ฉีกงานเขียนออกจาก "ตัวของตัวเอง" ยังไงดี? สิ่งที่จะเขียนนี่อาจออกแนวสอนหนังสือให้สังฆราช และประจานตัวเองสักหน่อยนะคะ แต่ถือว่ามาแชร์ประสบการณ์ก็แล้วกันค่ะ หนิงคิดว่าอยากจะเขียนบทความทิ้งเอาไว้เผื่อใช้เป็นกระทู้อ้างอิง เผื่อใครต้องการคำแนะนำ หนิงจะได้โยนกระทู้นี้ให้ไปอ่านเอง (ขี้เกียจ ว่างั้นเถอะ ^^') เกริ่นก่อนว่าในบางครั้ง เวลาคนเขียนงานไปๆ อาจรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนจากกรอบเดิมๆ ที่ตัวเองเป็น คือ ที่จริงแล้ว เขียนงานในรูปแบบที่เราชอบหรือเคยชิน ข้อดีก็คือ มันจะกลายเป็นลายเซ็นติดตัวเราไป เป็นตัวช่วยให้คนอ่านเลือกอ่านงานของเรา เพราะเขารู้ว่าถูกโฉลกกัน แต่พอถึงเวลาที่เขียนอยู่ตัวแล้ว บางทีก็อยากทำอะไรแตกต่างไปจากเดิมบ้าง แต่ไม่รู้ว่าควรทำยังไงดี หรือบางทีอาจจะรู้ แต่แค่บางส่วน ก็เลยอยากนำเสนอว่าอะไรที่เราสามารถทำให้แตกต่างได้บ้างในการเขียนนิยาย (ขอใช้แทนนิยาย เรื่องสั้น บทละคร) ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่เขียนนี่ใช่ว่าจะหยิบออกมาได้หมด หากใครเคยพบหรือเคยลองแบบไหนมา นำมาแชร์กันได้นะคะ ประสบการณ์หนิงเองก็มีจำกัด หากมีความคิดของทุกๆ คนมาร่วมด้วย จะได้ขยายขอบเขตในการเขียนของพวกเราให้กว้างขึ้นได้ เนื่องจากหนิงถนัดการมองนิยายในเชิงโครงสร้าง เพราะงั้นสิ่งที่นำเสนอย่อมเป็นองค์ประกอบในเชิงโครงสร้างอยู่สักหน่อยนะคะ อาจมีคำเตือนสักนิด สิ่งที่หนิงนำเสนอ เหมาะสำหรับคนที่เขียนงานมาพอสมควรอยู่ ด้วยเหตุว่า 1.) ควรเป็นคนที่รู้จักตัวเองและความสามารถของตัวเองเป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะเกิดมาจากประสบการณ์การเขียนหรือการอ่าน หรืออาจหมายรวมถึงประสบการณ์ชีวิตด้วย และ 2.) มือต้องนิ่งพอ คือ เหมือนกับเวลาที่เราอยากลองอะไรแตกต่าง เราอาจเริ่มทดลองแค่เพียงส่วนเดียวก่อน อย่างอื่นควรยังคงไว้เพื่อเป็นฐาน ถ้ามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งพอที่จะประคองหรือคุมไม่ให้เรื่องพังได้ง่ายขึ้นน่ะค่ะ เกริ่นมาพอแล้ว เข้าเรื่องเลยแล้วกันนะคะ เบื้องต้นที่สุดที่คิดว่าสามารถสร้างความแตกต่างให้งานตัวเองได้ มี 3 อย่างนี้ค่ะ 1. แนวเรื่อง 2. องค์ประกอบของนิยาย 3. โครงสร้างภาษา อย่างแรกสุดแนวเรื่อง อันนี้คิดว่าคงไม่ต้องพูดอะไรมากมาย น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว ในนักเขียนคนหนึ่ง อาจจะมีความชอบ หรือความเคยชินต่อการเขียนแนวนิยายได้ไม่กี่แนวหรอก (บางคนอาจเขียนได้หลายแนว แต่ไม่ได้แปลว่าเขาชอบทุกแนวเสมอไป สุดท้ายความเคยชินจะพานักเขียนท่านนั้นกลับมาสู่แนวที่ตัวเองชอบหรือถนัดอยู่ดี) ถ้าอยากสร้างความแตกต่าง อาจเริ่มจากเปลี่ยนแนวไป เช่น จากนิยายโรแมนติกไปเป็นนิยายสืบสวนสอบสวน หรือจากนิยายสืบสวนไปเป็นพวกดิสโทเปีย ฯลฯ ส่วนมากนักเขียนหลายท่านรู้สึกว่า จะทำให้ตัวเองแตกต่างจากเดิมก็ให้เปลี่ยนแนวไป แต่หนิงอยากบอกว่า เราอาจจะคงแนวการเขียนเดิม แต่เปลี่ยนอย่างอื่นเอาก็ได้ มันท้าทายการเขียนไม่ต่างกันหรอกค่ะ เพียงแต่อาจไม่ได้สนใจหรือนึกไม่ถึงเท่านั้นเอง นั่นคือ ข้อ 2 และ 3 ที่กำลังจะพูดต่อไปนี้ อย่างที่สอง องค์ประกอบของนิยาย ในนิยาย จะมีโครงสร้างบางอย่างอยู่ในนั้นประกอบกันออกมาเป็นเรื่องราว ซึ่งได้แก่ แก่นเรื่อง เส้นเรื่อง ปมขัดแย้ง ตัวละคร ฉาก มุมมอง ฯลฯ ฟังอาจจะดูน่าเบื่อที่หยิบเรื่องในตำราพวกนี้มาพูด แล้วไม่เห็นว่ารัสิ่งเหล่านี้ไปจะช่วยอะไรได้ แต่ที่จริงแล้ว เจ้าสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เรื่องราวของเราแตกต่างไปจากเดิมได้ โดยไม่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแนวเรื่องเลยค่ะ ส่วนตัวแล้ว หนิงเป็นประเภทชอบเล่นกับองค์ประกอบพวกนี้มาก มันสามารถพลิกไปมาได้เยอะจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังมีแนวคิดใหม่ๆ ให้ตัวเองทดลองไปเรื่อย บางอย่างได้แต่คิด ยังไม่ได้เขียน (แหงล่ะ เขียนได้ปีละเรื่องนิ) ขอเปิดองค์ประกอบนิยายด้วยเส้นเรื่องก่อนเลย อันนี้อธิบายยากอยู่เพราะมีหลายมิติ สิ่งที่หนิงใช้พูดบ่อยที่สุดก็คือในมิติของ เวลา หรือง่ายๆ ก็คือ ลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง ถ้าอยากทำให้มันแตกต่างก็ใช้การสลับลำดับเหตุการณ์ อย่างเช่น นำตอนจบขึ้นมาไว้ตอนต้น นำตอนต้นไปไว้ตอนกลาง อะไรทำนองนั้น ซึ่งค่อนข้างเป็นวิธีการที่ใช้แพร่หลายอยู่แล้วเนอะ คิดว่าถ้านักเขียนที่ประสบการณ์มากพอ (ตามที่หนิงบอกไว้ก่อนแล้ว) น่าจะเคยทำมาก่อนแล้ว จึงขอไปพูดอีกมิติหนึ่งแล้วกันนะ ในเส้นเรื่องจะมีชื่อเรียกของมันอยู่ ซึ่งหนิงไม่ทราบว่ามีใครเคยแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่อย่างไร เลยขอใช้เป็นภาษาอังกฤษนะคะ (ในเรื่องแปล ใครอยากทำก็ทำโลดค่ะ หนิงขี้เกียจวุ่นวาย ใครจะต่อว่าว่าไม่ยอมเขียนภาษาไทย อ่านไม่รู้เรื่องก็ขอน้อมรับแต่โดยดีค่ะ) ทีนี้ถ้าจะมาพูดถึงมันทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไรบ้าง จะเสียเวลาเกินไป ลองเข้าไปอ่านในบล็อกได้ว่าอะไรคืออะไร จะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้มากขึ้น อันนี้หนิงไม่ได้เขียน พี่สาวเขียนเอาไว้ตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว (คุณรุ้ง อาจารย์จีน่าจะพอจำได้ รายนี้เป็นคนเปิดศักราชเรื่องนี้คนแรกเกือบยี่สิบปีมาแล้วมั้ง ตอนนั้นที่เวบ jj-book น่ะค่ะ เขียนก่อนหน้ามาลงบล็อกนานอยู่ ส่วนหนิงก็แค่สานต่อเท่านั้นเอง) ลองอ่านคำจำกัดความของแต่ละสิ่งอันดูได้นะคะ อาจจะต้องเปิดสลับกับสิ่งที่หนิงเขียนด้านล่างเพื่อประกอบความเข้าใจสักหน่อย ขอโทษที่ทำให้ไม่สะดวก Elements of Plot เส้นเรื่องในนิยายจะมีโครงสร้างของมันอยู่ ตามที่เขียนในบล็อกนะคะ แต่ทีนี้ใช่ว่าในทุกๆ เรื่องจะต้องมีตามทุกส่วนเสมอไป แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือ Climax ที่ไม่ได้ระบุเจาะจง เพราะเรื่องสั้นบางเรื่องก็ไม่มี Background หรือไม่มี Rising Action มีแต่ Beginning Force ขอยกตัวอย่างสิ่งที่สิบกว่าปีหนิงทำมานะคะ อาจจะเข้าในความหมายที่หนิงต้องการสื่อมากขึ้น ตอนแรกๆ ที่เริ่มเขียน หนิงจะถนัดเรื่องที่มีแต่ Rising Action และ Climax ไม่ชอบเขียน Background เลยค่ะ งานในตอนต้นของหนิงจะอ่านยาก มันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุการณ์มากนัก แต่ขับเคลื่อนด้วยสัญลักษณ์และการตีความ พอดีได้ขุดเรื่องมาลงไว้เมื่อไม่นานมานี้ ลองศึกษาดูได้ค่ะ อ่านยากสักหน่อย และเขียนผิดเยอะมากมาย TvT Romeo & Juliet (ตอนเดียวจบ) หลังจากนั้นมีคนท้วง เลยต้องมาลองหัดเขียนเรื่องที่มี Background คือเขียนเรื่องท่องเที่ยว ตอนนั้นหนิงหาข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวนั้นรวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ จากนั้นก็ทุ่มลงไปในเรื่องโลด ส่วนผลที่ได้ ย่อมรู้กันอยู่แล้ว โดนด่าทันทีค่ะว่านี่คือนิยายหรือสารคดี TvT ต่อมา หนิงมักเขียนตัวละครที่เป็นคน (มาที่ตัวละครบ้าง) คราวนี้อยากเปลี่ยน เลยเปลี่ยนไปเขียนให้ ต้นไม้ เป็นตัวละครหลัก คือ สมมุติว่าต้นไม้มีชีวิตน่ะค่ะ นอกจากนั้นก็สร้างเป็นไซคี ในเทพปกรณัมกรีก แต่เอาจริงๆ ส่วนมากหนิงไม่ค่อยเล่นกับตัวละครเท่าไร ค่อนข้างน่าเบื่อไป หนิงชอบแนวโครงสร้างมากกว่าน่ะค่ะ แล้วก็มี (ยังไม่หมดหรอกค่ะ บอกได้เลยว่าหนิงเขียนเรื่องทดลองในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาชั่วชีวิต งานที่ออกมาส่วนมากกะโหลกกะลาทั้งนั้นแหละค่ะ ถึงได้กล้าออกมาเขียนวิธีออกนอกกรอบความเคยชินนี่แหละ ประสบการณ์เยอะ) เขียนแต่เฉพาะเรื่องสั้นมาตลอด ไม่เคยเขียนเรื่องยาวสักที ก็เลยไปลองเขียนเรื่องยาวดู ผลที่ได้ก็คือ โดยวิจารณ์ว่า นี่มันนิยายหรือเอาเรื่องสั้นมาเขียนต่อๆ กัน ก็งิดไปตามระเบียบ ปมขัดแย้งก็เคยเล่นเหมือนกัน คือ ให้สร้างปมขัดแย้งแล้วเอามันมาพัวพันกัน อันนี้นับว่าเป็นหนึ่งในโจทย์ที่โหดที่สุดเท่าที่เคยทำมา คือ อันอื่นๆ มันเกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเรื่อง แต่เล่นกับปมขัดแย้ง คือการเล่นกับโครงสร้างเรื่องอย่างแรง เพราะนอกจากสร้างปัญหาแล้ว แล้วเอามันมาพัวพันจนยุ่งเหยิง เสร็จก็ต้องมาหาทางนั่งสางมันออกทีละเปลาะๆ แต่สุดท้ายทำได้จริงๆ เลยเป็นงานที่ค่อนข้างพอใจค่ะ (ในชีวิตมีแค่สองสามเรื่องที่หนิงพอใจ) ในเวลาต่อมา หนิงไม่ได้ตามหาแต่เฉพาะสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดแล้ว แต่ไปโฟกัสสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วไล่ค้นหามันให้ลึกลงไป เรื่องที่ว่าคือ มุมมองจำกัดสายตา ค่ะ ส่วนมากมุมมองที่จำกัดที่สุดคือ มุมมองประเภทบุรุษที่หนึ่ง แต่ทีนี้ในมุมมองนี้ ระดับความเข้มข้นของการจำกัดสายตาไม่เหมือนกัน มันสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้หลายรูปแบบมากกว่าที่คิด ถือว่าอ่านเพื่อศึกษาแล้วกันนะคะ หนิงไม่อยากไปยกตัวอย่างงานคนอื่น จะได้ด่าหรือวิจารณ์ได้เต็มปากอย่างสบายใจ ระดับเข้มข้นจนชวนอึดอัด ตัวละครมีแต่ ฉัน อยู่เต็มไปหมด (งานแรกๆ ของหนิงเป็นแบบนั้น) (เรื่อง นางอิจฉา (ตอนเดียวจบ) น่าจะมีลงไว้ที่ไหนสักแห่งแต่ไม่น่าจะมีในถนนฯ แล้ว ขออนุญาตแปะเวบอื่นแทนนะคะ https://my.dek-d.com/peiningreader/writer/view.php?id=1255574) ระดับความเข้มข้นที่เอากล้องถอยห่างออกมา ทำให้พออ่านได้อย่างสบายใจ (เรื่อง แผนลับราพันเซล ในชุดนิทาน (4 ตอนจบ แต่อ่านตอนเดียวดูก็ได้ค่ะ) https://pantip.com/topic/36590456) ระดับเข้มข้นจนชวนอึดอัด แต่จะต้องทำให้คนอ่านไม่รู้สึกอึดอัด (อันนี้หนึ่งในโจทย์ที่โหดที่สุดเช่นกัน เล่าทุกอย่างด้วยตัวละครเพียงตัวเดียวซึ่งเป็นเจ้าของมุมมองด้วย เขียนจบทีขอลาขาดเลยค่ะ ไม่เอาอีกแล้ว ใครอยากลองก็ลองได้นะคะ ท้าทายมากค่ะ) (เรื่อง โฉมงามกับเจ้านายอสูร ในชุดนิทาน (5 ตอนจบ แต่อ่านตอนเดียวดูก็ได้ค่ะ) https://pantip.com/topic/36820863) ระดับเข้มข้นจนชวนอึดอัด ตัวละครมีแต่ ฉัน เต็มไปหมด แต่เขียนให้เป็นกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) (อันนี้ต่างจากอันแรกตรงที่ อันแรกดำเนินด้วยเหตุการณ์ เรื่องนี้ดำเนินด้วยการไหลของความคิดจากตัวละครที่มีความไม่ปกติในสมองบางอย่าง) (เรื่อง ฝันฉัน ฝันเธอ แล้วฝันเรา? เพิ่งลงไปไม่นานในถนนฯ พอดีเรื่องนี้คาไว้แต่ในกระทู้ แต่ลบเนื้อหาไปแล้ว ขออภัยด้วยค่ะ) ที่ลงให้ดู ไม่ได้จะโฆษณาว่ามันดีงามพระรามแปดอะไร อย่างที่บอกว่ามีแต่งานเขียนทดลอง จะไปดีอะไรมากมาย แต่ทีนี้เจ้าความเข้มข้นของมุมมองนี่มันแยกยากอยู่ แต่ตัวอย่างที่ให้หนิงว่ามันค่อนข้างชัดเจนพอที่จะเห็นความต่าง อาจจะมองเจาะลงไปทีละจุดๆ ก็ได้ค่ะ ว่าใช้วิธีไหนในการทำให้ตัวตน ฉัน มันเข้มข้นมาก และใช้วิธีไหนในการดึงความเข้มข้นให้ออกห่างจาก ฉัน จนอ่านแล้วไม่อึดอัด (ถ้าอยากศึกษาในแง่มุมมองบุรุษที่หนึ่งนะคะ) สรุปที่ยกตัวอย่างมา ง่ายๆ ก็คือ อยากทำอะไรก็ทำค่ะ คุณสามารถสร้างเรื่องที่มีแต่ Rising Action กับ Climax ก็ได้ ถ้าเปรียบเป็นหนัง