ต้องการทราบส่วนแบ่งตลาด (Market Share) คลิกที่นี่ .. จะบอกวิธีว่าต้องทำอย่างไร

ทุก 20 กระทู้ ของหมวดย่อยการตลาด จะต้องมี 1 กระทู้ (โดยเฉลี่ย) ที่ถามว่า
"อยากทราบส่วนแบ่งตลาดของ ..."

และทุก 10 กระทู้ที่ถามหาส่วนแบ่งตลาด
มีอย่างน้อย 8 กระทู้ บอกว่า จะเอาไปทำรายงาน

อยากจะบอกว่า ข้อมูลแบบนี้ ไม่มีใครหาให้ได้หรอกครับ
และไปถามตามกิจการต่าง ๆ ก็คงจะยาก หรืออาจจะไม่มีคำตอบ

มาทำความเข้าใจกันก่อน ว่า ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ไม่ได้สำคัญสำหรับทุกธุรกิจ

กิจการต่อไปนี้ ไม่จำเป็นต้องทราบส่วนแบ่งตลาด และหาส่วนแบ่งตลาดไม่ได้ด้วย
เช่น
ร้านขายดอกไม้รายย่อย รับดอกไม้มา จัดดอกไม้ขาย
ร้านกาแฟและเบเกอรี่แห่งหนึ่ง
ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาทำด้วยมือ สำหรับส่งออก
ผู้ผลิตใบพัดสำหรับพัดลม
ฯลฯ

ที่เราได้ยินกันทั่วไป และทราบกันทั่วไปว่า มาม่า มีส่วนแบ่งตลาด 55% (ตัวเลขสมมติ) เนสกาแฟ 91% เอเซอร์ 16% ฯลฯ
ตัวเลขเหล่านี้มาจากไหน?

แต่ละบริษัท อาจจะซื้อข้อมูลพวก Consumer Panel หรือ Retail Audit หรือมีวิธีการ "ประมาณการ" ขนาดตลาด แล้วเปรียบเทียบยอดขายจริง ที่ตรายี่ห้อนั้นขายได้
แล้วผู้บริหาร ก็ให้ข่าว ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น BrandAge, Marketeer, Positioning, Strategy+Marketing, 4P Marketing, กรุงเทพธุรกิจ, มติชน, ประชาชาติธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ ฯลฯ
ถ้าสังเกตดูดี กิจการต่าง ๆ ทีเป็นคู่แข่งขันกัน มาให้ข่าว ตัวเลขยังไม่ตรงกันเลย

สินค้าที่เป็น FMCG (Fast Moving Consumer Products) เช่น ชาเขียว กาแฟ ครีมทาผิว แชมพู บะหมี่ ฯลฯ
รวมทั้งสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่มีความเคลื่อนไหวในตลาดตามเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องซํกผ้า ฯลฯ
เหล่านี้ เป็นที่สนใจของสื่อ จึงสามารถหาตัวเลขส่วนแบ่งตลาด "ประมาณการ" ได้จาก สื่อโดยทั่วไป

แต่ถ้าสินค้าประเภท รองเท้าแตะ, กระเป๋าเดินทาง, ผ้าเช็ดหน้า, ยางรถยนต์, ปลั๊กไฟ, น้ำเต้าหู้, พลาสเตอร์ปิดแผล
บางรายการ Neilsen หรือ TNS มีข้อมูลขายให้กับกิจการ แต่สินค้าบางรายการก็ไม่มีข้อมูลขายครับ
ต้องใช้หลักการประมาณการเอาเองทั้งนั้น แล้วจะประมาณการอย่างไรล่ะ

