พลร่มนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง
หน่วยพลร่มของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

ลงพิมพ์ในนิตยสาร TOPGUN ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2555

โดย

พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำหรือเผยแพร่เพื่อการพาณิชย์ ให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากกำลังตีพิมพ์รวมเล่มเป็นพ๊อคเก๊ตบุ๊ค)




หน่วยพลร่มของเยอรมัน (Fallschirmjager) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ถือว่าเป็นหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุดหน่วยหนึ่งของกองทัพนาซีเยอรมัน ซึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมันมีความชื่นชมในความสามารถของทหารหน่วยพลร่มเป็นอย่างมาก อาจจะเรียกได้ว่าชื่นชมไม่ด้อยไปกว่าทหารหน่วย “เอส เอส” (SS – SchutzStaffel) ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษประจำตัวของฮิตเลอร์เอง (คำว่า “ฟอลชริมเจเกอร์” (fallschirmjager) ในภาษาเยอรมันแปลว่า "นักล่าจากท้องฟ้า" (hunters from the sky))




หน่วยพลร่มนี้ขึ้นตรงกับกองทัพอากาศนาซีเยอรมันหรือ “ลุฟวาฟ” (luftwaffe) ซึ่งต่างจากกองทัพสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่หน่วยพลร่มมักจะขึ้นตรงกับกองทัพบกมากกว่า โดยหน่วยพลร่มหน่วยแรกของเยอรมันถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1938 เริ่มต้นจากการรวบรวมกองพันทหารพลร่มต่างๆ มาเป็นกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 (7 Flieger Division) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1938 เป็นเวลาสองปีก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น

กองพลนี้ประกอบด้วยกรมทหารพลร่มจำนวน 3 กรม ต่อมาได้รับการปรับเป็นกองพลพลร่มที่ 1 (1st Parachute Division) โดยผู้บัญชาการกองพลคนแรกคือพลตรีเคิร์ท สตูเด้นท์ (Kurt Student) ซึ่งเป็นหนึ่งในขุนพลที่จอมพลแฮร์มาน เกอริง (Hermann Goering) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง

ความชื่นชมที่ฮิตเลอร์มีต่อหน่วยทหารพลร่มนี้ เกิดขึ้นมาจากความสามารถอันโดดเด่นของพวกเขาในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะการกระโดดร่มเข้าโจมตีประเทศต่าง ๆ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1940

โดยเฉพาะที่เดนมาร์กนั้น ถือเป็นการปฏิบัติการรบครั้งแรกของหน่วยพลร่มเยอรมัน ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1940 ที่ทหารพลร่มเยอรมันจู่โจมเข้ายึดสนามบิน Aarhus นอกจากนี้ยังเข้าทำลายแนวต้านทานของเบลเยี่ยม ที่ป้อม “อีเบน อีเมล” (Eben Emael) ได้อย่างรวดเร็วในรุ่งอรุณของวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 โดยทหารพลร่มที่เข้าโจมตีป้อมแห่งนี้เป็นกำลังพลที่จัดจากจาก กองพันที่ 1 กรมพลร่มที่ 1 (1st Battalion, 1st Parachute Regiment)






ส่วนทหารช่างที่ข้ามเครื่องกีดขวางเข้าไปสมทบกับทหารพลร่ม จัดจาก กองร้อยทหารช่าง กองพันที่ 2 กรมพลร่มที่ 1 (Pioneer company, 2nd Battalion, 1st Parachute Regiment) การโจมตีเริ่มขึ้นจากทหารพลร่มเยอรมันส่วนหนึ่งจำนวน 85 นายใช้เครื่องร่อน 11 ลำเป็นพาหนะ ร่อนลงบนหลังคาของเป้าหมายต่างๆ จากนั้นก็ใช้ระเบิดแรงสูงขว้างเข้าไปในป้อมทีละป้อม จนป้อมต่างๆ ถูกทำลายลงอย่างง่ายดาย ความสำเร็จในการทำลายป้อมอีเบน อีเมลเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วว่า หน่วยทหารพลร่ม (หรือที่ทางสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า หน่วยส่งทางอากาศ - Airborne) เป็นหน่วยทหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกหน่วยหนึ่งในขณะนั้น

การรบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของหน่วยพลร่มเยอรมันคือการรบที่เกาะครีต (Crete) ซึ่งเยอรมันใช้เครื่องบินลำเลียงจำนวน 493 ลำ เครื่องร่อน 72 ลำ นำพลร่มเข้าสู่ที่หมายในครีต นอกจากเครื่องบินลำเลียงแล้ว ยังมีเครื่องทิ้งระเบิด 228 ลำ เครื่องดำดิ่งทิ้งระเบิด 245 ลำ และเครื่องบินขับไล่ 233 ลำ และเครื่องบินตรวจการณ์อีก 50 ลำ รวมทั้งสิ้นกว่า 700 ลำ เข้าร่วมในการรุกครั้งนี้ด้วย

การยึดเกาะครีตเป็นการรุกที่ใช้กำลังพลร่มเป็นหัวหอกเปิดฉากขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 โดยใช้กำลังพลจากกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 เป็นกำลังหลัก สนับสนุนโดยทหารราบอีก 3 กรมทหารราบ นับว่าเป็นการปฏิบัติการโดยการใช้กำลังทหารพลร่มครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพเยอรมัน ทหารพลร่มเยอรมันกระโดดร่มลงจากเครื่องบินสู่เกาะครีตที่มีกำลังทหารสัมพันธมิตรมากกว่าทหารเยอรมันถึงสองเท่า คือมีจำนวนถึง 42,500 คน ประกอบด้วยทหารออสเตรเลีย 6,450 คน ทหารนิวซีแลนด์ 7,700 คน ที่เพิ่งถอยทัพมาจากประเทศกรีซ และยังมีทหารกรีกอีกกว่าหนึ่งหมื่นคน รวมทั้งทหารอังกฤษอีกจำนวนหนึ่ง ทหารนิวซีแลนด์คนหนึ่งกล่าวถึงการบุกของพลร่มเยอรมันในวันนั้นว่า “.. ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเครื่องบินเยอรมัน บินลำต่อลำ เป็นแนวยาวจากขอบฟ้าหนึ่งไปยังอีกขอบฟ้าหนึ่ง เหมือนฝูงนกที่กำลังอพยพไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ..”

ทหารเยอรมันจำนวนมากกระโดดร่มออกจากเครื่อง และถูกทหารสัมพันธมิตรสังหารขณะที่ไม่มีทางต่อสู้หรือไม่มีทางป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะขณะที่กำลังลอยอยู่กลางท้องฟ้าภายใต้ร่มชูชีพสีขาว พลตรีอูเกน มายน์ดัล (Eugen Meindl) ผู้บังคับหน่วยพลร่มเยอรมันก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสก่อนลงถึงพื้น จนไม่สามารถบัญชาการรบได้ ทหารเยอรมันลงสู่พื้นทุกหนทุกแห่ง บางแห่งพวกเขาก็เริ่มทำการรบกับทหารสัมพันธมิตรโดยปราศจากผู้นำ เนื่องจากผู้บังคับหน่วยเสียชีวิต บาดเจ็บหรือพลัดหลงจากหน่วยของตน






สนามบินที่ Maleme ถูกพลร่มเยอรมันเข้ายึดอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จากความกล้าหาญของนักบินประจำเครื่องบินลำเลียงแบบ จุงเกอร์ เจยู 52 จำนวนหนึ่ง ที่นำเครื่องบินฝ่ากระสุนปืนนานาชนิดร่อนลงจอดฉุกเฉินบริเวณสนามบิน ก่อนที่พลร่มที่อยู่ในเครื่องแต่ละลำจะกรูกันออกจากเครื่องและกระจายกำลังกันเข้ายึดสนามบินได้

