การสังเกต คำสมาส ที่เกิดจากวิธีสมาสและวิธีสนธิ
วิธีการสังเกต คำสมาสที่เกิดจากวิธี สมาสและวิธีสนธิ

การเขียนเรื่อง วิธีการสังเกต คำสมาสที่เกิดจากวิธี สมาสและวิธีสนธิ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่คุณ "เด็กเรียน" เขียนขอมา ซึ่งขอมาพร้อมกับเรื่อง การสังเกตคำบาลี- สันสกฤต ฉันจึงได้เขียนเรื่องนี้ให้ คุณ "เด็กเรียน"ตามคำขอ หวังว่า คงจะได้อ่านและมีประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่วไปอีกทางหนึ่งด้วยนะคะ

ดังที่ฉันได้กล่าวมาแล้วใน เรื่อง การสังเกตคำบาลี- สันสกฤตแล้วว่า เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นฐานความรู้ที่จะนำไปสู่การสังเกตคำสมาสที่เกิดจากวิธีสมาสและวิธีสนธิ กล่าวคือ คำสมาส ต้องเกิดจากการนำคำบาลี-สันสกฤต ตั้งแต่สองคำขึ้นไปมารวมกันแล้วเกิดความหมายใหม่ขึ้น โดยยังมีเค้าความหมายของคำเดิมอยู่

คำสมาสในภาษาบาลี-สันสกฤต เป็นการสร้างคำใหม่ขึ้นใช้วิธีหนึ่งในภาษา มี 2 วิธี
1. วิธีสมาส คือ การนำคำบาลี-สันสกฤต มาเรียงติดกันโดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำเดิม เช่น ทัศนะ สมาสกับคำ คติ เป็นทัศนคติ
2. วิธีสนธิ คือ การนำคำบาลี- สันสกฤตมาเชื่อมติดกัน จะมีบางส่วนของคำกลืนเสียงหายไป กล่าวคือ รูปคำที่สนธิเสร็จแล้วจะไม่เหมือนรูป
คำก่อนการสนธิ เช่น มหา สนธิกับคำ โอฬาร เป็น มโหฬาร จะเห็นว่า ตัว อ ถูกกลืนเสียงไปอยู่กับคำว่า มหา เป็นต้น

การสังเกตคำสมาส
1.คำที่นำมาสมาสจะต้องมาจาก ภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น จะเป็นคำมาจากภาษาอื่นไม่ได้ เช่น อัคคีภัย เศวตฉัตร หัตถศึกษา เป็นต้น
2. คำสมาส เวลาอ่านออกเสียง ต้องอ่านออกเสียงสระของพยางค์สุดท้ายของคำแรก เช่น
พุทธประวัติ อ่านว่า พุด-ทะ-ประ-หวัด
อุบัติเหตุ อ่านว่า อุ-บัด-ติ-เหด
3.คำสมาสส่วนมากจะเรียงคำหลักไว้ข้างหลัง คำขยายไว้ข้างหน้า ต่างกับคำประสม ที่มักจะเรียงคำหลักไว้ข้างหน้า คำขยายไว้ข้างหลัง เช่น
มหาบุรุษ แปลว่า บุรุษผู้ยิ่งใหญ่
สัตวแพทย์ แปลว่า หมอรักษาสัตว์
หมายเหตุ มียกเว้นบางคำ ที่เป็นคำหลักทั้งสองคำ ไม่มีคำขยาย จึงแปลจากหน้าไปหลังหรือแปลจากหลังไปหน้าก็ได้ เช่น
บุตรภรรยา แปลว่า บุตรและภรรยาหรือภรรยาและบุตร
ทาสกรรมกร แปลว่า ทาสและกรรมการ หรือ กรรมกรและทาส
สมณพราหมณ์ แปลว่า สมณะและพราหมณ์หรือ พราหมณ์และสมณะ
4. เมื่อสมาสแล้วเกิดความหมาย หลายลักษณะ ดังนี้
4.1 เกิดความหมายใหม่ เช่น
สหัส (พันหนึ่ง) รังสี เป็น สหัสรังสี แปลว่า ดวงอาทิตย์
ทิพย์ (เป็นของเทวดา) รส เป็น ทิพยรส แปลว่า รสเลิศ