ก็คือ มาถึงปุ๊บไม่รู้แหละ ตำรวจกับผู้ร้ายยิงกันเปรี้ยงปร้าง ไล่ตามยิงกันตั้งแต่ในเมืองยันออกไปนอกเมืองจนกระทั่งตำรวจปล่อยกระสุนเจาะหน้าผากผู้ร้ายได้ ก็ตัดจบทันที (ไม่มี Background ว่าทำไมตำรวจผู้ร้ายมายิงกัน เข้าเรื่องโลด แต่ในขณะเดียวกันเรื่องนี้เกิดปมขัดแย้งแล้ว นั่นคือ ตำรวจกับผู้ร้าย มีแต่ Rising Action ที่ตามไล่ยิง จนกระทั่งตำรวจยิงผู้ร้ายตายเป็นจุด Climax นั่นคือ ปมขัดแย้งคลี่คลายเรียบร้อย เสร็จก็จบเลย ไม่ต้องมานั่งเล่าต่อว่าหลังจากนั้นเป็นยังไง) โดยเส้นเรื่อง เรื่องนี้สมบูรณ์แล้ว หรือไม่อยากจะเขียน Background ก็เกริ่นน้ำท่วมทุ่งไปเลยว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องราวเป็นมายังไง นู่นนั่นนี่ เช่น บอกว่าตำรวจแต่งงานมากี่ครั้งมีลูกมากี่คน วันหนึ่งลูกโดนลักพาตัวไปโดยผู้ร้ายคนหนึ่ง พอเกริ่นเสร็จก็ตัดเข้าฉากยิงหน้าผากผู้ร้ายเปรี้ยง จบ มี Background เพื่อบอกว่าปมขัดแย้งมีความเป็นมายังไง แล้วเข้าสู่ Climax กำจัดผู้ร้ายเสร็จก็จบ เอวัง เช่นกัน โดยเส้นเรื่อง เรื่องนี้สมบูรณ์แล้ว ถ้าไม่อยากยุ่งกับเส้นเรื่อง อยากจะพลิกมุมมองจากบุรุษที่หนึ่งไปเป็นพระเจ้า หรือจากพระเจ้า เปลี่ยนมามองเป็นสายตาจำกัดแต่มาจากผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปมขัดแย้งในเรื่อง หรืออยากเล่นกับระดับความเข้มข้นของสายตาอย่างที่หนิงทำ ก็แล้วแต่ค่ะ ย้ำอีกครั้ง องค์ประกอบหลักๆ ของนิยาย คือ แก่นเรื่อง เส้นเรื่อง ปมขัดแย้ง ตัวละคร ฉาก มุมมอง สัญลักษณ์ บลา บลา บลา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คุณนำมาเล่นได้หมด อยากจะสำรวจในพื้นที่ที่ตัวเองไม่เคยไปก็ย่อมได้ หรืออยากสำรวจในสิ่งที่คุณถนัดอยู่แล้ว ให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมก็ไม่มีปัญหา สิ่งที่จะแนะนำคือ สนุกกับมันค่ะ แต่บอกไว้ก่อนว่า การจะทดลองอะไรจำพวกนี้ มักจะค่อนข้างสุดโต่งในระดับหนึ่ง คือ คนชอบก็อาจจะชอบไปเลย แต่คนไม่ชอบก็อาจจะด่าแบบสาดเสียเทเสีย ยากที่จะมีตรงกลาง นั่นคือ สิ่งที่คนเขียนต้องทำใจยอมรับไว้ก่อนเลย หากว่ามีคอมเมนต์มาว่ามันเขียนห่วยแตก แล้วพบว่าสิ่งที่คนอ่านพูดถึงคือ สิ่งที่คุณตั้งใจจะทำ ก็จบ การลงทุนมีความเสี่ยง สิ่งที่ทำพวกนี้เสี่ยงเจ็บตัวทั้งนั้นแหละค่ะ (บอกได้เลย เจอมาเยอะ) แต่ตราบเท่าที่เราสนุกกับการแหกคอกของความเคยชินของตัวเอง มันก็โอเคนะคะ อีกเรื่องที่จะแนะนำคือ ทุกอย่างต้องเป๊ะกว่าปกติ คือถ้าคิดจะทำอะไรกับเส้นเรื่อง กับองค์ประกอบต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในหัวต้องแม่น ในเส้นเรื่องนั้นควรมีมันทุก Elements นั่นแหละค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนเขียนจะเลือกมาเขียนหรือไม่ ใช่ว่าเราจะต้องเขียนทุกอย่างที่มี เราแค่ เลือก ที่จะเขียนบางส่วนเพื่อลองสิ่งที่ตนเองอยากท้าทาย ถ้ายังกระโดดตีลังกาไม่ได้ แต่คิดจะตีลังกาเกลียวสองรอบ อาจลงมาคอหักตายได้นะคะ หรืออีกอย่าง เมื่อไรที่เราไม่เป๊ะ สุดท้ายเราจะไปหยิบความเคยชินเดิมๆ ของตัวเองมาเป็นตัวช่วย ซึ่งแบบนั้นการท้าทายจะมีความหมายอะไร มันก็กลับไปยังวังวนแห่งความเคยชินเดิมๆ อยู่ดีน่ะค่ะ ส่วนเรื่องสุดท้าย เรื่องโครงสร้างภาษา ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า หนิงไม่ได้มีความชื่นชมในเรื่องความไพเราะเพราะพริ้งของภาษาแต่อย่างใด ถ้าโยนประโยคสวยๆ มาให้หนิง สิ่งที่หนิงมองอย่างแรกไม่ใช่ว่ามันสวย แต่มองก่อนเลยว่าในประโยคนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง หรือถ้าเป็นคำ หนิงก็คงมานั่งมองว่าโครงสร้างคำนี้มาจากอะไร ด้วยวิธีการเอามาชน เอามาซ้อน ถ้าแยกออกมาแล้วได้คำอะไร รากศัพท์อะไร อะไรเทือกๆ นั้น ไม่ได้มีสุนทรียศิลป์เลยค่ะ (ใครที่จะมาหาความสวยงามกับภาษาหนิง บอกได้เลยว่าหาผิดคนแล้วล่ะค่ะ) ดังนั้น ความสนุก และความเคยชินส่วนตัวของหนิง คือ การท้าทายตัวเองว่าจะสร้างประโยคยังให้ออกมาได้ยาวที่สุดโดยที่มีแค่ full stop เดียว (พอดีภาษาไทยไม่ได้ใช้เครื่องหมายนี้ เลยทดไว้ในใจเองค่ะ) ตรงนี้ใส่วลีที่เป็นคำขยายได้หรือไม่ โยนคำเชื่อมเข้ามาช่วย หมดประโยคแล้วทำไงล่ะ สั้นไป ยังไม่อยากหยุด งั้นคงต้องหาสันธานเพื่อเชื่อมทั้งสองประโยคแทน เหมือนเด็กเล่นสนุกว่าจะทำยังไงให้ต่อรถไฟได้ยาวที่สุด หรือสร้างตึกให้ได้สูงที่สุด ประมาณนั้น หนิงจะชอบมากถ้าสามารถสร้างประโยคเดียวได้ยาวต่อเนื่องกันสักสิบบรรทัด แต่น่าเสียดายที่สิบบรรทัดมันมากเกินไปเวลาเขียนเรื่อง เลยทำได้จำกัดแค่สี่ห้าบรรทัดก็ต้องหยุดแล้วล่ะค่ะ นั่นเป็นในแง่ของประโยค ส่วนในแง่ของคำ หนิงจะชอบคำคู่เป็นพิเศษ เช่น สวยงาม หยาดหยด เป็นต้น แม้จะความหมายซ้ำกัน แต่ถ้าเป็นคู่ของมัน หนิงชอบใช้คำเต็มยศเป็นพิเศษ มันเป็นส่วนช่วยทำให้การสร้างประโยคของหนิงยาวขึ้นด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือความเคยชินต่อภาษาจีนน่ะค่ะ ที่เล่าให้ฟังนี่เพราะเห็นบางท่านอาจจะชอบประดิดประดอยถ้อยคำ การท้าทายตัวเองคือ การใช้ศัพท์ใหม่ๆ ในเชิงพ้องรูป พ้องเสียง พ้องความหมาย ฟังเสียงแล้วไพเราะ หรืออาจจะใช้ระดับของภาษา หรือภาษาถิ่นมาสร้างความแตกต่างให้งานเขียน แต่ที่จริง ในแง่ของภาษา มันไม่ได้มีแค่เรื่องนั้น มันมีการเล่นความแตกต่างในเชิงโครงสร้างของภาษาได้ด้วย จากที่บอกเล่าไป โดยส่วนตัวของหนิง สิ่งสำคัญที่คิดจะทำให้ภาษาแตกต่างจากที่เคยเป็นก็คือ การหยิบปังตอขึ้นมา แล้วสับประโยคเป็นท่อนๆ หั่นออกมาได้ ประธาน-ส่วนขยายประธาน-กริยา-กรรม-ส่วนขยายกรรม- ส่วนขยายกริยา ตัวเชื่อมประโยค บลา บลา บลา พอได้วัตถุดิบเรียบร้อยแล้ว บางส่วนมองว่าเกินก็โยนทิ้งไป บางส่วนที่อยากเก็บไว้ก็เอามา อาจจะเรียงใหม่เป็น ส่วนขยายกริยา-ประธาน- กริยา- กรรม-ส่วนขยายกรรม เช่น ตำรวจหนุ่มร่างสูงกระแทกชายชุดดำทันที ก็จะเป็น โดยทันที ตำรวจหนุ่มร่างสูงกระแทกใส่คนร้าย เป็นต้น และในส่วนย่อยอย่างเช่น ขยายกรรม มันอาจประกอบด้วยคำหรือคำที่รวมกันวลี ก็ค่อยๆ ไปตัดแบ่งเป็นท่อนๆ ทิ้งบาง กระจายบ้าง ตามแต่ชอบใจ ทีนี้อย่างบางท่านอาจจะชอบในความสวยงามของคำ ซึ่งหนิงบอกไปแล้วว่าหนิงไม่เข้าใจสิ่งนั้น แต่หนิงมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ 1. คำคู่ที่คนโบราณเขาคิดและจับมันมาคู่กัน แสดงว่ามันต้องมีความไพเราะของเสียงหรือความหมายบางอย่าง ไม่งั้นเขาคงไม่จับมันมาชนกันหรอก และ 2. ความสมมาตรจะช่วยให้ทุกสิ่งดูสวยงามขึ้นมาได้ เมื่อใช้สมมุติฐานสองข้อนี้ หนิงก็จัดการเอาปังตอสับคำสองคำ แยกออกเป็น สวย และ งาม จากนั้นคำแรกก็โยนไปใช้ในประโยคแรก คำหลังก็โยนไปใช้ในประโยคหลัง จากนั้นก็ใช้หลักความสมมาตรใส่เข้าไป เช่น ต่อจากคำว่า สวย ก็หาคำอะไรสักอย่างใส่ลงไปได้สามคำ หนิงก็จะหาคำมายัดใส่หน้า งาม อีกสามคำ มันก็คงสวยขึ้นมาเองแหละ การเปลี่ยนโครงสร้างภาษาก็แบบเดียวกับเปลี่ยนโครงสร้างนิยายแหละค่ะ อย่าหวังผลว่ามันจะเลิศลอย การทดลองมันมีได้ทั้งสำเร็จและล้มเหลว เปลี่ยนแล้วมันอาจจะพิลึก อาจจะแย่กว่าเดิม หรือในทางกลับกัน มันอาจดีจนคาดไม่ถึง ทุกอย่างเป็นไปได้หมด (แต่ที่ยากที่สุดคือ ระดับกลางๆ ส่วนมากมันมักจะออกแนวสุดโต่งเสียมากกว่า) ฟังดูออกจะประหลาดอยู่ๆ ที่จะมาพูดถึงภาษาในแง่มุมโครงสร้างแบบนี้นะคะ แต่นี่เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่หนิงเพิ่งได้ประสบมาเร็วๆ นี้เอง เรื่องของเรื่องคือ ในเกมถุงมือ ที่มีโจทย์ให้ปลอมตัวไม่ให้คนอ่านจับได้ ปกติหนิงถนัดแนวโรแมนติก หนิงเลยเลือกเปลี่ยนสไตล์เรื่องก่อนเลยค่ะ จะได้หนีจากแนวที่สุ่มเสี่ยงว่าคนจะเดาเอาได้ว่าเป็นตัวเอง แล้วก็อยากลองแนวหักมุมด้วย เลยได้เรื่อง เพราะรัก มานี่แหละ เพราะรัก (18+) ต่อมาแค่เปลี่ยนสไตล์น่าจะเอาไม่อยู่ ถ้าไม่ระวังจะพบความเป็นตัวเองมากเกินไป หลังจากที่หนิงเขียนเสร็จแล้วกลับมาอ่าน มันดูเป็นตัวเองสุดๆ เลยค่ะ เลยต้องเอาองค์ประกอบนิยายมาช่วย แต่เนื่องจากมันสั้นมากเกินไป ทำให้ต้องพิจารณาอย่างยิ่งว่าจะไปเล่นที่ตรงไหนดี สุดท้ายเลือกที่จะเปลี่ยนมุมมองค่ะ เดิมเป็นมุมมองบุรุษที่หนึ่ง เปลี่ยนให้กลายเป็นมุมมองบุรุษที่สามแบบจำกัดสายตา ความเข้มข้นของมุมมองจะได้คลายลง เหลือความเป็นกลางมากขึ้น แต่เนื่องจากคนในถนนฯ มีความสามารถเชิงภาษาสูงมาก