ส่วนหนึ่งของพล็อตที่มีเกลื่อนตลาด เท่าที่เห็นหนังสือทั่วไปแล้ว จะมีไอเดียเหมือนๆกัน โดยมากเราจะรับเอามาจากพวกภาพยนตร์ กับหนังสือโดยที่เรารับอิทธิพลนี้มาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อเรามี ไอเดียเดียวกัน ต่อให้เปลี่ยนรายละเอียดของพล็อตมากแค่ไหน เราก็ไม่อาจจะหนีความซ้ำได้พ้น นอกเสียจากว่าหัดเอาอย่างอื่นมาใช้เป็นตัวแปร ที่ยกตัวอย่างให้ดูนี่ก็เพื่อว่าอยากให้คนเขียนหนังสือรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และจะใช้ตัวแปรไหนเพื่อปรับเนื้อเรื่องของตัวเอง ไอเดียซ้ำๆที่พบเห็นได้ทั่วไปก็เช่น Morality Play สิ่งนี้เป็นจุดใหญ่ใจความของวรรณกรรมหลายยุคหลายสมัย ไม่เว้นแม้แต่โลกาภิวัตน์นี่แหละ คือเกิดตั้งแต่ยุคกลางแล้ว เป็นละครที่ไว้สอนศาสนา พูดง่ายๆก็คือการสอนในเรื่องความดีชนะความชั่วที่มีอยู่ในหลายๆชาตินั่นเอง (แต่ขอใช้เป็นภาษาฝรั่งละกัน) เห็นได้ชัดในวรรณกรรมทั่วโลก ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เช่น นิทานพวก Fairy Tales ทั้งหลาย ของไทยก็อย่างพวกนิทานชาดก แล้วก็พวกนิทานอีสป พอมาปัจจุบันก็เห็นเยอะแยะดาษดื่น ประเภทนางเอกแสนดีจะได้พบรักกับพระเอก และผู้ร้ายกับนางอิจฉาก็ต้องได้รับกรรมไป ตัวแปรที่จะฉีกแนวออกไปก็มีหลายอย่าง เช่นการสร้างตัวละคร อาจจะให้ตัวนางเอกกับตัวอิจฉาสลับนิสัยกัน (อันนี้พอมีให้เห็นบ้างแล้ว) การใช้ Point of View เช่น ให้มองมุมมองของ "ฉัน" ซึ่งเหมือนว่าจะเป็นคนดี แล้วก็เล่าถึงผู้หญิงอีกคนหนึ่งว่าเป็นนางมารร้าย แต่แท้ที่จริงแล้วตัวคนเล่าต่างหากที่เป็นตัวอิจฉา เป็นต้น ถ้าใครใจกล้าหน่อย ก็คือไม่ต้องใช้เรื่องเกี่ยวกับความดีความชั่วเลย ใช้ความเป็นมนุษย์ล้วนๆ (แต่นักเขียนจะต้องฉกาจจริง และมองคนทะลุจริงๆ) ตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำเซาะทราย (เกี่ยวกับความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ และรักสามเศร้าในครอบครัว) หรือไม่ก็ "Lamb to the Slaughter" ของ Roald Dahl (ผู้ร้ายฆ่าคนสามารถหนีรอดจากเงื้อมมือของตำรวจ) Heroism นี่ก็เป็นอีกไอเดียที่กำลังบูมสุดๆในศตวรรษที่ยี่สิบปลายมาถึงยี่สิบเอ็ด คือจะยกย่องฮีโร่ในทุกๆสาขา เช่นภาพยนตร์ กีฬา อาชีพหลายๆอาชีพ แม้กระทั่งในโรงเรียน (พวกเหรียญรางวัลยอดเยี่ยมทั้งหลายอ่ะ) ฮีโร่จำพวกนี้จะอึดยิ่งกว่าแมลงสาป เก่งยิ่งกว่าเทพเจ้าแห่งการต่อสู้ ฉลาดขนาดคนธรรมดาไม่มีวันทำได้ ขอย้อนไปในยุคกรีกนิดหนึ่ง เทพปกรณัมก็ยกย่องฮีโร่เหมือนกัน แต่ฮีโร่ของเขาจะเป็นมนุษย์มากกว่าฮีโร่ในศตวรรษนี้ เช่นเจสันในอภินิหารขนแกะทองคำ (Jason and the Golden Fleece) นั่นคือเขาเอาขนแกะทองคำมาได้ แต่เมื่อได้รับการยกย่องเขาก็เริ่มเหลิง ทิ้งมีเดีย ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขา จนสุดท้ายเขาก็ถูกเธอแก้แค้น แล้วตนเองก็ตายอนาถในที่สุด หรืออาจจะย้อนไปใกล้เข้ามาหน่อย คือคิงเลีย (King Lear) ของเชคสเปียร์ จริงๆก็คือเรื่องชายแก่กษัตริย์ที่หูเบาจนตัวเองถูกขับไล่ออกมา