หนัง เพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน และการเมืองด้วยครับ
Group Blog
 
All Blogs
 

The Last Supper - มื้อสุดท้าย ก่อนกลายเป็นศพ!!!!

ตกลงว่าตอนนี้นักการเมืองที่อ้างว่า"ซ้าย"ในประเทศเราคงเข้าไปอยู่กับพวก"ขวา"จนหมดสิ้นแล้ว



The Last Supper - เป็นหนังเล็กๆที่ผมชอบมากเรื่องหนึ่ง เนื้อหาของหนังออกในเชิงตลกร้าย เสียดสีสังคมโดยเฉพาะการวิพากษ์พวกเสรีนิยมกับพวกอนุรักษ์นิยมได้อย่างถึงใจ


เนื้อหาพูดถึง หนุ่มสาว "ซ้ายใหม่"กลุ่มหนึ่งทั้งหมด 5 คน ได้แก่ ลู๊ค มาร์ค พีท (มาจากปีเตอร์) พอลลี่ จู๊ด – ชื่อล้อสาวกในมื้อสุดท้ายของพระเยซูแบบตรงๆ - ทั้งหมดเป็นนักศึกษาป.โท พวกเขาเช่าบ้านอยู่ด้วยกันว่างๆก็นั่งวิจารญ์สังคม การเมืองไปตามเรื่อง วันหนึ่ง มาร์ค ได้พา แซค ( บิล แพ๊คซ์ตัน - รับเชิญมาเล่น ) คนขับรถบรรทุกที่ช่วยมาส่งเขาที่บ้าน มาร่วมมื้อเย็น หลังจากทั้งหมดถกเถียงกันเรื่องสงครามที่แซคได้เข้าร่วมรบ เขาบันดาลโทสะทำร้ายพีท ทั้งหมดเลยรุมฆ่าแซคทิ้งซะ

ที่สำคัญคือคืนนั้นเป็นแค่ศพแรกในความคิดพิลึกพิลั่นของพวกเสรีนิยมกลุ่มนี้

หนังเสียดสีอย่างจงใจว่าพวกซ้ายที่เหลือและใหม่ๆในปัจจุบันนอกจากวันๆไม่คิดจะทำอะไรนอกจากเอาแต่พูดแล้ว พอเวลาจะทำอะไรจริงๆขึ้นมาก็วุ่นวายและรุนแรงเกินกว่าเหตุ แถมยังไม่สามัคคีกันเท่าที่ควร ทั้งมีแค่ 5 คนยังเถียงกันไม่จบ - เขาถึงกับให้ พอลลี่ บอกว่า"ก็พวกเราเอาแต่ทะเลาะกันอย่างนี้ พวกขวามันถึงได้ครองประเทศ"


ถ้าเราเจอฮิตเลอร์ตอนปี 1916 เขายังเป็นนักเรียนศิลป เรารู้ว่าเขาจะกลายเป็นปีศาจ เราควจะฆ่าเขาเสียก่อนไหม - ลู๊คถามทุกคนแบบนี้ และนี้คือวิธีการที่พวกเขาเลือกจะจัดการกับพวกขวาจัด ฆ่าเสียก่อนจะดีกว่า!!!

ผมก็เห็นด้วยกับพวกเขาว่าทุกวันนี้โลกอยู่ในมือพวกขวา กลุ่มทุน หัวอนุรักษ์นิยม ครองเศรษฐกิจ สื่อ และการเมืองส่วนใหญ่ ในหน้าหนังสือ ทีวี ยากนักที่กลุ่มเสรีนิยมจะมีพื้นที่ คนส่วนใหญ่ก็ได้รับแต่ทัศนคติในแง่ที่ว่า ประเพณีเก่าต้องปฎิบัติ อำนาจรัฐคือความถูกต้อง


แต่พวกเขาเลือกวิธีที่จะผสมเหล้าไว้ 2 ขวด เชิญพวกขวามากินมื้อค่ำ ถ้าใครพูดไม่ถูกหูก็ฆ่าเสียด้วยยาพิษในขวดที่เลือก


บาทหลวงหัวโบราณ "พวกเกย์น่ะเป็นเชื้อโรค โรคเอดส์คือยารักษา พวกนี้สมควรตาย"

นายทุนโชคร้าย "พวกเอ็นจีโอน่ะ ปัญญาจะซื้อบ้านก็ไม่มี ยังมาห่วงภาวะเรือนกระจก"

ครูคนหนึ่ง "พวกข่มขืนน่ะเลวก็จริง แต่ตัวผู้หญิงก็ต้องระวัง อย่าลืมว่าผู้ชายน่ะเป็นใหญ่ เราคือผู้นำ พวกผู้หญิงน่ะ เป็นได้แค่ผู้ตามเท่านั้น"

แซค ทหารเก่า “พวกเราน่ะรบเพื่อชาติ พวกเสรีนิยมน่ะ ดีแต่พูด ถึงเวลาก็วิ่งหนีหมด”

ตายหมดครับพวกนี้ รวมแล้วประมาณ 9 ศพที่พอพูดประโยคเด็ด ก็เสร็จซ้ายใหม่พวกนี้ทันที

ทั้งนี้หนังมีบทสนทนาที่ชาญฉลาด และล้อเลียนกับตั้งคำถามได้สนุก ดูกี่รอบก็เจออะไรใหม่เสมอๆ


ในประเทศเราตอนนี้ทัศนคติเอียงไปทางขวาเป็นใหญ่ ฝ่ายซ้ายพอเข้าการเมืองก็อ้างว่าต้องยอมๆบ้างเพื่อจะได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง หลายปีมานีคงพอจะเห็นละมั้งว่านักการเมือง"ซ้ายเก่า"ทำตัวน่าสมเพศกว่าพวกขวาบางคนเสียอีก หนักเข้าตอนนี้ก็ยอมผสมพันธ์จนแทบไม่เหลืออะไรให้ได้หวังกันอีกต่อไป



Cameron Diaz กับ Jonathan Penner เล่นเป็น พีท นักศึกษาท่าทางเรียบร้อย แต่โหดลึกๆ

หนังออกฉายในปี 1995 กำกับโดย สเตซี่ ไทเทิ้ล (Stacy Title) หนังได้ดาราอย่าง คาเมรอน ดิอ๊าซ (Cameron Diaz) มาเป็นตัวชูโรงเล่นบทจู๊ดที่ดูจะไม่เห็นด้วยกับเพื่อนๆนักแต่ก็ตามแห่ไป ส่วนคนอื่นๆไม่ได้คุ้นหน้าเท่าไร นอกจากดารารับเชิญอย่าง บิล แพ๊คซ์ตัน กับ รอน เพอร์แมน


บทสรุปของหนังอยู่ที่ท้ายเรื่อง นอร์แมน นักเขียนหัวเอียงขวาที่มักมีข้อแก้ตัวมาทำให้ฝ่ายซ้ายอึ้งกันเสมอ "ผมเองก็เข้าใจนะว่าเราแย่งดินแดนนี้มาจากพวกอินเดียแดง พวกเราไล่ฆ่าพวกเขา แต่ถามหน่อยว่าพวกเขาจะทำให้ดินแดนนี้ยิ่งใหญ่อย่างเราได้ไหมล่ะ?"


