สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (นายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์)
พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






..................................................................................................................................................................................................


สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์


ในวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัตินั้น เวลา ๑๕.๓๘ น. (เวลาในประเทศอังกฤษ) ได้มีโทรเลขจาก ม.ร.ว. สมัครสมาน กฤดากร ราชเลานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ จากพระตำหนักโนล ตำบลครานเลฆ์ อันเป็นที่ประทับในอังกฤษมาถวายราชเลขานุการในพระองค์ที่กระเทพฯ มีใจความว่า โดยกระแสพระบรมราชโองการ ให้ราชเลขานุการแจ้งแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังว่า มีพระราชประสงค์ให้ท่านรัฐมนตรี เชิญต้นไม้เงินและต้นไม้ทองไปพระราชทานพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่งตามราชประเพณี และโปรดให้เชิญพระราชกระแสรับสั่งกราบทูลแด่พระบรมวงศ์พระองค์นั้น ดังต่อไปนี้

”หม่อมฉันขอให้ทรงรับเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินและต้นไม้ทองนี้จากหม่อมฉัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความเคารพบูชาอย่างยิ่งของหม่อมฉัน สำหรับกำลังแห่งน้ำพระทัยและความมานะอดทนอย่างกล้าแข็งของพระองค์ ในการที่ได้เผชิญความยากลำบากอันใหญ่หลวงทั้งหลาย กับเพื่อเป็นของขวัญสำหรับแสดงความรู้สึกอย่างเหลือล้นของหม่อมฉัน ในพระคุณของพระองค์ท่าน ในการที่ทรงมีความจงรักภักดีอย่างแน่แท้ต่อตัวหม่อมฉันและต่อพระราชวงศ์ หม่อมฉันขอประทานด้วยความนอบน้อม ได้โปรดให้อภัยแก่หม่อมฉันสำหรับความยากลำบากและความสลดรันทดใจ ซึ่งหม่อมฉันอาจทำให้พระองค์ได้ทรงรับมา”

พระบรมวงศ์พระองค์นั้นได้ทรงมีพระโทรเลขตอบเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม มีข้อความว่า

สมัครสมาน โนล ครานเลฆ์
สำหรับกราบบังคมทูลพระกรุณา

“ขอพระราชทานตอบพระโทรเลขวันที่ ๒ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีใจที่จะหาคำกราบบังคมทูลได้ ขอพระราชทานกราบถวายบังคมแทบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเดชพระคุณล่นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ และต้นไม้ทองเงินซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจแล้ว จะนำไปถวายพระบาทสมเด็จพระบูรพมหาราชไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร”


พระบรมวงศ์พระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์ ในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ ณ ต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๗๖ เมื่อทรงสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว สมเด็จฯ ก็ทรงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


พระบาทสมเด็จ ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


เมื่อเอ่ยนามสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศราฯ คนไทยหรือแม้นแต่ชาวต่างชาติที่สนใจเรื่องศิลปะต่างๆ ของไทย ก็จะนึกถึงเพลงเขมรไทรโยค วัดเบญจมบพิตร ภาพเขียน รูปปั้น ตลอดจนพระเมรุต่างๆ ซึ่งยังคงมีรูปถ่ายปรากฏไว้ สมเด็จฯ ได้ทรงเขียนเล่าพระประวัติของพระองค์ท่านเกี่ยวกับการที่ทรงสนพระทัยในงานศิลปะต่างๆ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ไว้ดังต่อไปนี้

“มีคนร่ำลือตัวฉันอยู่บ้างว่ารู้อะไรต่างๆ ที่ลือมากอยู่ก็รู้การช่าง ถัดไปเป็นรู้ทางปี่พาทย์ จึงจะบรรยายวิชาทั้งสองอย่างซึ่งเกิดขึ้นแก่ตัวให้ท่านฟังดังต่อไปนี้

วิชาเขียนนั้นตั้งแต่ฉันยังเล็กๆ อยู่ก็ให้นึกรักเป็นกำลัง พอดีกันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสมอบหมายให้เป็นหน้าที่เลี้ยงพระฉันเวร คือพระฉันทุกวันบนพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ แต่พอประเคนแก่พระแล้ว ก็เตร่ไปอยู่แก่พวกปี่พาทย์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งพรรณนาทีหลัง แม้ไม่อย่างนั้นก็เขาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เดินดูพระระเบียงเสียรอบหนึ่งแล้วก็จำอะไรมา ครั้นกลับมาถึงเรือนก็เขียนสิ่งที่จำมานั้นไว้ ในการเขียนก็ง่ายๆ ใช้ดินสอขาวเขียนกับบานตูซึ่งเขาแขวะผนังเรือน ทำบานทาสีน้ำเงินด้วยสีน้ำมันปิดไว้ ขอให้เข้าใจว่ารูปนั้นไม่เหมือนเลย เป็นแต่ได้เค้าว่ารูปนั้นเป็นอยู่อย่างนั้นเท่านั้น ดูก็สมด้วยคำของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยกล่าวว่า วัดไหนมีเขียนวัดนั้นก็มีพระช่างเขียน ด้วยดูจำอย่างรูปที่เขียนไว้นั้น ถ้าวัดใดไม่มีเขียน ก็หาพระช่างเขียนในวัดนั้นไม่ได้ คิดว่าเป็นพูดถูก


กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย


เมื่อได้เขียนบานตู้อย่างที่เล่าแล้ว ได้เห็นเจ้านายชั้นเดียวกันที่ท่านแก่อายุกว่า ท่านเขียนรูปอะไรต่ออะไรก็ให้นึกชอบใจ ถึงกับมีสมุดเล่มหนึ่งพกไปเขียนอะไรต่ออะไร จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริม แต่จะเล่าถึงการที่ทรงส่งเสริมเป็นลำดับไปนั้น นึกไม่ได้ ได้แต่ลางคราว เช่นคราวหนึ่งตรัสสั่งให้เขียนรูปพระเจ้าแผ่นดินพม่า ซึ่งทอดพระเนตรเห็นในหนังสือพิมพ์ฝรั่ง อะไรทำให้เข้าใจๆไปในเวลานั้นก็จำไม่ได้ ว่าพระนาม “เม็งดงเม็ง” เขียนเสียเหงื่อแตกทุกขุมขน ขออย่าได้เข้าใจว่าเหมือน เป็นแต่ดีกว่าที่เคยเขียนมาแล้วเท่านั้น จำได้อีกครั้งหนึ่งว่าเสด็จไปทอดพระเนตรกองหินแลงที่เมืองสิงห์ ในแขวงกาญจนบุรี ก็โปรดเกล้าให้เขียนกองหินแลงนั้นที่ว่าเป็นปราสาท ทีหลังได้เห็นหนังฉายของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นมุดเข้าไป แสดงว่าปราสาทนั้นยังไม่พัง แต่รูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เพราะต้นไม้ขึ้นคลุมเสียหมด ต่อมาอีก ได้ยินกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยพูดถึงไปเที่ยวเมืองสิงห์อีก กล่าวถึงปราสาทเขมร เป็นอันว่าพังไปแล้วก็มี ที่ยังคงรูปเป็นอยู่ก็มี เธอเอารูปฉายมาให้ไว้ด้วย เป็นอันเข้าใจได้ว่า เมืองสิงห์นั้นเป็นเมืองซึ่งมีการก่อสร้างของเขมรมาก แต่ร้างแล้ว กรมการแห่งกาญจนบุรีผู้ได้ปกครองอยู่ในเวลาโน้น เขาพบแต่กองหินแลงซึ่งเป็นปราสาทที่พังแล้ว จึงนำเสด็จไปทอดพระเนตรแต่เพียงเท่านั้น แล้วทีหลังก็พบอีก ที่พังแล้วก็มี ที่ยังคงรูปอยู่ก็มี แต่ไม่ได้เห็นด้วยต้นไม้ปกคลุม ในแผนที่ก็เขียนว่า เมืองสิงขร เสียด้วย ผิดความหมายกันไป อย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ นึกได้อีกคราวหนึ่งว่าโปรดเกล้าให้เขียนหินหมวกเจ๊กที่เขาลูกช้าง ในแขวงเพชรบุรี ที่เรียกว่า “หมวกเจ๊ก” นั้นก็เพราะหินก้อนหนึ่งมีสัณฐานข้างบนกว้าง ข้างล่างเล็กเรียว ดุจหมวกเจ๊กตั้งอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่าเขาลูกช้างนั้นไม่เป็นเขา แต่เป็นหินสองสามก้อนตั้งรายๆ อยู่ในทุ่ง ผู้รู้เขาว่าที่นั้นเป็นท้องทะเลมาก่อน แต่เมื่อเขียนหินหมวดนั้นโตแล้ว เขียนได้เหมือนแล้ว ทั้งรู้ด้วยว่าทรงปิดในสมุดซึ่งจดรายวัน ทีหลังไปตามเสด็จที่ไหนก็เขียนแผนที่ที่นั่นถวาย ให้ทรงปิดสมุดไม่ต้องตรัสสั่ง


สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรควรพินิต


จะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไปอีก ที่ว่าทรงส่งเสริมฉันนั้นก็เพราะโปรดในการช่าง ครั้งหนึ่งฉันเล็กๆ มีฝรั่งชาวออสเตรียคนหนึ่ง ชื่อนายไปยา เข้ามาบวชเป็นเณรอยู่ที่สำนักพระมหาเอี่ยมวัดพิชัยญาติ ครั้นสึกออกมาก็มาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นายไปยาคนนั้นเป็นช่างเขียน จึงตรัสสั่งให้เขียนแผนที่ทุกสถาน เล่นเอาฉันอลิ้มอเลี่ยประจบเขาแทบตาย ด้วยอยากได้วิชาของเขา

