In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

ผ่ากลยุทธ์'เฮดจ์ฟันด์'ชั้นครู ลงทุนให้'ชนะ'

ด้วยการกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ทุกชนิดที่ให้ผลตอบแทน ภายใต้ปรัชญาการลงทุน ไม่ผูกติดกับสินทรัพย์ใดๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ก็ต้องทำกำไรให้ได้...เซียนเฮดจ์ฟันด์ ระดับโลกข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผยความลับถึงประเทศไทย

พอล แกรมเบิลส์ ผู้จัดการและหุ้นส่วนของ เอ็มบีเอ็มจี กรุ๊ป บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนและให้คำแนะนำทางด้านการเงิน การลงทุน และกฎหมายแก่ธุรกิจในทวีปเอเชีย วิเคราะห์ว่า วิกฤติการเงินที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกหลังจากนี้จะอยู่ใน "สภาวะหมี" (Bear Market) อีกพักใหญ่ๆ

หากมองโลกในแง่ดี ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจจะสามารถฟื้นตัวได้ในปี 2552 แต่ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจจะตกต่ำไปทั่วโลก อาจต้องใช้เวลา "มากกว่า 3 ปี" ถึงจะฟื้นตัวได้

เขา ยังบอกด้วยว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ “ฝากชีวิต” ไว้กับการลงทุนในตลาดหุ้นถึง 70% ของเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งหลังจากเกิดวิกฤติตลาดทุนและตลาดเงิน ทำให้มูลค่าการลงทุนเฉลี่ยหดหายไปถึง 40-45%

กองทุนประเภทบริหารความเสี่ยง หรือ “เฮดจ์ฟันด์” จึงเริ่มมีบทบาทในตลาดทุนและตลาดเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 1.8 ล้านล้านเหรียญ (กว่า 61 ล้านล้านบาท)

ในฐานะที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน พอล แกรมเบิลส์ แนะนำให้นักลงทุน (ทั่วโลกรวมทั้งไทย) จัดพอร์ตโดยให้น้ำหนักกับการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ 10-20% ลงทุนในหุ้น 50-60% พันธบัตรรัฐบาล 30% น่าจะเป็นสูตรที่ลงตัวในสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำเช่นนี้

เจเรมี โอไฟรเอล ผู้อำนวยการกองทุนแอปเปิลตัน โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ โปรแกรม แห่งนิวยอร์ก ซึ่งเป็น เฮดจ์ฟันด์ ที่จดทะเบียนในประเทศไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2535 หนึ่งในพันธมิตรของเอ็มบีเอ็มจี กล่าวว่า แอปเปิลตันมีนโยบายการลงทุนแบบ Alternative Investment เช่นเดียวกับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วไปของโลกขณะนี้ ที่เล่นกับ "ความเสี่ยง" ทุกรูปแบบ

สำหรับการลงทุนในรูปแบบเดิม หรือ Tradition Investment คือการลงทุนในหุ้น พันธบัตร ฝากเงินสดไว้ในธนาคาร และ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เจเรมี บอกว่า มีความเสี่ยง “มากกว่า” เสียอีก เพราะตัวชี้วัดเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความซับซ้อนและผันแปรรวดเร็ว จึงไม่ควร “ฝากชีวิต” ด้วยการลงทุนกับสินทรัพย์ใดๆ ในระยะยาว

“เราได้นำทฤษฎีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาใช้ เพราะการยึดติดกับสินทรัพย์ใดเป็นเวลานานเกินไป ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น”

เขา อธิบายให้เห็นภาพว่า นักลงทุนทั่วไปอาจจะตกใจ และตื่นกลัว (Panic) กับวิกฤติการเงินในสหรัฐจนถึงกับเทขายหุ้น แต่สำหรับผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ จะไม่มีอารมณ์นี้ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ พวกเขาก็ต้องทำ “กำไร” ให้ได้ (เพราะเป็นหน้าที่)

สำหรับการจัดพอร์ตของแอปเปิลตัน จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ 4 อย่าง คือ สินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Soft Commodity หรือ สินค้าเกษตร, พันธบัตรรัฐบาลที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง, หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ และอัตราแลกเปลี่ยน

โดยเน้นบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลหลักของโลกในสัดส่วนสูงสุดของพอร์ต

เจเรมี ไขความลับปรัชญาการลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ มีอยู่ 4 ข้อ คือ หนึ่ง ผลกำไรในปัจจุบันไม่สามารถชี้วัดได้ว่าจะทำกำไรได้อีกในอนาคต

สอง มีตัวชี้วัดมากมายที่มีผลต่อมูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

สาม การเคลื่อนไหวตัวเองตลอดเวลาถึงจะให้ผลตอบแทนที่มั่นคง

และ สี่ ทุกสถานการณ์มีทั้งโอกาสและวิกฤติในตัวเอง

ส่วนเคล็ดลับในการทำกำไร ถ้าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนจะจับตากระแส Fund Flow ที่เข้าไปในตลาดหุ้นและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละชาติ โดยเน้นค่าเงินที่มีมีอิทธิพลในตลาดออฟชอร์ เช่น เยน ยูโร ปอนด์ ฟรังก์สวิส

ถ้าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ จะเข้าไปเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เช่น น้ำมันดิบ น้ำตาล ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง กาแฟ รวมถึงราคาทองคำ

เขาเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายน สามารถทำได้ 12.03% แต่ถ้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจะได้ผลตอบแทนที่ติดลบ

ด้าน จอร์แดน เธอร์โลว์ ผู้จัดการฝ่ายแห่ง แมน อินเวสเม้นท์ (MAN Investment) ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์สำหรับนักลงทุนรายย่อยใหญ่ที่สุดในโลกจากอังกฤษ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1783 ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 8 หมื่นล้านเหรียญ

นโยบายการลงทุนของ แมน อินเวสเม้นท์ ยังเน้นเก็งกำไรค่าเงินสกุลหลักของโลกในสัดส่วน 23% ของพอร์ต พันธบัตรรัฐบาล 20% ตลาดหุ้น 17% ธุรกิจพลังงาน 16.5% ที่เหลือเป็นอัตราดอกเบี้ย สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตร โดยสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 18.5% ทุกปี

จอร์แดน บอกว่า พอร์ตของกองทุนจะเน้นกระจายความเสี่ยง ไม่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้ผลตอบแทนเฉพาะช่วงสามเดือนที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินทำได้ 7.7% ซึ่งสูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย หรือ MSCI

ส่วนปรัชญาการลงทุนกองทุนแห่งนี้ จะเน้น Short Sale อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ว่าสภาพตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง ก็จะสามารถทำกำไรได้

ถามว่า...ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาและตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงจากการถูกเทขาย เฮดจ์ฟันด์จะเตรียมแผนรับมืออย่างไร จอร์แดน ตอบว่า "ไม่มี"

เพราะทัศนคติของผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วโลก จะมองว่าทุกสถานการณ์มีทั้งโอกาสและวิกฤติ ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ทีมา : กรุงเทพธุรกิจ




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2551 15:50:31 น.
Counter : 762 Pageviews.  

CDS ดินระเบิดวิกฤติเศรษฐกิจตัวจริง

Credit Default Swaps ( CDS ) หรือสัญญารับประกันเงินกู้ ถูกออกแบบมาใช้ครั้งแรกราวปี ค.ศ.1988 เพื่อใช้เป็นสัญญารับประกันการผิดนัดชำระหนี้ โดยคนซื้อตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมให้อีกบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้ขาย ซึ่งมักจะเป็นสถาบันการเงินเพื่อให้ออกสัญญาฉบับหนึ่งที่ให้การรับประกันมูลหนี้ที่ผู้ซื้อได้ปล่อยกู้ หรือซื้อหุ้นกู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ

หากสถาบันการเงินอื่นผิดนัดชำระหนี้ ผู้ขาย CDS รับที่จะชดใช้มูลหนี้ก้อนนี้ให้แทน

คนขายได้ค่าธรรมเนียม คนซื้อได้รับการคุ้มครอง ขณะที่ความเสี่ยง (เรื่องหนี้สูญ ) ถูกโอนจากคนซื้อไปที่คนขาย CDS

โดยทั่วไป CDS จะเป็นสัญญาระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง ที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากการนำเงินของตนไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัทอื่น

ค่าธรรมเนียมมักจะอยู่ระหว่าง 5-8% ของวงเงินที่จะให้รับประกัน ขึ้นกับความมั่นคงของบริษัทลูกหนี้ หากหุ้นกู้มีปัญหา ธนาคารผู้ขาย CDS ต้องชดใช้เงินให้เท่ากับ 100% ของราคาพาร์ของหุ้นกู้นั้น

ฟังดูน่าจะเป็นการดี ที่สถาบันการเงินมีความรอบคอบที่จะปกป้องตัวเอง แต่ปัญหาคือ มันไม่มีกฎระเบียบในเรื่องนี้ ไม่มีองค์กรกลางที่จะมาเป็นศูนย์ควบคุมดูแลหรือตรวจสอบธุรกรรมเหล่านี้

การซื้อขายมักจะทำกันทางโทรศัพท์หรือแฟกซ์ เจ้าหน้าที่เทรดเดอร์แต่ละคนก็ใช้วิธีจดบันทึกด้วยปากกา ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามารับรู้ หรือเป็นสักขีพยาน

ไม่มีการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ไม่มีการแถลงข้อมูลรายละเอียดของบริษัทลูกหนี้ ไม่มีรายงานประจำปี เจ้าหน้าที่ตัดสินใจจากประสบการณ์ของตนเอง

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ นักลงทุนสามารถซื้อ CDS ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของหุ้นกู้เลย ยกตัวอย่าง เช่น คุณสามารถไปเดิมพันในการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพร์มได้ โดยคุณไม่ได้ปล่อยกู้สินเชื่อซับไพร์มนี้เลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว

คุณเพียงแต่เดินไปจ่ายเงินเดิมพันราว 7% หากสินเชื่อส่วนนี้ผิดนัดชำระหนี้ คุณจะทำเงินได้ถึง 93% ทีเดียว (เมื่อหักค่าธรรมเนียมออกแล้ว) ซึ่งไม่ได้มีอะไรแตกต่างกับคนที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้ แล้วไปซื้อ CDS ในราคาเดียวกัน

คนหนึ่งซื้อเพื่อเป็น “หลักประกัน” ขณะที่อีกคนซื้อเพื่อ “แทงพนัน”