พวกเขาเชิญ นอร์แมน มากินมื้อค่ำและยิงคำถามต่างๆนานา จนสุดท้ายก็ต้องไปปรึกษากันว่าจะเอายังไงดี - จนถึงบทสรุปที่ทั้งตลกร้ายและเสียดสีกินใจดีชะมัด

เอาเข้าจริงๆ หนังก็บอกว่าฝ่ายขวาน่ะ เขาแค่นิ่งๆและรอจังหวะมีความสามัคคีและเป็นรูปแบบสูงในขณะที่ฝ่ายซ้ายเอาแต่ทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกันซักที นอกจากนี้ยังหาหลักปฎิบัติจริงๆแทบไม่ได้จนเสียแนวร่วมไปหมดในปัจจุบันนี้ และดูให้ดีๆ"ซ้ายใหม่"เดี๋ยวนี้ไม่ว่าที่ไหน ถ้าไม่สยบให้กลุ่มทุนก็ต้องยุ่งกับการเมือง หา"ของจริง"ยากเต็มทน ทำเอาผมก็ยังสับสนอยู่ว่าตกลงจะทำไงดี

แต่ดูหนังแล้วก็สะใจเล็กๆนะครับ สู้ไม่ได้ วางยาซะเลย !!!




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2550    
Last Update : 22 ตุลาคม 2550 11:01:35 น.
Counter : 1346 Pageviews.  

the Ugly American - อเมริกันอันตราย...

ข่าวเรื่องของอเมริกาในสงครามตะวันออกกลางทำให้ผมรู้สึกว่า รัฐบาลอเมริกันนี่มันเฮงซวยไม่เปลี่ยนเลยจริงๆ



ใบปิดหนังยุคนั้นสวยดีครับ เห็นฉากวัดพระแก้วด้วย

the Ugly American - สร้างเมื่อปี 1963 ในยุคสงครามเย็นที่โลกจับตามองมายังประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากหลายๆประเทศแพ้แก่ขบวนการคอมมิวนิสต์ อเมริกาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อจะคานอำนาจทางการเมืองไว้ ทั้งนี้ก็รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศแถบนั้น ทั้งทางลับและเปิดเผย

หนังพาเราไปรู้จักประเทศสมมุติชื่อ"สารขัณฑ์"การเดินเรื่องผ่านมุมมองของเอกอัคราชทูตคนใหม่คือนาย แม๊คไกวร์ - Marlon Brando ทำให้คนดูรู้จักประเทศนี้ไปพร้อมๆกัน ข้อมูลพื้นฐานคือ สารขัณฑ์ เป็นประเทศที่ล่อแหลมอย่างมากที่จะถูกคอมมิวนิสต์ยึดครอง อเมริกาจึงเข้ามาจัดการหลายๆอย่าง เช่น การสร้าง"ถนนเสรีภาพ" - freedom road และสนับสนุนนายกฯเผด็จการอย่าง กวน ไสย - อ.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมี ดียอง - Eiji Okada เป็นผู้นำประชาชนที่ต้องการให้สารขัณฑ์พ้นทางการแทรกแซงจากต่างประเทศ ต่อต้านการสร้างถนน และเรียกร้องการมีรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว - แมคไกวร์ และ ดียอง เคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาครั้งสงครามโลก

ถ้าดูๆแล้ว ยุค 60 อเมริกาวุ่นวายแถวๆ south east asia ยุค 70 ไปตะวันออกกลาง ยุค 80 ยุโรปตะวันออกเอาจนคอมมิวนิสต์หมดเกลี้ยง ยุค 90 จนมาถึงตอนนี้ก็กะเล่นจีนกับตะวันออกกลางให้ราบคาบ

ยอร์ช อิงค์ลันน์ - Grorge Englund คือผู้กำกับ หนังเดินเรื่องกลางๆ มาร์ลอน บรันโด แสดงให้เราเห็นถึงความหัวแข็งในคราวแรกที่ยังยืนหยัดนโยบายของประเทศจนแตกคอกับดียอง "ถ้าเราจะต้องสนับสนุนเผด็จการเพื่อต้านคอมมิวนิสต์ เราก็จะทำ" เขาประกาศลั่น เช่นเดียวกับดียอง ผู้ซึ่งยืนหยัดในอุดมการณ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เป็นตัวอย่างของผู้ไม่ประณีประนอมเท่าที่ควร เขาต่อต้านทุกอย่างๆที่อเมริกามาแทรกแซง ยอมแม้กระทั้งรับอาวุธจากคอมมิวนิสต์ จนถูกหลอกใช้ ซึ่งกว่าจะคิดได้ทุกอย่างก็เกือบจะสายเกินไป