ประชากรในประเทศไทย มี 66 ล้านคน
จากการวิจัย พบว่า
- คนครึ่งหนึ่ง เป็นแผลแล้วใช้พลาสเตอร์
- ใน 1 ปี คนเราเป็นแผลโดยเฉลี่ย 1 ครั้ง (บางคนไม่เป็นแผลเลย บางคนโดนมีดบาดปีละ 3 ครั้ง เอามาเฉลี่ยกัน)
- ในการเป็นแผล 1 ครั้ง ใช้พลาสเตอร์เฉลี่ยคนละ 4 ชิ้น (บางคนใช้อันเดียว ไม่เคยเปลี่ยนเลย บางคนเปลี่ยนเช้าเย็นทุกวัน เอามาเฉลี่ยกัน)
ดังนั้น ขนาดตลาด (Market Size) ของ พลาสเตอร์ เท่ากับ 66 ล้าน คูณ 0.5 คูณ 1 คูณ 4
เท่ากับ 132 ล้านชิ้น ต่อปี
ถ้า พลาสเตอร์ตราช้าง ขายได้ในปีนั้น 26 ล้านชิ้น ก็แสดงว่า มีส่วนแบ่งตลาด 20% (ตัวเลขสมมติ)

คราวนี้ เราไม่ได้อยู่ในบริษัทพลาสเตอร์ตราช้าง เราจะรู้ได้อย่างไร

ก็ไปสุ่ม ถามคนที่เค้าซื้อพลาสเตอร์ ว่า เค้าซื้อพลาสเตอร์ยี่ห้ออะไรบ้าง
ไปถามมาสัก 100 คน
เอาตัวเลขมารวมกัน ก็จะได้ % ของแต่ละยี่ห้อที่มีคนซื้อ
เท่านี้ เราก็รู้ Market Share โดยประมาณ แล้ว
พอเอาตัวเลข % นี้ คูณกลับไปที่ Market size ก็จะรู้ Market Volume ของสินค้านั้น
และเอา Market Volume คูณราคาเฉลี่ยของสินค้านั้น
ก็จะรู้ Market Value ของแต่ละยี่ห้อ

ที่จริง เทคนิคนี้ คนที่เรียนการตลาดแล้วอาจารย์สั่งให้ทำรายงานน่ะ ได้เรียนมาแล้วนะครับ ไม่งั้น อาจารย์เค้าจะสั่งรายงานให้ทำได้ยังไง อาจารย์เค้าต้องการฝึก "กระบวนการคิดของนักศึกษา" ถึงได้ให้ค้นหาข้อมูลแบบนี้

วิธีการที่ยกตัวอย่างข้างต้น อาจได้ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนบ้าง ขึ้นอยู่กับการสุ่มตัวอย่างที่ไปสอบถาม แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทต่าง ๆ เค้าก็ใช้วิธีการแนวนี้ หรือไม่ก็มีวิธีอื่นในการหา Market Share กัน แล้วเอามาให้ข่าว

ตัวเลขพวกนี้ ไป search google ก็ไม่น่าจะหาได้
เราต้องหาเองครับ

ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ วิธีครับ คิดว่าน่าจะพอช่วยหลาย ๆ คนได้

ฝากทิ้งท้าย สำหรับคนเรียนการตลาด ว่า ข้อมูลต่าง ๆ ไปถามใครมาตรง ๆ คงจะยากครับ
ต้องฝึกคิด ฝึกประยุกต์ แล้วจะทำให้คุณเก่งการตลาด

แก้ไขเมื่อ 15 ต.ค. 50 23:40:10

จากคุณ : CNXek - [ 15 ต.ค. 50 23:25:15 ]


Create Date : 21 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2550 12:59:57 น. 8 comments
Counter : 14860 Pageviews.  

 

กิจการบางประเภท อาจจะไม่จำเป็นต้องหา Market Share
แต่จะวิเคราะห์ Customer Share แทน
พูดง่าย ๆ คือ นับหัวลูกค้าเอา ว่ามีลูกค้ากี่ราย เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน
(นับจากจำนวนสมาชิก)

ส่วนธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม สปา อาจจะไม่ได้วิเคราะห์ Market Share เพราะถ้าจะนำโรงแรมทั่วประเทศมาเปรียบเทียบกัน
แต่ละโรงแรม ได้ Market Share ไม่ถึง 1% ไม่มีประโยชน์ที่จะวิเคราะห์ครับ
วิธีสำหรับโรงแรม เค้าจะเทียบ อัตราการครองห้อง (Occupancy Rate)
โดยเปรียบเทียบ เช่น

โรงแรมแห่งนี้ มีห้องพัก 80 ห้อง
1 เดือน คิด 30 วัน เท่ากับมีห้อง 2400 ห้อง
เดือนนี้ ขายห้องได้ 1800 ห้อง ก็มีอัตราการครองห้อง 75%
แล้วเอาอัตราการครองห้อง ไปเทียบกับของคู่แข่งขัน ว่าใครขายห้องได้มากกว่า (จะต้องบอกอีกไหมเนี่ย ว่าหาของคู่แข่งขันอย่างไร ?)

