พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)
อาลักษณ์คู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



.........................................................................................................................................................


คำนำ

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลล่วงแล้ว ๒๔๓๘ พรรษา ปีมะแมสัปตศก จุลศักราช ๑๒๕๗ รัตนโกสินทรศก ๑๑๔

ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงหนังสือศรีสุนทราณุประวัตินี้ ขอแจ้งความให้ท่านทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งจะได้อ่านหนังสือนี้ทราบว่า ในการศพพระยาศรีสุนทรโวหาร ฯลฯ น้อย ผู้เป็นบิดาข้าพเจ้า ครั้งนี้ ตามบรรดาบุตรภรรยาญาติมิตรศิษย์สหายของท่าน ที่ยังมีความเอื้อเฟื้ออาลัยถึงท่าน ก็ได้ชักชวนกันมาทำบุญบริจาคทาน คือมีเทศน์แลบังสุกุลตามศรัทธานิยม แผ่กุศลอุทิศไปให้แก่ท่านบ้างนั้น ก็มีเป็นอันมาก

แต่ฝ่ายข้าพเจ้ามานิยมเห็นว่า การกุศลที่ท่านทั้งหลายมากระทำนั้นก็เป็นการดีอยู่ แต่ยังหาเป็นถาวรวัตถุอันปรากฏชื่อเสียงของท่านให้ดำรงทรงเจริญยืนนานไม่

ข้าพเจ้าจึงได้มารำพึงคิดเห็นการกุศลอย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ปรากฏชื่อเสียงของท่าน ให้เป็นการเจริญเจียรถิติกาลนานได้ คือแสดงประวัติแลคุณวุฒความดีของท่านให้เป็นแบบอย่างสำหรับที่จะได้สืบกุลบุตรต่อไปภายน่า ก็ย่อมเป็นคุณานิสงส์ที่จะอุทิศไปให้ท่านได้เหมือนกัน นับว่าเป็นกุศลพิเศษแผนกหนึ่ง

แลคุณวุฒิของท่านที่ได้ประพฤติมา ตามที่จะมีในเบื้องน่าต่อไปนั้น ก็ย่อมสามารถจะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่กุลบุตรภายหลังจะจำไว้เป็นแบบแผน แล้วประพฤติตามให้ได้ประสบพบความเจริญโดยประสงค์ได้ดังนี้ ก็ย่อมจะเป็นคุณเป็นประโยชน์ให้ผลแก่ฝูงชนที่ได้ประพฤติตามอยู่บ้าง

เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่า หนังสือเรื่องนี้ย่อมคุณานิสงส์ให้ผลแก่กุลบุตรอย่างหนึ่ง ควรนับว่าเป็นการกุศลส่วนหนึ่งเหมือนกัน

อีกประการหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ย่อมจะเป็นที่ระลึกของท่านในหมู่ญาติมิตรศิษย์หาซึ่งยังมีความนับถือท่าน ตามบรรดาที่ได้มารับหนังสือเล่มนี้อ่านด้วยกันเป็นอันมากได้ด้วย

ข้าพเจ้าได้เห็นคุณานิสงส์ทั้ง ๒ ประการดังนี้แล้ว จึ่งได้อุสาหเรียบเรียงมาลงพิมพ์ไว้แจกจ่าย ชำร่วยในการศพของท่านเพื่อผู้หนึ่งผู้ใดรับเอาไปอ่านแล้วประพฤติตาม ก็จะได้บังเกิดหิตานุหิตะประโยชน์แก่ผู้ประพฤติตาม แล้วจะได้แผ่การกุศลอุทิศไปให้ท่านผู้เป็นตัวอย่างแบบแผน แลได้มีนามของท่านไว้ในสมุดเล่นนี้เป็นที่ระลึกแห่งท่านด้วย