ผมว่าทั้งเรื่อง นายกรัฐมนตรี กวน ไสย ดูจะเข้าใจสถานการณ์โดยรวมทั้งหมดดีที่สุด เขาไม่ได้อ่อนตามอเมริกาเสียทั้งหมด พยายามให้สารขัณฑ์เป็นตัวของตัวเองพอสมควร เขาเข้าใจดียองดีถึงขั้นเตรียมร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนพร้อมจะเลือกตั้งหรือยัง เมื่อถูกแมคไกวร์ต่อว่าเรื่องรวบอำนาจ "ทีคุณยังให้น้องชายเป็น ผบ.ทหาร ให้ญาติคุมมหาดไทย" เขาก็ย้อนเอาได้อย่างถึงใจ "แล้วผมก็จะให้แม่ยายเป็นอธิบดีกรมตำรวจหากเธอมีคุณสมบัติ รู้ไหม..บางทีผมว่าเธอมีนะ"

เหตุการณ์ถึงจุดระเบิดเอาเมื่อ ประชาชนที่นำโดยดียองไม่ทนการแทรกแซงจากอเมริกาอีกต่อไปประกาศสงครามกลางเมือง อเมริกาจะจัดส่งทหารเข้าปราบ ในขณะที่คอมมิวนิสต์ก็จ้องเข้ารวบอำนาจและฆ่าดียองทันทีที่ดียองได้อำนาจรัฐ กวน ไสยรู้ดีว่ามีคอมมิวนิสต์มาเกี่ยวข้อง ถึงไม่อยากให้อเมริกาใช้อำนาจทางทหารในประเทศนี้แต่ก็จำเป็น ส่วนแม๊คแม๊คไกวร์ก็เพิ่งได้รู้เห็นว่านโยบายที่รับบาลของเขาเดินมานั้นมันผิดพลาดแค่ไหน



อ.คึกฤทธิ์ เล่นหนังเรื่องนี้ดีมากๆครับ ประกบ มาร์ลอน บรันโดได้ชนิดไม่โดนข่ม

เอาเข้าจริงๆ กวน ไสย กลับเป็นคนยืนยันเองว่า ดียองไม่มีทางเป็นคอมมิวนิสต์ - เขาเป็นแค่ผู้รักชาติที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้น

อันนี้ก็ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้ในปัจจุบันดูอิรักเป็นตัวอย่าง อเมริกาจะอ้างเหตุอะไรเข้าไปในประเทศนั้นก็ตาม คนเราถ้าเห็นชาติถูกละเมิดอธิปไตยมากๆเข้า ก็อาจต้องเลือกทางที่เห็นว่าจะช่วยชาติได้ แม้จะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายก็เถอะ

บทสรุปของหนังก็คือคำพูดของแม๊คไกวร์นั้นแหละเขายอมรับเสียงแห้งๆเมื่อถูกถามว่า - เราต้องเสียประเทศนี้ไปใช่ไหมว่า- "เราไม่เคยได้ประเทศนี้อยู่แล้ว" ก่อนจะย้ำด้วยคำพูดสรุปว่า "เราถูกเกลียดเพราะเราทำตัวของเราเอง" - และตราบใดที่รัฐบาลอเมริกายังทำตัวเป็นนักเลงโตแบบนี้ ก็ไม่มีวันที่ผมจะรู้สึกเป็นอื่น นอกจากชื่อหนัง - the ugly american

หนังออกตัวแต่แรกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ผมดูๆไปรู้สึกว่ามันปนๆกันระหว่าง ไทย - กัมพูชา - ลาว - เวียดนาม ซึ่งบางประเทศหลังจากนั้นก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปจริงๆ - 10 ปีหลังจากที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์รับบทนายกฯสารขัณฑ์ท่านก็ได้เป็นนายกฯตัวจริงของประเทศไทย เรื่องนี้พอลุง ยอร์จ อิงค์ลันน์รู้เข้าก็แซวว่า "So I guess -that was not a bad bit of casting on my part."