รวมทั้ง นำค่าเฉลี่ยของโรงแรมในพื้นที่เดียวกัน มาเป็นฐาน ในการตั้งเป้าการขายของเรา

ถ้าเป็นสปา หรือกิจการบริการอื่น ๆ ก็อาจจะเทียบกับ ความสามารถในการให้บริการ เช่น

1 วัน เปิด 14 ชั่วโมง มี ห้องนวด 10 ห้อง ลูกค้า 1 คน ใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมง
รวม 1 วัน มีความสามารถให้บริการ 14 คูณ 10 หาร 2
หลังจากนั้น คงคำนวณต่อเองได้นะครับ ว่าจะทำอย่างไร

จากคุณ : CNXek - [ 15 ต.ค. 50 23:46:43 ]


โดย: Lazy Genius วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:00:35 น.  

 
ตัวอย่างต่อไป สินค้าอุตสาหกรรม (Industrial Products)
เช่น น้ำยาเคมีทำความสะอาดเครื่องจักรผลิตอาหาร

โรงงานผลิตอาหารในประเทศไทย สมมติว่ามี 1000 โรงงาน
แต่ละโรงงาน เปิดทำงานปีละ 300 วัน
โดยเฉลี่ย แต่ละโรงงานล้างเครื่องจักร 2 วันต่อ 1 ครั้ง
1 ครั้ง ใช้น้ำยาล้าง 2 แกลลอน (เป็นตัวเลขเฉลี่ย มีทั้งโรงงานใหญ่ กลาง เล็ก)

รวมความต้องการตลอดทั้งปี 1000 คูณ 300 หาร 2 คูณ 2
เท่ากับ 300,000 แกลลอน ต่อปี

บริษัทเราขายได้ในปีนี้ 5,000 แกลลอน ถามว่า ได้ส่วนแบ่งตลาดเท่าไร ?
(ถ้าตอบไม่ได้ แนะนำให้เปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่นที่ไม่ใช่การตลาด)

จากคุณ : CNXek - [ 15 ต.ค. 50 23:51:25 ]


โดย: Lazy Genius วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:00:55 น.  

 
จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และต้องขอขอบคุณที่นำเรื่องแบบนี้มา
แบ่งปัน แต่ตามประสาของคนที่ขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และก็สนใจ
เรื่องหลักการวิจัยอยู่เป็นทุนเดิม (ผมค่อนข้างชอบเรื่องข้อมูลจากการวิจัย
นะครับ แต่ก็มักจะมีคำถามถึงวิธีที่จะทำให้การวิจัยมีผลที่แม่นยำอยู่เสมอ)

แต่กรณีนี้ ผมต้องตอบว่า ผมไม่คิดว่าการวิจัยปริมาณการใช้(พลาสเตอร์)
ทั้งหมด จะออกมาใกล้เคียงความจริง ถ้าไม่เอาปริมาณตัวอย่างและวิธี
การวิจัยมาอธิบายประกอบ ซึ่งปริมาณผู้ใช้สินค้าทั้งหมด หรือปริมาณของ
ตลาดทั้งตลาดนั้น ถ้าผิดตั้งแต่ขั้นตอนนี้แล้ว การจะนำมาเปรียบเทียบ
เป็น Market Share ในภายหลังย่อมผิดพลาดได้อย่างมากมาย ฉะนั้น
การวิจัยนั้น ข้อมูลและวิธีการประเมินทุกขั้นตอนจะผิดพลาดไม่ได้เลย