ส่วนสถาบันการเงินนั้นเล่า ก็ยกตัวเองมาเป็น “บริษัทประกัน” ที่รับประกันการล้มละลายของบริษัทอื่นๆ โดยที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแล ซึ่งถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ได้เสนอตัวเป็น “เจ้ามือ” รับแทงพนัน โดยมีความอยู่รอดของบุคคลที่สามเป็นเดิมพัน

มันไม่เป็นที่แน่ชัดว่า CDS ที่ขายออกไปในท้องตลาดแบบไหนมากกว่ากัน แต่คาดกันว่า แบบ “แทงพนัน” มากกว่าแบบ “หลักประกัน”

ที่น่าตกใจคือ มูลค่ารวมของ CDS ที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา น่าจะมีมูลค่าถึง 55 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทุกประเทศในโลกนี้รวมกันทั้งหมดเสียอีก

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เคยมีผู้ประมาณการไว้ว่า สินเชื่อบ้านในสหรัฐทั้งหมดรวมกันน่าจะมีมูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้สินของบริษัทต่างๆ รวมกันน่าจะอยู่ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์ รวมหนี้สินของภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชนน่าจะอยู่ที่ 14 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ CDS กลับมีมูลค่ารับประกันรวมถึง 55 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่ามูลหนี้ที่มีอยู่จริงถึง 4 เท่า

นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่า การซื้อ CDS เพื่อการเก็งกำไรหรือเพื่อแทงพนันนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล

ดังนั้น แทนที่ CDS จะมีไว้รับประกันความเสี่ยง กลับกลายเป็นว่า มันเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงิน เพราะสถาบันการเงินใหญ่ๆ ล้วนแต่ขาย CDS ด้วยกันทั้งนั้น เนื่องจากเห็นว่า เป็นช่องทางรับค่าธรรมเนียมได้โดยง่าย และคิดว่าได้มาฟรีๆ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมื่อสถาบันการเงินหนึ่งล้ม สถาบันการเงินแห่งที่สอง ที่สาม จะล้มตามกันมาเป็นทอดๆ

ถึงตอนนี้ ท่านทราบหรือยังว่า ทำไมจึงกล่าวว่า CDS คือดินระเบิดที่แฝงอยู่ในตลาดวอลล์สตรีท ที่มีแรงอัด 3-4 เท่า และสามารถทำปฏิกิริยาลูกโซ่ได้

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องตระบัดสัตย์ ยุติหลักการค้าเสรีไว้เป็นการชั่วคราว ประกาศตัวเข้าอุ้มสถาบันการเงินเอกชน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้า ประกาศยืนยันจะไม่เข้าแทรกแซงกิจการของเอกชน จะไม่มีการนำเงินภาษีของประชาชนไปช่วยคนผิดที่ทำธุรกิจแบบไม่รับผิดชอบ มุ่งเน้นแต่การเก็งกำไร

แต่ท่านคงมาได้สติว่า ถ้าไม่รีบเข้าไปช่วยตอนนี้ อาจจะไม่มีเหลือให้ช่วยในอนาคตครับ

บรรยง วิทยวีรศักดิ์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2551 15:41:30 น.
Counter : 733 Pageviews.  

Credit Default Swap ในวิกฤตการเงินโลก

ถ้าเปรียบวิกฤตการเงินโลกปี 2008 เป็นบทละครฉากใหญ่ Credit Default Swap (CDS) ก็คือตัวละครเอกที่สำคัญมากที่สุดตัวหนึ่งของเรื่อง

เริ่มต้นรับบทบาทในฐานะเป็น Hedging Instrument ช่วยสร้างตลาดเครดิตให้เติบโต แต่เมื่อบทบาทในฐานะเป็น Speculative Instrument มาแรงขึ้นจนกลบบทบาทแรก CDS กลายเป็นจำเลยในฐานะเร่งปฏิกิริยาระเบิดให้รุนแรงเป็นลูกโซ่ CDS คืออะไร เติบโตอย่างไร ใครคือผู้เล่นในตลาด ทำไมจึงเป็นตัวเร่งวิกฤต บทเรียนครั้งนี้คืออะไร ล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทีจะกล่าวถึงในรายงานนี้

CDS คืออะไร

CDS เป็นสัญญาระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ซื้อประกันความเสี่ยงเครดิต (Default Protection Buyer) ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองความเสียหาย หากหุ้นกู้ที่อยู่ภายใต้การประกันกลายเป็นหนี้เสีย และอีกฝ่ายเป็นผู้ขายประกันความเสี่ยงเครดิต (Default Protection Seller) เป็น ผู้จ่ายค่าเสียหายเมื่อหุ้นกู้ที่ประกันกลายเป็นหนี้เสีย สัญญา CDS จึงมีคู่สัญญาสองฝ่าย คือ ผู้ซื้อประกันและผู้ขายประกัน

