ศีล วินัย ศีลธรรม บันทึกที่ ๒: ศีล วินัย ศีลธรรม ศีล ที่ยังเป็นธรรม (ไม่เป็นวินัย) ก็คือ ธรรมขั้นศีล (ไม่พึงนำมาสับสนกับคำว่าศีล ที่ใช้ในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายอีกอย่างหนึ่งตามแบบของไทย ดังที่มักอธิบายกันว่า ศีลธรรมหมายถึงศีลและธรรม ศีลคือการเว้นชั่วหรือเว้นจากข้อห้าม ธรรมคือความประพฤติดี หรือคำแนะนำสั่งสอนให้ทำความดี แต่ตามหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา ธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดก็คือ ไตรสิกขา ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ล้วนเป็นธรรมทั้งสิ้น จึงมีธรรมขั้นศีล ธรรมขั้นสมาธิ และธรรมขั้นปัญญา คำว่า ศีลธรรม ในภาษาไทย ถ้าจะแปลให้เข้าหลักนี้ ก็ต้องว่า ธรรมขั้นศีล หรือถ้าจะให้กว้างกว่านั้น ก็ว่า ศีล และธรรมอื่นๆ นอกจากศีล คือรวมถึงสมาธิและปัญญาด้วย หรือให้ศีลในที่นี้เท่ากับคำว่าวินัย ศีลธรรมก็จะหมายถึงวินัยและธรรม ตรงกับคำดั้งเดิมว่าธรรมวินัย) ศีล ๕ นั้น ในบาลีชั้นเดิม เมื่อกล่าวถึงความประพฤติของคนทั่วไป ท่านใช้ว่า ธรรม ๕ ... เมื่อใช้ในฐานะเป็นข้อฝึกหัดของชาวพุทธคฤหัสถ์ หรือกฎความประพฤติของอริยสาวกฝ่ายฆราวาส เรียกว่า สิกขาบท ๕ ... ส่วนที่เรียกว่า ศีล ๕ ตรงๆ พบแห่งหนึ่งใน ... และในข้อความร้อยกรองของคัมภีร์ชั้นรอง ... ต่อมาในชั้นอรรถกถา จึงใช้กันดื่น บันทึกที่ ๓: ความหมายบางอย่างของ "วินัย" "วินัย" ตามความหมายว่าประมวลบทบัญญัติ หรือระเบียบนั้น เรียกตามอรรถกถาว่า "ปัญญัติวินัย" วินัย มีความหมายสำคัญนอกจากนี้อีก ๒-๓ ความหมายที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับความหมายที่กล่าวมานี้ คือ วินัยที่ใช้คำว่า อริยวินัย ซึ่งเป็นคำที่พบบ่อย แปลได้ว่า แบบแผนของพระอริยะ ระบบชีวิตหรือระบบการฝึกฝนอบรมของอารยชน เทียบได้กับคำว่า สุคตวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความหมายไว้เองว่า หมายถึงพระธรรม อันได้แก่พรหมจรรย์ คือ หลักการครองชีวิตอันประเสริฐ ... เข้ากันได้กับที่อรรถกถาอธิบายว่า "อริยวินัย" หมายถึงพระพุทธศาสนา ... นับว่าเป็นความหมายที่กว้างกว่านัยที่ใช้เป็นศีล (อริยวินัย มาในคาถา ... นอกนั้นมาในรูปคำแยกเป็น อริยสฺส วินย) ความหมายของวินัย ท่านแสดงไว้ค่อนข้างครบถ้วน ... ว่ามีถึง ๔ นัย และ ๒ นัย แรกของ ๔ นัยนั้น อรรถกถาบางแห่งแยกย่อยออกไปอีกถึง ๑๐ ความหมาย |
BlogGang Popular Award#20
สมาชิกหมายเลข 6393385
บทความทั้งหมด
|