4.2 มีความหมายเหมือนเดิม คือ สมาสแ้ล้วมักจะมีความหมายรวมของคำที่นำมาสมาสกัน โดยคำที่นำมาสมาสกันนั้น จะมีความสัมพันธ์ทางความหมายต่าง ๆ กัน เช่น
ครุ (ครู) ศาสตร์ (วิชา) เป็น ครุศาสตร์ แปลว่า การเล่าเรียนเกี่ยวกับครู
ราช (พระราชา) บุตร(ลูก) เป็น ราชบุตร โอสแห่งพระราชา

4.3 มีความหมายอยู่ที่คำใดคำหนึ่ง เช่น
มนุษย์ชาติ แปลว่า มนุษย์
อรัญประเทศ แปลว่า ป่า

5. คำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ที่มีคำว่า "พระ" นำหน้า คำนั้นถือว่าเป็นคำสมาสด้วย เช่น พระกร พระกัณฐ์
6. คำหน้าของคำสมาสที่นำมาสมาส ถ้ามี การันต์หรือประวิสรรชนีย์ เมื่อสมาสแล้ว ต้องตัด การันต์หรือตัววิสรรชนีย์ออกด้วย เช่น คำว่า
แพทย์ สมาสกับคำว่า ศาสตร์ เป็น แพทยศาสตร์ ศิลปะ สมาสกับคำว่า กรรม เป็น ศิลปกรรม เป็นต้น

วิธีการสังเกตคำ สมาส ที่เกิดจากวิธี สนธิ

การสนธิ จะทำให้ตัวอักษรของคำน้อยลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแต่งคำประพันธ์ และทำให้รูปคำดูสละสลวยขึ้น
วิธีการสร้างคำสมาสด้วยวิธีสนธิที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มีหลักคล้ายกับการสร้างคำสมาส คือ ต้องเป็นคำมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเท่านั้น
วิธีสนธิ มี 3 วิธี คือ
1. สระสนธิ หมายถึง การเชื่อมเสียงสระหลังของคำหน้ากับสระหน้าของคำหลัง ให้กลมกลืนกัน การสนธิด้วยวิธีนี้ มีใช้ในภาษาไทยมากที่สุด
หัวใจของการสนธิวิธีนี้ คือ คำหลังที่นำมาสนธิกับคำหน้า จะต้องขึ้นต้นด้วย ตัว "อ" เสมอ และเมื่อสนธิแล้ว จะได้สระตัวหลังเสมอ ตัว "อ" จะลบหายไป ดังตัวอย่างดังนี้
1.1 ถ้าตัวหน้าเป็น สระ อะ หรือ สระ อา สนธิกับคำหลังจะเป็นสระอะไรก็ได้ สนธิแล้วจะได้สระของตัวหลัง เช่น

วิทยะ + อาลัย เป็น วิทยาลัย
มหา + อรรณพ เป็น มหรรณพ
คช + อินทร์ เป็น คชินทร์
ราช + อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์
พุทธ + โอวาท เป็น พุทโธวาท
โภค + ไอศูรย์ เป็น โภไคศูรย์
อน + เอก เป็น อเนก

1.2 ถ้าคำหน้าเป็นสระ อิ หรือ อี สนธิกับคำหลัง ซึ่งเป็นสระ อิ หรือ อี เมื่อสนธิแล้ว จะได้สระตัวหลัง เช่น