โดยความเสี่ยงเครดิตผูกติดกับฝ่ายที่สามคือ ผู้ออกหุ้นกู้ที่อยู่ภายใต้ประกัน

ผลตอบแทนที่ผู้ขายประกันจะได้รับ คือค่าธรรมเนียมรายปี คำนวณจากค่า CDS Spread ที่ตกลงกันเมื่อทำสัญญา ค่า CDS Spread จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงเครดิตของหุ้นกู้ที่อยู่ภายใต้ประกัน โดยวัดที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ หากวิเคราะห์ในแง่มุมของการมีฐานะความเสี่ยงเครดิต (Credit Risk Exposure) ผู้ซื้อ CDS คือผู้ปลดความเสี่ยงเครดิตออกจากตัว เสมือนหนึ่งเป็นผู้ที่เอาหุ้นกู้ที่ถืออยู่ขายออกไป ในขณะที่ผู้ขาย CDS เป็นผู้เพิ่มความเสี่ยงเครดิตในพอร์ต เสมือนหนึ่งเป็นผู้ซื้อหุ้นกู้เพิ่มเข้ามาในพอร์ต และได้รับอัตราผลตอบแทนคือ CDS Spread ซึ่งเสมือนหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ยรับ โดยคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น CDS จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือ Credit Risk Hedging

CDS เติบโตได้อย่างไร

CDS ถูกพัฒนาขึ้นโดยธนาคารเจ.พี.มอร์แกน เชส เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เมื่อถูกนำออกใช้ในตลาด ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการซื้อ/ขายประกันความเสี่ยงให้ฐานะความเสี่ยงด้านเครดิตเสมือนหนึ่งลด/เพิ่มการลงทุนในหุ้นกู้ แต่ CDS มีความยืดหยุ่นมากกว่าการซื้อขายหุ้นกู้ใน Cash Market เนื่องจากสิ่งที่ซื้อขายคือสัญญา จึงไม่ต้องมีหุ้นกู้ที่เป็นของจริงมาส่งมอบ ส่งผลให้

1.ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากเพื่อเพิ่ม/ลด Credit Exposure

2.สามารถเข้าถึง Credit Rating, Maturity ของหุ้นกู้ที่หาซื้อไม่ได้ใน Cash Market

3.หุ้นกู้ที่อยู่ภายใต้การประกันสามารถเป็นตัวเดียวหรือหลายตัว ที่มี Rating, Maturity หลากหลายตามแต่จะระบุในสัญญา

ด้วยคุณสมบัติของความยืดหยุ่น CDS กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำ Active Portfolio Management และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวของ ค่า CDS Spread ของหุ้นกู้ที่อยู่ภายใต้ประกัน กลายเป็นข้อมูลสำคัญชี้วัดถึงความเสี่ยงเครดิตของหุ้นกู้นั้นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน

ในเวลาต่อมาวิวัฒนาการใช้ CDS ได้ทำให้ CDS กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญมากที่สุดของนวัตกรรมการเงินที่เรียกว่า Synthetic Collateralized Debt Obligation (Synthetic CDO) ซึ่งเป็นพอร์ตหุ้นกู้ที่สร้างขึ้นโดยความเสี่ยงอ้างอิงหุ้นกู้ที่ซื้อขายกันใน Cash Market พอร์ตที่สร้างขึ้นเป็นพอร์ตจินตนาการ นักลงทุนในแต่ละ Tranche รับความเสี่ยงเครดิตด้วยวิธีขายประกันความเสี่ยง อัตราผลตอบแทนที่ได้รับเท่ากับ Libor+Premium

สำหรับช่วงที่เศรษฐกิจดีมาก (ปี 2002-2005) หนี้เสียในระบบอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ผู้เล่นแทบจะลืมความเสี่ยง Credit Default CDS ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำ Active Portfolio Management และ เก็งกำไร มากกว่าความตั้งใจที่จะประกันความเสี่ยงจากหนี้เสีย ผู้เล่นซื้อประกันเครดิตในหุ้นกู้ที่ถูก เก็งว่าอันดับเครดิตจะแย่ลง เพื่อรับรู้กำไรจากมูลค่าสัญญาที่เพิ่มขึ้น (เพราะหากซื้อ CDS วันนี้จ่าย Spread 200 bps พรุ่งนี้อาจต้องจ่าย 300 bps) และในทางตรงข้าม ผู้เล่นขายประกันเครดิตในหุ้นกู้ที่ถูกเก็งว่าอันดับเครดิตจะดีขึ้น (ขายวันนี้ได้รับ 300 bps พรุ่งนี้อาจลดลงเหลือ 200 bps)

การที่ CDS สามารถถูกใช้เป็นประโยชน์ทั้งในการบริหารพอร์ต เก็งกำไร ทำให้ตลาด CDS มีสภาพคล่องสูงมาก ทั้งๆ ที่การซื้อขายทำกันในตลาด OTC CDS แต่ละสัญญาซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายรอบ ว่ากันว่าแต่ละฉบับผ่านการซื้อขาย 15-20 รอบ ในขณะที่ทางการไม่ได้เข้ามากำกับดูแล ตลาด CDS เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปีมาสู่ระดับ 62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ณ สิ้นปี 2007) เป็นมูลค่าที่สูงกว่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากกว่า 12 เท่า (ตลาด US Treasury มีมูลค่าราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)

ใครคือผู้เล่นรายสำคัญในตลาด

ผู้เล่นรายสำคัญในตลาด CDS คือกลุ่มธนาคาร (รวม Investment Bank) ธนาคารเล่นบททั้งเป็นผู้ซื้อและผู้ขายประกันความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายให้ได้มากที่สุด ในฐานะผู้ค้าหลักทรัพย์ ธนาคารต้องมีพอร์ต CDS ของตนเองด้วย

