ลองใช้ "สัญลักษณ์" ในเรื่องกันเถอะ เขียนห้องเรียนนิยายมาเป็นสิบปี จำได้ว่าน่าจะเคยเขียนเรื่อง "สัญลักษณ์" ไปแล้ว แต่ซี้ซั้วไปไว้ไหนก็ไม่รู้ หาไม่เจอ เลยคิดว่าเขียนใหม่ก็แล้วกัน "สัญลักษณ์" คือ สิ่งซึ่งใช้แทนความหมายของอีกสิ่งหนึ่ง คิดว่านักเขียนหลายคนคงรู้จักอยู่แล้วล่ะค่ะ แต่น่าแปลกมากที่รู้สึกว่าคนไทยใช้สัญลักษณ์ในผลงานของตัวเองน้อยมากทั้งๆ ที่ส่วนตัวมองว่าเป็นเทคนิคระดับกลางไปจนถึงพื้นฐานด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่าอยากให้กำลังใจคนเขียนให้ลองใช้เทคนิคนี้ดูบ้าง จะช่วยให้งานของตัวเองดูมี "ลูกเล่น" มากขึ้นกว่าเดิมบ้าง ขอยกเรื่องราวแบบนี้มาประกอบคำอธิบายสักหน่อย ชายหญิงคู่หนึ่งตกลงคบกัน ผู้ชายรักต้นไม้ต้นหนึ่งมากประคบประหงมดูแลอย่างดี ผู้หญิงไม่ได้คิดอะไรมากจนกระทั่งวันหนึ่งมารู้ว่ามันเป็นต้นไม้ที่แฟนเก่าเคยให้ไว้ พวกเขาเคยเกือบจะได้แต่งงานแล้วแต่ฝ่ายหญิงก็มาเสียชีวิตไปแล้ว เหลือไว้แต่ต้นไม้นี้ไว้ดูต่างหน้าเท่านั้น ผู้หญิงซึ่งเป็นแฟนคนปัจจุบันรู้สึกต้นไม้นั้นเป็นเสี้ยนหนามตำใจมาก บางครั้งถึงขั้นทะเลาะกับผู้ชายที่คอยดูแล หวงต้นไม้ต้นนั้นมากจนถึงขั้นที่ผู้หญิงอยากทำลายต้นไม้นั้นให้ย่อยยับไปเลย และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองคนระหองระแหงจนถึงขั้นเลิกกันไป ตัวผู้หญิงก็ไปร้องไห้ร้องห่มกับเพื่อน เลยโดนเพื่อนเอามือสะกิดศีรษะเบาๆ ทำให้หน้าทิ่มเล็กๆ (แปลว่าโดนตบหัวนั่นแหละ) แล้วด่าทันทีว่า "กับแค่ต้นไม้ แกจะไปให้ความสำคัญอะไรมากมาย" "แต่ต้นไม้นั่นมันของแฟนเก่าเขา" "แล้วแกไปให้ค่ากับต้นไม้นั้นว่าเป็นของแฟนเก่าทำไมล่ะ ต้นไม้ก็คือต้นไม้ ต้นไม้นั่นใช่แฟนเก่าเขาหรือเปล่า...ก็เปล่า แล้วแฟนเก่าเขามีชีวิตอยู่ไหม...ก็เปล่าอีก สรุปแกทะเลาะกับเขาทำไมน่ะ" ... จบที่เท่านี้ก่อน ผู้หญิงจะกลับไปขอคืนดีหรือเปล่าก็ช่างนางไปเถอะ แต่ที่หยิบมาให้เห็นเลยว่า ที่จริงแล้ว ต้นไม้ก็คือต้นไม้เนอะ มันขึ้นอยู่กับคนให้ค่ามันว่าเป็นอะไร อย่างผู้หญิงคนนี้ ไม่ได้มองว่าต้นไม้คือต้นไม้ แต่มันใช้แทนแฟนเก่าของผู้ชายคนนี้ ประเด็นไม่ได้แค่จะยกตัวอย่างว่าต้นไม้นี้คือสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตั้งใจจะบอกว่าเวลาที่คนเขียนสร้างสัญลักษณ์ใดๆ ขึ้นมาในเนื้อเรื่อง คนเขียนควรต้องให้ความหมายแก่สัญลักษณ์นั้นๆ ด้วย หากว่าทำให้คนอ่านรู้ได้ว่าต้นไม้นั้นคือแฟนเก่าก็นับโอเค แต่ถ้าทำให้คนอ่านไม่คิดว่าเป็นแฟนเก่า คิดว่ามันก็คือต้นไม้ต้นหนึ่งเท่านั้น อันนี้ออกแนวแป้ก แล้วต้นไม้นั้นจะกลายเป็นส่วนเกินในสายตาคนอ่านขึ้นมาทันทีว่าจะใส่เข้ามาทำไม