ศีลระดับธรรม  ศีลระดับวินัย



235 ศีลระดับธรรมอยู่ที่ตัวคน ศีลระดับวินัยขยายผลเพื่อสังคม


 
      ศีล  ตามความหมายกว้างๆ อย่างที่ใช้เป็นคำไทยนั้น  กล่าวได้คร่าวๆ ว่า  มี ๒  ระดับ
 
      หนึ่ง  ระดับทั่วไป  ได้แก่   ระดับธรรม  หรือ ระดับที่ยังเป็นธรรม  คือ เป็นข้อแนะนำสั่งสอน  หรือหลักความประพฤติที่แสดง (เทสิต) ให้รู้เข้าใจ  ผู้ที่ทำดีทำชั่ว  มีความประพฤติดี  ประพฤติชั่ว  หรือรักษาศีล ละเมิดศีล  ย่อมได้รับผลดีผลชั่วตามเหตุปัจจัย   ตามกฎธรรมดาแห่งความดีความชั่ว  ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม  หรือตามกฎแห่งกรรมนั้น
 
      สอง  ระดับเฉพาะ  ได้แก่   ระดับวินัย  หรือ ระดับที่เป็นวินัย   คือ   เป็นแบบแผนข้อบังคับที่บัญญัติ  คือวางหรือกำหนดขึ้น (ปัญญัตตะ) ไว้  เป็นทำนองประมวลกฎหมาย  สำหรับกำกับความประพฤติของสมาชิกในหมู่ชน หรือชุมชนหนึ่ง     โดยสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหมู่คณะ  หรือชุมชนนั้นโดยเฉพาะ  ผู้ละเมิดบทบัญญัติแห่งศีลประเภทวินัยนี้   มีความผิดตามอาณาของหมู่  ซ้อนเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มจากอกุศลเจตนาที่จะได้รับผลตามกฎแห่งกรรมของธรรมชาติ
 
     เพื่อพิจารณาตามหลักนี้   จะเห็นได้ว่า  สังคมวงกว้าง  คือหมู่มนุษย์ทั้งหมด มีสภาพต่างกันไป  ทั้งโดยกาละ  และเทศะ  ตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาวะเปลี่ยนแปลงทางสังคม   เศรษฐกิจ   และการเมือง   เป็นต้น  ซึ่งแปลกกันไปตามถิ่น  ตามยุคสมัย  การที่จะวางบทบัญญัติเกี่ยวกับศีลในส่วนรายละเอียดลงไว้เป็นแบบแผนอย่างเดียวกันตายตัวโดยอาณา  อย่างที่เรียกว่าวินัยนั้น   มิใช่ฐานะที่จะพึ่งกระทำ  เพราะไม่อาจให้สังคมทุกยุคทุกสมัยทุกสภาพแวดล้อม  ดำรงอยู่ด้วยดี   และมีสภาพเกื้อกูล  ด้วยประมวลบทบัญญัติที่มีข้อปลีกย่อยอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันทั้งหมด
 
     ดังนั้น   สำหรับสังคมมนุษย์ทั่วไป  พระพุทธศาสนาจึงแนะนำสั่งสอน  หรือเสนอหลักธรรมหมวดที่นิยมเรียกกันว่า  ศีล  ๕   ไว้เป็นข้อกำหนดอย่างต่ำ  หรือหลักความประพฤติอย่างน้อยที่สุดในระดับศีล   เลยจากนั้นขึ้นไป  ก็มี  ศีลในกรรมบถ  คือ กุศลกรรมบถ  ๗  ข้อข้างต้น  หรือศีลที่เป็นองค์แห่งมรรค  ได้แก่  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ   และสัมมาอาชีวะ  ซึ่งเป็นหลักของศีลอย่างกว้างๆ
 