ผู้เล่นรายสำคัญรองจากธนาคารคือ Hedge Fund โดยเป็นผู้ขายประกันรายใหญ่ของตลาด ภาวะตลาดเงินที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องหลายปี (2001-2004) Hedge Fund ต้องหาช่องทางเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการขายประกันความเสี่ยง ทำให้ได้ค่าธรรมเนียมรายได้เป็นมูลค่าสูงมาก

นอกจาก Hedge Fund แล้วผู้ขายประกันความเสี่ยงที่สำคัญยังมีบริษัทประกันภัย และ Monoline โดยสายธุรกิจผู้เล่นกลุ่มนี้เป็นบริษัทที่ขายประกันความเสี่ยง ทั้งนี้โดยเฉพาะ Monoline ธุรกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกันความเสี่ยงเครดิตในตลาดหุ้นกู้โดยเฉพาะ

กองทุนบำเหน็จบำนาญเป็นผู้เล่นอีกกลุ่มในตลาด CDS โดยเป็นผู้ซื้อประกันเพื่อให้พอร์ตการลงทุนเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของทางการ ที่ต้องลงทุนในหุ้นกู้ที่มี Rating AAA- ขึ้นไป การซื้อประกันความเสี่ยง เป็น Credit Enhancement ทำให้สามารถลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดได้

CDS เป็นตัวเร่งวิกฤตให้รุนแรงได้อย่างไร

ในตลาดเงินกู้ ถ้าลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย ความเสียหายจะจำกัดอยู่กับภาคธนาคาร แต่ในตลาด CDS ถ้าหุ้นกู้ที่อยู่ภายใต้ประกันแม้จะยังไม่เป็นหนี้เสีย เพียงแค่อันดับเครดิตถูกปรับลดลง ความเสียหายก็สามารถเกิดขึ้น แผ่กระจายไปยัง ผู้ขายประกันทุกกลุ่ม และขยายผลต่อไปยังกลุ่ม Counterparty ในวงกว้าง

แรกเริ่มของวิกฤตในสหรัฐ เป็นวิกฤต Subprime เมื่อ Subprime Loan กลายเป็นหนี้เสีย อันดับเครดิต CDO ถูกปรับลดต่ำลง ผู้ลงทุนใน CDO และผู้ขายประกันความเสี่ยงเครดิตบน CDO ต่างต้องรับรู้ขาดทุนทางบัญชี ในขณะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่อยู่ในสถานะมีหนี้สินมาก ดังจะพบว่า Leverage Ratio ของสถาบันการเงินรายใหญ่หลายๆ แห่งอยู่ในระดับ 20-30 เท่า ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเพียง 3-5% ของทรัพย์สินก็สามารถหักล้างทุนที่มีอยู่จนติดลบ ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ต้องเร่งเพิ่มทุนเป็นมูลค่ามหาศาลตั้งแต่กลางปี 2007 เป็นต้นมา นี่คือฉากแรกเริ่มของวิกฤตการเงินโลก

เมื่อวิกฤต Subprime รุนแรงขึ้น สถาบันการเงินประสบความยากลำบากในการเพิ่มทุน ผู้ขายประกันความเสี่ยงเครดิตรายใหญ่หลายราย เช่น Ambac, MBIA, AIG ต่างถูกปรับลดอันดับเครดิต การลดอันดับเครดิตของผู้ขายประกันความเสี่ยงเครดิตจุดระเบิดลูกใหม่ที่มีอานุภาพรุนแรง เร่งวิกฤตความเชื่อมั่น วิกฤตสภาพคล่องให้ถลำลึก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ AIG เมื่อถูกปรับลดอันดับเครดิตเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2008 ได้สร้างคลื่นวิกฤตลูกใหญ่แผ่กระจายไปทั่วโลก ผลกระทบที่เป็นลูกโซ่เกิดจาก

1.ทันทีที่ถูกปรับลดเครดิต AIG ส่อเค้าล้มละลาย เพราะต้องเร่งจัดหาเงินสดหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มหลักค้ำประกันสำหรับสัญญาที่มีเงื่อนไขระบุเรื่องการเพิ่มหลักค้ำประกัน เมื่ออันดับเครดิตลดลงและต้องปิดสัญญาชำระหนี้ภาระผูกพันสำหรับสัญญาที่มีเงื่อนไขระบุ ในที่สุดธนาคารกลางต้องเข้ามาอุ้ม AIG โดยอัดฉีดเงินกู้สูงถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

2.การปรับลดอันดับเครดิต AIG ไม่เพียงก่อให้เกิดวิกฤตกับตัว AIG แต่ส่งคลื่นวิกฤตให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ขาย CDS ประกันหุ้นกู้ที่ออกโดย AIG หรืออ้างอิง AIG ซึ่งสามารถส่งผลให้สถาบันการเงินผู้ขายประกันกลุ่ม หลังเผชิญชะตากรรมเดียวเช่น AIG