ครับ - ยุค 60 อเมริกาวุ่นวายแถวๆ south east asia ก่อนจะวุ่นวายไปที่อื่นๆทั่วโลกจนบางประเทศล่มสลาย บางประเทศแตกกระจาย บางประเทศเสียอำนาจอธิปไตยไปอย่างสิ้นเชิง

แต่อย่าคิดว่า the ugly american จะไม่กลับมาแถวๆนี้อีก.........




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2550    
Last Update : 16 ตุลาคม 2550 17:01:03 น.
Counter : 2092 Pageviews.  

Eros - The hand - สัมพัศแห่งความทรงจำ

อีโรติก จำเป้นด้วยหรือที่จะต้องเปิดเผยเนื้อหนังมังสา

"ไม่ต้องหรอกครับ ผมจำสัดส่วนคุณได้" - เสี่ยวจางพูดกับ คุณฮัว โสเภณี ชั้นสูงที่มาใช้บริการห้องเสื้อแบบเสมอ เขาหลงรักเธอนับแต่เจอครั้งแรก - ความประทับใจแรกที่เธอมอบให้เขา.....ไม่มีวันลืมเลือน




Eros ตอน The Hand เป็นหนึ่งในสามของการรรวมหนังสั้น โดยผู้กำกับมือดี 3 คน ตอนนี้กำกับโดย หวัง เจี่ย เว่ย (รู้จักกันในนาม หว่าง คาร์ ไว) เนื้อหาก็คือลายเซ็นของเขาเอง - ความเหงา - เฝ้ารัก - โหยหาอดีต

หวัง เจี่ย เว่ย ยังใช้ยุค 60 เป็นฉากเช่นเคย การมองชะตากรรมบุคคลผ่านการเปลี่ยนผันของกาลเวลา ความหมายไม่เพียงว่าบางสิ่งมันเกินจะไขว่คว้า บางสิ่งก็ยากจะรักษาเอาไว้ได้

จากความรุ่งเรืองของคุณฮัวที่เสื่อมถอยลงพร้อมๆกับอายุที่มากขึ้น เสี่ยวจางกลับเพิ่มพูนฝีมือจนกลายเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดัง วันหนึ่งเธอก็จากไป

The hand ยาวประมาณ 30 นาที แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เก็บตกมาครบครัน การเปลี่ยนผันกว่า 10 ปี สังเกตตรงทรงแฟชั่นรูปเสื้อที่ค่อยๆเปลี่ยนไปตามยุค เครื่องประดับที่หายไป เหลือแต่ใจของเสี่ยวจางเท่านั้น ยังไม่เปลี่ยน

กง ลี่ แสดงเป็น คุณฮัวอย่างยอดเยี่ยม เธอให้ หวัง เจี่ย เว่ย ครบทุกอย่าง ความเซ็กซ์ซี่ แววตา น้ำเสียง (โปรดดูแบบเสียงในฟิลม์ ถ้าดูแบบพูดไทยผมเชื่อว่าจะเห็นฝีมือเธอแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น) แสดงแบบอีโรติกโดยไม่ต้องแก้เสื้อ แก้ผ้า จะหาที่ไหนแบบนี้ยากเต็มทน



“Remember this feeling and you’ll make me beautiful clothes.” - จำความรู้สึกนี้ไว้และตัดชุดสวยๆให้ฉัน - ครั้งแรกที่เธอให้ความสุขเขา เธอบอกให้เขาจดจำเช่นนี้

แต่อดีตคือสิ่งที่บางทีไม่มีวันกลับมา หลายปีให้หลัง เมื่อคุณฮัวพบเสี่ยวจางอีกครั้ง เขาพยายามบอกความรู้สึกครั้งอดีต - แต่เธอก็ปฎิเสธไป “Do you still remember how we met” ยังจำได้ไหมเราพบกันอย่างไร “And do you remember my hand.” และเธอยังจำมือของฉันได้อยู่หรือ ?