สัญลักษณ์จึงเป็นดาบสองคมด้วยเหมือนกันในกรณีที่คนเขียนใช้แล้วแต่ดันไม่โดนคนอ่านเข้า คนอ่านอาจจะเขวี้ยงสัญลักษณ์นั้นใส่ศีรษะคนเขียนแทนโทษฐานที่ใส่มาแบบสิ้นเปลืองพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าใช้มันได้ถูกที่ถูกทาง นับว่าส่งผลให้กับเรื่องได้อย่างมากเลยนะคะ คือ หนึ่งในวิธีที่พวกคนเขียนชอบใช้กันก็คือ ให้ "แสดง" ให้คนอ่านเห็นไม่ใช่ "บอก" คนอ่าน เอาคำพูดยัดใส่ปากพระเอกให้พูดว่า "ชั้นร้ากกกเธอ" ให้ก้องโลก คนอ่านรับรู้ด้วยคำพูดว่า เออ พระเอกรักนางเอก แต่อาจไม่ซาบซึ้งเท่ากับเวลาที่พระเอกไม่เคยพูดอะไรเลยแต่คอยเอาใจใส่นางเอก คนอ่านไม่ได้รับรู้ด้วยคำพูดแต่รับรู้ด้วยใจว่าพระเอกรักนางเอกจริงๆ นะ ฉันใดฉันนั้น สัญลักษณ์ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่คนเขียนไม่ต้องใส่อะไรโต้งๆ ลงไปในเนื้อหา แต่สามารถใช้สัญลักษณ์แสดงให้เห็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะบอกได้เลย นอกจากนี้ ข้อดีอีกอย่างคือ สัญลักษณ์ เป็นตัวช่วยที่ดีในเรื่องของการตีความ บางครั้งประเด็นบางประเด็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสามารถคิดได้หลากหลายแนวทาง แต่ถ้าคนเขียนใส่ความคิดของตัวเองเข้าไป คนอ่านอาจจะไม่อินเพราะคนละประสบการณ์ หรือคนอ่านอาจมีความคิดแตกต่าง ทว่าคนเขียนปิดกั้นคนอ่านไปแล้วเพราะเมื่อไรที่คนเขียนบอกแบบนี้ ก็เหมือนลงประกาศิตไปเรียบร้อยว่าจะต้องเป็นแนวทางนี้เท่านั้น แต่ถ้าเลือกที่จะใช้สัญลักษณ์เป็นตัวแทน ก็เหมือนปลายเปิดให้คนอ่านจะสามารถตีความตามความคิดและประสบการณ์ของตนเองได้ บางครั้งอาจจะคนละอย่างกับที่คนเขียนตั้งใจ แต่มันก็สามารถเปิดมุมมองใหม่ให้กับงานเขียนแก่คนเขียนและคนอ่านได้เหมือนกัน อย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่งถูกขังลืมในคุกเพราะถูกเข้าใจผิดมาตั้งแต่เด็ก ผู้คุมเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปหลายคนแล้ว จนกระทั่งคนสุดท้ายเห็นใจเขา จึงนำลูกนกในกรงมาให้ดูแลเป็นเวลาเกือบสิบปี จนกระทั่งเขาอายุ 99 ปี สภาพร่างกายเขาเริ่มทนทานไม่ได้ จึงตัดสินใจปล่อยนกตัวนี้ให้เป็นอิสระ ให้มันออกจากกรงไป หลังจากนั้นไม่นานชายคนนี้ก็ถึงแก่กรรม ถูกฝังอยู่ในสุสานไร้ชื่อ และไม่นานนัก นกตัวที่เขาเคยปล่อยก็บินสะโหลสะเหลสภาพปางตายจากการถูกล่าก็มาสิ้นใจบนหลุมศพของชายคนนี้ด้วยเช่นกัน คิดว่าจะตีความเรื่องนี้ว่าอย่างไรดี? เป็นไปได้ว่าถ้าชายที่ถูกขังมาทั้งชีวิตคนนี้ได้รับอิสรภาพเขาคงมีชะตากรรมเหมือนนกตัวนี้ หรือเป็นไปได้ที่จะตีความว่าอิสรภาพแท้จริงนั้นอาจไม่มี