จะย้อนกล่าวถึงเมื่อบวชเณร ฉันติดพระครูปั้นวัดบวรนิเวศด้วยท่านเป็นช่างเขียน เมื่อสึกออกมาอยู่ในกรมพระคลังข้างที่ ฉันคิดว่าแม่จะไม่ให้ติด จึงเอานายสายมาให้ นายสายนั้นเป็นช่างฝีมือดี เป็นลูกหลวงราชนุจิตร เรียกกันว่าปลัดส่าง แม่เขาเป็นแม่นมลุงมงคล คือ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ทีหลังเรียกกันว่าเจ้ากรมสาย เห็นจะเป็นด้วยเข้าไปเป็นเจ้ากรมช่างสิบหมู่ ทีหลังเป็นพระยาจินดา เจ้ากรมสายนั้นแกก็ดี สู้ติดสอยห้อยตาม

บรรดาช่างที่จะลือว่าดีนั้น ได้คิดเห็นว่าเป็นชอบกลนักหนาเป็นต้นว่าช่างฝีมืออ่อน แม้จะเขียนงูเหมือนกระทั่งเกล็ดและลงสีด้วย แต่ก็ยังแพ้ช่างที่เขาลือ เขียนด้วยถ่านไฟแต่พอเป็นรูป อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ก็เห็นว่าช่างที่มีฝีมืออ่อนนั้นถึงจะเขียนอย่างดีด้วยวิธีใดก็เห็นเป็นงูตายทั้งนั้น ส่วนคนที่เขาแข็ง ถึงจะเขียนด้วยของที่เลวกว่าก็ชนะ เพราะเหตุที่เห็นเหมือนงูเป็นๆ ดูดุจว่าจะเลื้อยไปได้ฉะนั้น จึงเห็นว่าไม่สำคัญในสิ่งที่เขียน สำคัญอยู่ที่การเขียนอย่างไร จึงพิจารณาไปในการที่จะลือชื่อซึ่งเห็นว่า

๑) ช่างคนใดที่ทำแต่การถ่ายถอนแล้วจะลือชื่อไม่ได้ คนที่เขาลือนั้นเปรียบว่าเขากินแบบที่ทำแล้วเข้าไป จนตกออกมาเป็นเหื่อนั่นจึงลือ
๒) เดาน้อยที่สุด คือต้องดูของจริงในบ้านเรา ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลง
๓) ต้องเห็นมากกับทั้งสังเกตจำด้วย จึงจะเป็นเครื่องเรืองปัญญา ถ้าได้เห็นน้อยหรือไม่จำก็ไม่ช่วยตัวได้

เห็นจะมีอีกมากอย่าง แต่เอาเพียงสามอย่างเท่านี้ก็ช่วยตัวได้มากแล้ว


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ทีนี้จะกล่าวถึงทางปี่พาทย์ อันได้กล่าวอ้างไว้แล้วข้างต้นนั้น เมื่อลงมาที่วงปี่พาทย์เมื่อฉันเวรนั้น ไม่ได้เรียนทางปี่พาทย์มิได้ แต่เรียนกลองแขก ส่วนทางปี่พาทย์นั้นยังไม่กระดิกหู เพราะเป็นของละเอียดมาก จนโตแล้วฟังแตรวงทหารเขาเป่าเพลงไทยนำแถวจึงชอบใจจำเขา แม้กระนั้น ก็เป็นแต่ไล่ได้ด้วยปากเท่านั้น แล้วได้ยินเขาเป่าขลุ่ยจึงไปหาขลุ่ยมาคลำนิ้วมัน ก็ทำให้รู้ว่าเขาเป่ากันอย่างไรก็เป่าได้ ทีหลังเด็กคนใช้คนหนึ่งเขาสีซอได้ เขาว่าถ้าเขาสีซอแล้วจะเข้ากันได้ดี แต่เวลานั้นซอเขาก็ไม่ได้เอาไว้ในที่อยู่ จึงให้เขาไปเอามา แล้วก็สีและเป่าเข้ากัน ทีหลังอยากสีซอให้เป็นบ้าง จึงขอเรียนจากเขา เขาก็สอนให้ การสีซอนั้นยากมาก เพราะไม่มีอะไรเป็นกำหนด แม้วางนิ้วต่ำหรือสูงไปเสียงก็เพี้ยนไป อย่าหาแต่ว่าคนป่าๆ อย่างเราเลย ถึงคนที่ตีเครื่องอะไรได้ มาจับซอเข้า เสียงก็เพี้ยน....”