เชื่อว่าหลายท่านคงมุ่งไปดูที่สำนวนและภาษากันแน่ๆ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่หนิงทดลองในเรื่องภาษากับงานเขียนตัวเอง แล้วใช้วิธีการหยิบปังตอขึ้นมาสับประโยคตามที่เล่านี่แหละค่ะ ตัดประโยคให้เหลือสั้นพอประมาณ (ตัดประโยคนี่เจ็บปวดใจมาก 555) จากนั้นก็เปลี่ยนโครงสร้างของการใช้ประโยคเกือบทั้งหมด คำขยายที่หนิงชอบใช้เป็นวลีก็ตัดทิ้งบางส่วน อะไรที่ปกติเขียน Active Voice ก็แก้เป็น Passive Voice (ภาษาไทยเรียกว่าอะไรไม่รู้แหละ) และเรื่องที่เขียนไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยองค์ประกอบนิยาย แต่ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนา จำเป็นจะต้องประดิษฐ์คำพูดที่ตัวละครเล่าให้มันมีโอกาสคลุมเครือในการตีความ ละบางจุด ทำให้เขวบางจุด จนในที่สุดผลงานการหลอกแบบ Catch me if you can ก็เสร็จสิ้น โดยใช้เวลาสองเดือนเต็ม (โชคดีที่เลื่อน ไม่งั้นไม่เสร็จ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะคะ สิ่งที่หนิงทำคือ เปลี่ยนแบบสุดโต่งเกินไป หนิงบอกไปแล้วว่า ถ้าจะเปลี่ยน ควรเปลี่ยนแค่องค์ประกอบเดียว แต่จำเป็นต้องคุมฐานที่มีให้อยู่ได้เพื่อประคับประคองไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่หนิงเลือกทำสามอย่างพร้อมกัน เปลี่ยนสไตล์ที่ไม่ถนัด เปลี่ยนองค์ประกอบในการนำเสนอที่ไม่ถนัด เปลี่ยนกระทั่งภาษาที่ตัวเองไม่เคยชิน แล้วหนิงจะไปเอาฐานที่ไหนมายึดไม่ให้เรื่องมันพัง? บอกตรงๆ ว่าโชคดีมากค่ะที่เรื่องนี้มีแค่ประมาณ 1,700 คำ อะไรที่มีในตัวใช้มันหมดทุกอย่างเพื่อคุมเรื่องให้นิ่งพอที่จะไม่ล้มเหลว ถ้าไม่อย่างนั้นจะเกิดสองแบบ อย่างแรกคือ หลุดตัวของตัวเองออกมา นี่คืออย่างเบา แต่ถ้าอย่างหนัก นั่นคือ เรื่องทั้งเรื่องพังไม่เป็นท่าแน่ๆ ค่ะ ดังนั้นคิดจะฉีกตัวเองออกนอกกรอบ ลองประเมินตัวเองก็ดีค่ะว่าคุมได้มากน้อยแค่ไหน (อย่าเหมือนเก๊า TvT) แล้วเลือกท้าทายเฉพาะอย่างก็ดีค่ะ เก็บส่วนที่เราถนัดและเคยชินเอาไว้ด้วย จะได้มีฐานให้กับเราได้ยึดเหนี่ยว ปล. แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าทำสามอย่างพร้อมกันแล้วจะล้มนะคะ บางท่านอาจจะเปลี่ยนภาษาในเชิงระดับภาษา หรือภาษาถิ่น หรือเปลี่ยนเป็นสำนวนแปล อาจจะสามารถทำได้สามอย่างพร้อมกันนะคะ แต่พอดีหนิงไปเล่นในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเพิ่งเคยทำกับภาษาเป็นครั้งแรก (ส่วนตัวหนิงเชื่อว่า ในสามอย่างนี้ คงยากที่จะมีใครถนัดเปลี่ยนตัวเองทั้งสามอย่าง) เลยกรีดร้องอยู่สักหน่อย จะเปลี่ยนสองอย่างหรือสามอย่างอาจไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นมันคือ การรู้จักตนเองและการจัดการมากกว่าน่ะค่ะ |
บทความทั้งหมด
|