หวัง เจี่ย เว่ย พยายามจะบอกถึงการโหยหาอดีตในหนังหลายๆเรื่องของเขา เรื่องนี้เอาความระลึกแบบอีโรติกของชายหนุ่ม ที่มีต่อรสสัมพัศครั้งแรกที่หญิงในฝันมอบให้เขา จนเฝ้าฝันถึงยุคนั้นไม่คลาย.....




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2550    
Last Update : 11 ตุลาคม 2550 16:21:11 น.
Counter : 2487 Pageviews.  

The God must be carzy - เทวดา ท่าจะบ๊องส์......

สมัยนี้ไม่รู้เหมือนสมัยผมไหมที่วันดีคืนดีโรงเรียนก็จะจัดให้ไปดูหนังกันยกชั้นเรียน

The God must be carzy - เป็นหนังอีกเรื่องที่อยู่ในใจผมเสมอมา จำได้ว่าตอนดูครั้งแรกน่ะเรียนประถมอยู่ ไปกันรอบโรงเรียนจัดให้ ส่วนรอบต่อๆมาก็ขอพ่อเช่าวีดีโอมาให้ดู



เนื้อหาเป็นเรื่องของเผ่าๆหนึ่งในอาฟริกาชื่อเผ่า บุชแมน - Bushmen พวกเขาเป็นเผ่าที่มีชีวิตเรียบง่าย สงบสุข ไม่มีกฎหมาย ไม่ทำโทษเด็ก ไม่สะสม ข้าวปลาอาหารเป็นกองกลาง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน อยู่อย่างนี้มานานจนวันหนึ่ง ก็มีนักบินที่เพิ่งดื่มโค้กหมดขวดโยนขวดโค้กลงมาตรงกลางหมู่บ้าน - และพวกเขาก็คิดว่าพระเจ้าน่ะ ประทานมาให้


เมื่อแรกพวกเขาก็ตื่นเต้นว่ามันใช้ประโยชน์ให้ความสะดวกได้มากมาย รีดหนังงูก็ได้ ทุบข้าวก็ได้ ใช้ทุบเมล็ดต่างๆก็ได้ เอาไปเล่นเป็นเครื่องดนตรีก็ได้ จึงพากันบูชาเจ้าขวดโค้กนี้ราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ - จวบจนกระทั้งวันหนึ่ง จากเผ่าที่สงบเรียบร้อยก็เริ่มทะเลาะกันแย่งใช้ เริ่มมีการโกหก เริ่มมีการอยากจะครอบครองไว้เพียงคนเดียว - จนถึงวันนั้น นิเชา ผู้ซึ่งระแวงเจ้าขวดโค้กนี้มาเสมอจึงออกมาโวยวายและตกลงจะเอาไอ้ขวดนี่ไปโยนทิ้งให้สุดขอบโลก

แต่แน่นอนกว่าจะถึงตอนนั้นสังคมก็วุ่นวายไปแยะกันแล้ว

หนังเสียดสีระบบทุนได้ยอดเยี่ยม ขวดโค้กเป็นสัญลักษณ์อย่างดีของ"การรุกราน" ของบรรดาทุนและสินค้าขนาดใหญ่ทั้งหลายต่อสังคมท้องถิ่นทั่วโลกที่ยังบริสุทธิ์อยู่ ส่งสินค้าอำนวยความสะดวกต่างๆมามอมเมาให้พวกเขาหลงใหลในเทคโนโลยี่ จนสภาพสังคมดั้งเดิมบิดเบี้ยว จากสังคมที่เงียบสงบมาเป็นสังคมที่รุนแรง เรื่องที่ไม่เคยเกิดก็เกิดเพราะเจ้าขวดโค้กใบเดียวนี่แหละ


หนังถึงกับให้ตัวละครหัวหน้าเผ่าคร่ำครวญว่า “เราอยู่ของเรากันดีๆ สงบสุข ทำไมเทพเจ้าต้องส่งเจ้านี่มาด้วย เอาคืนไปเถิด เราไม่ต้องการ” พวกเขาอยู่กันแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ส่งลงมาทำไม เทวดานี่ บ๊องส์จริงๆ!!!