อนึ่งการที่เรียบเรียงประวัติของท่านครั้งนี้ ข้าพเจ้าก็เป็นแต่ผู้มาเกิดทีหลัง ไม่อาจสามารถที่จะทราบการก่อนเกิดได้โดยละเอียด การที่มาเรียบเรียงนี้ขึ้นภายหลังนี้ ก็อาศัยการที่ท่านได้เล่าให้ฟังบ้าง อาศัยไต่ถามผู้ใหญ่ที่ควรเชื่อฟังได้บ้าง คือมีสมเด็จพระวันรัตน์วัดสุทัศนเทพวราราม แลท่านปลัดโพซึ่งเป็นคนคุ้นเคยของท่านมาแต่เดิมมาบ้างเท่านั้น

เนื้อความในเรื่องประวัติของท่าน แลถ้อยคำที่ได้นำมาใช้ในหนังสือนี้ แม้จะวิปลาสคลาดเคลื่อนเหลือเกินไปประการใด ข้าพเจ้าขออภัยแลขอให้ท่านผู้ที่ได้ทราบการตลอดโดยละเอียดชัดเจนช่วยดัดแปลงแก้ไขด้วย


น.ห. หลวงมหาสิทธิโวหาร





พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)



ประวัติ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ ท.จ., น., ม., ร., ด., ม., เจ้ากรมพระอาลักษณ์แลองคมนตรี ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เดิมท่านชื่อน้อย อุปปัติเกิดที่บ้านในคลองโสธร แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อ ณ วัน ๖ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๔๑ บิดาท่านชื่อ ทองดี มารดาท่านชื่อ บัว ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ ของบรรพบุรุษ

เมื่อท่านมีอายุได้ ๖ ปี ๗ ปีนั้น ท่านได้เล่าเรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์(ไทย) กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน แต่เมื่อหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ยังบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดโสธรนั้น

ครั้นภายหลังเมืองอายุท่านได้ ๑๓ ปี พี่ชายใหญ่ของท่านจึ่งได้พากันเข้ามาพักอยู่กับท่านสามเณรทัด ซึ่งเป็นน้าชายของท่านที่ได้เข้ามาบวชอยู่วัดสระเกศนั้น ท่านสามเณรทัดองค์นี้ได้ชักนำให้ท่านเล่าเรียนวิชาหนังสือไทยกับท่านกรรมวาจาจัน เรียนหนังสือขอมกับท่านพระครูวิหารกิจานุการ (กรรมวาจาจีน) แล้วได้เรียนสารสงเคราะ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เรียนมงคลทีปนีในสำนักพระอุปทยาจาริยศุข เรียนมัลกัจาจายนในสำนักสมเด็จพระพุทธาจาริย (สน) เรียนกังขาวิตะระณีในสำนักพระอาจารย์เกิด วัดแหลม เรียนมหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง และได้เล่าเรียนพระคัมภีร์อื่นๆ ในสำนักพระครูปาน พระใบฎีกาแก้ว พระอาจารย์คง พระอาจารย์ด้วง ฝ่ายอาจาริยคฤหัสถ์นั้นท่านได้ร่ำเรียนวิภัตติกะถาคัณฐาภรณ์สัตถสาร วะชิระสาร ในสำนักท่านอาจารย์แสง เรียนวุตโตไทยในสำนักหม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก เสาะหาอาจารย์ศึกษาวิชาหนังสือขอมหนังสือไทย ในสำนักพระอาจาริยต่างๆ ดังนี้มา ตั้งแต่อายุท่านได้ ๑๔ ปี แล้วท่านจึงได้เข้าบวชเป็นสามเณรอีก ๘ ปี รวมเวลาที่ท่านได้เล่าเรียนอยู่ถึง ๑๑ ปี

ครั้นเมื่อปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ อายุท่านได้ ๒๑ ปี ครบอุปสมบทแล้ว ท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ในวัดสระเกศ ได้ศึกษาปริยัติธรรมเรียนคัมภีร์วิสุทธมัคกับพระวิเชียรปรีชา (กลิ่น) เจ้ากรมราชบัณฑิต ที่พระที่นั่งดุสิทธิมหาปราสาทต่อมาได้ ๓ พรรษา จึงได้เข้าแปลปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ที่วัดราชบูรณ กรมไกรษรวิชิตเป็นผู้กำกับเป็นครั้งที่ ๑ ได้เป็นเปรียญเอก ๕ ประโยค มีนิตยภัตรเดือนละ ๘ บาท

ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่โสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ด้วยเดิมที่วัดสระเกศในสมัยนั้นขาดเปรียญมาหลายสิบปีแล้ว ครั้งนี้ท่านมาเป็นเปรียญขึ้นในวัดสระเกศ แลมีอาจาระมารยาตรอันสุภาพเรียบร้อย เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาจึ่งได้เป็นที่ทรงยินดี ให้สถาปนาวัดสระเกศรื้อกุฎีเก่าอันที่รกรุงรังด้วยฝาจากฝาไม้ไผ่นั้นเสีย แล้วก่อสร้างกุฎีตึกใหม่ให้เป็นที่เสนาสนะอันงดงาม แลก่อภูเขาทองในปีนั้นด้วย

ครั้งนั้นท่านได้ถวายพระพรขอโยมผู้ชายของท่าน ซึ่งยังต้องรับราชการอยู่ที่เองฉะเชิงเทรานั้น ให้พ้นจากราชการหัวเมืองโดยความกตัญญูกตเวที ที่ท่านจะสนองคุณโยมผู้ชายของท่าน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายตามประสงค์ ต่อมาท่านก็ได้มีความอุตสาหไปเที่ยวเล่าเรียนพระปริบยัติธรรม ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงพระผนวชอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้เป็นสานุศิษย์ฝ่ายอันเตวาสิก แล้วจึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระธรรมการบดี (ศุก) เมื่อยังบวชเป็นที่พระญาณรักขิตนั้น เอาเป็นภารธุระสั่งสอนต่อมา

แล้วท่านยังได้เล่าเรียนในสำนักอาจาริยอื่นๆ ต่อมาอีก ๓ พรรษา รวมเป็น ๖ พรรษา จึ่งได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชแลได้ทรงกำกับแปลพระปริยัติธรรม กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงษ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังครารามอีกครั้งหนึ่ง ได้ขึ้นอีก ๒ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค ครั้นภายหลังท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์ต่างๆ อีก ๓ พรรษา รวมที่ท่านได้ดำรงสมณะเพศ อยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๙ พรรษา

พอสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ครั้นตกมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้รับราชการในสมณะศักดิ์ มีอาจาระสุภาพเรียบร้อย ถวายพระธรรมเทศนาเป็นที่ถูกพระอัธยาศัยโดยมาก แลทรงพระเมตตานับเข้าในพวกสานุศิษย์ข้าหลวงเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาท่านขึ้นเป็นพระประสิทธิสุตคุณ ที่พระราชาคณะอยู่ในวัดสระเกศ พระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๔ ตำลึง มีถานา ๓ องค์ คือพระปลัด ๑ สมุหะ ๑ ใบฎีกา ๑ เกียรติยศ ตั้งแต่ ณ วัน ๔ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก พระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้ว ๒๓๙๕ พรรษา

ครั้งนั้นท่านได้เทศนาวาการมีโวหารอันไพเราะ แลท่านเป็นผู้มีกิริยาอัชฌาศัยอันสุภาพเรียบร้อย เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธา แลถูกอัธยาศัยแห่งท่านทายกทั้งปวง เป็นที่ปิติยินดีแก่ผู้ที่ได้สดับตรับฟังรสพระธรรมเทศนาแห่งท่านเป็นอันมาก มีผู้มานิมนต์ไปเทศตามวังเจ้าบ้านขุนนางมิใคร่จะขาด กิติศัพท์กิติคุณของท่าน ก็เฟื่องฟุ้งไปในหมู่เศรษฐีคฤหบดี ลูกค้าวานิชที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ได้พากันนำบุตรหลานมาฝากให้เป็นสานุศิษย์เป็นอันมาก ท่านก็ได้สั่งสอนหนังสือขอมหนังสือไทยไปตามอุปนิสัยของศิษย์ทั้งหลายนั้นมาเนืองๆ

