"แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้"
Group Blog
 
All Blogs
 
9 กลยุทธ์ คุณชอบอ่าน

กลยุทธ์ที่ 1 สร้างเกราะป้องกันการตัดสินใจผิด
กลยุทธ์นี้ ใช้สำหรับการเปลี่ยนหุ้นจากตัวหนึ่งไปยังตัวอื่น ขอใช้ชื่อกลยุทธ์ว่า "สร้างเกราะป้องกันการตัดสินใจผิด"

ในสถานการณ์แบบนี้ อ่านดูกระทู้หลายๆท่าน บางท่านก็ยินดีปรีดา บางท่านก็เพิ่งเริ่มยินดี บางท่านก็ยังบ่นว่าเห็นคนอื่นมีความสุข แต่ตนเองกำลังทุกข์ เพราะในพอร์ทก็ยังแดงอยู่ เมื่ออ่านดูก็อยากจะปลอบใจท่านที่ถือหุ้นบางตัวที่ยังไม่ขึ้น แต่จะปลอบแบบปกติก็ดูกระไรอยู่ เลยขอแนะนำวิธีที่ผมใช้ให้ท่านพิจารณาดูครับ โดยลองตอบคำถามเหล่านี้ดูเพื่อเป็นการประกอบการพิจารณาว่าจะเปลี่ยนตัวไปเล่นตัวอื่นหรือไม่
- หุ้นที่ไม่ขึ้น เป็นหุ้นพื้นฐานดีและมีปันผลหรือเปล่า
- แนวโน้มธุรกิจของหุ้นที่ถืออยู่เป็นอย่างไร
- มีข่าวไม่ดี (ที่ยืนยันได้) ในหุ้นตัวที่ท่านถืออยู่หรือเปล่า
- หุ้นอื่นๆในกลุ่มเดียวกันขึ้นไปหมดแล้ว แล้วหุ้นเหล่านั้นย้อนกลับลงมาหรือยัง
- มีโวลลุ่มในหุ้นตัวนั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
- ราคาณ.ปัจจุบัน เป็นราคาต่ำกว่าราคาสูงสุดกี่ %
- หุ้นเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปเล่น ขึ้นไปแล้วหรือยัง และทบทวนหุ้นเป้าหมายกับคำถามก่อนหน้า มีคำตอบเป็นอย่างไรบ้าง

ขอให้พิจารณาคำตอบโดยตัดความอยากออกไป (พิจารณาขณะนอกเวลาทำการของตลาด) เมื่อได้คำตอบขอให้นำผลที่ได้มาพิจารณาเป็นผลบวกและลบ ซึ่งจะได้ข้อสรุปของหุ้นเก่า/หุ้นใหม่เพียง 4 ประการคือ บวก/บวก บวก/ลบ ลบ/บวก และ ลบ/ลบ

หากได้คำตอบ = บวก/บวก หรือ บวก/ลบ ขอแนะนำว่า ถือหุ้นเดิมต่อเถิดครับ

หากได้คำตอบ = ลบ/บวก เปลี่ยนป็นหุ้นใหม่ที่เลือกได้เลยครับ

หากได้คำตอบ = ลบ/ลบ ขอแนะนำให้เปรียบเทียบกับหุ้นใหม่ตัวอื่นครับ

ผมไม่ได้เก่งนะครับ หากแต่ว่า ตั้งแต่ผมเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ ไม่เคยขาดทุนเลยครับ แต่ข้อสำคัญ ต้องมีวินัยในการลงทุนนะครับ

ปล. ยังอยากเห็นหุ้นไทยแซงหน้าหุ้นอินโดฯอยู่ รู้สึกจะใกล้ความจริงเข้าไปเรื่อยๆแล้วนะครับ 55555 และขอให้ทุกท่านประสพผลสำเร็จในการลงทุนนะครับ


จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 27 ต.ค. 46 13:46:24 A:210.1.6.101 X: ]

กลยุทธ์ที่ 2 รู้จักเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล
มนุษย์หุ้น(ขอยืมคำ คุณ คลาย เครียด มาใช้หน่อยนะครับ)หลายๆท่าน มีความแตกต่างที่สำคัญกันอย่างมากประการหนึ่งคือ ประสบการณ์ที่ได้รับโดยตรงจากหุ้นแต่ละตัว บางท่านอย่าง คุณ คลาย เครียด รู้จักหุ้นแทบทุกตัวในตลาด (นับถือจริงๆ) แต่บางท่านอาจรู้จักหุ้นเพียงไม่กี่ตัว ถ้าถามกันตรงๆว่าใครได้เปรียบกว่ากัน คงตอบไม่ยากนะครับ

หลายท่านอาจคิดว่า ประสบการณ์ที่กล่าวถึง ต้องเกิดจากระยะเวลาในการอยู่ในตลาดเป็นสำคัญ หากอยู่มายาวนานก็จะมีประสบการณ์มาก เป็นธรรมดาครับที่จะคิดเช่นนั้น แต่อันที่จริงแล้ว ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งจะเข้าตลาดมาไม่ถึง 2 ปี เชื่อไหมครับว่า เขาก็รู้จักหุ้นในตลาดแทบทุกตัวเช่นกัน เขาใช้เวลาในการศึกษาลักษณะธุรกิจของหุ้นแต่ละตัวเรียงตามหมวดหมู่ ซึ่งผมเองก็ได้รับความรู้จากเขาพอสมควรทั้งๆที่เขาก็เพิ่งเข้ามาในตลาดไม่นานนัก

กลยุทธ์ที่ 2 ที่เป็นหัวเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมเรียนรู้ได้จากประสบการณ์นานหลายปี แต่เพื่อนผมคนนี้กลับเรียนรู้ได้ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี หลายๆเรื่องผมกับเพื่อนก็มีความเห็นแย้งกัน แต่สำหรับกลยุทธ์ที่สองนี้ เรามีความเห็นตรงกันดังนี้ครับ

เราปลูกไม้แบบใดย่อมได้ผลจากไม้นั้นเท่านั้น เป็น FACT อย่างหนึ่งในการลงทุน (ที่เพิ่งคิดได้) แต่หากเราปลูกไม้หลายอย่างผสมผสานกัน เราก็จะได้ผลหลายอย่างด้วยเข่นกัน แล้วถ้าเราจัดการปลูกไม้ที่ให้ผลตามฤดูกาลที่แตกต่างกันสลับกันไปเรื่อยๆ เราก็จะได้ผลต่อเนื่องไปเรื่อยๆใช่ไหมครับ หุ้นก็เช่นกัน ในธุรกิจบางประเภท จะมีช่วงเวลาที่ธุรกิจนั้นอยู่ในระยะที่ควรสะสม(เหมือนไม้สะสมอาหาร) บางช่วงก็จะเข้าไปอยู่ในระยะให้ผล(เหมือนไม้ออกดอกออกผล) แต่ในบางช่วงก็จะอยู่ในระยะนิ่งสงบ (เหมือนช่วงจำศีลของต้นไม้บางประเภท) และในบางช่วงก็จะเข้าไปอยู่ในระยะถดถอย(เหมือนไม้ผลัดใบ)

ถ้าพิจารณาแบ่งแยกธุรกิจออกเป็นหมวดๆคล้ายกับต้นไม้ตามฤดูกาล เราก็จะพบว่า ในตลาดหุ้นบ้านเรานั้น ธุรกิจต่างๆจะมีช่วงพฤติกรรมแบ่งออกเป็นฤดูกาลได้เช่นเดียวกัน และถ้าเราเรียนรู้ได้ว่าช่วงไหน หุ้นตัวไหนอยู่ในระยะใดได้ ก็จะทำให้เราจัดการกับเงินทุนของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถจะบอกเราได้ถึงระยะเวลาแต่ละช่วงของธุรกิจแต่ละอย่าง ก็คือเครื่องมือทางเทคนิค ซึ่งต้องนำไปเทียบกับการดำเนินงานของธุรกิจนั้นๆด้วยครับ และต้องตัดตัวแปรแวดล้อมในสภาวะพิเศษออกไปด้วย เช่น สงคราม ฟองสบุ่แตก ฯลฯ

ผมใช้กลยุทธ์นี้กับหุ้นบางตัวอย่างได้ผล แต่กับหุ้นบางตัวใช้ไม่ได้จริงๆ ซึ่งทำให้รู้ว่า สำหรับหุ้นบางตัวที่ใช้กลยุทธ์นี้ไม่ได้ เป็นหุ้นไม่ธรรมดา ต้องนำกลยุทธ์อื่นมาใช้แทนครับ ถือเป็นการจัดหมวดหมู่หุ้นปกติ กับหุ้นไม่ธรรมดา ด้วยกลยุทธ์ง่ายๆด้วยครับ

ระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของหุ้นในแต่ละช่วง มีสั้นบ้างยาวบ้าง เช่นเดียวกับพันธ์พืชแต่ละชนิด บ้างก็ให้ผลในเวลาอันสั้น บ้างก็ให้ผลในระยะปานกลาง และก็มีที่ให้ผลในระยะยาว คนปลูกพืชย่อมต้องรู้นิสัยพืชที่ตนปลูกเป็นอย่างดีฉันใด คนลงทุนสมควรต้องรู้นิสัยของหุ้นที่ตนเองลงทุนก็ฉันนั้น ผลที่ได้จะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการใส่ใจต่อพืชหรือหุ้นนั้นอย่างแน่นอน 5555

ปล. ตอนนี้ คนกลุ่มหนึ่งกำลังคิดว่า ช่วงของการปรับฐานกำลังใกล้เข้ามา คนบางกลุ่มก็คิดว่าปรับฐานแล้วอาจลงต่อด้วยซ้ำ(คิดตรงข้ามกับผมจริงๆ) คนบางกลุ่มก็คิดว่าอีกนานจึงปรับฐาน และคนอีกกลุ่มกำลังคิดว่า ช่วงปรับฐานอาจเป็นช่วงสั้นมากๆเนื่องจากข่าวที่กำลังจะออกมาในเร็ววัน เช่น ข่าวการปรับเครดิตของมูดี้ส์ ข่าวของกองทุนวายุภักดิ์ ข่าวการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนของกองทุนต่างประเทศต่างๆ ข่าวผลประกอบการดีๆของแต่ละธุรกิจ ฯลฯ เราได้เห็นพลังของข่าวปรับอันดับเครดิตประเทศของ S&P ในช่วงก่อน APEC ซึ่งเป็นช่วงที่อึมครึมมากพอควรไปแล้ว เราคงจะได้เห็นพลังของข่าวปรับอันดับเครดิตของมูดีส์อีกครั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขอให้สังเกตพฤติกรรมการกลับมาซื้อของต่างชาติให้ดีนะครับ ขอให้โชคดีทุกท่านครับ 55555

ปล.2 สำหรับผมคิดว่า คงมีการปรับฐานในหุ้นบางกลุ่มที่ขึ้นมามากแล้วอย่างเช่นกลุ่มพลังงาน ฯลฯ แล้วขึ้นต่อ แต่ในบางกลุ่มกำลังจะลุกขึ้นในขณะที่พลังงานปรับฐาน เช่น กลุ่มสื่อสาร แบงค์ และไฟแนนซ์ ฯลฯ และมีบางตัวในกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่อาจไปต่อ ในขณะที่บางตัวในกลุ่มวัสดุก่อสร้างเช่นกันอาจต้องปรับฐาน และพฤติโดยรวมของ Set อาจเห็นช่วงลบระยะสั้นๆ กราฟทางเทคนิคจะเป็นตัวบอกแนวโน้มครับ

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 28 ต.ค. 46 09:15:25 A:210.1.6.101 X: ]

กลยุทธ์ที่ 3 ไม่ต้องรีบยามทะยาน ไม่ควรสะท้านยามตระหนก
การลงทุนสมัยนี้ จะตัดสินใจทำอะไร สามารถทำได้รวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ยิ่งคนที่มีเครื่องมืออย่างพวก Notebook ด้วย ยิ่งทำตามใจได้อย่างเร็วมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ บางที่กดผิดกดถูก ซื้อกลายเป็นขาย (อ้นนี้ผมก็เคยเป็นและเสียหายมากด้วยครับ) หรือขายกลายเป็นซื้อ (อันนี้ยังพอแก้ตัวได้ เพราะปกติจะตั้งขายสูงไว้ก่อน แต่บางทีก็แย่เหมือนกันถ้าตั้งขายที่ราคารับซื้อเลย) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ มักเกิดจากการรีบเร่งตัดสินใจ ซึ่งรีบทั้งตอนขายและตอนซื้อ

ไม่ต้องรีบยามทะยาน จึงเป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการขายได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่จุดประสงค์หลักของกลยุทธ์นะครับ ในความหมายที่แท้จริงคือ เมื่อหุ้นตัวใดอยู่ในวงจรขาขึ้น สมควรต้องทำการบ้านเพิ่มให้มากขึ้น คือดูว่าที่ขึ้น ขึ้นเพราะอะไร เช่น หากขึ้นเพราะผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาดมากๆ ในวันแรกที่ประกาศหรือก่อนนั้นสักวันสองวัน(สำหรับผู้ที่มีข่าววงใน) หุ้นจะขึ้นไปด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็ว หากเฝ้าดูอยู่ ท่านอาจรีบขาย ณ.จุดที่คิดว่าสูงที่สุด หรือเมื่อหุ้นตัวนั้นย่อลงมาสัก 2-3 เสตป เพราะคิดว่าจะรับกลับตอนหลังอีกครั้ง แต่ก็มีหลายๆครั้ง ที่ท่านไม่อาจรับกลับได้ นอกจากนี้สมควรต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า ธุรกิจนั้นกำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่งหรือไม่ ค่า P/E ของธุรกิจเป็นอย่างไร (ยิ่งถ้า P/E ยังต่ำ โอกาสที่จะขึ้นต่อเรี่อยๆสักระยะ ก็จะมีสูงมากขึ้นด้วยครับ)

ไม่ควรสะท้านยามตระหนก ก็สามารถป้องกันความผิดพลาดกรณีต้องการขายได้เช่นกัน และไม่ใช่จุดประสงค์หลักของกลยุทธ์เข่นกัน ในกรณีที่ตลาดเกิด Panic เช่น รับข่าวที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น หุ้นทั้งกระดานแทบจะร่วงรับข่าวกันหมด ท่านยิ่งสมควรต้องทำการบ้านหนักขึ้นเป็นสองเท่า ต้องดูให้รู้ว่า ธุรกิจที่ท่านลงทุน ได้รับผลกระทบจากข่าวนั้นเพียงใด ในบางครั้ง การเกิด Panic กลับกลายเป็นผลดีต่อหุ้นบางตัว เพราะขณะที่คนกลุ่มใหญ่กำลังตระหนกตกใจ อาจมีหลายๆคนขายหุ้นในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากข่าวนั้น แต่ด้วยอารามตกใจ ก็ขายทิ้งโดยไม่คิด (หรืออาจจะคิดว่าเดี่ยวรับกลับใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าที่ถืออยู่) แต่ถ้าท่านรู้ว่าจะเกิดประโยชน์ ก็อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการรับหุ้นเข้าพอร์ทเพิ่มอีก แต่สำหรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ การ Cut Loss ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับหุ้นที่อยู่กลางๆมีพื้นฐานดี การหาจังหวะรับที่คน Panic กันมากที่สุด เพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง และรอขายในจังหวะที่หาย Panic (Rebound) บางครั้งก็สามารถ Save Loss คืนมาได้มากเหมือนกันครับ

สิ่งที่จะสนับสนุนให้ผู้นำกลยุทธ์นี้ ไปปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจในธุรกิจที่ท่านลงทุนอยู่ด้วยนะครับ ปกติผมจะไม่ Cut Loss ก่อนเฉลี่ย แต่จะ Keep Profit ก่อนที่จะ Loss นะครับ (ถ้าราคาที่สะสมไว้เอื้ออำนวยนะครับ) และที่สำคัญอย่างมากที่สุดก็คือ สติ ครับ จะทำให้เราได้กำไรมากขึ้นยามหุ้นทะยาน (อาจไม่ใช่กำไรสูงสุดนะครับ) และขาดทุนน้อยลงยามหุ้นเกิดแรงขายเนื่องจากการตื่นตระหนก

ปล. ดูท่าวันนี้ผมอาจสะสมหุ้นได้อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรืออาจสะสมเพิ่มไม่ได้เลย 5555



จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 29 ต.ค. 46 09:40:49 A:210.1.6.101 X: ]

กลยุทธ์ที่ 4 ทุกสถานที่มีดาวเด่น
พอดีพิมพ์ไปแล้วครั้งหนึ่งตอนเช้า พอจะ Send กลับ Error เลยว่าจะพิมพ์ใหม่คืนนี้ แต่อยากรู้ว่าใครจะเดาความหมายของกลยุทธ์นี้ได้บ้าง ช่วยๆกันหน่อยนะครับ คืนนี้จะมาเฉลย (กลยุทธ์นี้ Set ขึ้นก็ได้ตังค์ Set ลงก็ได้ตังค์ Set อยู่เฉยๆก็ได้ตังค์ครับ)

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 30 ต.ค. 46 13:50:49 A:210.1.6.101 X: ]

ก่อนอื่นต้องขออภัยครับ ไม่รู้เป็นไง ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ เลยกินยาลดไข้แล้วกะจะพักสักงีบ ปรากกฏว่าตื่นอีกที่ตีสี่กว่าๆ เลยนอนต่อเลย 5555

คุณชาเขียวตอบได้ถูกมากที่สุดครับ คุณ scharn คงน่าจะหมายความในทำนองเดียวกัน ขอบคุณมากครับ และขอบคุณทุกท่านที่ลองตอบมาด้วยครับ นี่ถ้าเป็นเวทีต้องชี้ไปที่คุณชาเขียวแล้วก็พูดว่า ถูก...ถูก....ถูก....ถูกต้องครับ 5555

การประกอบธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมต้องมีคู่แข่งขัน และตัวที่บอกว่าใครมีศักยภาพเพียงใด ก็เป็นตัวที่เราสามารถรู้ได้ว่า ในธุรกิจนั้นใครเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม.... เช่น ใครมี Market Share สูงสุดในธุรกิจนั้น ใครมีความสามารถกำไรมากที่สุด (บางที Market Share สูงแต่ได้กำไรต่ำกว่าก็มีนะครับ) ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ผมคิดว่า ทำไมต้องลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น