อย่างกรณีของพลาสเตอร์ ผมไม่คิดว่า ข้อมูลเรื่องคนเป็นแผลเฉลี่ย
1 ปี ต่อ 1 ครั้ง เพราะถ้าเวลาขนาดนั้น บางทีความจำของเรา(หรือผู้ให้
ข้อมูลก็จำไม่ได้แม่นยำหรอกครับ ว่า ปีนี้เราเป็นแผล 1 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ
3 ครั้งแน่ และเราใช้พลาสเตอร์ไปกี่อัน กลุ่มตัวอย่างที่ไปเก็บข้อมูล
มีการกระจายตัวชัดเจนแค่ไหน และอีกมากมาย

และโดยปกติ การที่บุคคลภายนอกจะสามารถรู้ยอดขายของแต่ละบริษัท
หรือแต่ละแบรนด์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ (บางครั้งบริษัทอาจไม่เปิดเผย
ข้อมูลจริง เพราะเหตุผลต่างๆ ) แต่ถ้าคิดว่าข้อมูลที่ได้มานั้น เป็นตัวเลข
ที่ค่อนข้างตรง การนำตัวเลขปริมาณการจำหน่ายของแบรนด์ใหญ่ๆ แต่ละ
แบรนด์มาร่วมกัน เป็นขนาดตลาดทั้งหมด (เผื่อแบรนด์โนเนมอีกนิดหน่อย)
ข้อมูลตรงนี้ย่อมเที่ยงตรงกว่ามาก และเทียบไม่ได้เลยกับการควบคุม
ปัจจัยจากการวิจัย เพื่อจะหาขนาดตลาดทั้งหมด เพราะมีทั้งเรื่องปริมาณ
และคุณภาพของข้อมูล บางทีอาจวิเคราะห์มาผิดไปเป็น 10 % หรือมากกว่า
นั้นก็เป็นได้ครับ


แต่วิธีที่ผมคิดว่าน่าจะแม่นยำกว่า คือดูจากการขายโดยตรง เช่น ดูจาก
ยอดขายของแต่ละแบรนด์ที่ชั้นวางในช่องทางจำหน่ายใหญ่ๆ ซึ่งต้องวิจัย
ด้วยว่าผู้บริโภคซื้อของจากร้านเหล่านี้กี่เป็นกี่เปอร์เซนต์ของร้านทั้งหมด
รวมทั้งเก็บข้อมูลจากที่จำหน่ายลำดับรองลงไปด้วย (เช่น แหล่งจำหน่าย
พลาสเตอร์หลัก อาจเป็นร้านขายยา แหล่งรองลงมาอาจเป็นซูเปอร์สโตร์
แบบโลตัส-สมมุติ) แม้อาจยังคลาดเคลื่อนบ้าง ก็ยังแม่นยำและลดความ
ซับซ้อนกว่าการไปหาข้อมูลปริมาณการใช้จากผู้บริโภคทั่วไปเยอะ ดูยอด
ขายจากแหล่งขายใหญ่ๆ เป็นหลัก แล้วประกอบด้วยแหล่งขายรองๆ บ้าง
ก็น่าจะแม่นยำกว่าครับ ผมว่านะ

ขออภัยครับที่คิดแตกต่าง แต่อย่างไรก็ขอขอบคุณนะครับ ที่มีเจตนาดี
เอาสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์มาบอกเล่าครับ


นกดื่มชา

จากคุณ : Jimmy Walker - [ 16 ต.ค. 50 17:50:50 ]


โดย: Lazy Genius วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:01:44 น.  

 
คุณ Jimmy Walker ไม่ได้คิดแตกต่างจากผมหรอกครับ

ผมได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า วิธีการที่ยกตัวอย่างมา เป็นวิธีการ "เบื้องต้น" ที่ทำให้ทราบข้อมูลที่ต้องการทราบ
และจะต้อง "ระมัดระวังเรื่องการเก็บข้อมูล" ที่จะนำมาประกอบการวิเคราะห์

การหาตัวแปรมาคูณกัน ตามที่ผมนำเสนอไป เป็นวิธีการ Multiple Factors Index Method ซึ่งจะต้องนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงทั้งหมด
และจะต้องขจัดปัญหาความก้ำกึ่งของข้อมูลที่เป็นปัจจัยทับซ้อนกัน (Multicollinearility) ออกก่อนด้วย