ผู้ที่เล่นดนตรีเป็นนั้น แม้จะไม่จับเครื่องดนตรีบรรเลง แต่เมื่อใดได้ยินผู้อื่นบรรเลง เมื่อนั้นก็อดไม่ได้ที่จะนึกทำนองตามไปด้วย บางทีก็ถึงกับหยุดฟัง ถ้าหากเพลงนั้นเพราะจับใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บวชอยู่ไม่ว่าพระว่าเณร มีสิกขาบทอยู่ข้อหนึ่งคือ นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา อันห้ามดูการขับร้องฟ้อนรำ

เมื่อสมเด็จฯ ทรงผนวชพระในปีพ.ศ. ๒๔๒๗ นั้น ได้ทรงจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศ และเสด็จออกรับบิณฑบาตอย่างภิกษุทั้งหลาย และวันหนึ่งก็ได้ทรงพบกับเหตุการณ์อันหนึ่ง ซึ่งทรงเล่าไว้ในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้าความว่า

“... มีเรื่องเกล้ากระหม่อมบวชซึ่งติดจะขัน จะเก็บมาเล่าถวายอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเกล้ากระหม่อมบวชนั้น ได้ตั้งใจรักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นพระพ้นอาบัติทั้งปวง ความปฏิบัติก็เป็นไปได้สมความปรารถนา แต่มาวันหนึ่งเจ้ากรรมจริงๆ เดินกลับจากบิณฑบาต พอถึงแถวหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ ก็พบคนขอทานตาบอดนั่งร้องเองสีซอเองอยู่ข้างถนน ตามที่ควรเป็นแล้ว ดนตรีของคนขอทานนั้นควรจะไม่น่าฟัง แต่ที่ไหนได้ นี่อะไรมันช่างเพราะดีเสียเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบการเล่นดนตรีที่ไพเราะจับใจเหมือนคราวนั้นเลย เล่นเอาลือสติ หย่อนฝีเท้ากว้าเดินช้าๆ ฟังสำเนียงบรรเลงจนพ้นมาด้วยความเสียใจ โกยเอาอาบัติไปพอแรง ...”


สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างที่เรียกด้วยภาษาชาวบ้านว่า เป็นน้องสองชั้น เพราะนอกจากสมเด็จฯ จะทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระชนนีของสมเด็จฯ คือพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ยังทรงเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนีในสมเด็จพระปิยมหาราชอีกด้วย ความข้อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงยืนยันในพระราชดำรัสพระราชทานพรในงานพระราชทานเลี้ยง เนื่องในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ซึ่งเจ้านายมาประชุมพร้อมกันในเวลาวันนี้ เป็นการมงคลโสกันต์ ซึ่งฉันจะได้กล่าวบัดนี้ จะต้องขอบอกเรื่องการที่จะได้ทำการโสกันต์ใหญ่ในครั้งนี้ (ฤๅจะว่าแต่เป็นโสกันต์อย่างกลางจะถูกกว่า) ก็การที่ได้คิดทำดังนี้ก็เพราะว่าจิตรเจริญเป็นลูกของน้าฉัน ควรนับว่าเป็นน้องอันสนิทขึ้นอีกชั้น ๑ เพราะเหตุดังนั้น”


พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย (หม่อมเจ้าหญิงแฉ่)


แต่ทว่าความเป็นน้องสองชั้น มิได้ทำให้สมเด็จฯ ทรงได้รับอภิสิทธิ์ในพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระปิยมหาราชแต่ประการใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุณธรรมประเสริฐพระองค์นั้น ได้ทรงบรรยายไว้ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระองค์แรก) เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส สยามมงกุฎราชกุมาร ว่า

“... ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง มิได้ยกย่องให้ยศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิด ต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดีก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงรู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่า ปรารถนาจะให้ไปในทางดีเพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปในทางผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มาหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด ...”

สมเด็จฯ ก็ทรงเหมือนกับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นๆ ที่สมเด็จพระปิยมหาราชทรงใช้ทำงานต่างๆตามวัยและความสามารถ สมเด็จฯ เองก็ทรงเล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตรัสมอบหมายให้เป็นหน้าที่เลี้ยงพระฉันเวร ตั้งแต่สมเด็จฯ ยังเล็กๆ อยู่


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร


ราชการที่สมเด็จฯ ทรงทำมาแรก คือเป็นทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงเริ่มแต่คะเด็ดทหารมหาดเล็กซึ่งเท่ากับนักเรียนนายร้อย อยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็ก อีกสิบปีต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชเอเดอแคมป์ (ราชองครักษ์) มียศเท่ากับนายร้อยเอก ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทรงรับราชการทหารจนถึงกับเคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และรักษาการผู้บัญชาการทหารเรือด้วย ทรงมียศทางทหารเป็นพลโท ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และอีกยี่สิบสองปีต่อมา ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับเลื่อนยศเป็นพลเอก เคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรงโยธาธิการเสนาบดีกระทรวงวัง และเสนาบดีกระทรงพระคลังในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย

ตั้งแต่ทรงรับราชการมา ทรงต้องปฏิบัติราชการสองด้าน คือราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ สำหรับประการหลังนี้เป็นราชการในด้านศิลปะ ซึ่งทรงได้รับการยกย่องอย่างสูงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระปิยมหาราชทรงยกย่องไว้ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ว่า

“... ฉันไม่ได้นึกจะยอเลย แต่อดไม่ได้ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้ว ในเรื่องทำดีไซน์เช่นนี้ ...”

และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงไว้ในตอนหนึ่งของคำนำพระราชนิพนธ์เรื่อง ธรรมาธรรมะสงครามว่า

“... ครั้นเมื่อแต่งบทพากย์ขึ้นเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้อ่านให้มิตรสหายบางคนฟัง ก็ต่างชมกันว่าดี และวิงวอนให้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม เมื่อข้าพเจ้าได้ยอมตามคำขอของมิตรสหายแล้ว จึงได้นึกขึ้นว่าถ้าได้มีภพประกอบบทพากย์ด้วย จะชูค่าแห่งหนังสือขึ้น ข้าพเจ้าจึงทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดประดิษฐ์ภาพขึ้นประกอบเรื่อง เพราะเห็นว่าจะหาช่างใดในกรุงสยามที่เข้าใจความมุ่งหมายและความตั้งใจของข้าพเจ้าไม่ได้ดีเท่าเป็นแน่แท้ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเข้าพระทัยความประสงค์ของข้าพเจ้าดีปานใด ภาพทั้งหลายในสมุดนี้ย่อมเป็นพยานปรากฏอยู่เองแล้ว ...”


พระบาทสมเด็จ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระชนนีคือหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า จิตรเจริญ และทรงพระราชนิพนธ์คาถาพระราชทานพระพรประกอบพระนามอีกด้วย

อันคาถาพระราชทานพรนี้ ผู้รู้ทางโหราศาสตร์เคยกล่าวว่า เป็นเสมือนการทรงพยากรณ์ไว้ว่า ชีวิตภายหน้าของพระองค์ผู้ได้รับพระราชทานพระพรจะเป็นอย่างไร สำหรับสมเด็จฯ นั้นคาถาพระราชทานพระพร แปลเป็นความว่า

“... กุมารนี้จงเป็นผู้ได้นามว่า จิตรเจริญ จงไม่มีโรค มีความสุข มีอายุยืนยาว มีอำนาจลำพังตน มั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติ มีอิสริยยศแลบริวาร มีเดชอาจหาญ บริบูรณ์ด้วยกำลัง และเป็นที่รักใคร่ของคนหมู่มาก เป็นที่อันชนทั้งหลายมาสักการะเคารพนับถือ และจงเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้แก่ผู้ใด มีชัยชำนะข้าศึกทั้งหลาย แต่ฐานนั้นๆ ทุกเมื่อเทอญ ...”


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จฯ ทรงมีพระชันษาเพียง ๕ พรรษากับ ๕ เดือน พระเชษฐภคินีพระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว ทรงมีพระชนมายุได้เพียง ๑๑๓ พรรษา ทั้งสองพระองค์เสด็จอยู่กับพระชนนีที่ตำหนัก ในพระบรมมหาราชวัง ฐานะทางครอบครัวไม่ได้มั่งคั่งเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแต่ประการใด ม.จ. หญิงพรรณราย ทรงมีฝีพระหัตถ์ในทางช่าง ก็ทรงทำงานช่างเป็นการหารายได้มาค้ำจุน


สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนขัตติยกัลยา (พระองค์เจ้ากรรณิการ์แก้ว)


ม.จ. ดวงจิตร จิตรพงศ พระธิดาองค์หนึ่งของสมเด็จฯ ทรงเล่าเรื่องเสด็จย่า คือพระชนนีของสมเด็จฯ ไว้ว่า

“... ส่วนเสด็จย่านั้นมีพระนิสัยเป็นช่างละเอียดถี่ถ้วน ทรงชำนาญการทำดอกไม้สด เมื่อมีราชการงานหลวงก็ทีรงรับเกณฑ์งานร้อยพวงดอกไม้แขวนต่างๆ มาทำที่วังอยู่เสมอ ทรงเชี่ยวชาญการปักพุ่มทุกชนิดและพุ่มขี้ผึ้งเป็นอันมาก กล่าวกันว่าพุ่มขี้ผึ้งแบบที่ใช้ตัวขี้ผึ้งติดบนกระดาษรองนี้ เสด็จย่าทรงคิดประดิษฐขึ้น ด้วยพุ่มที่ทำกันแต่ก่อนนั้นใช้ตัวขี้ผึ้งติดบนไม้ระกำเสียบไม้ปักบนแกนดินเหนียว เหมือนพุ่มตาด ต้องใช้ความชำนาญและเสียเวลามาก จึงหาวิธีทำให้ง่ายขึ้น ได้ทรงทำมาชำนาญตั้งแต่เสด็จอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาในรัชกาลนั้นสิ้นที่พึ่ง ต้องคิดอ่านหาลำไพ่เลี้ยงตัวกันแทบทุกคน เสด็จย่าก็มิได้เว้น ทรงทำพุ่มขี้ผึ้งขาย ตั้งแต่ขนาดใหญ่ใช้ตะลุ่มรองจนเล็กเท่าหมากดิบ ขนาดเล็กนั้นติดตัวขี้ผึ้งเท่าเมล็ดข้าวเปลือก มีตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่รอง มีไม้ชำระ ไม้สีฟัน ไม้ขุดลิ้น ครบชุด ขายได้แพงมากถึงชุดละเฟื้อง ทั้งทรงทำถวายขายใช้ในราชการของหลวงด้วย ...”

เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น เจ้าจอมมารดาต่างๆ ไม่เพียงแต่ถูกเรียกคืนเครื่องยศเท่านั้น แต่ยังถูกลดประโยชน์ที่เคยได้รับพระราชทานลงกว่าครึ่งค่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสารเจ้านายพี่น้องกับเจ้าจอมมารดาที่ต้องลำบากยากจน จึงตรัสขอให้รัฐบาลจ่ายเงินกลางปีแก่พระเจ้าพี่น้องเธอ พระองค์ชายปีละ ๒,๔๐๐ บาท พระองค์หญิงปีละ ๑,๖๐๐ บาทตั้งแต่นั้นมา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรฯ ทรงเป็นที่เคารพยกย่องในด้านงานศิลปะ แม้การใช้สีแต่งหน้า ทรงอธิบายได้อย่างชัดเจนและถูกหลักเกณฑ์ เพราะทรงชำนาญจากการปฏิบัติ คือการแต่งหน้าละคร พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านศิลปะนั้น นอกจากจะค้นหาดูจากหนังสือพระประวัติและฝีพระหัตถ์ ซึ่งพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง และหนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ซึ่ง ม.จ.หญิง ดวงจิตร จิตรพงศ พระธิดาทรงนิพนธ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.โต จิตรพงศ ชายาแล้ว จะค้นหาได้จากพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” อันเป็นลายพระหัตถ์ ทรงโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และลายพระหัตถ์ถึงบุคคลต่างๆ อีกมากมาย

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯ ทรงได้รับตำแหน่งองค์อภิรัฐมนตรี อันเป็นเสมือนคณะที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเปลี่ยนการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น สมเด็จฯ เสด็จอยู่ในพระนคร จึงถูกเชิญพระองค์ไปอารักขาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมด้วยพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ ซึ่งเสด็จอยู่ในพระนครในเวลานั้น

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง ม.จ. หญิง อัปภัศราภา เทวกุล (ท่านหญิงแก้ว) พระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมเด็จฯ ทั้งสองพระองค์พระราชทานยังท่านหญิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นเสด็จอยู่ตางประเทศว่า

“เสด็จพ่อและแม่ของเธอ เสด็จพ่อนั้นเขาเอาไปขังประกันไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรฯ หน้าต่างก็ไม่ได้เปิด เปิดเฉพาะแต่ประตู มีลูกไปอยู่ด้วยองค์ละคน คอยผลัดกันนั่งพัดไปตลอดกลางวันกลางคืน ....”


สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


ในด้านส่วนพระองค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรฯ ทรงมีหม่อมห้าม ๒๓ ท่าน แต่ไม่ใช่พร้อมกันในเวลาเดียว ในขณะที่พระเชษฐาและพระอนุชาร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถ ต่างมีพระชายาและหม่อมห้ามพระองค์ละหลายๆ ท่าน แต่สมเด็จฯ ทรงมีเพียงครั้งละท่าน

ในหนังสือราชินิกุลรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้กล่าวถึงหม่อมห้ามของสมเด็จฯ ไว้ดังนี้

“ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระองค์เจ้าจิตรเจริญ) อ. ชั้น ๗ (พระราชโอรสในพระองค์พรรณราย) มีนางห้ามที่เป็นหม่อมมารดามีพระโอรสและธิดารวม ๓ คน ต่างสกุล

