วินัยในความหมายกว้างใหญ่เลยศีล วินัยในความหมายที่กว้างใหญ่เลยจากศีล เท่าที่กล่าวมานั้น แสดงความหมายของวินัยในขอบเขตที่ศีลคลุมมาถึงได้ หรือที่ยังเนื่องโดยตรงกับศีล แต่ที่จริง วินัยมีความหมายกว้างขวางมาก ถ้าศึกษาให้เข้าใจ จะช่วยให้มองเห็นแนวคิดและระบบของพระพุทธศาสนาชัดเจนขึ้น ความหมายพื้นฐานของวินัยมี ๒ อย่าง คือ ก. การฝึกให้มีความประพฤติ และความเป็นอยู่เป็นระเบียบแบบแผน หรือการบังคับควบคุมตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผน รวมทั้งการระเบียบแผนต่างๆ เป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติความอยู่ของตน และกิจการของหมู่ชน ข. ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่วางไว้เป็นหลัก หรือเป็นมาตรฐาน สำหรับใช้ฝึกคน หรือใช้บังคับควบคุมตน ตลอดจนเป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคน และกิจการของหมู่ชนให้เรียบร้อยดีงาม ในความหมายหลัก ๒ นัยนี้ มองลึกลงไป มีความหมายแฝงและแยกแยะออกไปได้เป็น ๕ อย่าง คือ ๑. การฝึกตน และสอนคนให้ฝึกตน ที่จะประพฤติปฏิบัติให้ดีงาม ถูกต้อง เป็นระเบียบ มีแบบแผนเพื่อจะได้มีความเจริญงอกงาม พัฒนาชีวิตในด้านต่างๆ อย่างได้ผลดี นี่คือ การศึกษา ๒. การดูแลบังคับควบคุมคนให้ประพฤติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน และใช้ระเบียบแบบแผนเป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติความเป็นอยู่ของคน และกิจการของหมู่ชน นี่คือ การปกครอง ๓. การบัญญัติจัดตั้งวางตราระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่จะใช้เป็นหลัก หรือเป็นมาตรฐาน สำหรับใช้ฝึกหรือบังคับควบคุมคน ดังที่กล่าวมานั้น นี่คือ นิติปัญญาบัน ๔. ตัวระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่วางไว้เป็นหลัก หรือเป็นมาตรฐาน สำหรับใช้ฝึก หรือบังคับควบคุมคน ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วนั้น นี่คือ นิติบัญญัติ ๕. การวินิจฉัยตัดสินกรณีพิพาทอรรถคดี ให้ยุติตามระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่วางเป็นหลักไว้นั้น เพื่อคงความถูกต้องเป็นธรรมและความเรียบร้อยสงบสุข นี่คือ วินิจฉัยกรณ์ (ไทยว่า ตุลาการ) ในแง่วิวัฒนาการของสังคม มองตามพุทธมติว่า สถาบันตามความหมายข้างบนนี้ เกิดมีขึ้นตามความจำเป็นให้ต้องการของสังคมมนุษย์ คือ เมื่อคนมาอยู่รวมกันมากขึ้น และต่างก็แสวงหาปัจจัยสี่ และวัตถุเสพ เกิดการทะเลาะวิวาทขัดแย้งแย่งชิงกัน ทำให้ต้องมีผู้ระงับกรณีพิพาทและมีการปกครองขึ้น* (วิวัฒนาการของสังคมทำนองนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในอัคคัญญสูตร (ที.ปา.11/62/100) ซึ่งได้กล่าวโยงไว้กับหลักปฏิจจสมุปบาท ในตอนว่าด้วยปัจจยาการทางสังคม) ผู้ปกครองจะให้ผู้ใต้ปกครองอยู่กันด้วยดี ก็ต้องมีกฎหมายกติกาที่จะเป็นข้อยึดถือยุติ และเป็นเครื่องจัดระเบียบสำหรับบังคับควบคุม จึงเกิดมีการบัญญัติกฎระเบียบ ก็ตั้งเป็นข้อบังคับหรือกฎหมายขึ้น เกิดมีเป็นนิติบัญญัติ และเมื่อมีกรณีพิพาท ก็ตัดสินวินิจฉัย มีการลงโทษ ทั้งนี้ การบัญญัติกฎระเบียบ ตลอดจนตัดสินวินิจฉัยกรณีพิพาทนั้น เดิมเป็นกิจของผู้ปกครองเอง ต่อมา สังคมเจริญเติบโตมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น มีการวางระบบจัดกระบวนวิธีและขั้นตอนต่างๆ ขึ้น เกิดเป็นสถาบันเป็นองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ แยกออกจากฝ่ายบริหาร เพื่อสนองงานต่างหากออกไป แม้ระบบศาล กระบวนการยุติธรรม ก็เป็นความหมายหนึ่งของวินัยนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ที่พูดถึงวิวัฒนาการของสังคม เพื่อให้เห็นความหมายของวินัยในแง่การปกครองนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ข้อที่ต้องการพูดในที่นี้ คือจะชี้ถึงการเปลี่ยนจุดเน้นแห่งความหมายของวินัยนั้น จะเห็นว่า ตามวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์นั้น เพราะความจำเป็นในการอยู่ร่วมกัน จึงต้องมีการปกครองเกิดขึ้น โดยมาพร้อมด้วยการใช้อำนาจตัดสินกรณีพิพาท และการวางข้อกำหนดกฎกติกาที่เป็นเครื่องยุติในการปกครองรวมทั้งการตัดสินวินิจฉัยอรรถคดีนั้น แต่บนฐานของความต้องการโดยจำเป็นของสังคมนั้น วินัยเครื่องชี้นำของการปกครองอย่างที่ว่านี้ มุ่งหมายเพียงแค่ให้คนอยู่ร่วมกันได้เรียบร้อยดี ไม่เบียดเบียนกันนัก ประพฤติดี มีศีลธรรม ตั้งหน้าตั้งตาประกอบกิจอาชีพการงานให้ดำเนินไป ให้สังคมมั่นคงมั่งคั่งเจริญไพบูลย์ ถ้าได้ผู้ปกครองที่ดี ชาวประชามั่นใจในความมีธรรมเป็นธรรม และชอบธรรม ก็เรียกว่าได้ผู้ปกครองที่เป็นจักรพรรดิธรรมราชา ในระบบสังคมที่ว่านี้ แม้จะมีสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา ก็เป็นเพียงการพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถในศิลป์ในศาสตร์ ที่จะใช้ประกอบกิจการงานอาชีพให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เพื่อสนองความต้องการโดยจำเป็นของสังคมอย่างที่ว่านั้น การที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น มีความหมายสำคัญตรงที่ทำให้วินัย คือ การชี้นำจัดการกับมนุษย์นี้เปลี่ยนพลิกไป พูดไม่ให้ยาวนักว่า การจัดการกับมนุษย์ที่สืบเนื่องจากความจำเป็นทางสังคมเพื่อให้เขาอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี โดยมีการปกครองเป็นหลักเป็นแกนนี้ เป็นการจัดการกับมนุษย์ด้วยวิธีการทางสังคมจากภายนอกบีบเข้ามาให้จำต้องทำ ไม่เพียงพอ และไม่ดีจริง ควรก้าวต่อไปสู่การจัดการที่ตัวมนุษย์เองโดยตรง โดยมองเห็นว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เปลี่ยนจากร้ายให้เป็นดี จากหยาบร้ายให้กลายเป็นนุ่มนวลประณีต มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้มีคุณภาพสูงสุด ทั้งด้านความประพฤติดีงามในความสัมพันธ์ปฏิบัติต่อคนต่อของ ทั้งด้านภายใน ทางจิตใจที่จะให้เข้มแข็งมีคุณธรรมมีความสุข และด้านปัญญาที่จะให้เฉลียวฉลาดสามารถสร้างสรรค์แก้ปัญหาจนแม้เข้าถึงสัจธรรมได้ มนุษย์นี่แหละเป็นตัวทำการ สังคมมนุษย์เป็นโลกแห่งกรรม เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นไปตามเจตจำนงในการกระทำของเขา จึงต้องจัดการที่ตัวมนุษย์นี้ โดยให้เขาพัฒนาตนขึ้นไป วินัยคือการชี้นำจัดการกับมนุษย์ที่ตัวมนุษย์นี้ เป็นการชี้นำให้มนุษย์จัดการกับตัวเขาเอง ด้วยการพัฒนา ศีล จิตใจ และปัญญา ขึ้นไป โดยผู้ชี้นำเป็นกัลยาณมิตรให้ และนี่เองคือพระพุทธศาสนา ถึงตอนนี้ คือในพระพุทธศาสนานี้ วินัยจึงกลายเป็นการเป็นชี้นำจัดการมนุษย์ในความหมายของการศึกษา และจากนั้น เพื่อให้การศึกษาดำเนินไปได้และก้าวไปดี วินัยในความหมายของการปกครอง การวางกฎระเบียบ ข้อฝึก ข้อปฏิบัติ ตลอดจนกระบวนการที่นิยมเรียกว่า ยุติธรรมทั้งหมด (รวมอยู่ในการระงับอธิกรณ์) ก็พรั่งพร้อมเข้ามาเป็นเครื่องมือของการศึกษานั้น โดยนัยนี้ วินัยจึงมีความหมายเป็นการศึกษา หรือระบบการจัดการมนุษย์โดยมีการศึกษาเป็นหลักเป็นแกน แวดล้อมด้วยวินัยแห่งการปกครอง แห่งวินัยบัญญัติ และแห่งวินัยวินิจฉัย ที่ได้กล่าวแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เป็นการปกครองโดยไม่ต้องใช้อาญา และข้อบัญญัติทั้งหลาย มิใช่เป็นข้อบังคับ แต่เป็น “สิกขาบท” คือข้อฝึก ข้อศึกษา เมื่อได้ทำความเข้าใจในหลักทั่วไปดังนี้แล้ว ก็ขอย้อนมาพูดถึงความหมายของคำว่าวินัย เป็นการสำทับความอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ ขอกล่าวถึงความหมายโดยพยัญชนะ คำว่า “วินัย” มีความหมายตามรูปศัพท์ที่แปลกันสืบมาว่า การนำไปให้วิเศษ แปลเป็นไทยให้สมสมัย ก็คือ การชี้นำอย่างวิเศษ และการจัดการให้ดีนั่นเอง โดยเฉพาะ จัดการบุคคล ให้เจริญดีงามเป็นคนที่สมบูรณ์ หมดทุกข์หมดปัญหา จัดการสังคม คือคนที่มารวมกันอยู่ให้สงบสุขเรียบร้อยมั่นคง จัดการเรื่องราว ให้เรียบร้อยเสร็จสิ้นไปด้วยดี วินัยนี้ ในรูปคุณศัพท์ที่เป็น “วินีต” (วินีต เป็นคำกริยาช่องสาม) มีใช้บ่อย โดยมากใช้กับบุคคลหรือหมู่ชน แปลว่า อันนำไปให้วิเศษแล้ว หมายความว่า ฝึกดีมีการศึกษาแล้วนั่นเอง ถ้าเป็นเรื่องราว (อย่างในคำว่า วินีตวัตถุ) ก็คือเป็นเรื่องราว หรือกรณี ที่ได้ดำเนินการตัดสินวินิจฉัยให้เรียบร้อยเสร็จสิ้นไปด้วยดีแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน จนกว่าบรรดาสาวกทั้ง ๔ บริษัท จะเป็นผู้ “วินีต” คือมีการศึกษาดีแล้ว อรรถกถาหลายแห่งก็อธิบายว่า วินัย ได้แก่ สิกขา ๓ (ไตรสิกขา การศึกษาครบ ๓ ด้าน) * ทั้งนี้ ความหมายของวินัยจะชัดแจ้งสมบูรณ์ ต่อเมื่อสัมพันธ์เชื่อมต่อกับความหมายของธรรม ธรรม เป็นส่วนเนื้อหาและหลักการ ตั้งแต่ความจริงของธรรมชาติตามกฎธรรมดา มาจนถึงหลักความประพฤติ และความเป็นอยู่ที่เป็นวิถีชีวิตอันประเสริฐ วินัย เป็นภาคปฏิบัติที่นำเอาเนื้อหา และหลักการนั้นไปจัดสรรให้ความประพฤติและความเป็นอยู่แห่งวิถีชีวิตอันประเสริฐคือพรหมจริยานั้น เกิดมีเป็นรูปร่างจริงจังขึ้นและสามารถแผ่ขยายกว้างขวางออกไปในสังคมมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัยคือเครื่องมือของธรรม สำหรับจัดสรรสังคมหรือชุมชน ให้เป็นไปตามหลักการและความมุ่งหมายของธรรม หรือเป็นเครื่องมือสำหรับจัดระบบแห่งวิถีชีวิตอันประเสริฐให้เกิดมีเป็นจริงขึ้น ธรรม มุ่งเนื้อหา เน้นที่บุคคล วินัยมุ่งรูปแบบ เน้นที่ระบบ ถ้าหลงลืมความหมายที่ลึกซึ้งของวินัย ไม่นำเอาเจตนารมณ์ทางสังคมของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในวินัยมาใช้ปฏิบัติ ไม่นำเอาสารัตถะของวินัยออกมาจัดดำเนินการในด้านวิธีการ และไม่จัดสรรระเบียบแบบแผนแห่งความเป็นอยู่และความประพฤติ หรือระบบชีวิตแบบพุทธชนิดที่สมสมัยปฏิบัติได้จริง ขึ้นมาเผยแพร่ พร้อมไปกับการแสดงเนื้อหาและหลักการของธรรม ก็น่ากลัวว่าพระพุทธศาสนาจะต้องประสบภาวการณ์ที่เป็นผลต่อไปนี้ คือ - เขตแดนแห่งการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา หรือวงการดำเนินชีวิตแบบพุทธ จะรัดตัวแคบเข้า และจะเป็นแต่ฝ่ายรับ ไม่ได้เป็นฝ่ายรุกเลย