สุดท้ายก็เป็นคำสาปหนึ่งที่มีไว้ทำร้ายมนุษย์ หรือสิ่งที่กักขังคนเราไว้ไม่ใช่กรงแต่เป็นความผูกพันเพราะสุดท้ายนกตัวนี้ก็ยอมกลับมาตายร่วมกับคนที่เคยเลี้ยงมา และอีกสารพัดสารเพที่จะสามารถตีความได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนอ่านเองว่ามองเรื่องนี้ในมุมไหน ซึ่งคนเขียนอาจอยากบอกคนอ่านเรื่องหนึ่ง แต่คนอ่านตีความไปในทางอื่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร อย่างที่บอกไปว่ากลับกันมันสามารถตีความไปได้หลากหลาย ตามประสบการณ์ ตามอายุ งานดีๆ หลายงานจะสามารถสร้างสัญลักษณ์ประเภทนี้อย่างละเอียดอ่อนให้คนอ่าน ทำให้คนสามารถอ่านได้หลากหลายประสบการณ์ หลากเพศ หลายอายุ จึงอ่านได้เรื่อยๆ อ่านวัยหนึ่งได้แบบหนึ่ง อ่านอีกวัยหนึ่งก็ได้อีกแบบหนึ่ง สิ่งนี้คือหนึ่งในความเทพที่หากคนเขียนใช้สัญลักษณ์เป็น จะทำให้เรื่องของตัวเองดูน่าค้นหามากขึ้น เกริ่นมายาวนานมากแล้ว ขอเข้าเรื่องล่ะนะ (ฮะ เพิ่งเข้าเรื่องเหรอ!) สัญลักษณ์หลักๆ แบ่งเป็นสองอย่าง 1.) สัญลักษณ์ที่มีความหมายสากล กับ 2.) สัญลักษณ์เฉพาะกิจ คือ ถูกสร้างขึ้นมาใช้เพื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น อย่างแรกที่มีความหมายแบบสากล อย่างเช่น นกพิราบเป็นตัวแทนของสันติภาพ ดอกกุหลาบเป็นตัวแทนของความรัก เป็นต้น ส่วนมากเท่าที่เคยเจอเรื่องที่ใช้สัญลักษณ์เหล่านี้มักจะเป็นเรื่องสั้น คือ ไม่ได้มีเนื้อที่มากมายจะมาบิ้วท์ความสำคัญของสัญลักษณ์แบบเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือไม่ก็ใช้ในบทกลอน คือ เป็นของสำเร็จรูปมาเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมากก็หยิบมาใช้ได้เลย นอกจากนี้อาจถูกใช้ในรูปแบบของชื่อตัวละคร หรือชื่อสถานที่เพื่อสร้างให้ตัวละครนั้นเป็นตัวแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย และเป็นสัญลักษณ์แบบหนึ่งด้วยก็ได้ ตัวอย่างก็ยกไปแล้วข้างบน เรื่องชายถูกขังคุกกับนกในกรง ซึ่ง "นก" ในที่นี้อาจจะหมายความถึง "อิสรภาพ" อยู่ในตัวอยู่แล้ว จึงเป็นสัญลักษณ์สำเร็จรูปที่แค่ฉีกซองก็ใช้ได้เลย แต่ขึ้นอยู่กับลูกเล่นของคนเขียนเองแล้วว่าจะตกแต่งสัญลักษณ์ที่ว่านี้ในรูปแบบไหนดี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสารที่คนเขียนต้องการสื่อ หากสัญลักษณ์สากลสามารถใช้แทนความคิดของคนเขียนได้ตรงใจ ก็หยิบขึ้นมาใช้ได้เลยแบบไม่ต้องกลัวว่าจะไปซ้ำกับคนเขียนคนนั้นคนนี้ คือ มันก็ต้องซ้ำอยู่แล้วล่ะเพราะเมื่อไรที่เห็นสัญลักษณ์สากลเหล่านี้ มันมีความหมายค่อนข้างตายตัว สิ่งสำคัญกว่าการใช้ซ้ำ คือ บริบทว่าทำไมถึงหยิบสัญลักษณ์นี้มาใช้ ไม่ใช่ตัวของสัญลักษณ์เอง (สัญลักษณ์ไม่ใช่อาหารจานหลัก เป็นเพียงน้ำจิ้ม เป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่ทำให้อาวุธหลักที่มีทรงพลังมากขึ้นเท่านั้น) อย่างที่สอง สัญลักษณ์เฉพาะกิจ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าถูกสร้างขึ้นมาใช้เพื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น พอเอาไปใช้ในเรื่องอื่นก็อาจจะไม่ได้มีความหมายเหมือนเดิม ตัวอย่าง (ที่ตัวเองชอบใช้) เช่น พระเอกชอบผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วก็ซื้อสร้อยเป็นของขวัญวันเกิด แต่สุดท้ายก็ได้แต่เก็บไว้เองเพราะผู้หญิงเขาไม่รับ แถมอกหักอีกต่างหาก กาลเวลาผ่านไป พระเอกได้พบนางเอก แล้วสุดท้ายก็ตกลงคบหากัน นางเอกรู้ว่าพระเอกเคยชอบผู้หญิงคนนั้นก็เลยหวั่นใจมาตลอด สุดท้ายพระเอกก็โยนสร้อยเส้นนั้นทิ้งไปต่อหน้าต่อตานางเอกแล้วก็จับมือนางเอกให้เดินไปด้วยกัน "สร้อย" เส้นนี้แทนอะไร? เรื่องทั้งหมดนี้ พระเอกไม่ได้พูดสักคำว่าตัวเองไม่ได้รักผู้หญิงคนนั้นแล้ว เขาเพียงแค่โยนสร้อยเส้นนั้นทิ้งไปเท่านั้นเอง แต่คนอ่านก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าพระเอกตัดใจจากผู้หญิงคนนั้นได้แล้ว ไม่ได้รักอีกแล้ว ไม่จำเป็นที่พระเอกต้องมานั่งพูดพร่ำอะไรกับนางเอกแม้แต่นิดเดียว แต่หากเราหยิบสร้อยเส้นนี้ไปไว้เรื่องอื่น ให้พระเอกเรื่องนั้นเขวี้ยงทิ้งบ้าง คนอ่านเรื่องนั้นคงงงว่าอิสร้อยเส้นนี้ท่านได้แต่ใดมา แล้วเขวี้ยงมันทิ้งไปทำแป๊ะอะไร สร้อยนี้จึงเป็นสัญลักษณ์เฉพาะกิจของเรื่องแรกเท่านั้น มันไม่เหมือนกันสัญลักษณ์สากลที่ไม่ว่าเอาไปไว้เรื่องไหน คนอ่านจะรู้ว่ามันใช้เป็นตัวแทนของสิ่งใด ทีนี้เท่าที่เคยเห็นการใช้สัญลักษณ์มา ส่วนมากมักจะใช้ใน "สาร" สำคัญของเรื่องแต่ละเรื่อง อาจจะเกี่ยวพันกับแก่นเรื่อง หรือไม่ได้เกี่ยวพันแต่ก็ควรเป็นสารเด่นพอ แล้วในเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้ใช้สัญลักษณ์พร่ำเพรื่อเป็นสิบๆ อย่าง หมูหมากาไก่ก็ใช้เป็นสัญลักษณ์หมด แบบนี้ก็ไม่ใช่ มันจะทำให้สิ่งที่ควรโดดกระเด้งเข้าสายตาคนอ่านกลืนไปกับสายลมและแสงแดดเปล่าๆ สัญลักษณ์นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในแง่การสื่อ "สาร" บางอย่างจากผู้เขียนสู่ผู้อ่าน ใช้ในนิยายรวมทั้งบทละครอย่างพวกซีรี่ส์เกาหลี จีน ไต้หวันแบบมหาศาล (และหนังสือตะวันตกอย่างเยอะ) แต่ส่วนตัวไม่ค่อยเจอในนิยายไทยรุ่นใหม่ๆ สักเท่าไรนะคะ ก็เลยเขียนบทความนี้ให้เป็นไอเดียเผื่อใครอยากลองใช้ดูค่ะ |
บทความทั้งหมด
|