3.การปรับลดเครดิต AIG ส่งผลกระทบผู้ซื้อประกันความเสี่ยงในวงกว้าง

(1) Enhanced Credit ที่ลดลงเท่ากับอันดับเครดิตของหุ้นกู้/CDO ที่อยู่ในพอร์ตถูกปรับลดลง มูลค่ายุติธรรมของ CDO ย่อมลดต่ำลง ต้องรับรู้ขาดทุน

(2) Pension Fund ต้องขายหุ้นกู้/CDO เพราะอันดับเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ทางการกำหนด ต้องรับรู้ขาดทุน

ด้วยอานุภาพของ CDS และด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่ระดับ 62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้วิกฤต Subprime Loan ที่ควรจะจำกัดในภาคธนาคารและในตลาดสหรัฐ ได้ขยายผลแผ่กว้างกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งที่รุนแรงที่สุด แต่วิกฤตยังไม่จบสิ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทชั้นนำถูกปรับลดอันดับเครดิต หรือกลายเป็นหนี้เสีย ผู้เล่นในตลาดนี้คงต้องเผชิญวิบากกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าวิกฤตหนี้เสียที่เกิดจาก Subprime

บทเรียนคืออะไร

สัญญา CDS เหมือนตราสารอนุพันธ์อื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ทั้งเป็น Hedging และเป็น Speculative Tools ถ้าหากบทบาทการเก็งกำไรมีมากจนกลบบทบาทแรก ย่อมสามารถก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เล่นและแก่ระบบการเงินอย่างไม่จำกัด วิกฤตครั้งนี้เตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่ระดับจุลภาคสู่ระดับมหภาค ในทุกระดับควรมีหน่วยงานติดตามและประเมินความเสี่ยงทุกประเภท (Market Risk, Ccredit Risk, Liquidity Risk, Counterparty Risk, Concentration Risk, Financial Risk, Systemic Risk) ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งสัญญาณ Early Warning ทางการควรมีบทบาทช่วยติดตาม Systemic Risk พร้อมทั้งปรับกฎเกณฑ์กำกับดูแลตลาด CDS ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ วิกฤตการเงินน่าจะหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต หากระบบบริหารความเสี่ยงสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : posttoday




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2551 15:38:43 น.
Counter : 1060 Pageviews.  

Holy Grail เครื่องมือลงทุนที่ไม่มีวันแพ้

เมื่อนักลงทุนพากันตามหา Holy Grail
ช่วงนี้ผมไม่ค่อยว่างเข้ามาในห้องสินธรเท่าไหร่ เพราะว่าติดไปทำงานเพื่ออนาคตของชาติ(ว่าเข้านั่น)
คือผมไปเป็นSTAFFในการอบรมด้านการเงินของน้องๆระดับมหาวิทยาลัยมาครับ
ทำให้ช่วงนี้ไม่ได้เข้าอินเตอร์เน็ท ไม่ได้เข้าสินธร และบอร์ดหุ้นอื่นๆเลย หุ้นยังไม่ได้ดูเลย
ความจริงเพราะผมขายล้างพอร์ทไปนานพอสมควรแล้วครับ เพราะผมเชื่อวาจา ทพ.ยรรยงค์ที่ว่า
“อะไรที่เราไม่รู้ คือความเสี่ยง” ผมเคยแล้วครับ วันที่ประกาศนโยบายมิกกี้เมาส์
หุ้นผมอยู่ดีมีสุข ลงไปกระจึ๋งนึง แต่พอเปิดบ่ายหุ้นในพอร์ทร่วงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่เลย
ทำให้วันที่ออก พรก ผมถามตัวเองว่า “รู้ไหม อะไรจะเกิดขึ้น” ซึ่งผมตอบตัวเองไม่ได้
ตอนนั้นแม้หุ้นผมจะติดลบเล็กน้อย แต่ผมก็ขายออกมาจนหมดพอร์ท และยังไม่ได้เข้าซื้อจนทุกวันนี้
เพราะอะไร….. แล้วมันเกี่ยวอะไรกับจั่วหัวด้วยเนี่ย อิอิ

เพราะวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้ ผมมีโอกาสได้เข้ามาอ่านเว็บบอร์ดแล้วครับ และสิ่งที่ผมพบก็คือ
หลายคนหมดกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป ซ้ำร้ายยังไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกะบพอร์ทของตัวเองด้วย
จะลงเท่าไหร่ช่างมัน ไหนๆก็ลงมาเยอะแล้ว หันมาลงทุนแบบลองทนดูดีกว่า หุ้นลงเดี๋ยวก็ขึ้น
หลายคนโพสขอกำลังใจ หลายคนโพสโทษสิ่งอื่นๆรอบตัว และหลายคนเริ่มมองหาเครื่องมือใหม่ๆกันแล้ว

หลายๆคนที่เคยเชื่อถือการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน เริ่มโหยหาคำตอบทางเทคนิค ว่าจุดจบของการลงอยู่ตรงไหน
หลายคนที่ศึกษาเทคนิค ก็พยายามเปลี่ยนแนวทางของตัว ที่คิดว่าจะเหมาะสมกับตลาดมากขึ้น
บางคนก็กลับไปศึกษาแนวทางพื้นฐาน เพราะคิดว่าในเมื่อเทคนิคไม่ได้ผลก็ “ลองทนถือยาว”ละกัน

