"การเขียนจบ" ทักษะที่นักเขียนมือใหม่มองข้าม


เห็นนักเขียนมือใหม่หลายท่านมาเล่าถึงปัญหาอาการตัน เขียนไม่จบไปต่อไม่ได้ ชอบเปิดเรื่องใหม่แล้วดองเรื่องเก่า ผลสุดท้ายเขียนไม่จบสักเรื่อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ แต่บทความนี้จะพูดถึงหนึ่งในสาเหตุพวกนั้น นั่นคือ คนเขียนขาดทักษะ 'การเขียนจบ'

ฟังแล้วอาจจะงง เป็นทักษะที่ไม่เห็นมีใครพูดถึง โดยมากมักจะกล่าวถึงการฝึกเขียนโดยคำนึงถึงความสละสลวยของภาษาและการใช้คำ การสร้างพล็อตหรือโครงเรื่องต่างๆ ซึ่งถูกแล้ว ทักษะพวกนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเขียนเช่นกัน แต่มันยังเป็นทักษะที่มีทางลัดอยู่ นั่นคือ การอ่านหนังสือดีๆ หนังสือที่นเขียนใช้ภาษาระดับชั้นครู อ่านให้มากก็ซึมซับภาษามาไว้กับตัวโดยที่ไม่ต้องออกแรงพยายามมากนัก หรืออาจต้องออกแรงบ้างแต่ย่อมน้อยกว่าคนไม่เคยอ่านแน่นอน หรือแม้แต่การสร้างพล็อตก็เช่นกัน งานเขียนที่ดีจะช่วยกระตุ้นจินตนาการให้เราสร้างพล็อตอลังการงานสร้างเป็นมหากาพย์ไตรภาคก็ยังได้

แต่ 'การเขียนจบ' ไม่ใช่ เป็นทักษะที่มาจากการเขียนล้วนๆ ต่อให้อ่านงานเขียนชั้นครูจนได้ภาษาสวยงาม สร้างเรื่องได้น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเขียนจบ ดังนั้น 'การเขียนจบ' จึงเป็นทักษะสำคัญที่ควรได้รับการฝึกฝนด้วย

ภาษาสวย...ถ้าเขียนไม่จบ แล้วไง?

มหากาพย์พิสดารตีลังกาสิบแปดตลบ...ถ้าเขียนไม่จบ แล้วไง?

จะสังเกตได้ว่า คนที่เคยเขียนจบมาแล้ว โอกาสสูงมากที่จะเขียนเรื่องถัดๆ ไปให้จบ ในทางกลับกัน คนที่ไม่เคยเขียนจบ เปิดเรื่องใหม่ๆ ไปเป็นสิบเรื่องก็จะไม่เคยเขียนจบ เพราะไม่เคยฝึกฝนทักษะนี้

อาจสงสัยว่า กับแค่ 'เขียนจบ' นี่มันถึงขั้นต้องหยิบมาเป็นหัวข้อเลยหรือไง ที่จริงวลีนี้มันเป็นแค่คำสรุปความสั้นๆ น่ะค่ะ ก็เหมือนกับทางลัดของการเขียนที่ดีที่สุดก็คือ 'การอ่าน' นั่นแหละ นักเขียนมือใหม่บางท่านอาจถึงกับรำคาญว่ามาปรึกษาแต่ทำไมโดนไล่ให้ไปอ่านหนังสืออยู่เรื่อย คำว่า 'การอ่าน' ก็เป็นแค่คำสรุปความสั้นๆ ที่เป็นเพียงประตูใหญ่ประตูแรกที่เปิดเข้าไปแล้ว จะส่วนประกอบอื่นๆ ตามมาเป็นพะเรอเกวียน

'การเขียนจบ' เป็นประตูที่นำไปสู่ความเข้าใจใน "เส้นเรื่อง" ของตัวเอง คนเขียนหลายท่านชอบตอนที่เรื่องยังไม่ขมวดปม เขียนแล้วมันสนุก แต่พอเริ่มต้องเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ยิ่งสร้างปมเยอะเท่าไหร่ก็ต้องตามแก้ บางทีปมยุ่งเหยิงเกิน สางไม่เป็น ไปทางนั้นก็ติดอันนี้ ไปทางนี้ก็ติดอันนั้น ผลสุดท้ายตัน

แต่ถ้าเขียนได้จบบ่อยๆโอกาสทำความเข้าใจกับเส้นเรื่องและพล็อตจะสูงขึ้น เพราะมีโอกาสได้เห็นทั้งเส้นตั้งแต่ต้นจรดปลายบ่อยๆ หากเขียนไม่เคยจบ ก็จะเห็นเส้นเรื่องแค่ครึ่งเดียว ไม่เคยเห็นเต็มเส้น ความสามารถในการจัดการสางเรื่องของตัวเองจะน้อยกว่า

เมื่อเขียนเห็นเนื้อเรื่องเต็มเส้นบ่อยๆ อาการออกอ่าวอาจจะน้อยลงเพราะรู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรไม่ใช่ และจะเริ่มบาลานซ์สารที่จะใส่เข้าไปในเรื่องได้

ประการหลังนี้จะเกิดขึ้นกับนักเขียนมือใหม่ คือ ประมาณว่าเกิดมาอายุ 20 ปี (สมมุติ) ฉันจะทุ่มใส่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่มีลงไปกับงานเขียนเรื่องนี้...ผลที่ได้ กลายเป็นเรื่องที่มีข้อมูลความคิดอะไรต่างๆ นานาเต็มไปหมด นั่นก็ดี นี่ก็อยากใส่ จนกระทั่งมันยาว ยาว และยืดออกไปอีก จนทำให้เรื่องน่าอึดอัดไปหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พอเขียนจบมากๆ เข้า จะรู้เองว่าไม่จำเป็นต้องทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากใส่ลงไปจนหมดสิ้นแบบนั้นก็ได้ มันสามารถบาลานซ์ความสนุกกับสิ่งที่เราต้องการบอกคนอ่าน

ยังมีประโยชน์มากกว่านี้แต่ขี้เกียจเขียน คิดว่าแค่นี้น่าจะพอแล้วเพราะมันคือสิ่งสำคัญมากที่สุด (สำหรับเรานะคะ แต่สำหรับคนอื่นอาจไม่ใช่ ใครที่เขียนจบบ่อยๆ แชร์ความคิดเห็นกันได้นะคะ เผื่อเรามองข้ามบางอย่างไป) ทีนี้ประเด็นคือ แล้วเราจะฝึกยังไงดีล่ะ?

