โค้งสุดท้ายกับการอบรมห้องเรียนนิยายครั้งที่ 2 ค่ะ เขียนจั่วหัวให้ดูเว่อร์ไปงั้นแหละค่ะ จริงๆ แล้ววันที่อบรมคือวันที่ 22 มิถุนานู่น แต่ที่บอกว่าโค้งสุดท้ายเพราะว่าจ่ายก่อน 8 มิถุนายังเสียค่าอบรมยังอยู่ที่ 1,000 บาทค่ะ แต่ถ้าเลยไปแล้วจะกลายเป็น 1,300 บาทแทนอ่ะ แล้วก็จะบอกว่ายังไม่เต็มค่ะ ส่วนอีกเรื่องก็คือ อาจจะมีการเปลี่ยนสถานที่เรียน จากเดิมตึกเอเชียที่ BTS สถานีราชเทวี ไปเป็นตึกสาธรซิตี้ BTS ช่องนนทรี (ที่เดียวกับที่จัดครั้งที่ 1) ที่บอกว่ายังไม่แน่ก็เพราะต้องถามคนที่สมัครเข้ามาว่าเปลี่ยนได้ไหม เพราะงั้นตอนนี้ยึดที่อาคารเอเชียไปก่อนนะคะ แต่คงไม่แจ้งหน้าเวบแล้วละ จะแจ้งเฉพาะคนที่ลงชื่อสมัครมาโดยตรงค่ะ จะได้ไม่น่ารำคาญ โปรโมทอยู่ได้ไรงี้ (จริงๆ ก็อยากโปรโมทแหละ มาเรียนทีเถอะ อยากสอนให้ ความรู้ที่มีอยู่กับตัวจะได้ลอยไปหาคนที่ต้องการ) ===================================== ชื่อคอร์ส: อบรมห้องเรียนนิยาย วันที่จัด: วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2557 เวลา: 09.00 - 16.30 (ลงทะเบียนตั้งแต่ 8.30 น. ค่ะ เวลาตามฝรั่งนะคะ เริ่มก็เริ่มเลย เพราะหนิงรู้สึกไม่แฟร์กับคนที่มาก่อน ที่จะต้องมารอคนที่มาสายกว่า) สถานที่: อาคารเอเชีย ชั้น 5 (BTS ราชเทวี) --> อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปที่สาธรซิตี้ ถนนสาทร BTS ช่องนนทรี แต่จะแจ้งทีหลังกับคนที่่ส่งใบสมัครมาค่ะ รับจำนวน: 10 คน ค่าสัมมนา: Early Bird 1,000 บาท สำหรับคนที่จ่ายก่อน 8 มิถุนายน 2557 Normal 1,300 บาท ปิดรับสมัคร: 15 มิถุนายน 2557 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้พื้นฐานที่พึงมีใน "Story" (ขอใช้คำนี้เพราะรวมถึงเรื่องสั้น บทละคร ฯลฯ) 2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถวิเคราะห์วิจารณ์คุณค่าของหนังสือเล่มหนึ่งๆ ได้แยบคายและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะได้ต่อยอดความคิดของตนเองในเรื่องวรรณกรรมต่อไปได้ 3. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถหยิบความรู้พื้นฐานเหล่านี้ไปพัฒนางานเขียนให้น่าดึงดูด และน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม หัวข้อการอบรม ช่วงเช้า 1. พล็อตและ โครงสร้างเรื่อง (Element of Plots: Background, Beginning Force, Rising Action, Climax, Falling Action, and Resolution) 2. การสร้างตัวละคร ฉาก Conflict ต่างๆ (Character, Characterization, Setting, Conflicts, etc) 3. การใช้มุมมอง (Point of view) 4. แก่นเรื่อง (Theme) 5. สัญลักษณ์ (Symbol) ช่วงบ่าย Workshop ที่จะอ่านไปด้วยกัน