อริ + อินทร์ เป็น อรินทร์
ไพรี + อินทร์ เป็น ไพรินทร์

1.3 ถ้าคำหน้าเป็นสระอิ หรือ อี สนธิกับคำหลังที่ไม่ใช่สระ อิ หรือ อี จะต้องเปลี่ยน สระ อิ หรือ สระ อี เป็นพยัญชนะ ตัว "ย" เสียก่อน แล้วจึงสนธิกับสระตัวหลังตามกฎ 1.1 เช่น

มติ + อธิบาย เป็น มตย + อธิบาย เป็น มัตยาธิบาย
สามัคคี + อาจารย์ เป็น สามัคคย + อาจารย์ เป็น สามัคยาจารย์

หมายเหตุ มีบางคำที่ไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับนี้ เช่น
หัตถี + อาจารย์ เป็น หัตถาจารย์
ศักดิ + อานุภาพ เป็น ศักดานุภาพ
ราชินี +อุปถัมภ์ เป็น ราชินูปถัมภ์

1.4 ถ้าคำหน้าเป็นสระอุหรือสระอู สนธิกับคำหลังที่เป็นสระอุ หรือ สระอู เมื่อสนธิแล้วจะไ้ด้สระตัวหลัง เช่น

ครุ +อุปกรณ์ เป็น ครุปกรณ์
จตุ + อุปาทาน เป็น จตุปาทาน

1.5 ถ้าคำหน้าเป็นสระอุ หรือ อู สนธิกับคำหลังที่ไม่ใช่สระ อุ หรือ อู จะต้องเปลี่ยน สระ อุ หรือ สระ อู เป็นพยัญชนะ ตัว "ว" เสียก่อน แล้วจึงสนธิกับสระตัวหลังตามกฎ 1.1 เช่น

จักขุ + อาพาธ เป็น จักขว + อาพาธ เป็น จักขวาพาธ
ธนู + อาคม เป็น ธนว + อาคม เป็น ธันวาคม

2. พยัญชนะสนธิ หมายถึง การเชื่อมเสียงพยัญชนะสุดท้ายของคำหน้ากับพยัญชนะหรือสระหน้าของคำหลัง พยัญชนะสนธิเป็นวิธีรวมศัพท์ในภาษาสันสกฤต ส่วนภาษาบาลีไม่มีวิธีนี้ วิธีนี้ไทยรับเอาคำที่ภาษาสันสกฤตสนธิเรียบร้อยแล้วมาใช้ แต่นำมาใช้เป็นจำนวนน้อย นำมาเฉพาะคำที่ลงท้ายพยัญชนะ "น" และ "ส" เวลาสนธิ ให้ลบ ตัว "น" ทิ้ง ส่วน "ส" ให้เปลี่ยนเป็นสระ "โอ" แต่ "ส" อุปสรรค "ทุส" อุปสรรค และ "นิส" อุปสรรค ให้เปลี่ยนเป็น "ร" เช่น

รหสฺ + ฐาน เป็น รโหฐาน
นิสฺ + ภัย เป็น นิรภัย
ทุสฺ + ชน เป็น ทุรชน

หมายเหตุ พยัญชนะสนธิจะแตกต่างจากสระสนธิ คือ พยางค์สุดท้ายของคำหน้าจะเป็นพยัญชนะ ไม่ใช่สระ และคำขึ้นต้นของคำหลัง จะไม่ต้องขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ "อ" แต่จะต้องขึ้นต้นด้วย พยัญชนะตัวอื่น ๆ

3. นิคหิตสนธิ หมายถึง การเชื่อมคำที่คำหน้าขึ้นต้นด้วย นิคหิต หรือพยางค์ท้ายของคำหน้า ขึ้นต้นด้วยนิคหิตแล้วไปสนธิกับคำหลัง มีวิธีการสนธิ 3 วิธี ดังนี้

3.1 ถ้านิคหิตสนธิกับคำหลังที่เป็นพยัญชนะวรรค ให้แปลงเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคนั้น เช่น