     ศีลอย่างนี้  พระพุทธเจ้าทรงสอนตามฐานะที่มันเป็นธรรม   คือ  คำแนะนำหรือหลักความประพฤติ  ซึ่งเมื่อปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ  ย่อมก่อให้เกิดผลดีหรือผลร้ายไปตามกฎแห่งธรรมดา  ถ้าคนผู้ใดเห็นชอบว่าตนควรประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า   ก็ยกเอาข้อธรรมขั้นศีลเหล่านี้มาเป็นข้อปฏิบัติของตน  เพียรพยายามตั้งใจทำตามนั้น    ถือกันว่า  ถ้าเขาปฏิบัติได้แม้เพียงศีล  ๕  ก็สมควรแก่การเรียกว่า เป็นชาวพุทธ
 
     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า  ถ้าคนผู้ใดต้องการเป็นชาวพุทธ  พระพุทธศาสนาก็กำหนดเงื่อนไขให้เขารับเอาข้อธรรมอย่างน้อย  ๕  ข้อนั้นไปถือปฏิบัติ  เมื่อถึงตอนนี้  ธรรมขั้นศีล  ๕  ข้อนั้น  ก็ได้ชื่อว่าเป็น  สิกขาบท  ๕   แปลว่าข้อสำเหนียก  หรือข้อฝึกหัดความประพฤติ  ๕  อย่าง
 
      ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา  มีข้อกำหนดความประพฤติอย่างต่ำเท่านี้   แต่ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะ   จะ ประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีก   เช่น  รักษาอุโบสถมีองค์  ๘  ในวันอุโบสถอีกส่วนหนึ่งก็ได้*


     สิกขาบทนี่แหละ  ที่ทำให้ศีลระดับธรรม  กลายมาเป็นศีลระดับวินัย เพราะวินัยคือประมวลแห่งสิกขาบททั้งหลายนั่นเอง   แต่ถึงกระนั้น  พระพุทธศาสนาก็มิได้วางประมวลบทบัญญัติเป็นวินัยไว้  สำหรับให้มวลมนุษย์ทั้งหมดต้องปฏิบัติเสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เป็นเรื่องของมนุษย์หมู่หนึ่ง ชุมชนหนึ่ง  หากเห็นงาม  จะพึงบัญญัติขึ้นให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและความมุ่งหมายของพวกตน โดยอาจจะนำเอาข้อธรรมต่างๆ  ในขั้นศีล  ซึ่งมีอยู่มากมาย  มาเลือกกำหนดเป็นวินัยบังคับใช้แก่พวกตน  ดังเช่นพระอรรถกถาจารย์ถือเอาการเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็น อาคาริยวินัย  (วินัยผู้ครองเรือน หรือวินัยของชาวบ้าน) บ้าง  ถือเอาหลักความประพฤติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสิงคาลกสูตร  เช่น  การเว้นอคติ ๔ การไม่เสพอบายมุข ๖ และความสัมพันธ์ตามหลักทิศ ๖ เป็นต้น ว่าเป็น คิหิวินัย (วินัยของคฤหัสถ์ ตรงกับอาคาริยวินัยนั่นเอง) บ้าง

     นี่เป็นเรื่องของศีลสำหรับสังคมวงกว้าง หรือ สังคมคฤหัสถ์  แต่สำหรับชุมชนที่เรียกว่าภิกษุสงฆ์ หลักการต่างๆ ในเรื่องศีล  สามารถวางให้แน่นแฟ้นยิ่งกว่าที่กล่าวมานั้น เพราะภิกษุสงฆ์เป็นชุมชนที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเอง  ตามหลักการและความมุ่งหมายที่ทรงกำหนดไว้โดยเฉพาะ  เพื่อให้มีสภาพเกื้อกูลที่สุดแก่การปฏิบัติ  ที่มุ่งตรงต่อจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และการเผยแพร่ความดีงามที่เกิดจากการปฏิบัติเช่นนั้นให้กว้างขวางออกไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก  ดังนั้น  พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติระเบียบข้อบังคับต่างๆขึ้นควบคุมความเป็นและความประพฤติทั่วไปของภิกษุทั้งหลายที่เป็นสมาชิกของสงฆ์นั้น เท่าที่จะให้บังเกิดผลตามหลักการและวัตถุประสงค์