แต่ศิษย์ของท่านได้เป็นเปรียญนั้น ๔ คน คือมหาแจ่มเปรียญ ๕ ประโยคบวชอยู่วัดสระเกศ แล้วสึกออกมารับราชการอยู่กรมราชบัณฑิต ๑ หมาโตเปรียญ ๔ ประโยคบวชอยู่วัดสุทัศน์ แล้วสึกออกมารับราชการเป็นที่ขุนปรีชานุศาสน์ ครูสอนหนังสือไทยในโรงเรียนหลวง ๑ มหาเชิง ๓ ประโยคบวชอยู่วัดเทพธิดาแล้วสึกออกมารับราชการอยู่ในกรมราชยาน ๑ มหาแจ้งเปรียญ ๓ ประโยค บวชอยู่วัดสระเกศ แล้วสึกออกมารับราชการเป็นครูอยู่ในโรงเรียนหลวง ๑ รวมเป็น ๔ คน

ท่านได้ดำรงสมณะเพศอยู่ในราชการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๙ พรรษา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ พรรษา รวมเป็น ๑๑ พรรษา

ท่านมารำพึงเห็นว่าจะรักษาสมณะเพศให้ตลอดไปไม่ได้แล้ว จึงเข้าไปถวายพระพรลาสิกขาบท ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ทรงเมตตา มีพระราชประสงค์ที่จะให้ท่านดำรงสมณะศักดิ์ต่อไป จึงได้ทรงทัดทานห้ามปรามไว้ มิใคร่จะโปรดให้สึก ต่อมาภายหลังได้กราบทูลอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบท เมื่อ ณ วัน ๒ เดือน ๒ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕

ครั้นเมื่อท่านลาสิกขาบทออกจากวัดสระเกศแล้ว จึ่งได้มาพักอาศัยอยู่ที่วังพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ ซึ่งท่านเป็นที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ครั้งยังบวชเป็นภิกษุอยู่นั้น

ครั้นแล้วท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง แต่เมื่อท่านยังเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดีหัวหมื่นมหาดเล็กอยู่นั้น ได้นำท่านเข้าไปถวายตัวทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ อยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้สอยการหนังสือไทยแลหนังสือขอม แคล่วคล่องต้องตามพระราชอัธยาศัยทุกสิ่งทุกประการ จึงพระราชทานให้เบี้ยหวัดปีละ ๕ ตำลึง พระราชทานสมปักสายบัวเป็นเครื่องยศ

ท่านได้รับราชการในกรมมหาดเล็กมาได้จนบรรจบรอบปี ๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ขุนประสิทธิอักษรสารท ผู้ช่วยกรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๘๐๐ แลในเวลานั้นเจ้ากรมฯ อักษรพิมพการว่างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่เจ้ากรม เจ้ากรมอักษรพิมพการได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละชั่ง ๕ ตำลึง แลผ้าสมปักล่องจวนเป็นเครื่องยศ ท่านได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณเป็น ๒ ฝ่าย ทั้งในกรมพระอาลักษณ์และกรมอักษรพิมพการด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทรงพระเมตตากรุณาโปรดปรานมาก ได้รับพระราชทานรางวัลหีบถม ๑ แลเงินตราผ้าเสื้ออยู่เนืองๆ มิได้ขาด

เมื่อจวนจะสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปรักษาอุโบสถ เมื่อเวลาทรงศีลที่หอพระสิหิงค์ โดยเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในท่าน มิได้ทรงรังเกียจสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอกับศิษย์กับอาจารย์เหมือนกัน แลเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ครั้งนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย แล้วท่านได้รับราชการต่างๆ มาจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยความจงรักภักดีมิได้มีความผิดร้ายเป็นข้อสำคัญสิ่งใด ให้เป็นที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย

ครั้นมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งยศเป็นที่ขุนสารประเสริฐปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๑๖๐๐ พระราชทานสมปักล่องจวนเป็นเครื่องยศ แลพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๒ ชั่ง ได้รับราชการกำกับพนักงานกองตรวจคัดสอบทานหนังสือข้างที่เป็นเรื่องต่างๆ อยู่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ ที่พระที่นั่งราชฤดี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๐ บาท

ครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ได้นำช้างเผือกผู้ผ่านสำคัญมาถวายในคราวแรก เป็นช้างสำคัญที่ ๑ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามว่า พระเศวตวรวรรณ แลให้แต่งฉันท์สำหรับพราหมณ์กล่อมเมื่อเวลาสมโภช ท่านก็ได้รีบเร่งแต่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทันพระราชประสงค์ โดยสำเร็จบริบูรณ์เป็นความชอบในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเป็นเงินตราชั่ง ๕ ตำลึง แล้วภายหลังมีช้างสำคัญเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอีกหลายช้าง คือพระมหาระพีพรรณคชพงศ์ พระเศวตสุวภาพรรณ แลช้างเผือกสำคัญอื่นๆ อีกหลายช้าง ท่านก็ได้รับการฉลองพระเดชพระคุณ ในการขนานนามช้างแลแต่งฉันท์กล่อมเสมอทุกครั้ง แลทุกๆ ช้างมา ได้รับพระราชทานรางวัลตามสมควร

ครั้นเมื่อ ณ วัน ๔ เดือน ๑ แรม ๒ ค่ำ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ ท่านได้คิดแบบสอนหนังสือไทย คือ มูลบทบรรพกิจเล่ม ๑ วาหะนิตินิกรเล่ม ๑ อักษรประโยคเล่ม ๑ สังโยคพิธานเล่ม ๑ พิศาลการันต์เล่ม ๑ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ให้เอาต้นฉบับหนังสือทั้ง ๕ เรื่องนั้น ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับจะได้จำหน่ายพระราชทานให้แก่ผู้เล่าเรียนต่อไป ฝ่ายความชอบที่เป็นผู้ต้นคิดแบบเรียนแบบสอนนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ กรมพระอาลักษณ์นี้ยังมิได้เคยมีตำแหน่งเป็นหลวงมาก่อนเลย แล้วพระราชทานสมปักเชิงปูม กับเสื้อแพรเขียวเป็นเครื่องยศ พระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีปีละ ๒ ชั่ง

ครั้น ณ วัน- ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูสอนหนังสือไทยในกรมทหามหาดเล็ก คือสอนพวกนายทหารแลมหาดเล็กชั้นเล็กๆ ซึ่งพระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง) เป็นต้นคิดจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นในออฟฟิศมหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรก

ครั้นเมื่อ ณ วัน – ค่ำ ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ สั่งสอนพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ แลหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ แลบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงทั่วไป โดยแบบเรียนหนังสือไทย ซึ่งท่านได้คิดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไว้ทั้ง ๕ ฉบับนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๖๐ บาท

ภายหลังท่านได้คิดแบบหนังสือไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายฉบับ คือไวพจนพิจารณเล่ม ๑ อนันตะวิภาคเล่ม ๑ เขมรากษรมาลาเป็นแบบหนังสือขอมเล่ม ๑ นิติสารสาธกเล่ม ๑ ปกิระณำพจนาตถ์เล่ม ๑ แลแบบโคลงฉันท์อีกหลายเรื่อง ในขณะนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๔ ชื่อ ภัทราภรณ์ เป็นเกียรติยศในความชอบ เมื่อ ณ วัน ๕ เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕

ครั้นต่อมาภายหลัง พระยาศรีสุนทรโวหาร(ฟัก) เจ้ากรมอาลักษณ์ถึงแก่กรรมลง จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า จะทรงตั้งให้ท่านเป็นที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ ท่านจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานถือศักดินา ๓๐๐๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเป็นที่พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินาแต่ ๓๐๐๐ ตามที่ได้กราบบังคมทูลนั้น แล้วพระราชทานโต๊ะถมกาถมเป็นเครื่องยศ แลเบี้ยหวัดปีละ ๓ ชั่ง ตั้งแต่ ณ วัน ๖ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗

ครั้นเมื่อ ณ วัน ๗ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการ แลในขณะนั้นขุนหลวงพระยาไกรษี ซึ่งได้รับราชการตำแหน่งสภาเลขานุการในที่ประชุมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน แลที่ประชุมองคมนตรีนั้นถึงแก่กรรมลง ท่านก็ได้รับราชการตำแหน่งเลขานุการในสภาทั้ง ๒ นั้นสืบมาด้วย

เมื่อ ณ วัน - เดือน ๓ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาในการที่จะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นการรกร้างค้างมาหลายปีแล้วนั้น ให้เป็นอันสำเร็จบริบูรณ์ขึ้น จึงได้ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แลพระเจ้าน้องยาเธอเป็นอันมาก ทรงกะปันหน้าที่แยกกันเป็นด้านๆ ออกไป แล้วเขียนรูปภาพเป็นเรื่องรามเกียรติ์ตามพระระเบียงรอบพระอุโบสถ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ข้าราชกรที่เป็นจินตกวีรับแต่งโคลงรามเกียรติ์ มาจารึกเป็นห้องๆ ไป

ในขณะนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นแม่กองตรวจโคลงที่ข้าราชการแต่งมาทูลเกล้าฯ ถวาย โดยรอบพระอารามนั้น แล้วท่านก็ได้รับแต่งทูลเกล้าฯ ถวายในส่วนหน้าที่ ที่กะแบ่งให้ท่านก็มีหลายห้องเหมือนกัน

อนึ่งเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่พระราชวังเดิมสวนนันทอุทธยานนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเป็นกรรมสัมปาทิกช่วยจัดการโรงเรียนนั้นด้วย แล้วภายหลังท่านได้แต่งหนังสือเป็นคำกลอนเล่ม ๑ ชื่อว่าปกิระณำพจนาตถ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ ชื่อ นภาภรณ์ อีดดวง ๑ เป็นเกียรติยศในความชอบ เมื่อ ณ วัน ๕ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรงยังป็นเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑

ครั้นเมื่อ ณ วัน ๒ เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ การพระราชปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชวัดนั้นเสร็จแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จรางวัลในความชอบต่างๆ แก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการที่ได้รับหน้าที่เป็นนายด้านทำการต่างๆ ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เพื่อเป็นที่ระลึก ส่วนในหน้าที่ของท่านซึ่งเป็นแม่กองตรวจโคลงแต่งโคลงนั้นก็มีความชอบในราชการ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเป็น พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ คงถือศักดินา ๓๐๐๐ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโต๊ะทองกาทองเป็นเครื่องยศ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๔ ชั่ง ตั้งแต่ ณ วัน ๔ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีมะเมียยังเป็นตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓

ภายหลังท่านได้คิดแต่งแบบเรียนหนังสือไทยเป็นคำโคลงฉันท์ต่างๆ เป็นคำอธิบายชี้แจงถ้อยคำแลตัวสะกดในแบบไวพจนพิจารณาเล่ม ๑ ให้ชื่อว่า ไวพจนประพันธ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายถูกต้องตามพระราชอัธยาศัย เป็นความชอบในราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ว่าเป็นผู้มีความรู้พอเศษในหนังสือไทยเป็นเกียรติยศ เมื่อ ณ วัน ๗ เดือน ๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔

ครั้นต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกจากการสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนหลวง แล้วให้มาเป็นอาจารย์ถวายพระอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร แลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า แลพระเจ้าลูกเธอเป็นอันมาก แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมสัมปาทิกสำหรับสอบไล่วิชาหนังสือไทยชั้นสูงในที่ประชุมเสมอทุกๆ ปีไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๒๐ บาท

อนึ่ง ท่านก็ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็น กรรมสัมปาทิกในหอพระสมุดวชิรญาณ ในปีที่ ๕ ของหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ ณ วัน ๖ เดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีระกาสัปตศก ๑๒๔๗ ตลอดกำหนด

แลโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมสัมปาทิกในการตีพิมพ์พระไตรปิฎก แลได้รับราชการจรต่างๆ เป็นอันมาก