ในช่วงแรกของการรบ เยอรมันไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้มากนัก จนกระทั่งกำลังสนับสนุนส่วนใหญ่เดินทางมาถึงนำโดยกองพลภูเขาที่ 5 ทำให้ฝ่ายเยอรมันเป็นฝ่ายได้เปรียบในการรบ การรบดำเนินไปอย่างนองเลือดเป็นเวลาถึง 10 วัน จนทหารสัมพันธมิตรซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของพลตรีเบอร์นาร์ด ฟรายเบิร์ค (Bernard Freyberg) ผู้บัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงเกาะครีตได้เพียง 3 สัปดาห์ก่อนการบุกของเยอรมัน จะยอมแพ้อย่างเด็ดขาดในวันที่ 30 พฤษภาคม และทหารสัมพันธมิตรที่เหลือก็ล่าถอยจากเกาะครีตไปทั้งหมด

แม้อังกฤษจะพยายามอย่างมากในการสกัดกั้นกำลังหนุนของเยอรมัน ซึ่งเป็นทหารราบจากกรมทหารราบอีก 3 กรม เพื่อโดดเดี่ยวทหารพลร่มบนเกาะ แต่กองทัพอากาศเยอรมันก็ทำลายกองเรือของอังกฤษที่วางกำลังสกัดกั้นเรือลำเลียงที่จะลำเลียงทหารราบเยอรมันจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเยอรมันสามารถจมเรือประจัญบานและเรือขนาดใหญ่ของอังกฤษได้ 6 ลำ อีก 2 ลำได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้ทหารราบเยอรมันที่เป็นกำลังหนุนสามารถยกพลขึ้นบกที่เกาะครีตได้ และเข้าร่วมกับทหารพลร่มเยอรมัน ทำการกวาดล้างทหารสัมพันธมิตรที่หลงเหลืออยู่จนยอมแพ้ในที่สุด

เยอรมันประสบชัยชนะในการรบที่เกาะครีตท่ามกลางความสูญเสียอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย โดยทหารสัมพันธมิตรเสียชีวิต 1,800 คน ถูกจับเป็นเชลย 12,000 คน ทหารเรืออังกฤษเสียชีวิต 1,828 คน บาดเจ็บ 183 คน ถอยไปได้อย่างปลอดภัย 18,000 คน ในขณะที่เยอรมันเสียทหารไปถึง 4,000 คน บาดเจ็บ 2,500 คน กำลังพลที่สูญเสียไปเหล่านี้ ล้วนเป็นทหารชั้นยอดที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี และไม่สามารถทดแทนได้ในระยะเวลาอันจำกัด ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ทำให้เยอรมันไม่เคยใช้หน่วยพลร่มเป็นหัวหอกในการรุกครั้งใหญ่อีกเลย

ตามข้อเท็จจริงแล้ว สัมพันธมิตรทราบล่วงหน้าถึงแผนการบุกของฝ่ายเยอรมัน ก่อนหน้านี้แล้ว อันเป็นผลมาจากการถอดรหัสอีนิกม่า (Enigma) ของฝ่ายเยอรมันได้จึงตอบโต้อย่างรุนแรง แต่เนื่องจากทหารสัมพันธมิตรอยู่ในสภาพที่ขาดแคลน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ ยานยนต์อย่างมากมาย เพราะต้องถอยร่นมาจากกรีกในสภาพที่แตกกระสานซ่านเซ็น ทำให้ทหารสัมพันธมิตรที่มีจำนวนมากกว่าเยอรมันผู้รุกรานถึงสองเท่า ไม่สามารถต้านทานได้

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการวิเคราะห์ถึงการสูญเสียอย่างมากของทหารพลร่มเยอรมัน ในการรบที่เกาะครีต การวิเคราะห์พบว่า การใช้พลร่มเป็นกำลังหลักในการรุกนั้นจำเป็นจะต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว ฉับพลัน โดยที่ข้าศึกไม่รู้ตัวมาก่อน เนื่องจากการส่งทางอากาศขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสูงมากหากข้าศึกทราบล่วงหน้า เหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการส่งทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ในยุทธการมาร์เก็ต การ์เดนในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งก็จบลงด้วยความสูญเสียขนาดใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นเดียวกัน