แต่ความเป็นฮีโร่ของเขาเกิดขึ้นจากความเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ของตนแม้ในยามทุกข์ยากเจียนตายก็ตามที แต่เมื่อเทียบกับนิยายพาฝันในปัจจุบัน ฮีโร่กลายเป็นคำนิยามของคนที่เหนือมนุษย์ไปเสียแล้ว ตัวแปรที่จะแก้ในนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเฉพาะตัวของแต่ละคนแล้วว่า ตนเองจะอยู่ในกระแสหรือไม่ ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงคาแรตเตอร์ของตัวละครหรือเปล่า เช่นสถานการณ์ในเรื่องอีสาซึ่งตามรูปการณ์ของฮีโร่ในปัจจุบัน อีสาควรจะเป็นคนเก่ง คนกล้า หรือคนแก่น เรากล้าพอจะฉีกออกไปหรือเปล่าว่าอีสาคือคนโง่ อ่อนแอ และขึ้ขลาด (อาจจะงงใช่ไหมว่าแล้วถ้าเป็นอีสาอย่างหลังจะสู้พ่อกำนันได้ยังไง บอกเลยว่าสู้ได้ แต่สู้แล้วชนะหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่แค่อีสาที่แสนจะอ่อนแอยอมเปลี่ยนตัวเองลุกขึ้นมาสู้ แค่นี้ก็เป็นฮีโร่ยิ่งกว่าคนเก่งหลายคนรวมกันแล้ว) บุพเพสันนิวาส อันนี้เป็นไอเดียไทยๆ คือ "คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน" ประเภทว่าฉันกับเธออยู่ห่างกันอย่างกับไส้เดือนในดิน กับไส้เดือนในปากนกบนฟ้า แต่เราก็ยังอุตส่าห์มาพบกันได้ เช่น เขาอยู่เมกา ส่งจดหมายมาแต่คนรับในเมืองไทยดันย้ายบ้าน แล้วบังเอิญนางเอกต้องมาอยู่บ้านนั้นด้วย บ้านอื่นมี แต่พอดีมีเรื่องให้แคล้วคลาดไม่ได้ไปอยู่ พระเอกกับนางเอกก็เลยพบกัน คนไทยมักจะใช้เหตุ "บังเอิญ" อยู่เสมอเพราะเรามีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตัวแปรที่จะจัดการไอเดียนี้ก็ลองหาๆดูละกันน่อ (เริ่มขี้เกียจ) Western Romance อันนี้ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นของทางตะวันตก อันนี้มักจะเข้าคู่กับ Heroism เต็มๆ พวกฝรั่งจะชอบใช้ ลองไปดูหนังคาวบอยได้ ประเภทว่าในบาร์เหล้าในเมืองเถื่อน มักจะมีการต่อยตีเป็นประจำ แล้วก็มีกระทาชายนายหนึ่งนั่งดื่มมองคนเอาขวดเบียร์ตีกัน พอไอ้พวกนั้นเข้ามาก็จะหลบเลี่ยงมาดเนิบๆ พอไอ้ตัวใหญ่เห็นเข้าก็จะต้องมาท้าตีท้าต่อย แล้วเขาผู้เป็นใครมาจากไหนไม่มีใครรู้ก็ลุกขึ้น ชักปืนด้วยความเร็วที่มองไม่ทันยิงเข้าที่เจ้าคนโชคร้ายแสกหน้าอย่างจัง จากนั้นก็เป่าปืน แล้วเก็บเข้าที่เรียบกริบ มีมารยาทพอจะวางเงินค่าอาหาร แล้วเดินออกไป ม้าตัวงามที่ผูกไว้อยู่ด้านหน้า พระเอกก็กระโดดขึ้นม้าด้วยท่วงท่าสง่างามแล้วจากไป ไอ้ประเภทอย่างนี้แหละที่เขาเรียก Western Romance คือพระเอกโคตรเก่ง อ้อ...ต้องมีอาวุธคู่ใจ กับม้างามๆสักตัวด้วย ถ้าผู้หญิงที่หลงรักพระเอกก็ต้องเป็นผู้หญิงดีๆ ผู้หญิงที่เป็นโสเภณีก็มีหน้าที่เป็นนกต่อ หรือไม่ก็ถูกข่มขืน หรือไม่ก็ถูกฆ่าเพื่อปกป้องพระเอก หรือไม่ก็นางเอก (อเมริกาในสมัยนั้นมีแค่สองจำพวก ก็คือถ้าไม่ใช่เมียของผู้ชายที่มียศ ก็เป็นครู กับอีกพวกก็คือพวกหญิงขายบริการ) ตัวแปรที่จะแก้ไขนี่ ขอไม่มีความเห็น เริ่มเหนื่อยแล้ว ลองคิดต่อยอดดูละกันนะ Jesus Motif ก็ประเภทพระเอกหรือนางเอก (โดยมากเป็นตัวเอก) เป็นคนเดียว/กลุ่มเดียวที่รู้สิ่งที่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นสัจธรรม หรืออันตราย เช่น มีมนุษย์ต่างดาวกำลังจะบุกโลก พระเอกเป็นคนเดียวที่รู้ แต่พยายามพร่ำบอกชาวเมืองเท่าไรก็ไม่มีใครเชื่อ คนที่เป็นไส้ศึกของมนุษย์ต่างดาวก็วางแผนฆ่าเขา ทีนี้ใน motif เดียวกันแล้วเราแปลงเรื่องโดยใช้ฉาก (setting) เป็นประเทศไทยก็จะได้ว่า "อีสา"ที่สงสัยว่าทำไมคนในหมู่บ้านป่วย แล้วก็กลายไปรู้เห็นว่าพ่อกำนันที่ชาวบ้านนับถือเป็นเบื้องหลังเรื่องทั้งหมด แต่ชาวบ้านไม่มีใครเชื่อสาสักคน พวกกำนันก็พยายามจะปิดปากสาเสีย ถ้าใช้เวลาหรือยุค (setting) เข้ามาแปลงก็อาจจะได้ "ไอ้เพิ่ม" ไปแอบได้ยินบารอน...เจ้านายที่เขารับใช้กำลังปรึกษากับอัศวินเกรียงไกรแห่งเมืองอาเซเดเฮกำลังปรึกษากันเพื่อจะก่อกบฎกับองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อบารอนรู้เข้าจึงไล่ล่าฆ่าปิดปากเขา สองอันที่แปลงใหม่จัดว่าเป็น setting ทั้งคู่ แต่ก็พอแยกย่อยออกมาให้ดู นี่แปลงแล้วจะว่าใกล้ก็ใกล้ จะว่าไกลก็ไกล ก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่จะใช้ Chivalry Motif อันนี้ก็เป็นคู่กับพวกฮีโร่เหมือนกัน โดยมากเอาไว้เน้นคาแรคเตอร์ของผู้ชาย คือเรื่องมันเกิดในยุคกลาง พวกอัศวินทั้งหลายจะเป็นคนมีฐานะ มีเกียรติ และมีฝีมือการรบ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้กักขฬะหยาบคาย เขาฝึกกิริยาสุภาพเป็นอย่างดี ฉลาด ประมาณนี้ ก็คล้ายๆกับพระเอกที่เก่งทั้งบู๊และบุ๋น รวมทั้งมีมารยาททางสังคมอย่างยิ่ง (โดยเฉพาะกับผู้หญิง) อันนี้จะเห็นมากในนิยายย้อนยุค กับแฟนตาซี ถ้าเป็นนิยายปัจจุบันพระเอกก็คงจะเป็นพวกทหาร หรือไม่ก็ตำรวจ อย่างข้างบน ไปต่อยอดละกันนะกุ๊ก พิมพ์จนเหนื่อย ง่วงแล้วด้วย ^^" Cinderella Motif ไหนๆก็พูดถึงการสร้างตัวละครผู้ชายแล้ว ก็ต้องพูดถึงตัวละครผู้หญิงบ้าง แต่ที่ไม่ค่อยอยากใช้อันนี้เท่าไร เพราะแยกย่อยออกมามันเยอะมากที่คนสมัยนี้เอามาใช้ เช่น Cruel Stepmother Motif (แม่เลี้ยงใจร้าย), Fairy Godmother Motif (นางฟ้าใจดีมาช่วยเหลือผู้หญิงที่แสนดี), แล้วก็การแต่งงานของหญิงที่ต่ำชั้นกว่าชาย (อันนี้สารภาพว่าไม่รู้ว่าควรใช้ภาษาอังกฤษว่าไง) ตัวอย่างอันหลัง เจอได้หลายยุคของไทย ตั้งแต่บ้านทรายทอง แม้กระทั่งนิยายปัจจุบันในอินเตอร์เนท ก็ยังคงใช้ Motif นี้ ดังนั้นถ้าต้องการฉีกแนวก็ลองสร้างสรรค์ดูละกัน ไอเดียซ้ำๆมีอีกมหาศาลล้านแปด อยู่ที่ว่าเราจะเลือกตัวแปรไหนจัดการสร้างสรรค์ บางทีไม่จำเป็นว่าเราจะต้องไม่เลือกมันเลย แต่เราใช้มันเป็นเครื่องมือแทนได้ พอก่อนละกัน เหนื่อยแล้วอ่ะ ขออ่านด้วยคนนะคะ :)
โดย: อะเดล IP: 124.120.169.233 วันที่: 29 มิถุนายน 2549 เวลา:17:53:46 น.
เก่งจังค่ะ อ่านหลายเรื่อง แนะได้หลายแนวทาง
โดย: พรรณา IP: 125.26.31.148 วันที่: 4 สิงหาคม 2550 เวลา:19:25:43 น.
เข้ามาอ่านค่ะ ทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มอีกหลายอย่างเลย ขอบคุณนะคะ
โดย: นุ้ย (นารีจำศีล) IP: 61.90.6.157 วันที่: 4 มีนาคม 2554 เวลา:23:32:59 น.
|
บทความทั้งหมด
|
แต่งข้ามชั้นนี่น่าจะ Marrying Up นะคะ ประมาณว่า "แต่งไต่เต้า" (เหอๆ เห็นภาพติดเรทพิกล)