ตอนนี้ถ้าแบ่งหมวดหมู่ตามกลุ่มธุรกิจ จะแบ่งได้ประมาณ 33 กลุ่ม เริ่มต้นก็พิจารณาว่า กลุ่มธุรกิจใดไม่สมควรลงทุน ตัดทิ้งไปเลยครับ สมมติว่าเหลือ 25 กลุ่มธุรกิจ ผมจะดูว่า ในกลุ่มธุรกิจนั้นใครเป็นดาวเด่น ติดอันดับ Top 3 เมื่อได้ครบ ก็จะเอามาสร้างตาราง โดยยึดกลยุทธ์ที่ 2 "รู้จักเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล" ดังนั้นในหุ้นประมาณ 75 ตัวคือหุ้นที่ผมจะเลือกเล่นหมุนวนกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลอื่นๆประกอบกันไปด้วยเช่น ค่า P/E, P/BV, EPS, ROA, ROE และ Net Profit Margin ฯลฯ

แต่โดยปกติแล้วผมจะมีหุ้นในพอร์ทประมาณ 30-40 ตัว (พอๆกับที่กองทุนใหญ่ๆซื้อเลยนะครับเนี่ย) หลายๆท่านคงสงสัยว่าผมจะเอาข้อมูลมาจากไหน และจะทำการบ้านไหวหรือ มีเคล็ดลับดังนี้ครับ

ผมค่อนข้างมั่นใจว่า กลุ่มคนที่ทำงานทางด้านการเงิน จะมีความสามารถวิเคราะห์ธุรกิจได้ดีกว่าผม ดังนั้นข้อมูลที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ข้อมูลที่วิเคราะห์จากศูนย์วิจัยต่างๆ เช่น ศูนย์วิจัยกสิกร ฯลฯ ข้อมูลพวกนี้จะออกประมาณปลายปีถึงต้นปี จะบอกว่าธุรกิจใดเป็นดาวรุ่ง และธุรกิจใดเป็นดาวร่วง เอามาเป็น Road Map สำหรับการลงทุน ส่วนข้อมูลประจำเดือน , อาทิตย์ หรือ วัน ขอจากหน่วยงานดำเนินการลงทุนด้านหลักทรัพย์ เช่นของกองทุน RMF ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ ผมเสียเงินขั้นต่ำปีละ 5000 ก็ได้แล้ว (จริงๆแล้วไม่ได้เสียนะครับ ถือเป็นการออมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีประโยชน์มากด้วย) โดยปกติข้อมูลเหล่านั้น จะบอกเราด้วยว่า เงินที่เราเอาไปให้เขาลงทุนนั้น เขาเอาไปลงทุนในหลักทรัพย์ใดบ้าง สัดส่วนเท่าใด เราก็เอาของเขาที่ผ่านการกรองจากคนระดับที่คัดสรรแล้วจากองค์กรของเขามาเป็น Road Map ในการลงทุนเพิ่มในช่วง Period ต่างๆ (พวกนี้เขาก็ลงทุนกันประมาณ 30-40 หลักทรัพย์เท่านั้น และเชื่อได้เลยว่าเขาได้ข่าวก่อนเราเป็นเวลานานๆด้วย) ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่ามีกองทุนใดเข้าไปซื้อลงทุนหุ้น เต้าฮวยร้อน และถ้ากองทุนนั้นมีส่วนในการให้ เต้าฮวยร้อน กู้เงินลงทุนด้วย เราจะคิดอย่างไรละครับ 5555

ข้อมูลจากสินธรสถาน จากกระทิงเขียว ฯลฯ เป็นอีกข้อมูลหนึ่ง ถ้าลองนำมาสร้างสถิติดู เช่น มีคนพูดถึงหุ้นตัวนั้นในทางบวกกี่คน ในทางลบกี่คน จับตัวเลขเหล่านี้มาบวกลบกันแล้วสังเกตพฤติกรรมตอบสนองของหุ้นเหล่านั้นดูสิครับ จะรู้อะไรดีๆบางอย่าง แต่ถ้าเทียบข้อมูลเหล่านี้กับข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมา ถือเป็นองค์ประกอบส่วนย่อยเท่านั้นนะครับ

โดยปกติผมจะแบ่งการลงทุนเป็น 2 พอร์ท พอร์ทถือยาวๆๆๆ กับพอร์ทเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล ดังนั้น ในทุกๆครั้งที่ผมเข้ามาดูสวนดอกไม้แห่งนี้ จึงได้พบดอกไม้สีเขียว สีแดง สีเหลือง สลับกันชูซ่ออวดโฉมให้ผมได้ยล หากวันใดดอกไม้สีแดงทำถ้าจะหลุดจุด Keep Profit ที่ตั้งไว้ ผมก็ตัดมันออกมาเพื่อนำผลกำไรที่ได้ตามจุด Keep Profit ไปเก็บไว้เป็นเงินทุนเพิ่มเติมครับ ด้วยเหตุนี้แหละ ผมจึงบอกไว้ว่า Set จะขึ้น Set จะลง หรือ Set จะคงที่ ผมก็ยังคงมีกำไรอยู่เสมอๆครับ

ปล. เพื่อนๆผมถามว่า ทำไมต้องเปิดเผยกลยุทธ์ให้คนอื่นๆรับรู้ ไม่กลัวว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมากหรือ การลงทุนก็จะยากขึ้นไปอีกนะ ผมตอบเขาว่า คู่แข่งผมมีกลุ่มเดียวครับ คือ กลุ่มต่างชาติที่กระหายผลประโยชน์จากพวกเราคนไทย ดังนั้นผมจะค่อยๆถ่ายทอดกลยุทธ์ของผมเรื่อยๆไปถ้ามีโอกาส และถ้ายังมีคนรับฟังอยู่ ส่วนเมื่อรับฟังไปแล้ว ผมไม่อยากให้เชื่อตามนะครับ แต่อยากให้นำไปพินิจพิเคราะห์และปรับใช้กับตนเองให้ตรงตามบุคลิคนิสัยด้วยครับ

ปล.2 หากไม่มีเหตุร้ายอย่างสงครามหรือโรคติดต่อร้ายแรงมาเยือนชาวโลก และดูท่าเศรษฐกิจอมาเกอาจฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ปัจจัยทางบวกมีมากพอที่จะทำให้ผมคิดว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอีกมาก ดังนั้น ถ้าทิศทางการเดินไปของเศรษฐกิจไทยยังเป็นแนวนี้ต่อไป ผมก็มั่นใจว่า เรามีโอกาสได้เห็นดัชนียืนเหนือ 800 ในปีหน้าแน่ครับ

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 31 ต.ค. 46 09:02:30 A:210.1.6.101 X: ]
ความคิดเห็นที่ 16

ผมเห็นด้วยมากๆ นะครับสำหรับกลยุทธนี้ แต่ว่าในธุรกิจที่ห่างไกลตัว อย่างเช่น เคมีภัณฑ์ เราจะหาข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดจากไหนได้บ้างครับ มีสำนักไหนที่มีการสำรวจ brand ต่างๆ ในแต่ละปีบ้างครับ

จากคุณ : ชาเขียว - [ 1 พ.ย. 46 01:46:39 ]

ความคิดเห็นที่ 24

ขอบคุณทุกๆท่านที่เสนอความเห็นเพิ่มเติมครับ

ถูกครับคุณชาเขียว แต่กลยุทธ์นี้ ใช้โดดๆไม่ได้นะครับ สมควรอย่างยิ่งที่ต้องใช้คู่กับกลยุทธ์ที่ 1 ครับ

ขออภัยจริงๆครับคุณ Robert (thaichaps) เกรงว่าให้รายชื่อไปแล้ว กลัวผู้ที่เข้าทีหลังจะเจ็บตัวครับ เพราะบางตัวที่ผมซื้อมาแต่ละตัวตอนนี้มีราคาต่างกับตอนซื้อพอควรครับ หากผู้ใดเข้าใจผิดว่าผมซื้อหุ้นเหล่านี้ในช่วงนี้ จะกลายเป็นทำบาปไปครับ

อีกประการครับ ผมชอบสร้างทางให้ครับ แต่ไม่นิยมจูงไปส่งถึงที่ครับ นานมากๆผมจะให้ความเห็นเกี่ยวกับหุ้นบางตัวซักที ส่วนใหญ่เพราะเกรงว่ารายย่อยจะถูกชี้นำผิดๆ (แต่ก็ไม่แน่ผมอาจจะเตือนผิดไปก็ได้นะครับ 555)

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 4 พ.ย. 46 01:12:15 A:202.133.161.105 X: ]

ความคิดเห็นที่ 26

คุณชาเขียวครับ มีวิธีหาข้อมูลการตลาดได้ 3 วิธีครับ

1. ซื้อ จากแหล่งที่ขายข้อมูลเหล่านี้โดยตรงครับ เช่น

//www.marketinfo.siam-biz.com/ (ถ้าสามารถแยกๆกันซื้อ รวมๆกันอ่านได้ก็จะดีมากครับ)

2. สรุปเองจาก Form-56 ครับ (ใช้เวลาพอสมควรครับ)

ใครรู้จักช่องทางอื่นๆก็ช่วยๆกันบอกบ้างนะครับ จะได้หามาอ่านเพิ่มเติม 5555


จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 4 พ.ย. 46 22:55:13 A:202.133.161.42 X: ]
แก้ไขเมื่อ 09 ม.ค. 47 21:41:39

กลยุทธ์ที่ 5 ลมนิ่งต้องดึง ลมตึงต้องผ่อน ก่อนพายุมาต้องหลบ
คุณ คลาย เครียด บอกไว้ในกลยุทธ์ที่ 4 ให้ผมช่วยรวมกระทู้ กลยุทธ์ คงต้องขอแรงท่านใดก็ได้สักคน ทำ Link รวมกลยุทธ์ เพื่อคุณคลาย เครียด ด้วยนะครับ 5555

เหมือนเช่นกระทู้ 4 ดีกว่าครับ ลองช่วยคิดดูหน่อยครับ ว่ากลยุทธ์นี้ ท่านทั้งหลายเข้าใจความหมายว่าอย่างไร พอมีแรงและหายปวดหลังแล้วจะมาเฉลยนะครับ 5555

ปล. วันนี้ SET(629.45) ไทยแซงทางโค้งผ่าน JSE (625.54)โดยไม่เสียหลัก ได้รับการปรบมือจากผู้ชมรอบสนามไปแล้ว หากเข้าทางตรงทรงตัวได้มั่นคง สงสัยจะทิ้งห่าง เป้าหมายในปีหน้าคือ KLS ของมาเลย์(817.12)

ผมข้ามเกาหลีใต้ไป เพราะพื้นฐานประเทศยังคงห่างกัน แต่ถ้าเกิดปัญหาสงครามหรือโรคระบาดขึ้นอีกก็ลืมๆกระทู้นี้ไปเลยนะครับ 5555

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 31 ต.ค. 46 17:29:00 A:210.1.6.101 X: ]

ความคิดเห็นที่ 6

ยังไม่หายปวดหลังเลยครับ เป็นไปตามสัจธรรม สังขารไม่เที่ยง ครับคุณ think_pos ผมคงไม่ถนัดไปกับคุณ aeaw หรอกครับ 5555

ขอบคุณครับ ทุกๆท่าน คุณชาเขียวนี่เหมือนคนรู้ใจเลย เป็นครั้งที่ 2 แล้วนะครับที่ตอบได้ถูกมากที่สุดตามจุดมุ่งหมายของกลยุทธ์นี้ แต่การเปรียบเทียบอาจสลับกับข้อความบ้างก็ลองพิจารณาดูนะครับ

คุณประกอบ นำไปลงได้เลยครับ สิ่งใดที่ทำแล้วเพิ่มความแข็งแกร่งให้คนลงทุนได้บ้างไม่มากก็น้อย ผมเต็มใจให้เต็มที่เลยครับ

ขอวกกลับมาที่กลยุทธ์ที่ 5 นะครับ ตอนผมนั่งนึกว่าจะเปรียบเทียบกลยุทธ์นี้กับอะไร ผมก็นึกถึง ว่าว จริงๆครับ ตอนเด็กๆ ผมชอบทำว่าวแข่งตีกับเพื่อนๆ ทำหมดทั้งว่าวปักเป้า ว่าวจุฬา(เพี้ยนๆ) ว่าวอินเดีย ว่าวนาๆชาติฯลฯ เอาไปแข่งทีไรแพ้เพื่อนทุกที ตอนหลังเลยคิดทำเป็นว่าวแขกหัวแหลมเปี๊ยบ ปรากฏว่าชนะเพื่อนได้ แต่ก็ทำให้เลิกแข่งกันไปเลยครับ คือเขาไม่แข่งกับผมอีกเลย เขากลัวผมจะทำว่าวประหลาดๆออกมาอีก (มาพิจารณาดูตอนหลัง ว่าวแขกหัวแหลมที่ผมทำมันอันตรายมาก เพราะถ้ามันเกิดดิ่งใส่หัวคน สงสัยทะลุกระโหลกได้เลย) ชักไปไกลแล้วกลับเข้าเรื่องดีกว่า

ยามลมนิ่งให้ดึง เมื่อลมไม่มี ก็เหมือนกับแรงซื้อหายไปจากตลาดนั่นแหละครับ หุ้นส่วนใหญ่มักจะตกแบบค่อยๆซืมลงเหมือนเวลาว่าวตกนั่นแหละครับ ถ้าเป็นว่าว จังหวะนี้เราต้องดึงสายป่านเข้ามาเพื่อให้ว่าวยังคงลอยตัวอยู่ได้ สำหรับหุ้นจะเป็นช่วงที่ต้องเก็บเงินที่กระจัดกระจายไปในหุ้นจำนวนมากๆหลายๆตัวขึ้นมาบ้าง อาจนำไปใส่ในหุ้นตัวที่เรามั่นใจมากที่สุดลดหลั่นกันไปตามลำดับ เงินที่เก็บเข้ามาบางส่วนก็เพื่อรอจังหวะดีๆครับ กล่าวคือ ในช่วงหนึ่งผมอาจจะลงทุนในหุ้นถึง 30 ตัว ช่วงที่ไร้ข่าวใดๆหรือไม่มีใครอยากลงทุนในตลาด หุ้นบางตัวอาจหยุดนิ่งอยู่อย่างนั้น แต่บางตัวอาจค่อยๆซึมลงเนื่องจากร้อนแรงเกินไปในช่วงที่ผ่านมา แต่บางตัวอาจโดนทุบหลังหมดข่าวเพื่อให้รายใหญ่ได้เก็บเพิ่ม ช่วงนี้ ควรลดจำนวนหุ้นลงให้เหลืออยู่ไม่กี่ตัว ถ้าหุ้นตัวบางตัวโดนทุบแรงๆทั้งๆที่มีพื้นฐานดี ก็ควรขายหุ้นพวกนี้ออกไปก่อน (ตามจุด Keep Profit ที่ตั้งไว้) ซึ่งก็คือการเก็บสายป่านไว้ครับ เมื่อหุ้นที่โดนทุบลงไปต่ำมากๆ ก็อาจซื้อเพิ่ม หรือนำหุ้นที่ค่อยๆซืมลงไปแลกกับหุ้นที่ถูกทุบ เพราะส่วนต่างการลดค่าจะไม่เท่ากัน ด้วยวิธีนี้จะทำให้สามารถลดจำนวนหุ้นที่ถือครองในขณะที่เก็บเงินไว้ใช้ยามต้องการได้ด้วยครับ และหลายๆครั้งจากประสบการณ์ก็พบว่า เมื่อเกิดการทุบเพื่อเก็บของ ก็จะเกิดการหมุนวนการทุบคล้ายๆกับตอนหมุนวนการปั่น ซึ่งการแลกหุ้นตัวที่ค่อยๆซืมลงกับตัวที่ถูกทุบมากๆจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการใช้เงินเข้าไปซื้อเพิ่มครับ

ยามตึงให้ผ่อน ในขณะที่ลมแรงๆ เป็นจังหวะที่เราสามารถผ่อนสายป่านออกไป พร้อมๆกันนั้นว่าวก็ยังคงลอยในระดับความสูงอยู่ได้ สำหรับการลงทุน เมื่อเริ่มมีข่าวดีปรากฏ (ขอย้ำนะครับว่าเริ่มมี) คนจะเริ่มมั่นใจในตลาดมากขึ้น ก็จะพากันกลับเข้ามาในตลาดมากขึ้น สายป่านที่เคยเก็บไว้ ก็สามารถลงทุนเพิ่มในหุ้นที่มีพื้นฐานดีๆที่ถูกทุบไปก่อนหน้านี้หรือหุ้นดีๆที่ยังไม่มีใครนึกถึง(หายากหน่อยนะ 5555) หากเราเพิ่มการลงทุนในหุ้นที่เรามีอยู่แล้ว หลายๆท่านอาจบอกว่า ทุนของเราก็จะเพิ่มขึ้นมิใช่หรือ ก็ถูกนะครับ แต่ขอแนะนำว่าควรเพิ่ม แต่ไม่ควรไล่ราคานะครับ ไม่ใช่ซื้อเพิ่มในจังหวะที่คนกำลังไล่ แต่ควรซื้อในจังหวะที่คนทำกำไรซึ่งราคาจะอ่อนตัวลงมาระดับหนึ่ง ถึงไม่ถูกเท่ากับตอน Low แต่ก็ไม่สูงเท่ากับตอน High นะครับ ยิ่งถ้าสามารถซื้อเพิ่มที่ระดับราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากๆได้ก็จะดีครับ พร้อมๆกันนั้นก็ตั้งจุด Keep Profit ไปเรื่อยๆ ดังนั้นหากเราซื้อเพิ่มจนเข้าใกล้จุด Keep Profit ก็ควรหยุดนะครับ

ก่อนพายุมาต้องหลบ เมื่อพายุมา ว่าว ก็ไม่สามารถเล่นได้ แต่ก่อนพายุมามักมีสิ่งบอกเหตุหลายๆประการ ปกติจะมี 2 รูปแบบคือ ลมนิ่งจนน่ากลัวแล้วเกิดพายุ กับลมแรงขึ้นเรื่อยๆจนเกิดพายุใหญ่ แบบหลังนี้น่ากลัวกว่ามาก (ทำให้คนติดดอยมามากแล้ว) ตอนลมนิ่งๆ หรือตลาดไร้ปัจจัยบวก จะมีเวลาค่อยๆคิดถอนการลงทุนหรือโยกย้ายหุ้นได้อย่างรอบคอบ หากเกิดพายุหลังจากปรับพอร์ทเรียบร้อยก็ถือว่า ท่านได้เข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมรับมือพายุได้อย่างดี และอาจได้รับประโยชน์จากการเกิดของพายุด้วยซ้ำ แต่หากตลาดอยู่ในช่วงกำลังบูม มักไม่ค่อยนึกถึงการปรับพอร์ทกัน อาจมีการขายทำกำไรกันบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ก็มักจะนำกำไรที่ได้ใส่กลับคืนเข้าไปในตลาดอย่างเร่งรีบ ซึ่งหากเกิดพายุทันที ก็จะเกิดความไม่พร้อม และคงได้แต่นั้งภาวนาเฝ้ารอให้พายุสงบโดยเร็ว และเสียโอกาสในการทำกำไรหลังพายุอย่างแน่นอน

ปล. ในขณะนี้ ตลาดยังเป็นไปตามคาดการณ์ตั้งแต่ผมกลับจากต่างประเทศ และพิมพ์เรื่อง คน 7 คน แต่รู้สึกว่าจะเกินความคาดหมายอย่างรวดเร็วมากเกินไป ซึ่งนับว่าลมกำลังแรงขึ้นเรื่อยๆแล้วนะครับ ขอเตือนหลายๆท่านที่กำลังผ่อนสายป่านรับลมออกไปด้วยครับ ยิ่งผ่อนสายป่านไปยาวมากเท่าใด ท่านก็ต้องใช้เวลากับการดึงสายป่านกลับมากขึ้นเท่านั้น และโอกาสของท่านจะลดลงหากเกิดพายุขึ้นทันที่ในสภาวะการณ์เช่นนี้ หวังว่าทุกๆท่านคงลงทุนกันอย่างรอบคอบนะครับ 55555

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 3 พ.ย. 46 11:17:47 A:210.1.6.101 X: ]

กลยุทธ์ที่ 6 สร้างพอร์ทที่มีแต่กำไร เพื่อฝึกให้สามารถถือยาวๆๆๆ

กลยุทธ์ที่กล่าวถึงนี้ไม่จำเป็นต้องรอขายหุ้นที่มีกำไรทั้งหมดเพื่อนำไปใส่ในพอร์ทหลังครับ และในทางปฏิบัติก็ทำได้ยากพอควรครับ และจะทำให้เกิดการปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไปในบางครั้งครับ (อ่านถึงตอนท้ายๆจะทราบครับว่าเสียโอกาสอย่างไร) ข้อสำคัญในการลงทุนไม่ให้เกิดความเครียด สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งก็คือกำลังใจครับ ระหว่างคนที่ลงทุนแล้วต้องนั่งจดจ่อรอคอย พร้อมกับลุ้นว่าจะกำไรหรือขาดทุน กับคนที่ไม่ต้องสนใจตลาดมากนัก ปล่อยให้เงินลงทุนทำงานของมันไปเรื่อยๆ คนหลังน่าจะมีความสุขมากกว่าจริงไหมครับ

เมื่อได้พิจารณาซื้อหุ้นตัวใดแล้วมีกำไร สามารถนำกำไรที่ได้ไปซื้อหุ้นอีกพอร์ทหนึ่งได้เลยครับ และไม่จำเป็นต้องซื้อตัวที่สร้างกำไรอยู่ในขณะนั้นด้วยครับ อีกประการหนึ่ง การที่จะเอากำไรทั้งหมดไปซื้อหุ้นตัวอื่นในอีกพอร์ทหนึ่งนั้น เวลาหุ้นตก จะมีความรู้สึกเสียดายพอสมควร วิธีที่นิยมใช้คือ แบ่งกำไรที่ได้เป็น 2 ส่วนในอัตราที่เหมาะสมกับจริตของแต่ละท่านครับ (ผมชอบ 70/30 ครับ) ผมเอาส่วนแรก 70% ไปเลือกซื้อหุ้นดีๆที่อยู่นอกฤดูกาลออกดอกออกผลเก็บไว้ในพอร์ทที่มีแต่กำไร ส่วนอีก 30% ที่เหลือเก็บไว้ในพอร์ทปกติเพื่อเพิ่มจำนวนเงินลงทุนหรือไม่ก็ถอนออกมาซื้อหาข้าวของและทำบุญทำทานบ้างครับ ด้วยวิธีนี้จะทำให้มีความรู้สึกว่าได้เห็นกำไรงอกเงยขึ้นในพอร์ทปกติ หลังจากนั้นก็เหมือนกับที่คุณ จูกัด เหลียงกล่าวไว้ครับ คือปล่อยพอร์ทที่มีแต่กำไรไปนานๆจนลืมเลยครับ (บางทีกลับมาดูแทบหัวใจวายเหมือนกัน 5555)

การที่นำเงินกำไรที่ได้จากการลงทุนในพอร์ทปกติ ไปซื้อหุ้นในอีกพอร์ท เป็นการแบ่งแยกที่ชัดเจนครับ ตอนแรกๆผมก็ปนๆกันไปทั้งหุ้นที่กำไรและขาดทุน และขายๆซื้อๆในพอร์ทเดียวอยู่เป็นนาน ปวดหัวกับการจัดการมากครับ และเมื่อนั่งสังเกตความรู้สึกของตนดู ยิ่งจำนวนหุ้นมากขึ้น ยิ่งสับสนครับ เลยแยกเป็น 2 พอร์ท ผลที่ได้คือ ในพอร์ทที่ใช้กำไรซื้อ ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลงผมไม่สนใจเลยครับ ถึงแม้หุ้นบางตัวจะติดลบหลังจากซื้อ ก็เป็นเพียงการขาดทุนกำไรครับ จึงไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอันใดเลย ทำอย่างนี้จึงทำให้ผมสามารถถือหุ้นบางตัวได้ยาวๆๆๆๆข้ามปีเลยครับ

นอกจากนี้ หุ้นในพอร์ทที่ใช้กำไรลงทุน จะเป็น Indicator ที่สำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจในการลงทุนพอร์ทปกติด้วย ผมเคยพบว่า หุ้นบางต้วในพอร์ทที่มีกำไร เคยติดลบกว่า 50% เมื่อพิจารณาพื้นฐานของหุ้นนั้น ผมก็ตัดสินใจลงทุนในพอร์ทปกติอีกครั้ง พอ Rebound ก็จะได้กำไรในพอร์ทปกติเป็นกอบเป็นกำพอสมควรด้วยครับ แล้วก็เอากำไรไปรอซื้อหุ้นตัวอื่นๆ ที่ Indicator ในพอร์ทที่มีแต่กำไรชี้ว่า หุ้นตัวนั้นมีราคาต่ำเกินไปแล้ว (สงสัยโดนทุบครับ) ตรงนี้แหละครับที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้นว่าทำให้ไม่เสียโอกาส เพราะในช่วงเวลาหนึ่ง หุ้นบางตัวอาจถูกทุบลงมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง หากเรารอจนหุ้นได้กำไรแล้วขายทิ้ง ช่วงจังหวะเวลาอาจไม่สอดประสานกันก็ได้ครับ ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งครับ "จังหวะเราเป็นผู้กำหนด โอกาสเราเป็นผู้สร้าง หนทางขึ้นอยู่กับความเป็นไปของโลกครับ"

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง หากตลาดเป็นขาขึ้นทั้งหมด 70% ที่ได้จากกำไร ไม่จำเป็นต้องนำไปซื้อหุ้นใดๆในทันทีนะครับ เก็บไว้ในบัญชีของพอร์ทที่มีกำไรก่อนก็ได้ครับ กำหนดจังหวะ สร้างโอกาสดีๆให้กับพอร์ทของตนดีกว่าครับ จะได้ไม่ขาดทุนกำไรมากนัก 55555
จริงๆแล้ว กลยุทธ์นี้ก็คล้ายๆกับ คลาย เครียด เรโช เหมือนกันนะครับ ต่างนิดตรงที่ว่า ต้นทุนผมติดลบจริงๆครับ ก็ติดลบจาก 30% ของสัดส่วนที่ผมกล่าวถึงในตอนต้นๆนั่นแหละครับ

กลยุทธ์ที่ 7 ลูกปิงปองที่ตกลงพื้น จะเด้งขึ้นสูงได้น้อยกว่าเดิม ยกเว้นมีแรงส่ง

ผมนั่งนึกย้อนเวลาไปในอดีต ค้นหาภาพเหตุการณ์ผิดพลาดต่างๆที่เป็นบทเรียนสอนใจให้จดจำมาจวบจนปัจจุบัน สำหรับนักลงทุนหลายๆท่าน ก็คงเคยได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดจากพฤติกรรมการลงทุนของตนเองบ้างไม่มากก็น้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่มีนิสัยไม่ดีตรงไม่ชอบ Cut Loss (แต่ก็เคยทำนะครับ) ความเจ็บปวดหนึ่งผุดขึ้นมา ผมเลยเอามาตั้งเป็นกลยุทธ์นี้ ซึ่งความผิดพลาดที่เคยพบและเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์นี้ มี 2 ลักษณะดังนี้ครับ

1. มีหลายๆครั้งที่ผมซื้อหุ้นที่ราคาสูงสุดในบางรอบ พอมันลงผมก็จะซื้อเฉลี่ยไปเรื่อยๆ ยิ่งลงยิ่งซื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงที่เจ็บปวดก็คือ พอมันหยุดแล้ว Rebound กลับขึ้นมา ผมก็จะรอไปเรื่อยๆ เนื่องจากคิดว่ามันจะกลับมาที่ราคาเท่ากับตอนที่ผมซื้อครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ผมมีกำไรมากมาย ผมพบว่า บางครั้งก็ได้ผล แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ผล เพราะราคาที่ขึ้นจากการ Rebound มักไม่สูงเท่ากับครั้งแรกที่ซื้อ พอผมรอไปถึงระยะหนึ่ง ราคามันก็ร่วงกลับลงไปอีก ทำให้เสียเวลาไปพอสมควร และความเจ็บปวดอันนี้เองที่เป็นบทเรียนให้ผมเคร่งครัดต่อวินัยในการลงทุนอย่างมาก และเป็นที่มาของการตั้งจุด Keep Profit ครับ

2. เช่นเดียวกับข้อแรก เมื่อผมซื้อเฉลี่ยไปเรื่อยๆจนถึงจุด Rebound ผมกลับใจร้อนรีบขายทั้งหมด เมื่อมันมีกำไรให้เห็นเพียงเล็กน้อย แต่แล้ว ผมก็ได้ยินเสียง อู๊ดๆไล่หลังมาในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากในช่วงจังหวะที่ขาย ผมมัวแต่ดีใจว่าได้ลงจากดอยแล้ว โดยไม่สนใจพื้นฐานการดำเนินงานของบริษัท หรือเหตุที่ทำให้ราคามันขึ้นมา ซึ่งบางครั้งหลังจากขายและเห็นราคามันขึ้นสูงกว่าจุดที่เคยซื้อครั้งแรก ผมจึงหาข้อมูลดู และพบว่า ที่ราคาขึ้นสูงเกินกว่าเดิมได้นั้น เพราะแรงส่งจากข่าวและผลการดำเนินงานของธุรกิจนั้น ความเจ็บปวดจากกรณีนี้ จึงทำให้ผมคอยติดตามข่าวและผลการดำเนินการของธุรกิจที่ผมลงทุนก่อนตัดสินใจขายในปัจจุบัน

บทสรุปจากทั้งสองกรณี คือต้องให้ความสำคัญต่อศึกษาหาข้อมูลในหุ้นที่เรากำลังจะตัดสินใจขายมากพอๆกับการตัดสินใจซื้อครับ

ในปัจจุบัน ผมจะวางเป้าหมายไว้ล่วงหน้าว่า หุ้นใดผมต้องการลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าใดก่อนเสมอ หากราคาของหุ้นลดลงผมยังคงซื้อเฉลี่ยอยู่ แต่ไม่รีบร้อนซื้อ จะต้องค้นดูสาเหตุของการลงเสียก่อน แล้วจึงตั้งเป้าหมายการซื้อเฉลี่ยแต่ละครั้ง ซึ่งหากจำนวนเงินที่ลงทุนซื้อเฉลี่ยไปเกิดมีจำนวนมากกว่าที่วางเป้าหมายไว้ เมื่อมีการ Rebound กลับ ผมจะดึงเงินส่วนเกินกลับขึ้นมาจากเป้าหมายการลงทุน ถึงแม้จะมีกำไรไม่มากนัก หลังจากนั้นก็จะถือหุ้นที่ราคาเฉลี่ยไปเรื่อยๆด้วยจำนวนเงินที่ตั้งเป้าหมายไว้แต่แรก (แต่มีต้นทุนต่ำลง)

ปล. การใช้กลยุทธ์นี้ ต้องปฏิบัติตามวินัยในการลงทุนอย่างเคร่งครัด และมีสายป่านยาวมากพอสมควรจึงจะได้ผลครับ ผมไม่มั่นใจว่าทุกคนจะสามารถทำได้ โดยเฉพาะมือใหม่มักหลงอยู่ในความคิดของตนวนเวียนจนตัดสินใจพลาดได้โดยง่ายนะครับ (ผมเคยเป็นมาแล้ว 5555)

ความเห็นเพิ่มเติมของคุณ think_pos
ขอแจมด้วยครับ
ลูกปิงปองอยู่สูงจากโลกมากขึ้นได้2กรณีใหญ่ๆคือ
1.สภาพความยืดหยุ่นของพื้นเปลี่ยนไป(สภาพคล่องในตลาดเงิน)
2.การย้ายระดับพื้น(ฐาน)ขึ้นบน(ยอดขายเติบโตและกำไรมากขึ้น)
ไม่ทราบว่ามองเห็นตรงกันอีกหรือไม่ครับ

กลยุทธ์ที่ 8 "จงเป็นพ่อค้าที่มีเงินทุนสำรองอยู่อย่างสม่ำเสมอ"
ต้องขออภัยท่านผู้ติดตามอ่านด้วยครับ เมื่อคืน และเมื่อวานซืน ผมพยายามจะโพสต์กระทู้นี้ แต่แปลก เมื่อเข้าสินธรสถานได้ ผมเห็นแต่หัวข้อกระทู้ เข้าไปอ่านกระทู้ไม่ได้ เข้าเวปอื่นๆก็เข้าได้ปกติ ใครเคยเจอแบบผมบ้างครับ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ช่วยแนะนำหน่อยครับ ผมให้หลายช่วยเก็บฮาร์ดดิสค์ตัวใหม่ไว้ แล้วเอาตัวเก่าที่มีโปรแกรมเก่าๆมาใช้งานก่อน ไม่เช่นนั้นอาจไม่ทันกำหนดเดินทาง

ผมคาดว่า กลยุทธ์นี้ เป็นกลยุทธ์ที่ยากที่สุดที่นักเก็งกำไรจะสามารถทำได้ในบางสถานการณ์ แต่กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผมได้กำไรจากการลงทุนแบบยั่งยืนครับ และผมคิดเองว่าเป็นกลยุทธ์ที่อาจสามารถทำให้นักเก็งกำไรบางท่านแปรเปลี่ยนเป็นนักลงทุนอย่างแท้จริงได้ครับ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง VI กับ VS แต่หากท่านใดมีความเห็นแตกต่าง ผมก็ยินดีรับฟังคำวิจารณ์และความเห็นหักล้างครับ

ใน 7 กลยุทธ์ที่กล่าวมา เป็นเพียงองค์ประกอบให้การดำเนินการในกลยุทธ์ที่ 8 นี้ บรรลุสู่เป้าหมาย หากแต่ว่า กลยุทธ์ทั้ง 7 นั้น ผมเห็นว่าสามารถใช้ได้ทั้งนักเก็งกำไรและนักลงทุน แต่กลยุทธ์ที่ 8 และ กลยุทธ์ที่ 9 ใช้ได้ผลสำหรับนักลงทุนที่แท้จริงเท่านั้นครับ ซึ่งเมื่อผมมองย้อนกลับไปดูในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมก็รู้สึกว่ากลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่หลอมรวมความคิดแบบนักเก็งกำไรของผมเองเข้ากับความคิดแบบนักลงทุนแบบพ่อค้า ให้กลายเป็นความคิดแบบนักลงทุนในตลาดหุ้นครับ โม้ไปหรือเปล่าใช้วิจารณญานส่วนตัวพิจารนาดูกันนะครับว่า ผมเป็นมนุษย์หุ้นแบบใด)


คงต้องขออธิบายถึงเรื่องการลงทุนก่อนนะครับ ในภาคปฏิบัติ มนุษย์ทุกชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาย่อมต้องคลุกคลีกับเรื่องการลงทุนบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ หากย้อนคิดถึงภาพต่างๆในอดีต หลายๆครั้งผมก็ได้เห็นตนเองซื้อของมาขาย ซื้อหนังสือมาอ่าน และได้นำความรู้ไปพูดกล่าวให้มนุษย์อีกหลายๆคนได้รับรู้รับฟัง อันนำมาซึ่งสินจ้างบ้าง น้ำใจบ้าง เหล่านั้นก็เป็นรูปแบบของการลงทุนอีกอย่างหนึ่งนั่นเองครับ หลายๆท่านลองรำลึกถึงอดีตกันดูบ้างนะครับ อาจเห็นภาพของตนเองแบบผมบ้างก็ได้ 5555

โดยสรุป จุดประสงค์ของการลงทุนคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับตอบแทนกลับคืน แม้การทำบุญก็อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบสุขในใจโดยมีความคิดขัดแย้งว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนอันใด รูปแบบของการลงทุนก็มีอยู่อีกมากมาย ดังนั้น ผมจึงขอมุ่งประเด็นให้แคบลงมาเฉพาะในเรื่องสองเรื่องคือเรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และการทำมาค้าขายนะครับ ซึ่งผมจะเรียกว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และ การลงทุนในตลาดซื้อขายสินค้า ไม่ว่าเราจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดซื้อขายสินค้า เป้าหมายที่สำคัญก็คือการได้มาซึ่งกำไรเหมือนกัน หากแต่ว่า เมื่อคนนึกถืงตลาดหลักทรัพย์ หลายๆคนกลับนำไปเชื่อมโยงกับการพนันกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วในการทำมาค้าขายปกติ ก็สามารถนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องการพนันได้เช่นกันครับ ผมนึกถึงวิธีถ่ายทอดความคิดออกมาให้เป็นรูปแบบง่ายๆ และสรุปออกมาเป็น เรื่องราวของชีวิตของคนสองคนที่ผมเคยได้สัมผัสในหลากหลายรูปแบบดังต่อไปนี้นะครับ

มีคนสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งชอบเล่นการพนัน (ผีพนัน) อีกคนชอบทำมาหากิน (คนขยัน) สองคนคบกันมาตั้งแต่เด็กจนแก่ ต่างก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด บางครั้งผีพนันก็ได้เงินมากมายจากการเล่นการพนัน แล้วก็พาคนขยันไปเลี้ยงดูปูเสื่อ คนขยันก็คอยเตือนผีพนันด้วยความจริงใจอยู่เสมอว่ามีเงินให้เอาไปทำมาหากินทางอื่นดีกว่า อย่าเล่นพนันต่อเลย หลายครั้ง ผีพนันก็มาขอข้าวคนขยันกิน ถึงกระนั้นคนขยันก็ไม่เคยดูหมิ่นดูแคลนผีพนันเพื่อนรักเลย เหตุเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งมีผีพนันได้ยินว่ามีการเปิดตลาดหุ้น

วันหนึ่ง ผีพนัน มาบอก คนขยัน ว่า ตนจะเลิกเล่นการพนันแล้ว ขอยืมเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นหน่อย คนขยัน ก็แย้งว่า มันก็การพนันเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าเอาไปเปิดร้านขายของจะให้ยืมเงินแต่ถ้าเอาไปลงทุนในตลาดหุ้นไม่มีให้ ผีพนันโกรธเลยหายไปเล่นพนันหนักขึ้น เป็นหนี้เป็นสิน โดนอันธพาลทำร้ายหลายครั้ง คนขยัน ได้ยินข่าวก็เสียใจ ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลในตลาดหุ้นดู ก็พบความจริงว่า ในตลาดมีทั้งนักพนัน และนักลงทุน จากนั้นก็เที่ยวตามหา ผีพนัน จนเจอในสภาพสะบักสะบอมเต็มทน ผีพนัน ยังโกรธคนขยันไม่หายเพราะช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นได้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนรวยจากตลาดมากมาย ถ้า คนขยัน ให้เงินทุน คงรวยและเลิกเล่นพนันไปแล้ว แต่คนขยันก็สามารถนำตัวผีพนันไปดูแลรักษาจนได้

คนขยัน ดูแลรักษาเพื่อนจนหายดี และบอกเพื่อนว่า จะให้เงินลงทุนในตลาดหุ้น แต่มีข้อแม้ว่า ผีพนันต้องทำตามที่ตกลง และให้ซื้อขายผ่านคนขยันเท่านั้น ได้เงินบวกลบเท่าใด หนึ่งปีมาคิดหักกลบลบหนี้กัน ผีพนันก็ตกลง และเริ่มต้นบอกให้คนขยันลงทุนตามที่ตนต้องการ แรกๆ ผีพนันก็ค่อยๆลงทุน เพราะกลัวเงินหมด เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ตลาดหุ้นเป็นตลาดขาขึ้น บางช่วงเวลา ผีพนัน เห็นว่าตนเองได้กำไรมากมาย จะมาขอเงินจากคนขยัน คนขยันก็บอกว่ายังไม่ครบหนึงปี ผีพนันก็ได้แต่หัวเราะแล้วบอกว่า เตรียมตัวแสดงความยินดีกับเขาไว้เถอะ ดูจากผลงานที่ผ่านมา คาดว่าเมื่อครบหนึ่งปี เขาจะมีเงินมากกว่า คนขยันหลายเท่านัก จากนั้นเหมือนยิ่งเล่นยิ่งมัน ผีพนัน บอกคนขยันให้ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงหลายๆตัวโดยไม่สนใจพื้นฐานมากนัก ครบหนึ่งปี ผีพนัน หายหน้าหายตาไม่ยอมมาพบ คนขยัน จนคนขยันต้องออกตามหา เมื่อพบ ผีพนัน ขอโทษขอโพย คนขยันที่ทำให้ต้องเสียเงินเสียทองมากมาย คนขยัน บอกไม่เป็นไร เห็นไหมว่าตลาดหุ้นมันก็บ่อนการพนันดีๆนั่นแหละ แถมเสียเงินทองมากกว่าเล่นพนันตามบ่อนเสียอีก ผีพนัน ละอายใจที่ทำให้เพื่อนเดือดร้อนและสาบานว่าจะกลับตัวเลิกเล่นพนันโดยเด็ดขาด และขอเป็นคนรับใช้คนขยันไปจนตาย คนขยันบอกผีพนันว่า ไม่ต้องเป็นคนรับใช้หรอก แต่ขอให้ทำมาหากินให้ดีก็พอ จะให้เงินลงทุนใหม่ ผีพนัน ซาบซึ้ง แล้วขอคำแนะนำจากคนขยันว่า ตนสมควรจะลงทุนค้าขายอะไรดี ความรู้ก็ไม่ค่อยมี คนขยันก็ตอบว่า ก็ลงทุนค้าขายในตลาดหุ้นนั่นแหละ ด้วยเงื่อนไขเดิม แต่เพิ่มข้อแม้ใหม่ คือ ต้องลงทุนในช่วงที่ตนบอก และเลิกลงทุนทันทีเมื่อตนบอกเช่นกัน

ผีพนัน สงสัยอย่างมากว่า ทั้งๆที่ตนเองทำให้ คนขยันเสียเงินทองมากมาย ทำไมยังให้ตนใช้เงินลงทุนในตลาดอีก ตนไม่อยากให้เพื่อนรักเสียเงินมากขึ้นอีก และไม่อยากเล่นพนันอีกเพราะผิดคำสาบาน (ถ้าไม่สาบานก็ไม่แน่ใช่ไหมละ 5555) คนขยันเลยเฉลยว่า ที่ผ่านมาตอนช่วงที่ ผีพนันได้กำไรตนเองก็ไม่ได้ซื้อ ตอนช่วงที่ขาดทุนตนเองก็ไม่ได้ซื้อ แต่ตนเองเตรียมเงินไว้จ่าย ผีพนัน หากสุดท้ายสรุปว่า ผีพนัน ได้กำไร และในขณะที่รับข้อมูลจาก ผีพนัน และศึกษาตลาด ก็พบว่า ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถ ซื้อขายหุ้นในตลาดได้เหมือนทำมาค้าขายสินค้าทั่วไปเหมือนกัน แต่ต้องมีวินัยในการลงทุนอย่างเข้มงวด และคิดเช่นเดียวกับการซื้อของเข้าร้านไว้รอขาย ของบางอย่างยังต้องรอเป็นเวลานาน บางทีหลายวัน หลายเดือนหรือบางอย่างก็เป็นปีถึงจะได้ขาย แถมบางอย่างก็ต้องตัดใจยอมขายขาดทุนเหมือนกัน แต่ข้อสำคัญ ของใดที่มีวันหมดอายุ ต้องรีบๆขายเอากำไร ยิ่งใกล้หมดอายุยิ่งน่ากลัว จึงต้องไม่ซื้อของใกล้หมดอายุมาขายเด็ดขาด ของบางอย่างคนเห่อซื้อในบางช่วงทำให้ขายได้กำไรดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห่อซื้อกันอย่างนั่นเสมอไป แต่ถ้าเป็นของไม่เน่าไม่เสีย ยังไงก็ยังขายได้ แต่จะขายได้เท่าใดก็เป็นอีกเรื่อง

สรุปแล้วหากรู้ว่า มีของที่ไม่เน่าไม่เสียให้ซื้อมาขายได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดร้านขายของหรอก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ตอนที่ซื้อของมา ต้องซื้อที่ราคาต่ำๆ เวลาขายจะได้กำไรดี แล้วต้องดูเงินทุนด้วย ไม่ใช่สักแต่จะซื้อจนทุนหมด พอมีของที่ถูกกว่ามาขายก็ซื้อไม่ได้ และด้วยเหตุผลในความส่วนนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อของกลยุทธ์ที่ 8 หากท่านทั้งหลายยังไม่เข้าใจ ขอให้ติดตามอ่านต่อไปครับ


จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 3 ธ.ค. 46 00:36:10 A:202.133.162.233 X: ]

ความคิดเห็นที่ 8

ความคิดเห็นที่ 1

ผีพนันฟังไปงงไป และที่สงสัยที่สุดคือคนขยันที่ไม่เคยข้องแวะกับเรื่องการพนันเลยมองเห็นอะไรจากตลาดหุ้นถึงได้คิดให้ตนลงทุนในตลาดหุ้นต่อไป แล้วก็ถามคนขยันว่า คนขยันจะลงทุนในตลาดด้วยหรือไม่ คนขยันพยักหน้าและตอบอย่างมั่นใจว่า ถ้าคนขยันลงทุนในตลาดเหมือนลงทุนในร้านขายของ ก็ไม่ต่างอะไรกันเลย แต่คนขยันคงไม่เอาเวลาค้าขายในตลาดจริงมาให้กับตลาดหุ้นมากนัก ดังนั้นผีพนันจะเป็นตัวแทนคนขยันในการค้าขายในตลาดหลักทรัพย์ ผีพนันยิ่งงงมากขึ้น เลยขอให้คนขยันช่วยอธิบายให้ละเอียดขึ้น คนขยันจึงรับปากว่าจะค่อยอธิบายไปที่ละเล็กที่ละน้อยให้ผีพนันเข้าใจง่ายๆ เรื่องราวที่คนขยันอธิบายให้ผีพนันฟังก็มีดังต่อไปนี้ครับ

คนขยัน หยิบของสิ่งหนึ่งในร้านขึ้นมาให้ ผีพนันดู มันเป็นของที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้กันอยู่ทุกๆวัน แล้วถามผีพนันว่า รู้ไหม ไอ้นี่ราคาเท่าไหร่ คิดว่าข้าซื้อมาเท่าไหร่ และถ้าข้าขายไอ้นี่ได้จะได้กำไรเท่าไหร่ ผีพนันก็ตอบว่า ก็ป้ายมันติดอยู่ 12 บาท ไม่เห็นต้องถาม ส่วนเอ็งซื้อมาเท่าไหร่ เอ็งไม่บอกข้าจะรู้ได้ยังไง แต่ข้าว่าไม่มีคนมาซื้อไอ้นี่ของเอ็งแล้วละ เก่าเหลือเกิน ซองห่อก็ออกสีเหลืองๆแล้วด้วย ใครจะซื้อ อย่างนี้น่าจะทิ้งไปได้แล้ว

ของที่สองคนพูดถึงกันก็คือ สบู่ ครับ คนขยันบอกผีพนันว่า เขาซื้อมันตั้งแต่ราคาก้อนละ 5 บาท ตอนแรกๆก็มีคนนิยมใช้ ข้าขายแค่ 6 บาท ข้าได้กำไรตั้ง 20% ต่ออัน ข้าเคยจดบันทึกไว้ตอนแรกๆ มียอดขายถึง 1000 อัน มันทำให้ข้าได้กำไรถึง 1000 บาทจากการลงทุนเพียง 5000 บาท พอข้าวยากหมากแพงขึ้นก็มีการขึ้นราคาสินค้า ราคาขายของสบู่นี่มันก็ขึ้น จากขายได้กำไรก้อนละ 1 บาทข้าก็ขายได้กำไรก้อนละ 2 บาท เพราะอะไรรู้ไหม ผีพนันจึงรีบตอบ เอ็งก็เก็งกำไรนะสิ ไปซื้อตุนไว้ใช่ไหม คนขยันก็ตอบว่า ใช่ ข้าเห็นแนวโน้มว่าราคาสินค้าต้องปรับราคาขึ้นแน่ๆ ข้อเลยซื้อไอ้นี่มาเยอะ พอปรับราคาขายขึ้นแต่ราคาทุนยังไม่ขึ้นข้าก็ได้กำไรมากขึ้นจาก 20% เป็น 40% ราคาที่ขายข้าก็ไม่ได้ตั้งเองนะ ก็ร้านอื่นๆเข้าขายกันราคานี้ ข้าก็ขายตามเขานั่นแหละ ไม่ได้โก่งราคาสินค้านะ แถมบางที่ข้าลดให้ลูกค้าประจำข้าสัก 50 สตางค์ด้วยซ้ำ และเมื่อข้าคิดทำแบบเดียวกันกับสินค้าอื่นๆในร้าน ผลก็เป็นอย่างที่เอ็งเห็น กำไรที่ได้มาก็ทำให้ร้านข้าเติบโตมากขึ้น ขยายสาขามากขึ้น

ตอนที่คนขยันหยิบสบู่ให้ผีพนันดูราคาป้ายคือ 12 บาท แต่เมื่อดูสบู่ยี่ห้ออื่นๆในร้าน ก็เห็นแต่ราคาสูงกว่าทั้งนั้น อย่างต่ำๆก็ 20 บาท ทำให้ผีพนันสงสัยว่า ทำไมขายไม่ออกทั้งๆที่ราคาถูกกว่ามาก เมื่อซักถามคนขยัน ก็ได้รับคำตอบว่า ตอนที่ราคามันปรับสูงขึ้น มันเคยขึ้นไปสูงถึง 24 บาท ตอนนั้นข้าได้กำไรมากมาย ผีพนันสงสัยว่าทำไมถึงได้กำไรมากนัก เพราะราคาทุนมันก็น่าปรับตาม กำไรต่อก้อนก็ไม่น่าสูงมาก คนขยัน เลยเฉลย ก็ซื้อมาตุนมากขึ้นเรื่อยๆนะสิ พอข้าขยายร้านขยายสาขา ข้ายิ่งสั่งไอ้นี่เข้าร้านมากขึ้น ด้วยคาดหวังว่ากำไรจะมากขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาจนได้ ต้นทุนสบู่นี่ ข้าซื้อสะสมมาเรื่อยๆตอนที่ราคามันค่อยๆปรับขึ้น จนต้นทุนเฉลี่ยของข้าอยู่ราวๆก้อนละ 16 บาท จริงๆก็อยากซื้อคราวละมากๆในตอนแรกๆ แต่ไม่มีเงินทุนมากพอ เพราะเอาไปซื้ออย่างอื่นเข้าร้านจนหมด ก็น่าเสียดาย (ตรงนี้เป็นเหตุผลที่หนึ่งในการสนับสนุนกลยุทธ์ที่ 8 ขีดเส้นใต้ไว้ด้วยนะครับ) ผีพนันรีบตอบโต้ว่า แต่คิดๆดูถึงแม้ซื้อเฉลี่ยตอนราคาทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังกำไรต่อก้อนถึง 8 บาทไม่ใช่หรือ 50% เลยนะ คนขยันจึงพูดต่อ มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นแหละ ถ้าไม่เกิดเหตุอันไม่คาดฝันขึ้น

อยู่มาวันหนึ่ง ก็เกิดอุบัติเหตุในโรงงานผลิตสบู่นี่ โรงงานเห็นขายผลิตภัณฑ์ได้มากก็ขยายโรงงานใช้เครื่องจักรใหญ่โตผลิตได้ทีละมากๆ ผลิตไปสักพักก็มีการล้างเครื่องจักร ปรากฏว่า คนงานในโรงงานคนหนึ่งดันเอามือล้วงเข้าไปทำความสะอาดเครื่องจักร แล้วโดนเครื่องจักรดึงเข้าไปทั้งแขน (ขาดไปเลย) ผีพนันก็ถามว่า มันก็อุบัติเหตุธรรมดา ไม่ใช่หรือ ไม่เห็นน่าจะมีปัญหาอะไรนี่ คนขยันก็พูดต่อ มันก็น่าจะจบแค่นั้น แต่มันไม่จบ ข่าวที่ออกมามันไม่ครบเพื่อให้คนเข้าใจผิด (หรือจะว่าโกหกก็ได้) จริงๆแล้ว ไม่ได้เกิดเหตุขณะล้างเครื่องจักร แต่เกิดตอนล้างบางส่วนของเครื่องจักรขณะกำลังผลิต ผลก็คือ เมื่อข่าวมันปรากฏในหนังสือพิมพ์ คนก็เลยกลัวว่า ได้สบู่ผสมเนื้อและเลือดคนมาใช้ ผีพนัน ก็เลยพยักหน้าเข้าใจ แล้วพูดว่า มิน่าราคาขนาดนี้ยังขายไม่ได้เหลืออยู่บานเบอะเลย คนขยันก็บอกต่อ ไม่ได้เหลืออยู่เท่าที่เห็นนี่นะ อีกหลายๆสาขาก็มีอีกเยอะ คราวนี้ต้นทุนเฉลี่ย 16 บาท เหลืออยู่ประมาณ 20000 ก้อน ก็ประมาณ 320,000.- บาท เชื่อไหมว่า ไอ้ที่กำไรๆมาตั้งแต่ต้น อยู่ในสบู่ทุกๆก้อนที่เห็นอยู่นั่นแหละ มีคนเขามาบอกให้ข้าเอาไปแปรรูปขาย ข้าก็บอกไปว่า ขนาดข้าเองก็ยังไม่กล้าใช้เลย จะเอาไปหลอกขายคนอื่นก็ดูกระไรอยู่ แต่ก็นึกว่าคงมีคนไม่สนใจเรื่องข่าวนั่นและกล้าใช้ ก็ค่อยๆลดราคาขายลงมาเรื่อยๆอย่างที่เห็นนั่นแหละ ก็ขายได้บ้างเล็กๆน้อยๆ ไม่รู้เมื่อไหร่จะหมด สุดท้ายแล้วจะได้ทุนคืนรึเปล่ายังไม่แน่ใจเลย ผีพนันก็พูดว่า คล้ายๆกับตอนที่ซื้อหุ้นบางตัวเลย มีข่าวดีๆราคาค่อยๆขึ้นไป ก็มีคนบอกให้ซื้อเฉลี่ยขาขึ้น พอเกิดข่าวลือและข่าวผิดหวังอะไรก็ไม่รู้ ราคาร่วง ถ้า Cutloss ไปก็จบเรื่อง แต่ก็คิดว่าน่าจะจบข่าวแล้วเด้งกลับได้ ก็รอ แต่จนแล้วจนรอดก็ร่วงเอาร่วงเอาจนต้องขายขาดทุนไปมากกว่าเดิมอีกมาก อย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกันเลยนะ ชื้อของมาขาย กับซื้อหุ้นมาขายนี่


จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 3 ธ.ค. 46 00:38:17 A:202.133.162.233 X: ]


Create Date : 25 กรกฎาคม 2548
Last Update : 29 กรกฎาคม 2548 11:52:42 น. 1 comments
Counter : 578 Pageviews.

 
คนขยันตอบผีพนันว่า ใช่แล้ว มันไม่ต่างกันนักหรอก ลองดูอีกกรณีหนึ่งสิ คนขยันพูดเสียงดัง ว่าแล้วก็หยิบของอีกอย่างให้ผีพนัน ของชิ้นนั้นราคา 500 บาท แล้วถาม ผีพนันว่า คิดว่าอันนี้ข้ากำไรอันละเท่าไหร่ ผีพนันก็ว่า อันนี้หายากนี่หว่าเห็นเขาพูดถึงกันและหากันทั้งบ้านทั้งเมืองช่วงนี้เพราะดันมีซุปเปอร์สตาร์เอาไปใส่ ข้าไม่ค่อยเห็นมีใครเขาขายกันเลยนี่หว่า แต่ยังไงกำไรก็คงไม่มากนักหรอก อย่างเก่งก็น่าจะราวๆ 30% ก็ราวๆ 150 บาท ใช่ไหมละ คนขยันตอบว่าไม่ใช่ อันนี้ข้ากำไร 400 บาท ผีพนันถึงกับตาลุกวาว โห กำไรตั้ง 400% อย่างนี้ค้ากำไรเกินควรนี่หว่า มิน่าถึงได้รวยเอารวยเอา นี่ถ้าข้าคาบไปบอกคนอื่นๆ เอ็งเจ๊งแน่ 5555 คนขยันก็หัวเราะ แล้วพูดต่อ เอ็งไปดูตามห้างอื่นๆสิว่าเขาขายอันนี้เท่าไหร่ ผีพนันบอก ก็บอกมาเลย ไม่ต้องข้าไปดูหรอกข้าเชื่อเอ็งอยู่แล้ว คนขยันได้ทีเลยเหน็บเล็กๆ ก็เพราะเอ็งเชื่อคนง่ายๆนั่นแหละ ถึงได้เจ๊งหุ้นจนหนีหน้าข้าไปเลย พอเห็นผีพนันทำหน้าจ๋อยๆ ก็รีบบอก ล้อเล้นโว้ย ไม่ต้องซีเรียส ผีพนันได้ทีก็พูดว่า ข้าก็แกล้งทำหน้าจ๋อยเว้ย เข้าเรื่องๆ ตกลงเขาขายกันเท่าไหร่ คนขยันจึงกลับเข้าเรื่องต่อ เอ็งไปหาตามห้างหลายๆห้างที่ไม่ใช่ของข้า เอ็งจะหาไม่ค่อยเจอหรอก แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน เห็นเขาขายกัน 600-650 บาท ข้าไม่รู้ต้นทุนของเขาหรอกนะ แต่ข้ามีเยอะพอควร เพิ่งไปค้นเจอใน Stock เก่า ต้นทุนแค่ 100 บาทให้เด็กมันเอามาทำความสะอาด เลยตั้งขายไม่สูงมากจะได้หมดเร็วๆ ผีพนันก็ถามทำไมไม่ขายราคามากกว่านี้หน่อย หมดช้าหน่อยแต่กำไรก็มากขึ้นไม่ใช่หรือ คนขยันตอบว่า สินค้าที่ไม่มีพื้นฐานความต้องการใช้งานอย่างจำเป็นต้องใช้แบบนี้ หรือพวกเสื้อผ้าแฟชั่น ไม่คงอยู่ในความนิยมนานนักหรอก รีบขายให้หมด กำไรน้อยหน่อยดีกว่าแบกต้นทุนไว้ต่อ จะได้มีเงินไปซื้อหาสินค้าอื่นมาวางขายต่อ

สินค้าชิ้นที่สองที่ทั้งสองคนพูดถึงกันอยู่นี้ก็คือ หินและลูกปัดหลากสีร้อยเรียงเป็นสร้อยคอบ้างสร้อยข้อมือบ้างสวยงามพอควร คนขยันอธิบายต่อ มีอยู่ช่วงหนึ่งคนบ้าเห่อใส่สร้อยคอหรือสร้อยข้อมือลูกปัด ข้าก็หามาขาย แต่ข้าได้บทเรียนจากสบู่ ข้าเลยซื้อครั้งสองครั้งตอนมันราคาทุนที่ 100 บาทแต่ก็ซื้อเยอะพอสมควร เพราะไม่อยากซื้อเฉลี่ยขาขึ้นอีก ลงทุนไปราวๆ 2-3 แสน ถ้าจำไม่ผิด พอดีตอนนั้นมีเงินเยอะวะ 5555 หลังจากนั้นก็ค่อยๆขาย จากกำไรประมาณ 5% 10% ไปจนสูงสุดราวๆ 50% ตอนนั้นก็ดีใจมากแล้ว แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆกับสบู่ ดันมีคนไปออกข่าวหนังสือพิมพ์ว่า เจอเจ้าของจากหลุมที่ชาวบ้านไปขุด เขามาทวงของเขาคืน เท่านั้นแหละราคาร่วงไม่เป็นท่าเลย ขนาดตั้งราคาขายขาดทุนทันที 20-40% ก็ขายไม่ออก คนกลัวผีกันเยอะ พอขายไม่ออก ข้าก็ไม่รู้ทำยังไงดี ช่วงนั้นคิดว่าอีกหน่อยคนคงลืม ก็เลยสั่งเด็กๆเอาไปเก็บใน Stock จนข้าเองก็ลืมไปเหมือนกัน พอมาช่วงหนึ่งคนลืมๆเรื่องนั้นกันไป แล้วมีข่าวซุปเปอร์สตาร์เมืองนอกเมืองไทยบอกใส่กันแล้วดีอย่างโน้นอย่างนี้ ตอนที่ข้ารู้ก็ลูกน้องมาบอกตอนนับ Stock ว่าเรามีอันนี้อยู่เยอะเลยนะ ตอนนี้ราคาดีด้วย จะเอาออกมาวางขายหรือเปล่า ก็เลยเอามาขายนี่แหละ ผีพนันบอกว่า แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นเลย ร่วงแล้วร่วงเลยยากที่จะกลับคืน คนขยันตอบว่า ไม่จริงหรอก เท่าที่ข้ารู้ หุ้นบางตัวเคยราคาตกลงไปกว่า 80% แต่ปัจจุบันกลับมีราคาสูงขึ้นมากกว่า 500% แต่ที่ผีพนันไม่เห็นเพราะพอราคาตกลงถึงจุดหนึง ผีพนันก็ Cutloss หรืออดทนไม่ยอม Cutloss ได้แค่จุดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้ขาดทุนมากขึ้นไปอีกด้วย แถมเท่าที่สังเกตวิธีการสั่งซื้อขายของผีพนันดู พอราคามันย้อนกลับมาเลยทุนที่ลงไว้ ผีพนันก็มักจะบอกขายเพราะเห็นว่าได้กำไรเล็กๆน้อยๆแล้ว แต่เวลาที่เสียในช่วงอดทนไม่ยอม Cutloss กับเวลาที่รอในช่วงที่น่าจะปล่อยให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ กับต่างกันลิบลับ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นนะหรือ เพราะคนเรามักยึดติดกับความถูกผิด ความเก่ง ความไม่เก่ง หากว่าซื้อหุ้นแล้วลง ถ้า Cutloss ได้ทัน แล้วหุ้นมันลงต่อ ก็มักมาบอกกันว่า ข้าเก่ง Cutloss ได้ทัน เห็นไหมราคามันร่วงจากที่ Cutloss ไปอีกเท่าไร เดี๋ยวพอราคามันต่ำๆกว่าเดิมมากๆข้าจะกลับเข้าไปซื้อ แล้วก็รอจนบางทีก็พลาดโอกาสรับซื้อคืนที่ราคาต่ำ หรือในบางครั้งก็ Cutloss ไม่ทัน เลยต้องอดทนรอ พอราคาสูงกว่าเดิมได้นิดหน่อย ก็รีบขายทิ้งเพราะจะได้เอาไปคุยว่ากำไรแล้ว ทั้งๆที่บางทีก็ขายหมู ผีพนันก็เสริมว่า บางทีไม่ได้ลืมนะ แต่ไม่มีเงินซื้อตอนราคามันต่ำๆ พอ Cutloss เสร็จก็เอาไปซื้อตัวอื่นๆที่คิดว่ามันลงมามากแล้ว พอตัวที่ Cutloss ไปราคาต่ำลงไปอีก ก็ไม่มีเงินเหลือซื้อ (ตรงนี้เป็นเหตุผลที่ 2 ที่สนับสนุน กลยุทธ์ที่ 8 นะครับ ขีดเส้นใต้ไว้ด้วยครับ) คนขยันก็บอก ก็เหมือนกับซื้อของเข้าร้านในนั้นแหละบางที่เห็นโรงงานผลิตสินค้าบางอย่างเขาจัดโปรโมชั่นลดราคาเป็นพิเศษให้กับร้านค้าแต่ต้องซื้อเป็นจำนวนมาก บางครั้งข้าก็เอาเงินไปซื้อจนเกือบหมดทุนเหมือนกัน พอโรงงานอื่นเขาลดราคาถูกกว่าบางทีข้าก็หมดเงินไปซื้อของเหมือนกัน แต่มันเป็นประสบการณ์ที่นานมาแล้วนะตอนนี้ไม่มีทางได้กินข้าแล้ว เหตุการณ์แบบนี้นะ

พอผีพนันฟังตัวอย่างที่สองจบ ก็นึกเปรียบเทียบกับการซื้อขายหุ้นดู ก็พอจะเข้าใจพ่อค้ามากขึ้นว่า ไม่แตกต่างอะไรกับตนนัก หากโลภมาก ซื้อของที่คิดว่าจะกำไรแน่ๆไว้มากๆ (เก็งกำไร) บางทีก็ต้องนั่งเสียใจเหมือนกัน ไม่ต่างอะไรกับคนในตลาดเท่าใดนัก แล้วก็พูดกับคนขยันว่า ข้าเห็นเอ็งเอาแต่ทำมาค้าขาย ที่แท้ก็มีเก็งกำไรเหมือนนักพนันเหมือนกันนี่ แต่เอ็งก็ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ มันต้องมีอะไรที่แตกต่างกันกับการลงทุนในตลาดบ้างสิ ลองคุยให้ฟังบ้างสิ คนขยันก็ตอบว่า จริงๆแล้วไม่มีอะไรต่างกัน แต่คนพยายามมองให้มันต่างกันด้วยเหตุปัจจัยสนับสนุนสำหรับโต้วาทีกัน ปัญหาอยู่ที่ว่า คนที่เข้าไปในตลาดหุ้นมักมองตลาดหุ้นเป็นที่ที่จะทำให้ตนร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว หลายๆคนที่พร่ำบอกคนอื่นๆว่าตนเองเป็นนักลงทุน ลองไปถามเขาดูสิ เขาคาดหวังว่าเขาจะได้กำไรจากตลาดหุ้นเป็นกอบเป็นกำในช่วงระยะเวลาเท่าใด แต่พอมองการค้าขายกลับมองว่าจะทำให้ร่ำรวยได้อย่างช้าๆไม่ทันใจ เอ็งลองนึกดูดีๆ ร้านแรกที่ข้าเปิดขายของข้าใช้เวลากี่ปีถึงจะเปิดร้านที่สอง แล้วอีกกี่ปีข้าถึงเปิดร้านที่ 3 4 5 ไปเรื่อยๆ ผีพนันตอบว่า ร้านแรกๆข้าเห็นเองล้มลุกคลุกคลานอยู่นานเหมือนกันนี่หว่า แต่พอถึงร้านหลังๆเห็นเปิดเอาๆเป็นว่าเล่นเลย คนขยันก็พูดต่อ ก็นั่นแหละ นักลงทุนในตลาดหุ้นก็เหมือนกันแหละ หากจะลงทุนแบบค้าขายเหมือนข้า เวลาลงทุนในตอนแรกๆก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆหาความรู้ ค่อยๆขยายทุนของตนขึ้นไป ไม่ใช่เอาไปเสี่ยงหมด ถ้าไม่มีทุนเหลืออยู่จะมีโอกาสลงทุนต่อหรือ ดังนั้นไม่ว่าจะลงทุนทำอะไร ข้อสำคัญต้องไม่ให้เงินทุนหมด เคล็ดลับนี้ข้าใช้มาตั้งแต่ได้คิดจากสบู่นั่นแหละ เอาเป็นว่าถ้าทำตามที่ข้าบอก เอ็งก็รวยได้อย่างข้า เผลอๆจะรวยกว่าด้วยซ้ำ เพราะข้าต้องยุ่งกับธุรกิจของข้า แต่ต้องท่องจำให้มั่นว่า "จะไม่ลงทุนเกินกึ่งหนึ่งของเงินทุนที่มีอยู่เสมอ" หากมีเหตุจำเป็นใดที่ต้องลงทุนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ต้องหาทางทำให้เงินทุนคืนกลับมากึ่งหนึ่งให้จงได้ จริงๆข้าก็อยากลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเต็มที่เหมือนกันนะ แต่จะให้ข้าทิ้งลูกน้อง เลิกกิจการ แล้วลงทุนในตลาดอย่างเดียวข้าคงทำไม่ได้วะ แต่เอ็งมีเวลามากมายกว่าข้าในการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น และเมื่อวันหนึ่งเอ็งประสพความสำเร็จจากการลงทุนในตลาด วันนั้นก็จะเป็นวันที่ข้าประสพความสำเร็จด้วยเช่นกัน 5555 ผีพนันฟังเพื่อนด้วยความรักและศรัทธาในน้ำใจไมตรีของเพื่อนและปฏิบัติตามคำแนะนำของคนขยันเป็นเวลาเรื่อยมา จนเวลาผ่านไปหลายๆปี ซึ่งหลังจากผีพนันลงทุนตามคำแนะนำของคนขยันไปได้สามสี่ปี พอคนขยันมั่นใจว่า ผีพนัน คนเดิมได้เปลี่ยนไปเป็น พ่อค้าตลาดหุ้นแล้ว คนขยันก็ปล่อยให้ พ่อค้าตลาดหุ้นคนนั้น ลงทุนและตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งพ่อค้าตลาดหุ้น ก็สามารถเอาตัวรอดในช่วงที่เกิดเหตุวิกฤติ ที่ทำให้หลายๆคนต้องผิดหวังและช้ำใจ ซึ่งกลยุทธ์เดียวที่พ่อค้าตลาดหุ้น ใช้เป็นหลักสำหรับทำการค้าในตลาดหุ้น จนมีกำไรมากขึ้นเรี่อยๆ และมีร่ำรวยขึ้นมามากพอสมควรก็คือ กลยุทธ์ที่ 8 นี้แหละครับ ในเวลาผ่านมา ที่ทั้งสองต่างก็วุ่นวายในการค้าขายของตน(แต่คนละตลาด) ต่างฝ่ายก็ไม่ค่อยได้คุยกันมากนัก จะมีบ้างก็เป็นช่วงที่ทั้งสองมีวันหยุดตรงกัน ต่างก็พาครอบครัวของตนไปเที่ยวด้วยกัน ก็ได้มีสิ่งที่ทั้งสองคนพูดคุยกันมากมาย หลายสิ่งก็เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ที่ 8 ซึ่งผมขอนำเสนอต่อไปโดยสรุปดังนี้นะครับ

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 3 ธ.ค. 46 00:38:53 A:202.133.162.233 X: ]

ความคิดเห็นที่ 10

ความคิดเห็นที่ 3

พ่อค้าตลาดหุ้น มักจะซื้อหุ้นในตลาดในช่วงที่เป็นขาลง และเป็นการซื้อแบบค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ แบบที่หลายๆท่านมักจะกล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นการซื้อเฉลี่ยขาลง ซึ่งเป็นวิธีที่หลายๆคนก็บอกว่าไม่ถูก ในความเห็นผมเอง คำว่าถูกหรือผิด ไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินเพียงวิธีการซื้อขายอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ว่า วิธีการใดจะถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับ ได้ทำตามกลยุทธ์ที่ 8 หรือไม่ การเป็นพ่อค้าที่มีทุนสำรองอยู่เสมอ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ อย่าทุ่มจนหมดตัวนั่นเอง คนขยันไม่ได้ประสพความสำเร็จจากการเปิดสาขาทุกสาขา บางสาขาที่เปิดก็ต้องปิดไป เพราะทำกำไรไม่ได้ตามเป้าหมาย (ไม่คุ้มทุนและเวลา) สิ่งหนึ่งที่พ่อค้าตลาดหุ้นคิดอยู่เสมอก็คือ โอกาสในปัจจุบันมีมากกว่าในอดีตหลายเท่านัก แต่หลายๆคนมักจะพูดว่าโอกาสร่ำรวยในอดีตมีมากกว่าปัจจุบัน คิดดูง่ายๆ คนขยัน เปิดสาขาแห่งหนึ่ง ต้องมีเงินลงทุนตกแต่งร้านเพียงใด ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่หรือเสียเงินทองสร้างตึกเพียงใด แต่พ่อค้าตลาดหุ้นไม่ต้องเสียค่าเช่าหรือเสียค่าก่อสร้างสิ่งใดๆ เขาไม่ต้องเสียเงินให้กับใครเลย ยกเว้น เขาต้องเสียเงินให้กับสิ่งที่หลายๆคนเรียกว่า ค่าคอมมิสชั่น หรือค่ารถไปห้องค้า ซึ่งคิดๆดูให้ดีก็ยังถูกกว่าค่าโสหุ้ยต่างๆในการนำสินค้าไปถึงมือลูกค้าเสียอีก ประเด็นเรื่องค่าคอมมิสชั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไรเลยหากการค้าขายหุ้นทุกครั้งมีกำไรมากกว่าค่าคอมมิสชั่น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการขายสินค้าที่บางอย่างกำไรมาก บางอย่างกำไรน้อย การที่ยอมให้โบรคได้คอมฯบ้าง อันที่จริงก็เป็นเรื่อง Think Win-Win แบบหนึ่ง สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้าตลาดหุ้นไม่มากก็น้อย คนที่ทำให้โบรคได้คอมฯ มากหรือน้อยกว่าตนเองก็เป็นนักลงทุนในตลาดเองนั่นแหละครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการค้านั่นแหละครับ

พ่อค้าตลาดหุ้น ได้นึกเปรียบเทียบการค้าในตลาดหลักทรัพย์กับการขายสินค้าในห้างของคนขยันว่า ห้างของคนขยันมีพื้นที่จำกัด แต่พื้นที่ร้านค้าของ พ่อค้าตลาดหุ้น ไม่เคยเต็ม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ไม่ว่า คนขยัน หรือ พ่อค้าตลาดหุ้น ต่างก็มีเงินทุนจำกัดอยู่ถึงจุดหนึ่งเหมือนกัน (แต่ไม่เท่ากันนะครับ) และต่างต้องค้นหาสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพมาวางขายให้ลูกค้าเลือกซื้อ (พ่อค้าตลาดหุ้นก็ต้องเฟ้นหาหุ้นของธุรกิจที่มีอนาคตซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองไม่เห็นมาเก็บไว้ในพอร์ทเช่นเดียวกัน) ดังนั้น การบริหารเงินทุน และการเลือกซื้อสินค้าเพื่อนำมาขาย จึงนับเป็นหัวใจของการประสพความสำเร็จอย่างแท้จริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่มักเป็นตัวเร่งซึ่งทำให้หลายๆคนตัดสินใจผิดพลาด สิ่งนั้นก็คือ เวลา หลายๆคนมักนึกว่า ค้าขายในตลาดต้องใช้เวลาอันสั้นให้ได้กำไรอย่างรวดเร็ว แต่พ่อค้าตลาดหุ้นคิดว่า จะใช้เวลาเท่าใดไม่สำคัญ แต่เมื่อขายต้องมีกำไร จะกำไรมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญแต่ต้องเป็นกำไรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ พ่อค้าตลาดหุ้นยังได้รับรู้ว่า ไม่ว่าตลาดจริงหรือตลาดหุ้นต่างมีความเสี่ยงในการลงทุนเหมือนๆกัน (ดังตัวอย่างจากสินค้ารสองอย่างข้างต้น) และการลงทุนในตลาดจริงหรือตลาดหุ้นให้ประสพผลสำเร็จสมควรต้องใช้เวลานานพอสมควร บางสินค้าที่ได้กำไรมากมาย ก็เหมือนบางหุ้นที่กำไรหลายเท่า แต่กำไรเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่แน่นอน แต่คล้ายๆกับได้รับโชคลาภ อันอาจสืบเนื่องจากการทำบุญกุศลทั้งในภพนี้หรือภพก่อนหน้า พ่อค้าตลาดหุ้นยังค้นพบอีกว่า คนขยัน หาสินค้าตัวหนึ่งมาวางขาย ต้องมีองค์ประกอบของอุปสรรคมากกว่า พ่อค้าตลาดหุ้น หลายประการ เช่น

- ต้องมีคนเห็นซื้อสินค้านั้น (บางทีวางไว้ในที่อับ คนก็ไม่เห็น) แต่หุ้นทุกตัวมีลูกค้าเห็นทุกวัน
- ต้องมีลูกค้าแวะเวียนเข้าร้านในจำนวนมากพอควร (บางสาขาไม่ค่อยมีคนเข้า ก็ต้องปิดสาขาไป ซึ่งเสียเงินลงทุนเปิดร้านไปพอควร) แต่ตลาดหุ้นมีคนเข้ามาดูนับแสนรายทุกๆวัน
- ต้องห่วงว่าสินค้าของตนมีราคาแพงกว่าร้านคู่แข่ง (คิดในขณะที่ยังมีกำไรในการขายสินค้า) แต่ในตลาดหุ้น ไม่ต้องสนใจว่าราคาสินค้าใครจะแพงกว่า เพราะใช้มาตราฐานเดียวและเปิดเผยให้เห็นกันโดยถ้วนหน้า
- สินค้าในห้างของคนขยัน มีมากมายนับหมื่นรายการ แต่สินค้าในตลาดมีเพียง ไม่กี่ร้อยรายการ การบริหารจัดการถือได้ว่าน้อยกว่ากันมากนัก (แต่จำนวนหุ้นที่น่าซื้อมาขายกลับมีไม่มากนักในช่วงเวลาต่างๆกัน)
- สินค้าในห้างแทบทุกชนิด มีวันหมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพ แต่หุ้นมีเฉพาะวันหมดอายุ ไม่มีวันเสื่อมคุณภาพ (แต่มีการเสื่อมราคา 5555)
- อีกหลายกรณีที่เคยนึกออกครับ แต่เวลาจะพิมพ์แล้วจำไม่ได้ ใครนึกออกช่วยๆกันเสริมหน่อยก็ดีนะครับ 5555

ดังนั้น พ่อค้าตลาดหุ้นจึงพบว่า การค้าขายในตลาดหุ้น จึงมีต้นทุนต่ำกว่า การค้าขายจริงๆมากมายนัก และการบริหารที่สำคัญที่สุดเพื่อประกอบการในฐานะพ่อค้าตลาดหุ้นให้ได้รับผลสำเร็จ อยู่ที่การบริหารเงินทุนและการเลือกซื้อหุ้นในช่วงเวลาต่างๆเท่านั้น (ซึ่งเคยนำเสนอในกลยุทธ์ที่ 1-7 ไปบ้างแล้ว) และในช่วงเวลาที่ผ่านมา พ่อค้าตลาดหุ้นก็ค้นพบเห็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นความจริงหลายประการคือ

- หุ้นที่มีราคาสูงเกินไปในช่วงหนึ่ง ต้องมีราคาลดลงในสักวันหนึ่ง
- หุ้นที่มีราคาต่ำเกินไปในช่วง Panic ต้องมีราคาเพิ่มขึ้นหลังจากหาย Panic
- หุ้นทุกตัว ไม่เคยมีราคาคงที่
- ในขณะที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ก็มีหุ้นบางตัวมีราคาต่ำลง
- ในขณะที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง ก็มีหุ้นบางตัวมีราคาสูงขึ้น
- หากธุรกิจยังคงมีผลกำไร ราคาหุ้นจะไม่มีราคาเป็นศูนย์อย่างแน่นอน
- หากตลาดหลักทรัพย์มีเหตุต้องปิดดำเนินการ เงินของพ่อค้าตลาดหุ้น จะยังคงเหลืออยู่ประมาณกึ่งหนึ่งเสมอ

กล่าวถึงตอนนี้ ในตอนต่อไปที่จะนำเสนอ (พิมพ์ไว้แล้ว) ผลยังมีความกังวลกับความรู้สึกว่า เป็นการนำเสนอที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการชี้นำท่านผู้ลงทุนทั้งหลายพอสมควร หากหลายๆท่านไม่สามารถดำรงตนอยู่ในวินัยของการลงทุนแล้ว วิธีซื้อของ พ่อค้าตลาดหุ้น อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อท่านได้ไม่มากก็น้อย ใจหนึ่งก็อยากนำเสนอจนหมดสิ้น อีกใจหนึ่งก็คิดว่า แค่นี้ก็คงพอ ในที่สุดทั้งสองใจ ก็ได้ตกลงกันว่า ขอให้เป็นการตัดสินใจจากผู้เข้ามาอ่านกระทู้นี้จะดีกว่า ดังนั้น จึงใคร่ขอความเห็นท่านผู้ติดตามอ่านด้วยครับว่า จะให้ผมนำเสนอวิธีการซื้อหุ้นของ พ่อค้าตลาดหุ้น โดยละเอียดหรือไม่ หากไม่มีผู้ใดต้องการ ผมก็คงขอจบกลยุทธ์ที่ 8 ไว้แต่เพียงเท่านี้ แต่หากมีผู้ต้องการอ่าน ขอได้โปรดให้คำตอบโดยไว เพราะผมต้องบินในวันที่ 5 นี้แล้ว ผมจะได้นำเสนอวิธีการซื้อก่อนผมเดินทาง และคงอีกนานพอควรถึงได้กลับมาต่อกลยุทธ์ที่ 9 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการถอยอย่างเป็นระเบียบต่อไป

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 3 ธ.ค. 46 00:39:52 A:202.133.162.233 X: ]

ความคิดเห็นที่ 11

ความคิดเห็นที่ 19

อ่านบทความของคุณ ชอบอ่านก็ดีทีเดียว สนุก ได้ความคิดบางอย่าง เสียอย่างเดียว ยาวจริงๆ จ้องนานๆตายลายได้แฮ 55 55 55

ผมสรุปสั้นๆ ทั้งผีพนัน (ตั้งชื่อน่ากลัว) และ คนขยัน (น่าจะตั้งว่า ผีขยัน เพราะอยู่บนโลกเดียวกัน ถ้าต่างโลกก็ เทพพนัน กับ เทพขยัน ) ล้วนแต่เกิดบนโลกเดียวกัน

สิ่งที่เหมือนกัน คือ
1.....ต้องดิ้นเอาตัวรอด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น (ส่วนวิธีต่างกัน ใครใช้วิธีไหนจึงเป็นการหาทางเพื่อตนเอง ฝ่ายตรงข้ามต่อว่าคัดค้าน ไม่เหมาะแน่)
2.....ธุรกรรมใดๆที่ยอมรับ ก็ถือว่าอยู่ร่วมกันได้ เช่น วัฒนธรรม ธรรมเนียมปฎิบัติ พฤติกรรมตอบสนอง ฯลฯ (เช่นเมื่อก่อนรัฐว่าการเล่นหวยผิด แต่เดี๋ยวนี้ถูก อยู่ร่วมกันได้ไม่ต้องถูกจับ การพนันผิด ถ้าอยากพนันก็ซื้อสลากกินแบ่ง อย่างนี้ถูก เป็นต้น)
3.....ชีวิตทุกชีวิตเกิดมาก็เริ่มนับความเสี่ยงเท่ากัน ไม่ว่าจะรวยจะจน ความแข็งแรงสุขภาพ เพียงแต่ว่าการดำเนินไปทุกวินาที เราเคยชินจนคิดว่าปกติ

สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือ
1.....กลยุทธการเอาชนะเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ เช่น การวางแผนซื้อหุ้น ตัวไหนดี เชื่อว่าปลอดภัยเพราะปัจจัย เชื่อว่าเจ้าของจะก้มหน้าทำการค้าเพื่อให้หุ้นส่วนได้กำไรโดยแบ่งปันผล เชื่อว่าเขาจะไม่ฉ้อโกงบัญชีเอาเงินกองกลางไปใช้ส่วนตัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต่างคนต่างเชื่อไม่เหมือนกัน
2.....ความเชื่อตามข้อ 1 ทำให้การปฎิบัติไม่เหมือนกัน เช่นคนที่เชื่อก็จะถือหุ้นเจ้าตัวนั้น เวลาที่นานตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ประกาศผลประกอบการ (ถ้าบังคับให้ประกาศผลงานทุกวัน คนที่เชื่ออาจตกใจได้) ดังนั้น เวลาการถือคลองหุ้นจึงเป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเฃิงตามคติความเชื่อแต่ละคน คนไม่เชื่อจะเล่นสไตล์การเก็งกำไรบ้าง (เวลายาวกว่าการพนันคือซื้อวันเดียวขายวันเดียวกัน)
3.....สถานะของแต่ละคนต่างกัน บางคนเรียนสูง บ้างฉลาด บ้างรวย บ้างชอบ บ้างเบื่อบ้างโลภ สิ่งเหล่านี้จะดึงไปสู่ข้อ 1 คือการวางกลยุทธหรือไม่วางกลยุทธเลย เล่นตามโพย เล่นตามเพื่อน เล่นเพื่อสนุก เล่นเพื่อเลี้ยงชีพ เล่นเพื่อส่ะใจ ฯลฯ

ความจริงมีรายละเอียดมากมาย ก็ฝากให้คนที่สนใจค้นคว้าศึกษาต่อไป

ฝากสุภาษิตหุ้น.....
เวลา คือตัวทำละลายในความเสี่ยงทั้งปวง
ถือหุ้น 1 วันไม่กำไรก็ถือ 10 วัน
10 วันไม่กำไร ก็ถือ 100 วัน
100 วัน ไม่กำไรก็ถือ 1000 วัน
เมื่อครบ 10000 วันยังไม่กำไร ก็จะรู้ว่าหุ้นนั้นไม่ดี (27ปี)
ปัญหาคือ ชีวิตเราจะร่วมการรอความเสี่ยง 27 ปีด้วยหรือไม่เท่านั้น


จากคุณ : อยากเชือก - [ 3 ธ.ค. 46 08:46:26 A:202.5.92.151 X: ]
ความเห็นดีๆ =="

ความคิดเห็นที่ 12

ความคิดเห็นที่ 53

ผมดุหลานไปเล็กน้อยครับ หวังดีก็ส่วนหนึ่ง จะปิดคอมฯก็ปิดได้ แต่ไม่ควรมาพิมพ์ในกระทู้ (พอดีเขารู้รหัสผม เนื่องจากเวลาไม่อยู่นานๆฝากเขาให้ช่วยต่ออายุบัตรผ่านให้) ตอนนี้ก็รับปากผมว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก ก็ไม่ติดใจอะไรอีก และอันที่จริงที่ได้โพสต์ในวันนี้ ก็อาศัยเขาเตือนละครับ ไม่งั้นคงมังสาละวนกับการเดินทางอยู่อย่างแน่นอน คืนนี้ใครไปสนามบินอาจได้เห็นผมบ้างก็ได้นะครับ แต่จะรู้ว่าเป็นผมหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่งนะครับ 5555 (ใบ้ให้นิดหนึ่ง มองหาคนผมขาวๆหน่อยครับ) นอกเรื่องไปหน่อย เอาละครับ ขอนำเสนอส่วนที่เหลือของกลยุทธ์ที่ 8 ต่อนะครับ ตัวเลขที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขสมมติ แต่สัดส่วนการคิดคำนวนเป็นของจริงนะครับ โดยสมมติง่ายๆว่าหุ้นที่เลือกซื้อเป็นตัวอย่างมีมูลค่า 1 บาทต่อหุ้น

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ ทุกๆท่านที่หวังดีนะครับ หากจะมีใครนำไปรวมเป็นเล่มขาย ผมขอเพียงให้นำรายได้ส่วนหนึ่งไปทำบุญบ้างก็พอครับ อุทิศแด่สรรพชีวิตที่ถือกำเนินมาเป็นเพื่อนร่วมโลก ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณครับ ไม่ต้องนำรายได้มาให้ผมนะครับ 5555

ในอดีตผมเคยแนะนำนักลงทุนบางท่าน แต่เนื่องด้วยเป็นการพูดคุยแบบไม่ได้สรุปเป็นตัวหนังสือแบบนี้ จึงเป็นเหตุให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจวิธีการทั้งหมดไม่ชัดเจนนัก ผลจึงส่งให้การลงทุนของเขาเสียหายไปบ้าง ผมจึงค่อนข้างระวังตนในการแนะนำ เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำโดยไม่ตั้งใจครับ หวังว่าทุกๆท่านที่เสนอความเห็นมาคงเข้าใจ

พ่อค้าตลาดหุ้น ได้ตั้งกฏเกณฑ์ในการซื้อหุ้นของตนไว้บางประการ เช่น กำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนในการเลือกซื้อหุ้นแต่ละตัว แต่ไม่ซื้อในคราวเดียว เช่น เมื่อกำหนดว่าจะซื้อหุ้น A ด้วยจำนวนเงินประมาณ 200,000.- บาท เขาจะกำหนดการซื้อเป็นหลายๆครั้ง ขึ้นอยู่กับหุ้นแต่ละตัว แต่มากที่สุดเขาไม่เคยซื้อเกิน 5 ครั้ง คิดตามดีๆนะครับ การคำนวนเยอะ แต่ผมพยายามจะอธิบายโดยละเอียด หากเย่นเย้อไปบ้าง ก็ขอให้คำนึงถึงคนที่ไม่ค่อยเก่งคำนวนด้วยนะครับ

ครั้งแรกพ่อค้าจะซื้อ 10,000 บาท ถ้าซื้อแล้วหุ้นขึ้นไปทันทีเขาจะปล่อยให้หุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ามีกำไรเกินกว่าจุด Keep Profit แต่ละจุด ก็จะตั้งจุด Keep Profit เป็นจุดขาย เช่น ถ้าตั้งจุด Keep Profit เป็น 5%, 10%, 15%, 20%, .... ตามลำดับ เมื่อหุ้นมีราคาสูงขึ้นเกินกว่า 5% และยังขึ้นต่อไปถึง 9% แล้วหุ้นตก เขาจะได้กำไรจากการขายที่ 5% เสมอ แต่หากหุ้นขึ้นไปเกิน 14% แล้วเริ่มตกลง เขาจะขายที่ 10% ฯลฯ ในทางกลับกันหากเริ่มซื้อครั้งแรกแล้วราคาตกลงไม่ว่าด้วยการคาดการณ์ผิดด้วยตัวเขาเอง หรือมีเหตุอื่นๆเช่น Panic หรือเหตุเลวร้ายอันใดก็ตาม เขาจะรอจนกว่าขาดทุนตั้งแต่ 10%, 20%, 40% , 60% และ 80% เป็นต้นไป (ขึ้นอยู่กับหุ้นแต่ละตัวด้วยว่าธุรกิจนั้นจะล้มเลยหรือว่าล้มชั่วคราว) แล้วจะซื้อเฉลี่ยด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้นจนค่าการติดลบเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 5% สมมุติเหตุการณ์ในการซื้อแล้วติดลบต่อหุ้นตัวหนึ่งเป็นดังนี้นะครับ (การคิด % ติดลบ จะคิดจากมูลค่าหุ้นที่ซื้อครั้งแรกเสมอนะครับ)

ซื้อครั้งที่ 1 ราคาหุ้นละ 1 บาท จำนวน 10,000 หุ้น เป็นเงิน 10,000 บาท ต้นทุนรวมคือ 10000 บาท
**********************************************************************************************

?? ติดลบ 10% ราคาต่อหุ้นคงเหลือ = .90 บาท จำนวนหุ้นคงเดิม 10000 หุ้น เงินคงเหลือตามบัญชี 9,000 บาท ขาดทุน 1000 บาท

ซื้อครั้งที่ 2 เพื่อให้มูลค่า % ติดลบเฉลี่ยที่น้อยลงเหลือ Y% จะต้องซื้อตามสูตรนี้ครับ

จำนวนเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่ม = (100 * จำนวนเงินที่ขาดทุนโดยรวม / มูลค่า % ติดลบเฉลี่ยที่น้อยลง) - จำนวนเงินลงทุนก่อนซื้อหุ้นเพิ่ม

ดังนั้นถ้าต้องการซื้อเฉลี่ยให้ขาดทุนเหลือ 5% จะต้องแทนค่า มูลค่า % ติดลบเฉลี่ย (Y) ด้วย 5 จึงได้ดังนี้

จำนวนเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่ม = (100 * 1000 / 5 ) - 10000 = 10000 บาท

ดังนั้นการซื้อครั้งที่ 2 จะซื้อที่ราคาหุ้น 0.90 บาท ด้วยเงิน 10000 บาท ได้หุ้นประมาณ 10000/0.90 = 11111.11 หุ้น ซึ่งพ่อค้าตลาดหุ้นจะปัดเศษขึ้น (เพื่อลดการขาดทุนเฉลี่ยให้เหลือน้อยกว่า 5%) ดังนั้นจึงซื้อเพิ่ม 11200 หุ้น = 10080 บาท และเมื่อรวมต้นทุนเดิมกับการซื้อครั้งที่ 2 ก็ต้องนำ 10000 + 10080 ก็คือ 20080 บาท จำนวนหุ้นทั้งหมดในมือ = 10000 + 11200 = 21200 หุ้น สรุปคือ

ซื้อครั้งที่ 2 ราคาหุ้นละ 0.90 บาท จำนวน 11200 หุ้น เป็นเงิน 10080 บาท ต้นทุนรวมคือ 20080 บาท
**********************************************************************************************
เมื่อคำนวนมูลค่าคงเหลือทางบัญชีใหม่จะได้ 21200 * 0.90 = 16960 ดังนั้นการติดลบเฉลี่ยจึงได้ = 100 / 20080 * 1000 = 4.98 %

?? ติดลบ 20% ราคาต่อหุ้นคงเหลือ = 0.80 บาท จำนวนหุ้นคงเดิม 21200 หุ้น เงินคงเหลือตามบัญชี 21200 * 0.80 = 169,60 บาท ขาดทุน 3120 บาท

การคำนวนว่าขาดทุนทั้งหมดเท่าใดได้จาก ต้นทุนรวม - เงินคงเหลือตามบัญชี ซึ่งก็คือ 20080 - 16960 = 3120 การขาดทุนมูลค่าต่อหุ้นจาก 1 บาทจนเหลือ 0.80 บาท ก็คือขาดทุนไป 20% นั่นเอง แต่ถ้าเทียบต้นทุนทั้งหมดกับการขาดทุนทั้งหมดจะมีการขาดทุนเฉลี่ย = 3120 * 100 / 20080 = 15.5% ซึ่งจะเห็นในช่องคำนวนสรุปของโบรคนั่นเอง

ซื้อครั้งที่ 3 เพื่อให้มูลค่า % ติดลบเฉลี่ยที่น้อยลงเหลือ 5% เมื่อซื้อตามสูตรเดิมจะแทนค่าได้ดังนี้ครับ

จำนวนเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่ม = (100 * จำนวนเงินที่ขาดทุนโดยรวม / มูลค่า % ติดลบเฉลี่ยที่น้อยลง) - จำนวนเงินลงทุนก่อนซื้อหุ้นเพิ่ม

จำนวนเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่ม = (100 * 3120 / 5 ) - 20080 = 42320 บาท

การซื้อครั้งที่ 3 จะซื้อที่ราคาหุ้น 0.80 บาท ด้วยเงิน 42320 บาท ได้หุ้นประมาณ 42320 / 0.80 = 52900 หุ้น พ่อค้าตลาดหุ้นไม่ต้องปัดเศษขึ้น ดังนั้นจึงซื้อเพิ่ม 52900 หุ้น = 42320 บาท และเมื่อรวมต้นทุนเดิมกับการซื้อครั้งที่ 3 ก็ต้องนำ 20080 + 42320 ก็คือ 62400 บาท จำนวนหุ้นทั้งหมดในมือ = 21200 + 52900 = 74100 หุ้น สรุปคือ

ซื้อครั้งที่ 3 ราคาหุ้นละ 0.80 บาท จำนวน 52900 หุ้น เป็นเงิน 42320 บาท ต้นทุนรวมคือ 62400 บาท
**********************************************************************************************
เมื่อคำนวนมูลค่าคงเหลือทางบัญชีใหม่จะได้ 62400 * 0.80 = 49920 ดังนั้นการติดลบเฉลี่ยจึงได้ = 100 / 62400 * 3120 = 5 %

?? ติดลบ 30% ราคาต่อหุ้นคงเหลือ = 0.70 บาท จำนวนหุ้นคงเดิม 74100 หุ้น เงินคงเหลือตามบัญชี 74100 * 0.70 = 51870 บาท ขาดทุน 10530 บาท


ซื้อครั้งที่ 4 เพื่อให้มูลค่า % ติดลบเฉลี่ยที่น้อยลงเหลือ 5% เมื่อซื้อตามสูตรเดิมจะแทนค่าได้ดังนี้ครับ

จำนวนเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่ม = (100 * จำนวนเงินที่ขาดทุนโดยรวม / มูลค่า % ติดลบเฉลี่ยที่น้อยลง) - จำนวนเงินลงทุนก่อนซื้อหุ้นเพิ่ม

จำนวนเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่ม = (100 * 10530 / 5 ) - 62400 = 148200 บาท

การซื้อครั้งที่ 4 จะซื้อที่ราคาหุ้น 0.70 บาท ด้วยเงิน 148200 บาท ได้หุ้นประมาณ 148200 / 0.70 = 211714 หุ้น พ่อค้าตลาดหุ้นจะปัดเศษขึ้น (เพื่อลดการขาดทุนเฉลี่ยให้เหลือน้อยกว่า 5%) ดังนั้นจึงซื้อเพิ่ม 211800 หุ้น = 148260 บาท และเมื่อรวมต้นทุนเดิมกับการซื้อครั้งที่ 2 ก็ต้องนำ 62400 + 148260 ก็คือ 210660 บาท จำนวนหุ้นทั้งหมดในมือ = 74100 + 211800 = 285900 หุ้น สรุปคือ

ซื้อครั้งที่ 4 ราคาหุ้นละ 0.70 บาท จำนวน 211800 หุ้น เป็นเงิน 148260 บาท ต้นทุนรวมคือ 210660 บาท
**********************************************************************************************
เมื่อคำนวนมูลค่าคงเหลือทางบัญชีใหม่จะได้ 210660 * 0.70 = 147462 ดังนั้นการติดลบเฉลี่ยจึงได้ = 100 / 210660 * 10530 = 4.998 %


ปัญหาหนึ่งคือ จะซื้อเฉลี่ยจนเหลือต้นทุนติดลบเฉลี่ยกี่เปอร์เซนต์จึงดีที่สุด อันนี้คงต้องทำการบ้านกันบ้างนะครับ หุ้นแต่ละตัวจะมีอัตราถดถอยแตกต่างกัน และมีช่วงห่างของมูลค่าราคาแตกต่างของราคาสูงสุดและต่ำสุดต่างกัน ดังนั้น พ่อค้าตลาดหุ้นจึงไม่ได้ใช้ค่าเฉลี่ยติดลบที่ 5% กับหุ้นทุกตัว หากหุ้นตัวใดช่วงช่วงราคาต่ำสุดสูงสุดน้อยก็อาจใช้ค่าเฉลี่ยติดลบน้อยลง และในทางกลับกันหากช่วงราคาห่างกันมาก ก็อาจใช้ค่าเฉลี่ยติดลบสูงขึ้นด้วยครับ ทั้งนี้หุ้นที่มีช่วงห่างมากๆก็คือหุ้นที่มีการ Swing ตัวสูงๆเป็นประจำ อันนี้ดูได้จากตารางที่หลายๆโบรคจัดไว้ให้นะครับ (แต่ต้องเก็บสถิตติเองนะครับ)


ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ จะต้องซื้อกี่ครั้งถึงจะพอ อันนี้แหละครับ จะต้องนำวินัยในการลงทุนมาใช้ พ่อค้าตลาดหุ้นได้ตั้งใจลงทุนกับหุ้นนี้ประมาณ 200000 บาท นั่นคือจุดสิ้นสุดครับ จะเห็นว่าต้นทุนรวมหลังจากซื้อครั้งที่ 4 จะเท่ากับ 210660 บาท ซึ่งเกินไป 10660 บาท ถึงตรงนี้ พ่อค้าตลาดหุ้นจะหยุดซื้อหุ้นตัวนี้ทันทีครับ และหากราคาหุ้นยังลดลงต่อเนื่อง เขาจะ Cutloss ที่ 7-10% ทันที หลายๆท่านคงคิดว่า หาก Cutloss ตั้งแต่แรกก็คงไม่ต้องเสียเงินมากขึ้นในการซื้อเฉลี่ย ขอให้คิดถึงจุดนี้ให้ดีนะครับ การ Cutloss เฉลี่ย ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซนต์ก็ตาม อาจมีการขาดทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่เท่ากัน บางท่านอาจลงทุนเริ่มต้น 200000 บาททันที ก็อาจเสียเงินที่จุด Cutloss ใกล้เคียงกับ พ่อค้าตลาดหุ้นเช่นกัน แต่จะเข้าใจนิสัยหุ้น(นิสัยคนปั่นคนทุบ)แตกต่างกัน หรือบางท่านอาจลงทุนถึง 1000000 กับหุ้นบางตัว เมื่อ Cutloss ที่เปอร์เซนต์เท่าๆกันก็จะเสียเงินมากกว่า จริงไหมครับ

ประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือ หากไปจับหุ้นตัวที่ปั่นจะเป็นอย่างไร คำตอบคือ ก็เจ๊งสิครับ 5555 ดังนั้นการศึกษาข้อมูลของหุ้นแต่ละตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น (ไปอ่านกลยุทธ์ที่ 1 ดูนะครับ) และหากท่านคิดถี่ถ้วนด้วยข้อมูลที่ดีและมีความรอบคอบในการซื้อแล้ว หากท่านต้องซื้อเฉลี่ยถึง 4 ครั้ง ท่านควรต้องคิดดูแล้วละครับว่า ท่านมองอะไรผิดแผกแตกต่างจากผู้อื่นหรือไม่ ยกเว้นกรณีที่หุ้นลงทั้งกระดานเนื่องจากเหตุอันไม่คาดฝันนะครับ (แต่ลงแบบนั้น พ่อค้าตลาดหุ้น ชอบมากๆเลยครับ)

ประเด็นหนึ่งที่ขอให้สังเกตกันดูดีๆนะครับ ในการซื้อครั้งที่ 4 พ่อค้าตลาดหุ้นใช้เงินไป 210660 บาท ซึ่งเกินจำนวนเงินที่ตั้งใจไว้ หากหุ้นตัวนั้นมีการปรับตัวขึ้นเกิน 5% ที่มูลค่าหุ้นเคยติดลบอยู่ แม้เกินค่า Commision เพียงเล็กน้อย เขาก็จะขายหุ้นบางส่วนออกไปทันที เพื่อให้เงินลงทุนเหลือประมาณ 200000 บาทเท่านั้น นี่เป็นวินัยการลงทุนที่สำคัญของเขาครับ

อีกประเด็นที่ฝากให้คิดนะครับ หากเปรียบเทียบคนที่ลงทุนครั้งเดียว 200000 บาทและไม่ยอม Cutloss ด้วยหลัก ไม่ขายไม่ขาดทุน สักวันมันต้องขึ้น เมื่อหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น พ่อค้าตลาดหุ้น จะเห็นหุ้นของตนเริ่มเป็นบวกในช่วงเวลาสั้นๆ แต่คนลงทุนครั้งเดียวจะต้องนั่งลุ้นว่าเมื่อใดมันจะกลับไปที่เดิมและทำกำไรได้ ถึงช่วงนั้น พ่อค้าตลาดหุ้นจะกำไรไปแล้วเท่าใด และหากย้อนกลับไปอ่านกลยุทธ์ที่ 7 ดู ท่านคิดว่าเป็นอย่างไรครับ

อีกประเด็นที่หลายๆท่านอาจคิดกันคือ ถ้าซื้อครั้งแรกแล้วหุ้นปรับราคาสูงขึ้นทันที ผู้ที่ซื้อ 200000 ในครั้งแรกจะได้เงินมากกว่ามาก อันนี้เป็นความจริงครับ พ่อค้าตลาดหุ้นรู้ข้อนี้ดี จึงไม่ยึดติดกับตัวหุ้น แต่ยึดติดกับธุรกิจครับ เมื่อใช้กลยุทธ์ที่ 4 จึงมีจำนวนหุ้นมากพอที่ให้เขาเลือกซื้อหาในช่วงเวลาต่างๆกัน ซึ่งโดยปกติ พ่อค้าตลาดหุ้น ก็ไม่นิยมซื้อเฉลี่ยในตอนขาขึ้นด้วยครับ (กลัวเป็นแบบสบู่)

มาถึงตอนนี้ ก็คงต้องขอจบกลยุทธ์ที่ 8 ไว้เพียงเท่านี้ครับ และขอเตือนไว้ด้วยความหวังดีด้วยครับว่า หากมีจิตใจและวินัยในการลงทุนไม่มั่นคงพอ อย่าได้ลองใช้กลยุทธ์นี้เป็นอันขาด ท่านอาจจะได้รับความเสียหาย ซึ่งผมไม่อาจรับผิดชอบได้นะครับ 55555


ปล. ติดตาม กลยุทธ์ที่ 9 "ถอยหนีอย่างเป็นระเบียบ จะได้เปรียบการถอยแบบเดาสุ่ม" ได้หลังจากผมกลับจากต่างประเทศนะครับ น่าจะก่อนปีใหม่ สวัสดีครับ


จากคุณ : ชอบอ่าน - [ 5 ธ.ค. 46 11:08:29 A:202.133.161.26 X: ]

ความคิดเห็นที่ 23

กลยุทธ์ที่ 9 การถอยอย่างเป็นระเบียบ จะได้เปรียบการถอยแบบเดาสุ่ม
การดำเนินชีวิตของคนปกติ มักคิดฝันกันถึงเรื่องความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความสุข ฯลฯ หลายๆคนก็บรรลุความหวัง ในขณะที่หลายๆคนก็พบสิ่งผิดหวัง หากแต่เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทุกๆชีวิตล้วนแต่ได้พบทั้งความผิดหวังและสมหวัง คนที่เก็บสะสมแต่ความสำเร็จไว้ ก็จะพบความสุข ส่วนคนที่ชอบรำลึกถึงแต่ความผิดหวังก็มักจะเป็นคนอมทุกข์ไว้ จนอาจทำให้ปิดกั้นความสามารถของตนไปก็มากมี

เมื่อเกิดสงครามใดๆ ย่อมต้องมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ ปัญหาคือฝ่ายแพ้จะสูญเสียเท่าใด และฝ่ายชนะจะได้ชัยชนะคุ้มค่ากับสิ่งที่นำไปแลกมาหรือไม่ การทำงาน การลงทุน และการปฏิบัติสิ่งใดๆก็ตาม ย่อมได้ผลซึ่งบ่งบอกถึงการได้มาและการสูญเสียบางสิ่งบางอย่างทั้งสิ้น กล่าวมายีดยาว จะเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างไรบ้าง ลองมาดูกันครับ

เมื่อตลาดอยู่ในภาวะที่ไม่น่าลงทุน โดยเฉพาะเมื่อเป็นตลาดขาลง (ซึ่งอาจเกิดเพราะสงครามหรือเหตุร้ายที่ไม่คาดฝันต่างๆ) กลยุทธ์นี้คงไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดผลในระยะสั้นได้ และคงไม่ได้ผลดีมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ก็คงออกจากตลาด กลับไปใช้ชีวิตที่ห่างไกลจากการลงทุนกันมากพอควร ซึ่งควรเป็นจุดที่สรุปได้ว่า ผู้ใดที่เข้ามาลงทุนในตลาด ได้รับชัยชนะหรือพ่ายแพ้กลับไป แต่ในปัจจุบัน ตลาดหุ้น ยังอยู่ในช่วง Sideway Up ซึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งต่อจากนี้ มูลค่าของหุ้นแต่ละตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานมั่นคง (ขอย้ำว่า มั่นคง นะครับ) จะมีมูลค่าสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ปัญหาการลงทุนในช่วง Sideway อยู่ที่ว่า หลายๆคนจะเข้าซื้อหุ้นด้วยแรงเชื่อจากคำว่า "ซื้อตอนที่ขึ้นแน่ๆดีกว่าซื้อตอนขาลง" ซึ่งไม่ใช่ประโยคที่ผิดนะครับ แต่หลายคนตีความผิดจนกลายเป็นซื้อตอนที่ราคาหุ้นนั้นขึ้นสูงเกินไปแล้ว ที่สำคัญหลายๆครั้งที่ซื้อก็อาจเจอช่วงปรับฐาน และไม่สามารถ Cut Loss ได้ทัน (Cut Loss ไม่ทันอาจเป็นเพราะราคาหุ้นร่วงผิดปกติ หรือไม่กล้า Cut หรือ ฯลฯ) จากที่กล่าวมา ทุกคนย่อมทราบดีว่าไม่ควรซื้อณ.จุดที่หุ้นกำลังจะปรับฐาน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าจะมีการปรับฐานปรับราคาลงในช่วงใดบ้าง คนส่วนใหญ่มักรู้ว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่เข้าสู่ช่วงของการปรับฐานก็ต่อเมื่อสายเกินกว่าจะ Cut Loss แล้ว