๑) หม่อมราชวงศ์ปลื้ม (ธิดาพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์) มีพระธิดา ๑ อง๕ คือ ญ. นามว่า หม่อมเจ้าปลื้มจิตร
บุรพชนของหม่อมราชวงศ์ปลื้ม ทางบิดามาแต่พระบรมราชวงศ์จักรีกับราชินิกูลรัชกาลที่ ๒ และราชินิกูลรัชกาลที่ ๓ ถึงชั้นกรมมาตยาพิทักษ์ มีนางห้ามหลายคน จักกล่าวในที่นี้แต่คนเดียว คือหม่อมน้อย ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) มีพระโอรสธิดา ๒ อง๕ องค์พี่เป็นพระธิดาทรงพระนามว่า “หม่อมเจ้าสารพัดเพชร” พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์มีนางห้ามและบุตรธิดามาก นางห้ามคน ๑ มีธิดา ๑ คือหม่อมราชวงศ์ปลื้มผู้เป็นนางห้ามสะใภ้หลวง และเป็นชายาของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทั้ง ๒ นี้เป็นพระบิดาและหม่อมมารดาของหม่อมเจ้าปลื้มจิตรนั้น

๒) หม่อมมาลัย (ธิดาเสมียนตรา (เผือก)) มีพระโอรส ๑ องค์ ซึ่งเป็นพระโอรสองค์แรกสืบพระวงศ์ คือ ช. นามว่า “หม่อมเจ้าเจริญใจ”
บุรพชนของหม่อมมาลัยมาแต่พระสัมภาหะบดี เป็นบิดานายเผือกเสมียนตราฝ่ายพระราชวังบวร เป็นบิดาหม่อมมาลัย ต่อมาบิดาหม่อมมาลัย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสาครสมบัติ

๓) หม่อมราชวงศ์โต (ธิดาหม่อมเจ้าแดง ในพระองค์เจ้างอนรถ) มีพระโอรสและธิดา ๔ องค์ คือ
ที่ ๑ ญ. นามว่า “หม่อมเจ้าประโลมจิตร”
ที่ ๒ ญ. นามว่า “หม่อมเจ้าดวงจิตร”
ที่ ๓ ช. นามว่า “หม่อมเจ้ายาใจ”
ที่ ๔ ช. นามว่า “ยังไม่มีนาม สมญาว่างั่ว”

(หมายเหตุ เมื่อสมเด็จวังบูรพาฯ ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้เสร็จ ในวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ม.จ.หญิง กรณิกา พระองค์เล็กยังไม่ประสูติ – ลาวัณย์ โชตามระ)

พระโอรสธิดาทุกองค์ของสมเด็จฯ ทรงมีชื่อเรียกเล่นๆ (Nick-Name) เป็นจำนวนนับของไทยทั้งนั้น เริ่มแต่ ม.จ. หญิงปลื้มจิตร พระธิดาองค์แรก ทรงมีนามว่า เอื้อย พระโอรสองค์แรกที่สิ้นชีพิตักษัยในวันประสูติ มีนามว่าอ้าย องค์ต่อมาเป็นชายทรงมีชื่อว่ายี่ องค์ชายถัดมาก็ สาม ไส และงั่ว (แปลว่าห้า) คือม.จ. เพลารถ ส่วนพระธิดาก็มีท่านหญิงอี่ ท่านหญิงอามแปลว่าสาม และท่านหญิงไอ คือม.จ.หญิงกรณิกา ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ ๔

พระธิดาองค์หนึ่งซึ่งทรงเสมือนเลานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ คือ ม.จ. ดวงจิตร ซึ่งคนทั้งหลายระบุถึงว่าท่านหญิงอาม ทรงเป็นพระธิดาที่ใกล้ชิดกับสมเด็จฯ ในด้านงานส่วนพระองค์กว่าโอรสธิดาองค์อื่นๆ ผู้ที่ต้องการจะทราบเรื่องราวต่างๆ ของสมเด็จฯ ก็จะไปเฝ้าและทูลถามจากท่านหญิงอาม นอกจากนั้นท่านหญิงอามยังทรงเป็นผู้ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า หนังสือดี หนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้น และพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ หม่อมมารดา จะเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความข้อนี้ รวมทั้งความรู้ความรอบรู้ของท่านหญิงอีกด้วย

หนังสือเรื่อง “พระประวัติและฝีพระหัตถ์” ซึ่งพิมพ์ในงานพระเมรุของสมเด็จฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็เป็นงานนิพนธ์ของท่านหญิงอามเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง

หม่อมห้ามท่านสุดท้ายของสมเด็จฯ คือ ม.ร.ว.โต ผู้เป็นแบบอย่างกุลสตรีไทยสมัยเก่า คือเป็นแม่เหย้าแม่เรือน เก่งการฝีมือและสมเป็นคู่บารมีปราชญ์ เพราะมีความรอบรู้ เชื่อเมื่อคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ประทานหม้อน้ำมนต์แก่สมเด็จฯ และสมเด็จฯ ทรงทักว่าหม้อน้ำนั้นไม่มีฝา ม.ร.ว.โต ก็ทูลว่าหม้อน้ำสุวรรณสามก็ไม่มีฝา ใช้ใบบัวปิด


ม.ร.ว.โต จิตรพงศ (คู่พระบารมีนายช่างใหญ่)


ในหนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ท่านหญิงอามได้ทรงเล่าว่า เมื่อสมเด็จฯ ทรงเลี้ยงอาหารแก่ชาวต่างประเทศที่เป็นนักโบราณคดี มาจากอินโดจีน ม.ร.ว.โต ก็เอามันเทศมาแกะสลักเป็นรูปปราสาทหินบายนเป็นเครื่องตั้งกลางโต๊ะอาหาร เมื่อถึงเทศกาลวันเดือนเดือนสิบสอง ม.ร.ว.โต ก็ชักชวนคนในบ้านให้ทำแพ ทำกระทงลอบประกวดกัน ผู้ที่สนใจอยากทราบเรื่องต่างๆ ของ ม.ร.ว. โต ผู้เป็นชายาคู่บารมีของสมเด็จฯ จะหาอ่านได้จากหนังสือเรื่องตาลปัตร ซึ่งท่านหญิงอามเป็นผู้นิพนธ์ขึ้น ได้ทรงเล่าประวัติของ ม.ร.ว.โต ซึ่งโอรสธิดาทุกองค์ตรัสเรียกและระบุถึงว่าแม่ไว้โดยละเอียดที่สุด

งานด้านช่างของสมเด็จฯ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรมนั้น ผู้ที่ได้เห็นจะต้องออกปากว่า “มีชีวิตชีวา” ซึ่งสมเด็จฯ ตรัสเรียกว่ากระดิกได้ สมเด็จฯ เองก็ได้ทรงเล่าไว้ว่า
“... เดาน้อยที่สุด คือต้องดูของจริงในบ้านเรา ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลง ...”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะทรงเขียนรูปวัวเป็นลายปักงานศพเจ้าจอมมารดาหรุ่น จึงทรงเช่าวัวของแขกมายืนเป็นแบบอยู่หลายวัน และเมื่อจะทรงเขียนรูปหมี ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตรในเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม ก็เสด็จไปทอดพระเนตรตัวหมีจริงๆ ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตร ที่บ้านคุณพระศัลยเวทวิศิษฐ์ (สาย คชเสนี)

ถ้าจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์แล้ว หนังสือหนาขนาดร้อยยกก็ไม่พอเป็นแน่แท้




คัดจาก ย้อนรอยราชตระกูล ของลาวัณย์ โชตามระ




Create Date : 21 ธันวาคม 2551
Last Update : 23 ธันวาคม 2551 17:09:59 น.
Counter : 15257 Pageviews.

9 comments
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)
  
สวัสดีคะ ดีใจจังที่คุณกัมม์อัพบล็อกแล้ว สาวยังคิดถึงเสมอ หวังว่าคงสบายดีนะคะ
โดย: sawkitty วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:11:24:58 น.
  
เป็น blog ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์น่าสนใจมากค่ะ ว่างๆ จะเข้ามาอ่านให้ครบทุกเรื่องเลยค่ะ
โดย: MademoiselleTancy วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:13:17:45 น.
  
ได้ความรู้ดีมากๆเลยค่ะ
โดย: Yolanrita วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:13:56:30 น.
  
ขอ add ไว้กลับมาอ่านเรื่องน่ารู้อีกรอบนะคะ
โดย: นัทธ์ วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:20:18:27 น.
  
สวัสดีครับ คุณ สาว
คิดถึงเช่นกันครับ รักษาสุขภาพด้วยนะครับ อากาศหนาววววว

สวัสดีครับ คุณ MademoiselleTancy
สวัสดีครับ คุณ Yolanrita
สวัสดีครับ คุณ นัทธ์

เป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับเพื่อนๆ ทุกคนครับ
เป็นเกียรติที่ได้ทำประโยชน์อะไรบ้าง
เป็นเกียรติที่ได้เผยแพร่พระประวัติและงานของคุณ ลาวัณย์

กุศลใดที่เกิดขึ้นแม้จะเล็กน้อย ขอถวายเป็นพระกุศลในสมเด็จบรมครูนายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์
โดย: กัมม์ (กัมม์ ) วันที่: 23 ธันวาคม 2551 เวลา:6:33:29 น.
  
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่มีคุค่าณมากค่ะ
โดย: ดอกสารภี IP: 117.47.151.76 วันที่: 23 ธันวาคม 2551 เวลา:23:07:50 น.
  
ชอบเรื่องราวแบบนี้มากๆค่ะ ขอบคุณบล๊อกนี้นะคะ
โดย: kamaron วันที่: 1 มีนาคม 2552 เวลา:1:56:23 น.
  
น่าอ่านมากเลย ขอบคุณนะครับ
โดย: ชญานิน IP: 58.64.92.63 วันที่: 23 สิงหาคม 2552 เวลา:8:08:02 น.
  


เป็น blog ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์น่าสนใจมากค่ะ ว่างๆ จะเข้ามาอ่านให้ครบทุกเรื่องเลย
โดย: มม IP: 182.53.78.204 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:19:17:30 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด