สาระวันมาฆบูชา (ตัดแต่เนื้อๆ มา) ![]() นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มา ท่านว่าได้ ๙ เดือนพอดี กล่าวคือ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้วก็เสด็จมาที่อิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่อิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีจําพรรษาแรกที่นั่น หลังออกพรรษาแล้ว เสด็จต่อมายังแคว้นมคธ มาถึงเมืองราชคฤห์นี้และทรงได้อัครสาวก พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดทีฆนขปริพาชก และพระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผลที่นี่ รวมเวลาผ่านมา ๙ เดือน พอดี ถึงวันมาฆปูรณมีคือวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นเวลาที่ถือว่ามีความสําคัญ เนื่องจากสมัยก่อนนี้ถือปฏิทินทางจันทรคติ วันเพ็ญจึงมีความสําคัญอยู่โดยสามัญ นอกจากนั้น อาจเป็นไปได้ว่าวันเพ็ญเดือน ๓ นั้น เป็นวันสําคัญในศาสนาพราหมณ์ด้วย ปราชญ์บางท่านว่าเป็นวันศิวราตรี (แต่เท่าที่พบหลักฐาน ศิวราตรีของพราหมณ์คือวันเดือนดับ = แรม ๑๔ ค่ำเดือนมาฆะ) จะอย่างไรก็ตาม ก็รวมความว่า เป็นวันที่มีความสําคัญในศาสนาเดิมตามประเพณีของชาวชมพูทวีป ตอนเย็นวันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏมายังพระเวฬุวันนี้ และปรากฏว่ามีพระอรหันต์มาประชุมกันที่พระเวฬุวันนี้ ๑,๒๕๐ องค์ จึงเกิดเป็นการประชุมใหญ่ของพระสาวกขึ้น ตอนนั้นยังอยู่ในระยะต้นพุทธกาล แค่ ๙ เดือนเท่านั้นเองหลังจากตรัสรู้ มีพระสาวกมาประชุมกันตั้ง ๑,๒๕๐ องค์ ก็ต้องถือว่าเป็นการประชุมใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นมหาสันนิบาต การประชุมใหญ่ครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษ ที่ท่านเล่าไว้ว่า มีองค์ ประกอบ ๔ ประการ คือ ๑. วันนั้นเป็นวันเพ็ญมาฆปูรณมี พระจันทร์เต็มดวง ๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระภิกษุเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น และท่านเหล่านั้น เป็นผู้ได้อภิญญา ๖ ๔. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ ได้บวชโดยตรงจากพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง เนื่องจากมีองค์ประกอบ ๔ ประการ จึงเรียกการประชุมนี้ว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมที่พร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ พระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่า ความพรักพร้อมอย่างนี้เป็นโอกาสพิเศษ ที่ดีเหมาะแก่การที่จะทรงแสดงธรรมเป็นพิเศษ ก็จึงได้ทรงแสดงโอวาท ตรัสหลักคําสอนที่เป็นหลักการสําคัญของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ โอวาท ก็คือ คํากล่าวสอน ปาติโมกข์ แปลว่า ที่เป็นหลัก หรือ เป็นประธาน โอวาทปาติโมกข์ จึงแปลว่า คํากล่าวสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน คือคําสอนสําคัญของพระพุทธศาสนา คำสอนนี้ มีรวมทั้งหมด ๓ คาถาครึ่ง พูดง่ายๆว่ามี ๓ ตอน - มีต่อคาถาที่ ๑ |
บทความทั้งหมด
|