สํ + คม (ค อยู่ในวรรค ก พยัญชนะสุดท้ายของวรรค ก คือ ง เป็น สังคม
สํ + ชาติ (ช อยู่ในวรรค จ พยัญชนะสุดท้ายของวรรค จ คือ ญ ) เป็น
สัญชาติ

3.2 ถ้า นิคหิตสนธิกับคำหลังที่เป็นพยัญชนะเศษวรรค ให้แปลงนิคหิต เป็น "ง" แล้วจึง สนธิกัน เช่น
สํ +โยค (ย เป็นพยัญชนะเศษวรรค) เป็น สังโยค
สํ + หรณ์ ( ห เป็นพยัญชนะเศษวรรค) เป็น สังหรณ์

3.3 ถ้านิคหิตสนธิกับคำหลัง ที่ขึ้นต้นด้วย สระ ให้แปลง นิคหิตเป็นพยัญชนะ ตัว "ม" แล้วจึงสนธิแบบสระสนธิ เช่น

สํ + อุทัย เป็น สม + อุทัย เป็น สมุทัย
สํ + อิทธิ เป็น สม + อิทธิ เป็น สมิทธิ

(งานเขียนชิ้นนี้ ฉันนสรุปย่อมาจากหนังสือ เรื่อง "คู่มือ เตรียมสอบ วิชาภาษาไทย สำหรับบุคคลทั่วไปและข้าราชการตำรวจทุกระดับ" ซึ่งเป็นหนังสือของฉันเองที่พิมพ์ออกจำหน่าย ค่ะ)




Create Date : 06 พฤษภาคม 2555
Last Update : 21 มกราคม 2558 20:16:12 น.
Counter : 68269 Pageviews.

45 comments
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
พระประธานสมัยสุโขทัย : วัดไร่ขิง ผู้ชายในสายลมหนาว
(15 มี.ค. 2567 16:51:33 น.)
  
สนุกดีนะ
โดย: ice IP: 223.204.243.134 วันที่: 24 พฤษภาคม 2555 เวลา:20:51:36 น.
  
ชอบมากๆค่ะ คุณครูสอนไม่ค่อยเข้าใจต้องมาอ่านในเน็ตเอา คร้
โดย: น้องมีนรามอินทรา พวว 19 คร้ IP: 115.67.128.19 วันที่: 10 มิถุนายน 2555 เวลา:12:05:56 น.
  
ก็ดีนะคะ
โดย: ไข่ไก่ IP: 223.207.38.172 วันที่: 19 มิถุนายน 2555 เวลา:20:15:34 น.
  
โคตรโง่
โดย: อ่าด้า IP: 118.172.92.203 วันที่: 22 มิถุนายน 2555 เวลา:9:53:48 น.
  
หาอ่านหลายเว็บแล้วแต่ไม่เข้าใจ พอได้อ่านเว็บนี้เข้าใจมากขึ้นเลยคะ เพระาต้องพรีเซนต์เรื่องนี้ ขอบคุณมากคะ
โดย: เม IP: 110.171.23.111 วันที่: 29 มิถุนายน 2555 เวลา:9:45:36 น.
  
ค่อยยังชั่ว
โดย: มินและกี้ IP: 101.51.175.147 วันที่: 25 สิงหาคม 2555 เวลา:12:00:16 น.
  
ดีมาก
โดย: pfhoowee;_@hotmail.com IP: 61.19.65.225 วันที่: 4 กันยายน 2555 เวลา:20:13:56 น.
  
Good. Very very
โดย: Gift_1140@hotmail.com IP: 182.232.87.154 วันที่: 19 กันยายน 2555 เวลา:21:37:23 น.
  
เข้ามาเจอพอดีค่ะ กำลังอยากถามผู้รู้สักคน เห็นอาจารย์มีความชำนาญ จะขอถามว่า ถ้าเอาคำ นภา + อนันต์ = นภันต์ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราจะตัดการันต์ออกด้วย ให้เหลือแต่ 'นภัน' จะได้ไหมคะ แล้วจะยังแปลเหมือนเดิมไหมคะ ขอบคุณค่ะ
โดย: เจี๊ยบ IP: 58.97.84.16 วันที่: 20 กันยายน 2555 เวลา:17:21:28 น.
  
ตอบคำถาม คุณเจี๊ยบ ค่ะ

นภา และ อนันต์ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีทั้งคู่ ดังนั้นจึงสามารถนำมาเข้าสมาสด้วยวิธีสนธิได้ จ้ะ (ตามกฎเกณฑ์) รวมศัพท์สนธิแล้ว จะเป็น นภานันต์ ค่ะ สระอาและสระอะ (อนันต์) สนธิแล้วมักจะเป็นสระเสียงยาว การตัด การันต์ของคำเดิมออก ความหมายก็ไม่มีซิคะ
ดังนั้น จึงไม่ใช่ เป็น นภันต์ หรือ นภัน แน่ ๆ ค่ะ แต่ถ้า นำไปใช้เป็นชื่อเฉพาะ ก็ไม่ผิดอะไร แต่ว่า ในแง่ของคำสมาสด้วยวิธีสนธิ ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ค่ะ ขอบคุณที่ให้เกียรติมาอ่านและถามความรู้นะคะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 21 กันยายน 2555 เวลา:10:39:12 น.
  
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ที่กรุณาอธิบาย แอบเศร้าเล็กน้อยค่ะ เพราะอยากใช้ชื่อ นภัน (แบบไม่มีการันต์) ก็เลยพยายามเสาะหาที่มาและความหมายน่ะค่ะ
โดย: jj IP: 58.97.84.16 วันที่: 23 กันยายน 2555 เวลา:12:52:59 น.
  
อย่าเสียใจเลยจ้ะ คุณเจี๊ยบ การตั้งชื่อนั้น ควรจะมีความหมายดีกว่าจ้ะ อีกอย่าง รู้สึกว่า เวลาไปเปลี่ยนชื่อ ทางอำเภอ จะไม่ยอมให้ตั้งชื่อที่ไม่มีความหมาย น่ะจ้ะ ไม่ทราบว่าเท็จจริงเป็นประการใด เพราะยังไม่เคยเปลี่ยนชื่อเลยจ้ะ มีอะไรเกี่ยวกับภาษาไทย ที่คุณเจี๊ยบสนใจ ก็ถามมาได้นะจ๊ะ ถ้ามีความรู้จะตอบได้ ก็ยินดีมากจ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 24 กันยายน 2555 เวลา:11:13:48 น.
  
ขอบพระคุณมากๆค่ะอาจารย์ จะติดตามความรู้ใหม่ๆจากบล็อกของอาจารย์ต่อไปนะคะ
โดย: jj (เจี๊ยบ) IP: 58.97.84.16 วันที่: 25 กันยายน 2555 เวลา:11:25:38 น.
  
ขอบใจ คุณเจี๊ยบจ๊ะ ที่ชอบและจะติดตามความรู้ที่ครูเขียนต่อ ๆ ไป ครูก็จะพยายามเขียนบล็อกเกี่ยวกับความรู้ มากขึ้นนะจ๊ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 26 กันยายน 2555 เวลา:8:33:13 น.
  
อยากทราบว่า อนันตญา มาจากภาษาอะไรคะ แล้วเป็นคำสนธิ หรือสมาธิ กำลังทำส่งครู ช่วยหน่อยค่ะ
โดย: 2563 IP: 101.51.46.180 วันที่: 4 ตุลาคม 2555 เวลา:19:44:48 น.
  
ตอบคำถาม คุณ 2563

ตอบหนูช้าไปนิดหนึ่ง เพราะครูเพิ่งกลับจากเที่ยว แคชเมียร์ เมื่อคืนนี้เอง คงทันที่เธอจะไปทำรายงานส่งครูนะจ๊ะ
คำ อนันตญา มาจาก อนันต์ สมาส กับ ญา ไม่ใช่ คำสมาส ประเภท สนธิ (สมาธิ คนละเรื่องกับ สนธิ นะจ๊ะ) อนันต์ แปลว่า ไม่มีที่สิ้นสุด , มากล้น ส่วน ญา หมายถึง ความรู้ นำสองคำนี้มารวมกัน โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปศัพท์ เราเรียกว่า คำสมาส แบบวิธี สมาส รวมความแล้ว คือ ความรู้ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 6 ตุลาคม 2555 เวลา:15:55:47 น.
  
ขอบคุณมากค่ะ ทันที่จะไปส่งงานครูพอดี ^^
โดย: 2563 IP: 101.51.46.178 วันที่: 9 ตุลาคม 2555 เวลา:21:18:47 น.
  
รบกวนถามอาจารย์คะ่ คำ ศศิน =ดวงจันทร์ ,กานต์=อันเป็นที่รัก น่ารัก รวมกันเป็นคำ ศศินกานต์ อ่านว่า สะ-สิ-นะ-กาน ได้ไหม๊คะ แล้วมีความหมายว่าอะไรคะ
โดย: กฤติกานต์กุล ม่วงทอง IP: 27.55.205.116 วันที่: 29 กรกฎาคม 2556 เวลา:16:32:22 น.
  
ตอบคำถามคุณ กฤติกานต์กุล ม่วงทอง

คำศัพท์ "ศศินกานต์" คำหน้า เป็นศัพท์สันสกฤต คำหลัง (กานต์) เป็นศัพท์ บาลี ดังนั้น จึงสามารถนำมาสมาสกันได้เป็น
ศศินกานต์ ความหมายแปลจากศัพท์หลังมาศัพท์หน้า จึงแปลว่า "เป็นที่รักของดวงจันทร์" สำหรับเรื่องคำอ่าน อ่านว่า สะ-สิน-นะ-กาน น่ะ อ่านถูกต้องตามหลักการอ่านคำสมาส แต่ถ้าเป็นชื่อเฉพาะ ก็อาจจะไม่อ่านตามหลักสมาส อ่านว่า สะ สิน กาน ก็ได้ ค่ะ (ตามหลักของการอ่านชื่อเฉพาะ ค่ะ)
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 30 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:40:18 น.
  
เอามาน้อยเกินครับ
โดย: เจมนายม IP: 182.53.58.229 วันที่: 21 สิงหาคม 2556 เวลา:20:21:52 น.
  
หาคำสมาสที่ไม่มีสนธิเขาให้หาตั้ง50คำ
โดย: น้องพิม IP: 61.19.82.26 วันที่: 23 สิงหาคม 2556 เวลา:8:17:57 น.
  
น้องพิม จ๊ะ

น้องพิม ต้องศึกษาลักษณะเด่นของคำสมาสแบบวิธีสมาสที่ครูอธิบายไปแล้ว นั่นคือ ต้องสังเกตคำบาลี สันสกฤต ให้ได้ก่อน แล้วก็เอาคำสองชนิดนี้มามาเรียงต่อกัน แล้วแปลจากหลังมาหาศัพท์คำหน้า หาจากในแบบฝึกหัดภาษาไทยมีมากมาย จ้ะ 50 คำ ชิว ๆ จ้ะ หาแล้วไม่แน่ใจถามครูได้นะจ๊ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 23 สิงหาคม 2556 เวลา:20:19:01 น.
  
ดีมากคับ
โดย: phet IP: 182.52.125.154 วันที่: 18 กันยายน 2556 เวลา:18:02:17 น.
  
อยากได้คำที่ไม่มีสนธิคะ
โดย: พด IP: 171.7.46.148 วันที่: 2 มกราคม 2557 เวลา:19:44:56 น.
  
ตอบคุณ พด
คำที่ไม่มีสนธิ หมายถึง คำที่เป็นสมาส เหรอ คุณพด ใช้หลักการสังเกตที่ครูให้ไว้ ไปหาจากในตำราหลักภาษาไทย ซึ่งมีอยู่มากมาย หาแล้วไม่แน่ใจ ถามมาได้นะจ๊ะ ครูยินดีช่วยอธิบายและตรวจทานให้จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 3 มกราคม 2557 เวลา:10:31:50 น.
  
อยากทราบค่ะ ว่าชื่อ อรัญญา เป็นคำสมาสหรือสนธิ แล้วแยกมาจากคำอะไรบ้างค่ะ ขอบคุณค่ะ :)
โดย: นิภาดาร์ IP: 171.96.31.12 วันที่: 9 มกราคม 2557 เวลา:21:51:06 น.
  
ตอบคำถาม คุณ นิภาดาร์

คำว่า อรัญญา ไม่ได้เป็นคำสมาสหรือ สนธิ เป็นคำบาลี จ้ะ มาจาก อรัญญ ญ สะกด ญ เป็นตัวตาม จ้ะ เป็นไปตามกฎการสังเกตคำ บาลี สันสกฤต จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 10 มกราคม 2557 เวลา:10:28:19 น.
  
แต่ว่าเคยมีคนบอกว่าเป็น สนธิ น่ะค่ะ แต่ไม่แน่ใจเลยมาถามให้แน่ใจนะค่ะ
โดย: นิภาดาร์ IP: 115.87.64.90 วันที่: 15 มกราคม 2557 เวลา:21:01:39 น.
  
อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ ยากจังงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง
โดย: นันทิการต์ IP: 49.230.96.34 วันที่: 18 มกราคม 2557 เวลา:18:57:40 น.
  
ตอบคุณ นันทิการต์

ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ จ้ะ ไม่เข้าใจตรงไหน อย่างไร ก็ถามได้นะจ๊ะ ถ้าตอบได้ ยินดีให้ความกระจ่าง จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 19 มกราคม 2557 เวลา:9:06:14 น.
  
ณัฐ มาจากภาษา อะไร เพราะอะไร
กานต์ มาจากภาษาอะไร
เเละ ณัฐกานต์ เป็นคำชนิดใด ครับ
โดย: ณัฐกานต์ IP: 183.89.120.251 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:19:07:32 น.
  
ตอบคำถาม คุณ ณัฐกานต์

คำว่า ณัฐ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่ได้อธิบายคำนี้ไว้ แต่ ศ. จำนงค์ ทองประเสริฐ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ ภาษาไทยไขขานไว้ดังนี้ ค่ะ

คำว่า “ณัฏฐ์” หรือ “ณัฐ” นี้ แปลว่า “นักปราชญ์” ตัว ณ มาจากตัวท้ายของคำว่า “ญาณ” ซึ่งแปลว่า “ความรู้” ตัว ฐ มาจากคำว่า ฐา ธาตุ ในความว่า “ตั้งอยู่” เมื่อรวมกันแล้วก็แปลว่า “ผู้ตั้งอยู่ในญาณคือความรู้” อันได้แก่บัณฑิตหรือนักปราชญ์นั่นเอง และขั้นสูงสุด ก็หมายถึง “พระพุทธเจ้า” ดังบาลีว่า “ณฏฺโ วุจฺจเต พุทฺโธ” แปลว่า “บุคคลผู้รู้ นักปราชญ์ เรียกว่า ณัฏฐ” ต่อมาท่านตัด ฏ ออก ในปัจจุบันจึงนิยมเขียนว่า “ณัฐ”

ถ้าหากเขียนเป็น “นัฏฐ์” หรือ “นัฐ” ก็แปลว่า “ฉิบหายแล้ว.”

ส่วนคำว่า กานต์ เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ที่รัก กานดา นางอันเป็นที่รัก ถ้าเป็นกานท์ จะหมายถึง กาพย์กลอน

เมื่อรวมกัน แล้ว จะเป็น คำสมาส เป็นณัฐกานต์ รวมความแปลจากพยางค์หลังมาพยางค์หน้า ก็แปลได้ว่า เป็นที่รักของนักปราชญ์ ไงคะ
โดย: อาจารย์สุวิมล (อาจารย์สุวิมล ) วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:10:53:54 น.
  
ดี
โดย: เต้ IP: 110.168.84.154 วันที่: 3 ธันวาคม 2557 เวลา:22:12:23 น.
  
ขอบคุณครับ :)
โดย: รู้ไว้มีสุข วันที่: 16 กรกฎาคม 2558 เวลา:17:34:30 น.
  
ขอบคุณครับ อิอิ
โดย: ต้นเทพแสง IP: 202.129.48.195 วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:15:42:33 น.
  
bonum dies in bloggang gratias salve!
โดย: calius de latium IP: 202.129.48.195 วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:15:43:50 น.
  
พิชญา เป็นคำสมาส หรือคำสนธิค่ ะ ช่วยตอบหน่อยนะ
โดย: พิชญา IP: 118.172.122.49 วันที่: 18 กรกฎาคม 2559 เวลา:11:08:22 น.
  
พิชญา เป็นคำสมาส หรือคำสนธิค่ ะ ช่วยตอบหน่อยนะ
โดย: พิชญา IP: 118.172.122.49 วันที่: 18 กรกฎาคม 2559 เวลา:11:08:50 น.
  
ตอบคำถาม คุณ พิชญา

ชื่อของคุณ พิชญา มาจาก พิชญ์ แปลว่า นักปราชญ์ . คนมีความรู้สูง เป็นคำมาจาก ภาษาสันสกฤต จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 18 กรกฎาคม 2559 เวลา:20:12:15 น.
  
สวัสดีคะอาจารย์ รบกวนถามคำว่า ณัญข์ กับ ภัคญ์ มาจากคำว่าอะไรและความหมายว่าอะไรคะ พยายามหาในเน็ตไม่ทราบความหมายเลยคะ ขอบพระคุณมากคะอาจารย์
โดย: ปลา IP: 192.95.30.51 วันที่: 31 กรกฎาคม 2559 เวลา:23:46:54 น.
  
ตอบคำถาม คุณปลา

คำว่า ณัญข์ และ ภัคญ์ ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเลย ค่ะ คิดว่า สองคำนี้ น่าจะเป็นชื่อเฉพาะ ค่ะ

มีแต่คำว่า ภัค แปลว่า โชคดี ความเจริญ เป็นศัพท์บาลี
คำว่า ภัคน์ แปลว่า แตก หัก
โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 2 สิงหาคม 2559 เวลา:17:20:29 น.
  
อาจารย์คะ แล้วถ้าเอา ธนัฏฐา+ณัญข์ มารวมกันเป็น ธนัฏฐาณัญข์ มันจะแปลเป็นความหมายและใช้ได้รึป่าวคะ ขอบพระคุณมากคะ
โดย: ปลา IP: 192.95.30.51 วันที่: 3 สิงหาคม 2559 เวลา:14:01:08 น.
  
อาจารย์คะ แล้วถ้าเอา ธนัฏฐา+ณัญข์ มารวมกันเป็น ธนัฏฐาณัญข์ มันจะแปลเป็นความหมายและใช้ได้รึป่าวคะ ขอบพระคุณมากคะ
โดย: ปลา IP: 192.95.30.51 วันที่: 3 สิงหาคม 2559 เวลา:14:01:15 น.
  
อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลย
โดย: kratingtone IP: 202.29.177.47 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:11:10:02 น.
  
รักแมว
โดย: หมาน้อย IP: 1.46.158.228 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:8:23:28 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Suvimol.BlogGang.com

อาจารย์สุวิมล
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 46 คน [?]

บทความทั้งหมด