หัวใจของวินัย หัวใจของวินัย: เคารพสงฆ์ ถือสงฆ์และกิจสงฆ์เป็นใหญ่ มั่นในสามัคคี ชูธรรม ถือหลักการ มีประโยชน์สุขของประชาชนเป็นจุดหมาย เนื้อหาเท่าที่กล่าวมาแล้วในบทนี้ ได้บรรยายเจตนารมณ์ทางสังคมของศีล ซึ่งแสดงออกในรูปลักษณะต่างๆ เฉพาะบางแง่บางด้านที่เห็นว่าน่าสังเกต ความจึงยังอ้อมค้อมและย้อนไปย้อนมา เห็นควรสรุปย้ำไว้ ณ ที่นี้ ว่า สาระสำคัญ ที่เป็นแกนกลางแห่งเจตนารมณ์ทางสังคมของศีล โดยเฉพาะศีลที่เป็นระดับวินัย ก็คือ ความเคารพในสงฆ์ การถือสงฆ์และกิจของสงฆ์เป็นใหญ่ การถือความเจริญมั่นคงของสงฆ์หรือประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นสำคัญ และการมีความรับผิดชอบอย่างสูงและประโยชน์สุขของสงฆ์ เจตนารมณ์นี้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้ประพฤตินำเป็นแบบอย่างไว้แล้ว ความเคารพในสงฆ์ มีความหมายเนื่องอยู่ด้วยกันกับความเคารพในธรรมและความเคารพในวินัย หรือความเคารพธรรมวินัย เพราะการรับผิดชอบต่อสงฆ์และปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแห่งสงฆ์ ก็คือ การปฏิบัติที่ชอบด้วยธรรม และเป็นไปตามวินัย (ดูตัวอย่างมติอรรถกถา วินย.อ.3/579) การมีความรับผิดชอบต่อสงฆ์ และประโยชน์สุขของสงฆ์ มีความหมายเนื่องอยู่ด้วยกันกับการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพราะสงฆ์หมายถึงส่วนรวม และสงฆ์ได้มีขึ้นก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำในการปฏิบัติเช่นนี้ ดังพุทธพจน์ว่า "พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะ เคารพ นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นตราชู เป็นธรรมาธิปไตย์ จัดการรักษาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม แก่ภิกษุ ... ภิกษุณี ... อุบาสก ... อุบาสิกาทั้งหลาย โดยนัยว่า กายกรรม ... วจีกรรม ... มโนกรรม ... อาชีวะ ... คามนิคม อย่างนี้ควรเสพ อย่างนี้ไม่ควรเสพ (องฺ.ปญฺจก.22/133/168) "เราสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่เราได้ตรัสรู้นั้นเองเป็นอยู่ และเมื่อใด สงฆ์ประกอบด้วยความเติบใหญ่ เมื่อนั้น เราย่อมมีความเคารพแม้ในสงฆ์" (องฺ.จตุกฺก.21/21/27) ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีภิกษุจำนวนมากขึ้น เจริญด้วยความรู้และประสบการณ์ คณะสงฆ์แพร่หลายขยายกว้างออกไป พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติสังฆกรรมประเภทต่างๆ ขึ้น และทรงมอบอำนาจให้ที่ประชุมสงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรมเหล่านั้น ทรงหยุดเลิกการให้อุปสมบทโดยพระสาวกรายบุคคล เปลี่ยนเป็นการให้อุปสมบทโดยสงฆ์ และต่อมาก็ทรงหยุดการให้อุปสมบทแม้โดยพระองค์เอง ดังนี้ เป็นต้น (วินย.4/85/103) ดังนั้น เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี นำคู่ผ้าชุดใหม่ที่ทรงตัดเย็บเอง เข้ามาถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ดูกรพระนางโคตมี โปรดทรงถวายแก่สงฆ์เถิด เมื่อท่านถวายแก่สงฆ์ ทั้งเรา ทั้งสงฆ์ จักเป็นอันได้รับการบูชา" (ม.อุ.14/707/547) และเมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้ตรัสว่า "ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัย ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย นั้นคือศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป" (ที.