     บุคคลที่จะเป็นสมาชิก คือบวชเป็นพระภิกษุ ต่างก็เขามาโดยสมัครใจ จึงเป็นอันต้องถือได้ว่ายอมรับที่จะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเหล่านั้นเสมอเหมือนกันทั้งหมด ประมวลบทบัญญัติ คือระเบียบข้อบังคับทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแล เป็นวินัยของภิกษุทั้งหลาย

     วินัยหรือประมวลบทบัญญัตินี้ ประกอบด้วยสิกขาบทต่างๆมากมาย มีทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัว ข้อกำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกคือพระภิกษุด้วยกัน และความสัมพันธ์กับคนภายนอกเช่นกับคฤหัสถ์ทั้งหลาย ตลอดจนการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ระเบียบว่าด้วยการปกครองและการดำเนินกิจการต่างๆ ของสงฆ์ เป็นต้น แม้ภิกษุณีสงฆ์ที่ทรงตั้งขึ้นภายหลัง ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ ขึ้นเป็นวินัยเช่นเดียวกัน

     ส่วนผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก แต่ยังมีคุณสมบัติบางอย่างไม่ครบถ้วน ก็อาจรับเข้ามาเป็นสามเณรหรือสามเณรีก่อน โดยมีฐานะและสิทธิแห่งความเป็นสมาชิกยังไม่สมบูรณ์ และได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เป็นเครื่องกำกับความประพฤติ ๑๐ ข้อ ซึ่งรวมอยู่ในประมวลกฎหมายที่เรียกว่าวินัยนั้น

     ภาวะที่ดำรงอยู่ด้วยดี หรือประพฤติ โดยไม่ละเมิดวินัย   (คือ ไม่ละเมิดสิกขาบททั้งหลายในวินัย) นั่นแหละเรียกว่า ศีล

     ความสำนึกในการรักษาศีล หรือ ปฏิบัติตามศีล  แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ การฝึกหัดขัดเกลาตนเอง  (เพื่อความก้าวหน้าในคุณธรรมที่ยิ่งๆขึ้นไป)  อย่างหนึ่ง  และการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือของสังคม  อย่างหนึ่ง  โดยเฉพาะในวินัยของสงฆ์  ท่านเน้นความสำนึกอย่างนี้ไว้หนักแน่น

     ความสำนึกอย่างแรก คือการฝึกหัดขัดเกลาตนเองนั้น  พอจะมองเห็นกันได้ชัดอยู่แล้ว ส่วนที่ควรย้ำไว้ ณ ที่นี้ คือ การคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวม หรือของผู้อื่น

     เมื่อมีพระภิกษุกระทำการไม่ดีไม่งามขึ้น สมควรจะบัญญัติสิกขาบท  พระพุทธเจ้าทรงประชุมสงฆ์  สอบสวนผู้กระทำการได้ความจริงแล้ว  จะทรงชี้โทษของการกระทำนั้นว่า ไม่เป็นไปเพื่อปสาทะ คือ ความเลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว มีแต่จะทำให้เกิดความไม่เลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว บางพวกกลายเป็นอย่างอื่นไป  แล้วตรัสแถลงประโยชน์ที่มุ่งหมาย หรือ วัตถุประสงค์ในการบัญญัติสิกขาบท เสร็จแล้วจึงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆ ขึ้นไว้   (ข้อความนี้มีทั่วไปเกือบทุกสิกขาบท ในวินัยปิฎกเล่ม ๑-๒-๓ ตั้งแต่ วินย.1/20/35 เป็นต้นไป)

     ข้อความที่ว่า ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส  ของคนที่ยังไม่เลื่อมใส เป็นต้นนั้น แสดงความคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมและของผู้อื่น