ทำให้ชุมชนพุทธถอยร่นห่างออกไปจากสังคมมนุษย์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชาวมนุษย์อื่น - สภาพแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจปรุงแต่งและแรงกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างอื่นๆ โดยที่พุทธศาสนาแทบไม่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ควบคุมด้วยเลย และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย หากเป็นไปเช่นนั้น ก็อาจนับได้ว่าเป็นการปล่อยปละละเลย ตกอยู่ในความประมาทอย่างหนึ่งของชาวพุทธเอง* ถ้าไม่เข้าใจสารัตถะของวินัย และเจตนารมณ์ของศีลในทางสังคม ไม่แต่เพียงเจตนารมณ์นั้นจะไม่ขยายกว้างออกไปสู่การปฏิบัติในสังคมพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ทั่วไปด้วยเท่านั้น แม้แต่เจตนารมณ์ส่วนที่มีอยู่แล้วในวินัยของสงฆ์เอง ก็จะเลือนรางหดเหลืออยู่เพียงในสภาพของพิธีกรรม ด้วยเหตุนี้ หากจะฟื้นฟูการปฏิบัติวินัย การเน้นแต่เพียงความเคร่งครัดด้านรูปแบบอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอ ภารกิจสำคัญที่ยังไม่ได้ทำสืบต่อจากเดิม หรือได้หดหายไปแล้วยิ่งกว่าเดิม ซึ่งควรฟื้นฟู ก็คือ การรักษาเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลในวินัยของสงฆ์ให้คงอยู่ ไม่เลือนรางหดหายไป จนเหลืออยู่แต่ในรูปของพิธีกรรมแห้งๆ ภารกิจสำคัญนี้ อีกด้านหนึ่ง ก็คือ การขยายเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลนั้น ให้กว้างออกไปสู่การปฏิบัติในสังคมคฤหัสถ์รอบนอกด้วย โดยจัดสรรวินัย ที่เป็นระบบชีวิตและระเบียบสังคมแบบพุทธของชาวบ้าน ให้เกิดมีขึ้นอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกาลสมัย. ...................... * พุทธพจน์นี้ว่า "น ตาวาหํ ปาปิม ปรินิพฺพายิสฺสามิ ยาว เม ภิกฺขู น สาวกา ภวิสฺสนฺติ วิยตฺตา วินีตา วิสารทา พหุสฺสุตา ธมฺมาธรา ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ..." (แน่ะมารเจ้าบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบใดที่ภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ยังไม่เป็นผู้เฉียบแหลม ยังไม่ได้ศึกษาดี ไม่เป็นพหูสูต ไม่แกล้วกล้า ไม่ทรงธรรม ยังไม่ปฏิบัติธรรมถูกหลัก ที.ม.10/65/122) อรรถกถาหลายแห่งอธิบายว่า "ชื่อว่าธรรม โดยความหมายว่าเป็นสภาวะ ชื่อว่าวินัย โดยความหมายว่าอันพึงศึกษา" .... คัมภีร์แห่งหนึ่งว่า "วินัย คือ ไตรสิกขา" (วินโย สิกฺขตฺตยํ) .... อีกแห่งหนึ่งว่า "ที่ไม่เป็นวินีต คือ ไม่ได้ศึกษาด้วยอธิศีลสิกขา เป็นต้น" * ข้อกำหนดแห่งประเพณีไทยเกี่ยวกับการบวชเรียนที่ว่า เด็กชายไปเรียนหนังสือที่วัด บวชเณร บวชพระเรียนหนังสือ จะมีเหย้าเรือนต้องได้บวชเรียนเป็นคนสุกก่อน นับเป็นตัวอย่างอย่างๆ ของการสร้างวินัย คือ ระบบชีวิตและระเบียบสังคมแบบพุทธ ของสังคมไทยในอดีต ซึ่งได้ช่วยให้วงการดำเนินชีวิตแบบพุทธ และพระพุทธศาสนาเอง ได้เจริญมั่นคงแพร่หลายไปในสังคมไทยอย่างมาก ความเสื่อมลงของระบบหรือวินัยส่วนนี้ ได้มีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในทางที่ไม่น่าพอใจอย่างไร คงจะเป็นเรื่องที่เห็นได้ไม่ยาก (ประเพณีนี้ เหมาะสมหรือไม่ มีแง่เสียหรือบกพร่องอย่างไร ไม่เป็นข้อที่จะวิจารณ์ในที่นี้) |
BlogGang Popular Award#20
สมาชิกหมายเลข 6393385
บทความทั้งหมด
|