ม.10/141/178) ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว คราวหนึ่ง วัสสการพราหมณ์ ได้ถามพระอานนท์ว่า "ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ มีภิกษุสักรูปหนึ่งไหม ที่ท่านพระโคตมะได้ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุนี้จักเป็นหลักอ้างอิง ซึ่งเป็นผู้ที่พวกท่านคอยแล่นเข้าหาอยู่ในบัดนี้ ?" พระอานนท์ว่า ไม่มี และแม้แต่ภิกษุที่สงฆ์เลือกตั้ง ที่ภิกษุเถระจำนวนมากแต่งตั้งเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนปรินิพพาน ก็ไม่มี แต่กระนั้น "ดูกรพราหมณ์ พวกเรามิใช่จะไร้หลักอ้างอิง พวกเรามีหลักอ้างอิง คือมีธรรมเป็นหลักอ้างอิง" ท่านอธิบายการมีธรรมเป็นหลักอ้างอิงว่า "ดูกรพราหมณ์ สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น พระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ ปาติโมกข์ที่ทรงแสดงไว้ มีอยู่ ซึ่งเมื่อถึงวันอุโบสถ พวกข้าพเจ้ามีจำนวนเท่าใดอาศัยเขตคามหนึ่งอยู่ ทั้งหมดทุกรูปนั้น ก็จะมาประชุม ณ ที่เดียวกัน ครั้นแล้วจะเชิญภิกษุรูปที่ทรงจำปาติโมกข์ได้คล่องให้สวดแสดง ถ้าขณะเมื่อสวดแสดงอยู่ ปรากฏภิกษุมีอาบัติคือมีโทษที่ล่วงละเมิด อาตมภาพทั้งหลาย จะปรับโทษให้เธอปฏิบัติตามธรรม ตามคำอนุศาสน์ การที่เป็นดังนี้ จะชื่อว่าพวกภิกษุผู้เจริญทำการปรับโทษ ก็หามิได้ ธรรมต่างหากปรับโทษ" และภิกษุที่เป็นหลัก ก็มีอยู่ตามคำอธิบายของท่านว่า "ดูกรพราหมณ์ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑๐ ประการ* ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น พระองค์นั้น ได้ตรัสไว้ มีอยู่ ซึ่งในบรรดาอาตมภาพทั้งหลาย หากผู้ใดมีธรรมเหล่านั้น พวกอาตมภาพก็จะสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อิงอาศัยท่านผู้นั้น เป็นอยู่" (ม.อุ.14/108-113/91-5) ภิกษุผู้ได้รับมอบหมายให้วินิจฉัยอธิกรณ์ (ตัดสินคดี) ต้องถือหลักปฏิบัติว่า พึงเป็นผู้เคารพสงฆ์ มิใช่เคารพบุคคล พึงเคารพสัทธรรม (ความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรม) มิใช่เคารพอามิส (วินย.8/1083/424 – เคารพในที่นี้ ถ้าเกรงเข้าใจความหมายในภาษาไทยคลาดเคลื่อน ท่านแปลว่า หนัก คือ หนักในสงฆ์ ไม่ใช่หนักในบุคคล หนักในสัทธรรม มิใช่หนักในอามิส) พระอรหันตสาวกผู้ใหญ่ ก็ต้องประพฤตินำเป็นตัวอย่างในการเอาใจใส่กิจของสงฆ์ เช่น เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้พระมหากัปปินะไปร่วมประชุมอุโบสถสังฆกรรม ตรวจสอบทบทวนการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แม้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์อยู่แล้ว (วินย.4/153/208) และพระมหากัสสปะอยู่ห่างที่ประชุมสงฆ์ทำอุโบสถประมาณ ๔ กิโลเมตร เมื่อถึงวันอุโบสถ แม้จะเดินทางลำบาก ต้องลุยข้ามแม่น้ำสายหนึ่งระหว่างทาง ท่านก็เดินเท้าไปเข้าร่วมประชุม (วินย.4/162/214) พระภิกษุอรหันต์ หรืออนาคามี ที่เข้านิโรธสมาบัติได้ ก่อนจะเข้าสมาบัตินั้น ต้องกำหนดใจไว้ก่อนว่า “ถ้าเมื่อเราเข้านิโรธอยู่ ๗ วัน สงฆ์ต้องการจะทำสังฆรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ญัตติกรรม เป็นต้น เราจักออกทันที ไม่ทันให้ภิกษุใดต้องมาเรียก” เพราะอาณา คือ อำนาจของสงฆ์ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเคารพ (วิสุทธิ.3/367 ฯลฯ) เมื่อมีเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับประโยชน์สุขของสงฆ์ส่วนรวม หรือกระทบถึงความเสื่อมความเจริญของพระศาสนา ภิกษุทั้งหลาย โดยเฉพาะพระอรหันต์ จะต้องใส่ใจขวนขวายจัดทำดำเนินการ เช่น การจัดทำสังคายนา ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ การปกป้องธรรมจากความคลาดเคลื่อน หรือจากบุคคลและลัทธิที่จ้วงจาบกล่าวร้าย การรักษาพระศาสนาให้อยู่รอดระหว่างมีภัย ตลอดจนการช่วยกันสร้าง สรรหา และรักษาตัวบุคคล ผู้สามารถรักษาหรือเชิดชูพระศาสนา เป็นต้น (เช่น สังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ และกรณีพระเจ้ามิลินท์ ฯลฯ) แลเมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว ผู้ใดเพิกเฉยละเลย สงฆ์ย่อมลงโทษเอาได้ แม้ว่าท่านผู้นั้นจะเป็นพระอรหันต์ และเหตุที่ทำให้ไม่ได้มาร่วมจะเป็นกิจส่วนตัวที่ดีงามไร้โทษ เช่น เข้าฌานสมาบัติอยู่ เป็นต้น (วินย.อ. 1/35 ฯลฯ) ก็ตาม เช่น กรณีของพระอานนท์ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ (วินย. 7/622/387) ไม่เฉพาะเรื่องราวสำคัญใหญ่โต เกี่ยวด้วยความเจริญความเสื่อมของพระศาสนา หรือประโยชน์สุขของส่วนรวมทั้งหมดเท่านั้น แม้แต่กิจธุระเล็กๆน้อยๆ ของบุคคลในหมู่ ที่ต้องอาศัยเรี่ยวแรงหลายคนช่วย เช่น การตัดเย็บทำจีวร ในสมัยโบราณ เป็นต้น ก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องเอาใจใส่ขวนขวายช่วยกันจัดช่วยกันทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องร่วมมือกันเป็นพิเศษ ในเมื่อเป็นเรื่องเนื่องอยู่กับสังฆกรรม เช่น ในกฐินกรรม ซึ่งสงฆ์ตกลงกันมอบผ้าของส่วนรวมให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นพระเถระหรือมีคุณพิเศษใดๆ ก็พึงต้องมาช่วยกันทำผ้านั้นเป็นจีวรให้สำเร็จ (วินย.อ.3/212) อย่างไรก็ตาม เรื่องความรับผิดชอบใส่ใจช่วยกิจธุระในหมู่สงฆ์นี้ อาจแยกประเภทเพื่อจัดระดับความสำคัญ ได้เป็น ๒ อย่างคือ ก. กิจธุระภายในสงฆ์ ที่เป็นเรื่องปลีกย่อยเฉพาะส่วนเฉพาะกรณี หรือกิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะซึ่งพึ่งเอาใจใส่ช่วยเกื้อกูลกัน ในฐานะที่มีชีวิตอยู่ร่วมกัน อันพึงปฏิบัติตามหลักสร้างความสามัคคี ซึ่งเรียกว่าสาราณียธรรม ข้อที่ให้ตั้งเมตตากายกรรมต่อกัน คือ ช่วยเหลือกิจธุระกัน เกื้อกูลกัน ช่วยรักษาพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ เป็นต้น และตามหลักสาราณียธรรมอีกหมวดหนึ่ง ในข้อ กิงกรณีเยสุทักขตา คือ ขยันช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะ หรือของชุมชน ไม่ว่าเรื่องน้อย ไม่ว่าเรื่องใหญ่ เอาใจใส่ขวนขวายทุกอย่าง ข. กิจการเกี่ยวกับสงฆ์ ซึ่งกระทบถึงประโยชน์สุขหรือความเจริญมั่นคงของส่วนรวมทั้งหมด หรือเรื่องที่ต้องอาศัยการพิจารณาตัดสินใจร่วมกัน อันพึงปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรม อย่างน้อยสองข้อแรก คือ หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์ และพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุมพร้อมกัน พร้อมเพรียงกันทำกิจของสงฆ์ สำหรับกิจธุระประเภทแรก (ก) ถ้าภิกษุใดนิ่งดูดาย ไม่เอาใจใส่ช่วยเหลือ ย่อมถูกตำหนิติเตียน และอาจยกขึ้นเป็นข้อกล่าวโทษ เพื่อเรียกตัวมาชี้แจงเหตุผล และแนะนำตักเตือนได้ แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น งานนั้นมีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะจัดทำได้อยู่แล้ว หรือมีผู้ที่ช่วยเหลือจำนวนพอแก่การ และภิกษุนั้นมีกิจสำคัญของตนเองอยู่ คือ สุดแต่เหตุผลสมควร ดังตัวอย่างเรื่องภิกษุรูปหนึ่ง ในเวลาบ่ายเข้ากุฏิอยู่เงียบ ภิกษุทั้งหลายทำจีวรกัน ไม่ออกมาช่วย พวกภิกษุจึงไปทูลกล่าวโทษเธอแด่พระพุทธเจ้า พระองค์โปรดให้เรียกตัวเธอมาซักถาม ทรงทราบว่าเธอบำเพ็ญฌาน ก็ตรัสไม่ให้ภิกษุทั้งหลายติเตียนเธอ (สํ.นิ.16/696-9/322-4) หรือบางคราวคนหมู่มากวุ่นกันกังวลกับเรื่องของส่วนรวมอย่างไร้จุดหมาย ไม่ได้สาระ ภิกษุที่เร่งปฏิบัติธรรมเงียบอยู่ ไม่มาวุ่นกับหมู่ ยังชื่อว่าทำตัวถูกต้องกว่า (ดูเรื่อง อัตตทัตถเถรวัตถุ ธ.อ.6/24.บาลี ขุ.ธ.25/22/37) ส่วนกิจธุระประเภทที่สอง (ข) ไม่มีข้อยกเว้น เพราะเป็นกิจสงฆ์โดยตรง เมื่อสงฆ์ประชุมดำเนินกิจ ที่เรียกว่าสังฆกรรม ภิกษุต้องเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน หากอาพาธ หรือมีเหตุให้เข้าประชุมไม่ได้ ก็ต้องมอบฉันทะแก่สงฆ์ ดังนี้ เป็นต้น (วินย.4/182/237) แต่ในการร่วมขวนขวายจัดดำเนินการที่เป็นส่วนรายละเอียด จะต้องคำนึงถึงและให้โอกาสแก่บุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ควรรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆด้วย คือ จะต้องดู ต้องฟัง ต้องหวัง ที่บุคคลเหล่านั้นเป็นเบื้องต้น การไม่ตระหนักใจ ไม่คำนึงถึงพระเถระผู้มีประสบการณ์ ซึ่งมีฐานะที่จะรับผิดชอบ เข้าเจ้ากี้เจ้าการทำวุ่นไป ท่านว่าเป็นทางเสื่อมอย่างหนึ่งของผู้ยังเป็นเสขะ (องฺ.สตฺตก. 23/26/25) เรื่องของศีลทางด้านสังคม ซึ่งในฝ่ายของวินัยนั้น ย่อมครอบคลุมเรื่องการจัดระเบียบชีวิตด้านนอกทั้งหมด เท่าที่จะช่วยทำสภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไป กิจการทั้งหลายของหมู่ชน ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ควรจัดได้ ให้มีสภาวะที่เกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของชีวิตด้านใน และสอดคล้องกับการที่ชีวิตด้านในที่เจริญงอกงามนั้น จะสะท้อนผลดีงามออกมาแก้ชีวิตด้านนอก คือ เหมาะแก่การที่ทุกๆ คนจะพากันปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะจะได้สามารถฝึกจิตและปัญญาให้เจริญ เพื่อจะได้ประสบชีวิตที่มีความสุขแท้จริง พร้อมด้วยจิตใจที่เป็นอิสระผ่องใสเบิกบาน ในท่ามกลางสังคมและสภาพแวดล้อมที่สงบเรียบร้อยรื่นรมย์ และร่มเย็นเป็นสุข ศีลระดับวินัยที่ได้บัญญัติวางไว้แล้วอย่างครบถ้วน สำหรับเป็นแบบแผนแห่งความเป็นอยู่ หรือเป็นระบบชีวิตด้านนอกทั้งหมดของชุมชนหมู่หนึ่งๆ ในทางพระพุทธศาสนา มีแบบอย่างที่เด่นชัด คือ วินัยของสงฆ์ ผู้ที่ศึกษาและสังเกต จะเห็นว่า วินัยบัญญัติของสงฆ์ มิใช่ศีลในความหมายแคบๆ อย่างที่มักเข้าใจกันง่ายๆ แต่ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ทั่วๆไป ที่เรียกว่าชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ เริ่มตั้งแต่ - กำหนดคุณสมบัติ สิทธิ หน้าที่ และวิธีการรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ชุมชน คือ สงฆ์ การดูแลฝึกอบรมสมาชิกใหม่ - การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำกิจการของสงฆ์ พร้อมด้วยคุณสมบัติและหน้าที่ที่กำหนดให้ - ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา จัดทำ เก็บรักษา แบ่งสรรปัจจัย ๔ เช่น ประเภทต่างๆ ของอาหาร ระเบียบการรับและจัดแบ่งส่วนอาหาร การทำจีวรและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจีวร ประเภทของยา - การปฏิบัติต่อภิกษุอาพาธ ข้อปฏิบัติของคนไข้ และผู้รักษาพยาบาลไข้ - การจัดสรรที่อยู่อาศัย ข้อปฏิบัติของผู้อาศัย - ระเบียบการก่อสร้างที่อยู่อาศัย การดำเนินงานและรับผิดชอบในการก่อสร้าง - การจัดผังที่อยู่อาศัยของชุมชนสงฆ์ คือวัด ว่า พึงมีอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างอย่างใดๆ บ้าง - ระเบียบวิธีดำเนินการประชุม การโจทหรือฟ้องคดี ข้อปฏิบัติของโจทก์ จำเลย และผู้วินิจฉัยคดี วิธีดำเนินคดีและตัดสินคดี การลงโทษแบบต่างๆ ฯลฯ ว่าโดยสาระ วินัย ก็ได้แก่ ระบบแบบแผนทั้งหมดสำหรับหมู่ชนหนึ่ง ที่จะให้หมู่ชนนั้นตั้งอยู่ได้ด้วยดี สามารถมีชีวิตอยู่ตามหลักการของตน และสามารถปฏิบัติกิจดำเนินการต่างๆ เพื่อเข้าถึงจุดหมายของตน เมื่อพูดในวงกว้าง ตามโวหารปัจจุบัน วินัยมีความหมายครอบคลุมระบบแบบแผนเกี่ยวกับการปกครอง การบริหาร การศาล นิติบัญญัติ การเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดเท่าที่ชุมชน ตลอดถึงประเทศชาติจะตกลงใช้ปฏิบัติเป็นทางการ โดยตราไว้เป็นธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ในทางพระพุทธศาสนา วินัยจึงเป็นพื้นฐานที่รองรับไว้ ซึ่งระบบชีวิตทั้งหมดที่เป็นแบบของพระพุทธศาสนา และเป็นที่อำนวยโอกาสให้การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาดำเนินไปได้ด้วยดี วินัยของภิกษุสงฆ์ ก็เป็นเครื่องช่วยให้สงฆ์เป็นแหล่งที่บุคคลผู้เป็นสมาชิก คือภิกษุ สามารถเจริญงอกงาม ได้รับประโยชน์ที่พึงได้จากพระพุทธศาสนา เมื่อวินัยยังอยู่ สงฆ์ก็ยังอยู่ เมื่อสงฆ์ยังอยู่ ประโยชน์ที่บุคคลพึงได้จากระบบชีวิตแบบพุทธ ก็จะยังคงอยู่ โดยเหตุผลนัยนี้ ความเคารพสงฆ์ การถือสงฆ์และกิจของสงฆ์เป็นใหญ่ ความรับผิดชอบต่อความมั่นคงและประโยชน์สุขของสงฆ์ จึงเป็นเจตนารมณ์ของศีลในทางสังคม วินัยสำหรับภิกษุสงฆ์ ที่เป็นส่วนแกนของสังคมพุทธ ท่านได้บัญญัติวางสำเร็จรูปไว้แล้ว ส่วนวินัยแบบพุทธชนิดขยายเต็มรูปสำหรับสังคมรอบนอก เป็นเรื่องที่พึงนำเอาเจตนารมณ์ของวินัยนั้นมาบัญญัติวาง ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ตามยุคสมัย ดังตัวอย่างที่พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้น เคยทรงพยายามจัดทำมาแล้ว เมื่อเข้าใจศีลระดับวินัยดีแล้ว ก็จะรู้จักแยกได้ ระหว่างศีลที่เป็นธรรม กับ ศีลระดับวินัย ศีลที่เป็นธรรมก็รวมอยู่ในคำว่าธรรม ส่วนศีลระดับวินัยก็เรียกง่ายๆว่า วินัย แล้วก็จะเข้าใจว่าเหตุใด แต่เดิมท่านจึงเรียกพระพุทธศาสนาทั้งหมดว่า “ธรรมวินัย” และเหตุใด ธรรมและวินัยจึงเป็นส่วนประกอบทั้งหมดของพระพุทธศาสนา .................... * ปสาทนียธรรม (ธรรมเป็นทั้งตั้งแห่งความเลื่อมใส) ๑๐ นั้น คือ มีศีล เป็นพหูสูต สันโดษ ได้ฌาน ๔ และอภิญญา ๖ |
บทความทั้งหมด
|