     ประโยชน์สุขของส่วนรวมอย่างแรก ก็คือ ความดำรงอยู่ด้วยดีของชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ หรือจะว่าของพระศาสนาก็ได้ เพราะความมั่นคงของสงฆ์และของพระศาสนาต้องอาศัยศรัทธาของประชาชน

     ประโยชน์สุขสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  ก็คือประโยชน์สุขของประชาชน หรือชาวบ้าน ผู้เลื่อมใสและจะเลื่อมใสนั่นเอง เพราะปสาทะ คือความเลื่อมใส  ความผ่องใส  ความแช่มชื่นแจ่มใสโปร่งสบายของจิตใจ  ความสดใสฟูใจมั่นใจที่เร้าจิตให้หันมาพอใจสนใจใส่ใจในคนเรื่องที่ดีงาม เป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่ง  เป็นสิ่งเกื้อกูลแก่จิตใจ  เป็นปัจจัยแห่งความสุข  ช่วยให้เกิดสมาธิ และเอื้ออำนวยแก่การใช้ปัญญา  ทำให้เกิดกำลังพร้อมที่จะเข้าใจเรื่องที่พินิจพิจารณา เรียกได้ว่า เป็นประโยชน์ขั้นพื้นฐานของจิตใจ   เป็นการทำประโยชน์ขั้นแรกแก่บุคคล   เป็นจุดได้กำลังตั้งตัวที่จะก้าวขึ้นสู่การพัฒนาจิตพัฒนาปัญญา

     เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงเทศนาอริยสัจแต่ละครั้ง  พระองค์ทรงค่อยๆ สอนเตรียมพื้นจิตใจ และปัญญาของผู้ฟังให้พร้อมขึ้นไปทีละขั้นๆ จนผู้นั้นมีจิตที่คล่อง สบาย นุ่มนวล ปลอดจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส คือมี ปสาทะ แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔

     การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีล จึงมิใช่เพื่อมุ่งประโยชน์ที่พึงมีมาแก่ตนจากความเลื่อมใสของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติผิดพลาดอย่างเต็มที่ แต่ต้องมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของสงฆ์ และของชาวบ้านที่สัมพันธ์เกี่ยวข้อง

     สำหรับภิกษุปุถุชน  การปฏิบัติเพื่อสงฆ์และเพื่อประชาชน  ยังต้องดำเนินควบคู่ไปกับการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง  แต่สำหรับพระอริยบุคคล  โดยเฉพาะพระอรหันต์ ซึ่งหมดกิจที่จะต้องฝึกตนในด้านศีล หรือหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว  การรักษาศีล  หรือปฏิบัติตามวินัย  ก็มีแต่การกระทำเพื่อประโยชน์สุขของสงฆ์และประชาชนด้านเดียว  เข้ากับคติที่เป็นหลักใหญ่แห่งการดำเนินชีวิตและการบำเพ็ญกิจของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกที่ว่า  “ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ... เพื่อเอื้ออนุเคราะห์โลก”   และคติแห่งการมีจิตเอื้อเอ็นดูแก่ชุมชนที่จะเกิดมาภายหลัง  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีงามของอนุชน หรืออย่างน้อยก็เพื่อเชิดชูความดีงามไว้ในโลก เป็นการเคารพธรรม เคารพวินัย นั้นอง

     ด้วยเหตุนี้  พระอริยบุคคลจึงรักษาศีลประพฤติปฏิบัติอยู่ในเหตุผลอย่างเคร่งครัด การอ้างว่าตนหมดกิเลส ไม่จำเป็นต้องรักษาสิกขาบทข้อนั้นข้อนี้ หรือจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ เพราะจิตไม่ยินดียินร้ายดังนี้ เป็นต้น  ย่อมมิใช่ลักษณะของอริยชน