เรื่องนี้ค่อนข้างเฉพาะตัว วิธีการเขียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเอาแบบบ้านๆ เลยนะ คือ เริ่มจากการฝึกเขียนเรื่องที่ไม่ต้องยาว เป็นเรื่องแค่สักไม่เกิน 20 หน้า A4 จบก็ได้ค่ะ เขียนไปให้ได้หลายๆ เรื่องก่อนลงมือเขียนเรื่องที่อยากเขียนจริงๆ

จะว่าไงดี เราเข้าใจนะว่าแต่ละคนไหนๆ จะเขียนนิยายแล้ว ก็อยากเขียนเรื่องที่อยากเขียน เขียนเรื่องที่อยู่ในหัวของตัวเองมานานนมแล้วอยากจะระบายบอกกล่าวออกมา แต่อดทนสักนิด เก็บมันไว้ก่อน นักเขียนหลายท่านเมื่อเขียนไปแล้ว ไม่มีใครคิดหรอกว่ามันจะต้องลงไหดอง ทุกคนเชื่อว่าจะเขียนได้จบ แต่ถ้าเขียนเป็นครั้งแรก หรือที่ผ่านมาไม่เคยเขียนจบสักครั้ง แบบนี้ขอให้อดใจไว้ก่อนจะดีกว่า ไหนๆ จะเขียนเรื่องที่เราอยากเขียนแล้ว ไปฝึกตัวเองให้มั่นใจขึ้นว่าเรามีโอกาสเขียนมันได้จบจริงๆ ไม่ใช่มาตกม้าตายทีหลังให้เสียความรู้สึกกันเปล่าๆ

แต่ถ้าจุดประสงค์ที่เขียนเพียงเพื่ออยากระบายความคิดออกมา จบหรือไม่ไม่สำคัญ ถ้าอย่างนั้นข้ามการฝึกฝนทักษะนี้ไปก็ได้ค่ะ แล้วแต่ความต้องการของคนเขียนเลย

ส่วนตัวเรา เรามาจากสายเรื่องสั้น ยาวสุดไม่เคยเกินหนึ่งเล่ม และวิธีการเขียนจบของเรา ไม่ได้เกิดจากการเขียนลงบนกระดาษหรือหน้าจอแต่อย่างใด เกิดจากการเขียนในหัวจนเสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยนำมาใส่ลงกระดาษอีกครั้งหนึ่ง บางทีคำแนะนำของเราอาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติการเขียนของแต่ละคน ซึ่งบางคนทำอย่างเราไม่ได้ อาจมีประเภทที่พอเขียนในหัวจบแล้ว อาจจะรู้สึกว่าจบก็ไม่อยากเขียนอีก แบบนี้ไม่ต้องใช้วิธีที่เราใช้หรอกค่ะ ลองปรับหาแบบฉบับของตัวเองดูนะคะ

หลักๆ คือ สร้างโอกาสให้ตัวเองเขียนจบให้ได้หลายๆ ครั้ง แต่ต้องจบแบบบริบูรณ์ มีปมก็แก้ปมให้เรียบร้อย จบแบบนึกจะจบก็จบ ปมมีไม่สนใจ จบแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะฝึกค่ะ เสียเวลาแล้วก็ต้องใช้โอกาสให้คุ้ม (ถึงได้แนะนำอะไรที่สั้นๆ ปมเดียว จะได้จัดการง่ายๆ หน่อย)

ปล. แต่ถ้าจะเริ่มฝึกให้เขียนจบหลายๆ เรื่อง จะลองปรับลูกเล่นอย่างอื่นในแต่ละเรื่องดูก็ได้ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เช่น เรื่องนี้ใช้มุมมองพระเจ้า มุมมองบุรุษที่หนึ่ง ใช้ปมแบบตัวละครขัดแย้งกันเอง หรือให้ตัวละครขัดแย้งกับธรรมชาติ (เช่น หนีพายุ) สร้างฉากแบบในจินตนาการ หรือฉากโลกปัจจุบัน หรือตัวละครเป็นมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ หรือเป็นคนดี หรือคนร้าย เป็นต้น 




Create Date : 12 มีนาคม 2561
Last Update : 12 มีนาคม 2561 22:36:09 น.
Counter : 3875 Pageviews.

0 comments
"รอยยิ้มที่ไม่มีวันลืม" อาจารย์สุวิมล
(2 ก.ย. 2567 19:32:53 น.)
: หมดรัก หมดเยื่อใย : กะว่าก๋า
(30 ส.ค. 2567 04:31:02 น.)
๏ ... แร้งเต้น เล่นน้ำลาย ... ๏ นกโก๊ก
(27 ส.ค. 2567 11:45:48 น.)
๏ ... ร้อง>นักฟัอง<ร้อง ... ๏ นกโก๊ก
(27 ส.ค. 2567 22:10:04 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Peining.BlogGang.com

peiNing
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]

บทความทั้งหมด