ค) ทำไมจึงทรงยกย่องสังฆทานว่ามีผลมากที่สุด ค) ทำไมจึงทรงยกย่องสังฆทานว่ามีผลมากที่สุด เรื่องที่พูดมานี้ โยงไปถึงคติเกี่ยวกับสังฆทานซึ่งเป็นธรรมสำคัญอีกข้อหนึ่ง ทาน คือ การให้ ในทางพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ให้แก่บุคคล หรือให้เจาะจงจำเพาะตัวผู้นั้นผู้นี้ เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน และให้แก่สงฆ์ หรือให้มุ่งเพื่อส่วนรวม เรียกว่า สังฆทาน คำสอนในเรื่องนี้มีว่า สำหรับการให้แก่บุคคล การให้แก่คนชั่ว หรือคนมีคุณความดีน้อย มีผลน้อย การให้แก่คนมีคุณความดีมาก มีผลมาก แต่การให้แก่ส่วนรวมหรือสงฆ์ มีผลมากกว่าการให้แก่บุคคลไม่ว่ากรณีใดๆ พระพุทธเจ้าทรงแยกปาฏิปุคคลิกทาน หรือการให้แก่บุคคลออกไป เช่น ให้แก่พระพุทธเจ้า ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ให้แก่พระอรหันตสาวก ตลอดไปจนถึงให้แก่ปุถุชนมีศีล ปุถุชนทุศีล และให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน ทรงเปรียบเทียบว่า ให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน มีคุณความดีเป็นร้อย ให้แก่ ปุถุชนทุศีล มีคุณความดีเป็นพัน ให้แก่ปุถุชนมีศีล มีคุณเป็นแสน ให้แก่นักบวชภายนอกที่ไม่มีราคะ มีคุณความดีเป็นโกฎิ ให้แก่พระโสดาบัน มีคุณเป็นอสงไขย ให้แก่บุคคลมีคุณความดียิ่งกว่านั้นไป เป็นอันไม่ต้องพูดถึง ส่วนของที่ให้เพื่อสงฆ์ ก็อาจจะถวายแก่สงฆ์สองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งนับว่าเป็นสังฆทานขั้นครบถ้วนที่สุด ถัดจากนั้น ก็อาจถวายแก่สงฆ์สองฝ่ายในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ตลอดลงมาจนถึงถวายโดยให้จัดภิกษุหรือภิกษุณีจำนวนเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์มารับ (เป็นตัวแทนสงฆ์ โดยไม่เจาะจงว่าองค์นั้นองค์นี้) หรือแม้แต่เมื่อกาลเวลาล่วงไปนานแล้ว ธรรมวินัยจวนจะสิ้น จะถวายแก่พวกพระทุศีลเหลือแต่ผ้าเหลืองห้อยคอ แต่ถวายในนามของสงฆ์ ก็ยังมีผลมากมาย พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า “เราไม่กล่าวว่า ปาฏิปุคคลิกทาน (ให้แก่บุคคล) มีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ โดยปริยายใดๆเลย” (ม.อุ.14/710-713/458-461) พระพุทธเจ้าเคยสนทนา กับ คฤหบดีคนหนึ่งในเรื่องนี้ ตรัสถาม: นี่แน่ะท่านคฤหบดี ทานในตระกูล ท่านยังให้อยู่หรือ ? คฤหบดีทูลตอบ: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้อยู่ และทานนั้น ข้าพระองค์ถวายในพระภิกษุผู้ถืออยู่ป่า ถือบิณฑบาต ถือครองผ้าบังสุกุล ซึ่งเป็นพระอรหันต์ หรือบรรลุอรหัตมรรค พระพุทธเจ้าได้ตรัสแนะนำว่า ท่านคฤหบดีเป็นคฤหัสถ์ อยู่ครองเรือน ยุ่งอยู่กับครอบครัว ยากที่จะรู้ได้ว่า พระองค์ไหนเป็นอรหันต์ หรือบรรลุอรหัตมรรค พระองค์ตรัสว่า ไม่ว่าพระอยู่ป่า หรือพระอยู่ถิ่นบ้าน ไม่ว่าพระถือบิณฑบาต หรือพระรับนิมนต์ ไม่ว่าพระถือห่มผ้าบังสุกุล หรือพระห่มจีวรที่คฤหบดีถวาย ถ้าเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อเหิม ปากกล้า พูดเลอะ สติเฟือน ไม่มีสัมปชัญญะ ใจไม่ตั้งมั่น จิตพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ ก็น่าติเตียนทั้งนั้น ถ้าไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อเหิม ไม่ปากกล้า ไม่พูดเลอะ มีสติมั่น มีสัมปชัญญะ ใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ ก็น่าสรรเสริญทั้งนั้น สุดท้าย ตรัสเชิญชวนคฤหบดีให้ให้ทานในสงฆ์ เมื่อถวายทานในสงฆ์ จิตจักผ่องใส เมื่อจิตผ่องใส ตายก็ถึงสุคติ (องฺ.ฉกฺก.22/330/437) รวมความว่า การแสดงออก และการปฏิบัติตนของพระภิกษุ นอกจากมุ่งเพื่อฝึกอบรมตนแล้ว พึงคำนึงถึงประโยชน์ของสงฆ์และประชาชน อย่างน้อยที่สุด ในขั้นต้น จะต้องทำให้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตน หรือ คนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง มีจิตใจปลอดโปร่งเบิกบานผ่องใสด้วยข้อปฏิบัติทางวินัย ขั้นต่อไป ถ้าสามารถยิ่งกว่านั้น ก็พึงทำให้เขาเจริญงอกงามขึ้นโดย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ด้วยการแนะนำสั่งสอนธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระภิกษุมีหน้าที่เพื่อชาวบ้านอยู่ ๒ ด้าน หน้าที่ทางวินัย ทำจิตใจของประชาชนให้ผ่องใสด้วยศีลวัตร และหน้าที่ทางธรรม ได้แก่ นำเอาความจริง ความดีงาม ไปเผยแพร่ให้เขาเจริญยิ่งขึ้นไป ส่วนคฤหัสถ์ คือชาวบ้าน เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับภิกษุ พึงมุ่งเพื่อประโยชน์ทางจิตใจ ที่จะได้รับสิ่งซึ่งทำให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในธรรม และเมื่อจะอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ พึงคำนึงถึงประโยชน์ที่สงฆ์จะได้รับ แม้ในกรณีที่เป็นปาฎิบุคลิก เมื่อจะเลือกเกี่ยวข้องหรือบำรุงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็พึงทำด้วยประสงค์ที่จะให้สงฆ์ดำรงอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากตลอดกาลยาวนาน |
BlogGang Popular Award#20
สมาชิกหมายเลข 6393385
บทความทั้งหมด
|