ไฮน์ กูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2 Heinz Guderian โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ --------------------------------- ![]() นายพลไฮน์ กูเดเรียน เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1888 ที่เมืองคลุม (Culm) ซึ่งตอนนั้นอยู่ในปรัสเซียตะวันตกของเยอรมัน ปัจจุบันชื่อเมือง Chelmno อยู่ในประเทศโปแลนด์ จบการการศึกษาทางทหาร จากโรงเรียนนายร้อยในเบอร์ลิน ในปี 1908 ได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรี ต่อมา ในปี 1913 สมรสกับภรรยาชื่อ Margarete Goerne มีบุตรชายสองคน ซึ่งทั้งตัวเขาและลูกชายทั้งสองคน ต่างก็ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายคนโต ซึ่งต่อมาได้เป็นพลตรีของกองทัพเยอรมันในช่วงหลังสงคราม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กูเดเรียน เป็นครูฝึกในโรงเรียนนายร้อยในเบอร์ลิน เขาเริ่มแสดงแนวความคิดใหม่ๆในการใช้ยานยนต์ในการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะเมื่อเขาเป็นพันตรี ในปี 1927 เยอรมันถูกจำกัดด้วยสนธิสัญญาแวร์ซาย หน่วยของเขามีแต่มอเตอร์ไซค์และรถบรรทุก เพราะเยอรมันไม่ได้รับอนุญาติให้พัฒนาอาวุธสงคราม เขาพยายามพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการเคลื่อนพลอย่างรวดเร็ว เขาเดินทางไปดูการพัฒนารถถังของนาซีอย่างลับๆในรัสเซีย แล้วกลับมาติดตั้งรถบรรทุกของเขาด้วยป้อมปืนไม้ แล้วใช้รถบรรทุกเหล่านี้ทำการรบแบบรถถัง เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิด แนวความคิดของการใช้รถถังในการรุก และเป็นผู้ให้กำเนิด หน่วย Panzer หรือ หน่วยยานเกราะของเยอรมัน โดยกูเดเรียนได้อ่าน แนวคิดการใช้ยานเกราะของอังกฤษ ซึ่งเขียนโดย J.F.C Fuller ในปี 1929 และนำมาปรับใช้อย่างจริงจังครั้งแรกในกองทัพนาซีเยอรมัน เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์ได้เดินทางไปชมการฝึกซ้อมของหน่วยยานเกราะเล็กๆ ของกูเดเรียน ซึ่งมีความคล่องตัว แตกต่างไปจากรถถังในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รถถังจำลองของกูเดเรียนวิ่งไปรอบสนามฝึก สร้างความประทับใจให้กับฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการใช้รถถังเป็นกำลังหลักในการรุกนั้น กูเดเรียนต้องประสบกับการต่อต้าน แนวความคิดนี้ จนในปี 1937 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง 3 ปี กูเดเรียนได้เขียนหนังสือชื่อ Achtung Panzer (อาคตุง แพนเซอร์ - ระวัง ยานเกราะ) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอแนวคิด ในการใช้รถถังเป็นกำลังหลักในการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ หรือที่เรียกว่า Blitzkrieg ต่อมาฮิตเลอร์ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย เริ่มสะสมอาวุธ และสร้างกองทัพอย่างขนานใหญ่ กองพลยานเกราะ (Panzer Division) 3 กองพลถูกตั้งขึ้นอย่างเปิดเผย กูเดเรียนซึ่งขณะนั้นมีความโดดเด่นจากแนวคิดการใช้ยานเกราะนี้ ทำให้เขาใกล้ชิดกับฮิตเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Division) พร้อมๆกับครองยศ พลตรี (Major General) และอีกไม่ถึงปีครึ่ง เขาก็ได้เป็นพลโท พร้อมกับตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ 16 (XVI Army-Corps) อีกเพียงสิบเดือนต่อมา เขาก็ดำรงพลเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (Chief of fast troops) ซึ่งรับผิดชอบการจัดตั้ง การฝึก และการใช้ยุทธวิธีในการรุกด้วยยานเกราะ ซึ่งตำแหน่งนี้ ส่งผลให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การรบสมัยใหม่ ด้วยยานเกราะ มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งส่งผลให้ หน่วย Panzer กลายเป็นหน่วยรบที่น่ากลัวที่สุดในโลกขณะนั้น ![]() กูเดเรียน ได้มีโอกาสใช้ทฤษฎี สงครามสายฟ้าแลบ หรือ Blitzkrieg อย่างแท้จริง เมื่อเยอรมันรุกเข้าสู่ฝรั่งเศส เขาคุมกำลังยานเกราะของเขา รุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจคำสั่งจากฝ่ายเสนาธิการในเบอร์ลิน ที่ให้เขาหยุดกำลังเอาไว้ก่อน กูเดเรียนสั่งยานเกราะของเขาเจาะแนวตั้งรับของฝรั่งเศส บริเวณแม่น้ำเมิร์ส (Meuse) ที่เมืองซีดาน (Sedan) แล้วใช้ความเร็วพุ่งเข้าสู่กองบัญชาการของข้าศึก จับกุมฝ่ายเสนาธิการของฝรั่งเศส ในกองบัญชาการ ทิ้งให้กำลังทหารฝรั่งเศสที่เหลือตามแนวรบ ตกอยู่สภาพไร้หัว หรืออยู่ในสภาพไร้การควบคุมสั่งการ ก่อให้เกิดการสับสน ขวัญเสีย และยอมจำนนในที่สุด การรุกที่แม่น้ำเมิร์ส ถือเป็นเรื่องราวความมหัศจรรยของกูเดเรียน และหน่วย Panzer ที่เล่าขานกันไม่รู้จบเลยทีเดียว บางทฤษฎีอาจกล่าวว่าชัยชนะที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากแสนยานุภาพที่มีอย่างท่วมท้น ของนาซีเยอรมัน จริงๆแล้ว เยอรมันขณะนั้นมีรถถัง Panzer IV เท่านั้นที่มีความทันสมัย ส่วนที่เหลือเป็น Panzer I Panzer II Panzer III ที่มีสมรรถนะเท่าๆกับ รถถังของฝรั่งเศส และอังกฤษ หรืออาจจะด้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ เช่นรถถังมาทิลด้าของอังกฤษ ที่ประจำการ อยู่ในฝรั่งเศส มีปืนใหญ่และเกราะที่เหนือกว่ารถถังเยอรมันมาก ฝ่ายเยอรมันต้องใช้ปืน 88 มม.ในการหยุดยั้งมัน เมื่อปะทะกันครั้งแรกๆ เหตุผลที่แท้จริงของชัยชนะเหนือฝรั่งเศส ก็คือ ยานเกราะของเยอรมัน มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูง บำรุงรักษาตัวมันเองในสนามได้ระดับหนึ่ง มีความคล่องตัว และใช้ยุทธวิธีที่เหนือชั้นของกูเดเรียนในการเจาะแนวข้าศึก และกระจายกันออกในแนวหลัง แต่ละหน่วยปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับหน่วยทหารราบ แต่ใช้การประสานงานด้วยวิทยุประจำรถ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในขณะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือนายทหารที่บังคับบัญชาหน่วย Panzer ในขณะนั้น ล้วนแต่ได้รับการปลูกฝังแนวความคิด และได้รับการฝึกฝนในการรบในสงครามสายฟ้าแลบจากตัวผู้คิดค้นทฤษฎีเอง นั่นคือ ไฮน์ กูเดเรียน นั่นเอง เกียรติยศนี้ถือเป็นเกียรติสูงสุด เมื่อรถถังทุกคันในหน่วย Panzer กลุ่มกูเดเรียน ต่างพร้อมใจกัน ประดับตัวอักษร G ไว้ที่ตัวรถถัง ยานยนต์ และมอเตอร์ไซค์ ในยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) เมื่อเยอรมันบุกเข้าไปในรัสเซีย กูเดเรียน ในฐานะผู้บัญชาการ หน่วย Panzer กลุ่ม 2 (Panzergruppe 2) ฝากผลงานไว้มากมาย จนได้รับกางเขนเหล็ก ประดับใบโอ็ค แต่ในที่สุด เขาก็ขัดแย้งกับนายพล ฟอน บ็อค (Von Bock) ผู้บัญชาการ กลุ่มกองทัพกลางในรัสเซีย ที่พยายามหยุดการเคลื่อนที่ของกูเดเรียน จนในที่สุด กูเดเรียน ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง เมื่อขัดคำสั่งของฟอน บ็อค ในการถอนกำลัง Panzer ของเขา ออกจากจุดอันตราย และเสี่ยงต่อการสูญเสียอย่างไม่คุ้มค่า ในเดือน ก.พ. 1943 หลังจากกองทัพที่ 6 ของนายพล ฟอน เปารุส พ่ายแพ้ในสตาลินกราด กูเดเรียนถูกเรียกกลับมาอีกครั้ง ในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนายานเกราะให้มีความทันสมัย เขาเริ่มต้นด้วยการเพิ่มอัตราการผลิตยานเกราะในแต่ละเดือน นอกจากนี้ ยังไม่ยอมให้มีการยกเลิกสายการผลิต Panzer IV เพื่อหันไปผลิต Panzer V หรือรู้จักกันในนาม Panther และ Panzer VI หรือ Tiger ซึ่งแม้ Panzer IV จะด้อยกว่ารถถังของรัสเซีย ที่ออกมาใหม่เกือบทุกอย่างก็ตาม แต่กูเดเรียนก็ให้เหตุผลว่า Panzer IV นั้นมีเครื่องยนต์ที่ไว้ใจได้ พลประจำรถถังเยอรมันมีความคุ้นเคยกับมันขนาดบังคับได้ แม้เวลาหลับ (could handle it in their sleep) ต่างจากรถถังรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนพลประจำรถใหม่ ในเวลาปกติคงไม่น่าเป็นปัญหา แต่ในขณะที่รัสเซียกำลังรุกเข้ามาทุกทิศทุกทางเช่นนี้ คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะนัก สำหรับการมานั่งฝึกการบังคับรถรุ่นใหม่ๆ กูเดเรียน จบการรับใช้กองทัพนาซีเยอรมัน ในตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก (Chief of army staff) และยอมจำนนต่อกองทัพอเมริกา ในเดือน พ.ค. 1945 เขาถูกส่งตัวขึ้น ศาลอาชญากรสงคราม ที่นูเรมเบอร์ก ฝ่ายรัสเซียต้องการดำเนินคดีเขาในฐานะ อาชญากรสงคราม แต่ฝ่ายอังกฤษ อเมริกา ไม่เห็นด้วย เขาถูกคุมขังที่ Neustadt และได้รับการปล่อยตัวใน 3 ปีต่อมา คือ ปี 1948 นายพล ไฮน์ กูเดเรียน เสียชีวิต เมื่อ 14 พ.ค. 1954 ในเยอรมันตะวันตก (ขณะนั้น) เป็นเวลา 14 ปีหลังจากการรุกที่แม่น้ำเมิร์ส อันยิ่งใหญ่ของเขา ในฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง ชอบ หะ
โดย: บิ๊ก แม่ฮ่องสอน IP: 118.172.4.178 วันที่: 13 กันยายน 2552 เวลา:13:01:34 น.
สมควรอย่างยิ่งที่เรียกว่า บิดาแห่งยานเกราะ ยิ่งการขอให้ผลิตมาค4ต่อไปเป็นเรื่องดี เพราะเวลาเป็นสิ่งสำคัญหากโรงงานเปลี่ยนผลิตมาค5หมด ต้องเสียเวลาการสร้างอุปกรณ์การสร้างมาค5ใหม่ ทหารแนวหน้าตายทุกๆวินาที ช้าเพียงวินาทีก้ไม่ได้
โดย: รอมเมล IP: 58.9.64.111 วันที่: 12 ตุลาคม 2553 เวลา:9:31:56 น.
ถูกต้องแล้ว ข้าคือบิดาแห่งยานเกราะ-จอมเผด็จการ
โดย: Heinz Guderian-Adolf Hitler IP: 115.67.4.56 วันที่: 31 มกราคม 2557 เวลา:21:44:57 น.
|
บทความทั้งหมด
|
อ่านแล้ว ชอบมากครับ