั่วถึง

การเดินทางไปสู่เมืองฮาลอง ต้องนั่งรถไปกัน ระยะทาง 170 กม. ผมประมาณการว่าอย่างช้าราว 3 ชม.ก็น่าจะถึง แต่พอผู้นำทางท้องถิ่นบอกว่าราวๆ 4 ชม. ผมก็สงสัยยิ่งนัก

"ถนนมันไม่ดีหรือครับ" ผมถาม - "เปล่าครับ ลาดยางตลอด" ลุงธงชัย (ชื่อไทยไกด์ท่องถิ่น อดีตทหารเวียดนามเหนือ อายุ 50 เศษๆ ใจดีมาก) ตอบนิ่มๆ

"งั้นทางก็คงคดเคี้ยว เลี้ยวลด" เพื่อนอีกคนเสนอความความเห็น "เปล่าครับ ทางก็ตรงดี" แกกระชุ่นตอบ

"ประเทศนี้ จำกัดความเร็วใช่ไหม" เจ้าอีกคนเสนอความคิดอย่างที่คิดว่าฉลาดที่สุดแล้ว "เปล่าครับ ขับได้เร็วตามสบาย ไม่ห้าม" ซุปเปอร์ไกด์ของผมยังตอบอย่างสุขุม

"รู้แล้ว เขาปิดเวลาเข้า / ออกเมือง!!!" - ความเห็นนี้สุดท้ายนี่น่านับถือกันจริงๆ - แต่คุณลุงแกยังรักษามารยาทไม่หัวเราะออกมา แต่คงปลงในความคิดของหนุ่มไทยกลุ่มนี้ไม่น้อย "ไม่ใช่ครับ พวกคุณนั่งๆกันไปก็รู้เอง" แกรีบตัดบทก่อนจะเจอความเห็นประหลาดๆโผล่ออกมาอีก

พอรถเดินทางจริงๆผมก็รับทราบว่ามิน่าถึงไม่อาจทำเวลาได้ - ก็บรรดารถราในเวียดนามนี่ ขับกันได้อย่างถึงใจพระเดชพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะพวกรถจักรยาน และจักรยานยนต์ - พี่ท่านทั้งหลายขี่กันปาดกันอย่างธรรมดามาก วูบไปวาบมา เดี๋ยวก็กินเลน / ขับจี้ / ปาดหลัง/ แซงข้าง ชนิดว่าถ้าคุณอยากเห็นการขับรถแบบวัดใจในรูปแบบใดใดก็ตาม ผมก็ขอให้มาดูที่ท้องถนนในเวียดนามนี่ก็แล้วกันเถิด รับรองจะได้เห็นอย่างแน่นอน - รถยนต์จึงไม่อาจขับได้เร็วเกิน 60 กม. / ชม ไปได้เลย

ผมเองก็มีแต่ความนับถือจิตใจของชาวเวียดนามในวัฒนธรรมการขับรถเยี่ยงนี้ เพราะมันกลายเป็นข้อตกลงกันเองไปโดยปริยายว่า รถยนต์ใหญ่ๆน่ะ ต้องขับให้ช้าๆเข้าไว้ ไม่เช่นนั้นถ้าเกิดอุบัติเหตุก็จะเจ็บตัวกันขนาดหนัก และพวกเขาก็มีขันติธรรมกันสูง ใครจะปาด จะเบียดกัน ผมก็ไม่เห็นการตะโกนด่าทอใดใดทั้งสิ้น พอได้ยินเสียงแตรขอทางก็ดูจะหลบให้กันแต่โดยดี พวกรถยนต์ก็ขับอย่างช้าแม้จะไม่สุภาพเท่าไร

ลุงธงชัยแกบอกว่าในเวียดนามนี่ ถ้าให้เลือกเอารถไม่มีแตรกับไม่มีเบรก พวกเขายินดีจะเอาคันที่ไม่มีเบรกมากกว่า ผมเองงี้เชื่อสนิท เพราะตลอดเวลาผมได้ยินแต่เสียงแตรขอทาง และก็ไม่เห็นใครเหยียบเบรกอย่างจริงๆจังๆ เลยทีเดียว



มาถึงเวียดนามเอาก็เกือบสองทุ่ม หาอะไรใส่ท้องแล้วก็เข้าโรงแรม พวกผมพักที่ Halong Dream อยู่ริมอ่าวพอดี ผมพักชั้นที่ 15 มองออกไปเห็นอ่าวยามค่ำ แต่ยังหัวค่ำอยู่มากจึงเดินชมเมืองกันใหญ่ เริ่มจากตลาดกลางคืนก่อนแล้วเดินเข้าเมืองไปเรื่อยๆ

ฮาลองเดิมเป็นอ่าวติดภูเขา ไม่มีพื้นที่ราบเลย เมื่อก่อนใครจะมาเที่ยวก็เดินขึ้นเนินไปพักบ้านแถวริมเขา ที่ราบข้างอ่าวปัจจุบันนี้เป็นการถมทะเลออกไปทั้งสิ้น จึงได้ที่พอจะทำถนนกว้างๆและปลูกโรงแรมดีๆ ผมเองรู้เข้าก็เสียดายที่มาช้าไป พักที่กระท่อมริมเขาน่าจะสนุกกว่าโรงแรมใหญ่ๆแน่ๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เสียแล้ว



โรงแรมที่ดูแปลกตาอีกแบบคือโรงแรมแบบห้องแถว ผมนับได้ 7 โรงแรมเรียงกันครับ 1 ห้องแถว หนึ่งโรงแรม ดูก็น่าสบายดีอยู่ สนนราคาก็ไม่แพงแค่ประมาณ 12- 15 ดอลล่าร์เท่านั้น ผมเองก็ตั้งใจว่าคราวหน้าถ้ามาเองลำพัง คงจะมาพักที่แบบนี้แหละ ทางเดินตามบ้านที่เป็นใหล่เขา เรียงรายกันไปอย่างเมืองเก่าเท่านั้นที่จะมีได้ ผมเดินเล่นไต่ขึ้นไปถึงยอดก้อมีแต่ความเงียบสงบ บ้านเรียงรายไปจนถึงยอดเขาเลยทีเดียว

ตลอดตามรายทางผมจะเห็นแผงขายอาหารแบบนี้เรียงรายทั่วไปหมด คงคล้ายๆกับแผงโต้รุ่งบ้านเรา ชั่วแต่ว่าของเขาน่ะ นั่งเก้าอี้เป็นตั่งเล็กๆแทนโต๊ะ เก้าอี้สูงๆอย่างบ้านเรา - เกือบทุกแผงจะเป็นอาหารประเภทต้มซุป มีเนื้อต่างๆ เครื่องใน และผักสด วางบนน้ำแข็ง ให้เลือกเอากันตามใจชอบ บางคนก็กินกับข้าวสวยก็มี นั่งดื่มเหล้าเบียร์เอาเป็นกับแกล้มก็มี ดูท่าทางทุกคนก็สุขใจกันดี ผมเห็นก็ชอบใจนัก - เพราะการที่คนเราหากทำงานมาตลอดวัน ช่วงเย็นๆถึงค่ำหากมีที่ให้ได้นั่งพักผ่อน พูดคุยกับเพื่อนฝูง มีสุราอาหารราคาไม่แพง ได้ดื่มกินคุยเล่นกัน ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ควรจะพอใจอยู่มาก ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไรเลย



เช้าอีกวันผมจะได้ไปล่องอ่าวฮาลอง (ภาพจากห้องพักในโรงแรมครับ) แต่เมื่อคืนกว่าจะนอนกันก็ดึกโข เพราะพอกลับโรงแรมมีคนไทยกลุ่มหนึ่ง รอรถจากบ่อนคาสิโนจะมารับไปเล่น หนึ่งในนั้นชวนผมให้ลองไปด้วยกัน ผมกับเพื่อนอีกคนก็เห็นตรงกันว่า ไหนๆก็มาถึงนี่แล้ว ก็ควรเปิดหูเปิดตากันให้มากที่สุด จึงติดรถไปกับเขาด้วย (รายละเอียดไว้จะเล่าให้ฟังคราวหลัง) กว่าจะกลับก็เที่ยงคืนเศษ



ผมอยุ่กลางทางก่อนถึงอาลอง กับสัญญาณจารจรที่ผมก้อไม่เข้าใจความหมาย




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2550    
Last Update : 20 ธันวาคม 2550 10:57:19 น.
Counter : 982 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

mr.cozy
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Is everybody in? Is everybody in?
The ceremony is about to begin
Friends' blogs
[Add mr.cozy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.