ห้วงต่อมาของสงครามโลกครั้งที่สอง คือปี ค.ศ. 1940-1944 ทหารพลร่มเยอรมัน ได้ทำการรบในสมรภูมิต่าง ๆ ทุกสมรภูมิ ด้วยความกล้าหาญ เคียงข้างกับทหารราบ และทหารหน่วยอื่น ๆ ของกองทัพเยอรมัน เป็นการรบที่สร้างชื่อเสียงให้กับเหล่าทหารพลร่มเยอรมัน จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นหน่วยรบชั้นยอด (Elite Force) ของสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยหนึ่ง

ในช่วงปี ค.ศ. 1943 หน่วยพลร่มเยอรมันได้เข้าทำการรบในประเทศตูนีเซีย โดยทหารพลร่มเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นทหารที่ทำการรบในทวีปแอฟริกา ในนามของหน่วย “แอฟริกา คอร์” (Afrika Korps) ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล “เออร์วิน รอมเมล” (Erwin Rommel) อันลือชื่อ และหลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันในแอฟริกาที่เอล อลาเมนแล้ว หน่วยแอฟริกา คอร์ ก็ย้ายมาทำการรบที่ตูนีเซีย ก่อนจะพบจุดจบทั้งหน่วยด้วยการพ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตร เป็นการปิดตำนานความกล้าหาญของหน่วยแอฟริกา คอร์ โดยเฉพาะกองพลยานเกราะที่ 21 (21st Panzer Division) อันโด่งดัง และหน่วยพลร่มที่ร่วมอยู่ในแอฟริกา คอร์นี้ด้วย

ในการรบที่ตูนีเซียนอกจากจะมีหน่วยพลร่มที่ถอยร่นมาจากแอฟริกาแล้ว ก็ยังทหารพลร่มของเยอรมันที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลี ทหารพลร่มเหล่านี้เพิ่งเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เพื่อสกัดกั้นการรุกเข้ามาของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยฝ่ายเยอรมันมีกำลังพลทั้งหมดกว่า 60,000 คน ประกอบด้วย ทหารเยอรมัน 47,000 คน ทหารอิตาลี 18,000 คน จัดกำลังเป็นกองทัพยานเกราะที่ 5 (5th Panzerarmee) ภายใต้การนำของพลเอกฮันส์ เจอร์เก้น ฟอน อาร์นิม (Hans Jurgen von Arnim)

กำลังเหล่านี้จะสมทบกับกำลังของหน่วยแอฟริกา คอร์ ของจอมพลเออร์วิน รอมเมล ที่ถอยมาจากแอฟริกา
ในขณะที่กำลังฝ่ายสัมพันธมิตร มีกำลังประมาณ 110,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารสหรัฐอเมริกา ทำการรุกภายใต้ชื่อแผนยุทธการในการบุกครั้งนี้ว่า Torch ซึ่งการรุกของสัมพันธมิตรในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และชื่อของนายพล จอร์จ เอส แพทตัน (George S. Patton) ก็ปรากฏขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์นับจากนั้นมาเนื่องจากนายพลแพทตันเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 2 ที่ยกพลขึ้นที่ซิซิลี และได้สร้างผลงานในการบัญชาการรบที่นี่ไว้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเอาชนะกองทัพเยอรมันได้ แม้กำลังพลของเยอรมันส่วนใหญ่จะล่าถอยไปได้ แต่ก็ทำให้โฉมหน้าของสงครามในแอฟริกาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง






นอกจากนี้ในช่วงปี ค.ศ. 1943 เป็นต้นไป กองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถครองอากาศได้เกือบทั้งหมด ประกอบกับยุทธวิธีของนาซีเยอรมันเปลี่ยนจากการรุกเป็นการตั้งรับในทุกแนวรบ พลร่มเยอรมันแทบจะหมดโอกาสในการกระโดดร่มลงยึดที่หมายอย่างฉับพลัน ตามหลักการรบแบบสายฟ้าแลบของนาซีเยอรมัน ทหารหน่วยนี้ก็ต้องเปลี่ยนมาทำการรบแบบทหารราบทั่วไป แต่ประสิทธิภาพในการรบก็ยังคงเป็นที่น่าเกรงขามสำหรับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เช่นเดิม

ดังเช่นการรบที่แอนซิโอ (Anzio) และมองเต คาสิโน (Monte Casino) ในประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1944 ที่กำลังพลของหน่วยพลร่มเยอรมัน ได้สร้างความเสียหายให้กับทหารอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการรบที่มองเต คาสิโน นั้น กองพลพลร่มที่ 1 (1st Fallschirmjager Division) ซึ่งเดิมคือกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 นั่นเอง ได้ทำการรบแบบทหารราบ โดยดัดแปลงที่มั่นที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทั้งทางอากาศ และอาวุธหนัก เป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่ง พวกเขาสามารถต้านทานการรุกของสัมพันธมิตรได้นานนับเดือน และเนื่องจากทหารเหล่านี้สวมใส่ชุดคลุมสีเขียว จึงได้รับการตั้งฉายาจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรว่า ปีศาจสีเขียว (Green Devils)

การรบที่มองเต คาสิโนนี้ ทหารพลร่มเยอรมันต้องพบกับพลตรีฟรายเบิร์ค ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรที่ต้องพ่ายแพ้ต่อเยอรมันในเกาะครีต ที่กลับมาบัญชาการทหารสัมพันธมิตรอีกครั้งในการบุกเข้าอิตาลี แต่ต้องพบกับการต้านทานอย่างเด็ดเดี่ยวที่มองเตคาสิโน ฝูงบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดถล่มศาสนสถานและเมืองจนกลายเป็นซากปรักหักพัง แต่ทหารพลร่มเยอรมันก็อาศัยซากปรักหักพังเหล่านี้ เป็นป้อมปราการในการป้องกันที่มั่นของตน

สมรภูมิที่คาสิโนสร้างความเสียหายให้กับทหารสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก ทหารสหรัฐอเมริกาต้องเสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายไปกว่า 22,000 คน ซึ่งเท่า ๆ กับยอดผู้สูญเสียฝ่ายอังกฤษ ในขณะที่ทหารเยอรมันกลับสูญเสียเพียงเล็กน้อย และสามารถล่าถอยไปได้ ก่อนที่กองกำลังฝรั่งเศสจะสามารถเข้ายึดมองเต เมโจ (Monte Majo) ซึ่งอยู่รอบๆ มองเต คาสิโนได้ในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 และในที่สุดกองกำลังโปแลนด์ก็ยึดมองเต คาสิโน ได้ในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1944






ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันในแอฟริกาและอิตาลี การรบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ทหารพลร่มเยอรมันได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากก็คือการรบเพื่อต่อต้านการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 หรือที่รู้จักกันในชื่อ วันดี เดย์ (D Day) โดยหน่วยพลร่มที่ทำการรบที่นอร์มังดีประกอบด้วย กองทัพน้อยพลร่มที่ 1 กองทัพน้อยพลร่มที่ 2 กองพลพลร่มที่ 2 กองพลพลร่มที่ 3 และกองพลพลร่มที่ 5 รวมทั้งกรมพลร่มที่ 6 ที่ทำการรบที่คาเรนแทน (Carentan) ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง “Band of Brother”

กำลังพลของหน่วยพลร่มเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 17 ปี เท่านั้น พวกเขาถูกนำมาฝึกทดแทนกำลังพลที่สูญเสียไป ทหารเหล่านี้ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญ ในการต้านทานการบุกขึ้นฝั่งของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เนื่องจากขาดแคลนการสนับสนุนในทุก ๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหนัก ยานเกราะ ซึ่งล้วนตกเป็นเหยื่อของเครื่องบินสัมพันธมิตร ทหารพลร่มของเยอรมันจำนวนมาก เสียชีวิตในการรบที่นอร์มังดีแห่งนี้

ภายหลังจากความสูญเสียครั้งใหญ่ของทหารพลร่มในการรบที่นอร์มังดีแล้ว ฮิตเลอร์ก็ยังไม่สิ้นความพยายาม เขาเปิดฉากการรุกอันยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) ประเทศเบลเยี่ยม โดยระดมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นยอดเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ ภายใต้ชื่อยุทธการ Watch on the Rhine เข้าตีหน่วยทหารสหรัฐฯ เพื่อตัดกองทัพน้อยที่ 8 ของสหรัฐอเมริกาออกเป็นช่องว่าง แล้วรุกเข้าสู่แม่น้ำเมิร์ส (Meuse) ก่อนที่จะเข้ายึด “แอนท์เวอร์ป” (Antwerp) เป็นที่หมายสุดท้าย

กำลังพลของเยอรมันที่เข้าร่วมรบในครั้งนี้มีจำนวนสูงถึง 200,000 คน ภายใต้การนำของจอมพลเกิร์ด ฟอน รุดสเท็ดท์ (Gerd Von Rundstedt) สำหรับหน่วยพลร่มของเยอรมันที่เข้าร่วมในการรบในสมรภูมิแห่งนี้ ประกอบไปด้วยกำลังพลจากกรมพลร่มที่ 9 (9th Parachute Regiment) ของกองพลพลร่มที่ 3 ซึ่งขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพที่ 15 รุกไปทางทิศเหนือ และกองพลพลร่มที่ 5 เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ 7 ซึ่งกองพลพลร่มที่ 5 สามารถประเดิมชัยชนะให้เยอรมันในการรุกครั้งนี้ภายใต้ชื่อรหัสสตอสเซอร์ (Stosser) โดยสามารถจับเชลยอเมริกันได้กว่า 1,000 คน รถถังแบบ เอ็ม 4 เชอร์แมนอีก 25 คัน

แม้ว่าการรบครั้งนี้จะเป็นการรบแบบทหารราบของทหารพลร่มเยอรมัน แต่ก็ถือว่าเป็นการรบที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามครั้งสุดท้ายของหน่วยพลร่มเยอรมัน แม้ว่าในในท้ายที่สุด ทหารเยอรมันก็ต้องพ่ายแพ้ต่อแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของฝ่ายสัมพันธมิตรและไม่สามารถยึดเมืองบาสตอง อีกทั้งยังถูกตีถอยร่นกลับไปในประเทศเยอรมนีอีกครั้ง

การรบในครั้งนี้ทหารพลร่มเยอรมันที่ทำการรบแบบทหารราบ ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก เช่นเดียวกับทหารเยอรมันหน่วยอื่น ๆ ที่เข้าสู่สมรภูมิที่ป่าอาร์เดนส์แห่งนี้ กระแสน้ำแห่งความชัยชนะของเยอรมัน เมื่อครั้งเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีวันไหลกลับมาสู่อาณาจักรไรซ์ที่ 3 อันเกรียงไกรของนาซีเยอรมันอีกต่อไปแล้ว และหลังจากนั้นอีกไม่นาน ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1945 กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของนาซีเยอรมันก็ถูกรัสเซียเข้ายึดครองพร้อมๆ กับการละลายหายไปของกำลังพลคนสุดท้ายของกองพลพลร่มที่ 9ซึ่งถือเป็นหน่วยพลร่มหน่วยสุดท้ายของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง




Create Date : 04 มีนาคม 2555
Last Update : 25 มิถุนายน 2556 11:17:54 น.
Counter : 8533 Pageviews.

3 comments
การ์ตูนจากกล่องอาหาร สมาชิกหมายเลข 4313444
(14 เม.ย. 2567 04:14:16 น.)
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)
  
เยี่ยมเลยครับ
โดย: fe IP: 202.153.121.32 วันที่: 5 มีนาคม 2555 เวลา:14:36:17 น.
  
กองพลร่มเยรมันโครตสุดยอด
โดย: ni IP: 106.0.195.55 วันที่: 17 พฤษภาคม 2556 เวลา:14:42:33 น.
  
พลร่มเก่ง
โดย: รักเยอรมัน IP: 124.122.63.224 วันที่: 13 มิถุนายน 2556 เวลา:21:09:40 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Vuw.BlogGang.com

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]

บทความทั้งหมด