ทำอย่างไรจึงจะเลือกคำมูล คำประสม คำซ้อน คำสมาส สนธิได้ถูกต้อง หนอ
ทำอย่างไรจึงจะเลือกคำมูล คำประสม คำซ้อน คำสมาส - สนธิได้ถูกต้อง หนอ

ข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบในชั้นเรียนหรือเป็นข้อสอบแข่งขัน สอบเข้าเรียนต่อยังสถาบันต่าง ๆ มักจะมีข้อสอบหลาย ๆ ข้อ ถามว่า ข้อใดมีคำประสมทั้งหมด ข้อใดมี คำซ้อนอยู่ด้วย ข้อใดมีคำมูล ข้อใดเป็นคำสมาส - สนธิ แล้วก็มีคำตอบข้อย่อย ๆ มาให้นักเรียนเลือก แต่ละข้อ ก็ประกอบไปด้วยคำประเภทต่าง ๆ มาให้นักเรียนเลือก ซึ่งก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้นักเรียนไม่ใช่น้อย เพราะดูแล้ว ไม่รู้จะเลือกข้อไหนดี แต่ละคำก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ฉันรู้สึกเห็นใจนักเรียนมาก จึงได้พยายามสร้างหลักการสังเกตมาให้นักเรียนสังเกตคำเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นหลักในการวิเคราะห์คำเหล่านี้ให้ถูกต้อง นักเรียนจะได้เลือกคำเหล่านี้ได้ถูกต้องในเวลาทำข้อสอบ ค่ะ

ก่อนอื่นนักเรียนจะต้องเข้าใจลักษณะเด่นของคำเหล่านี้ก่อนว่า
เป็นอย่างไร แล้วค่อย ๆ หาความแตกต่างและความเหมือนกันของคำเหล่านี้ เพื่อแยกให้ออกว่า คำที่ข้อสอบให้มานั้น ควรจะเป็นคำ
ประเภทใด

1. คำมูล คือ คำที่มีมาแต่ดั้งเดิมของแต่ละภาษา จะเป็นคำพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้ ถ้าเป็นคำหลายพยางค์ แต่ละพยางค์อาจไม่มีความหมายเลย ต้องรวมกันแล้วจึงจะมีความหมาย หรือ มีความหมายเพียงบางพยางค์ เมื่อรวมกันแล้ว จึงจะมีความหมาย บางคำ อาจจะมีความหมายทุกพยางค์ รวมแล้วเกิดความหมายใหม่โดยไม่มีเค้าของความหมายเดิมเหลืออยู่เลย

ตัวอย่าง คำมูลพยางค์เดียว เช่น พ่อ ลูก แมว น้อง
คำมูลที่ทุกพยางค์ไม่มีความหมาย เช่น มะระ กะปิ สมุด
คำมูลที่มีบางพยางค์มีความหมาย เช่น นาฬิกา มะละกอ
คำมูลที่เกิดจากพยางค์ที่มีความหมายทุกพยางค์มารวมกัน เช่น
จำีปี จำปา

2.คำประสม คือ การนำคำมูลที่มาจากภาษาใดก็ได้ ตั้งแต่สองคำขึ้นไปมารวมกันกลายเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่เกิดขึ้นแต่ยังคงมีความหมายดั้งเดิมให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ตู้เย็น รถไฟฟ้า ลูกน้ำ เป็นต้น

3. คำซ้อน คือ การนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกันหรือบางครั้งเอาคำที่มีความหมายตรงข้ามกันก็มี มารวมกันแล้วเกิดความหมายใหม่ ยังคงมีเค้าความหมายเดิมอยู่ เช่น จิตใจ ถ้วยชาม เสื่อสาด
บ้านเรือน ชั่วดี เป็นต้น

4.คำสมาส- สนธิ คือ การนำคำในภาษาบาลี สันสกฤตมารวมกัน แล้วเกิดความหมายใหม่ขึ้นตามรูปศัพท์ที่นำมาสมาส เช่น ชลาลัย ราชบุตร
นเรนทร์ แพทยศาสตร์ เป็นต้น

ฉันได้ให้ความหมายของคำแต่ละชนิดไปแล้วข้างต้น นักเรียนลองใช้ความคิดพินิจพิเคราะห์ เพื่อหาความเหมือนและความต่างของคำทั้ง 4 ชนิดนี้ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นหลักในการเลือกหรือจำแนกแยกคำเหล่านี้ได้ในเวลาสอบภาษาไทย

นักเรียนจะเห็นว่า ถ้าเป็นคำมูลประเภทที่เกิดจากคำที่มีความหมายทุกคำมารวมกัน จะเป็นปัญหากับคำประสม เพราะ คำประสม จะต้องเกิดจากคำที่มีความหมายทั้งหมดมารวมกัน ทำให้ไปซ้ำกับ คำมูลประเภทนี้ แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะคะว่า มันเป็นคำประสมหรือเป็นคำมูล ปัญหาข้อนี้ เราใช้ความแตกต่างของคำมูลและคำประสมมาเป็นข้อตัดสิน
นั่นคือ ถ้าเป็นคำมูล ความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นจะไม่มีเค้าความหมายเดิมของคำเดิมอยู่เลย แต่ถ้าเป็นคำประสม รวมกันแล้วกิดความหมายใหม่จะต้องมีเค้าของความหมายเดิมอยู่ด้วย เช่น

จำปี เป็นคำมูล เพราะว่า นำคำที่มีความหมายทั้งสองคำมารวมกัน เกิดความหมายใหม่ หมายถึงชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง ไม่มีเค้าความหมายของคำว่า จำ และ ปี อยู่เลย จึงจัดว่าเป็นคำมูล
ตู้เย็น เป็นคำประสม เราจะเห็นว่ารูปลักษณ์ที่นำมารวมกันเป็นคำใหม่นั้น ระหว่าง จำปี กับ ตู้เย็น จะเป็นลักษณะเดียวกัน คือ คำที่นำมารวมกันล้วนแต่มีความหมายในตัวเองทั้งสิ้น และเมื่อนำมารวมกันแล้ว เกิดความหมายใหม่ขึ้นเหมือนกันทั้งคู่ แต่ความหมายใหม่นั้นถ้ามีเค้าของความหมายเดิมอยู่ เราจัดว่าเป็นคำประสม เช่น ตู้ กับ เย็น รวมแล้วเป็น ตู้เย็น หมายถึง สิ่งของที่ใช้เก็บของที่ไม่ให้ของที่เก็บนั้นเสีย แล้วยังคงมีเค้าความหมายเดิมอยู่ คือ มีลักษณะเหมือนตู้ และ มีความเย็น อย่างนี้ เป็นต้น ส่วนคำว่า จำ กับ ปี มารวมกันแล้ว เกิดความหมายใหม่เหมือนคำว่า ตู้ กับ เย็น แต่ความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น จะไม่มีเค้าความหมายของคำว่า จำ หรือ ปี เลย อย่างนี้เป็นต้น

คำประสมกับคำซ้อนนั้น เราจะเห็นว่า รูปคำที่สร้างขึ้นมาเหมือนกันเกือบทุกประการ แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ จึงจะทราบว่า คำไหนเป็นคำซ้อน คำไหนเป็นคำประสม เราก็ต้องใช้ข้อแตกต่างของคำสองประเภทนี้มาเป็นตัวตัดสิน จะเห็นว่า ถ้าเป็นคำประสมนั้น ไม่จำกัดว่า คำที่จะนำมารวมกันเป็นคำใหม่นั้น ไม่กำหนดว่า จะต้องเป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน แต่สำหรับคำซ้อนนั้น กำหนดไว้ว่า คำที่จะนำมารวมกันเป็นคำซ้อนนั้น ต้องมีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน เราจึงใช้ข้อแตกต่างข้อนี้เป็นข้อวิเคราะห์แยกคำประสมกับคำซ้อนได้ นั่นเอง เช่น บ้านพัก เป็นคำประสม แต่บ้านเรือน เป็นคำซ้อน เพราะว่า บ้าน กับ พัก ความหมาย ไม่ได้คล้ายคลึงกัน แต่ คำว่า
บ้าน กับ เรือน ความหมาย นั้นใกล้เคียงกัน บ้านเรือน จึงต้องเป็นคำซ้อน

คำประสมกับคำสมาส นั้น คำสองชนิดนี้ ก็จะเห็นว่า มี
ลักษณะการสร้างคำเหมือนกัน คือ นำคำสองคำที่มีความหมายมารวมกัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คำใดเป็นคำประสม คำใดเป็นคำสมาส เราก็ต้องมาหาข้อแตกต่างของการนำคำมาสร้างเป็นคำใหม่ของคำสองประเภทนี้ ค่ะ นั่นก็คือ คำสมาส จะต้องนำคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต เท่านั้นมารวมกัน ถ้าไม่ใช่สองภาษานี้ ไม่ถือว่า เป็นคำสมาส เช่น คำว่า
ราชวัง ถือเป็นคำประสม เพราะว่า ราช เป็นบาลี แต่ วัง เป็นคำไทย ดังนั้น ราชวัง จึงจัดเป็นคำประสม ไม่จัดเป็นคำ สมาส เป็นต้น

ส่วนคำสมาสที่เกิดจากวิธีสมาสและเกิดจากวิธีสนธิ ต่างกันอย่างไร ฉันเคยเขียนอธิบายไปแล้วในเรื่อง คำสมาสแบบสมาสและแบบวิธีสนธิไปแล้ว นักเรียนสามารถกลับไปทบทวนได้ไหมนะคะ

ข้อสำคัญสำหรับเรื่องการสังเกตว่า เป็นคำสมาสหรือไม่นั้น
นักเรียนต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่อง ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ด้วย จึงจะสามารถบอกได้ว่า เป็นคำสมาสหรือเป็นคำประสม ซึ่งเรื่องของการสังเกต คำบาลีและคำสันสกฤต ฉันก็ได้อธิบายไปแล้วเช่นกัน นักเรียนสามารถไปอ่านทบทวนใหม่ได้ ค่ะ

ฉันหวังว่า บทความทางวิชาการเรื่อง "ทำอย่างไรจึงจะเลือกคำมูล คำประสม คำซ้อน คำสมาส - สนธิได้ถูกต้อง หนอ" เรื่องนี้ คงจะช่วยให้นักเรียนที่เข้ามาศึกษาได้ข้อสังเกตไปเป็นแนวทำข้อสอบได้ดี
นะคะ

ขอให้โชคดี ค่ะ โอกาสหน้าพบกันใหม่ค่ะ








Create Date : 25 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 3 ธันวาคม 2557 11:16:47 น.
Counter : 16041 Pageviews.

1 comments
การนับเวลาแบบในหนังจีน toor36
(28 เม.ย. 2567 10:49:00 น.)
ถนนสายนี้ ... ... มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 350 "คำมั่นสัญญา" สมาชิกหมายเลข 7115969
(26 เม.ย. 2567 22:01:18 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปถมศึกษาตอนปลาย (ป.4) เรื่องจำนวนนับ นายแว่นขยันเที่ยว
(24 เม.ย. 2567 00:20:32 น.)
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
  

ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับอาจารย์

นั่งอ่านจนจบไปแล้วหนึ่งรอบครับอาจารย์
เป็นความรู้ที่ไม่แน่ใจว่าเคยเรียนมาหรือเปล่า
หรือถ้าเรียนมา
ผมต้องลืมไปหมดแล้วแน่นอนเลยครับ 555

ถามหมิงหมิงว่าได้เรียนหรือเปล่า
หมิงหมิงบอกว่าได้เรียนครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:19:44:16 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Suvimol.BlogGang.com

อาจารย์สุวิมล
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 46 คน [?]

บทความทั้งหมด