ผมยังจำตอนต้นเรื่องได้ดี เปิดตัวด้วยสังคมเมืองใหญ่ที่สับสนวุ่นวายและตัดฉับเข้าสู่สังคมธรรมชาติที่สวยงาม เป็นการให้ภาพเล่าเรื่องได้ดีมากๆ รวมทั้งภาพตอนท้ายที่ นิเชา เอาขวดโค้กไปจนสุดฟ้าก็ติดตาอยู่ไม่ลืม



ดูแล้วก็อดคิดไปไม่ได้ - ทุกวันนี้ว่ากันว่าไม่มีอะไรที่ชาวบ้านต่างจังหวัดจะดีใจกันอย่างยิ่ง นอกจากการที่ห้างฯใหญ่ต่างๆไปเปิดที่ตัวอำเภอ


หนังกำกับและเขียนบทโดย Jamie Uys ตอนมาฉายที่บ้านเราประสบความสำเร็จมาก แถมตัวพระเอกของเรื่องอย่าง นิเชา ก็ดังระเบิด เคยมาเล่นหนังโฆษณาของกระเบื้องยี้ห้อหนึ่งด้วย หนังดีแบบ ชาร์ลี แชปปลิ้น ล่ะครับ ดูเอาสนุกก็ได้ เก็บไปคิดก็ได้อีกเหมือนกัน


ระบบทุนนิยมและการสร้างแบรนสามารถปกครองคนได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว


ในหนังยังมีทางออกให้แก่สังคมชาวบุชแมน แต่มองไปในสังคมบ้านเราแล้วก็น่าเป็นห่วง ปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ทั้งเด็กตีกัน วัยรุ่นแต่งตัวประหลาดๆ ผู้ใหญ่แย่งอำนาจ มองไปมองมาก็ไม่ต่างจากพวกชาวป่ากลุ่มนั้นที่กันเพราะแย่งขวดโค้กสักเท่าไร

คิดถึงตอนเด็กๆ ดูแล้วหัวเราะชอบใจ โตมาถึงได้คิดไปได้อีกอย่าง หัวเราะไม่ค่อยออก แต่ก็ยังอมยิ้มคิดถึงวันก่อนที่นั่งดูหนังเรื่องนี้หัวเราะแหย่กับเพื่อนบางคน (ล้อมันว่าหน้าเหมือนพระเอก - ฮิฮิ ) หนังจบก็เดินกินลูกชิ้น + ไอติม กันกลับโรงเรียน มีความสุขจัง........




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550    
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 15:47:21 น.
Counter : 2937 Pageviews.  

The Commitments - ฝันให้ไกล ไปไม่ถึง...

หลังจากที่รอมานานในที่สุดผมก็มีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง the Commitments

หนังคัลล์อันเป็นร่ำลือว่ายอดเยี่ยมมากๆของผู้กำกับ อลัน ปาร์คเกอร์ ที่เคยฝากฝีมือให้ผมหลงไหลหลายเรื่อง เช่น ภาพยนตร์เพลง the wall และ evita หรือหนังเล็กๆที่สุดเศร้า อย่าง Angela's Ashes