ครั้นถึง ณ วันที่ ๑๙ เดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ ทรงพระราชดำริเห็นว่า ท่านเป็นคนรับราชการต่างๆ มานาน มีความชอบในราชการแลมีอายุสูงแล้ว แลเป็นพระอาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แลพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการเป็นอันมาก สมควรที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลต่อไป จึงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูล ชื่อ ทุติยจุลจอมเกล้าฯ แลพานหมาก คนโททอง กระโถนทอง เป็นเครื่องยศ ให้สมกับความชอบในราชการ

การกุศลซึ่งท่านได้บำเพ็ญให้เห็นปรากฏเป็นถาวรทานไว้นั้น คือท่านได้แต่งหนังสือไว้ว่าด้วยคติโลกคติธรรม ชื่อ มหาสุปัสสีชาดกเรื่อง ๑ ธรรมุเทศเรื่อง ๑ กับได้บริจาคทรัพย์สร้างตะพานแลส้วมที่วัดชุมพลนิกายาราม ที่เกาะบางปะอินแห่ง ๑ ได้สร้างถนนแลตะพานตั้งแต่ประตูพฤฒิบาศ ตลอดไปถึงวัดโสมนัสวิหารแห่ง ๑

ครั้นเมื่อ ณ วันเดือน ๑๐ ปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๒๕๓ ตรงกับวันที่ ๒๑ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ท่านป่วยมีอาการเป็นไข้เส้นให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงมารักษา แลได้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการท่านหาคลายไม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอมรสารทประสิทธิ์ศิลปะมารักษา มีอาการให้เหนื่อยหอบเป็นกำลัง รับประทานอาหารไม่ใคร่ได้ ครั้นถึง ณ วัน ๖ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีเถาะตรีศก ๑๒๕๓ ตรงกับวันที่ ๑๖ เดือนตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ท่านได้สั่งให้ข้าพเจ้านำดอกไม้ธูปเทียนมาทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลา เวลาบ่าย ๕ โมงเศษก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ทรงพระเมตตาอาลัยในท่านว่า เป็นผู้มีคุณวุฒิในวิชาหนังสือไทยหนังสือขอม แลเป็นผู้นิพนธ์คิดพระนามแลชื่อต่างๆ โดยพิสดาร แลรอบรู้วิชาการอื่นๆ อีกเป็นอันมาก แลเป็นผู้มีสัตย์ธรรม์ มั่นคงจงรักภักดีต้อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีความอุตสาหะตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยความกตัญญูกตเวทีโดยแท้ มิได้มีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เป็นที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย แลได้รับราชการในตำแหน่งพระอาจารย์แห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารด้วย จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศโถมีเครื่องพร้อมให้เป็นเกียรติยศ

อนึ่ง เมื่อเวลาที่ท่านป่วยอยู่นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อยังทรงพระผนวชเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร ได้มาทรงรับบิณฑบาตถึงบ้านท่าน ๒ ครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ รับสั่งว่าจะทรงเป็นธุระเป็นเจ้าภาพจัดการปลงศพเอง

ครั้นภายหลังทรงลาพระผนวชแล้ว มาจนถึง ณ วัน ๖ เดือน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๒๕๖ ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๓ ก็เผอิญเสด็จสวรรคตล่วงลับไปเสีย การศพท่านจึงได้ตกค้างมาหลายปี