     ความจริง  มิใช่แต่ศีลเท่านั้น  แม้ข้อวัตรต่างๆ มากมาย ในการถือธุดงค์ข้อหนึ่งๆ ซึ่งมิใช่สิ่งจำเป็นแก่ตัวท่าน และมิใช่ข้อบังคับในวินัย พระอรหันต์บางท่านก็ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารส่วนตน และหวังจะอนุเคราะห์ชนรุ่นหลังให้ได้มีแบบอย่างที่ดีงาม   (เช่น ปฏิปทาของพระมหากัสสปเถระ สํ.นิ.16/481/239)

     จึงควรระลึกไว้ด้วยว่า ในการพิจารณาเรื่องสีลัพพตปรามาส ไม่พึงลืมมองเหตุผลและความมุ่งหมายที่เกี่ยวกับความดีงามและประโยชน์สุขของหมู่ชนด้วย การรักษาศีล ข้อวัตร ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีการบางอย่าง ซึ่งกระทำด้วยความเข้าใจ มุ่งหมายเพื่อความเรียบร้อยดีงามเป็นแบบอย่างอันดี เป็นเครื่องประสานหมู่ชนและเชิดชูธรรม หากทำเท่าที่จำเป็นพอสมแก่เหตุผลและความมุ่งหมายที่ดีงามนั้น มิใช่อำพรางตนเอง ก็มิใช่ข้อที่พึงด่วนติเตียน

     การประพฤติในเรื่อง ศีล วัตร ข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีการ แบบแผน ระบบ ระเบียบต่างๆ ที่ผิดพลาด ก็คือ การถือโดยงมงายสักว่าทำตามๆ กันมา อย่างไม่เข้าใจความมุ่งหมาย ไม่เห็นเหตุผล จนหลงไปว่าจะถึงความบริสุทธิ์ จะบรรลุจุดหมายสุดท้าย เพียงด้วยศีลพรต  ด้วยระบบระเบียบพิธีเหล่านี้  เป็นเหตุให้ศีลพรตข้อวัตรระบบระเบียบพิธีการเหล่านั้น ขยายรูปแปลกประหลาดพิสดาร  เตลิดออกไปเป็นข้อปฏิบัตินอกแนวทางของพระพุทธศาสนา หรือรักษาศีลบำเพ็ญระเบียบปฏิบัติต่างๆโดยมีตัณหาทิฏฐิแอบแฝง อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ เป็นผลตอบแทน  มุ่งหวังจะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  จนบดบังความมุ่งหมายที่แท้จริง และปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงจุดหมายของการปฏิบัติธรรม หรือรักษาศีลบำเพ็ญข้อวัตร ทำตามระเบียบ แบบแผนพิธี อย่างอสัตบุรุษ คือเกิดความมัวเมาลุ่มหลงตนเอง ยกเอาคุณความดีเหล่านี้ขึ้นมาเป็นข้อเปรียบเทียบเพื่อยกตนข่มผู้อื่น

     ผู้รักษาศีล ประพฤติตามวินัย ควรเข้าใจ วัตถุประสงค์ คือ ประโยชน์ที่มุ่งหมายของวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงแถลงก่อนบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ ประการ   (ในที่นี้ จัดหมวดย่อยใส่ไว้ เพียงเพื่อให้ดูง่าย) คือ

     ก) ว่าด้วยประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

          ๑. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์

          ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์

     ข) ว่าด้วยประโยชน์แก่บุคคล

          ๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย

          ๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม

     ค) ว่าด้วยประโยชน์แก่การเจริญธรรมพัฒนาชีวิต

          ๕.เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียที่ก่อความเดือดร้อนในปัจจุบัน

          ๖.เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียที่ก่อความเดือดร้อนในเบื้องหน้า

     ง) ว่าด้วยประโยชน์แก่ประชาชน

          ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส

          ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว

    จ) ว่าด้วยประโยชน์แก่พระศาสนา

          ๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม

         ๑๐. เพื่อสนับสนุนวินัยให้หนักแน่น  (วินย.1/20/37ฯลฯ)

   
     ในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบท โดยตรัสเป็นคู่ๆ รวม ๑๐ คู่ เห็นควรยกมากล่าวไว้ที่นี้ด้วย ๑ คู่ คือ ๒ ข้อต่อไปนี้

          ๑. เพื่อเอื้ออนุเคราะห์แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

          ๒. เพื่อตัดรอนฝักฝ่ายของภิกษุผู้มีความปรารถนาชั่วร้าย  (องฺ.ทุก.20/436/123)

     จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์เหล่านี้  แสดงถึงเจตนารมณ์ที่เน้นความดีงามและประโยชน์สุขสังคมเป็นอย่างมาก และบรรดาบทบัญญัติทั้งหลายในวินัยนั้น  เรื่องที่ยืนยันถึงการให้การให้ความสำคัญแก่ส่วนรวมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง  ก็คือบทบัญญัติเกี่ยวกับสังฆกรรมต่างๆ อันได้แก่การดำเนินกิจการของสงฆ์  โดยการร่วมกันคิดร่วมกันพิจารณาของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสมาชิก

     แต่สังฆกรรมทั้งหลายจะเป็นไปได้ด้วยดี ก็เพราะสงฆ์มีความสามัคคี ไม่แตกแยก ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญของสังฆเภท และสังฆสามัคคี โดยตรัสว่า สังฆสามัคคี เป็นธรรมเอก ที่เมื่อเกิดมีในโลก ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ส่วนสังฆเภท ก็เป็นธรรมเอกฝ่ายตรงข้าม  (ขุ.อิติ.25/196-197/237-238)

     ไม่ต้องพูดถึงการดำเนินกิจการของส่วนรวม  แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวันพุทธบัญญัติต่างๆ ก็ล้วนเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่เกี่ยวกับประโยชน์สุข และความดีงามของสงฆ์ และสังคมทั้งสิ้น  ดังจะเห็นได้จากข้อปฏิบัติสามัญอย่างหนึ่ง คือ การแสดงความเคารพ


134 ..................
 
* คัมภีร์รุ่นอรรถกถา  เรียกศีลชุดนี้ว่า  “อาชีวัฏฐมกศีล”   แปว่า   ศีลมีอาชีวะเป็นที่แปด หรือศีลที่ครบ ๘  ทั้งสัมมาชีพ  (สัมมาวาจา = วจีสุจริต ๔ + สัมมากัมมันตะ = กายสุจริต ๓  + สัมมาอาชีวะ ๓)  วิสุทธิ.1/13)
 
อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘   (อฎฺฐงฺคสมนฺนาคตอุโบสถ) หรืออุโบสถมีองค์ ๘ (อฎฺฐงฺคิกอุโบสถ)   มาใน องฺ.ติก.20/510/273 ฯลฯ  หรือองค์อุโบสถ ๘  (อฏฺฐ  อุโบสถ) .... เป็นที่มาของคำว่า   “ศีล ๘”   ซึ่งเป็นคำเรียกชั้นหลัง   ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก


 



Create Date : 31 พฤษภาคม 2567
Last Update : 30 มิถุนายน 2567 19:42:33 น.
Counter : 109 Pageviews.

0 comments
(โหวต blog นี้) 
: แสงลอดเมฆ 17 : กะว่าก๋า
(28 ก.ย. 2567 05:08:48 น.)
: แสงลอดเมฆ 14 : กะว่าก๋า
(25 ก.ย. 2567 04:54:57 น.)
: แสงลอดเมฆ 13 : กะว่าก๋า
(24 ก.ย. 2567 05:06:39 น.)
: แสงลอดเมฆ 8 : กะว่าก๋า
(19 ก.ย. 2567 04:26:27 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

BlogGang Popular Award#20



สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด