กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ![]() กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ............................................................................................................................................... กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณจอมมารดาเอมเป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๒ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเสด็จดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงศึกษาวิชาการอย่างฝรั่ง เป็นเหตุให้ทรงชอบพอกับพวกมิชชั่นนารีอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้มาสอนภาษาและวิชาอย่างฝรั่งให้แก่ไทยในสมัยนั้น จึงประทานพระนามว่า ยอชวอชิงตัน ตามนามประธานาธิบดีคนแรกของสหปาลีรัฐอเมริกา ข้างฝ่ายไทยจึงเรียกพระนามว่า หม่อมเจ้ายอด ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยุรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร ต่อมาพระราชทานพระสุพรรณบัฏ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ได้ทรงศึกษาเป็นอย่างดีสำหรับราชสกุลในสมัยนั้น เหตุด้วยเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนิตย์มาแต่รัชกาลที่ ๓ พระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอย่างใด เช่นการฝึกหัดทหารย่างฝรั่งการช้างจักรกลและการต่อเรือรบ ซึ่งได้ทรงมีหน้าที่มาแต่รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงใช้สอยฝึกหัดกรมหมื่นบวรวิชัยชาญมายิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น อักขรวิธีภาษาไทยได้ทรงศึกษาแตกฉาน ถึงสามารถแต่งกาพย์และฉันท์ได้เป็นอย่างดี มีปรากฏอยู่หลายเรื่อง ภาษาอังกฤษก็ได้ทรงศึกษาถึงสามารถอ่านตำราภาษาอังกฤษเข้าพระทัยได้ดี วิชาขี่ช้างขี่ม้าและมวยปล้ำ ตลอดจนนาฏกรรมบางอย่างก็ได้ทรงฝึกหัด นอกจากนี้ยังมีวิชาเบ็ดเตล็ดในกระบวนช่างอีก เป็นต้นว่า ช่างเคลือบและช่างหุ่น กล่าวกันว่าวิชาช่างที่ได้มาจากฝรั่งก็ทรงสันทัดอีกหลายอย่าง เมื่อบวรราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กรมหมื่นบวรวิชัยชาญยังไม่ได้โสกันต์ ด้วยเมื่อเวลาพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงประชวรหนักจึงต้องงดงาน ต่อเสร็จการพระบรมศพแล้ว จึงได้โสกันต์ในพระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงจดกรรไกรพระราชทาน ต่อมาอีกปีหนึ่งจึงทรงผนวชเป็นสามเณร มีงานสมโภชที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แล้วแห่มาทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายไว้ในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ต่อมาเมื่อทรงผนวชพระเสด็จประทับอยู่วัดบวรนิเวศ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงรับใช้ใกล้ชิดติดพระองค์ และรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั่วไปทุกอย่าง เวลาเสด็จไปไหนก็ตามเสด็จด้วย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงซื้อบ้านของพวกข้าราชการวังหน้า แต่ก่อนตอนริมคลองคูเมื่อเดิมข้างฝั่งเหนือตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ไป จนต่อเขตวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (ตรงที่ตั้งโรงพยาบาลทหารบกบัดนี้) สร้างวังพระราชทาน และพระราชทานตึกตรงหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นที่สำนักอีกแห่ง ๑ ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทรงบังคับบัญชากรมทหารเรืองฝ่ายพระบวรราชวัง กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้เสด็จมารับราชรวมกันกับเจ้านายวงหลวงชั่วเวลา ๓ ปี ก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ เจ้านายผู้ใหญ่ท่านตรัสเล่าว่า กรมหมื่นบวรวิชัยชาญนั้น พระอัธยาศัยสุภาพ โดยปรกติมักถ่อมพระองค์ เมื่อมาสมทบกับเจ้านายวังหลวง ก็พอพระหฤทัยที่จะสมาคมคบหาแต่เพียงชั้นหม่อมเจ้าที่เป็นพระโอรสผู้ใหญ่ในเจ้าต่างกรม วางพระอัธยาศัยเป็นกันเองอย่างสนิทสนม กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้พระราชทานอุปราชาภิเษกเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระชันษาได้ ๓๑ ปี เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับอุปราชาภิเษกนั้น ราชมนเทียรและสถานที่ต่างๆ ในวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงซ่อมแซมสร้างไว้ยังบริบูรณ์ดี มีสิ่งสำคัญซึ่งปรากฏว่าทรงสร้างใหม่แต่ที่วังซึ่งเสด็จอยู่แต่ก่อน (ตรงที่โรงพยาบาลทหารบกทุกวันนี้) รื้อสร้างใหม่ทั้งวังทำเป็นตึกอย่างฝรั่ง มีเขื่อนเพชรรอบวัง และทางฉนวน มีสะพานข้ามคลองเข้ามาถึงพระราชวังบวรฯ แต่การค้างมาหาได้เสด็จไปประทับไม่ ส่วนที่พระราชวังบวรฯ เป็นแต่สร้างพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น ทรงขนานนามว่า พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญโปรดในการช่างต่างๆ มาแต่เดิม ทรงตั้งโรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ทรงประดิษฐ์คิดทำขึ้นล้วนเป็นฝีมืออย่างประฯต จะหาเสมอได้โดยยาก แต่โรงงานการช่างในครั้งนั้น ใช้แก้ไขสถานที่ซึ่งมีมาแล้วแต่เดิมโดยมาก ปลูกสร้างใหม่ก็แต่ของเล็กน้อย มาในตอนหลังทรงหัดงิ้วขึ้นโรงหนึ่ง ก็ใช้สถานที่เดิมให้เป็นที่พวกงิ้วอาศัย ส่วนการภายนอกพระราชฐาน มีการสำคัญที่ได้ทรงบัญชาซ่อมทำต่อของเก่าให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ก็มาก เช่นป้อมผีเสื้อสมุทรและป้อมเสือซ่อนเล็บที่เมืองสมุทรปราการ นอกจากนั้นยังมีการซ่อมพระอารามที่ชำรุด และค้างมาอีกหลายพระอารามคือ วัดส้มเกลี้ยง วัดดาวดึงส์ วัดชนะสงคราม และวัดหงส์รัตนาราม กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๗ ปี ประชวรพระโรควักกะพิการ เสด็จทิวงคตที่พระที่นั่งบวรบริวัตร เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา ราชสกุลในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ |
บทความทั้งหมด
|