คำถามที่ผมคิดขึ้นมาหลังจากอ่านกระทู้ไปได้สักพักก็คือ “ต้นเหตุของความผิดพลาดเกิดจากอะไรกันแน่”
เครื่องมือ หรือกลยุทธ์ที่นักลงทุนเหล่านี้ใช้หรอ ผมตอบตัวเองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะนักลงทุนหลายคนที่ผมรู้จัก
ก็ยังอยู่ดีมีสุข แม้ว่าตลาดจะลงมาแบบมหาวินาศสันตะโรก็ตาม
ผมถามตัวเองต่อ ว่าทำไมนักลงทุนเหล่านี้ถึงมองหาเครื่องมือการลงทุนใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา
ใครว่าการลงทุนแบบไหนดีก็ตามกันไปศึกษา เมื่อถึงคราวที่เครื่องมือนั้นพลาดก็วิ่งไปหาสิ่งอื่นๆตลอดเวลา
“ทั้งๆที่หลายคนในตลาดกลับทำกำไรในเวลาเดียวกัน และที่สำคัญ คือคนพวกนั้นก็ใช้วิธีเดิมๆนี่เอง!!!”

ถ้าอย่างนั้น ผมตอบตัวเอง สิ่งที่เป็นปัญหาในการลงทุน ก็อาจไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่อยู่ที่คนใช้ต่างหาก
เช่นหากเราตั้งคำถามว่า แป้งร่ำและน้ำหอมสมัยใหม่ สามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องกลิ่นหอมได้ไหม
คำตอบ คือ ใช้ได้ครับ แต่เราต้องถามต่ออีกว่า แล้วเราสมควรใช้อันไหนดีล่ะ
นั่นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบชีวิตของคุณ ว่าคุณชอบไปงานวัด หรือว่าเข้าผับมากกว่ากัน
แต่โลกนี้ไม่ได้มีเครื่องหอมที่สามารถใช้ได้ทุกงาน ทุกโอกาส ทุกสถานที่อย่างแน่นอน!!!

ในการลงทุนก็เช่นกัน ไม่ได้มีHoly Grail หรือเครื่องมือที่จะทำให้เราเป็นผู้ชนะได้ตลอดกาล
แต่การเป็นผู้ยืนยงในตอนสุดท้ายต่างหาก ที่เป็นที่ปราถนาของนักลงทุนชั้นยอดทั้งหลาย
ย้ำ “ไม่ได้เป็นผู้ชนะในทุกสถานการณ์ แต่เป็นผู้ที่อยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ต่างหาก”
ในช่วงนี้ก็เช่นกัน นักลงทุนพื้นฐานต่างอาศัยช่วงเวลานี้เก็บหุ้นกันอย่างคะนองมือ และเมามัน
พี่ๆที่ผมรู้จัก ที่หลายคนนับถือว่าเก่ง ตอนนี้เค้าก็ถือหุ้นกันเต็มพอร์ท100%ทั้งนั้น
หรือนักเทคนิคเอง ช่วงที่ตลาดลง ตามหลักแล้วไม่ควรมีการซื้อ หรือถือLONG POSITION
พวกเค้าจะทำตัวเป็นสิงโตล่าเหยื่อ คือล่าเมื่อพร้อมและเหยื่ออ่อนล้ามากๆแล้วเท่านั้น
ไม่ได้เข้าไปลุยเลาะ ซัดกับหุ้นทุกตัว แบบที่พวกเราเข้าใจกัน

แต่กับกลุ่มที่ขาดทุนกับตลาดมาโดยตลอดนั้น เป็นผู้ที่คอยเสาะหาHoly Grailชิ้นต่อไปๆอย่างไม่สิ้นสุด
เพียงเพื่อหวังที่จะเป็นผู้ชนะในตลาดตลอดกาล ซึ่งในความจริงแล้ว ย้ำอีกครั้ง “มันไม่มีครับ”
อ่านไปอ่านมา ผมนึกถึงในหนังสือ Trading For a Living ของ Alexander Elderที่ว่า
กลุ่มของนักลงทุนที่ขาดทุน คนเหล่านี้ไม่ได้มาเพื่อ “ลงุทน” หรือ “ซื้อ-ขาย”หุ้น
แต่เข้าตลาดมาเพื่อ “เล่นหุ้น” ดังนั้นกลุ่มนี้จะอดใจไม่ไหวถ้าไม่ได้ “เล่น” หุ้นสักเล็กๆน้อยๆในแต่ละวัน

เหมือนกับกลุ่มคนที่ติดเหล้า คือ ยังไงก็ขอให้ได้ดื่ม ถ้าไม่ดื่มแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด บางคนติดจนเป็นนิสัย
หากการติดเหล้าเป็นอันตรายต่อชีวิตฉันใด ในการลงทุนก็ฉันนั้น การติดเล่นหุ้นจะทำให้นักลงทุนขาดทุนในที่สุด
เพราะว่าคนกลุ่มนี้จะอยู่ในตลาดตลอดเวลาโดยที่ไม่สนใจว่าหุ้นนั้นๆน่าเข้าไป “ซื้อ-ขาย”หรือไม่
เหมือนกับที่ลุงโฉลกเคยสอนว่า “การลงทุนหุ้นนั้น สิ่งที่ยากที่สุด คือการอยู่เฉยๆ อย่าไปคันไม้คันมือ”