ครั้งนี้มารดาข้าพเจ้ามีความวิตกเกรงจะค้างช้าต่อไปอีก จึงได้นำเงิน ๒๐ ชั่ง ในส่วนจะได้ทำกาลปลงศพท่านไปถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ เพื่อจะได้ทรงเป็นพระธุระจัดการปลงศพต่อไป เพราะเหตุว่าเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้มีความนับถือในพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้เป็นอันมาก และเมื่อเวลาที่ท่านป่วยหนักลงนั้น ท่านได้เรียกข้าพเจ้าผู้เป็นบุตรใหญ่เข้าไปสั่งว่า ให้มีความเคารพนับถือฝากตัวในพระเจ้าน้องเธอพระองค์นี้ให้มากๆ แล้วให้ข้าพเจ้าร่างหนังสือถวายเป็นใจความว่า “ในเวลานี้เกล้าฯ มีอาการป่วย ได้รับความทุกขเวทนาเป็นอันมาก เห็นว่าสังขารจะทนทานไปไม่ตลอกถึงไหน จะต้องถึงความดับแตกเสียเป็นแน่แล้ว เกล้าฯ ขอฝากบุตรภรรยาไว้ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ (เซ็น) ศรีสุนทรโวหาร” แล้วจึงให้ข้าพเจ้านำไปทูลเกล้าฯ ถวาย พอถวายหนังสือนี้ได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นท่านก็ถึงอนิจกรรม

เพราะฉะนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมติอมรพันธ์ ได้ทรงออกประกาศให้ตามบรรดาสานุศิษย์ หรือท่านผู้มีความนับถือในท่านทราบทั่วกัน ในหนังสือพิมพ์สยามออบเซอเวอร์ แล้วภายหลังมีผู้ช่วยเป็นเงินแลสิ่งของเป็นอันมาก แลได้ทรงแจ้งต่อเจ้าพนักงานกระทรวงวัง ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณากำหนดการปลงศพ คือชักศพไปเข้าเมรุในวันที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ เวลาค่ำ วันที่ ๑๖ เป็นวันทำบุญ วันที่ ๑๗ เป็นวันพระราชทานเพลิง วันที่ ๑๘ เก็บอัฐิ เป็นเสร็จการใน ๓ วัน

ด้วยผลของการที่ท่านทั้งหวง ได้จัดการบำเพ็ญกุศลในการปลงศพพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ครั้งนี้ จงเป็นเหตุให้สำเร็จสุขประโยชน์แก่ท่านผู้ไปปรโลกแล้วนั้น ตามควรแก่คติของท่าน อนึ่ง ขอให้กิติคุณของท่านปรากฏสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ.

หลวงมหาสิทธิโวหาร
ปลัดนั่งศาลกรมพระอาลักษณ์
แลผู้ช่วยราชการในกรมไปรษณีย์
เป็นผู้แต่ง




.........................................................................................................................................................


คัดจาก
หนังสือ "ภาษาไทย ของพระยาศรีสุนทรโวหาร" เล่ม ๑
พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๔ สำนักพิมพ์คลังวิทยา
กรมศิลปากรอนุญาตให้พิมพ์ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔


หมายเหตุ
อักขระวิธีเดิมอ่านยาก ผมขออนุญาตทุกท่านเปลี่ยนอัขระวิธีบางคำให้อ่านง่ายขึ้น
เชื่อว่าจะเผยแพร่ความรู้ได้ไกลยิ่งขึ้น ตามเจตนารมย์ของหลวงมหาสิทธิโวหาร ผู้แต่งประวัติ



Create Date : 26 มิถุนายน 2550
Last Update : 26 มิถุนายน 2550 18:00:33 น.
Counter : 13418 Pageviews.

2 comments
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
9 แนวคิดที่ทำให้เรามีชีวิตประจำวันที่ดีกว่าเดิม peaceplay
(31 มี.ค. 2567 09:18:27 น.)
กาแฟคั่วเข้ม เหมาะกับเมนูไหนดี สมาชิกหมายเลข 7983004
(29 มี.ค. 2567 02:14:10 น.)
ถนนสายนี้ ... ... มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 348 "ฉุกละหุก" toor36
(24 มี.ค. 2567 10:27:24 น.)
  


โดย: กัมม์ วันที่: 30 มิถุนายน 2550 เวลา:11:32:13 น.
  
ขอขอบพระคุณ หาอ่านได้ยากยิ่งค่ะ
นำลิงคืไปไว้ที่กระทู้พันทิป หน้าบทกวี แล้วนะคะ
โดย: tiki_ทิกิ วันที่: 23 มีนาคม 2552 เวลา:14:45:35 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด