มองศีลให้กว้างสุด ศีล คือ ระเบียบความประพฤติ หรือ ถ้าจะพูดให้เต็มความหมายแท้จริง คือระเบียบความเป็นอยู่ ทั้งส่วนตัว และที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกาย วาจา ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งได้กำหนดไว้ เพื่อทำให้ความเป็นอยู่นั้น กลายเป็นสภาพอันเอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติกิจต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ดีงาม ซึ่งเป็นอุดมคติของคนในสังคม หรือชุมชนนั้น โดยทั่วไประเบียบความประพฤตินี้ มีลักษณะเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะทำความชั่ว และส่งเสริมโอกาสสำหรับทำความดี โดยฝึกคนให้รู้จักสร้างความสัมพันธ์ด้านกาย วาจาที่ดีงาม กับสภาพแวดล้อ อันจะก่อผลเอื้ออำนวยแก่การดำรงอยู่ ทั้งของตน และชุมชนหรือสังคมของตน และเอื้ออำนวยแก่การทำกิจต่างๆ ที่ยิ่งๆขึ้นไป พร้อมกันนั้น ก็เป็นการฝึกอบรมชีวิตด้านกายและวาจาของบุคคล ให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น ในอันที่จะเสวยผล และที่จะทำกิจเชนนั้นด้วย เฉพาะอย่างยิ่ง เน้นความสำพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคม คือการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพื่อว่า ในสภาพที่เกื้อกูลเช่นนั้น สมาชิกแต่ละคน นอกจากจะสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดีแล้ว ก็จะมีโอกาสกระทำสิ่งที่ดีงาม และพัฒนาตนให้เข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่าสูงขึ้นไปอีกด้วย สำหรับสังคมมนุษย์ในวงกว้าง ระเบียบความประพฤติขั้นต้นอย่างน้อยที่สุด หรือศีลขั้นพื้นฐานที่จะสร้างสภาพเกื้อกูลให้เกิดขึ้น ก็คือหลักที่เรียกว่าศีล ๕ ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ การไม่ละเมิดต่อชีวิต ต่อทรัพย์สินต่อของรักของกันและกัน การไม่ใช้วาจาละเมิดความจริง เพราะเห็นแก่ตนและมุ่งทำลายผู้อื่น และการไม่ยอมทำลายสติสัมปชัญญะหรือความสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนด้วยการตกไปในอำนาจของสิ่งเสพติด* ส่วนระเบียบความประพฤติที่ซับซ้อนไปกว่านี้ ย่อมรวมไปถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม และข้อปฏิบัติปลีกย่อยต่างๆ ที่วางไว้เพื่อความเรียบร้อยดีงาม และเพื่อให้เกิดสภาพการดำรงชีวิตอันเกื้อกูลแก่การที่จะเข้าถึงจุดหมายจำเพาะของชุมชนนั้น สังคมนั้น หรือระบบการนั้นๆ ศีลจึงมีความเข้มงวดกวดขัน เคร่งครัดหยาบ ประณีต และรายละเอียดต่างๆกัน ดังมีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นตัวอย่าง เมื่อว่าโดยสรุป ศีลตามความหมายของพระพุทธศาสนา มีลักษณะสำคัญ คือ ๑) ทำให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติกิจต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อเข้าถึงจุดหายที่ดีงามโดยลำดับ จนถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต ๒) ทำให้สมาชิกของสังคม หรือ ชุมชนนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี สังคมสงบเรียบร้อย สมาชิกต่างดำรงอยู่ด้วยดี และมุ่งหน้าปฏิบัติกิจของตนๆ โดยสะดวก ๓) ฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ทำให้กิเลสเบาบางลง ด้วยการควบคุมยับยั้งสังวร ปรับการแสดงออกทางกาย วาจา ให้เอื้อแก่สภาพความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลและการอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น อันเป็นขั้นต้นของการพัฒนาชีวิตของตน ให้พร้อมที่จะเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นพื้นฐานของสมาธิ หรือการฝึกปรือคุณธรรมทางจิตใจที่สูงขึ้นไป* แม้ว่าจะมีศีลที่สูงกว่าศีล ๕ อีกหลายระดับ หลายประเภท แต่ศีลหรือระเบียบความประพฤติทุกอย่าง ซึ่งเป็นที่ต้องการในการปฏิบัติธรรม ดังที่เรียกว่า ศีลซึ่งอริยชนชื่นชม (อริยกันตศีล) นั้น มีสาระอย่างเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นศีลที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามหลักการ ไม่เขวไปเพราะตัณหา ที่มุ่งแสวงหาอิฏฐารมณ์เป็นผลตอบแทน หรือเพราะทิฏฐิที่นำเอาความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนมาปิดบังวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของศีล ปฏิบัติโดยเข้าใจความมุ่งหมาย มิใช่สักว่ายึดถือทำตามๆกันไปโดยงมงาย สำหรับชาวบ้านทั่วไป เมื่อปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้แล้ว แม้เพียงศีล ๕ ก็เป็นปฏิปทาของพระโสดาบัน https://www.facebook.com/100010921694293/videos/390632106626485/?idorvanity=2270546403218940 .................... * สติสัมปชัญญะ หรือความสำนึกผิดชอบชั่วดีนี้ ย่อมเป็นหลักประกันหรือเครื่องคุ้มกันของศีลทั้งหมด * พึงสังเกตว่า ศีลขั้นพื้นฐานที่สุด (เช่น ศีล ๕) จะมีสาระที่มุ่งเพื่อการไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นขั้นต้นที่สุดของการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เกื้อกูล ศีลต่อจากนั้นขึ้นไป จะหันไปเน้นการสร้างสภาพเกื้อกูล ทั้งของสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ส่วนตัว และการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง เพื่อจุดหมายที่จำเพาะมากยิ่งขึ้น |
BlogGang Popular Award#20
สมาชิกหมายเลข 6393385
บทความทั้งหมด
|