รวมทั้งคุย Case Study จริงที่เกิดขึ้นในสิ่งที่คนเขียนต้องการ สามารถถ่ายทอดไปสู่คนอ่านได้มากแค่ไหน และพื้นฐานที่เรียนไปช่วงเช้า สามารถนำมาปรับปรุง ปรับเปลี่ยนได้อย่างไร Q&A ในช่วงท้าย (ถ้าเวลาอำนวย) ข้อเสนอแนะ: คนที่สมัคร จะได้รับไฟล์เรื่องสั้น 2 เรื่อง ถ้าเป็นไปได้อยากให้อ่านมาก่อนนะคะ เพื่อที่ว่าจะได้นำมาคุยกันได้ช่วงบ่ายค่ะ จะได้เข้าใจตรงกัน เรื่องที่ใช้อบรม: 1. นางอิจฉา เขียนโดย peiNng 2. อาวุธสังหาร (Lamb to the Slaughter) เขียนโดย โรอัลด์ ดาห์ล (ผู้เขียนเรื่อง ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต) *หมายเหตุ* จะบอกว่าช่วงเช้าที่เรียนเป็นพื้นฐานนั่น สามารถหาอ่านได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต รวมทั้งบล็อกนี้ด้วย ตอนนี้ทำคลิปออกมาให้อีกต่างหาก https://www.youtube.com/watch?v=dlFKEslzArU&list=PLuTezkTxf_slcxqiVjsh8qUXPo9Eur2LR เพราะงั้นตอนเช้าเน้น Element กับ Point of View แล้วก็แบบฝึกหัดเสริมความเข้าใจค่ะ อ้อ...หนิงจะดึงบางส่วนของการสอนครั้งนี้มาทำคลิปค่ะ อาจเป็นตอนอ่านเรื่องสั้นไปด้วยกัน แต่คงตัดออกมาเสี้ยวเดียวนะคะ แบ่งปันความรู้กัน ถ้าใครจะรอคลิปก็ไม่ต้องมาก็ได้ เปลืองตังค์ (แต่ปัญหาคือ 1. อัดได้โอเคแค่ไหน 2. หนิงมีเวลาแค่ไหน) ****หมายเหตุสำคัญที่สุด**** สิ่งที่จะสอนให้ คือ การแนะนำเครื่องมือที่มีที่จะสามารถนำไปใช้ได้เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับตัวคนเขียนเองที่จะนำมันไปใช้อย่างไร ได้ผลหรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือ หนิงบอกได้ว่ามีดเล่มนี้ ใช้สับหมู เล่มนี้ใช้ปอกผลไม้ แต่ใช่ว่าพ่อครัวทุกคนจะสามารถปอกผลไม้ออกมาได้สวยเหมือนกันหมด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคน แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีไอเดียว่ามีดที่จับอยู่นี้ มันใช้ทำอะไรได้บ้างเมื่อเทียบกับคนที่ไม่รู้ ซึ่งอาจจะนำมีดปอกผลไม้ไปสับหมูก็เป็นได้ งานอาจจะออกเป็นหมูสับ แต่กว่าจะได้มาอาจทุลักทุเลสักหน่อย อะไรประมาณนั้น ถ้าคนที่คาดหวังว่าพอลงคอร์สนี้แล้ว จะสามารถเป็นนักเขียนระดับพระกาฬได้ ขอบอกว่า ไม่ค่ะ ไม่มีทาง ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน ยกเว้นเพียงบางคนเท่านั้น ที่มีพรสวรรค์ติดตัวมา หรือไม่ก็เป็นนักอ่านตัวยงจนขนาดที่ว่าเพียงแค่บอกเทคนิคนิดหน่อย ก็ไปต่อยอดได้มหาศาล ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีแต่ไม่มากเท่านั้นเอง -------------------------------------------- คนที่สนใจคอร์สนี้ อันนี้ใบสมัครค่ะ |
บทความทั้งหมด
|