อันที่จริงแล้วหากซื้อสะสมหุ้นตามกลยุทธ์ที่ 8 แล้ว ก็ถือว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพราะในช่วงปรับฐาน (ไม่ใช่ช่วงขาลง) ไม่ว่าหุ้นใดๆที่มีพื้นฐานมั่นคง จะไม่มีการปรับฐานลงมากจนผิดปกติ หากซื้อตามที่กล่าวไว้นั้น ก็ถือได้ว่า เป็นการรุกด้วยการตั้งรับอย่างหนึ่ง หากแต่ คนคำนวนหรือจะสู้ฟ้าลิขิต เหตุอันไม่คาดฝันบางอย่าง อาจทำให้ตลาดยวบลงทันทีทันใด ผลก็คือ หุ้นในพอร์ทที่เคยมีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สลับกันไป อาจพร้อมใจกันเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งหมดในทันที แล้วจะทำอย่างไรละครับ มาดูกันทีละข้อเลยครับ

ข้อแรก เพิ่มปริมาณหุ้นแต่ไม่เพิ่มการลงทุน ซึ่งเป็นวิธีที่หลายๆคนนิยมทำกันมากคือ รีบขายทิ้งแล้วรอซื้อตอนราคาถูกกว่าเดิมครับ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การตัดสินใจที่ค่อนข้างถูกต้องแม่นยำ ไม่ยึดมั่นกับคำว่า "ไม่ขายไม่ขาดทุน" และมีจิดใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวกับการขาดทุนในเบื้องต้น และสามารถรอจนได้ส่วนต่างของราคาขายกับราคาซื้อคืนที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ซื้อหุ้นตัวหนึ่งมา 1000 หุ้นที่ราคา 1.25 บาท (ใช้เงินไป 1250 บาท) เมื่อแนวโน้มของหุ้นที่ถือครองมีราคาต่ำลงเพราะตื่นข่าวร้าย หากขายหุ้น 1000 หุ้นได้ที่ราคา 1 บาท จะได้เงิน 1000 บาท ซึ่งขาดทุนไป 250 บาท เมื่อรอให้หุ้นตกไปที่ราคา 0.80 บาทแล้วซื้อ จะได้จำนวนหุ้น 1250 หุ้น คือได้หุ้นเพิ่มมา 250 หุ้น โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม และเมื่อหุ้น Rebound ขึ้นมาที่ราคา 1 บาท ก็จะสามารถล้างขาดทุน 250 บาทได้โดยไม่ต้องรอให้ราคาหุ้นย้อนกลับไปที่ 1.25 บาทดังเดิม (เมื่อคำนึงถึง กลยุทธ์ เมื่อลูกปิงปองตกลงพื้น จะไม่สามารถเด้งสูงได้เท่าเดิม ข้อนี้จะทำให้สามารถลดการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว)

ข้อสอง แลกเปลี่ยนหุ้นโดยไม่ลงทุนเพิ่ม คนที่จะทำข้อนี้ได้ ต้องเป็นคนที่ไม่ยึดมั่นกับคำว่า "ไม่ขายไม่ขาดทุน" เช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนหุ้นโดยนำหุ้นที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงช่วงราคาน้อยๆไปแลกกับหุ้นที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงของช่วงราคามากๆ เช่น นำหุ้นที่มีราคาติดลบ 10% ไปแลกกับหุ้นที่มีราคาติดลบ 20% กล่าวคือ หากซื้อหุ้นสองตัวที่ราคาเท่ากันคือ 1 บาท มาอย่างละ 1000 หุ้น ใช้เงินทั้งสิ้น 2000 บาท เมื่อถึงช่วงฟ้าลิขิตให้ลง หุ้นตัวแรก จะมีราคาลดลง 100 บาท แต่หุ้นตัวที่สองจะมีราคาลดลง 200 บาท เมื่อเราขายหุ้นตัวแรกได้เงินมา 900 บาท และนำไปซื้อหุ้นตัวที่สอง จะได้หุ้น 720 หุ้น รวมกับของเดิมอีก 1000 หุ้น เป็น 1720 หุ้น หากสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ ราคาหุ้นโดยส่วนใหญ่กลับคืนสู่สภาพเดิม และสมมุติว่าหุ้นทั้งสองตัวกลับสู่ราคาเดิมด้วย ดังนั้น หุ้น 1720 หุ้น ราคากลับขึ้นไป 20% จะได้เงิน 2064 บาท (ได้กำไร 64 บาท) ซึ่งสามารถนำเงิน 1000 บาทไปซื้อหุ้นตัวแรกได้ 1000 หุ้นเท่าเดิม (เพราะช่วงราคาคืนสู่ค่าเดิม 10% ก็คือ 1 บาทอย่างเดิม)



จากคุณ : ชอบอ่าน - [ วันสิ้นปี 01:03:42 A:202.133.160.208 X: ]
อุ๊บส์ ลืม 9 =="

ความคิดเห็นที่ 24

ข้อสาม ปรับราคาทุนของหุ้น ข้อนี้ทำได้ยากที่สุด และผู้ที่จะทำต้องเข้าใจในนิสัยของหุ้นแต่ละตัวมากพอสมควร คนที่จะทำข้อนี้ได้ ต้องมีวินัยในการลงทุนเป็นอย่างมาก และปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่ 8 ได้อย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องมีเงินทุนสำรองอย่างเพียงพอ ซึ่งในกลยุทธ์ที่ 8 กล่าวไว้ถึงการซื้อเฉลี่ยเพื่อทำให้มูลค่าติดลบเฉลี่ยเหลือน้อยเพียงพอต่อการ Rebound ซึ่งหุ้นแต่ละตัวจะมีอัตราการ rebound แตกต่างกันไป ค่าใดเหมาะสมคงต้องพิจารณาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไปนะครับ ตัวอย่างเช่น เมื่อลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งและเกิดข่าวร้ายกระทันหัน โดยปกติด้วยแรง Panic จะทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างผิดปกติ แทบทุกตัว หากหุ้นตัวที่เราถืออยู่ได้รับผลกระทบจากข่าวร้ายในลักษณะแห่ตาม ด้วยสูตรในกลยุทธ์ที่ 8 และข้อมูลนิสัยของหุ้น
แต่ละตัว จะทำให้สามารถตั้งรับหุ้นที่ราคา Panic ซึ่งถ้าสมมติว่า ตั้งรับที่ราคา Panic จนสามารถเฉลี่ยการขาดทุนเหลือ 2% เมื่อหุ้น rebound กลับไปที่ 2% ต้องตัดขายหุ้นส่วนเกินจากความตั้งใจในการลงทุนทิ้งในทันที เช่น หากตั้งใจลงทุนในหุ้นหนึ่งเป็นเงิน 100000 บาท เมื่อเฉลี่ยราคา Panic ซึ่งอาจใช้เงินมากถึงหลายแสนบาท เมื่อเกิดการ Rebound ขึ้นมา 2% ซึ่งทำให้การขาดทุนเป็นศูนย์ จะต้องขายหุ้นออกไปให้เหลือต้นทุน 100000 บาทเท่าเดิมทันที (แต่จะมีต้นทุนลดลงอย่างมากด้วย) เพื่อเอาเงินทุนคืนมา หลายๆคนที่ใช้วิธีนี้ได้ แต่พอเห็นว่าหุ้น rebound ขึ้นมา 2% (บางครั้งมากกว่า 2% เล็กน้อยด้วยซ้ำ) กลับคิดว่าหุ้นจะไปต่อและน่าจะทำกำไรได้มาก จึงรอเพื่อหวังกำไร แต่หากการณ์ไม่เป็นดังที่คิด ที่สุดแล้ว ก็จะติดหุ้นด้วยเงินทุนที่มากขึ้นอีกเรื่อยๆ

ข้อสี่ ใช้กำไรหักกลบลบหนี้ วิธีนี้ หลายๆคนไม่ชอบทำ และไม่คิดที่จะทำ เนื่องจากแบ่งแยกหุ้นด้วยรูปธรรม คือไม่มองหุ้นเป็นหุ้นเหมือนๆกัน (งงไหมครับ 5555) กล่าวคือ ในเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่าง อาจส่งผลต่อหุ้นในตลาดไม่เหมือนกัน หุ้นที่ซบเซามาตลอดในช่วงเวลาปกติ อาจกลายเป็นหุ้นทำกำไรในช่วงวิกฤติ ในทุกๆวัน จะเห็นว่า ไม่มีวันใด หุ้นตลาดทุกตัวจะขึ้นพร้อมๆกันทั้งหมด และในวันที่หุ้นตก ก็ไม่มีวันใดที่หุ้นทุกตัวใดในตลาดที่มีราคาลดลงทั้งหมดเช่นกัน หากนำเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่นๆที่สามารถทำกำไรได้ ก็สามารถลดการขาดทุนลงไปได้เช่นกัน เช่น หากหุ้นในพอร์ททุกตัวกำลังมีราคาลดลง และพบว่าในตลาดมีหุ้นที่กำลังขึ้น ก็นำเงินไปซื้อหุ้นที่กำลังอยู่ในช่วงทิศทางขาขึ้น เมื่อได้กำไร ก็ขายหุ้นตัวที่ขาดทุนทิ้งไปเท่ากับกำไรที่ได้มา ด้วยวิธีนี้ คุณจะมีเงินทุนในพอร์ทเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ขาดทุน กล่าวคือ สมมติว่าซื้อหุ้น A ราคา 1 บาทมา 1000 หุ้น ติดลบไป 40% เหลือมูลค่าหุ้น A อยู่ 600 บาท คือหุ้นละ 0.60 บาท ถ้าคุณซื้อหุ้น B ที่ราคา 5 บาทจำนวน 200 หุ้น เป็นเงิน 1000 บาทและมีกำไร 12% คือได้กำไร 120 บาท ให้คุณขายหุ้น A ออกไป 200 หุ้น คือ 120 บาทเช่นกัน เช่นนี้ คุณก็จะเหลือหุ้น A 800 หุ้น และถ้าคุณขายหุ้น B ออกไปทั้งหมดด้วย ก็เท่ากับว่า คุณดึงเงินทุนจมในส่วนขาดทุนคืนมาได้ 120 บาท จากเดิมที่ขาดทุน 400 บาทก็จะเหลือการขาดทุนเพียง 280 บาท คนส่วนใหญ่ ซื้อหุ้นอื่นโดยหวังว่าจะได้กำไรมาล้างขาดทุน และเมื่อยังไม่สามารถล้างขาดทุน ก็จะรอต่อไป จนบางครั้งกำไรที่ได้มาก็อาจหายไปอีก จนไม่สามารถหักกลบลบหนี้ได้ และกลายเป็นทุนจมมากขึ้นอีก

จริงๆแล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมยังมีวิธีอื่นๆอีกพอสมควร แต่ไม่สามารถกล่าวถึงตัวอย่างให้เห็นเด่นชัดได้มากเท่าทั้งสี่ข้อนี้ และค่อนข้างซับซ้อน (ใครมีวิธีอื่นจะช่วยเสริมก็ดีนะครับ) บางครั้งผมก็ใช้ทั้ง 4 ข้อ บางครั้งผมก็ใช้เพียงข้อใดข้อหนึ่งกับหุ้นแต่ละตัว แต่โดยสรุปแล้ว วินัยในการลงทุน และความตั้งใจในการลดการขาดทุน เป็นจุดประสงค์หลักที่คนมักมองข้ามไป ผมเชื่อว่าหลายๆคนก็มีโอกาสใช้วิธีเหล่านี้บ้าง แต่ไม่ยึดมั่นในความตั้งใจลดการขาดทุน และกลับกลายเป็นอยากทำกำไร เลยทำให้บางท่านใช้วิธีเหล่านี้แล้วไม่สามารถประสพผลสำเร็จได้ ดังคำที่ว่า "หากไม่สามารถเอาชนะใจตนเอง โดยปฏิบัติสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกแล้ว จะเอาชนะสิ่งอื่นๆได้อย่างไร" อีกสิ่งหนึ่ง ที่ขอฝากไว้คือ หลายๆท่านไม่นิยมเล่นหุ้นหลายๆตัว อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาเฝ้าดูในตลาด หรืออาจเป็นเพราะคิดว่า ลงทุนตัวใดตัวหนึ่ง น่าจะเพียงพอ สำหรับท่านเหล่านี้ กลยุทธ์ที่ 9 นี้คงไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะช่วยไม่ได้เลยนะครับ ผมลงทุนในหุ้นหลายๆกลุ่ม โดยเลือกเฉพาะที่มีพื่นฐานดี (ดีของผมคือมั่นคงครับ) แต่ผมก็จัดลำดับความสำคัญของหุ้นแต่ละตัวไว้ เมื่อถึงคราวที่ผมต้องใช้กลยุทธ์นี้ แรกเริ่มเดิมทีก็หลุดจากความตั้งใจบ้าง แต่เมื่อเคยชิน ผมก็ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่เช่นกัน หวังว่าหลายๆท่านคงสามารถนำไปทดลองใช้ได้สำเร็จนะครับ

ปล. จากต้นปีหน้าไป ผมคงจะค่อยๆทยอยลง หุ้นที่ผมเลือกลงทุนแต่ละตัวในแต่ละกลุ่ม แต่ขอย้ำก่อนนะครับว่า บางตัวที่ผมกล่าวถึง ผมซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้นราคาที่ผมซื้อกับราคาในปัจจุบันไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้เป็นแบบเดียวกันได้ เนื่องจากต่างกรรมต่างวาระ ดังนั้น ผมจะพยายามพูดถึงลักษณะธุรกิจที่ผมลงทุน และทำไมถึงลงทุนในหุ้นตัวนั้น และอาจบอกถึงราคาที่ซื้อมา จากนั้นคงต้องปล่อยให้ท่านพิจารณากันเองครับว่า จะซื้อหรือไม่ เพราะ "ผู้ที่ซื้อทีหลังด้วยราคาแพงกว่า ย่อมเสียเปรียบผู้ที่ซื้อก่อนเสมอ" และที่ทิ้งท้ายไว้ตอนกลางวันถึงหุ้นในกลุ่ม Rehabco ที่ผมคิดว่า มีโอกาสกลับสู่หมวดปกติได้นั้น ผมขออุปไว้บอกให้ชัดเจนในปีหน้าครับ เพื่อให้หลายๆท่านได้ออกความเห็นกันบ้าง แต่ผมจะขอสาธยายลักษณะของหุ้นตัวนี้โดยสังเขป เพื่อเป็นมาตราฐานในการให้เหตุผลสำหรับหุ้นอื่นๆต่อๆไปในอนาคตไว้ดังนี้ครับ

- เป็นหุ้นที่อยู่มีสินค้าพื้นฐานสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งปีหน้าจะเป็นปีแห่งการก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ของรัฐบาลอีกหลายๆโครงการ

- ตามหนังสือชี้ชวน แจ้งไว้ว่า ยอดขายที่คาดการณ์ไว้ตลอดปี 2546 จะอยู่ราวๆ 7000 พันล้านบาท แต่ปรากฏว่าใน 3 ไดรมาสแรกของปี 2546 ทำยอดขายได้ประมาณ 7000 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดขายเกือบทั้งหมดเป็นยอดขายในประเทศ

- รองรับการขยายตัวด้านการขายไปยังต่างประเทศ (เพื่อนบ้าน) ในอนาคต ที่มีปริมาณมหาศาล (รวมทั้งรองรับการเติบโตของจีนอีกหลายปี)

- มีการวางแผนผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนที่จำเป็นในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งในปีหน้า

- มีจุดจำหน่ายสินค้ากระจายอยู่แทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

- ร่วมลงทุนโดยบริษัทที่ได้ชื่อว่า มีการบริหารที่โปร่งใส และมีธรรมาภิบาลพอสมควร

- ราคาสินค้าที่ผลิต อยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดการณ์กันว่าจะเกิดการขาดแคลนอย่างมากในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นอีกมาก

- คาดว่าจะสามารถโชว์ผลกำไรให้เห็นอย่างสวยงามในไดรมาสที่ 4 ของปี 2546 ที่กำลังจะประกาศให้ทราบกันในปีหน้า

- มีเงินทุนสำหรับดำเนินการมากพอที่จะดำเนินการต่อไปได้


***** โชคดีปีใหม่ ขอให้สุขสันต์ สุขี มีพลามัยแข็งแรง และร่ำรวยเงินทองกันถ้วนทั่วครับ *****

จากคุณ : ชอบอ่าน - [ วันสิ้นปี 01:04:38 A:202.133.160.208 X: ]


โดย: หมากเขียว วันที่: 29 กรกฎาคม 2548 เวลา:11:51:49 น.  

หมากเขียว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




สวัสดีครับทุกท่าน...ผมหมากเขียวแห่งสินธร...จาก Head of Prop Trade สู่ Private Trader อิสรภาพที่รอคอย



สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2553 โดย หมากเขียว™ ห้ามลอกเลียน ทำซ้ำ หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่เขียนโดยข้าพเจ้านอกจากจะได้รับอนุญาต

Copyright © 2010.All rights reserved. These articles and photos may not be copied, printed or reproduced in any way without prior written permission of Mhakkeaw™.
Friends' blogs
[Add หมากเขียว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.