ครับ ทั้งหมดที่ผมเขียนมา ไม่ใช่ว่าผมเก่ง หรือทำกำไรได้มหาศาลนะครับ ผมเองก็แค่โชคดี ที่ยอมรับว่า
“ผมไม่รู้อะไรเลย ผมไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” จนในที่สุดเมื่อตลาดร่วงลงมา
ผมก็หมดความสนใจในการซื้อ-ขายหุ้นไปโดยปริตา เอ้ยปริยาย ทำให้ผมรอดพ้นจากการขาดทุนมาได้
แต่สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือ แทนที่จะมัวมองหาระบบหรือเครื่องมือที่จะเอาชนะตลาดตลอดเวลา
ทำไมเราไม่เร่งศึกษาในแนวทางที่เราเชื่อมั่น ให้ลึกซึ้งกว่าเดิมล่ะครับ
ทำไมเราไม่ถามเราว่า คนเก่งๆที่เราชื่นชอบเค้าใช้วิธีอะไรนะ ในการเอาตัวรอดจากช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้
หรือถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ผู้ชนะที่เราชื่นชมยังอยู่รอดได้ไหม เป็นการพิสูจน์แนวทางที่เราใช้ไปด้วยครับ

สุดท้ายผมเชื่อว่าบรรดา”เซียน” ทั้งหลายที่เราชื่นชมนั้น ยังอยู่ดีมีสุขครับ ส่วนคนที่หายไปนั้นหรือ
คือบรรดา VI พันทาง ที่คอยแต่ดูชื่อหุ้น ว่าเซียนเหยียบเมฆเค้าซื้ออะไร แล้วซื้อตาม
คือพวกคอยอ่านแต่บรรดาหุ้นปั่น หุ้นที่ถูกเชียร์ หุ้นที่ถูกตะโกนก้องตามห้องค้าและเว็บบอร์ด
คือคนที่คอยแต่จะหาระบบที่ไม่มีวันแพ้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งย้ำอีกครั้งครับ

“เค้าจะไม่มีวันหาเจอ”





 

Create Date : 27 ตุลาคม 2551    
Last Update : 27 ตุลาคม 2551 16:24:01 น.
Counter : 1068 Pageviews.  

หุ้นถูกๆมาแล้วจ้า

- หุ้นที่ถูกแล้ว ยังอาจจะมีถูกกว่าอีก
- อย่าเอามือไปรับมีดที่กำลังร่วง
- อย่าเก็บเหรียญบาทในดงระเบิด
- ซื้อเฉลี่ยขาขึ้น อย่าซื้อเฉลี่ยขาลง
- หุ้น ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ ยิ่งลงต้องยิ่งขาย

หลายๆประโยค บางท่านอาจเคยได้ยินมาบ้างนะครับ
ก็เอามาเตือนใจกัน ในภาวะหุ้นขาลงแบบนี้
สุดท้าย อย่าลืม!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
เพื่อนที่ดีเป็นอันดับสองในตลาดหุ้น นาย STOP LOSS

หุ้นราคา 500 บาท "โอยถูกสุดๆ พื้นฐานดีขนาดนี้650ชัวร์ๆ"
หุ้นราคา 450 บาท "จะขายทำไมครับ ยิ่งถูกยิ่งต้องซื้อเพิ่มสิ"
หุ้นราคา 400 บาท "บอกแล้วหุ้นดี เห็นไหม ราคาไม่ลงไปกว่านี้หรอก"
หุ้นราคา 300 บาท "ใจเย็นๆ เราลงทุนยาว ถ้ากลัวมากก็ซื้อเฉลี่ยสิ เวลาขึ้นจะคืนทุนเร็ว"
หุ้นราคาต่ำกว่า 250 บาท "ไม่ไหวแล้ว ตลาดตกแรงเกินไป ผมเพิ่งล้างพอร์ตไปวันนี้เอง"

คำถาม คือ ทำไมตาคนนี้ไม่ขายตั้งกะมัน 450 บาทหว่า
เพราะ ถ้ามั่นใจในหุ้นตัวนี้มากๆ เค้าก็ไม่ควรขายตอน250 แต่น่าจะรอ ร้อ รอต่อไป
ราคาหุ้นไม่ใช่มูลค่าของหุ้น ยิ่งราคาต่ำกว่ามูลค่าเท่าไหร่ ยิ่งน่าซื้อไม่ใช่หรือ
ถ้าเค้าขาย แปลว่าเค้าอาจยังไม่มั่นใจในหุ้นนั้นมากพอนั่นเอง

แล้วถ้าเค้าไม่มั่นใจมากพอ ทำไมไม่รีบกระโดดออกจากเรือ ที่น่าสงสัยว่าจะจม
หรือเพราะเค้าไม่รู้ หรือเพราะอคติที่เกิดจากการถือหุ้น หรือเชื่อคำแนะนำของใคร???

คำถามจากElder
"ถ้าคุณจะขายหุ้นที่ขาดทุนถึง40% ทำไมไม่ขายมันตอนที่มันขาดทุนแค่10%ล่ะ"

อิอิ

ปล.เพื่อนที่ดีที่สุดในตลาดหุ้น คือ Trend




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2551    
Last Update : 9 ตุลาคม 2551 23:03:54 น.
Counter : 795 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.