The Commitments เป็นเรื่องราวง่ายๆ ว่าด้วยสังคมไอริชชนชั้นยากจนที่ตกงานกลุ่มหนึ่งที่พยายามยกระดับตนเองด้วยการตั้งวงดนตรีขึ้น โดยมีตัวตั้งตัวตีคือ จิมมี่ หนุ่มในครอบครัวรักดนตรี ผู้ที่พ่อเขายกย่อง เอลวิส เพสสลี่ ให้อยู่เหนือพระสันตปาปา แต่ขัดใจเล็กน้อยที่ลูกชายดันไปตั้งวงดนตรีแนวโซล

หนังเดินเรื่องสนุกสนาน ความวุ่นวายตั้งแต่การตั้งวง การสรรหาสมาชิกที่มีปูมหลังและบุคลิกส่วนตัวแปลกๆแตกต่างกันไป เช่น นักร้องนำจอมหยิ่งหลงตัวเอง มือกลองนักเลง นักทรัมเปตมาดนิ่งที่คุยเสมอว่าเคยรู้จักกับนักร้องดังๆมากมาย บรรดาสาวๆนักร้องประสานเสียงที่อยากพ้นๆสภาพชีวิตที่เป็นอยู่เต็มทน และในสภาพที่คนสิบพ่อ สิบแม่ที่ต้องมาอยู่รวมกัน ถึงหลังเวทีแทบจะฆ่ากันตายขนาดไหน พอพวกเขาไปหน้าเวทีและมนต์ดนตรีเข้าสิง-พวกเขาก็พร้อมกันบรรเลงอย่างเต็มที่(แม้ไม่ได้ค่าแรงสักแดงก็เถอะ)

ทั้งๆที่ตัวละครมากมายแต่หนังก็แจกบทให้คนดูเห็นใจ-เอาใจช่วย-สมน้ำหน้า-สงสาร-สงสัย-ปลง-ขำขำ ในแต่ละบทบาทไปทั้งนี้มีกัดเล็กกัดน้อยตลอด เช่น คนหนึ่งประชดว่าพวกเราไอริชน่ะเหมือนกับคนดำของยุโรป อีกคนก็บอกคนดำอย่าง เจมส์ บราวส์ ก็รวยได้นะโว้ย

หนังไม่ได้จบแบบ"ฝันที่เป็นจริง"อย่างหนังตลาดทั่วๆไป พวกเขาไม่ได้ออกเทป ไม่มีชื่อเสียงเกินไปกว่าตำบลที่อยู่ เอาเข้าจริงๆพวกเขาต้องแตกวงกันไปแค่การแสดงครั้งที่ 4 หรือ 5 เท่านั้น แต่ตลอดเวลาที่พวกเขาอยู่รวมกัน หนังทำให้คนดูสัมพัสได้ถึงฝันที่พวกเขามี และถึงจะแยกกันไปแล้ว บางคนอาจจะทิ้งไปหาสิ่งที่เลี้ยงชีพได้แน่นอนกว่า บางคนก็ยังตามหาฝันของเสียงดนตรีต่อไป ทั้งยืนอยู่ข้างถนน ในห้องอัด บนเวทีร้านเหล้า

หนังประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อออกฉาย ( ปี 1991 ) นอกจากจะได้รับคำชมอย่างมาก ยังทำรายได้ดีอีกด้วย ได้รับรางวัล BAFTA Awards สำหรับ หนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม (หนังดัดแปลงจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกันของ ร๊อดดี้ ดอยย์ ) ส่วนออสก้าร์ ได้รางวัล ตัดต่อยอดเยี่ยม ไม่นับอัลบั้มเพลงประกอบที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าถึง 12 ล้านก๊อปปี้

บทสรุปความฝันของพวกเขาตอนท้ายเรื่องเป็นคำตอบที่ไม่สมหวังแต่เราก็เอาใจช่วยพวกเขามาได้จนจบเรื่องจริงๆ........




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2550    
Last Update : 3 ตุลาคม 2550 12:35:52 น.
Counter : 818 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

mr.cozy
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Is everybody in? Is everybody in?
The ceremony is about to begin
Friends' blogs
[Add mr.cozy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.