ถ้าต้องการให้แม่นยำมากขึ้น ควรใช้วิธีการตรงกันข้าม คือ Market Build-up Method ซึ่งจะต้องลงพื้นที่ย่อย และประเภทของร้านค้า
แล้วจึงนำข้อมูลมาปะติดปะต่อ และถ้าทำดี ๆ จะได้ข้อมูลจำแนกตามพื้นที่ รวมทั้งในภาพรวมของประเทศด้วย

สรุปคือ ผมไม่เถียงคุณ Jimmy Walker ครับ และขอบคุณที่มาชี้ประเด็นให้เพื่อนๆ ในห้องนี้เห็นข้อควรระวังที่ผมแนะนำไว้
แต่อย่าลืมว่า แค่วิธีเบื้องต้น (ซึ่งถ้าไม่ระมัดระวัง ความคลาดเคลื่อนสูง) แค่นี้ ถ้าน้อง ๆ ที่ต้องการ "นำข้อมูลไปประกอบการทำรายงาน" ทำได้
ผมว่า อาจารย์ทั้งหลาย ก็ภูมิใจแล้วครับ เพราะแม้แต่คนที่ทำงานจริง ๆ ยังต้องอาศัยการซื้อข้อมูล เพราะในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก ๆ

จากคุณ : CNXek - [ 16 ต.ค. 50 19:51:36 ]


โดย: Lazy Genius วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:02:16 น.  

 
กระทู้ของคุณ ดีมากๆเลย
เพราะไม่เข้าใจว่า การที่จะหา Market Share นี่หาได้ยังไง

เห็นตามสื่อต่างๆ เค้าก็บอกว่าเท่านั้น เท่านี้ อย่างที่คุณ CNXek บอกไว้ตั้งแต่ต้น
แต่จริงๆแล้ว อยากทราบที่มามากกว่า ว่าหายังไง
พออ่านแล้ว ก็พอเข้าใจบ้างคร่าวๆ อย่างที่คุณ CNXek ว่าต้องสุ่มตัวอย่างแล้วประมาณการเอา

ขอถามคำถามอะไรคำถามหนึ่งนะคะ พอดีสงสัย

แต่ถ้า เราไม่ได้สุ่มตัวอย่าง เราทำการเอายอดขายของแต่ละบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน มารวมกันแล้ว มาประมาณการเป็น %
สามารถเรียกได้ว่าเป็น Market Share ได้หรือเปล่าคะ

จากคุณ : ย่างก้าว..ที่ไม่เดียวดาย - [ 28 ต.ค. 50 13:47:46 ]


แต่ถ้า เราไม่ได้สุ่มตัวอย่าง เราทำการเอายอดขายของแต่ละบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน มารวมกันแล้ว มาประมาณการเป็น %
สามารถเรียกได้ว่าเป็น Market Share ได้หรือเปล่าคะ

^
|
|
นี่แหละ market share แท้ ๆ ตามทฤษฎีเลยครับ
แต่ปัญหาคือ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าทุกบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
บริษัทไหน มียอดขายเท่าไหร่

จากคุณ : CNXek - [ 28 ต.ค. 50 23:30:04 ]


โดย: Lazy Genius วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:03:35 น.  

 
เป็นกระทู้ที่ประโยชน์มากๆเลยคะ
เห็นทีต้องแวะมาบ่อยๆ เพื่อขอความรู้ซะแล้น



โดย: ใจดี (jaidee.jaidee ) วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:16:14:15 น.  

 
อยากทราบเรื่อง products and servies for consumer อยากมากค่ะ เพราะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่เลยค่ะ พอดีกำลังเรียนอยู่พอดีค่ะ


โดย: ยอพระกลิ่น วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:19:00:15 น.  

 
แล้วเรื่องการตลาดประเทศด้วยค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูง


โดย: ยอพระกลิ่น วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:19:05:24 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Lazy Genius
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Lazy Genius's blog to your web]